ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 73อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 12 / 100อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
วัตถูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า

               อรรถกถาวัตถูปมสูตร๑-               
____________________________
๑- อรรถกถาเรียก วัตถสูตร.

               [๙๑] วัตถูปมสูตร เริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ (ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้).
               บรรดาคำเหล่านั้น คำนี้ว่า ภิกฺขเว ยถา วตฺถํ ในคำว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว วตฺถํ เป็นคำอุปมา. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอุปมาในที่บางแห่งทรงแสดงอุปมาก่อนทีเดียว แล้วจึงทรงแสดงอุปไมย (เนื้อความ) ในภายหลัง ในที่บางแห่งทรงแสดงอุปไมยก่อนแล้ว จึงทรงแสดงอุปมาภายหลัง ในที่บางแห่งทรงนำข้ออุปมามาแสดงประกอบอุปไมย ในที่บางแห่งทรงนำอุปไมยแสดงประกอบอุปมา.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อจะทรงแสดงเทวทูตสูตรแม้ทั้งสิ้นให้เป็นอุปมาก่อนแล้วแสดงอุปไมยในภายหลัง จึงตรัสว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลัง มีประตูเดียวกัน คนผู้มีตาดียืนอยู่ตรงกลาง พึงมองเห็นในเรือน ๒ หลังนั้นได้ (ตลอด).
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๐๕

               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอุปไมย (เนื้อความ) ที่เป็นอิทธิวิธิแม้ทั้งสิ้นก่อนแล้วแสดงอุปมาในภายหลัง จึงตรัสโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้มีฤทธิ์ย่อมเดินทะลุออกนอกฝา นอกกำแพง นอกภูเขา เปรียบเหมือนเดินไปในอากาศ (ที่ว่าง) ฉะนั้น.๓-
____________________________
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๓๓   ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๕๓

               เมื่อจะทรงเอาอุปมามาล้อม (แสดงประกอบ) อุปไมย จึงได้ตรัสจุลลสาโรปมสูตรแม้ทั้งสิ้นโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนคนผู้มีความต้องการแก่นไม้ จึงแสวงหาแก่นไม้ฉะนั้น.
               อนึ่ง เมื่อจะทรงเอาอุปไมย (เนื้อความ) มาล้อม (แสดงประกอบ) อุปมา จึงตรัสสูตรทั้งหลายมีอลคัททสูตรและมหาสาโรปมสูตรเป็นต้น แม้ทั้งสิ้นโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางพวกในโลกนี้ ย่อมเรียนเอาธรรมคือสุตตะ ฯลฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษฉะนั้น๔- ภิกษุทั้งหลาย.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๙

               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้นั้นทรงแสดงคำอุปมาก่อนในที่นี้แล้วทรงแสดงอุปไมยในภายหลัง.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอย่างนี้.
               ตอบว่า เพราะอัธยาศัยของบุคคล หรือเพราะทรงยักย้ายเทศนา.
               จริงอยู่ บุคคลเหล่าใดเข้าใจอุปไมยที่พระองค์ตรัสแสดงอุปมาไว้ก่อนได้โดยง่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงอุปมาก่อน แก่กุลบุตรเหล่านั้น.
               ในทุกบทก็นัยนี้.
               อนึ่ง เพราะทรงแทงตลอดธรรมธาตุใดด้วยดี พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงชื่อว่าทรงชำนาญการยักย้ายเทศนา ธรรมธาตุนั้นอันพระองค์ทรงแทงตลอดด้วยดีแล้ว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นจึงทรงเป็นธรรมิศรธรรมราชา ชำนาญการยักย้ายพระธรรมเทศนา พระองค์ย่อมทรงแสดงธรรมได้ตามที่ทรงปรารถนาด้วยประการดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดง (ธรรม) อย่างนี้ คือทั้งเพราะ (ตาม) อัธยาศัยของบุคคล ทั้งเพราะทรงยักย้ายเทศนานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วตฺถํ ได้แก่ผ้าสะอาดตามปกติ.
               บทว่า สงฺกิลิฏฺฐํ มลคฺคหิตํ ความว่า ชื่อว่าเศร้าหมองแล้ว เพราะเครื่องเศร้าหมองมีฝุ่นธุลีเป็นต้นที่ปลิวมาเกาะ และชื่อว่าอันมลทินจับแล้ว เพราะถูกมลทินมีคราบเหงื่อเป็นต้นเกาะแล้ว.
               รังคชาตในบทว่า รงฺคชาเต นี้ ได้แก่น้ำย้อมนั่นเอง.
               บทว่า อุปสํหเรยฺย แปลว่า พึงน้อมเข้าไป.
               บทว่า ยทิ นีลกาย ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพื่อต้องการให้มีสีเขียว.
               ในทุกบทก็อย่างนี้.
               จริงอยู่ ช่างย้อมเมื่อจะนำผ้าไปย้อมเพื่อต้องการให้เป็นสีเขียว ก็จะนำผ้าไปแช่ลงในน้ำย้อมสีเขียว มีสีดำสำริดและสีเขียวใบไม้เป็นต้น เมื่อจะนำผ้าไปย้อมเพื่อต้องการให้เป็นสีเหลือง ก็จะนำผ้าไปแช่ในน้ำย้อมสีเหลือง เช่นกับดอกกรรณิการ์ เมื่อจะน้ำผ้าไปย้อมเพื่อต้องการให้เป็นสีแดง ก็จะนำผ้าไปแช่ในน้ำย้อมสีแดง เช่นกับดอกชบา เมื่อจะนำผ้าไปย้อมเพื่อต้องการให้เป็นสีบานเย็น ก็จะนำผ้าไปแช่ในน้ำย้อมสีแดงเรื่อ เช่นกับดอกกณวีระ.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยทิ นีลกาย ฯเปฯ ยทิ มญฺเชฏฺฐิกาย ดังนี้.
               บทว่า ทุรตฺตวณฺณเมวสฺส ได้แก่ พึงเป็นผ้ามีสีที่ย้อมแล้วไม่ดีนั่นเอง.
               บทว่า อปริสุทฺธวณฺณเมวสฺส ความว่า แม้สีเขียวของผ้านั้นก็จะไม่สดใส แม้สีที่เหลือ (ก็ไม่สดใสเหมือนกัน). เป็นความจริง ผ้าเช่นนั้นแม้ที่เขาแช่ลงไปในหม้อน้ำย้อมสีเขียว ก็ไม่เป็นสีเขียวแท้. แม้แช่ลงไปในหม้อน้ำย้อมที่เหลือ ก็จะไม่เป็นสีแท้มีสีเหลืองแท้เป็นต้น ย่อมมีสีเขียวซีด สีหญ้าหางช้างแห้ง สีดอกกรรณิการ์แห้ง สีดอกชบาแห้งและสีดอกกณวีระแห้งเท่านั้น.
               บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ ความว่า ผ้านั้นเป็นเช่นนี้เพราะเหตุอะไร คือเพราะมีอะไรเป็นเหตุ. อีกอย่างหนึ่ง น้ำย้อมที่ผ้านั้นเป็นเช่นนี้ คือมีสีไม่สวยสดใส เพราะเหตุอะไร?
               ก็เพราะความที่ผ้าผืนนั้นไม่สะอาดนั้นแหละเป็นเหตุในข้อนี้ ไม่ใช่เหตุอะไรอื่น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อปริสุทฺธตฺตา ภิกฺขเว วตฺถสฺส ดังนี้.
               คำว่า เอวเมว เป็นคำอุปไมย.
               สองบทว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐ ความว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว.
               ถ้าหากมีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงกระทำคำอุปมาไว้ด้วยผ้าอันเศร้าหมองแล้ว.
               ตอบว่า เพื่อทรงแสดงว่าความพยายามมีผลมาก.
               เปรียบเหมือนผ้าที่เศร้าหมอง เพราะมลทินที่ปลิวมาเกาะ เมื่อซักอีกครั้งย่อมขาวสะอาด เพราะตามปกติเป็นของขาวสะอาดอยู่แล้ว ความพยายามใน (การซัก) ผ้านั้นจะไร้ผล ดุจความพยายามใน (การฟอก) ขนแกะที่ดำธรรมชาติ (ให้ขาวสะอาด) หามิได้ฉันใด.
               แม้จิตที่เศร้าหมองเพราะกิเลสทั้งหลายที่จรมาก็ฉันนั้น (คือ) ก็ตามปกติ จิตนั้นย่อมเป็นธรรมชาติที่สะอาดทีเดียว ในวาระปฏิสนธิจิตและภวังคจิต.
               สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสที่จรมา.
____________________________
๕- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ๕๐

               จิตนั้นเมื่อได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ บุคคลก็สามารถทำให้ประภัสสรยิ่งขึ้นอีกได้ ความพยายามในการชำระจิตนั้นย่อมไม่ไร้ผลแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตพึงทราบว่า ทรงกระทำคำอุปมาด้วยผ้าที่เศร้าหมอง เพื่อจะทรงแสดงว่าความพยายามมีผลมากด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา ความว่า เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ ทุคติเป็นอันบุคคลพึงหวังได้ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ทุคติเป็นคติที่เขาพึงหวังได้อย่างนี้ว่า ผู้นี้จักถึงทุคติแน่นอน ไม่ถึงคติอื่น ดังนี้ คือทุคติเป็นคติที่เขามีส่วนร่วมอย่างนี้.
               ก็ชื่อว่า ทุคตินี้นั้นมี ๒ อย่างคือ ปฏิปัตติทุคคติ และคติทุคคติ.
               ถึงแม้ปฏิปัตติทุคคติก็มี ๒ อย่างคือ อาคาริยปฏิปัตติทุคติและอนาคาริยปฏิปัตติทุคคติ.
               อธิบายว่า คฤหัสถ์มีจิตใจเศร้าหมอง ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้งสิ้นบ้าง นี้ชื่อว่าอาคาริยปฏิปัตติทุคติของคฤหัสถ์นั้น.
               คฤหัสถ์นั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นแล้ว ครั้นกายแตก (ตายไป) ย่อมไปสู่นรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง นี้ชื่อว่าคติทุคคติของคฤหัสถ์นั้น.
               ฝ่ายบรรพชิตบวชในศาสนานี้แล้ว มีจิตใจเศร้าหมอง อาสารับใช้คนอื่นทำตัวเป็นหมอ ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์ ทำลายเจดียสถาน เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่เป็นต้น ประพฤติอนาจาร และเที่ยวไปยังสถานที่อโคจรแม้ทั้งสิ้น นี้ชื่อว่า อนาคาริยปฏิปัตติทุคคติของบรรพชิตนั้น.
               บรรพชิตนั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นแล้ว ครั้นกายแตก (มรณภาพ) ย่อมไปสู่นรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ชื่อว่าเป็นสมณยักษ์ สมณเปรต มีกายลุกโชติช่วงด้วยผ้าสังฆาฏิเป็นต้นที่ถูกไฟไหม้แล้ว ส่งเสียงร้องครวญครางเที่ยวไป นี้ชื่อว่าคติทุคคติของบรรพชิตนั้น.
               บทว่า เสยฺยถาปิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มแสดงธรรมฝ่ายขาว (สุคติ).
               เนื้อความของธรรมฝ่ายขาวนั้น พึงทราบด้วยธรรมตรงกันข้ามที่ท่านกล่าวไว้แล้วในธรรมฝ่ายดำ (ทุคติ) นั่นแล.
               อนึ่ง ชื่อว่า สุคติ แม้ในที่นี้ก็มี ๒ อย่าง คือ ปฏิปัตติสุคติและคติสุคติ.
               แม้ปฏิปัตติสุคติก็มี ๒ อย่าง คือ อาคาริยปฏิปัตติสุคติและอนาคาริยปฏิปัตติสุคติ.
               อธิบายว่า คฤหัสถ์มีจิตบริสุทธิ์ ย่อมงดเว้นจากการฆ่าสัตว์บ้าง จากการลักทรัพย์บ้าง บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้งสิ้นบ้าง นี้ชื่อว่าอาคาริยปฏิปัตติสุคติของคฤหัสถ์นั้น.
               คฤหัสถ์นั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นแล้ว ครั้นกายแตก (ตายไป) ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่มนุษย์บ้าง ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่เทวดาบ้าง นี้ชื่อว่าคติสุคติของคฤหัสถ์นั้น.
               ฝ่ายบรรพชิตบวชในศาสนานี้มีจิตบริสุทธิ์ รักษาปาริสุทธิศีล ๔ หมดจด สมาทานธุดงค์ ๑๓ เรียกเอากรรมฐานอันเหมาะแก่ตนในอารมณ์ ๓๘ อยู่เสนาสนะอันสงัด ทำบริกรรมกสิณ (จน) ให้เกิดฌานสมาบัติ ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค ฯลฯ ได้บรรลุอนาคามิมรรค นี้ชื่อว่าอนาคาริยปฏิปัตติสุคติของบรรพชิตนั้น.
               บรรพชิตนั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นแล้ว ครั้นกายแตก (มรณภาพ) ย่อมเกิดในตระกูลใหญ่ ๓ ตระกูลในมนุษย์โลกบ้าง ในเทพชั้นกามาวจร ๖ ชั้นบ้าง ในภพแห่งพรหม ๑๐ ภพบ้าง ในชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นบ้าง ในอรูปภพ ๔ บ้าง นี้ชื่อว่าคติสุคติของบรรพชิตนั้น.
               [๙๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมองทุคติเป็นอันหวังได้ และเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอุปกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อุปกิเลสแห่งจิตเป็นไฉน? คืออภิชฌาวิสมโลภะ ดังนี้.
               บรรดาอุปกิเลสเหล่านั้น ความรักความพอใจในภัณฑะของตน ชื่อว่าอภิชฌา. ความรักความพอใจในภัณฑะของคนอื่น ชื่อว่าวิสมโลภะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความรักความพอใจในภัณฑะของตนหรือของคนอื่น จงยกไว้ ความรักความพอใจในฐานะที่ถูกที่ควร ชื่อว่าอภิชฌา. ความรักความพอใจในฐานะที่ไม่ถูกไม่ควร ชื่อว่าวิสมโลภะ.
               ส่วนพระเถระกล่าวไว้ว่า โลภะทุกอย่างจะไม่ชื่อว่าวิสมะก็หามิได้ เพราะพระบาลีว่า พวกเธอทำการแบ่งแยกไปทำไม? จะเป็นในอารมณ์ที่เหมาะหรือไม่เหมาะก็ตาม ราคะก็เป็นวิสมะ โทสะก็เป็นวิสมะ โมหะก็เป็นวิสมะ (เหมือนกัน) เพราะฉะนั้น โลภะนี้นั่นเองชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเพ่งเล็ง, ชื่อว่าวิสมะ เพราะอรรถว่าไม่เหมาะ (ไม่ชอบธรรม). คำว่า อภิชฌาและวิสมะ นี้มีความหมายอันเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น.
               ก็อภิชฌาวิสมโลภะนี้นั้น เกิดขึ้นแล้วย่อมทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้. เหมือนอย่างว่า อภิชฌาวิสมโลภะนี้เป็นฉันใด พยาบาทอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ (เหตุที่ตั้งแห่งความอาฆาต) ๙ อย่าง ความโกรธอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ ๑๐ อย่าง ความผูกโกรธ อันครอบคลุมจิตบ่อยๆ ก็ฉันนั้น ความลบหลู่ อันกระทำสิ่งที่เขาทำดีแล้วให้พินาศไป ไม่ว่าของคฤหัสถ์หรือของบรรพชิต (มีลักษณะเหมือนกัน).
               อธิบายว่า ฝ่ายคฤหัสถ์ (เดิมที) เป็นคนขัดสน (ครั้นแล้ว) ผู้มีกรุณาบางคนได้ยก (เขา) ไว้ในฐานะที่สูงส่ง ต่อมา (เขากลับกล่าวว่า) ท่านทำอะไรให้ข้าพเจ้า ชื่อว่าทำลายความดีที่คนผู้กรุณานั้นทำไว้แล้วให้พินาศไป.
               ฝ่ายบรรพชิตแล จำเดิมแต่สมัยเป็นสามเณรน้อยอันอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ท่านใดท่านหนึ่งอนุเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ และด้วยอุทเทศและปริปุจฉา ให้สำเหนียกความเป็นผู้ฉลาดในปกรณ์เป็นต้นด้วยธรรมกถา.
               สมัยต่อมา อันพระราชาและราชมหาอำมาตย์เป็นต้นสักการะเคารพแล้ว (เธอ) กลับขาดความยำเกรงในอาจารย์และอุปัชฌาย์เที่ยวไป อันอาจารย์เป็นต้นกล่าวว่า ผู้นี้สมัยเขาเป็นเด็ก เราทั้งหลายช่วยอนุเคราะห์และส่งเสริมให้ก้าวหน้าอย่างนี้ ก็แต่ว่าบัดนี้ เขาไม่น่ารักเสียแล้ว ก็กล่าว (ตอบ) ว่า พวกท่านทำอะไรให้ผม ดังนี้ ชื่อว่าทำลายความดีที่อุปัชฌาย์และอาจารย์เหล่านั้นทำแล้วให้พินาศไป.
               ความลบหลู่ที่ทำความดีที่ท่านทำไว้แล้วให้พินาศไปของบรรพชิตนั้นย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองจิต ดังนี้. เหมือนอย่างว่า ความลบหลู่นี้เป็นฉันใด การตีเสมอ (ซึ่งได้แก่) การถือเป็นคู่แข่งก็ฉันนั้น เกิดขึ้นลามไปอ้างถึงบุคคลแม้เป็นพหูสูตโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านผู้เป็นพหูสูตเช่นนี้ยังมีคติไม่แน่นอน (แล้ว) ท่านกับผมจะมีอะไรวิเศษเล่า.
               ความริษยา ได้แก่การนึกตำหนิสักการะเป็นต้นของคนอื่น. ความตระหนี่ ได้แก่ (การที่) ทนไม่ได้ที่สมบัติของตนมีคนอื่นร่วมใช้สอย. มายา ได้แก่กิริยาที่เป็นการประพฤติหลอกลวง. ความโอ้อวดเกิดขึ้นโดย (ทำให้) เป็นคนคุยโต.
               จริงอยู่ คนคุยโตย่อมเป็นเหมือนปลาอานนท์.
               เล่ากันว่า ปลาอานนท์ (ชอบ) เอาหางอวดปลา (พวกอื่นและ) เอาศีรษะอวดงู ให้ (ปลาและงูเหล่านั้น) รู้ว่าเราเป็นเช่นกับพวกท่าน. บุคคลผู้คุยโตก็เช่นนั้นเหมือนกัน เข้าไปหานักพระสูตร หรือนักพระอภิธรรมใดๆ ย่อมกล่าวกะท่านนั้นๆ อย่างนี้ว่า ผมประพฤติประโยชน์เพื่อท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายต้องอนุเคราะห์ผม ผมจะไม่ทิ้งพวกท่านหรอกดังนี้.
               เมื่อเป็นอย่างนี้แล นักพระสูตรและนักอภิธรรมเหล่านั้นก็จักสำคัญ (เธอ) ว่า ผู้นี้มีความเคารพยำเกรงในเราทั้งหลาย ความโอ้อวดนี้แลของบุคคลนั้น เมื่อเกิดขึ้นโดย (ทำให้) เป็นคนคุยโตย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้. เหมือนอย่างว่า ความโอ้อวดนี้เป็นฉันใด ความหัวดื้อก็ฉันนั้น เป็นตัวการทำให้ไม่ให้ประพฤติอ่อนน้อม เชิดศีรษะ เพราะเป็นผู้กระด้าง เป็นเช่นกับสูบที่เต็มลม. ความแข่งดีมีการกระทำยิ่งกว่านั้น.
               ความแข่งดีนั้นแยกออกได้ ๒ ประเภท คือ ฝ่ายอกุศลและกุศล.
               ก็ในบรรดาความแข่งดี ๒ ประเภทนั้น สำหรับคฤหัสถ์ ความแข่งดีเกิดขึ้นเพราะได้เห็นเครื่องประดับเป็นต้นที่คนอื่นทำแล้ว แล้วทำให้ทวีคูณๆ ขึ้นไปกว่านั้นๆ จัดเป็นอกุศล และสำหรับบรรพชิต (ขณะที่) บรรพชิตอื่นเล่าเรียนหรือกล่าวธรรมะมีประมาณเท่าใดๆ ความแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำให้ทวีคูณๆ ไปกว่านั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล.
               ส่วนคฤหัสถ์ ความแข่งดีที่เกิดขึ้นเพราะได้เห็นคนอื่นถวายสลากภัตร ๑ ที่แล้วตนเองประสงค์จะถวาย ๒ หรือ ๓ ที่ จัดเป็นกุศล. และสำหรับบรรพชิต เมื่อ (ได้ทราบว่า) ภิกษุอื่นเรียนได้ ๑ นิกายแล้ว ความแข่งดีเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยมานะ (แต่) เพราะได้เห็นภิกษุอื่นนั้น (เรียนได้แล้ว ๑ นิกาย) แล้วประสงค์จะครอบงำความเกียจคร้านของตนอย่างเดียว เรียนเอาให้ได้ ๒ นิกาย จัดเป็นกุศล.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาความแข่งดีที่เป็นอกุศล เพราะว่า ความแข่งดีที่เป็นอกุศลนี้ย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต.
               อนึ่ง ความแข่งดีนี้เป็นฉันใด ความถือตัวก็ฉันนั้น เป็นไปด้วยอำนาจความพองตัวแห่งจิต เพราะอาศัยชาติ (กำเนิด) เป็นต้น มานะที่เป็นไปด้วยอำนาจความพองตัวยิ่งแห่งจิต ชื่อว่าอติมานะ อาการที่รับเอาด้วยความมัวเมา ชื่อว่ามทะ มทะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปล่อยจิตไปในกามคุณทั้งหลาย ชื่อว่าปมาทะ ปมาทะย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอุปกิเลส จึงทรงแสดงโลภะไว้เป็นอันดับแรก.
               ตอบว่า เพราะโลภะนั้นเกิดขึ้นก่อนเพื่อน.
               จริงอยู่ เมื่อสัตว์ทั้งปวงเกิดขึ้นในภพใดภพหนึ่งโดยที่สุดแม้ในภูมิสุทธาวาส โลภะย่อมเกิดขึ้นก่อนเพื่อนด้วยอำนาจความยินดีในภพ ต่อจากนั้น อุปกิเลสนอกนี้มีพยาบาทเป็นต้น ย่อมเกิดตามควรแก่ปัจจัยเพราะอาศัยปัจจัยที่ควรแก่ตน และไม่ใช่แก่อุปกิเลสของจิต ๑๖ อย่างนี้เท่านั้นเกิดขึ้น แต่พึงทราบว่าโดยนัยนี้ ย่อมเป็นอันรวมเอากิเลสแม้ทั้งหมดทีเดียว.
               [๙๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ด้วยคำอธิบายเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความผ่องใส จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ส โข โส ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ วิทิตฺวา แปลว่า รู้อย่างนี้.
               บทว่า ปชหติ ความว่า ละ (อุปกิเลสแห่งจิต) ด้วยอริยมรรคด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉทปหาน.
               ในบทว่า ปชหติ นั้น พึงทราบการละมีอยู่ ๒ อย่าง คือ (ละ) ตามลำดับกิเลส และตามลำดับมรรค. (จะอธิบายการละ) ตามลำดับกิเลสก่อน.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภโดยไม่ชอบธรรมคือความเพ่งเล็ง) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ย่อมละได้ด้วยอรหัตตมรรค.
               กิเลส ๔ เหล่านี้คือ พยาปาทะ (ความพยาบาท) โกธะ (ความโกรธ) อุปนาหะ (ความผูกโกรธไว้) ปมาทะ (เลินเล่อ) ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา, เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (โอ้อวด) ย่อมละด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ส่วนการละตามลำดับมรรคจะอธิบายดังต่อไปนี้:-
               กิเลส ๖ เหล่านี้ คือ มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา, เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (โอ้อวด) ย่อมละด้วยโสดาปัตติมรรค.
               กิเลส ๔ เหล่านี้ คือ พยาปาทะ (ความพยาบาท) โกธะ (ความโกรธ) อุปนาหะ (ความผูกโกรธไว้) ปมาทะ (เลินเล่อ) ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภโดยไม่ชอบธรรมคือความเพ่งเล็ง) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ย่อมละด้วยอรหัตตมรรค.
               แต่ในที่นี้กิเลสเหล่านี้จะถูกฆ่าด้วยโสดาปัตติมรรค หรือถูกฆ่าด้วยมรรคที่เหลือก็ตาม ถึงกระนั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า บุคคลย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้ ทรงหมายเอาการละด้วยอนาคามิมรรคนั่นเอง.
               นี้เป็นการเกิด (แห่งผล) อันมาแล้วตามมรรคที่สืบต่อกันในที่นี้.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรรคที่ ๔ ไว้ในขั้นสูงสุดแล้ว การเกิดแห่งผลนั้นจึงจะถูก อุปกิเลสมีวิสมโลภะเป็นต้นที่เหลือจากอุปกิเลสที่ละได้แล้วด้วยตติยมรรค ย่อมเป็นอันละได้ด้วยมรรคที่ ๔ นั้น. กิเลสที่เหลือย่อมเป็นอันละได้ด้วยมรรคที่ ๔ นี้เช่นกัน. เพราะว่า อุปกิเลสมีมักขะเป็นต้นแม้เหล่าใดย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค อุปกิเลสแม้เหล่านั้นย่อมเป็นอันละได้เด็ดขาดแล้วด้วยอนาคามิมรรคนั่นแล เพราะจิตอันเป็นสมุฏฐานแห่งอุปกิเลสมีมักขะเป็นต้นนั้นยังละไม่ได้โดยเด็ดขาด (ด้วยโสดาปัตติมรรค).
               แต่ในอธิการนี้ อาจารย์บางพวกพรรณนาการละได้ด้วยปฐมมรรคนั่นแล. คำนั้นไม่สมกับคำต้นและคำปลาย. อาจารย์บางพวกพรรณนาวิกขัมภนปหานไว้ในอธิการนี้. คำนั้นเป็นเพียงความประสงค์ของอาจารย์พวกนั้นเท่านั้น.
               [๙๕] บทว่า ยโต ในคำว่า ยโต โข ภิกฺขเว นี้ แปลว่า ในกาลใด. ด้วยบทว่า ปหีโน โหติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการละในขณะแห่งอนาคามิมรรค.
               บทว่า โส พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน นี้ พึงประกอบเข้ากับบทแต่ละบทอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละวิสมโลภะได้ ในกาลนั้น เธอย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปนี้มีความเลื่อมใสอันเป็นโลกุตตระมาแล้วโดยอนาคามิมรรค สมัยต่อมา เมื่อภิกษุนี้ระลึกถึงอยู่ซึ่งพระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม และพระสงฆ์ ความเลื่อมใสอันเป็นโลกิยะย่อมเกิดขึ้นได้. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความเลื่อมใสทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระทั้งหมดนั้นของภิกษุนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเวจฺจปฺปสาเทน ความว่า ด้วยความเลื่อมใส ชื่อว่าไม่หวั่นไหว คือไม่คลอนแคลน เพราะรู้พุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณตามเป็นจริง. เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวนั้นเกิดขึ้นแล้วโดยวิธีใด บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงวิธีนั้นจึงทรงยังฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ๓ ให้พิสดารโดยนัยเป็นต้นว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้.
               การพรรณนาเนื้อความแห่งที่ตั้งอนุสสติเหล่านั้น ท่านพระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้แล้วอย่างละเอียดในอนุสสติกถาในวิสุทธิมรรค.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความเลื่อมใสทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระของพระอนาคามีนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงการละกิเลสและอานิสงส์มีโสมนัสเป็นต้น อันประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวที่เกิดขึ้นแก่พระอนาคามีผู้พิจารณาอยู่ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ยโถธิ โข ปนสฺส๕- ดังนี้.
               คำนั้นมีอธิบายว่า จริงอยู่ โสมนัสกล้าย่อมเกิดขึ้นแก่พระอนาคามีผู้พิจารณาอยู่ถึงการละกิเลสของตนว่า กิเลสเหล่านี้ๆ เราละได้แล้ว เปรียบเหมือนโสมนัสกล้าเกิดขึ้นแก่พระราชาผู้ทรงปราบอันตรายคือโจรที่ซ่องสุมอยู่บริเวณปลายแดนให้สงบแล้ว เสด็จกลับมาประทับพิจารณาพระราชกิจนั้นอยู่ในพระมหานครนั้นฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงโสมนัสนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ยโถธิ โข ปนสฺส๕- ดังนี้.
____________________________
๕- ปาฐะนั้น เป็น ยโตธิ ทั้ง ๒ แห่ง แต่ฉบับของพม่าเป็น ยโถธิ จึงแก้ตามฉบับพม่า.

               คำนั้นมีอธิบายว่า พระอนาคามีนี้ใดพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า พระอริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ พระธรรม ฯลฯ (และ) ฯลฯ พระสงฆ์เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของชาวโลก กิเลสนั้นเป็นอันพระอนาคามีสละแล้ว สลัดทิ้งแล้วตามส่วนแล ได้แก่สละแล้วตามอำนาจส่วนของตนๆ นั่นแล กิเลสนั้นๆ เป็นอันพระอนาคามีนั้นคายแล้ว ปล่อยแล้ว ละได้แล้ว สลัดทิ้งแล้ว.
               บทว่า สกสกโอธิวเสน ความว่า ส่วนมี ๒ คือ ส่วนแห่งกิเลสและส่วนแห่งมรรค.
               บรรดาส่วน ๒ ส่วนนั้น ว่าด้วยอำนาจส่วนแห่งกิเลส (ก่อน) กิเลสเหล่าใดอันบุคคลพึงฆ่าด้วยมรรคใด กิเลสเหล่านั้นไม่ปนกับกิเลสที่มรรคอื่นพึงฆ่า ย่อมเป็นอันพระอนาคามีละได้แล้วด้วยส่วนของตนนั่นแล.
               ว่าด้วยส่วนแห่งมรรคบ้าง กิเลสเหล่าใดอันบุคคลพึงละด้วยมรรคใด กิเลสเหล่านั้นนั่นแลย่อมเป็นอันละแล้วด้วยมรรคนั้น. กิเลสนั้นๆ ย่อมเป็นอันท่านสละแล้ว สลัดทิ้งแล้วทีเดียวด้วยอำนาจส่วนของตนด้วยประการฉะนี้.
               เชื่อมความว่า ท่านพิจารณาถึงกิเลสที่ละได้แล้วนั้นเป็นผู้ได้โสมนัส, เธอย่อมได้ความรู้อรรถ (ผล) ยิ่งไปกว่านั้นว่าเราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.
               ปาฐะว่า ยโถธิ โข ดังนี้ก็มี. ด้วยอำนาจปาฐะนั้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้.
               ก็แล เพราะเหตุที่กิเลสย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว สละได้แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต เป็นตติยาวิภัตติ.
               มีอธิบายว่า ยสฺมา (เพราะเหตุใด).
               มรรค ๓ เบื้องต่ำ ท่านเรียกว่า โอธิ เพราะเหตุไร?
               เพราะมรรค ๓ เบื้องต่ำเหล่านั้น ทำ (กิเลส) ให้เป็นส่วนคือให้เป็นสัด (โกฏฐาสะ) แล้วย่อมละ (กิเลส) ได้ ยกเว้นกิเลสที่พึงละด้วยมรรคเบื้องสูงๆ ฉะนั้น มรรค ๓ เบื้องต่ำ ท่านจึงเรียกว่าโอธิ ดังนี้. ส่วนอรหัตตมรรคย่อมละกิเลสทุกอย่างไม่ให้เหลืออยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อโนธิ ดังนี้.
               อนึ่ง ภิกษุรูปนี้สละกิเลสได้แล้วด้วยมรรค ๓ เบื้องต่ำ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยโตธิ โข ปน จตฺตํ โหติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โข ปน เป็นเพียงนิบาต. ส่วนเนื้อความนี้เป็นความรวม. ก็เพราะกิเลส ชื่อว่า โอธิ เป็นอันภิกษุรูปนั้นสละแล้ว สลัดทิ้งแล้ว ฉะนั้น จึงควรขยายความตามพระบาลีว่า ภิกษุรูปนั้นพิจารณาถึงกิเลสที่ละได้แล้วนั้นย่อมได้โสมนัส เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ (ผล) แม้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตํ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจการสละภาวะของตน.
               ส่วนบทว่า วนฺตํ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจการแสดงภาวะคือความไม่ยึดถือ.
               บทว่า มุตฺตํ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจเปลื้องจากสันตติ.
               บทว่า ปหีนํ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจการแสดงว่า กิเลสแม้ที่พ้นได้แล้วไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ.
               บทว่า ปฏินิสฺสฏฺฐํ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจการแสดงการสละกิเลสที่เคยยึดถือในกาลก่อน หรือด้วยอำนาจการแสดงภาวะแห่งกิเลสที่ตนสลัดทิ้งแล้วเฉพาะหน้า ท่านกล่าวอธิบายว่า ด้วยอำนาจการแสดงภาวะแห่งกิเลสที่ตนครอบงำด้วยกำลังแห่งภาวนา สลัดทิ้งแล้ว ดังนี้.
               ในข้อว่า ย่อมได้การรู้อรรถ (ผล) การรู้ธรรม (เหตุ) นี้ มีอธิบายว่า ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั่นแล.
               ชื่อว่าอรรถ เพราะอันบุคคลพึงดำเนิน. อธิบายว่า พึงเข้าไปให้ถึง. ชื่อว่าธรรม เพราะเป็นสภาพทรงไว้. มีอธิบายว่า ไม่ให้ตกต่ำ.
               บทว่า เวท หมายเอาคัมภีร์บ้าง หมายเอาญาณบ้าง หมายเอาโสมนัสบ้าง.
               คัมภีร์ ท่านเรียกว่า เวท (ดัง) แม้ในประโยคเป็นต้นว่า ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ ดังนี้.
               ญาณ ท่านเรียกว่า เวท (ดัง) ในประโยคเป็นต้นว่า
                         พราหมณ์ใดถึงเวทมีความรู้ยิ่ง ไม่มีกิเลส
                         เครื่องกังวล ไม่ข้องอยู่ในกามภพ ดังนี้.
               โสมนัส ท่านเรียกว่า เวท (ดัง) ในประโยคเป็นต้นว่า ชนเหล่าใดเกิดความยินดี ย่อมท่องเที่ยวไปในโลก ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาโสมนัส และญาณอันประกอบด้วยโสมนัส เพราะฉะนั้น ในข้อนี้พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า :-
               บทว่า ลภติ อตฺถเวทํ ลภติ ธมฺมเวทํ ความว่า ย่อมได้โสมนัสอันมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเป็นอารมณ์ และญาณอันสำเร็จด้วยโสมนัส.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความในข้อนี้แม้อย่างนี้ว่า :-
               บทว่า อตฺถเวทํ ความว่า (ย่อมได้) ความรู้ (เวท) มีประการดังกล่าวนั่นแล อันเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านผู้พิจารณาอยู่ซึ่งความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว.
               บทว่า ธมฺมเวทํ ความว่า (ย่อมได้) ซึ่งความรู้ (เวท) มีประการดังกล่าวแล้วนั่นแล อันเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านผู้พิจารณาอยู่ ซึ่งการละกิเลสโดยเป็นส่วนเพราะเหตุแห่งความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้นี้ว่า ญาณในเหตุ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา ญาณในผลของเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา ดังนี้.
               บทว่า ธมฺมูปสญฺหิตํ ปาโมชฺชํ ความว่า (ย่อมได้) ปราโมทย์อันเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านผู้พิจารณาอยู่ซึ่งอรรถและธรรมนั้นนั่นแล และความรู้ (เวท) อันเป็นอานิสงส์เกิดมาจากความรู้อรรถและธรรมนั้น. จริงอยู่ ปราโมทย์นั้นท่านกล่าวว่า ประกอบด้วยธรรมอันเป็นไปโดยอาการพิจารณาโดยลักษณะที่ไม่มีโทษ.
               บทว่า ปมุทิตสฺส ปีติ ชายติ ความว่า ปีติอันไม่เจือด้วยอามิส ย่อมเกิดแก่ท่านผู้บันเทิงด้วยปราโมทย์นี้.
               บทว่า ปีติมนสฺส ความว่า ผู้มีใจอิ่มเอิบด้วยปีตินั้น.
               บทว่า กาโย ปสฺสมฺภติ ความว่า แม้กายก็เป็นอันสงบระงับ คือมีความกระวนกระวายอันสงบระงับแล้ว.
               บทว่า ปสฺสทฺธกาโย สุขํ ความว่า ท่านผู้มีความกระวนกระวายทางกายสงบแล้วอย่างนี้ ย่อมเสวยสุขทางใจ.
               บทว่า จิตฺตํ สมาธิยติ ความว่า จิตย่อมตั้งมั่นโดยชอบ คือดำรงอยู่ ไม่หวั่นไหว ดุจถึงอัปปนา.
               [๙๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงอานิสงส์มีโสมนัสเป็นต้น อันเกิดขึ้นอยู่แก่ภิกษุรูปนั้นผู้พิจารณาอยู่ซึ่งการละกิเลสอันประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงประกาศอาการอันเป็นไปแล้วแห่งการพิจารณาของภิกษุนั้น โดยวาระว่า ยโตธิ โข ปน เม ดังนี้ แล้วแสดงพลานุภาพแห่งอนาคามิมรรคนั้นนั่นแล จึงตรัสคำว่า ส โข โส ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํสีโล ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงศีลขันธ์อันประกอบด้วยอนาคามิมรรคของภิกษุรูปนั้น.
               บทว่า เอวํธมฺโม เอวํปญฺโญ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงสมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์อันประกอบด้วยอนาคามิมรรคนั้นนั่นแล.
               บทว่า สาลีนํ ความว่า แห่งข้าวสาลีชนิดต่างๆ มีข้าวสาลีแดงและข้าวสาลีหอมเป็นต้น.
               บทว่า ปิณฺฑปาตํ ได้แก่ ข้าวสุก.
               บทว่า วิจิตกาฬกํ ความว่า นำส่วนที่ดำ (เสีย) ออก.
               บทว่า เนวสฺส ตํ โหติ อนฺตราย ความว่า การฉันบิณฑบาตมีประการดังกล่าวนั้นของภิกษุเห็นปานนี้นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายแก่มรรคหรือผล.
               จริงอยู่ การฉันนั้นของท่านผู้ได้ (บรรลุ) คุณธรรมแล้วจักทำอันตรายอะไรได้ แม้ว่าท่านยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคและอรหัตตผล (แต่) ยัง (อยู่ในระยะ) เจริญวิปัสนาเพื่อบรรลุมรรคผลนั้น การฉันนั้นก็ไม่จัดเป็นอันตรายเลย คือไม่สามารถจะทำอันตรายได้เลย.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะท่านมีจิตบริสุทธิ์ด้วยมรรคที่ประมวลศีล ธรรมและปัญญามีประการดังกล่าวแล้วไว้. ก็เพราะในข้อที่มีเหตุนี้นั่นแล ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงข้ออุปมาอันเหมาะแก่เหตุนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺฉํ ความว่า ใสสะอาดเพราะปราศจากมลทิน ผ่องแผ้วเพราะประภัสสร.
               บทว่า อุกฺกามุขํ ความว่า เบ้าหลอมของช่างทอง เพราะในที่นี้ เบ้าของช่างทอง ท่านเรียกว่า อุกกา. แต่ในที่อื่นแม้ประทีปเป็นต้น ท่านก็เรียกว่า อุกกา.
               จริงอยู่ ประทีปท่านเรียกว่า อุกกา (คบเพลิง) ในอาคตสถานว่า อุกฺกา ธาริยมานาสุ ดังนี้. เบ้าท่านเรียกว่า อุกกา (เบ้าหลอม) ในอาคตสถานว่า ช่างทองพึงก่อเบ้าหลอม ครั้นก่อเสร็จแล้ว พึงฉาบปากเบ้าหลอม ดังนี้. เตาช่างทองท่านก็เรียกว่า อุกกา ในอาคตสถานว่า เหมือนอย่างเตาไฟของช่างทองลุกไหม้อยู่ (แต่) ข้างใน ไม่ลามออกมาข้างนอก. กำลังลมท่านก็เรียกว่า อุกกา ในอาคตสถานว่า กำลังลม (อุกกาบาต) จักมีผลอย่างนี้ ดังนี้. แต่ในที่นี้และในที่อื่นอันมีลักษณะเดียวกันนี้ เบ้าของช่างทองพึงทราบว่า อุกกา ในอาคตสถานว่า ช่างทองเอาคีมคีบทองสอดเข้าไปในปากเบ้า ดังนี้.
               ในข้อนั้นมีการเปรียบเทียบด้วยอุปมาดังต่อไปนี้.
               ก็จิตของภิกษุนี้ในเวลาที่ยังเป็นปุถุชนเกลือกกลั้วด้วยมลทินมีกามราคะเป็นต้น พึงเห็นเหมือนผ้าที่สกปรกและเหมือนทองคำที่หมองฉะนั้น. อนาคามิมรรคพึงเห็นเหมือนน้ำอันใสสะอาดและเหมือนปากเบ้าฉะนั้น.
               การที่ภิกษุรูปนั้นมีจิตบริสุทธิ์ เพราะอาศัยอนาคามิมรรคอันประมวลไว้ซึ่งศีล ธรรมและปัญญามีประการดังกล่าวแล้ว พึงเห็นเหมือนผ้าขาวสะอาดและทองคำบริสุทธิ์ เพราะอาศัยน้ำและปากเบ้าฉะนั้น ดังนี้แล.
               [๙๗] บทว่า โส เมตฺตาสหคเตน เจตสา ความว่า พระธรรมเทศนามาแล้วตามอนุสนธิ.
               จริงอยู่ อนุสนธิมี ๓ คือ ปุจฉานุสนธิ อัชฌาสยานุสนธิ และยถานุสนธิ.
               ในอนุสนธิ ๓ นั้น พึงทราบปุจฉานุสนธิด้วยอำนาจพระสูตรที่ทรงวิสัชนาแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ทูลถามอยู่อย่างนี้ (ดังในประโยคเป็นต้น) ว่า
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความหวาดสะดุ้งเพราะไม่มีสติในภายนอกนั้นมีหรือหนอแล
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า มี ภิกษุ.
               พึงทราบอัชฌาสยานุสนธิด้วยอำนาจสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของคนอื่นแล้วตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ พึงมีอยู่หนอแล ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า แม้ (จน) วันนี้พระสมณโคดมก็ยังไม่หมดราคะแน่นอน.
               ส่วนยถานุสนธิพึงทราบ (ด้วยอำนาจ) สูตรทั้งหลายซึ่งเป็นที่มาแห่งเทศนาขั้นสูง (ขึ้นตามลำดับ) ด้วยอำนาจธรรมที่เหมาะสมและเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่เป็นเหตุให้เทศนาเกิดขึ้นในตอนแรก
               เช่น ในอากังเขยยสูตร เทศนาด้วยเรื่องศีลธรรม (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ อภิญญา ๖ มา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง. ในกกโจปมสูตร เทศนาว่าด้วยความไม่อดทนเกิดขึ้น (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ โอวาทอุปมาด้วยเลื่อยมา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง. ในอลคัททสูตร เทศนาว่าด้วยการแสดงทิฏฐิเกิดขึ้น (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ การประกาศสุญตามา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง. ในจุลลอัสสปุรุสูตร เทศนาว่าด้วยความไม่อดทนเกิดขึ้น (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ พรหมวิหารมา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง. ในโกสัมพิกสูตร เทศนาว่าด้วยการทะเลาะกันเกิดขึ้น (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ สาราณียธรรมมา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง.
               แม้ในวัตถสูตรนี้ การแสดงเรื่องกิเลสเกิด (เป็นเทศนา) ขั้นต่ำ พรหมวิหารมา (เป็นเทศนา) ขั้นสูง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ยถานุสนฺธิวเสน เทสนา อาคตา ดังนี้.
               ส่วนในพรหมวิหารธรรม ท่านกล่าวการพรรณนาตามลำดับบท และนัยแห่งการเจริญทั้งหมดไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอย่างครบถ้วน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการเจริญพรหมวิหารของพระอนาคามีนั้นอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปกิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น ชื่อว่าได้ปทัฏฐานแล้ว เพราะกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึก โดยการละกามราคะ พยาบาทโดยประการทั้งปวงทีเดียวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิปัสสนา เพื่อความเป็นพระอรหันต์แห่งพระอนาคามีนั้นแล้ว ทรงแสดงการบรรลุพระอรหัต (ของท่าน) จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โส อตฺถิ อิทํ ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความว่า
               พระอนาคามีนั้นได้เจริญพรหมวิหารอย่างนี้แล้ว ออกจากพรหมวิหารข้อใดข้อหนึ่งในบรรดาพรหมวิหารเหล่านั้นแล้ว กำหนดธรรมคือพรหมวิหารเหล่านั้นนั่นแลว่าเป็นนาม (และ) กำหนดธรรมคือภูตรูปและอุปาทายรูปว่า เป็นรูปโดยนัยเป็นต้นว่า หทัยวัตถุเป็นที่อาศัยของพรหมวิหารธรรมเหล่านั้น ภูตรูปเป็นที่อาศัยของหทัยวัตถุ ดังนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ข้อนี้มีอยู่ ดังนี้. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระอนาคามีนี้กระทำการกำหนดทุกขสัจแล้ว.
               ต่อจากนั้น ท่านเมื่อแทงตลอดทุกขสมุทัย ย่อมรู้ชัดว่าสิ่งที่เลว ยังมีอยู่ ดังนี้. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันท่านกระทำการกำหนดสมุทัยแล้ว.
               ต่อจากนั้น ท่านเมื่อเลือกเฟ้นอุบายเป็นเครื่องละสมุทัยสัจนั้น ย่อมรู้ชัดว่าสิ่งที่ประณีต ยังมีอยู่. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพระอนาคามีนี้ทำการกำหนดมัคคสัจแล้ว.
               ต่อจากนั้น ท่านเมื่อพิจารณาฐานะที่พึงบรรลุด้วยมรรคนั้น ย่อมรู้ชัดว่าวิธีสลัดสัญญานี้ให้ยิ่งขึ้นไป ยังมีอยู่.
               อธิบายว่า ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า พระนิพพานเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพรหมวิหารสัญญานี้อันเราบรรลุแล้วอันยิ่ง ยังมีอยู่ ดังนี้. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระอนาคามีนี้ทำการกำหนดนิโรธสัจแล้ว.
               บทว่า เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต ความว่า เมื่อพระอนาคามีนั้นรู้อยู่ซึ่งสัจจะ ๔ ด้วยอาการ ๔ อย่างนี้ด้วยวิปัสสนาปัญญา เห็นอยู่อย่างนี้ด้วยมรรคปัญญา จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากอาสวะโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในภยเภรวสูตร.
               บทว่า อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาให้จบลงจนกระทั่งถึงพระอรหัตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเหตุที่พราหมณ์ผู้มีความเห็นว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะการอาบน้ำ นั่งอยู่ในบริษัทนั้น (และ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบแล้วว่า พราหมณ์นั้นนั่นแลได้ฟังการพรรณนาถึงความบริสุทธ์ (มีอยู่) เพราะการอาบน้ำ (อันเราตถาคต) กล่าวอยู่ บวชแล้วจักบรรลุพระอรหัต ดังนี้ ฉะนั้น เพื่อประสงค์จะตักเตือนพราหมณ์นั้น จึงตรัสอนุสนธิแยกเฉพาะนี้ว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สินาโต อนฺเรน สินาเนน (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ เราตถาคตกล่าวว่าอาบแล้วด้วยการอาบภายใน) ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตเรน สินาเนน ความว่า ด้วยการอาบ คือการออกจากกิเลสอันมีในภายใน.
               [๙๘] บทว่า สุนฺทริกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์นั้นชื่อว่าภารทวาชะ ด้วยอำนาจโคตรของตน. ก็พราหมณ์นั้นมีความเห็นดังนี้ว่า คนที่อาบน้ำในแม่น้ำสุนทริกา ย่อมละบาปได้ เพราะฉะนั้น จึงถูกเรียกว่า สุนทริกภารทวาชะ ดังนี้.
               พราหมณ์นั้นได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้วคิดว่า แม้พวกเราย่อมสรรเสริญความบริสุทธิ์เพราะการอาบน้ำ ฝ่ายพระสมณโคดมก็ย่อมสรรเสริญความบริสุทธิ์เพราะการอาบน้ำนั้นเหมือนกัน บัดนี้ พระสมณโคดมนี้มีความพอใจเหมือนกันกับพวกเรา ดังนี้.
               ลำดับนั้น พราหมณ์สำคัญพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นเหมือนเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา ลอยบาปในแม่น้ำนั้นแล้วเสด็จมา จึงกราบทูลว่า ก็พระโคดมผู้เจริญย่อมเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา เพื่อทรงสรงสนานหรือ?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเลยทีเดียวว่า ไป หรือไม่ได้ไป (แต่) ทรงมีพระประสงค์จะถอนความเห็น (ผิด) ของพราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกา แม่น้ำพาหุกาจักทำอะไรได้ ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความว่า ประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกา, แม่น้ำพาหุกานั้นจักทำอะไรได้ แม่น้ำพาหุกานั้นไม่สามารถอำนวยประโยชน์อะไรให้ได้หรอก เราจักไปที่แม่น้ำนั้นทำไม.
               ลำดับนั้น พราหมณ์เมื่อจะสรรเสริญข้อความนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า โลกฺสมฺตา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกฺขสมฺมตา ความว่า แม่น้ำพาหุกาอันชาวโลกยอมรับกันว่าเป็นแดนพ้นบาป. อธิบายว่า อันชาวโลกยอมรับกันอย่างนี้ว่า ย่อมให้ความพ้นบาป คือความหลุดพ้น ได้แก่ความบริสุทธิ์.
               ปาฐะว่า โลกฺยสมฺมตา ดังนี้บ้าง. ปาฐะนั้นมีเนื้อความว่า อันชาวโลกยอมรับกันอย่างนี้ว่า ย่อมให้ถึงโลกที่ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า ปุญฺญสมฺมตา ได้แก่ อันชาวโลกยอมรับกันว่าเป็นบุญดังนี้.
               บทว่า ปวาเหติ ความว่า ลอยไป คือทำให้สะอาด.
               บทว่า คาถาหิ อชฺฌภาสิ ความว่า ได้ตรัสด้วยพระคาถาทั้งหลาย.
               จริงอยู่ พระคาถาทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัส ย่อมตรัสแก่บุคคลผู้ชอบคาถา เพื่อทรงแสดงเนื้อความนั้นเท่านั้น หรือเพื่อแสดงเนื้อความที่สำคัญ. แต่ในที่นี้ พระคาถาเหล่านั้นพึงทราบว่า ตรัสไว้เพื่อแสดงเนื้อความทั้งสอง.
               จริงอยู่ บทว่า พาหุกํ นี้นั่นแลเป็นบทแสดงเนื้อความนั้นในที่นี้.
               บทที่เหลือเป็นบทแสดงเนื้อความที่สำคัญ.
               เหมือนอย่างว่า สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ย่อมไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อลอยบาปด้วยการอาบน้ำฉันใด ชาวโลกก็ย่อมไปยังสถานที่มีท่าน้ำอธิกักกาเป็นต้นเพื่อลอยบาปด้วยการอาบน้ำฉันนั้น. บรรดาชาวโลกเหล่านั้น ชนเหล่าใดอยู่ใกล้สถานที่เหล่านั้น ชนเหล่านั้นย่อมอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง. ชนเหล่าใดอยู่ไกล ชนเหล่านั้นย่อมอาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง ครั้งเดียว วันเว้นวัน ตามลำดับอย่างนี้จนกระทั่งถึงปีเว้นปี. ส่วนชนเหล่าใดไม่สามารถจะไปได้เลย ชนเหล่านั้นก็ใช้ให้คนอื่นเอาหม้อตักน้ำจากที่นั้นมาอาบ.
               ก็คำทั้งหมดนี้ไม่มีประโยชน์.
               เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความสำคัญนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อธิกกฺกาทีนิปิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิกกฺกํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาท่าน้ำแห่งหนึ่งอันได้โวหาร (อย่างนั้น) ด้วยอำนาจเป็นอุปกรณ์ในการอาบ.
               บทว่า คยา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงท่าน้ำสัณฐานเหมือนสระกลมนั่นแล.
               แม้บทว่า ปยาคา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสหมายถึง ท่าน้ำท่าหนึ่งของแม่น้ำคงคาซึ่งเป็นสถานที่ตรงหน้าบันไดปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทะที่จมลงไปในแม่น้ำคงคาแล้ว.
               ส่วนลำน้ำเหล่านี้ คือ พาหุกา สุนทริกา สรัสสตี พาหุมตี เป็นแม่น้ำ ๔ สาย.
               บทว่า พาโล ได้แก่ ผู้มีปัญญาทราม.
               บทว่า ปกฺขนฺโน แปลว่า เข้าไป.
               บทว่า น สุชฺฌติ แปลว่า ไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์จากกิเลส. เขาย่อมลอยได้แต่คราบฝุ่นอย่างเดียวเท่านั้น.
               บทว่า กึ สุนฺทริกา กริสฺสติ ความว่า แม่น้ำสุนทริกาจักกระทำอะไรได้ด้วยการชำระกิเลส. อธิบายว่า ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย. ในท่าน้ำปยาคาและแม่น้ำพาหุกาก็มีนัยนี้.
               ก็ด้วยบททั้ง ๓ นี้ที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ก็ย่อมเป็นอันท่านกล่าว ๔ บทนอกนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน โดยลักขณหารนัย. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า แม้ท่าอธิกักกาเป็นต้นก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนกับแม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำปยาคาและแม่น้ำพาหุกา ทำอะไรไม่ได้ฉะนั้น.
               บทว่า เวรึ แปลว่า ผู้ประกอบด้วยเวร ๕ มีปาณาติบาตเป็นต้น
               บทว่า กตกิพฺพิสํ คือ ผู้ได้ทำกรรมอันหยาบช้าไว้แล้ว.
               บทว่า น หิ นํ โสธเย ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคา หรือแม่น้ำพาหุกา ก็ทำให้เขาบริสุทธิ์ไม่ได้เลย.
               บทว่า ปาปกมฺมินํ ความว่า ประกอบด้วยกรรมอันเป็นบาป คือกรรมที่ชั่วช้าอันเป็นเวร หรือประกอบด้วยกรรมอันลามก. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ประกอบด้วยบาปแม้เล็กน้อยอันยังไม่ถึงความเป็นโทษคือเวร.
               บทว่า สุทฺธสฺส แปลว่า หมดกิเลส.
               บทว่า สทา ผคฺคุ ได้แก่ แม้งานนักษัตรประจำเดือน ๔ ที่มีเป็นประจำ.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ในเดือน ๔ ผู้ใดอาบน้ำในวันข้างขึ้นเดือน ๔ ผู้นั้นย่อมชำระบาปที่ตนกระทำตลอดปีได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงคัดค้านทิฏฐิของพราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า สำหรับผู้บริสุทธิ์แล้วเดือน ๔ มีอยู่ทุกเมื่อสำหรับผู้หมดกิเลสแล้ว นักษัตรประจำเดือน ๔ มีประจำ ห้วงน้ำนอกนี้จักชำระล้างได้อย่างไรดังนี้.
               บทว่า อุโปสโถ สทา ความว่า ก็บุคคลผู้บริสุทธิ์แล้วแม้จะไม่ได้สมาทานองค์อุโบสถในวันเพ็ญ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ของอุโบสถ ก็ย่อมมีอยู่เป็นนิจทีเดียว.
               บทว่า สุทฺธสฺส สุจิกมฺมสฺส แปลว่า ชื่อว่าผู้สะอาดแล้ว เพราะเป็นผู้หมดกิเลสและเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันสะอาด.
               บทว่า สทา สมฺปชฺชเต วตํ ความว่า ก็แม้การสมาทานวัตรอันประกอบด้วยกุศลของบุคคลเช่นนี้ ย่อมถึงพร้อมเป็นประจำทีเดียว.
               บทว่า อิเธว สินาหิ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอจงอาบน้ำในศาสนาของเราตถาคตนี้แล.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อีกว่า ถ้าเธอปรารถนาจะล้างมลทินคือกิเลสภายในไซร้ จงอาบด้วยน้ำคือมรรคมีองค์ ๘ ในศาสนาของเราตถาคตนี้นั่นแล. เพราะว่า ในที่อื่น น้ำคือมรรคมีองค์ ๘ เช่นนี้ไม่มี ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความบริสุทธิ์ในทวารแม้ทั้ง ๓ ด้วยอำนาจเทศนาอันเหมาะแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สพฺพภูเตสุ กโรหิ เขมตํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เขมตํ ได้แก่ ความไม่มีภัย คือความเกื้อกูล.
               อธิบายว่า ได้แก่เมตตา. ด้วยบทนั้นย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความบริสุทธิ์ทางมโนทวารแก่พราหมณ์นั้น.
               ด้วยบทว่า สเจ มุสา น ภณสิ นี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความสะอาดทางวจีทวาร.
               ด้วยบทเหล่านี้ว่า สเจ ปาณํ น หึสสิ สเจ อทินฺนํ นาทิยสิ ย่อมอันเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความบริสุทธิ์ทางกายทวาร.
               ก็ด้วยบทเหล่านี้ว่า สทฺทหาโน อมจฺฉรี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบพราหมณ์นั้นผู้มีทวารบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ไว้ในสัทธาสัมปทาและจาคสัมปทา.
               ส่วนบาลีนี้ว่า กึ กาหสิ คยํ คนฺตฺวา อุทปาโนปิ เต คยา เป็นกึ่งคาถา.
               พึงประกอบใจความอย่างนี้ว่า
               ถ้าว่า เธอจักกระทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวง ไม่พูดเท็จ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ เธอไปยังแม่น้ำคยาจักทำอะไรได้ แม่น้ำคยาก็เป็น (เพียง) บ่อน้ำสำหรับเธอ เพราะว่า เมื่อเธออาบน้ำอยู่ในแม่น้ำคยาก็ดี ในบ่อน้ำก็ดี ความบริสุทธิ์จากกิเลสจะมีได้ก็ด้วยการปฏิบัตินี้เท่านั้น.
               ส่วนความบริสุทธิ์จากมลทินทางร่างกายมีได้เหมือนกันในที่ทั้ง ๒ แห่ง.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความว่า ก็เพราะว่าแม่น้ำคยาอันชาวโลกรู้จักกันมากกว่าในโลก ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ถูกพราหมณ์นั้นทูลถามว่า ก็พระโคดมผู้เจริญเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาหรือ? ไม่ตรัสว่า เธอไปยังแม่น้ำพาหุกาจักทำอะไรได้ (แต่) ตรัสว่า เธอไปยังแม่น้ำคยาจักกระทำอะไรได้ ดังนี้.
               [๙๙] คำเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวํ วุตฺเต นับว่าชัดแล้วแล เพราะท่านกล่าวไว้แล้วในภยเภสูตร.
               ก็ในบทเป็นต้นว่า เอโก วูปกฏฺโฐ พึงทราบอธิบายดังนี้ :-
               พราหมณ์ชื่อว่าเป็นผู้เดียวด้วยกายวิเวก ชื่อว่าหลีกออกแล้ว (จากการคลุกคลีด้วยนิวรณ์) ด้วยจิตวิเวก ชื่อว่าไม่ประมาท ด้วยการไม่ละสติในกัมมัฏฐาน ชื่อว่ามีความเพียร ด้วยความเพียรเผากิเลส กล่าวคือความเพียรทางกายและความเพียรทางจิต ชื่อว่าหมดอาลัยในตนแล้ว เพราะไม่มีความห่วงใยในกายและชีวิต ชื่อว่าอยู่ด้วยการอยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง (ในบรรดาอิริยาบถ ๔).
               บทว่า น จิรสฺเสว ท่านกล่าวหมายถึงการบรรพชา.
               บทว่า กุลปุตฺตา ได้แก่ กุลบุตรมี ๒ จำพวก คือ กุลบุตรโดยชาติ (กำเนิด) และกุลบุตรโดยอาจาระ. ก็พราหมณ์นี้เป็นกุลบุตรแม้โดยประการทั้ง ๒.
               บทว่า อคารสฺมา แปลว่า จากเรือน.
               ในบทว่า อนคาริยํ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               การงานอันเป็นเหตุเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติ มีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ (การ) ครองเรือน ท่านเรียกว่า อคาริยะ. การงานที่เกื้อกูลแก่การครองเรือนในการบรรพชานี้ ไม่มี เหตุนั้น การบรรพชานี้จึงชื่อว่า อนคาริยํ. คำว่า อนคาริยํ นั้น เป็นชื่อของการบวช.
               บทว่า ปพฺพชนฺติ แปลว่า เข้าไปใกล้ คือเข้าไปหา.
               บทว่า ตทนุตฺตรํ ตัดบทเป็น ตํ อนุตฺตรํ (แปลว่า ผลอันยอดเยี่ยมนั้น).
               บทว่า พฺรหฺมจริยปริโยสานํ ได้แก่ ที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า (ได้แก่) อรหัตตผล ดังนี้.
               จริงอยู่ พวกกุลบุตรบวชก็เพื่อประโยชน์แก่อรหัตตผลนั้น.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม แปลว่า ในอัตภาพนั้นนั่นเอง.
               บทว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ความว่า กระทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาด้วยตนเองทีเดียว. อธิบายว่า รู้โดยไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย ดังนี้.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหาสิ ความว่า บรรลุ คือให้สำเร็จอยู่.
               ก็พระสุนทริกภารทวาชะเมื่ออยู่ด้วยอาการอย่างนั้น ก็ได้ทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว ฯลฯ ดังนี้ พระอานนทเถระแสดงถึงภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณของท่านด้วยคำนั้น.
               ถามว่า ก็ชาติไหนของท่านสิ้นไปแล้ว และท่านรู้ชาติที่สิ้นไปนั้นอย่างไร?
               ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไป :-
               ก็ข้อความนั้นได้กล่าวไว้แล้วในภยเภรวสูตรก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวข้อความนั้นซ้ำอีก โดยสังเขป (ย่อ) เพื่อจะแสดงนัยแห่งการอธิบายประกอบความด้วยอำนาจปฐมบุรุษ.
               ชาติอันเป็นอดีตของพระสุนทริกภารทวาชะนั้น ไม่ชื่อว่าสิ้นไปแล้วก่อน (ในที่นี้) เพราะชาตินั้นสิ้นไปแล้วในกาลก่อนนั่นแล.
               ชาติที่เป็นอนาคตก็ไม่ชื่อว่าสิ้นไป เพราะท่านไม่มีความพยายามในชาติอันเป็นอนาคตนั้น.
               ชาติที่เป็นปัจจุบันก็ไม่ชื่อว่าสิ้นไป เพราะชาติปัจจุบันยังมีอยู่.
               ก็ชาติใดแยกประเภทเป็นขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕ ในเอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ พึงเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้เจริญมรรคให้เกิดมี ชาตินั้นชื่อว่าสิ้นไปแล้ว เพราะถึงความเป็นชาติที่มีการไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหตุที่ท่านได้เจริญมรรคให้เกิดมีแล้ว.
               พระสุนทริกภารทวาชะนั้นพิจารณาถึงกิเลสที่มรรคภาวนาละได้แล้ว รู้อยู่ว่า เมื่อไม่มีกิเลส กรรมแม้มีอยู่ ก็ย่อมไม่ให้ปฏิสนธิต่อไป ชื่อว่าย่อมรู้ชาติที่สิ้นไปนั้น.
               บทว่า วุสิตํ ความว่า อยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว.
               อธิบายว่า กระทำแล้ว ประพฤติแล้ว ให้จบแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.
               บทว่า กตํ กรณียํ ความว่า กิจทั้ง ๑๖ คือ ปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจและภาวนากิจอันท่านให้สำเร็จแล้วด้วยมรรค ๔ ในสัจจะทั้ง ๔.
               บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า การเจริญมรรคเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือเพื่อกิจ ๑๖ อย่าง หรือเพื่อความสิ้นกิเลสอย่างนี้ ไม่มีในบัดนี้.
               อีกประการหนึ่ง บทว่า อิตฺถตฺตาย ความว่า ความสืบต่อแห่งขันธ์อื่นจากความเป็นอย่างนี้ คือจากขันธสันดานที่เป็นไปอยู่ในบัดนี้อย่างนี้ ไม่มี.
               ก็พระสุนทริกภารทวาชะนั้นได้รู้แล้วว่า ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันตนกำหนดรู้แล้วยังดำรงอยู่ (แต่ก็) เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัดรากเหง้าแล้วฉะนั้น.
               บทว่า อญฺญตโร มีความหมายเท่ากับ เอโก (แปลว่า หนึ่ง).
               บทว่า อรหตํ คือ อรหนฺตานํ. อธิบายว่า ท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง บรรดาพระอรหันต์ผู้สาวกพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.

               จบ อรรถกถาวัตถสูตร (วัตถูปมสูตร) ที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค วัตถูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 73อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 12 / 100อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1136&Z=1236
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=4553
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=4553
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :