ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 27อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 12 / 73อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
อนังคณสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลส

               อรรถกถาอนังคณสูตร               
               [๕๓] อนังคณสูตร เริ่มต้นว่า
               ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตร...
               การขยายความ (เฉพาะ) บทที่ยากในพระสูตรนั้น และในพระสูตรทุกสูตรก็จะเหมือนในพระสูตรนี้ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวเฉพาะเท่านี้ แต่จะทำการขยายบทที่ไม่เคยขยายความมาก่อนด้วย.
               [๕๔] บทว่า จตฺตาโร เป็นการกำหนดนับ.
               บทว่า ปุคฺคลา ได้แก่ สัตว์ ผู้คนและบุรุษ. ด้วยคำเพียงเท่านี้ (บุคคล) ไม่ควรถือว่า พระมหาเถระ (สารีบุตร) มีปกติกล่าวนิยมบุคคล (พวกบุคคลนิยม) เพราะท่านผู้นี้ประเสริฐที่สุดในบรรดาพระสาวกผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย ท่านเทศนาไม่ขัดแย้งกับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย.

               เทศนา ๒               
               พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า มี ๒ อย่าง คือ สมมติเทศนา (เทศนาเกี่ยวกับสมมติ) ๑ ปรมัตถเทศนา (เทศนาเกี่ยวกับปรมัตถ์) ๑.
               ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มารเป็นต้น.
               ส่วนปรมัตถเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐานเป็นต้น.
               ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาแก่เหล่าพุทธเวไนยผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้
               ส่วนคนเหล่าใดฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้เขาฟัง.

               เปรียบเทียบความ               
               ในการทรงแสดงพระธรรมเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้นมีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้.                อุปมาเหมือนอาจารย์ผู้บรรยายไตรเพท รู้ภาษาถิ่น เมื่อพูดภาษาทมิฬ นักเรียนพวกใดเข้าใจความหมาย ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ. แต่ถ้าพวกใดเข้าใจความหมายด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในจำนวนภาษาทั้งหลายมีภาษาอันธกะเป็นต้น ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษานั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้น มาณพน้อย (นักเรียน) เหล่านั้นได้อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาดหลักแหลม จะเรียนศิลปะได้เร็วทีเดียวฉันใด.
               ในข้ออุปไมยนั้นก็ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทราบว่าเหมือนอาจารย์ พระไตรปิฎกที่อยู่ในภาวะที่จะต้องทรงสอนเหมือนไตรเพท พระปรีชาฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ เหมือนความฉลาดในภาษาถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถแทงตลอดด้วยสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนา๑- เหมือนมาณพน้อย (นักเรียน) ผู้พูดภาษาถิ่นต่างๆ พระธรรมเทศนาว่าด้วยสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนการบอก (ไตรเพท) ด้วยภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์.
____________________________
๑- ปาฐะแยกกันเป็น สมฺมติ ปรมตฺถ เทสนา ปฏิวิชฺฌนสมตฺถา เข้าใจว่าคงจะติดกัน และฉบับพม่าก็ติดกัน จึงได้แปลเช่นนั้น.

               และในการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนานี้ พระโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า :-
                                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าผู้สอนทั้งหลาย
                         ได้ตรัสสัจจะไว้ ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ ๑ ปรมัตถสัจจะ ๑
                         ไม่มีสัจจะอย่างที่ ๓ พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสมมติ (สังเกต)
                         ชื่อว่าเป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นสมมติของโลก
                                   ส่วนพระพุทธดำรัสเกี่ยวกับปรมัตถ์ ชื่อว่าเป็นสัจจะ
                         เพราะเหตุที่เป็นความจริงของธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น
                         สำหรับพระโลกนาถศาสดา ผู้ทรงฉลาดในโวหารเทศนา
                         ตรัสถึงสมมติ มุสาวาทจึงไม่เกิดขึ้น (ไม่เป็นการกล่าวเท็จ)
                         ดังนี้.

               เหตุตรัสบุคคลกถา ๘ ประการ               
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคลกถา (ถ้อยคำระบุบุคคล) ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
               ๑. เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ
               ๒. เพื่อทรงแสดงถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน
               ๓. เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว
               ๔. เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม
               ๕. เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม
               ๖. เพื่อทรงแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
               ๗. เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ
               ๘. เพื่อไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก.

               ขยายความเหตุ ๘ ประการ               
               เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายละอายแก่ใจอยู่ เกรงกลัวบาปอยู่ มหาชนจะไม่เข้าใจ พากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาปด้วยหรือ? ดังนี้
               แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า บุรุษ กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร (ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป) ดังนี้. มหาชนจะเข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า มหาวิหารมีพระเวฬุวันเป็นต้น ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายสร้างไว้ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายปลงชีวิตมารดา บิดา พระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาทกรรม (ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต) (และ) ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ดังนี้. ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายย่อมเมตตา (รักใคร่สัตว์ทั้งหลาย) ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายระลึกชาติที่เคยอยู่ก่อนของเราได้ ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงการระลึกชาติที่อยู่มาก่อนได้.
               แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายรับทานดังนี้ มหาชนจะไม่เข้าใจ พากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ธาตุอายตนะทั้งหลายรับทานด้วยหรือ? ดังนี้.
               แต่เมื่อตรัสว่า บุคคลผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมรับทานดังนี้ มหาชนก็เข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน.
               เพราะว่า ธรรมดาพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายจะไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก ทรงดำรงอยู่ในถ้อยคำของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในการเจรจาของชาวโลกนั้นแหละทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถาไว้เพื่อไม่ละทิ้งสมมติของโลกเสีย.
               ฉะนั้น ท่านองค์นี้ (พระสารีบุตรเถระ) เมื่อจะไม่ให้ขัดแย้งกับพระธรรมเทศนาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ดำรงอยู่ในสมมติของโลก แล้วกล่าวคำมีอาทิว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทเหล่านี้ ดังนี้ เพราะเหตุเป็นผู้ฉลาดในสำนวนโลก เพราะฉะนั้น บุคคลในที่นี้โปรดทราบตามสมมติเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงปรมัตถ์.
               บทว่า สนฺโต สํวิชฺชมานา (มีอยู่ หาได้) คือ พอมี หาพบตามสำนวนของโลก.
               คำว่า ในโลก คือ ในสัตวโลก.

               ขยายความกิเลสดุจเนิน ๓ อย่าง               
               ในที่บางแห่ง กิเลสพระองค์ตรัสเรียกว่า อังคณะ (เป็นเหมือนเนิน) ในคำมีอาทิว่า สงฺคโณว สมาโน. ดังที่ตรัสไว้ว่า บรรดากิเลสเพียงดังเนินนั้น กิเลสเพียงดังเนินเป็นไฉน? คือ กิเลสเพียงดังเนินได้แก่ราคะ กิเลสเพียงดังเนินได้แก่โทสะ กิเลสเพียงดังเนินได้แก่โมหะ
               กิเลสเพียงดังเนิน ในที่บางแห่งหมายถึงมลทินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเปือกตม ดังที่ตรัสไว้ว่า พยายามเพื่อจะละมลทินหรือเปือกตมนั้นนั่นแหละ.
               แต่ในที่บางแห่งหมายถึงพื้นที่ชนิดนั้น (ที่เป็นเนิน) พื้นที่นั้นพึงทราบตามคำที่พูดกัน เช่นเนินโพธิ์ เนินเจดีย์เป็นต้น.
               แต่ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตรประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน.
               จริงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ คำว่าอังคณะนี้เป็นชื่อของอกุศลธรรมชั่วช้า มีความปรารถนาเป็นอารมณ์. เป็นผู้เป็นไปกับด้วยกิเลสเพียงดังเนิน ชื่อว่ามีกิเลสเพียงดังเนิน.
               บทว่า สงฺคโณว สมาโน ผู้มีกิเลสเพียงดังเนินนั่นเอง ยังมีอยู่.
               ข้อว่า อตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ องฺคณํ (บางคนไม่รู้ตามความจริงว่า กิเลสเพียงดังเนินของเรายังมีอยู่ในภายใน) ความว่า ไม่รู้ว่ากิเลสมีอยู่ในตัวเราคือในจิตสันดานของเรา คือไม่รู้โดยถ่องแท้อย่างนี้ว่า ธรรมดากิเลสเหล่านี้หยาบคาย ร้ายแรง ควรละทิ้ง ไม่ควรเอาไว้ คล้ายกับลูกศรอาบยาพิษก็ปานกัน.
               ส่วนผู้ใดรู้ว่ามีด้วย รู้อย่างนี้ด้วย (รู้ว่าหยาบช้า) ผู้นั้นท่านพระสารีบุตรเรียกว่า รู้ตามความจริงว่า กิเลสเพียงดังเนินภายในของเรายังมีอยู่. แต่กิเลสที่จะถอนได้ด้วยมรรคยังไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ใด เพราะหักห้ามไว้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม ผู้นี้ (นั่นเอง) ท่านพระสารีบุตรเถระประสงค์เอาว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ในพระสูตรนี้.
               ข้อว่า นตฺถิ เม อชฺฌตฺตํ องฺคณนฺติ ยถาภูตํ นปฺปชานาติ (ไม่รู้ตามความจริงว่ากิเลสเพียงดังเนินภายในของเราไม่มี) ความว่า ไม่รู้ว่า กิเลสทั้งหลายของเราไม่มี เพราะหักห้ามด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มีเพราะถอนได้ด้วยมรรค คือไม่เข้าใจโดยถ่องแท้อย่างนี้ว่า กิเลสเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นจักทำความพินาศอย่างใหญ่หลวง (เพราะว่า) เป็นกิเลสหยาบช้า ร้ายแรง ควรละทิ้ง ไม่ควรเอาไว้ คล้ายกับลูกศรอาบยาพิษก็ปานกัน.
               ส่วนผู้ใดรู้ว่า ไม่มีเพราะเหตุอันนี้ด้วย รู้อย่างนี้ด้วย (รู้ว่าหยาบช้า) ผู้นั้นท่านพระสารีบุตรเรียกว่า รู้ตามความจริงว่า กิเลสเพียงดังเนินภายในของเราไม่มี ดังนี้.
               บทว่า ตตฺร เท่ากับ เตสุ โยค จตูสุ ปุคฺคเลสุ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น หรือว่า โยค ทฺวีสุ สงฺคเณสุ ในบุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินทั้ง ๒ นั้น.
               บทว่า ยฺวายํ ตัดบทเป็น โย อยํ (แปลว่าบุคคลนี้ใด).
               ปาฐะ (บาลีเดิม) เป็น ยายํ ดังนี้ก็มี.

               คนดี - คนเลว               
               [๕๕] ท่านพระโมคคัลลานะเรียนถามถึงเหตุอย่างเดียวเท่านั้นแหละ แต่ใช้คำถามด้วยคำทั้งคู่ว่า ท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย? ดังนี้.
               พึงทราบความสัมพันธ์กันในบทว่า เยนิเมสํ เป็นต้นอย่างนี้ว่า บรรดาคนทั้ง ๒ ประเภทนั้น คนหนึ่ง ท่านเรียกว่าเป็นคนประเสริฐ แต่อีกคนหนึ่ง ท่านเรียกว่าเป็นคนต่ำทราม เพราะเหตุใด เพราะปัจจัยใด เหตุนั้นคืออะไร ปัจจัยนั้นคืออะไร?
               ในเรื่องเหตุและปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนั้น ถึงแม้ว่า คำว่า การรับรู้และการไม่รู้ทั้งคู่นี้เองที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ไม่รู้อยู่ รู้อยู่ เป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งปัจจัย ก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น พระเถระได้กล่าวย้ำไว้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ในจำนวนคน ๒ ประเภทนั้นดังนี้เป็นต้น เพื่อแสดงเหตุนั้นให้ชัดกว่าแต่ก่อน เพราะเหตุที่ตนมีปฏิภาณเฉียบแหลม.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺเสตํ ปาฏิกงฺขํ (เขาหวังได้เหตุนั้น) ดังนี้.
               อธิบายว่า บุคคลนั้นพึงหวังได้เหตุนั้น คือพึงคาดหมายได้ว่า คนนั้นจักประสบเหตุนี้แหละ ไม่ใช่เหตุอย่างอื่น หมายความว่า เป็นสิ่งที่มีได้แน่นอน.
               ท่านพระสารีบุตรกล่าวหมายเอาการไม่ยังฉันทะให้เกิดขึ้นเป็นต้น ที่ท่านได้กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เขาจักไม่ให้ความพอใจเกิดขึ้น.
               แม้ในจำนวนข้อความเหล่านั้น ข้อความว่า เขาจักให้ฉันทะเกิดขึ้น คือเขาเมื่อไม่รู้ก็จักไม่ให้ความพอใจอยากจะทำเกิดขึ้น เพื่อจะละกิเลสเพียงดังเนินนั้น.
               บทว่า น วายมิสฺสติ แปลว่า จักไม่พยายาม คือจักไม่ทำความพยายามให้มีกำลังมากไปกว่านั้นเลย.
               ข้อว่า น วิริยํ อารภิสฺสติ (จักไม่ปรารภความเพียร) ความว่า จักไม่ปรารภความเพียรที่เป็นตัวกำลังเอาเลย. อธิบายว่า จักไม่ยังความเพียรให้เป็นไป.
               บทว่า สงฺคโณ (กิเลสดุจเนิน) คือมีกิเลสดุจเนินด้วยเนินทั้งหลายมีราคะเป็นต้นเหล่านี้.
               บทว่า สงฺกิลิฏฺฐจิตฺโต (เป็นผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว) คือ เป็นผู้มีจิตมัวหมอง ได้แก่มีจิตขุ่นมัวเอามากๆ เพราะเนินคือกิเลสเหล่านั้นเอง ได้แก่เป็นผู้มีจิตถูกกิเลสเพียงดังเนินเหล่านั้นเบียดเบียน มีจิตถูกกิเลสเพียงดังเนินเหล่านั้นเผาลนเอาทีเดียว.
               บทว่า กาลํ กริสฺสติ (จักมรณภาพ) คือจักตาย.
               บทว่า เสยฺยถาปิ คือ เสยฺยถา นาม เปรียบเหมือนว่า.
               บทว่า กํสปาติ (ถาดทองสัมฤทธิ์) คือ ภาชนะที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์.
               บทว่า อาภตา คือ เอามา.
               บทว่า อาปณา วา กมฺมารกุลา วา (จากตลาดหรือตระกูลของช่างทอง) คือจากร้านตลาด หรือจากบ้านของช่างทองผู้ทำถาดทองสัมฤทธิ์.
               บทว่า รเชน (ถูกละออง) คือ ถูกละอองที่จรมามีฝุ่นเป็นต้น (ปลิวมาเกาะ).
               บทว่า มเลน (ถูกสนิม) คือ ถูกสนิมโลหะที่เกิดกับถาดทองสัมฤทธิ์นั่นเอง (จับ).
               บทว่า ปริโยนทฺธา (จับ) คือ เกาะหุ้มอยู่ทั่วไป
               บทว่า น จ ปริโยทเปยฺยํ (ไม่ได้ขัดถู) คือ ไม่ได้ทำความสะอาดด้วยวิธีล้างและขัดสีเป็นต้น.
               บทว่า รชาปเถ (ทางฝุ่น) คือ ในที่ที่มีละออง.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ (บาลีในพระไตรปิฎก) ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน. อธิบายว่า เก็บไว้ในที่ที่ละอองปลิวมาถึง คือในที่ที่ละอองฟุ้ง หรือเก็บไว้ใต้เตียง หรือยุ้งแกลบ หรือภายในภาชนะเหมือนกับเอาละอองโรยใส่.
               ในข้อว่า สงฺกิลิฏฺฐตรา อสฺส มลคฺคหิตา (มีแต่จะมัวหมองมีสนิมเกาะมาก) นี้มีคำอธิบายว่า รังแต่จะมัวหมองขึ้นกว่าเดิม เพราะเก็บไว้ในที่ทางที่มีละออง คือถูกสนิมเกาะขึ้นมากกว่าเดิม เพราะไม่ได้ใช้และไม่ได้ทำความสะอาด มิใช่หรือ?
               ก็คำว่า (มีแต่จะมัวหมองมีสนิมเกาะมากมิใช่หรือ) นี้เป็นคำย้อนถาม. เพราะฉะนั้น พึงทราบอรรถาธิบายคำย้อนถามนั้น ดังต่อไปนี้ว่า
               ท่านขอรับ (โมคคัลลานะ) ถาดทองสัมฤทธิ์ใบนั้นที่เขาทำอย่างนี้ ภายหลังจะหมองมากกว่าเดิม และจะมีสนิมเกาะมากกว่าเดิม จนยากที่จะรู้ได้หรือไม่รู้ได้ว่า เป็นถาดดินหรือเป็นถาดทองสัมฤทธิ์.
               พระเถระเมื่อจะรับรองคำนี้ จึงกล่าวว่า เป็นอย่างนั้นนั่นแหละท่าน.
               พระธรรมเสนาบดี (สารีบุตร) เมื่อจะยืนยันข้ออุปไมยอีกครั้ง จึงได้กล่าวคำมีอาทิไว้ว่า เอวเมว โข (ก็เหมือนกันนั่นแหละ).
               ในคำนั้นควรทราบการเปรียบเทียบคำอุปมากับคำอุปไมย ดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลที่ยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่ เปรียบเหมือนถาดสัมฤทธิ์ที่มัวหมอง การที่บุคคลนั้นเมื่อจะได้บวช ก็กลับได้บวชในสำนักของบุคคลผู้ขวนขวายในอเนสนาทั้งหลายมีเวชกรรม (เป็นหมอ) เป็นต้น เปรียบเหมือนการทอดทิ้งถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมองอยู่แล้วไว้ในที่ทางที่มีละอองเพราะไม่ได้ใช้สอยเป็นต้น. การทำอเนสนามีเวชกรรมเป็นต้นแห่งบุคคลนั้นผู้สำเหนียกอยู่ตามอาจารย์และอุปัชฌายะ ตามลำดับ (และ) การมรณภาพทั้งที่ยังมีกิเลสเพียงดังเนินของบุคคลผู้ดำรงอยู่ในวีติกกมโทษ คือการทำอเนสนามีเวชกรรมเป็นต้น (เป็นหมอเหมือนอาจารย์) เปรียบเหมือนภาวะของถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมองอยู่แล้ว กลับมัวหมองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก.
               อีกอย่างหนึ่ง การมรณภาพทั้งๆ ที่ยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่แห่งเขาผู้ดำรงอยู่ในวีติกกมโทษนี้ตามลำดับ คือการต้องอาบัติทุกกฏ และทุพภาสิต (เปรียบเหมือนภาวะของถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมองอยู่แล้ว กลับมัวหมองขึ้นไปอีก).
               อีกอย่างหนึ่ง การมรณภาพทั้งๆ ที่ยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่ของเขาผู้ดำรงอยู่ในวีติกกมโทษนี้ตามลำดับ คือการต้องอาบัติปาจิตตีย์และถุลลัจจัย การต้องอาบัติสังฆาทิเสส การต้องอาบัติปาราชิก และการทำอนันตริยกรรมมีการฆ่ามารดาเป็นต้น (เปรียบเหมือนภาวะของถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมองอยู่แล้ว กลับมัวหมองยิ่งขึ้นไปอีก).
               แต่ในข้อความนี้ว่า จักเป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง มรณภาพ ไม่ควรเห็นอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า จักมรณภาพด้วยอกุศลจิต. เพราะสัตว์ทุกตัวตนตายโดยปกติจิต คือโดยภวังคจิตกันทั้งนั้น แต่คนคนนี้ยังไม่ชำระจิตสันดานให้สะอาดก่อนแล้วจึงตาย ดังนี้แล พึงทราบอรรถาธิบายว่า พระสารีบุตรกล่าวข้อความไว้อย่างนี้ หมายเอาอรรถาธิบายข้อนี้.
               ในทุติยวารมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปริโยทเปยฺยุํ (ควรขัดถู) ความว่า ทำให้สะอาด คือให้เป็นเช่นกับกระจกเงา ด้วยการล้างการขัดและการถูด้วยขี้เถ้าละเอียดเป็นต้น.
               ข้อว่า น จ นํ รชาปเถ (ไม่ควรเก็บมันไว้ในที่ทางที่มีละออง) ความว่า ไม่ควรเก็บไว้ในที่ดังที่กล่าวมาก่อนแล้ว แต่ควรวางไว้ในกล่องหรือหีบหรือห่อ แล้วเอาแขวนไว้ที่ไม้สำหรับแขวนสิ่งของ (นาคทันตะ).
               คำที่ยังเหลืออยู่ ควรถือเอาตามแนวแห่งนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเถิด.
               แต่ในทุติยวารนี้ ควรทราบการเปรียบเทียบระหว่างข้ออุปมากับอุปไมยดังต่อไปนี้ว่า
               ภัพพบุคคล (ผู้พอบรรลุมรรคผลได้) ที่ยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่ เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมอง การที่บุคคลนั้นกลับได้บวชในสำนักของผู้มีศีลเป็นที่รัก เหมือนกับทำการใช้ถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมองเป็นต้น แล้วเก็บไว้ในสถานที่ที่สะอาด.
               อาจารย์และอุปัชฌาย์เหล่าใดตักเตือนพร่ำสอน (เขา) เห็นความประมาทแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำทัณฑกรรมแล้วให้สำเหนียกบ่อยๆ การมรณภาพขณะที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแห่งเขาผู้สำเหนียกตามอาจารย์และอุปัชฌายะนั้น ดำรงอยู่ในคุณธรรมนี้ คือการประพฤติปฏิบัติชอบนี้ตามลำดับ เหมือนกับภาวะของถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมอง แต่สะอาดหมดจดในภายหลัง.
               อีกอย่างหนึ่ง การมรณภาพขณะที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแห่งเขาผู้ดำรงอยู่ในการยืนหยัดอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ การเรียนเอาพระพุทธพจน์พอเหมาะสมสำหรับตนแล้วสมาทานธุดงค์ รับเอาพระกรรมฐานที่เกื้อกูลแก่ตน ทิ้งการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านแล้วอยู่ในเสนาสนะที่สงัดนี้ตามลำดับ เปรียบเทียบกับภาวะของถาดทองสัมฤทธิ์ที่มัวหมอง แต่สะอาดหมดจดในภายหลัง.
               อีกอย่างหนึ่ง การมรณภาพขณะที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินในวาระสุดท้ายนั่นเอง (ปรินิพพาน) แห่งท่านผู้ดำรงอยู่ในการทำบริกรรมกสิณแล้วข่มกิเลสไว้ได้ ด้วยการยังสมาบัติทั้ง ๘ ให้เกิดขึ้น การออกจากฌานที่เป็นบาทของวิปัสสนาแล้วกั้นกิเลสไว้ได้ด้วยตทังคปหาน (การละกิเลสบางอย่างได้ด้วยองค์นั้น เช่นละสุภารมณ์ได้ด้วยการพิจารณาอสุภะเป็นต้น) จึงบรรลุโสดาปัตติผลด้วยวิปัสสนา ฯลฯ และการทำอรหัตให้แจ่มแจ้งแก่ตน (เปรียบเหมือนกับภาวะของถาดที่มัวหมองแต่สะอาดหมดจดในภายหลัง).
               ในตติยวารมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สุภนิมิตฺตํ ได้แก่ อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นที่ตั้งของราคะ.
               บทว่า มนสิ กริสฺสติ (จักใส่ใจ) ความว่า เมื่อสุภนิมิตนั้นมีอยู่ เขาก็จักระลึกถึงนิมิตนั้น.
               บทว่า ตสฺส สุภนิมิตฺตสฺส มนสิการา (เพราะการใส่ใจถึงสุภนิมิตของเขา) ได้แก่ เพราะเหตุแห่งการใส่ใจถึงสุภนิมิตของบุคคลนั้น.
               บทว่า อนุทฺธํเสสฺสติ (จักตามรบกวน) คือ จักเบียดเบียน ได้แก่จักครอบงำ (จิตของเขา). อธิบายว่า ราคะพึงทราบว่าเมื่อเกิดขึ้นตัดขาดการปฏิบัติกุศล เป็นอกุศลชวนะเสียเอง ตามขจัดกุศลจิต สถิตอยู่.
               คำที่ยังเหลืออยู่ ควรถือเอาตามแนวแห่งนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเถิด.
               แต่ในตติยวารนี้ควรทราบการเปรียบเทียบกันระหว่างอุปไมย ดังต่อไปนี้ว่า
               บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีกิเลสน้อยตามปกติ เหมือนกับถาดทองสัมฤทธิ์ที่สะอาด การที่บุคคลนั้นจะได้บวช (ก็กลับได้บวชในสำนักของบุคคลผู้ขวนขวายในอเนสนามีเวชกรรมเป็นต้น) เหมือนกับการไม่ทำการใช้เป็นต้นซึ่งถาดทองสัมฤทธิ์ที่สะอาดแล้ว ยังเก็บไว้ในที่ที่มีละออง (อีก).
               ต่อไปจากนี้ ทุกคำเหมือนกับในปฐมวารทั้งสิ้น.
               ในจตุตถวารมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ข้อว่า สุภนิมิตฺตํ น มนสิ กริสฺสติ (จักไม่ใส่ใจถึงสุภนิมิต) ความว่า จักไม่ระลึกถึงนิมิตนั้น เพราะไม่มีการเว้นห่างจากสติในเพราะนิมิตนั้น.
               ถ้อยคำที่เหลือ พึงทราบตามแนวแห่งทุติยวารเถิด.
               คำมีอาทิว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลนี้แลมีนัยดังที่ได้กล่าวไว้ในคำมีอาทิว่า ยโต นุโข นั้นแหละ.

               เนินคืออะไร?               
               [๕๖] บัดนี้ ท่านพระสารีบุตรผู้ถูกท่านพระมหาโมคคัลลานะ ที่ประสงค์จะให้ท่านอธิบายว่ากิเลสเพียงดังเนินนั้นให้ชัด โดยประการต่างๆ ถามแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า คำที่ท่านเรียกว่า เนิน เนิน ได้แก่อะไร? ดังนี้ เมื่อจะตอบคำถามนั้น จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ คำว่า เนิน นี้เป็นชื่อของอกุสลธรรมที่ชั่วช้าแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺฉาวจรานํ (เป็นแดนของอิจฉา) มีเนื้อความว่า (อกุศล) เป็นที่เที่ยวไปแห่งความอยาก คือความโกรธและความน้อยใจนานัปการ ที่ข้ามลงคือเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งความอยาก.
               [๕๗] ข้อว่า ยํ อิเธกจฺจสฺส (เหตุที่ให้ความอยากเกิดขึ้นแก่ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้) มีอรรถาธิบายว่า ความอยากนี้พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุบางรูปโดยเหตุอย่างใด เหตุอย่างนั้นที่เป็นฐานแห่งความอยากนั้น มีอยู่ คือยังมี ได้แก่ยังหาได้.
               บทว่า อาปนฺโน อสฺสํ เท่ากับ อาปนฺโน ภเวยฺยํ แปลว่า พึงเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว.
               ประโยคว่า น จ ภิกฺขู ชาเนยฺยุํ เท่ากับ ภิกฺขู จ มํ น ชาเนยฺยุํ (แปลว่า และขออย่าให้ภิกษุทั้งหลายรู้จักเรา).
               ในเรื่องที่ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายรู้จักนี้ มีอะไรเป็นเหตุ?
               มีความที่เธอเป็นผู้มีความต้องการลาภ เป็นเหตุ.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้มีความต้องการลาภตามปกติแล้ว ก็เป็นผู้ทำบุญไว้และเป็นผู้ที่มนุษย์ทั้งหลายพากันสักการะทำความเคารพ จึงคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้ว พระเถระทั้งหลายรู้เข้าจะบอกแก่พระภิกษุผู้ปานกลางทั้งหลาย ภิกษุปานกลางทั้งหลายจะบอกแก่ภิกษุทั้งหลายที่ยังใหม่ ภิกษุใหม่ทั้งหลายจะบอกแก่คนทั้งหลายมีคนเฝ้าวิหารเป็นต้น (คนกินเดนในวิหาร) คนเฝ้าวิหารเหล่านั้นจะบอกแก่ภิกษุณีทั้งหลายผู้มารับโอวาท บริษัททั้ง ๔ ก็จะรู้กันไปตามลำดับอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อันตรายแห่งลาภก็จะมีแก่เรานั้น น่าละอายใจจริง? ถึงเราจะต้องอาบัติจริงแล้ว ขอภิกษุทั้งหลายอย่ารู้จักเราเลย.
               ข้อว่า ยํ ตํ ภิกฺขุํ ภิกฺขู ชาเนยฺยุํ (เหตุที่ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ภิกษุนั้น) ความว่า เหตุที่จะให้ภิกษุเหล่าอื่นรู้เรื่องภิกษุนั้นมีจริง คือมีอยู่ทีเดียว ไม่ใช่ไม่มี เพราะว่าพระเถระทั้งหลายรู้เข้าแล้ว ก็จะบอกแก่ภิกษุปานกลางทั้งหลาย. เมื่อเป็นอย่างนี้ เธอก็จะเป็นผู้ปรากฏในบริษัททั้ง ๔ โดยนัยที่ได้กล่าวมาก่อนแล้ว. และเธอปรากฏอย่างนี้แล้วจะเป็นผู้อัปยศ เข้าไปบ้านตั้ง ๑๐๐ บ้าน เช็ดเท้าที่ธรณีประตูตั้ง ๑๐๐ แห่งก็จะออกมาด้วยบาตรเปล่า. ต่อแต่นั้นไป ภิกษุทั้งหลายก็จะรู้จักเราว่าเป็นผู้ต้องอาบัติ.
               อนึ่ง เธอครั้นคิดว่าเราถูกพระภิกษุเหล่านั้นทำให้เสียหายไปแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ขุ่นเคืองเพราะเหตุอย่างนี้.

               ความโกรธ คือความน้อยใจเป็นเนิน               
                บทว่า อปฺปตีโต (จะเป็นผู้น้อยใจ) คือเธอจะเป็นผู้โกรธเคือง ได้แก่ถูกความโกรธครอบงำด้วย จะเป็นผู้น้อยใจ คือถูกความเสียใจครอบงำด้วยเพราะเหตุการณ์นี้.
               ในข้อว่า โย เจว โข อาวุโส โกโป โย จ อปฺปจฺจโย อุภยเมตํ องฺคณํ (ท่านผู้มีอายุ ความโกรธเคืองและความน้อยใจ ทั้งคู่นี้ชื่อว่าเนิน) นี้ ควรทราบอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ความขุ่นเคืองที่สงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ด้วย ความน้อยใจที่สงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์ด้วย ทั้งคู่นี้ชื่อว่าเนิน และคำนี้ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เป็นเช่นนั้น แต่ความโลภ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถเป็นส่วนเบื้องต้นของกิเลสเพียงดังเนินนี้.
               ส่วนโมหะเป็นอันถือเอาแล้วเหมือนกัน ด้วยสามารถแห่งการประกอบเข้าด้วยกัน (กับโลภะ) แล้ว.
               [๕๘] บทว่า อนุรโห มํ (ควรฟ้องเราในที่ลับ) มีเนื้อความว่า ภิกษุเช่นกับรูปแรก (ที่ต้องอาบัติ) ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายพาตนเข้าไปสู่เสนาสนะท้ายวิหารปิดประตู แล้วจึงฟ้อง.
               บทว่า ฐานํ โข ปเนตํ (ก็ข้อนี้แลเป็นเหตุ) หมายความว่า เหตุนี้มีได้ คือภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดได้รับแนะนำ แล้วควรเอาภิกษุนั้นไปสู่ท่ามกลางบริษัท ๔ แล้วจึงฟ้องโดยนัยมีอาทิว่า ท่านทำเวชกรรมในที่ชื่อโน้น.
               ส่วนข้อความว่า เธอจะเป็นผู้ปรากฏในบริษัท ๔ จะปรากฏอย่างนี้ด้วย ถูกความเสื่อมยศครอบงำแล้วด้วย ทั้งหมดเหมือนกับข้อความในตอนต้นนั่นแหละ.

               คนผู้เท่าเทียมกัน               
               [๕๙] บทว่า สปฺปฏิปุคฺคโล (คนผู้เท่าเทียมกัน) คือคนตรงกันข้ามที่เท่าเทียม.
               คำว่า เท่าเทียมกัน คือ ต้องอาบัติเหมือนกัน.
               คำว่า คนตรงกันข้าม คือ ผู้เป็นโจทก์.
               ภิกษุนี้ต้องการให้ฟ้องโดยภิกษุที่ต้องอาบัติเหมือนกัน (เพราะว่า) เธอเข้าใจว่า อาจจะพูด (ค้าน) ได้ว่า ท่านเองก็ต้องอาบัตินี้ ก่อนอื่นท่านจงทำคืนอาบัตินั้น ภายหลังจึงฟ้องผม.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้เสมอกันแม้โดยชาติเป็นต้น ชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน.
               อธิบายว่า ภิกษุนี้ต้องการให้ฟ้องโดยภิกษุผู้เสมอกันด้วยคุณสมบัติทั้งหลายแม้มีอาทิอย่างนี้ คือด้วยชาติ ด้วยตระกูล ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยความฉลาด (และ) ธุดงค์ของตน. (เธอ) เข้าใจว่า ทุกข์อย่างยิ่งที่บุคคลเช่นนั้นกล่าวแล้วย่อมไม่มี.
               คนตรงข้าม (โจทก์) ที่ไม่คู่ควรกัน ชื่อว่าคนที่ไม่เท่าเทียมกัน ในคำนี้ว่า ไม่ใช่คนที่ไม่เท่าเทียมกัน. มีอธิบายว่า คนที่เป็นคู่ศัตรูเป็นคู่ต่อสู้ ชื่อว่าไม่ควรเป็นโจทก์ เพราะไม่เสมอเหมือนกันโดยอาบัติเป็นต้นเหล่านี้.
               ข้อว่า อิติ โส กุปิโต (เพราะเหตุอย่างนี้ เขาจะเป็นผู้โกรธเคือง) มีเนื้อความว่า เพราะเหตุอย่างนี้เขาจะเป็นผู้แค้นเคืองอย่างนี้ เพราะการฟ้องของผู้ไม่เท่าเทียมกันนี้.
               [๖๐] ในจตุตถวาร (ตอนว่าด้วยอิจฉาวจรที่ ๔) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ศัพท์ อโห วต (โอหนอ) ปรากฏในคำตำหนิก็มี เช่นว่า เฮ้ยน่าทุเรศจริง ท่านผู้เป็นบัณฑิตของพวกเรา คือว่า เฮ้ยน่าทุเรศจริง ท่านผู้เป็นพหูสูต และเป็นผู้บรรลุวิชชา ๓ ของเราทั้งหลาย. ปรากฏในความปรารถนา (ก็มี) เช่นว่า น่าชื่นใจจริง คนทั้งหลายจะต้องอภิเษก เราผู้ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ไว้ในราชสมบัติ. ในที่นี้ปรากฏในความปรารถนาเท่านั้น
               คำว่า ปุจฺฉิตฺวา ปุจฺฉิตฺวา (ตรัสถามแล้ว) คือ ตรัสถามแล้ว ตรัสถามเล่า.
               ภิกษุผู้มีความต้องการลาภนี้อยากให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย้อนถามตน แต่ต้องการให้ถามปัญหานั้นด้วยถ้อยคำเพื่อให้คล้อยตาม ไม่ใช่ตรัสถามถึงมรรคผล หรือวิปัสสนา ทำให้มีช่องโหว่ไว้. เพราะว่า ภิกษุรูปนี้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย้อนถามพระมหาเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นในท่ามกลางบริษัทอย่างนี้ว่า สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร? คือ จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง แล้วทรงแสดงธรรมไป เห็นพวกมนุษย์กล่าวสรรเสริญคุณของพระเถระเหล่านั้นอยู่ว่า พระเถระผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย พระศาสดาทรงพอพระทัย ดังนี้ และเห็นพวกเขาน้อมลาภสักการะไปถวายพระเถระเหล่านั้นอยู่ เพราะฉะนั้น เธอเมื่อปรารถนาลาภสักการะนั้น ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ออกไปยืนตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนท่อนไม้ที่วางไว้.
               บทว่า โส กุปิโต (เธอโกรธเคืองแล้ว) ความว่า ภายหลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่สนพระทัยเธอเลย แต่ตรัสถามพระเถระรูปอื่น แล้วทรงแสดงธรรมไป เพราะฉะนั้น เธอจึงโกรธเคืองทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระเถระ.
               โกรธเคืองพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร?
               โกรธเคืองพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า เราตั้งแต่บวช ไม่รู้จักการออกไปนอกบริเวณพระคันธกุฎี ทุกเวลาไม่เคยห่างเป็นเช่นกับเงา แม้เพียงแต่จะตรัสถามเรา แล้วทรงแสดงธรรมเทศนาก็ไม่มี ทรงถามพระเถระที่ทรงเห็นเพียงครู่เดียวเท่านั้น แล้วก็ทรงแสดงธรรม.
               โกรธเคืองพระเถระอย่างไร?
               โกรธเคืองพระเถระอย่างนี้ว่า พระแก่รูปนี้นั่งตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนกับตอไม้ เมื่อไรนะพระเถระผู้เป็นธรรมกัมมิกะ (ทำงานเกี่ยวกับธรรม) จักให้พระแก่รูปนี้ถึงฐานะแห่งอภัพพบุคคล (ผู้ไม่ควรบรรลุมรรคผล) แล้วขับออกไป (จากหมู่คณะ) เพราะว่า ถ้าไม่มีภิกษุรูปนี้ในวิหารนี้ไซร้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงเจรจากับเราแน่นอน.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค อนังคณสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 27อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 12 / 73อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=752&Z=1023&bgc=lavender
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=3790
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=3790
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :