ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 244อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 13 / 269อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
มหาวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

               ๓. อรรถกถามหาวัจฉสูตร๑-               
๑- บาลีเป็น มหาวัจฉโคตตสูตร.

               มหาวัจฉสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า สหกถี กล่าวร่วมกัน คือให้ระลึกถึงสิ่งที่ทำแล้ว ได้สืบไมตรีต่อกันมาว่า ข้าพเจ้าเคยกล่าวกับท่านมามากแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสองสูตรก่อนแก่วัจฉปริพาชกนั้น. ตรัสอัพยาวัฏฏสังยุตในสังยุตตนิกายแก่วัจฉปริพาชกนั้น. ยังมีข้อความที่วัจฉปริพาชกกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ในอังคุตตรนิกายอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยงหรือหนอ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ เพราะเหตุนั้น พระองค์ยังมิได้ทรงพยากรณ์ข้อนี้ไว้. เพราะฉะนั้น วัจฉปริพาชกจึงกล่าวอย่างนี้.
               แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงทำการสงเคราะห์ได้ทรงให้โอกาสแก่วัจฉปริพาชกนั้นผู้มาแล้วๆ เพราะเหตุไร.
               เพราะวัจฉปริพาชกนี้เป็นสัสสตทิฏฐิ (มีความเห็นว่าเที่ยง).
               อนึ่ง ผู้เป็นสัสสตทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่สละลัทธิทันทีทันใด ย่อมบริสุทธิ์ได้โดยเวลานาน ดุจผ้าขี้ริ้วเปื้อนน้ำมันเหลว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ปริพาชกนี้ไปๆ มาๆ อยู่ จักสละลัทธิแล้วบวชในสำนักของเรา จักทำให้แจ้งอภิญญา ๖ แล้วจักเป็นอริยสาวกผู้ได้อภิญญา.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทำการสงเคราะห์ ทรงให้โอกาสแก่วัจฉปริพาชกผู้มาแล้วมาอีกนั้น นี้เป็นการไปครั้งสุดท้ายของวัจฉปริพาชกนั้น. เพราะในสูตรนี้ วัจฉปริพาชกนั้นตัดสินใจว่าจะเป็นจะตายอย่างไรก็ตาม เราจักไปเฝ้าพระสมณโคดม แล้วจักบวชดุจบุคคลหยั่งไม้เท้าตกลงไปในน้ำฉะนั้น.
               เพราะฉะนั้น วัจฉปริพาชกเมื่อจะทูลขอพระธรรมเทศนา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สาธุ เม ภวํ โคตโม ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงแสดงธรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลแก่ข้าพระองค์เถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเทศนาอย่างย่อด้วยมูลของกุศลอกุศล อย่างพิสดารด้วยกรรมบถ. อนึ่ง ในที่นี้เทศนาด้วยอำนาจมูลทรงย่อไว้ เทศนาด้วยอำนาจกรรมบถทรงย่อไว้ ก็เหมือนกับทรงแสดงโดยพิสดาร.
               อนึ่ง ชื่อว่าเทศนาอย่างพิสดาร ด้วยการแสดงจนหมดสิ้นมิได้มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เพราะแม้สมันตปัฏฐาน ๒๔ และมูลทั้งปวงก็ยังทรงย่อลงในอภิธรรมปิฏก ๗ คัมภีร์ ฉะนั้นพึงทราบว่า ทรงแสดงย่อด้วยอำนาจของมูลบ้าง ของกรรมบถบ้าง.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ปาณาติปาตา เวรมณี กุสลํ เจตนาเครื่องเว้นจากปาณาติบาต เป็นกุศลดังต่อไปนี้. กามาวจรธรรม ๗ ตามลำดับ, ธรรม ๓ มีอนภิชฌาเป็นต้น เป็นไปในภูมิ ๔ ย่อมควร.
               บทว่า ยโต โข วจฺฉ ภิกฺขุโน ดูก่อนวัจฉะ เพราะตัณหาอันภิกษุละได้แล้ว ท่านมิได้กำหนดไว้ก็จริง. แต่พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทนี้ไว้ทรงหมายถึงพระองค์เท่านั้น ในชีวกสูตร ในจังกีสูตรและในสูตรนี้อย่างนี้.
               บทว่า อตฺถิ ปน ยังมีอยู่หรือ วัจฉะทูลถามว่า ข้าพระองค์ขอถามว่า ยังมีอยู่หรือ.
               นัยว่า วัจฉะนั้นมีลัทธิอยู่ว่า ในศาสนานั้นมีศาสดาเท่านั้นเป็นอรหันต์. ส่วนสาวกผู้สามารถบรรลุพระอรหัตไม่มี. อนึ่ง พระสมณโคดมตรัสดุจการตรัสกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ยโต โข วจฺฉ ภิกฺขุโน ดังนี้. วัจฉะถามด้วยคิดว่าเราจักถามความนี้ว่า สาวกของพระสมณโคดมบรรลุพระอรหัตมีอยู่หรือหนอ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ติฏฺฐตุ คือ ท่านพระโคดมจงยกไว้. อธิบายว่า เพราะท่านพระโคดมเป็นพระอรหันต์ปรากฏแล้วในโลก. เมื่อพระองค์ทรงพยากรณ์แล้ว วัจฉะทูลถามปัญหาเกี่ยวกับภิกษุณีเป็นต้นต่อไป. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก่เขาแล้ว.
               บทว่า อาราธโก ผู้พอใจ ผู้ให้สำเร็จผู้ทำให้บริบูรณ์.
               บทว่า เสกฺขาย วิชฺชาย ปตฺตพฺพํ พึงบรรลุวิชชาของเสกขะ คือบรรลุผล ๓ เบื้องต่ำ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าทั้งหมดนั้นเราบรรลุแล้ว.
               ส่วนอาจารย์ผู้มีวาทะนอกรีตนอกรอยกล่าวว่า ภิกษุนั้นบรรลุอรหัตมรรคเท่านั้น แต่ยังไม่บรรลุผล เพราะคำว่า เสกขธรรมเป็นไฉน มรรค ๔ ยังไม่ถึงที่สุดและสามัญญผล ๓ ก็เป็นเบื้องต่ำ. ด้วยเหตุนั้น ย่อมให้กล่าวถึงความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อบรรลุผลนั้น.
               ควรให้ผู้นั้นรู้อย่างนี้ว่า๒-
                    หากนระใด ละกิเลสทั้ง ๕ ได้แล้ว เป็นพระเสกขะบริบูรณ์
                    มีธรรมไม่เสื่อม ถึงความชำนาญทางจิต มีอินทรีย์ตั้งมั่น
                    นระนั้นแล ท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีตนมั่นคงแล้ว.
____________________________
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๕

               จริงอยู่ พระอนาคามีบุคคลเป็นพระเสกขะบริบูรณ์โดยส่วนเดียว. วัจฉะกล่าวว่า พึงบรรลุวิชชาของพระเสกขะ หมายถึงพระอนาคามีบุคคลนั้น. ชื่อว่าคำถามย่อมไม่มีแก่ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคนั้น เพราะมรรคมีขณะจิตเดียว.
               หากถามว่า ด้วยสูตรนี้ แม้มรรคก็มีหลายขณะจิตกระนั้นหรือ.
               ตอบว่า นั่นมิใช่พุทธวจนะ ทั้งเนื้อความแห่งกถาที่กล่าวแล้วก็ผิด. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลแล้วย่อมให้เจริญวิปัสสนาเพื่ออรหัตมรรคด้วย ก็เพราะอรหัตมรรคมิได้เป็นอุปนิสัยแก่สุทธอรหัตอย่างเดียว ย่อมเป็นอุปนิสัยแม้แก่อภิญญา ๖. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วัจฉภิกษุนี้ทำกรรมในสมถะอย่างนี้แล้วจักยังอภิญญา ๕ ให้เกิด. ทำกรรมในวิปัสสนาแล้วจึงจักบรรลุพระอรหัต. จักเป็นมหาสาวกผู้ได้อภิญญา ๖ อย่างนี้ จึงไม่ทรงกล่าวเพียงวิปัสสนา ทรงบอกทั้งสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า สติ สติ อายตเน คือ เมื่อเหตุมีอยู่. เหตุในที่นี้คืออะไร. พึงทราบว่า ฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญาก็ดี พระอรหัตในที่สุดก็ดี วิปัสสนาเพื่อพระอรหัตก็ดี ชื่อว่าเป็นเหตุ.
               บทว่า ปริจิณฺโณ เม ภควา ข้าพระองค์ได้บำเรอพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
               ความว่า จริงอยู่ พระเสกขะ ๗ จำพวกชื่อว่าผู้บำเรอพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันพระขีณาสพบำเรอแล้ว ด้วยประการฉะนี้. พระเถระเมื่อพยากรณ์พระอรหัตโดยสังเขปจึงกล่าวอย่างนี้.
               อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ความนั้น. เมื่อไม่รู้ก็ไม่รับคำของพระเถระนั้น จึงพากันไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า เทวตา ได้แก่ เทวดาผู้ได้คุณเหล่านั้น.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถามหาวัจฉสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มหาวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 244อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 13 / 269อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4441&Z=4660
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3701
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3701
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :