ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 596อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 15 / 606อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
ทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐

               อรรถกถาทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐               
               ในทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โกกาลิโก ภิกฺขุ เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ถามว่า โกกาลิกนี้เป็นใคร และเหตุไรจึงเข้าไปเฝ้า.
               ตอบว่า ได้ยินว่า ผู้นี้เป็นบุตรโกกาลิกเศรษฐี ในโกกาลิกนคร โกกาลิกรัฐ บวชแล้วอาศัยอยู่ในวิหารที่บิดาสร้างไว้ มีชื่อว่า จูฬโกกาลิก มิใช่เป็นศิษย์ของพระเทวทัต. ฝ่ายรูปที่เป็นศิษย์ของพระเทวทัตนั้นเป็นบุตรพราหมณ์ มีชื่อว่า มหาโกกาลิก.
               ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี พระอัครสาวกทั้งสองพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปจาริกไปในชนบท เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ประสงค์จะอยู่อย่างสงบ จึงส่งภิกษุเหล่านั้นไป ตนเองถือบาตรจีวร ถึงนครนั้นในชนบท ได้ไปสู่วิหารนั้น.
               แลในที่นั้น โกกาลิกภิกษุได้แสดงวัตรแก่พระอัครสาวกทั้งสอง.
               พระอัครสาวกทั้งสองชื่นชมกับพระโกกาลิกนั้นกล่าวว่า อาวุโส พวกเราจักอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาส ท่านอย่าได้บอกแก่ใครๆ แล้วถือปฏิญญาอยู่.
               ครั้นอยู่จำพรรษาปวารณาในวันปวารณาแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองจึงบอกลาภิกษุโกกาลิกว่า อาวุโส เราจะไปละ.
               ภิกษุโกกาลิกกล่าวว่า อาวุโส พวกท่านอยู่ในวันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ก็จักไป ดังนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงเข้าเมือง บอกพวกมนุษย์ว่า อาวุโส พระอัครสาวกมาอยู่ในที่นี้ พวกท่านไม่รู้ ไม่มีใครถวายปัจจัยสี่เลย. พวกชาวเมืองกล่าวว่า ท่านขอรับ พระเถระอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่บอกพวกเรา. ภิกษุโกกาลิกกล่าวว่า อาวุโส บอกแล้วจะมีประโยชน์อะไร พวกท่านไม่เห็นภิกษุ ๒ รูปที่นั่งบนเถระอาสน์ หรือนั่นแหละพระอัครสาวก. พวกมนุษย์รีบประชุมกัน รวบรวมเนยใสน้ำอ้อยเป็นต้นและผ้าจีวร.
               ภิกษุโกกาลิกคิดว่า พระอัครสาวกเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง จักไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นด้วยวาจาที่ประกอบขึ้น เมื่อไม่ยินดีก็จักบอกว่า ท่านทั้งหลายจงถวายแก่ภิกษุที่อยู่ประจำอาวาส ดังนี้ ให้พวกมนุษย์พากันถือลาภนั้นๆ ไปสำนักของพระเถระทั้งสอง.
               พระเถระทั้งสองเห็นดังนั้น จึงห้ามว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่ควรแก่พวกเรา ไม่ควรแก่ภิกษุโกกาลิก ดังนี้แล้วหลีกไป. ภิกษุโกกาลิกเกิดอาฆาตขึ้นว่า มันเรื่องอะไรกัน พระอัครสาวกทั้งสอง เมื่อตนเองไม่รับ ยังไม่ให้พวกมนุษย์ถวายแก่เราแล้วหลีกไป. แม้พระอัครสาวกทั้งสองไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วพาบริษัทของตนเที่ยวจาริกไปตามชนบท แล้วกลับมายังเมืองนั้นในรัฐนั้นตามลำดับ.
               ชาวเมืองจำพระเถระได้ ตระเตรียมทานพร้อมทั้งเครื่องบริขารทั้งหลาย สร้างมณฑปกลางเมืองถวายทาน และน้อมบริขารทั้งหลายเข้าไปถวายพระเถระ.
               พระเถระได้มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์.
               ภิกษุโกกาลิกเห็นดังนั้น คิดว่า เมื่อก่อนพระอัครสาวกเหล่านี้ได้เป็นผู้ปรารถนาน้อย บัดนี้กลายเป็นผู้ปรารถนาลามก แม้ในกาลก่อน ทำทีเสมือนผู้มักน้อย สันโดษและชอบสงัด จึงเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า อาวุโส เมื่อก่อน ท่านเป็นเหมือนมักน้อย แต่บัดนี้ท่านกลายเป็นภิกษุลามก คิดว่า จำเราจักทำลายที่พึ่งของพระอัครสาวกเหล่านั้นขั้นรากฐานทีเดียว รีบออกไปยังกรุงสาวัตถี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               ภิกษุโกกาลิกนี้พึงทราบว่า เข้าเฝ้า เพราะเหตุนี้เอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพอทอดพระเนตรเห็นภิกษุโกกาลิกกำลังมาโดยรีบด่วน ทรงรำพึงก็ทราบว่า ภิกษุโกกาลิกนี้ประสงค์จะด่าพระอัครสาวก จึงได้มา. และทรงรำพึงว่า เราอาจห้ามได้ไหมหนอ ทรงเห็นว่าไม่อาจห้ามได้ ภิกษุโกกาลิกนี้ทำผิดในพระเถระทั้งหลายจึงมา ตายแล้วจักเกิดในปทุมนรกโดยส่วนเดียว เพื่อจะเปลื้องวาทะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบบุคคลผู้ติเตียนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะแล้วยังห้ามไม่ได้ และเพื่อจะแสดงการกล่าวร้ายพระอริยะว่ามีโทษมาก จึงทรงห้ามว่า มา เหวํ ดังนี้ถึง ๓ ครั้ง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เหวํ ความว่า เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย.
               บทว่า สทฺธายโก ความว่า ผู้ทำตนให้เป็นที่มาแห่งศรัทธา ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีคำอันบุคคลพึงเชื่อได้.
               บทว่า ปจฺจยิโก ความว่า ผู้มีถ้อยคำที่จะพึงยึดเป็นที่อาศัยได้.
               บทว่า อจิรปกฺกนฺตสฺส ความว่า เมื่อภิกษุโกกาลิกหลีกไปไม่นานนัก.
               บทว่า สพฺโพ กาโย ผุฏฺโฐ อโหสิ ความว่า ต่อมทั้งหลายผุดขึ้นทำลายกระดูกทั่วร่าง ไม่เว้นที่ว่างแม้เพียงปลายเส้นผม. ก็เพราะกรรมเห็นปานนั้น ไม่ให้ผลในขณะที่อยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยพุทธานุภาพ พอพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว ย่อมให้ผล ฉะนั้น เมื่อภิกษุโกกาลิกนั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ต่อมทั้งหลายจึงผุดขึ้น.
               บทว่า ปกฺกามิ ความว่า ภิกษุโกกาลิกถูกอานุภาพแห่งกรรมตักเตือน จึงหลีกไป.
               จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจที่จะห้ามกรรมที่ทำโอกาสแล้ว กรรมนั้นไม่ให้ภิกษุโกกาลิกนั้นอยู่ในที่นั้น.
               บทว่า กฬายมตฺติโย ได้แก่ ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว.
               บทว่า เวลุวสลาฏุกมตฺติโย ได้แก่ ประมาณเท่าผลมะตูมอ่อน.
               บทว่า ปภิชฺชึสุ แปลว่า แตกแล้ว. เมื่อต่อมเหล่านั้นแตกแล้ว สรีระทั้งสิ้นของภิกษุโกกาลิกนั้นก็สุกเละ เธอมีตัวสุกเละ นอนบนใบตองที่ซุ้มประตูพระเชตวันเหมือนปลาที่ถูกยาพิษ.
               ลำดับนั้น พวกมนุษย์ที่พากันมาฟังธรรม กล่าวว่า ภิกษุโกกาลิกได้ทำกรรมที่ไม่สมควร ถึงความพินาศเพราะอาศัยปากคมดังมีดของตนนั่นเอง. พวกอารักขเทวดาได้ฟังพวกมนุษย์เหล่านั้น ได้กระทำการติเตียน. อากาสเทวดาได้ฟังอารักขเทวดา ได้กระทำการติเตียน ได้เกิดการติเตียนอย่างเดียวกัน จนถึงอกนิฏฐภพโดยอุบายนี้ ด้วยประการฉะนี้
               ครั้งนั้น อุปัชฌาย์ของเธอมา รู้ว่า เธอไม่รับโอวาทติเตียนแล้วหลีกไป.
               บทว่า กาลมกาสิ ความว่า เมื่ออุปัชฌาย์หลีกไป ภิกษุโกกาลิกได้ทำกาละแล้ว.
               บทว่า ปทุมนิรยํ ความว่า ชื่อว่าปทุมนรกไม่มีเฉพาะแต่อย่างเดียว. ภิกษุโกกาลิกเกิดในที่หนึ่งในอวิจีมหานรกที่จะพึงหมกไหม้ โดยการคำนวณปทุมหนึ่ง (ปทุมนั้นเป็นสังขยาซึ่งมีจำนวนสูญ ๑๒๔ สูญ).
               บทว่า วีสติขาริโก ได้แก่ ๔ แล่งชาวมคธเป็น ๑ แล่งในโกศลรัฐ. ๔ แล่งโดยแล่งนั้นเป็น ๑ อาฬหกะ. ๔ อาฬหกะเป็น ๑ โทณะ (ทะนาน). ๔ โทณะเป็น ๑ มานิกะ (เครื่องตวง). ๔ มานิกะเป็น ๑ ขาริ โดยขารินั้น เป็น ๒๐ ขาริกะ.
               บทว่า ติลวาโห ได้แก่ เกวียนบรรทุกงาเมล็ดเล็กๆ ของชาวมคธ.
               บทว่า อพฺพุโท นิรโย ได้แก่ ที่ชื่อว่าอัพพุทะ มิใช่ส่วนหนึ่งแห่งนรก. แต่คำนี้เป็นชื่อสถานที่จะพึงไหม้ในอวิจีมหานรกนั่นเอง โดยการนับอัพพุทะ.
               แม้ในคำว่า นิรัพพุทะเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็แม้จำนวนปีในข้อนี้ ก็พึงทราบอย่างนี้.
               เหมือนอย่างว่า ร้อยแสนเป็นโกฏิหนึ่งฉันใด ร้อยแสนโกฏิ ชื่อว่าเป็นปโกฏิหนึ่งฉันนั้น ร้อยแสนโกฎิเป็นโกฏิปโกฏิ ร้อยแสนโกฏิปโกฏิเป็นนหุตหนึ่ง ร้อยแสนนหุตเป็นนินนหุต ร้อยแสนนินนหุตเป็นอัพพุทะหนึ่ง จากนั้น เอายี่สิบคูณเป็นนิรัพพุทะหนึ่ง.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้เหมือนกันแล.

               จบอรรถกถาทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐               
               จบปฐมวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรในปฐมวรรคนี้ มี ๑๐ สูตร คือ
                         ๑. อายาจนสูตร
                         ๒. คารวสูตร
                         ๓. พรหมเทวสูตร
                         ๔. พกสูตร
                         ๕. อปราทิฏฐิสูตร
                         ๖. ปมาทสูตร
                         ๗. ปฐมโกกาลิกสูตร
                         ๘. ติสสกสูตร
                         ๙. ตุทุพรหมสูตร
                         ๑๐. ทุติยโกกาลิกสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ ทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 596อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 15 / 606อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4844&Z=4945
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5329
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5329
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :