ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 104อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 118อ่านอรรถกถา 16 / 126อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔
ญาณวัตถุสูตรที่ ๑

               อรรถกถาปฐมญาณวัตถุสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในญาณวัตถุสูตรที่ ๓ ต่อไป.
               ข้อว่า ตํ สุณาถ พวกเธอจงฟังญาณวัตถุนั้น ได้แก่ พวกเธอจงฟังการแสดงญาณวัตถุนั้น.
               ญาณนั่นเอง พึงทราบว่า ญาณวัตถุ ในคำนี้ว่า ญาณวตฺถูนิ นี้.
               ในญาณ ๔ มี ชรามรณญาณ เป็นอาทิ ญาณที่ ๑ มี ๔ อย่างคือ สวนมยญาณ (ความรู้อันสำเร็จด้วยการฟัง) สัมมสนญาณ (ความรู้อันเกิดจากการพิจารณา) ปฏิเวธญาณ (ความรู้อันเกิดจากการรู้แจ้งแทงตลอด) ปัจจเวกขณญาณ (ความรู้อันเกิดจากการพิจารณา). ญาณที่ ๒ ก็เหมือนกัน. ส่วนญาณที่ ๓ เว้นสัมมสนญาณเสีย จึงมีเพียง ๓ อย่างเท่านั้น. ญาณที่ ๔ ก็เหมือนกัน เพราะว่า ในโลกุตรธรรม ย่อมไม่มีสัมมสนญาณ.
               แม้ในคำว่า ชาติยา ญาณํ ความรู้ในชาติ เป็นต้นก็มีนัยนี้แหละ.
               ข้อว่า อิมินา ธมฺเมน ด้วยธรรมนี้ คือ ด้วยสัจธรรม ๔ นี้ หรือด้วยมรรคญาณธรรม.
               ในบทว่า ทิฏฺเฐน เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทิฏฺเฐน ได้แก่ อันตนเห็นแล้วด้วยญาณจักษุ (ดวงตาคือปัญญา).
               บทว่า วิทิเตน ได้แก่ รู้แล้วด้วยปัญญา.
               บทว่า อกาลิเกน ให้ผลไม่มีกำหนดกาล ได้แก่ให้ผลในลำดับแห่งการรู้แจ้งแทงตลอดไม่ละเลยกาลไรๆ เลย.
               บทว่า ปตฺเตน ถึงแล้ว แปลว่า บรรลุแล้ว.
               บทว่า ปริโยคาฬฺเหน หยั่งรู้แล้ว คืออันตนหยั่งรู้แล้ว ได้แก่เข้าถึงด้วยปัญญา.
               บทว่า อตีตานาคเต นยํ เนติ นำนัยในอดีตและอนาคตไป ได้แก่ นำนัยในอดีตและอนาคตไปโดยนัยมีอาทิว่า "สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง."
               ก็ในคำนี้ พระสารีบุตรเถระอาจนำนัยในอดีตและอนาคตไปด้วยสัจธรรม ๔ บ้าง ด้วยมรรคญาณธรรมบ้าง. ก็เมื่ออริยสัจ ๔ ก็ดี มรรคญาณก็ดี อันตนแทงตลอดแล้ว หลังจากนั้น ปัจจเวกขณญาณย่อมมี. พึงทราบอธิบายว่า นำนัยไปด้วยปัจจเวกขณญาณนั้น.
               บทว่า อพฺภญฺญึสุ แปลว่า ได้รู้แล้ว. คือทราบแล้ว.
               ข้อว่า เสยฺยถาปิหํ เอตรหิ เหมือนอย่างที่เรารู้ในบัดนี้ คือเหมือนอย่างเรารู้ด้วยอำนาจอริยสัจ ๔ ในบัดนี้.
               บทว่า อนฺวเย ญาณํ ได้แก่ ความรู้ในธรรมอันเหมาะสม คือความรู้ในอันติดตามญาณในธรรม.
               คำว่า อนวยญาณ นี้ เป็นชื่อของปัจจเวกขณญาณ.
               ข้อว่า ธมฺเม ญาณํ ได้แก่ มรรคญาณ.
               เสขภูมิของพระขีณาสพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาปฐมญาณวัตถุสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔ ญาณวัตถุสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 104อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 118อ่านอรรถกถา 16 / 126อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=1440&Z=1525
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1699
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1699
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :