ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 512อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 518อ่านอรรถกถา 16 / 528อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์
จีวรสูตร

               อรรถกถาจีวรสูตรที่ ๑๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในจีวรสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทกฺขิณาคิริสฺมึ ความว่า ชนบทภาคทักษิณของภูเขาเป็นเทือกล้อมกรุงราชคฤห์ชื่อว่า ทักขิณาคิริ. อธิบายว่า เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบทนั้น.
               ชื่อว่าจาริกมี ๒ อย่างคือ รีบไป ๑ ไม่รีบไป ๑.
               ในบทเหล่านั้น ภิกษุบางรูปนุ่งผ้ากาสายะผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่งตลอดเวลา คล้องบาตรและจีวรที่บ่า ถือร่ม วันหนึ่งเดินไปได้ ๗-๘ โยชน์ มีเหงื่อไหลท่วมตัว. ก็หรือว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นสัตว์พึงตรัสรู้ไรๆ ขณะเดียวเสด็จไปได้ร้อยโยชน์บ้าง พันโยชน์บ้าง. นี้ชื่อว่า รีบไป.
               ก็ทุกวันที่พระพุทธเจ้ารับนิมนต์เพื่อฉันในวันนี้ เสด็จไปทำการสงเคราะห์ชนมีประมาณเท่านี้ว่า คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ สามคาวุต หนึ่งโยชน์. นี้ชื่อว่าไม่รีบไป. ในที่นี้ประสงค์จาริกนี้.
               พระเถระได้อยู่เบื้องพระปฤษฏางค์พระทศพลตลอด ๒๕ ปี ดุจเงามิใช่หรือ. ท่านไม่ให้โอกาสแก่พระดำรัสเพื่อตรัสถามว่า อานนท์ไปไหน. ท่านได้โอกาสเที่ยวจาริกไปกับภิกษุสงฆ์ ในกาลหนึ่ง. ในปีพระศาสดาปรินิพพาน.
               ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ผู้ประชุมพร้อมกันในการปรินิพพานของพระศาสดา เลือกภิกษุ ๕๐๐ รูปเพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย กล่าวว่า ก็ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจักอยู่จำพรรษาในกรุงราชคฤห์สังคายนาพระธรรมวินัย ท่านทั้งหลายก่อนเข้าพรรษา จงตัดปลิโพธส่วนตัวเสีย แล้วประชุมพร้อมกันในกรุงราชคฤห์เถิด ก็ไปยังกรุงราชคฤห์ด้วยตนเอง.
               พระอานนทเถระถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าปลอบมหาชน ไปยังกรุงสาวัตถี ออกจากกรุงสาวัตถีนั้นไปยังกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท. นี้ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น.
               บทว่า เยภุยฺเยน กุมารภูตา ความว่า ภิกษุเหล่านั้นใด ชื่อว่าเวียนมาเพื่อความเป็นหีนเพศ ภิกษุเหล่านั้นโดยมากเป็นเด็กหนุ่มยังอ่อน คือเป็นภิกษุพรรษาเดียว ๒ พรรษา และเป็นสามเณร.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุอะไร เด็กเหล่านั้นจึงบวช. เพราะเหตุอะไร จึงเวียนมาเพื่อความเป็นหีนเพศ ดังนี้.
               ตอบว่า ได้ยินว่า มารดาบิดาของเด็กนั้นคิดว่า พระอานนทเถระเป็นผู้คุ้นเคยกับพระศาสดา ทูลขอพร ๘ อย่างแล้วจึงอุปัฏฐาก ทั้งสามารถเพื่อจะพาเอาพระศาสดาไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาและตนปรารถนาได้. เราทั้งหลายจึงให้พวกเด็กของพวกเราบวชในสำนักของพระอานนท์นั้น. พระอานนท์ก็จักพาพระศาสดามา. เมื่อพระศาสดามาแล้ว เราทั้งหลายจักได้ทำสักการะเป็นอันมาก ดังนี้. พวกญาติของเด็กเหล่านั้นจึงให้เด็กเหล่านั้นบวชด้วยเหตุนี้ก่อน. แต่เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน ความปรารถนาของคนเหล่านั้นก็หมดไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงให้เด็กเหล่านั้นสึกแล้วโดยวันเดียวเท่านั้น.
               บทว่า ยถาภิรนฺตํ ได้แก่ ตามชอบใจ คือตามอัธยาศัย.
               บทนี้ว่า ติกโภชนํ ปญฺญตฺตํ ท่านกล่าวถึงบทนี้ว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะคณโภชน์ เว้นไว้แต่สมัยดังนี้. ก็ภิกษุ ๓ รูปพอใจแม้รับนิมนต์เป็นอกัปปิยะร่วมกัน เป็นอนาบัติในเพราะคณโภชน์นั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ติกโภชนํ ดังนี้.
               บทว่า ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย ได้แก่ เพื่อข่มคนทุศีล.
               บทว่า เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย ความว่า อุโบสถและปวารณาย่อมเป็นไปเพื่อภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยการข่มคนหน้าด้านนั้นเอง. การอยู่พร้อมเพรียงกันย่อมมี. นี้เป็นผาสุวิหารของเปสลภิกษุเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุขนี้.
               บทว่า มา ปาปิจฺฉา ปกฺขํ นิสฺสาย สงฺฆํ ภินฺเทยฺยุํ ความว่า เทวทัตออกปากขอในตระกูลด้วยตนเอง บริโภคอยู่ อาศัยภิกษุปรารถนาลามก ทำลายสงฆ์ ฉันใด ผู้ปรารถนาลามกเหล่าอื่น ออกปากขอในตระกูล โดยเป็นคณบริโภคอยู่ ให้คณะเจริญแล้ว อาศัยพรรคพวกนั้น พึงทำลายสงฆ์ได้ ฉันนั้น ดังนี้ จึงทรงบัญญัติไว้ด้วยเหตุนี้แล.
               บทว่า กุลานุทยตาย จ ความว่า เมื่อภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถและปวารณาอยู่พร้อมเพรียงกัน พวกมนุษย์ถวายสลากภัตเป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า. อธิบายว่า และทรงบัญญัติไว้เพื่ออนุเคราะห์ตระกูลนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สสฺสฆาตํ มญฺเญ จรสิ ได้แก่ เธอเที่ยวไปเหมือนเหยียบย่ำข้าวกล้า.
               บทว่า กุลปฺปฆาตํ มญฺเญ จรสิ ได้แก่ เธอเที่ยวไปเหมือนทำลายเบียดเบียนตระกูล.
               บทว่า โอลุชฺชติ ได้แก่ หลุดหาย คือกระจายไป.
               บทว่า ปลุชฺชนฺติ โข เต อาวุโส นวปฺปายา ความว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุเหล่านั้นโดยมาก คือส่วนมากของท่านเป็นผู้ใหม่ เป็นหนุ่มมีพรรษาเดียวหรือ ๒ พรรษาและเป็นสามเณร หลุดหายคือกระจายไป.
               บทว่า น วายํ กุมารโก มตฺตมญฺญาสิ พระเถระเมื่อกล่าวขู่พระเถระว่า เด็กนี้ไม่รู้จักประมาณตน.
               บทว่า กุมารกวาทา น มุจฺจาม ความว่า พวกเรายังไม่พ้นวาทะว่าเป็นเด็ก.
               บทว่า ตถา หิ ปน ตฺวํ นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงเหตุ เพราะพระอานนท์นี้พึงถูกพระเถระกล่าวอย่างนี้.
               ในข้อนี้ มีความประสงค์ดังนี้ว่า เพราะท่านเที่ยวไปกับพวกภิกษุใหม่เหล่านี้ ไม่สำรวมอินทรีย์. ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปกับพวกเด็กจึงควรถูกเขากล่าวว่าเป็นเด็ก.
               บทว่า อญฺญติตฺถิยปุพฺโพ สมาโน นี้ เพราะอาจารย์ อุปัชฌาย์ของพระเถระไม่ปรากฏในศาสนานี้เลย. ตนถือเอาผ้ากาสายะแล้ว ออกบวช. ฉะนั้น ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวบอกถึงพระมหากัสสปเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เพราะความไม่พอใจ.
               ในบทว่า สหสา นี้ แม้ผู้ประพฤติด้วยราคะและโมหะคือไม่ทันตรึก. แต่บทนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจความประพฤติด้วยโทสะ.
               บทว่า อปฺปฏิสงฺขา คือ ยังไม่ทันพิจารณา.
               บัดนี้ พระมหากัสสปเถระ เมื่อยังบรรพชาของตนให้บริสุทธิ์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยโตหํ อาวุโส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญํ สตฺถารํ อุทฺทิสิตุํ ความว่า เราไม่นึก เพื่ออุทิศอย่างนี้ว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้า คนอื่นเป็นครูของเรา.
               ในบทเป็นต้นว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ความว่า แม้หากว่า ผัวและเมียทั้งสองย่อมอยู่ในเรือนกว้าง ๖๐ ศอก หรือแม้ภายในระหว่างร้อยโยชน์ การอยู่ครองเรือนผัวเมียเหล่านั้น ชื่อว่าคับแคบอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่ามีกิเลสเครื่องกังวล คือห่วงใย.
               บทว่า รชาปโถ ท่านกล่าวในมหาอรรถกถาว่า เป็นสถานที่เกิดแห่งธุลีมีราคะเป็นต้น. จะกล่าวว่า เป็นทางแห่งการมา ดังนี้ก็ได้.
               ชื่อว่าอัพโภกาส เพราะอรรถว่าไม่ข้อง เหมือนปลอดโปร่ง เพราะบรรพชิตอยู่ในที่ปกปิด ในที่มีกูฏาคารรัตนปราสาทและเทพวิมานเป็นต้น ซึ่งมีประตูและหน้างต่างปิดแล้ว ย่อมไม่ขัด ไม่ข้อง ไม่ติด. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บรรพชาเป็นช่องว่าง.
               อนึ่ง ฆราวาส ชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่เป็นโอกาสแห่งกุศลกิริยา ชื่อว่าเป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่ประชุมแห่งกิเลสเพียงดังธุลี เหมือนกองหยากเยื่ออันเขาไม่ปิดไว้. บรรพชา ชื่อว่าเป็นช่องว่าง เพราะเป็นโอกาสแห่งกุศลกิริยาความสบาย.
               ในบทว่า นยิทํ สุกรํ ฯ เป ฯ ปพฺพเชยฺยํ นี้ มีสังเขปกถาดังนี้
               คนพึงกระทำสิกขา ๓ ประพฤติพรหมจรรย์ไม่ให้ขาดแม้วันเดียว แล้วชื่อว่าประพฤติให้สมบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะเหตุให้บรรลุจริมกจิต. กระทำไม่ให้มีมลทินด้วยมลทินคือกิเลส แม้วันเดียว ชื่อว่าบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เพราะเหตุให้บรรลุจริมกจิต.
               บทว่า สงฺขลิขิตํ ได้แก่ เช่นสังข์ขัด คือพึงประพฤติมีส่วนเปรียบด้วยสังข์ที่ชำระแล้ว.
               บทว่า อิทํ น สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา ความว่า ผู้อยู่ในท่ามกลางเรือนประพฤติ ฯลฯ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว. ไฉนหนอ เราปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ เพราะซึมซาบด้วยรสที่ย้อมด้วยน้ำฝาด คือผ้าที่สมควรแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ออกจากเรือนพึงบวชไม่มีเรือน. เพราะในข้อนี้ กรรมมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นอันเกื้อกูลเรือน เรียกว่าการมีเรือน. เรือนนั้นไม่มีในบรรพชา ฉะนั้น บรรพชาพึงรู้ว่าการไม่มีเรือน. ซึ่งอนาคาริยะการไม่มีเรือนนั้น.
               บทว่า ปพฺพเชยฺยํ คือ พึงปฏิบัติ.
               บทว่า ปฏปิโลติกานํ คือ ผ้าเก่า.
               ผ้าใหม่แม้ ๑๓ ศอก ท่านเรียกว่าผ้าเก่า จำเดิมแต่เวลาตัดชาย. ท่านหมายถึงสังฆาฏิที่ท่านตัดผ้าที่มีราคามาก กล่าวว่า สังฆาฏิแห่งผ้าเก่า ดังนี้.
               บทว่า อทฺธานมคฺคํ ปฏิปนฺโน ได้แก่ ก็ทางตั้งแต่กึ่งโยชน์ เรียกว่า ไกล. อธิบายว่า เดินทางไกลนั้น.
               บัดนี้ พึงกล่าวอนุปุพพีกถาจำเดิมแต่อภินิหาร เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งเนื้อความนี้ เหมือนบรรพชิตนั้น และผู้เดินทางไกล ดังต่อไปนี้.
               มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลในที่สุดแสนกัป พระศาสดาพระนามว่าพระปทุมุตตระได้อุบัติขึ้น. เมื่อพระปทุมุตตระเสด็จเข้าไปอาศัยหังสวดีนคร ประทับอยู่ ณ เขมมฤคทายวัน กุฏุมพีชื่อว่าเวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ บริโภคอาหารอย่างดี แต่เช้าตรู่ อธิษฐานองค์อุโบสถ ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังพระวิหาร บูชาพระศาสดา ถวายนมัสการแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ขณะนั้น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปที่ ๓ ชื่อมหานิสภัตเถระ ไว้ในฐานะเป็นเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา เป็นผู้กล่าวสอนธุดงค์ นิสภะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุเหล่านั้น.
               อุบาสกได้ฟังดังนั้นเลื่อมใส ในที่สุดธรรมกถา เมื่อมหาชนลุกขึ้นกลับไป จึงถวายนมัสการพระศาสดา กราบทูลว่า วันพรุ่งนี้ ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของข้าพระองค์เถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากนะ. อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า มี ๖ ล้าน ๘ แสนรูป. อุบาสกทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงให้ภิกษุไม่ให้เหลือไว้ในวิหารแม้สามเณรองค์เดียว รับนิมนต์เถิดพระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว.
               อุบาสกทราบว่า พระศาสดารับนิมนต์แล้ว จึงไปเรือนเตรียมมหาทาน วันรุ่งขึ้นให้คนไปกราบทูลถึงเวลาแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเรือนของอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้เสร็จแล้ว ในที่สุดแห่งทักษิโณทก ทรงรับข้าวยาคูเป็นต้น ทรงแจกจ่ายภัต. แม้อุบาสกก็นั่งใกล้พระศาสดา.
               ในลำดับนั้น ท่านมหานิสภัตเถระเที่ยวไปบิณฑบาตถึงถนนนั้น. อุบาสกครั้นเห็นแล้ว จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้ว กล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงให้บาตรเถิด. พระเถระได้ให้บาตรแล้ว. อุบาสกกล่าวว่า นิมนต์พระคุณเจ้าเข้าไปในเรือนนี้เถิด แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน. พระเถระกล่าวว่า ไม่สมควรดอก อุบาสก. อุบาสกรับบาตรของพระเถระแล้วใส่บิณฑบาตจนเต็มนำไปถวาย. จากนั้น อุบาสกไปส่งพระเถระแล้ว กลับไปนั่งในสำนักของพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านมหานิสภัตเถระแม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับนั่งในเรือน ก็ไม่ปรารถนาจะเข้าไป.
               พระศาสดาตรัสว่า มหานิสภัตเถระนั้นมีคุณยิ่งกว่าคุณของพวกท่าน.
               ก็ความตระหนี่คำสรรเสริญย่อมไม่มีแก่พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ครั้นแล้วพระศาสดาจึงตรัสอย่างนี้ว่า อุบาสก เรานั่งรอภิกษาในเรือน. ภิกษุนั้นนั่งอย่างนี้ไม่แลดูซึ่งภิกษา. เราอยู่ในเสนาสนะท้ายบ้าน ภิกษุนั้นอยู่ในป่า. เราอยู่ในที่มุงบัง ภิกษุนั้นอยู่ในที่แจ้ง. พระศาสดาตรัสดุจยังมหาสมุทรให้เต็มว่า นี้แหละ นี้แหละคุณของภิกษุนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               อุบาสกเลื่อมใสยิ่ง เหมือนประทีปอันสว่างอยู่แม้ตามปกติราดน้ำมันเข้าไปฉะนั้น คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยสมบัติอื่นแก่เรา. เราจักกระทำความปรารถนาเพื่อความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนธุดงค์ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต. เขานิมนต์พระศาสดาอีกครั้ง ถวายทานตลอด ๗ วันโดยทำนองนี้ ในวันที่ ๗ ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสนรูป แล้วหมอบลงแทบบาทมูลของพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ข้าพระองค์ถวายตลอด ๗ วัน เป็นทานที่ประกอบด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาเทพสมบัติ หรือสักกสมบัติ มารสมบัติและพรหมสมบัติอย่างอื่นด้วยทานนี้. แต่กรรมของข้าพระองค์นี้ ขอจงเป็นสัมฤทธิผลทุกประการแห่งความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เพื่อถึงฐานันดรที่ท่านมหานิสภัตเถระถึงแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเถิด.
               พระศาสดาทรงตรวจดูว่า ฐานะอันใหญ่ที่อุบาสกนี้ปรารถนา จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเห็นความสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า ฐานะที่ท่านปรารถนาสมใจแล้ว. ในที่สุดแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะจักอุบัติขึ้น. ท่านจักเป็นสาวกรูปที่ ๓ ของพระโคดมพระองค์นั้น จักชื่อว่า มหากัสสปเถระ.
               อุบาสกได้ฟังดังนั้น ดำริว่า ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีพระดำรัสเป็นสอง ได้สำคัญสมบัตินั้นเหมือนถึงในวันรุ่งขึ้น. เขารักษาศีลตลอดอายุ ครั้นทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น แล้วได้บังเกิดบนสวรรค์.
               จำเดิมแต่นั้น เขาเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุสสโลก เมื่อพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าอาศัยเมืองพันธุมดีประทับอยู่ ณ เขมมฤคทายวัน ในกัปที่ ๙๑ จากกัปนี้ (เขา) จุติจากเทวโลก บังเกิดในตระกูลพราหมณ์แก่ตระกูลหนึ่ง.
               ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงแสดงธรรมทุกๆ ๗ ปี ปรากฏความตื่นเต้นกันยกใหญ่ ทวยเทพในสกลชมพูทวีปต่างบอกข่าวกันต่อๆ ไปว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม. พราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้ว แต่เขามีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งอยู่ผืนเดียว ของพราหมณีก็เหมือนกัน. ทั้งสองคนมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ปรากฎไปทั่วเมืองว่า พราหมณ์เอกสาฎก.
               เมื่อมีการประชุมกันด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของพวกพราหมณ์ เขาไปด้วยตนเอง ให้นางพราหมณีอยู่ที่เรือน. เมื่อมีการประชุมนางพราหมณี เขาอยู่เรือนเอง นางพราหมณีห่มผ้าผืนนั้นไป.
               ก็ในวันนั้น พราหมณ์กล่าวกะนางพราหมณีว่า แม่มหาจำเริญ แม้จักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน. นางพราหมณีพูดว่า ฉันเป็นมาตุคาม ไม่อาจจะฟังธรรมในเวลากลางคืนได้ ฉันจักฟังธรรมในเวลากลางวัน. จึงให้พราหมณ์อยู่ที่เรือน ห่มผ้าผืนนั้นไปกับพวกอุบาสิกาในเวลากลางวัน ถวายบังคมพระศาสดานั่งฟังธรรมอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกลับไปกับพวกอุบาสิก.
               ครั้งนั้น พราหมณ์ให้นางพราหมณีอยู่เรือน ห่มผ้านั้นไปวิหาร.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่ง ณ ธรรมาสน์ที่ตกแต่งแล้ว ในท่ามกลางบริษัท ทรงจับพัดวีชนีอันวิจิตรตรัสธรรมกถา ดุจยังผู้วิเศษให้หยั่งลงสู่อากาศคงคา ดุจทำยอดภูเขาสิเนรุให้ถล่มลงสู่สาคร. เมื่อพราหมณ์นั่งอยู่สุดแถว ฟังธรรมอยู่ในยามต้นนั้นเอง ปีติมีวรรณะ ๕ เกิดซ่านไปทั่วตัว. เขาพับผ้าห่ม คิดว่า เราจักถวายแด่พระทศพล. ลำดับนั้น เขาเกิดจิตตระหนี่ ชี้ถึงโทษพันดวง. ผ้าของนางพราหมณีและของท่านมีผืนเดียวเท่านั้น ไม่มีผ้าห่มไรๆ อื่นอีก. ครั้นไม่ห่มแล้ว ก็จะไม่อาจออกไปข้างนอกได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ประสงค์จะถวายแม้ด้วยประการทั้งปวง.
               ครั้นปฐมยามล่วงไป แม้ในมัชฌิมยาม เขาก็เกิดปีติอย่างนั้นอีก. ก็ครั้นคิดเหมือนอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ประสงค์จะถวายเหมือนอย่างนั้นอีก. เมื่อมัชฌิมยามล่วงไป แม้ในปัจฉิมยาม เขาก็เกิดปีติอย่างนั้นอีก. เขาคิดว่า ตายหรือไม่ตายก็ช่างเถิด เราจักรู้ในภายหลัง จึงพับผ้าห่มวางไว้ ณ บาทมูลของพระศาสดา แต่นั้น เขาคู้มือซ้าย ปรบด้วยมือขวา เปล่งเสียงว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้วถึง ๓ ครั้ง.
               สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมหาราชประทับนั่งทรงสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์. ก็ธรรมดาพระราชาย่อมไม่พอพระทัยเสียว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว ดังนี้. พระองค์ทรงส่งบุรุษไป มีพระดำรัสว่า เจ้าจงไปถามพราหมณ์ผู้นั้นว่า ท่านพูดอะไร. บุรุษนั้นไปถามว่า ท่านพูดอะไร. ครั้นบุรุษนั้นไปถามแล้ว พราหมณ์พูดว่า พวกชนที่เหลือขึ้นยานช้างเป็นต้น แล้วชนะข้าศึก ข้อนั้นไม่อัศจรรย์เลย. ก็เราสละจิตตระหนี่ได้ถวายผ้าห่มแด่พระทศพล ดุจเอาสากทุบหัวโคโกง ซึ่งเดินมาข้างหลัง แล้วให้มันหนีไปฉะนั้น. พราหมณ์กล่าวว่า เราชนะความตระหนี่นั้น. ราชบุรุษกลับมากราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา ตรัสว่า พนาย เราไม่รู้สิ่งสมควรของพระทศพล พราหมณ์เป็นผู้รู้ จึงทรงส่งผ้าไปคู่หนึ่ง.
               พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นจึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ไม่พระราชทานอะไรๆ แก่เราผู้นั่งนิ่งก่อน เมื่อเรากล่าวถึงคุณของพระศาสดาแล้ว จึงพระราชทาน. ประโยชน์อะไรของเราด้วยผ้าที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยคุณของพระศาสดา จึงได้ถวายผ้าคู่นั้นแด่พระทศพลอีก. พระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอะไร สดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าคู่นั้นแด่พระตถาคตเช่นเคย จึงทรงส่งผ้า ๒ คู่อื่นไปให้. พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้า ๒ คู่นั้นอีก. พระราชาทรงส่งผ้าไปอีก ๔ คู่ จนถึง ๓๒ คู่.
               ครั้งนั้น พราหมณ์คิดว่า คู่ผ้านี้ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงถือเอาเพียง ๒ คู่ คือเพื่อตนคู่หนึ่ง เพื่อนางพราหมณ์คู่หนึ่ง ได้ถวายแด่พระตถาคต ๓๐ คู่ ตั้งแต่นั้นมา พราหมณ์นั้นได้คุ้นเคยกับพระศาสดา.
               วันหนึ่งในฤดูหนาว พระราชาทรงเห็นพราหมณ์นั้นฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา จึงพระราชทานผ้ารัตตกัมพลที่คลุมพระองค์มีค่าแสนหนึ่ง แล้วตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้าผืนนี้ฟังธรรม. เขาคิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยผ้ากัมพลผืนนี้ที่จะนำเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงกระทำให้เป็นเพดานเบื้องบนเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี แล้วจึงไป.
               วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในสำนักของพระศาสดา ภายในพระคันธกุฎี. สมัยนั้น พระพุทธรัศมีมีสี ๖ ประการกระทบผ้ากัมพล. ผ้ากัมพลรุ่งเรืองยิ่งนัก. พระราชาทรงมองไปเบื้องบนทรงจำได้ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ให้แก่พราหมณ์เอกสาฎก.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์บูชาพราหมณ์แล้ว พราหมณ์บูชาอาตมาแล้ว.
               พระราชาดำริว่า พราหมณ์ได้รู้สิ่งที่ควร เราไม่รู้. ทรงเลื่อมใสแล้ว ทรงกระทำสิ่งที่เกื้อกูลมนุษย์ทั้งหมด ให้เป็นอย่างละ ๘ๆ พระราชทานอย่างละ ๘ ทั้งหมด แล้วทรงแต่งตั้งพราหมณ์ในตำแหน่งปุโรหิต. ชื่อว่าทานอย่างละ ๘ๆ รวมเป็น ๖๔.
               เขาน้อมนำสลากภัตร ๖๔ รักษาศีล จุติจากนั้นไปบังเกิดบนสวรรค์.
               ครั้นจุติจากนั้นอีก ได้บังเกิดในเรือนกุฏุมพีในกรุงพาราณสี ในระหว่างพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ และพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ ในกัปนี้. เขาอาศัยความเจริญอยู่ครองเรือน วันหนึ่งเที่ยวไปยังชังฆติกวิหาร ในป่า.
               ก็สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำจีวรกรรมอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำ เมื่ออนุวาต (ขอบจีวร) ไม่พอ จึงปรารภเพื่อจะพับเก็บ. เขาเห็นจึงถามว่า เพราะเหตุไร พระคุณเจ้าจึงพับเก็บ เจ้าข้า.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า อนุวาตไม่พอ. เขากล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงทำด้วยผ้าผืนนี้เถิด. แล้วถวายผ้าสาฎกตั้งความปรารถนาว่า ขอเราจงอย่ามีความเสื่อมไรๆ ในที่ที่เราไปเกิดเถิด.
               แม้ที่เรือนเมื่อน้องสาวของเขาทะเลาะกันอยู่กับภรรยา พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต.
               ลำดับนั้น น้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่า เราพึงเว้นคนพาลเห็นปานนี้ไป ๑๐๐ โยชน์ นางกล่าวอย่างนี้ หมายถึงภรรยาของพราหมณ์นั้น. ภรรยายืนอยู่ที่ประตูเรือน ครั้นได้ยินจึงคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าอย่าฉันภัตรที่หญิงนี้ถวายเลย จึงรับบาตรมาแล้วทิ้งบิณฑบาตเสีย เอาเปือกตมใส่จนเต็มถวาย.
               น้องสาวเห็นจึงพูดว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าหรือทุบตีเราก็พอ แต่เจ้าไม่ควรทิ้งภัตรจากบาตรของท่านผู้บำเพ็ญบารมีมาตลอด ๒ อสงไขย แล้วถวายเปือกตม.
               ทีนั้น ภรรยาของเขาจึงได้เกิดความคิด. นางกล่าวว่า หยุดเถิดเจ้าข้า. แล้วทิ้งเปือกตม ล้างบาตร ขัดด้วยผงหอม แล้วใส่อาหารที่รสอร่อย ๔ ชนิดจนเต็มบาตร วางบาตรซึ่งแพรวพราวด้วยสัปปิมีสีดุจกลีบบัวที่โปรยไว้เบื้องบน บนมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอร่างกายของเราจงมีแสงเหมือนบิณฑบาตนี้อันมีแสงเถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะไปสู่อากาศ.
               ภรรยาสามีบำเพ็ญกุศลตราบสิ้นอายุ ได้บังเกิดบนสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์ อุบาสกได้บังเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี. ส่วนภรรยาได้บังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเช่นเดียวกัน. มารดาบิดาได้นำธิดาเศรษฐีนั้นแลมาให้แก่บุตรเศรษฐีผู้เจริญวัย. เพียงเมื่อเศรษฐีธิดาเข้าไปสู่ตระกูลสามีด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันเป็นผลที่นางไม่ถวายทานมาก่อน สกลกายก็เกิดกลิ่นเหม็นดุจส้วมที่เขาเปิดไว้ภายในธรณีประตู.
               เศรษฐีกุมารถามว่า นี้กลิ่นของใคร ครั้นได้ฟังแล้ว เป็นกลิ่นของเศรษฐีธิดา จึงตะโกนขึ้นว่า จงนำออกไป จงนำออกไป แล้วส่งกลับไปยังเรือนตระกูล โดยทำนองเดียวกับที่นำมา.
               เศรษฐีธิดาถูกส่งกลับไปในฐานะ ๗ โดยทำนองนี้แล คิดว่าเรากลับไปถึง ๗ ครั้งแล้ว เราจะอยู่ไปทำไม จึงยุบเครื่องอาภรณ์ของตนให้อิฐทองคำยาว ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ สูง ๔ นิ้ว. จากนั้น นางถือก้อนหรดาลและมโนศิลาแล้ว ถือดอกบัว ๘ กำไปสู่ที่สร้างเจดีย์ของพระกัสสปทศพล.
               ก็ในขณะนั้น เมื่อนางมาถึง ก้อนอิฐได้ตกลงมา. เศรษฐีธิดาจึงบอกกะช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ไว้ตรงนี้. ช่างกล่าวว่า แม่มหาจำเริญ แม่มาในเวลา แม่วางเองเถิด. นางขึ้นไปเอาน้ำมันผสมหรดาลและมโนศิลา ก่ออิฐให้แน่นด้วยหรดาลและมโนศิลาที่ผสมน้ำมันนั้น ทำการบูชาด้วยดอกบัว ๘ กำเบื้องบน แล้วไหว้ทำความปรารถนาว่า ขอกลิ่นจันทน์จงฟุ้งออกจากปากในที่เกิดเถิด แล้วไหว้พระเจดีย์ กระทำประทักษิณกลับไป.
               ในขณะนั้น เศรษฐีบุตรระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่นำไปสู่เรือนครั้งแรก. แม้ในเมืองก็มีการป่าวร้องเล่นนักษัตร. เศรษฐีถามคนรับใช้ว่า เศรษฐีธิดาที่นำไปคราวนั้น นางอยู่ที่ไหน. คนรับใช้ตอบว่า อยู่ที่เรือนตระกูลจ้ะนาย. เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงนำมา เราจักเล่นนักษัตรนั้น. พวกรับใช้พากันไปยืนไหว้เศรษฐีธิดา ครั้นเศรษฐีธิดากล่าวว่า พวกท่านมาทำไม จึงบอกเรื่องราวให้นางฟัง.
               เศรษฐีธิดากล่าวว่า พ่อคุณ เราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาเจดีย์หมดแล้ว เราไม่มีอาภรณ์. คนรับใช้พากันไปบอกแก่เศรษฐีบุตร. เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกท่านจงนำนางมาเถิด เราจักให้เครื่องประดับ. คนรับใช้นำนางมาแล้ว. พร้อมกับที่นางเข้าไปสู่เรือน กลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกบัวขาบฟุ้งไปตลอดเรือน.
               เศรษฐีบุตรถามเศรษฐีธิดาว่า ครั้งแรกกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากร่างกายของเจ้า แต่เดี๋ยวนี้กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกาย กลิ่นดอกบังฟุ้งออกจากปากของเจ้า. มันเรื่องอะไรกัน. นางได้บอกกรรมที่นางทำตั้งแต่ต้น. เศรษฐีบุตรเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นคำสอนที่นำออกจากทุกข์หนอ จึงเอาเสื้อกัมพลคลุมเจดีย์ทอง ประกอบด้วยดอกประทุมทอง ประมาณเท่าล้อรถ ณ ที่นั้น ห้อยย้อยลงมาประมาณ ๑๒-๑๓ ศอก.
               เศรษฐีบุตรนั้นดำรงอยู่ ณ ที่นั้นตราบเท่าอายุแล้ว ไปบังเกิดบนสวรรค์ จุติจากนั้นไปบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์จากกรุงพาราณสี. เศรษฐีธิดาจุติจากเทวโลกไปบังเกิดเป็นราชธิดาในราชตระกูล.
               เมื่อทั้งสองเจริญวัย ใกล้บ้านที่กุมารอยู่ได้มีการป่าวร้องเล่นนักษัตร. กุมารพูดกะมารดาว่า แม่จ๋า แม่ให้ผ้าสาฎกแก่ฉันเถิด ฉันจักเล่นนักษัตร. มารดานำผ้าที่ซักแล้วมาให้. กุมารได้ปฏิเสธผ้าผืนนั้น. มารดานำผ้าผืนอื่นมาให้อีก. กุมารปฏิเสธผ้าผืนนั้นอีก.
               ลำดับนั้น มารดาพูดกะกุมารนั้นว่า ลูกเอ๋ย เราเกิดในเรือนเช่นใด เราไม่มีบุญเพื่อจะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านั้น. กุมารกล่าวว่า แม่จ๋า ลูกจะไปที่ที่หาได้. มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย แม่ปรารถนาจะให้ลูกได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีในวันนี้ทีเดียว. กุมารนั้นไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า แม่จ๋า ลูกจะไปละ. มารดากล่าวว่า ไปเถิดลูก. นัยว่า มารดาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า กุมารจักไป ณ ที่ไหน จักนอนในที่นี่หรือในเรือนนี้.
               ก็กุมารนั้นออกไปโดยกำหนดของบุญไปถึงกรุงพาราณสี นอนคลุมศีรษะบนแผ่นมงคลศิลา ณ พระอุทยาน.
               อนึ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีสวรรคต วันนั้นเป็นวันที่ ๗. พวกอำมาตย์ ครั้นถวายพระเพลิงพระศพของพระราชาแล้ว จึงนั่งปรึกษากัน ณ พระลานหลวงว่า พระราชามีพระธิดาองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระโอรส ราชสมบัติที่ไม่มีพระราชาจะดำรงอยู่ไม่ได้ ใครจะเป็นพระราชา เพราะฉะนั้น ขอท่านจงปรึกษากันดูเถิด.
               ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรดูให้มากไป เราจะปล่อยบุษยราชรถ. พวกอำมาตย์เทียมม้าสินธพ ๔ ตัวมีสีขาว ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างและเศวตฉัตรไว้บนรถ แล้วปล่อยรถไปให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง.
               ราชรถออกทางประตูด้านปราจีนบ่ายหน้าไปพระราชอุทยาน. ราชรถบ่ายหน้าไปพระราชอุทยานด้วยบุญบารมี. พวกอำมาตย์บางคนบอกว่า พวกเรากลับเถิด. ปุโรหิตบอกว่า พวกท่านอย่ากลับ. ราชรถกระทำประทักษิณกุมารแล้ว ก็หยุด เป็นการเตรียมให้กุมารขึ้น. ปุโรหิตดึงชายผ้าห่มออก มองดูฝ่าเท้า กล่าวว่า ทวีปนี้ยกไว้ก่อน กุมารนี้ควรครองราชสมบัติในทวีปทั้ง ๔ มีทวีป ๒,๐๐๐ เป็นบริวารแล้วให้ประโคมดนตรี ๓ ครั้งว่า พวกท่านจงประโคมอีก พวกท่านจงประโคมอีก.
               ลำดับนั้น กุมารเปิดหน้ามองดู แล้วถามว่า พ่อเจ้าพระคุณทั้งหลาย พวกท่านมาทำอะไรกัน. ตอบว่า ท่านผู้ประเสริฐ ราชสมบัติจะถึงแก่ท่าน.
               ถามว่า พระราชาไปไหนเสียเล่า. ตอบว่า สวรรคตเสียแล้วนาย.
               ถามว่า กี่วันแล้ว. ตอบว่า ๗ วันเข้าวันนี้. ถามว่า พระโอรสหรือพระธิดาไม่มีหรือ. ตอบว่า มีแต่พระธิดา ท่านผู้ประเสริฐ ไม่มีพระโอรส.
               รับว่า เราจักครองราชสมบัติ.
               พวกอำมาตย์สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกก่อน ประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องประดับทุกชนิด แล้วนำมายังพระราชอุทยาน ได้กระทำอภิเษกพระกุมาร.
               ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้นำผ้าราคาแสนหนึ่งน้อมถวายแด่พระกุมารผู้ได้ทำอภิเษกแล้ว. พระกุมารตรัสถามว่า นี่อะไรพ่อคุณ. ทูลว่า ผ้านุ่ง พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า เป็นผ้าเนื้อหยาบมิใช่หรือ. ทูลว่า บรรดาผ้าที่พวกมนุษย์ใช้สอยกันอยู่ ไม่มีผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านนุ่งผ้าอย่างนี้หรือ. ทูลว่า ใช่แล้ว พระเจ้าข้า. ตรัสว่า พระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ. พวกอำมาตย์นำพระเต้าทองมาถวาย.
               พระกุมารเสด็จลุกขึ้นชำระพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว ทรงอมน้ำพ่นไปทางทิศตะวันออก. ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทำลายแผ่นดินอันหนาผุดขึ้น. พระกุมารทรงอมน้ำพ่นไปทางทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนืออีก เพราะเหตุนั้น ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นแล้วทั้ง ๔ ทิศอย่างนี้. ในทุกทิศต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้น ทิศละ ๘ ต้น จึงรวมเป็น ๓๒ ต้น.

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ จีวรสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 512อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 518อ่านอรรถกถา 16 / 528อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=5721&Z=5816&bgc=lavender
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=4415
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=4415
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :