ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 17 / 6อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ นกุลปิตวรรคที่ ๑
นกุลปิตาสูตร ว่าด้วยกายเปรียบด้วยฟองไข่

               สารัตถปกาสินี               
               อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค               
               อรรถกถานกุลปิตุสูตรที่ ๑               
               นกุลปิตุวรรคสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ภคฺเคสุ ได้แก่ ในชนบทมีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า สุํสุมารคิเร ได้แก่ ในนครชื่อสุงสุมารคิระ เล่ากันมาว่า เมื่อสร้างนครนั้น จระเข้ร้อง ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อนครนั้นว่า สุงสุมารคิระ.
               บทว่า เภสกฬาวเน ความว่า ในป่าที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะยักษิณีชื่อเภสกฬาสิงอยู่ ป่านั้นแหละ เรียกว่ามิคทายะ เพราะเป็นที่ให้อภัยแก่หมู่เนื้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยนครนั้นในชนบทนั้น ประทับอยู่ในไพรสณฑ์นั้น.
               บทว่า นกุลปิตา ได้แก่ เป็นบิดาของทารกชื่อนกุละ.
               บทว่า ชิณฺโณ ได้แก่ เป็นผู้คร่ำคร่าเพราะชรา.
               บทว่า วุฑฺโฒ ได้แก่เป็นผู้เจริญวัย.
               บทว่า มหลฺลโก ได้แก่ เป็นคนแก่นับแต่เกิด.
               บทว่า อทฺธคโต ได้แก่ ล่วงกาล ๓.
               บทว่า วโยอนุปฺปตฺโต ได้แก่ ล่วงกาล ๓ นั้นๆ ถึงปัจฉิมวัยตามลำดับ.
               บทว่า อาตุรกาโย ได้แก่ มีกายเจ็บไข้. ความจริง สรีระนี้แม้มีวรรณะดังทอง ก็ชื่อว่ากระสับกระส่ายอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่าไหลออกเป็นนิจ แต่ว่าโดยพิเศษ สรีระนั้นย่อมมีความกระสับกระส่าย ๓ อย่าง คือ กระสับกระส่ายเพราะชรา ๑ กระสับกระส่ายเพราะพยาธิ ๑ กระสับกระส่ายเพราะมรณะ ๑.
               ใน ๓ อย่างนั้น เพราะความเป็นคนแก่ จึงชื่อว่ากระสับกระส่ายเพราะชรานั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ในที่นี้ท่านก็ประสงค์เอาความที่สรีระนั้น กระสับกระส่ายเพราะพยาธิ เพราะเป็นโรคอยู่เนืองๆ.
               บทว่า อภิกฺขณาตงฺโก ได้แก่ เป็นโรคเนืองๆ คือเป็นโรคอยู่เรื่อย.
               บทว่า อนิจฺจทสฺสาวี ความว่า ข้าพระองค์ไม่อาจมาในขณะที่ปรารถนาๆ ได้เฝ้าบางคราวเท่านั้น มิได้เฝ้าตลอดกาล.
               บทว่า มโนภาวนียานํ ได้แก่ ผู้ให้เจริญใจ ก็เมื่อข้าพระองค์เห็นภิกษุเหล่าใด จิตย่อมเจริญด้วยอำนาจกุศล ภิกษุเหล่านั้นได้แก่พระมหาเถระมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น ชื่อว่าเป็นผู้ให้เจริญใจ.
               บทว่า อนุสาสตุ ได้แก่ ขอโปรดสั่งสอนบ่อยๆ. จริงอยู่ สอนครั้งแรกชื่อว่าโอวาท สอนครั้งต่อๆ ไปชื่อว่าอนุสาสนี. อีกอย่างหนึ่ง สอนในเรื่องที่มีแล้วชื่อว่าโอวาท สอนตามแบบแผนคือตามประเพณีนั่นแหละในเรื่องที่ยังไม่มีชื่อว่าอนุสาสนี. อีกอย่างหนึ่ง คำว่าโอวาทก็ดี คำว่า อนุสาสนี ก็ดี โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกันทีเดียว ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้นเอง.
               บทว่า อาตุโร หายํ ตัดเป็น อาตุโร หิ อยํ. ความว่า กายนี้มีสีเหมือนทอง แม้เสมอด้วยไม้ประยงค์ ก็ชื่อว่ากระสับกระส่าย เพราะอรรถว่าไหลออกเป็นนิจ.
               บทว่า อณฺฑภูโต ความว่า เป็นเหมือนฟองไข่ ใช้การไม่ได้ ฟองไข่ไก่ก็ตาม ฟองไข่นกยูงก็ตามที่คนเอามาทำเป็นลูกข่าง จับโยนหรือขว้างไป ไม่อาจจะเล่นได้ ย่อมแตกในขณะนั้นนั่นเอง ฉันใด กายแม้นี้ก็ฉันนั้น เมื่อคนเหยียบชายผ้าก็ดี สะดุดตอก็ดี ล้มลง ย่อมแตกเป็นเหมือนฟองไข่ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อณฺฑภูโต.
               บทว่า ปริโยนทฺโธ ได้แก่ เพียงผิวหนังที่ละเอียดหุ้มไว้ เพราะฟองไข่มีเปลือกแข็งหุ้มไว้ ฉะนั้นแม้เหลือบยุงเป็นต้นแอบเข้าไปเจาะผิวที่ฟองไข่นั้น ก็ไม่อาจให้น้ำเยื่อไข่ไหลออกมาได้ แต่ที่กายนี้ เจาะผิวหนังทำได้ตามปรารถนา กายนี้ผิวหนังที่ละเอียดหุ้มไว้อย่างนี้.
               บทว่า กิมญฺญตฺร พาลฺยา ความว่า อย่างอื่นนอกจากความอ่อนแอ จะมีอะไรเล่า กายนี้อ่อนแอจริงๆ.
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะกายนี้เป็นอย่างนี้
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า คฤหบดีชื่อนกุลบิดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสัทธรรมจักรพรรดิ ต่อมาประสงค์จะทำความเคารพพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระสารีบุตรถึงที่อยู่ เหมือนราชบุรุษเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ต่อมาจึงเข้าไปหาท่านปรินายกรัตน์ (อัครมหาเสนาบดี).
               บทว่า วิปฺปสนฺนานิ ได้แก่ ผ่องใสด้วยดี.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖.
               บทว่า ปริสุทฺโธ ได้แก่ ปราศจากโทษ.
               คำว่า ปริโยทาโต เป็นไวพจน์ของคำว่า ปริสุทฺโธ นั่นเอง.
               จริงอยู่ ท่านพระสารีบุตรนี้ ท่านเรียกว่า ปริโยทาโต เพราะท่านปราศจากอุปกิเลสนั่นเอง มิใช่เพราะเป็นคนขาว. คฤหบดีพอเห็นความผ่องแผ้วของพระสารีบุตรเท่านั้น ก็รู้ว่าท่านมีอินทรีย์ผ่องใส. ได้ยินว่า นี้เป็นปัญญาคาดคะเนของพระเถระ.
               บทว่า กหญฺหิ โน สิยา ความว่า เพราะเหตุไรท่านจักไม่ได้ปัญญานั้นเล่า. อธิบายว่า ได้แล้วทีเดียว.
               ด้วยบทนี้ ท่านแสดงอะไร. แสดงว่าเป็นผู้คุ้นเคยกับพระศาสดา.
               ได้ยินว่า คฤหบดีนี้จำเดิมแต่ได้เห็นพระศาสดา ก็ได้ความรักดุจว่าตนเป็นบิดา ฝ่ายอุบาสิกาของท่านก็ได้ความรักดุจตนเป็นมารดา. ท่านทั้งสองเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ศาสดาว่า บุตรของเรา.
               จริงอยู่ ความรักของท่านทั้งสองนั้นมีมาแล้วในภพอื่นๆ.
               ได้ยินว่า อุบาสิกานั้นได้เป็นมารดา ส่วนคฤหบดีนั้นได้เป็นบิดาของพระตถาคต ๕๐๐ ชาติ. อุบาสิกาเป็นยายและเป็นป้า-น้า อุบาสกเป็นปู่และเป็นอาตลอด ๕๐๐ ชาติอีก. รวมความว่า พระศาสดาทรงเจริญเติบโตในมือของท่านทั้งสองนั้นเองสิ้น ๑,๕๐๐ อัตภาพ. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านทั้งสองนั้นจึงนั่งพูดในสำนักของพระศาสดาใช้คำที่ใครๆ ไม่สามารถจะพูดในที่ใกล้บุตรและธิดาได้.
               ก็ด้วยเหตุนี้นี่แล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านทั้งสองนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกสาวกที่สนิทสนมของเรา นกุลปิตาคฤหบดีจัดเป็นเลิศ. บรรดาอุบาสิกาสาวิกาที่สนิทสนมของเรา นกุลมาตาคหปตานีเป็นเลิศ ดังนั้น พระองค์เมื่อจะทรงประกาศความเป็นผู้สนิทสนมนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า กหญฺหิ โน สิยา ดังนี้.
               บทว่า อมเตน อภิสิตฺโต ความว่า ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี อะไรอื่นในที่นี้ไม่พึงเห็นว่า อมตาภิเสก (คือการโสรจสรงด้วยน้ำอมฤต) แต่พระธรรมเทศนาที่ไพเราะเท่านั้น พึงทราบว่า อมตาภิเสก.
               บทว่า ทูรโตปิ ได้แก่ จากภายนอกแว่นแคว้นบ้าง ภายนอกชนบทบ้าง.
               คำว่า อสุตวา ปุถุชฺชโน นี้มีอรรถดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อริยานํ อทสฺสาวี เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายกล่าวว่า อริยะเพราะไกลจากกิเลส เพราะไม่ดำเนินไปในความเสื่อม เพราะดำเนินไปในความเจริญ เพราะโลกพร้อมด้วยเทวโลกพึงดำเนินตาม.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นแลเป็นพระอริยะในโลกนี้ อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระตถาคตท่านเรียกว่าอริยะในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ ดังนี้
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สปฺปุริสานํ ดังต่อไปนี้
               พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของตถาคต พึงทราบว่าสัตบุรุษ. จริงอยู่ ท่านเหล่านั้น ท่านกล่าวว่าสัตบุรุษ เพราะเป็นคนงาม เพราะประกอบด้วยคุณอันเป็นโลกุตตระ.
               อนึ่ง ท่านทั้งหมดนั้น ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นทั้ง ๒ อย่าง. จริงอยู่ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นพระอริยะด้วยเป็นสัปบุรุษด้วย แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เรียกอย่างนั้นเหมือนกัน
               เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
                         บุคคลใดแล เป็นผู้กตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์
                         เป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้มีความภักดีอันมั่นคง
                         กระทำกิจของผู้ได้รับทุกข์โดยเคารพ บัณฑิตทั้ง
                         หลายเรียกบุคคลผู้เช่นนั้นว่า เป็นสัปปุรุษ.

               บทว่า กลฺยาณมิตฺโต ทฬฺหภตฺติ จ โหติ ความว่า ก็พุทธสาวก ท่านกล่าวไว้ด้วยบทเพียงเท่านี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านกล่าวด้วยคุณมีกตัญญุตาเป็นต้น.
               ผู้ใดมีปกติไม่เห็นพระอริยะเจ้าเหล่านั้นในบัดนี้ และไม่ทำความดีในการเห็น ผู้นั้นพึงทราบว่าเป็นผู้ไม่เห็นพระอริยะเจ้า และผู้ไม่เห็นพระอริยะเจ้านั้นมี ๒ จำพวก คือผู้ไม่เห็นด้วยจักษุพวกหนึ่ง ผู้ไม่เห็นด้วยญาณพวกหนึ่ง. ใน ๒ พวกนั้น ผู้ไม่เห็นด้วยญาณท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               แม้ผู้ที่เห็นพระอริยะเจ้าด้วยมังสจักษุ หรือด้วยทิพยจักษุ ก็ชื่อว่าเป็นอันไม่เห็นอยู่นั่นเอง เพราะถือเอาเพียงสี (รูป) แห่งจักษุเหล่านั้น ไม่ใช่ถือเอาโดยเป็นอารมณ์แห่งอริยปัญญา. แม้สัตว์เดียรัจฉานมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น ย่อมเห็นพระอริยเจ้าด้วยจักษุ และสัตว์เหล่านั้นจะชื่อว่าไม่เห็นพระอริยเจ้าก็หามิได้

               ในข้อนั้นมีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์               
               เล่ากันมาว่า อุปัฏฐากของพระเถระผู้ขีณาสพ ผู้อยู่ ณ จิตรลดาบรรพต เป็นผู้บวชเมื่อแก่ วันหนึ่งท่านเที่ยวบิณฑบาตกับพระเถระ ถือบาตรและจีวรของพระเถระเดินไปข้างหลัง ถามพระเถระว่า ท่านขอรับ ขึ้นชื่อว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นไร.
               พระเถระตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนแก่ ถือบาตรและจีวรของพระอริยะทั้งหลาย ทำวัตรปฏิบัติ แม้เที่ยวไปด้วยกัน ก็ไม่รู้จักพระอริยะ ผู้มีอายุ พระอริยะทั้งหลายรู้ได้ยากอย่างนี้.
               แม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนั้น ท่านก็ยังไม่รู้อยู่นั้นเอง. เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยจักษุและการเห็นด้วยญาณ (ปัญญา) ก็ชื่อว่าเห็น
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนวักกลิ ประโยชน์อะไรด้วยกายเน่าที่ท่านเห็นอยู่นี้. ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา. ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม.
               เพราะฉะนั้น แม้ผู้ที่เห็นด้วยจักษุไม่เห็นอนิจจลักษณะเป็นต้นที่พระอริยะทั้งหลายเห็นด้วยญาณ และไม่บรรลุธรรมที่พระอริยะบรรลุแล้ว พึงทราบว่าไม่เห็นพระอริยะ เพราะไม่เห็นธรรมอันกระทำความเป็นพระอริยะ และไม่เห็นความเป็นพระอริยะ.
               บทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ได้แก่ผู้ไม่ฉลาดในอริยธรรมต่างโดยสติปัฏฐานเป็นต้น
               ก็ในคำว่า อริยธมฺเม อวินีโต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
                         ขึ้นชื่อว่าวินัย มี ๒ อย่าง ใน ๒ อย่างนี้
                         แต่ละอย่างแบ่งเป็น ๕ อย่าง ท่านเรียก
                         ปุถุชนนี้ว่า มิได้รับแนะนำ เพราะไม่มี
                         วินัยนั้น.
               ก็วินัยนี้มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑ และในวินัย ๒ อย่างนี้ วินัยแต่ละอย่างแบ่งเป็น ๕ อย่าง.
               แม้สังวรวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ สีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร วิริยสังวร.
               แม้ปหานวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน นิสสรณปหาน.
               ใน ๕ อย่างนั้น สังวรในประโยคว่า อิมินา ปาฏิโมกฺขสํวเรน อุเปโต โหติ สมุเปโต ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้ นี้ชื่อว่าสีลสังวร.
               สังวรในประโยคว่า รกฺขติ จกฺขุนฺทฺริยํ จกฺขุนฺทฺริเย สํวรํ อาปชฺชติ ภิกษุย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ นี้ชื่อว่าสติสังวร.
               สังวรในคาถาว่า
                         ยานิ โสตานิ โลกสฺมึ สติ เตสํ นิวารณํ
                         โสตานํ สํวรํ พฺรูมิ ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร

                         กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้น
                         กระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่อง
                         กั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอัน
                         บัณฑิตจะปิดได้ด้วยปัญญา.
               นี้ชื่อว่าญาณสังวร.
               สังวรในประโยคว่า ขโม โหติ สีตสฺส อุณฺหสฺส ภิกษุย่อมอดทนต่อหนาวต่อร้อน นี้ชื่อว่าขันติสังวร. สังวรในประโยคว่า อุปฺปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ นี้ชื่อวิริยสังวร.
               อนึ่ง สังวรทั้งหมดนี้ ท่านเรียกว่าสังวร เพราะเป็นเครื่องปิดกั้นกายทุจริตเป็นต้นที่จะพึงปิดกั้นตามหน้าที่ของตน และท่านเรียกว่าวินัย เพราะเป็นเครื่องกำจัดกายทุจริตเป็นต้นที่จะพึงกำจัดตามหน้าที่ของตน. สังวรวินัย พึงทราบว่าแบ่งเป็น ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               อนึ่ง ในวิปัสสนาญาณมีนามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้น การละอนัตถะนั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ เหมือนการละความมืดด้วยแสงประทีปนั่นแล โดยความเป็นปฏิปักษ์กัน คือละสักกายทิฏฐิด้วยการกำหนดนามรูป ละทิฏฐิที่ไม่มีเหตุและทิฏฐิที่มีเหตุไม่เสมอกันด้วยการกำหนดปัจจัย ละวิจิกิจฉาด้วยกังขาวิตรณวิสุทธิอันเป็นส่วนเบื้องปลายแห่งการกำหนดปัจจัยนั้นแหละ ละการยึดถือว่าเรา ของเรา ด้วยการพิจารณานามรูปโดยเป็นกลาป ละสัญญาในสิ่งที่ไม่ใช่ทางว่าเป็นทางด้วยมัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ละอุจเฉททิฏฐิด้วยการเห็นความเกิดของนามรูป ละสัสสตทิฏฐิด้วยการเห็นความดับของนามรูป ละสัญญาในสิ่งที่มีภัยว่าไม่มีภัยด้วยการเห็นนามรูปว่าเป็นภัย ละสัญญาในอัสสาทะความยินดีด้วยการเห็นอาทีนพโทษ ละสัญญาในอภิรติความยินดีด้วยนิพพิทานุปัสสนา ละความไม่อยากปล่อยด้วยมุญจิตุกามยตาญาณ ละความไม่วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ ละธรรมฐิติด้วยอนุโลมญาณ ละภาวะที่เป็นปฏิโลมด้วยพระนิพพาน ละการยึดถือนิมิตในสังขารด้วยโคตรภูญาณ นี้ชื่อว่า ตทังคปหาน.
               อนึ่ง การละธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นนั้นๆ ด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั่นแล เหมือนการกั้นสาหร่ายบนผิวน้ำด้วยการกั้นด้วยไม้ โดยห้ามภาวะคือความเป็นไปเสีย นี้ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน.
               การละหมู่กิเลสที่เป็นฝักฝ่ายสมุทัยที่กล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เพื่อละทิฏฐิในสันดานของตนโดยมรรคนั้นๆ เพราะทำอริยมรรค ๔ ให้เกิด โดยมิให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน.
               อนึ่ง การระงับกิเลสทั้งหลายในขณะแห่งผลจิต นี้ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหาน.
               พระนิพพานที่ละสังขตธรรมได้หมด เพราะสลัดสังขตธรรมทั้งหมดได้ นี้ชื่อว่า นิสสรณปหาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ปหานทั้งหมดนี้ เหตุที่ท่านเรียกว่าปหาน เพราะอรรถว่าสละ เรียกว่าวินัยเพราะอรรถว่ากำจัด ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ปหานวินัย.
               อีกอย่างหนึ่ง ปหานนี้ ท่านเรียกว่าปหานวินัย เพราะมีการละกิเลสนั้นๆ และเพราะมีการกำจัดกิเลสนั้นๆ แม้ปหานวินัย ก็พึงทราบว่า แบ่งเป็น ๕ ด้วยประการฉะนี้.
               วินัยนี้โดยสังเขปมี ๒ อย่าง โดยประเภทมี ๑๐ อย่าง ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้ศึกษานั้น เพราะเป็นผู้ทำลายสังวร และเพราะไม่ละ สิ่งที่ควรละ ฉะนั้นปุถุชนนี้ท่านจึงเรียกว่า ผู้ไม่ได้รับแนะนำ เพราะไม่มีวินัยนั้น.
               แม้ในคำนี้ว่า สปฺปุริสานํ อทสฺสาวี สปฺปุริสธมฺมสฺส อโกวิโท สปฺปุริสธมฺเม อวินีโต ก็นัยนี้. ความจริง คำนี้ว่าโดยอรรถไม่แตกต่างกันเลย. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ผู้เป็นอริยะก็คือสัตบุรุษ ผู้เป็นสัตบุรุษก็คืออริยะ ธรรมของอริยะก็คือธรรมของสัตบุรุษ ธรรมของสัตบุรุษก็คือธรรมของอริยะ วินัยของอริยะก็คือวินัยของสัตบุรุษ วินัยของสัตบุรุษก็คือวินัยของอริยะ.
               คำว่า อริเย ก็ตาม สปฺปุริเส ก็ตาม อริยธมฺเม ก็ตาม สปฺปุริสธมฺเม ก็ตาม อริยวินเย ก็ตาม สปฺปุริสวินเย ก็ตาม นี้ๆ เป็นอย่างเดียวกัน มีอรรถอันเดียวกัน เสมอกัน เท่ากัน มีสภาพเป็นอย่างนั้น อื่นๆ ก็เป็นอย่างนั้น.
               บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ความว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตนว่า รูปอันใด เราก็อันนั้น เราอันใด รูปก็อันนั้น พิจารณาเห็นรูปและอัตตาว่าเป็นอย่างเดียวกัน. ภิกษุบางรูปในศาสนานี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ พิจารณาเห็นรูปและตนว่าเป็นอย่างเดียวกัน รวมความว่า ย่อมเห็นรูปด้วยทิฏฐิว่า ตนเหมือนประทีปน้ำมันที่กำลังตามอยู่ คนย่อมเห็นเปลวไฟและสีเป็นอย่างเดียวกันว่าเปลวไฟอันใด สีก็อันนั้น สีอันใด เปลวไฟก็อันนั้น.
               บทว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ ความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปว่าเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่มี รูปนั้นว่ามีรูป เหมือนเห็นต้นไม้ที่มีเงา.
               บทว่า อตฺตนิ วา รูปํ ความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปนั่นแหละว่าเป็นตน พิจารณาเห็นรูปในตน เหมือนกลิ่นในดอกไม้.
               บทว่า รูปสฺมึ วา อตฺตานํ ความว่า ยึดสิ่งที่ไม่มีรูปนั่นแลว่าตน พิจารณาเห็นตนนั้นในรูป เหมือนแก้วมณีในขวด.
               บทว่า ปริยุฏฺฐฏฺฐายี ความว่า ตั้งอยู่โดยอาการที่ถูกกิเลสกลุ้มรุม คือโดยอาการที่ถูกครอบงำ. อธิบายว่า กลืนรูปด้วยตัณหาและทิฏฐิให้เสร็จไปอย่างนี้ว่าเรา ว่าของเรา ชื่อว่าย่อมยึด.
               บทว่า ตสฺส ตํ รูปํ ได้แก่ รูปของเขานั้น คือที่ยึดไว้อย่างนั้น แม้ในขันธ์มีเวทนาขันธ์เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ความว่า ท่านกล่าวรูปล้วนๆ นั่นแลว่าตน.
               อีกอย่างหนึ่งท่านกล่าวสิ่งที่ไม่มีรูปในฐานะ ๗ เหล่านี้ว่า พิจารณาเห็นตนมีรูป หรือรูปในตน หรือตนในรูป ๑ เวทนา โดยเป็นตน ๑ ฯลฯ สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยเป็นตน กล่าวตนที่ระคนปนกับรูปและอรูปในฐานะ ๑๒ โดยขันธ์ ๓ ในบรรดาขันธ์ ๔ อย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นตนมีเวทนา หรือเวทนาในตน หรือตนในเวทนา ในบรรดาขันธ์เหล่านั้น ท่านกล่าวอุจเฉททิฏฐิ ในฐานะว่า พิจารณาเห็นรูปโดยเป็นตน พิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยเป็นตน. ในทิฏฐิที่เหลือ สัสสตทิฏฐิย่อมเป็นอย่างนี้
               สรุปความว่า ในปัญจขันธ์เหล่านี้ ภวทิฏฐิ ๑๕ (วิภวทิฏฐิ ๕) ย่อมเป็นอย่างนี้ ทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดพึงทราบว่า ย่อมห้ามมรรค ไม่ห้ามสวรรค์ อันโสดาปัตติมรรคพึงฆ่า.
               บทว่า เอวํ โข คหปติ อาตุรกาโย เจว โหติ อาตุรจิตฺโต จ ความว่า ขึ้นชื่อว่ากาย แม้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ย่อมกระสับกระส่ายเหมือนกัน ส่วนจิตซึ่งคล้อยตามราคะ โทสะและโมหะ ก็ชื่อว่ากระสับกระส่าย จิตนั้นท่านแสดงไว้ในที่นี้แล้ว.
               บทว่า น จ อาตุโร ความว่า ในที่นี้ท่านแสดงถึงความที่จิตสงัดไม่กระสับกระส่าย เพราะปราศจากกิเลส.
               ดังนั้นในพระสูตรนี้พึงทราบว่า ท่านแสดงถึงโลกิยมหาชนว่า มีกายกระสับกระส่ายและมีจิตกระสับกระส่าย พระขีณาสพพึงทราบว่า มีกายกระสับกระส่าย มีจิตไม่กระสับกระส่าย พระเสขะ ๗ จำพวกมีกายกระสับกระส่าย มีจิตกระสับกระส่ายก็ไม่ใช่ มีจิตไม่กระสับกระส่ายก็ไม่เชิง แต่เมื่อจะคบ ย่อมคบแต่ผู้ที่มีจิตไม่กระสับกระส่ายเท่านั้นแล.

               จบอรรถกถานกุลปิตุสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ นกุลปิตวรรคที่ ๑ นกุลปิตาสูตร ว่าด้วยกายเปรียบด้วยฟองไข่ จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 17 / 6อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=1&Z=105
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6017
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6017
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :