ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 678อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 19 / 685อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อัมพปาลีวรรคที่ ๑
๒. สติสูตร

               อรรถกถาสติสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในสติสูตรที่ ๒
               บทว่า สโต ได้แก่ ถึงพร้อมแล้วด้วยสติตามเห็นกายเป็นต้น.
               บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ สัมปชัญญะ ๔.
               ในบทว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต นี้ การเดินไป ท่านกล่าวว่า ก้าวไปข้างหน้า. การกลับท่านกล่าวว่า ถอยกลับ. แม้ทั้งสองอย่างนั้นย่อมได้ในอิริยาบถ ๔.
               ในการเดินไป เมื่อนำกายไปข้างหน้าก่อน ชื่อว่าย่อมก้าวไปข้างหน้า. เมื่อกลับ ชื่อว่าย่อมถอยกลับ. แม้ในการยืน ผู้ยืนน้อมกายไปข้างหน้า ก็ชื่อว่าย่อมก้าวไปข้างหน้า. เมื่อน้อมกายไปข้างหลัง ย่อมชื่อว่าถอยกลับ. แม้ในการนั่ง ผู้นั่งหันอวัยวะอันมีในเบื้องหน้าของอาสนะ โน้มไปอยู่ ชื่อว่าย่อมก้าวไปข้างหน้า. การยืดอวัยวะอันมีในเบื้องหลัง เอนไปในเบื้องหลัง ชื่อว่าย่อมถอยกลับ.
               แม้ในการนอนก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า สมฺปชานการี โหติ ได้แก่ กระทำกิจทั้งหมดด้วยความรู้ตัว หรือทำความรู้ตัวเท่านั้น. จริงอยู่ เขาย่อมทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น. ในที่ไหนๆ ไม่เว้นการรู้ตัว.
               ในบทว่า สมฺปชานการี นั้น สัมปชัญญะมี ๔ อย่าง คือ
                         สาตถกสัมปชัญญะ ๑
                         สัปปายสัมปชัญญะ
                         โคจรสัมปชัญญะ
                         อสัมโมหสัมปชัญญะ ๑.
               ในสัมปชัญญะ ๔ นั้น เมื่อจิตคิดจะก้าวไปข้างหน้าเกิดขึ้น การไม่ไปตามอำนาจจิต กำหนดถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ว่า การที่เราจะไปในที่นี้จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไรหนอ แล้วยึดถือแต่ประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ.
               อนึ่ง ความเจริญโดยธรรมด้วยสามารถการเห็นพระเจดีย์ การเห็นที่ตรัสรู้ การเห็นพระสงฆ์ การเห็นพระเถระและการเห็นอสุภะเป็นต้น ท่านกล่าวว่าประโยชน์ในข้อนั้น.
               บุคคลแม้เห็นพระเจดีย์ก็ให้เกิดปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ มีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ ด้วยการเห็นพระสงฆ์ พิจารณาถึงสิ่งนั้นนั่นแลโดยความสิ้นไป ย่อมบรรลุพระอรหัตได้. ภิกษุสามหมื่นรูปยืนอยู่ที่ประตูด้านทักษิณในมหาวิหาร แลดูมหาเจดีย์ ได้บรรลุพระอรหัต. ที่ประตูด้านปัจฉิม ด้านอุดร ด้านปราจีนก็เหมือนกัน. ในบาลี ท่านอภยวาสีได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่ตั้งปะรำเพื่อถามปัญหา. ท่านอนุราชวาสีได้บรรลุพระอรหัต ณ ประตูด้านทักษิณแห่งนครใกล้ประตูถูปาราม.
               ก็พระเถระผู้กล่าวมหาอริยวงศ์กล่าวว่า พวกท่านพูดอะไร ควรจะพูดว่า ในที่ที่ปรากฏ ตั้งแต่ส่วนล่างของที่บูชาโดยรอบมหาเจดีย์ เท้าทั้งสองสามารถจะให้ประดิษฐานเสมอกันได้ในที่ใดๆ ภิกษุทุกๆ สามหมื่นรูปได้บรรลุพระอรหัตในการยกเท้าข้างหนึ่งขึ้น ในที่นั้นๆ.
               แต่พระมหาเถระอีกรูปหนี่งกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายมากกว่าทรายที่กระจัดกระจายอยู่ ณ พื้นมหาเจดีย์ ได้บรรลุพระอรหัต. บุคคลเห็นพระเถระแล้วตั้งอยู่ในโอวาทของท่านเห็นอสุภะยังปฐมฌานให้เกิดในอสุภะนั้น พิจารณาอสุภะนั้นนั่นแลโดยความสิ้นไป ย่อมบรรลุพระอรหัต. เพราะฉะนั้น การเห็นสิ่งเหล่านี้จึงมีประโยชน์.
               ก็อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความเจริญแม้โดยอามิส ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน เพราะอาศัยอามิสนั้น ปฏิบัติเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์.
               ก็ในการเดินนั้น การกำหนดสิ่งที่สบายและไม่สบายแล้วถือเอาสิ่งที่สบาย เป็นสัปปายสัมปชัญญะ เช่นการเห็นพระเจดีย์ มีประโยชน์ถึงเพียงนั้น. หากว่า ชุมชนประชุมกันในระหว่าง ๑๒๐ โยชน์เพื่อมหาบูชาพระเจดีย์. สตรีบ้าง บุรุษบ้างตกแต่งประดับตามสมควรแก่สมบัติของตน พากันเที่ยวไปเหมือนรูปจิตรกรรม.
               ก็ในเรื่องนั้น ความโลภในอารมณ์ที่น่าใคร่ ความแค้นในอารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ความหลงด้วยการไม่สมหวัง ย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น. ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติอันเป็นกายสังสัคคะ และเป็นอันตรายต่อชีวิตพรหมจรรย์. ฐานะนั้นย่อมเป็นฐานะอันไม่สบายด้วยประการฉะนี้.
               ฐานะเป็นที่สบายในเพราะความไม่มีอันตรายมีประการดังกล่าวแล้ว. แม้การเห็นพระสงฆ์ก็มีประโยชน์. ก็หากว่า เมื่อมนุษย์สร้างมหามณฑลภายในบ้านแล้วฟังธรรมตลอดคืนยังรุ่ง การชุมนุมชนและอันตราย ย่อมมีโดยประการดังกล่าวแล้วนั่นแล. ที่นั้นเป็นที่ไม่สบายด้วยประการฉะนี้. เป็นที่สบายในเพราะความไม่มีอันตราย แม้ในการเห็นพระเถระซึ่งมีบริษัทมากเป็นบริวาร ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แม้การเห็นอสุภะก็มีประโยชน์. ก็เรื่องนี้เพื่อแสดงประโยชน์ของการเห็นอสุภะนั้น.
               มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพาสามเณรไปเพื่อต้องการไม้สีฟัน. สามเณรหลีกจากทางเดินไปข้างหน้า เห็นอสุภะจึงยังปฐมฌานให้เกิด กระทำปฐมฌานนั้นให้เป็นบาท พิจารณาสังขาร กระทำให้แจ้งซึ่งผลสาม ได้ยืนกำหนดพระกัมมัฏฐานเพื่อต้องการมรรคเบื้องบน.
               ภิกษุหนุ่ม เมื่อไม่เห็นสามเณรนั้น จึงเรียกสามเณร. สามเณรคิดว่า ตั้งแต่วันที่เราบวช ไม่เคยพูดกับภิกษุถึงสองคำเลย เราจักยังคุณวิเศษเบื้องบนให้เกิดในวันแม้อื่น จึงขานรับว่า อะไร ขอรับท่านผู้เจริญ. ภิกษุนั้นกล่าวว่า เธอจงกลับมา.
               สามเณรจึงกลับด้วยคำพูดคำเดียวแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านจงไปตามทางนี้ก่อน ในขณะที่ผมยืนอยู่ จงมองหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสักครู่หนึ่ง. ภิกษุกระทำอย่างนั้น ได้บรรลุคุณวิเศษอันถึงแล้วด้วยอสุภะนั้น.
               อสุภะหนึ่งเกิดเพื่อประโยชน์ของชนทั้งสองด้วยประการฉะนี้. ก็อสุภะนี้แม้มีประโยชน์อย่างนี้.
               อสุภะของมาตุคามไม่เป็นที่สบายของบุรุษ อสุภะของบุรุษมีส่วนเป็นที่สบายของมาตุคาม เพราะฉะนั้น การกำหนดสิ่งที่เป็นที่สบายอย่างนี้ ชื่อว่าสัปปายสัมปชัญญะ.
               ก็การเรียนธรรมเป็นโคจรกล่าวคือกรรมฐานในความชอบใจของจิตของตนในกรรมฐาน ๓๘ แห่งสิ่งที่เป็นสบายอันมีประโยชน์ที่ตนกำหนดแล้วอย่างนี้ แล้วถือเอาโคจรนั้นในภิกขาจารโคจรไป ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ.
               เพื่อให้เรื่องนั้นแจ่มแจ้ง พึงทราบภิกษุ ๔ ประเภทนี้.
               ภิกษุบางพวกในธรรมวินัยนี้ นำไปไม่นำกลับ บางพวกนำกลับไม่นำไป แต่บางพวกทั้งไม่นำไปทั้งไม่นำกลับ บางพวกทั้งนำไปทั้งนำกลับ.
               ในภิกษุ ๔ จำพวกนั้น ภิกษุใดชำระจิตให้หมดจดจากธรรมเครื่องกังวลด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ตลอดปฐมยามแห่งราตรีก็อย่างนั้น สำเร็จการนอนในมัชฌิมยาม แม้ในปัจฉิมยามก็ให้ผ่านไปด้วยการนั่งและจงกรม ตอนเช้าตรู่กวาดลานเจดีย์และลานโพธิ์ รดน้ำที่ต้นโพธิ์ ตั้งของดื่มของบริโภคปฏิบัติอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเป็นต้น.
               ภิกษุนั้นชำระร่างกายแล้ว เข้าไปสู่เสนาสนะนั่งขัดสมาธิ ๒-๓ ครั้ง ให้ถือเอาซึ่งไออุ่น ประกอบกรรมฐาน ลุกขึ้นในเวลาภิกขาจาร ถือบาตรและจีวรโดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน ออกจากเสนาสนะมนสิการกรรมฐาน ไปลานเจดีย์. หากพุทธานุสสติกรรมฐานมี ไม่สละกรรมฐานนั้น เข้าไปสู่ลานเจดีย์ หากกรรมฐานอื่นมี เว้นกรรมฐานนั้น ดุจยืนอยู่ที่เชิงบันได วางภัณฑะที่ถือไว้ ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ขึ้นสู่ลานเจดีย์ หากเจดีย์ใหญ่พึงกระทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วพึงไหว้ในที่ ๔ แห่ง หากเจดีย์เล็กพึงกระทำประทักษิณอย่างนั้นแล้วไหว้ในที่ ๘ แห่ง.
               ครั้นไหว้เจดีย์แล้ว แม้ไปถึงลานโพธิ์ ควรแสดงความเคารพ ไหว้โพธิ์ ดุจอยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุนั้น ครั้นไหว้เจดีย์และโพธิ์อย่างนี้แล้ว ยึดกรรมฐานที่เก็บไว้ ดุจคนไปยังที่ที่เก็บของไว้ ถือเอาภัณฑะที่วางไว้ ห่มจีวร โดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน ในที่ใกล้บ้าน เข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน.
               ครั้งนั้น พวกมนุษย์เห็นภิกษุนั้น จึงพากันต้อนรับว่า พระคุณเจ้าของพวกเรามาแล้ว จึงรับบาตรนิมนต์ให้นั่งบนอาสนศาลา (หอฉัน) หรือบนเรือน ถวายข้าวยาคู ล้างเท้า ทาเท้า นั่งข้างหน้า จะถามปัญหาหรือประสงค์จะฟังธรรม ตลอดเวลาที่ภัตรยังไม่เสร็จ.
               พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า แม้หากว่า พวกมนุษย์ไม่ถาม ภิกษุก็ควรแสดงธรรมเพื่อสงเคราะห์ชน.
               จริงอยู่ ธรรมกถาชื่อว่าจะพ้นจากกรรมฐาน ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นกล่าวธรรมโดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน ฉันอาหารโดยหัวข้อแห่งกรรมฐาน กระทำอนุโมทนา แม้พวกมนุษย์พากันกลับ ก็ตามไปส่ง ครั้นออกจากบ้านแล้วให้พวกมนุษย์กลับในที่นั้น เดินไปสู่ทาง.
               ครั้งนั้น สามเณรและภิกษุหนุ่มฉันเสร็จแล้ว ภายนอกบ้านออกไปก่อน เห็นภิกษุนั้น จึงพากันต้อนรับ รับบาตรและจีวรของท่าน.
               นัยว่า พวกภิกษุเก่าๆ มองดูหน้าด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ไม่ใช่อุปัชฌาย์อาจารย์ของเราแล้ว กระทำการปรนนิบัติ กระทำโดยกำหนดประจวบเข้าเท่านั้น.
               พวกภิกษุถามภิกษุนั้นว่า ท่านขอรับ พวกมนุษย์เหล่านี้เป็นอะไรกับท่าน มีความสัมพันธ์กันทางฝ่ายมารดาหรือฝ่ายบิดา.
               ภิกษุนั้นถามว่า พวกท่านเห็นอะไร จึงพากันถาม.
               พวกภิกษุกล่าวว่า พวกมนุษย์เหล่านั้นเป็นอันมากรักนับถือท่าน.
               ภิกษุกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกมนุษย์เหล่านี้กระทำกรรมที่แม้มารดาบิดาก็กระทำได้ยากแก่เรา แม้บาตรและจีวรของเราก็เป็นของพวกเขา เราไม่รู้ภัยในภัย ไม่รู้ความหิวในความหิว ด้วยอำนาจของพวกเขา พวกมนุษย์เช่นนี้มิได้มีอุปการะแก่เราเลย.
               ภิกษุนั้น เมื่อกล่าวถึงคุณของพวกมนุษย์เหล่านั้นจึงไป นี้ท่านกล่าวว่านำไปไม่นำกลับ.
               เมื่อภิกษุใดกระทำประการดังที่กล่าวแล้วในก่อน ไฟเกิดแต่กรรมลุกโพลง ปล่อยสังขารไม่มีใจครอง ถือเอาสังขารที่มีใจครอง เหงื่อไหลจากสรีระ. ไม่ขึ้นสู่ทางแห่งกรรมฐาน. ภิกษุนั้นถือบาตรจีวรแต่เช้าตรู่ รีบไปไหว้พระเจดีย์ ในเวลาออกไปหาอาหาร เข้าไปบ้านเพื่อหาข้าวยาคู ได้ข้าวยาคูแล้วไปอาสนศาลาแล้วดื่ม.
               ลำดับนั้น โดยเพียงกลืนเข้าไป ๒-๓ ครั้ง ไฟเกิดแต่กรรมของภิกษุนั้น ปล่อยสังขารมีใจครอง ถือเอาสังขารไม่มีใจครอง. ภิกษุนั้นถึงการดับความเร่าร้อนแห่งธาตุไฟ ดุจอาบน้ำด้วยหม้อน้ำร้อยหม้อ ฉันข้าวยาคู โดยยึดหลักกรรมฐาน ล้างบาตรและปาก มนสิการกรรมฐานในระหว่างภัตร เที่ยวไปบิณฑบาตในที่ที่เหลือ ฉันอาหารโดยยึดหลักกรรมฐาน ตั้งแต่นั้นจึงถือเอากรรมฐานปรากฏเหมือนลูกศรแล่นไปไม่ขาดสายแล้วมา. นี้ท่านกล่าวว่า นำมาไม่นำไป. [นำกลับไม่นำไป]
               อนึ่ง ภิกษุเช่นนี้ดื่มข้าวยาคูแล้วปรารภวิปัสสนา ชื่อว่าบรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนา เหลือที่จะนับได้ ภิกษุทั้งหลายดื่มข้าวยาคูแล้วไม่บรรลุพระอรหัต ไม่มีในอาสนะใด อาสนะนั้นไม่มีในอาสนศาลาในหมู่บ้านนั้นๆ ในเกาะสีหล.
               ก็ภิกษุใดอยู่ด้วยความประมาท ทอดธุระ ทำลายวัตรทั้งหมด มีจิตผูกไว้ด้วยเครื่องมัดจิต ๕ อย่างอยู่ ไม่ทำสัญญาว่า ชื่อว่ากรรมฐานมีอยู่ดังนี้ เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เกี่ยวเกาะด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร ทั้งเที่ยวด้วยกันกินด้วยกัน เป็นผู้ออกไปว่างเปล่า. นี้ท่านกล่าวว่า ไม่นำไปไม่นำกลับ.
               ก็ภิกษุใด ท่านกล่าวว่า ผู้นี้ทั้งนำออกทั้งนำกลับนั้น พึงทราบด้วยอำนาจวัตรอันเป็นไปแล้วด้วยการไปและการกลับ.
               จริงอยู่ กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ บวชในศาสนาอยู่ร่วมกัน ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้าง กระทำข้อตกลงกันอยู่ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านบวชเพราะเป็นหนี้ก็หามิได้ เพราะกลัวก็หามิได้ เพราะเลี้ยงชีพก็หามิได้ ใคร่จะพ้นจากทุกข์ จึงบวชในธรรมวินัยนี้. เพราะฉะนั้น ในการเดินไปจงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอนจงข่มกิเลสที่เกิดขึ้น ในการยืน ฯลฯ ในการนอน.
               ภิกษุเหล่านั้นกระทำข้อตกลงกันอย่างนี้แล้ว จึงไปหาอาหาร ในระหว่างกึ่งอุสภะ อุสภะหนึ่ง กึ่งคาวุต คาวุตหนึ่ง มีแผ่นหินอยู่ มนสิการกรรมฐานด้วยสัญญานั้นไป หากกิเลสเกิดขึ้นในการไปของใครๆ ย่อมข่มกิเลสนั้น ในที่นั้น เมื่อไม่สามารถยืนอยู่อย่างนั้น ถัดมา แม้มาหลังภิกษุนั้นก็ยืนอยู่. ภิกษุนี้นั้นรู้วิตกอันเกิดแก่ท่าน เตือนตนว่า นี้ไม่สมควรแก่ท่านแล้วเจริญวิปัสสนา ก้าวลงสู่อริยภูมิ ณ ที่นั้นเทียว. ข้อว่า เมื่อไม่สามารถนั่งอยู่อย่างนั้น มีนัยนี้เหมือนกัน แม้เมื่อไม่สามารถก้าวลงสู่อริยภูมิได้ ก็ข่มกิเลสนั้น มนสิการกรรมฐานไป. ภิกษุมีจิตปราศจากกรรมฐาน ย่อมยกเท้าขึ้นไม่ได้ หากยกขึ้นได้กลับไปกลับมาแล้วก็มาสู่ประเทศเดิม.
               เหมือนท่านมหาปุสสเทวเถระผู้อยู่ในอาลินทกะ ฉะนั้น.
               ได้ยินว่า พระเถระนั้น บำเพ็ญวัตรอันเป็นไปในการไปและการกลับอยู่ตลอด ๑๙ ปี. แม้พวกมนุษย์ก็ได้เห็นพระเถระนั้นในระหว่างทางนั่นเอง พวกเขาทั้งสงัดอยู่ ทั้งเหยียบย่ำอยู่ กระทำการงาน เห็นพระเถระไปมาอยู่อย่างนั้น จึงสนทนากันว่า พระเถระนี้กลับไปมาบ่อยๆ ท่านหลงไปมากหรือหนอ หรือว่า ลืมอะไรๆ ไว้.
               พระเถระไม่สนใจเรื่องนั้น กระทำสมณธรรมด้วยจิตประกอบด้วยกรรมฐาน บรรลุพระอรหัตในภายใน ๒๐ ปี
               ก็ในวันที่ท่านบรรลุพระอรหัต เหล่าเทพซึ่งสิงอยู่ท้ายจงกรมของท่านได้ยังประทีปให้รุ่งเรืองด้วยองคุลียืนอยู่. ท้าวมหาราชแม้ทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวสหัมบดีพรหม ก็พากันไปอุปัฏฐาก.
               ท่านมหาติสสเถระผู้อยู่ในป่าเห็นแสงสว่างนั้น จึงถามพระเถระในวันที่สองว่า ในตอนกลางคืนได้มีแสงสว่างในสำนักของท่าน แสงสว่างนั้นเป็นอะไร. พระเถระเมื่อจะทำให้สับสน จึงกล่าวคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมดาแสงสว่างมีแสงสว่างแห่งประทีปบ้าง แสงสว่างแห่งแก้วมณีบ้างดังนี้. แต่นั้น พระมหาติสสเถระถูกพระเถระกำชับว่า ขอท่านจงปกปิดไว้. รับแล้วบอกว่า ขอรับ.
               เหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาลวัลลีมณฑป.
               มีเรื่องเล่าว่า แม้พระเถระนั้นก็บำเพ็ญวัตรอันเป็นไปในการไปและการกลับ ได้อธิษฐานการจงกรมด้วยการยืนตลอด ๗ ปีว่า เราจักบูชาความเพียรใหญ่ครั้งแรกแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน. พระเถระบำเพ็ญวัตรอันเป็นไปในการไปและการกลับตลอด ๑๖ ปี ต่อไปได้บรรลุพระอรหัตแล้ว. พระเถระมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานยกเท้าขึ้น เมื่อจิตปราศจากกรรมฐานไม่ยกขึ้น จะกลับไปอีก ได้ไปใกล้บ้าน ยืนอยู่ในประเทศที่น่าสงสัยว่า เป็นแม่โคหรือบรรพชิตหนอดังนี้ จึงห่มจีวร ล้างบาตรด้วยน้ำจากแอ่งน้ำ แล้วอมน้ำเต็มปาก.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะเมื่อมนุษย์มาเพื่อให้ภิกษาแก่เราหรือเพื่อไหว้เรา ความฟุ้งซ่านของกรรมฐานอย่ามีด้วยเหตุคำพูดว่า ขอท่านทั้งหลายจงมีอายุยืนดังนี้. พระเถระเมื่อถูกถามถึงวันว่า ท่านขอรับ วันนี้วันที่เท่าไร หรือจำนวนภิกษุ หรือปัญหา กลืนน้ำก่อนแล้วจึงบอก. หากไม่มีผู้ถามถึงวันเป็นต้น ในเวลาออกไป ไม่ลุกไปที่ประตูบ้าน.
               เหมือนภิกษุ ๕๐ รูปเข้าจำพรรษาในกลัมพติตถวิหาร.
               มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุเหล่านั้น ในวันเพ็ญเดือน ๘ ได้ทำข้อตกลงกันว่า เรายังไม่บรรลุอรหัตจักไม่พูดกัน เมื่อเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต อมน้ำฟายมือหนึ่งแล้วจึงเข้าไป เมื่อถูกเขาถามถึงวันเป็นต้นก็ปฏิบัติตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พวกมนุษย์ในบ้านนั้นเห็นรอยเท้าหายไปรู้ว่า วันนี้มารูปเดียว วันนี้มา ๒ รูป. ก็พวกมนุษย์พากันคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่สนทนากับเราเท่านั้นหรือ หรือแม้กะกันและกันด้วย ผิว่า ไม่สนทนากะกันและกัน จักเกิดทะเลาะกันเป็นแน่ พวกท่านจงมา เราจักให้ภิกษุเหล่านั้นขอขมากันและกัน.
               ทั้งหมดพากันไปวิหาร บรรดาภิกษุ ๕๐ รูป ไม่ได้เห็นแม้สองรูปอยู่ในโอกาสเดียวกัน. แต่นั้นบรรดามนุษย์เหล่านั้น ชายที่มีตาดีกล่าวว่า ผู้เจริญทั้งหลาย โอกาสของผู้ทำการทะเลาะกันไม่เป็นเช่นนี้ ท่านกวาดลานเจดีย์ ลานโพธิ์สะอาด เก็บไม้กวาดไว้เป็นระเบียบตั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ไว้เรียบร้อย. จากนั้นพวกมนุษย์ก็พากันกลับ.
               แม้ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุพระอรหัตภายใน ๓ เดือนนั่นเอง ในวันมหาปวารณาต่างปวารณาวิสุทธิปวารณา.
               ภิกษุมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานดุจพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาลวัลลีมณฑป และดุจภิกษุเข้าจำพรรษาในกลัมพติตถวิหาร ยกเท้าขึ้น ถึงที่ใกล้บ้าน อมน้ำเต็มปาก กำหนดถนน เดินไปสู่ถนนที่ไม่มีคนทะเลาะกันมีนักเลงสุราและนักเลงการพนันเป็นต้น หรือช้างดุม้าดุเป็นต้น. เที่ยวไปบิณฑบาตในที่นั้น ไม่รีบไปเหมือนรีบด่วน เพราะว่า ธรรมดาธุดงค์อันเป็นไปเพื่อบิณฑบาตเร่งรีบอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มี. เป็นผู้ไม่หวั่นไหวไป ดุจเกวียนบรรทุกน้ำที่ถึงพื้นที่ไม่เรียบฉะนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่เรือนตามลำดับ รอเวลาอันสมควรนั้นเพื่อสังเกตผู้ประสงค์จะให้หรือประสงค์จะไม่ให้ รับภิกษาแล้วมาสู่วิหารในภายในบ้านหรือในภายนอกบ้าน นั่งในโอกาสอันสมควรตามสบาย มนสิการกรรมฐาน ตั้งปฏิกูลสัญญาในอาหาร พิจารณาโดยอุปมาเหมือนน้ำมันหยอดเพลา ยาทาแผลและเนื้อบุตร ให้นำมาซึ่งอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง ฯลฯ ฉันน้ำแล้ว ระงับความกระวนกระวายเพราะอาหารสักครู่ แล้วมนสิการกรรมฐานตลอดยามต้นและยามหลัง ภายหลังอาหารเหมือนก่อนอาหาร ฉะนั้น. นี้ท่านกล่าวว่า ทั้งนำไปทั้งนำกลับ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ภิกษุบำเพ็ญวัตรอันเป็นไปในการไปและการกลับ กล่าวคือการนำไปและการนำกลับนี้ ผิว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยย่อมบรรลุพระอรหัตในปฐมวัยนั่นเอง หากยังไม่บรรลุในปฐมวัย ย่อมบรรลุในมัชฌิมวัยต่อไป หากไม่บรรลุในมัชฌิมวัย ต่อไปก็จะบรรลุในปัจฉิมวัย ถ้าหากในปัจฉิมวัยไม่บรรลุ ย่อมบรรลุในมรณสมัยต่อไป หากไม่บรรลุในมรณสมัย เป็นเทพบุตรย่อมบรรลุต่อไป หากเป็นเทพบุตรยังไม่บรรลุ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ เกิดแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิ หากยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิได้ ต่อไปก็จะเป็นผู้ตรัสรู้เร็ว เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนพระพาหิยทารุจิริยะ. หรือเป็นะผู้มีปัญญามากเหมือนพระสารีบุตรเถระ. หรือเป็นผู้มีฤทธิ์มากเหมือนพระโมคคัลลานเถระ. หรือเป็นผู้กล่าวกำจัดกิเลสเหมือนพระมหากัสสปเถระ. หรือเป็นผู้มีจักษุทิพย์เหมือนพระอนุรุทธเถระ. หรือเป็นผู้ทรงวินัยเหมือนพระอุบาลีเถระ. หรือเป็นธรรมกถึกเหมือนพระปุณณมันตานีบุตรเถระ. หรือเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรเหมือนพระเรวตเถระ. หรือเป็นผู้พหูสูตเหมือนพระอานนทเถระ. หรือเป็นผู้ใคร่การศึกษาเหมือนพระราหุลเถระพุทธโอรส.
               โคจรสัมปชัญญะของภิกษุชื่อว่า ทั้งนำไป ทั้งนำกลับใน ๔ หมวดนี้ เป็นอันสำเร็จการศึกษาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ก็การไม่หลงลืมในอิริยาบถมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ชื่อว่าอสัมโมหสัมชัญญะ.
               อสัมโมหสัมปชัญญะนั้นพึงทราบดังต่อไปนี้.
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวไปข้างหน้าหรือถอยกลับ เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราไม่หลงอยู่ก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุอันมีจิตเป็นสมุฏฐาน กับด้วยจิตนั้นให้เกิดความไหวเกิดขึ้น โครงกระดูกอันสมมติว่ากายนี้ ย่อมก้าวไปข้างหน้าด้วยอำนาจการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิตด้วยประการฉะนี้ เหมือนพวกคนเขลาย่อมหลงไปว่า ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ตนก้าวไป การก้าวไปอันตนทำให้เกิด หรือเราก้าวไป การก้าวไปอันเราทำให้เกิดฉะนั้น.
               เมื่อภิกษุนั้นก้าวไปข้างหน้าอย่างนี้ ในขณะยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งๆ ธาตุทั้งสอง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุมีเล็กน้อย ธาตุทั้งสองนอกนี้มีประมาณยิ่งมีกำลัง. ในการนำเท้าไปยิ่งและการนำเท้าไปล่วงวิเศษก็อย่างนั้น. ในการลดเท้าลง เตโชธาตุ วาโยธาตุมีเล็กน้อย ธาตุทั้งสองนอกนี้มีประมาณยิ่งมีกำลัง.
               ในการวางเท้าและการกดเท้าก็อย่างนั้น. รูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายอันเป็นไปแล้วในการยกขึ้นนั้น ย่อมไม่ถึงการนำเท้าไปยิ่ง รูปธรรม อรูปธรรมอันเป็นไปแล้ว ในการนำเท้าไปยิ่ง ก็อย่างนั้น ย่อมไม่ถึงการนำเท้าไปล่วงวิเศษ รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้วในการนำเท้าไปล่วงวิเศษ ย่อมไม่ถึงการลดเท้า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้ว ในการลดเท้าย่อมไม่ถึงการวาง รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้ว ในการวางย่อมไม่ถึงการกดเท้า. รูปธรรมและอรูปธรรมเป็นข้อๆ ข้อต่อๆ และส่วนๆ ในที่นั้นๆ มีเสียงดัง ตฏะ ตฏะ แตกทำลายไปเหมือนงาที่เขาใส่ลงไปในกระเบื้องร้อน ในข้อนั้น ใครคนหนึ่งก้าวไปข้างหน้า หรือการก้าวไปข้างหน้าของใครคนหนึ่งมีหรือ.
               ในการเหยียบและการยัน รูปธรรมและอรูปธรรมที่ใช้ในการยก (เท้า) ขึ้นนั้นก็เป็นเช่นนั้น ไม่ถึงการย่างเท้าไปที่ที่ใช้ในการย่างเท้าไปก็ทำนองเดียวกัน ไม่ถึงการสืบเท้าไปที่ใช้ในการสืบเท้าไปก็ไม่ถึงการเหวี่ยง (เท้า) ออกไป ที่ใช้ในการเหวี่ยง (เท้า) ออกไปก็ไม่ถึงการเหยียบ ที่ใช้ในการเหยียบก็ไม่ถึงการยัน. ข้อทุกข้อ (และ) ที่ต่อทุกแห่งเป็นไปตามระบบในที่นั้นๆ นั่นแหละ จะลั่นเปาะแปะๆ เหมือนเมล็ดงาที่โยนลงในกะทะที่ร้อน. ในเรื่องนั้นจะมีใครคนหนึ่งก้าวไป หรือจะมีการก้าวไปของใครคนหนึ่งเล่า.
               จริงอยู่ โดยปรมัตถ์ ธาตุนั่นแหละยืน ธาตุนั่นแหละนั่ง ธาตุนั่นแหละนอน.
               ด้วยว่า
                         จิตอื่นเกิดขึ้น จิตอื่นดับพร้อมกับรูปในส่วนนั้นๆ
                         ย่อมเป็นไป ดุจกระแสน้ำติดตามคลื่นไหลไป
                         ด้วยประการฉะนี้.

               การไม่หลงในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นอย่างนี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ.
               จบความแห่งบทว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต สมฺปชานการี โหติ เพียงเท่านี้.

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อัมพปาลีวรรคที่ ๑ ๒. สติสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 678อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 19 / 685อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=3882&Z=3899
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5487
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5487
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :