บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
เหมือนอย่างว่า ลูกชายเศรษฐี ๔ คน ในเมื่อกลุ่มเพื่อนซึ่งมีพระราชาธิราชเป็นที่ ๕ หยั่งลงสู่ถนน ด้วยคิดว่า พวกเราจะเล่นงานนักษัตรฤกษ์ เวลาไปถึงเรือนลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง นอกนี้ ๔ คนก็นั่งนิ่ง. เจ้าของเรือนเท่านั้นที่ได้เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้. ครั้นเวลาไปถึงเรือนคนที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ อีก ๔ คนนอกนี้ก็นั่งนิ่ง. เจ้าของเรือนเท่านั้นที่ได้เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่ออินทรีย์ที่มีศรัทธาเป็นที่ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นในอารมณ์อันเดียวกันเหมือนเมื่อพวกเพื่อนเหล่านั้น หยั่งลงสู่ถนนไปด้วยกัน เมื่อไปถึงโสดาปัตติยังค์ (ส่วนประกอบแห่งการถึงกระแส) สัทธินทรีย์ซึ่งมีการน้อมลงเชื่อเป็นลักษณะเท่านั้น ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสัทธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนของคนแรก อีก ๔ คนนั่งนิ่ง. วิริยินทรีย์ซึ่งมีความประคับประคองมีลักษณะเท่านั้นที่มาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามวิริยินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๒ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น ครั้นมาถึงสติปัฏฐาน. สตินทรีย์ซึ่งมีการเข้าไปปรากฏเป็นลักษณะเท่านั้นที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสตินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๓ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงานฉะนั้น. ครั้นถึงเรื่องฌานและวิโมกข์ สมาธินทรีย์ที่มีลักษณะไม่ซัดส่ายเท่านั้นเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสมาธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๔ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงานฉะนั้น. แต่ท้ายสุดเมื่อถึงอริยสัจ ปัญญินทรีย์ที่มีลักษณะรู้ชัดเท่านั้น ย่อมเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามปัญญินทรีย์นั้น เหมือนเวลาไปถึงพระราชวัง ๔ คนนอกนี้ นั่งนิ่ง พระราชาเท่านั้นย่อมทรงเที่ยวสั่งงานในพระตำหนักฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้ จบอรรถกถาทัฏฐัพพสูตรที่ ๘ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อินทริยสังยุตต์ สุทธิกวรรคที่ ๑ ๘. ทัฏฐัพพสูตร จบ. |