ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๑

               เอตทัคควรรคที่ ๔               
               ๑. วรรคที่ ๑               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ในสูตรที่ ๑ ของวรรคที่ ๑ ในเอตทัคควรรค พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เอตทคฺคํ ตัดบทเป็น เอตํ อคฺคํ.
               ก็อัคคศัพท์นี้ ในบทว่า เอตทคฺคํ นั้นปรากฏในอรรถว่า เบื้องต้น ปลาย ส่วน และประเสริฐที่สุด.
               อัคคศัพท์ปรากฏในอรรถว่า เบื้องต้น ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตู สำหรับพวกนิครนถ์ชายหญิง.
               มาในอรรถว่าปลาย ในประโยคมีอาทิว่า บุคคลพึงเอาปลายนิ้วมือนั้นนั่นแล แตะต้องปลายนิ้วมือนั้น, ปลายอ้อย ปลายไม้ไผ่.
               มาในอรรถว่าส่วน ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแบ่งส่วนเปรี้ยว ส่วนอร่อย หรือส่วนขม, ตามส่วนแห่งวิหาร หรือตามส่วนแห่งบริเวณ.
               มาในอรรถว่าประเสริฐสุด ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ไม่มีเท้าก็ตาม ฯลฯ พระตถาคตปรากฏว่าประเสริฐสุดกว่าสัตว์เหล่านั้น.
               ในที่นี้ อัคคศัพท์นี้ย่อมใช้ได้ ทั้งในอรรถว่าปลาย ทั้งในอรรถว่าประเสริฐสุด.
               จริงอยู่ พระเถระเหล่านั้นชื่อว่าอัคคะ เพราะเป็นที่สุดบ้าง เพราะประเสริฐสุดบ้าง ในตำแหน่งอันประเสริฐสุดของตนๆ เพราะฉะนั้น อรรถในบทว่า เอตทคฺคํ นี้ มีดังนี้ว่า นี้เป็นที่สุด นี้ประเสริฐสุด.
               แม้ในสูตรทั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ธรรมดาการแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะนี้ ย่อมได้โดยเหตุ ๔ ประการ คือ โดยเหตุเกิดเรื่อง โดยการมาก่อน โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ.
               ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูปย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุทั้ง ๔ อย่างหมดทีเดียว เหมือนท่านพระสารีบุตรเถระ.
               จริงอยู่ ท่านพระสารีบุตรเถระนั้นได้ตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะเป็นผู้มีปัญญามาก โดยเหตุเกิดเรื่องบ้าง โดยเหตุการมาก่อนบ้าง.
               อย่างไร?
               สมัยหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ปราบพวกเดียรถีย์ ณ โคนต้นคัณฑามพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว เข้าจำพรรษา ณ ที่ไหนหนอ ทรงทราบว่า ณ ภพดาวดึงส์ ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ ๒ รอย รอยที่ ๓ ประทับไว้ ณ ดาวดึงส์.
               ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ เสด็จไปต้อนรับพร้อมด้วยหมู่เทพดา. เทวดาทั้งหลายคิดกันว่า ท้าวสักกเทวราชแวดล้อมไปด้วยหมู่เทพ ประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ยาว ๖๐ โยชน์ เสวยมหาสมบัติ. จำเดิมแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับนั่งแล้วคนอื่นไม่สามารถ จะวางแม้แต่มือลง ณ พระแท่นนี้ได้
               ฝ่ายพระศาสดาประทับนั่ง ณ ที่นั้นแล้ว ทรงทราบวาระจิตของทวยเทพเหล่านั้นแล้ว ประทับนั่งล้นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์หมดเลย เหมือนท่านผู้ทรงผ้าบังสุกุลผืนใหญ่ นั่งล้นตั่งน้อยฉะนั้น.
               แต่ใครๆ ไม่ควรกำหนดว่า พระศาสดา เมื่อประทับนั่งอย่างนี้ ทรงนิรมิตพระสรีระของพระองค์ให้ใหญ่ หรือทรงทำบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ให้เล็ก. ด้วยว่าพุทธวิสัยเป็นอจินไตย (ใครๆ ไม่ควรคิด) ก็พระองค์ประทับนั่งอย่างนี้แล้ว กระทำพระมารดาให้เป็นกายสักขีประจักษ์พยาน เริ่มทรงแสดงอภิธรรมปิฎกมีอาทิว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม โปรดทวยเทพในหมื่นจักรวาล.
               แม้ในที่ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ บริษัททั้งหมดประมาณ ๑๒ โยชน์เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ถามว่า ท่านผู้เจริญ พระทสพลประทับอยู่ ณ ที่ไหน?
               พระอนุรุทธะตอบว่า พระทสพลเข้าจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในภพดาวดึงส์ เริ่มแสดงอภิธรรมปิฎก. บริษัทถามว่า ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าไม่เห็นพระศาสดา ก็จักไม่กลับไป ท่านทั้งหลายจงรู้เวลาที่พระศาสดาเสด็จมาว่า เมื่อไรพระศาสดาจักเสด็จมา.
               พระอนุรุทธะกล่าวว่า พวกท่านจงไว้หน้าที่แก่พระมหาโมคคัลลานเถระเถิด ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว จักนำข่าวมา. บริษัทถามว่า ก็กำลังของพระเถระที่จะไปในที่นั้นไม่มีหรือ? พระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้ว่า มีอยู่ แต่ขอบริษัทจงดูคุณวิเศษเถิด.
               มหาชนเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ อ้อนวอนขอให้ท่านรับข่าวของพระศาสดาเสด็จมา. เมื่อมหาชนกำลังเห็นอยู่นั่นแหละ พระเถระก็ดำลงในมหาปฐพีไปภายในเขาสิเนรุ ถวายบังคมพระศาสดาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาชนประสงค์จะเฝ้าพระองค์ อยากจะทราบวันที่พระองค์จะเสด็จมา.
               พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงบอกว่า ท่านทั้งหลายจะเห็นที่ประตูเมืองสังกัสสะ.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงแสดงธรรม ๗ คัมภีร์ แล้วทรงแสดงอาการเพื่อเสด็จกลับมนุษยโลก. ท้าวสักกเทวราชตรัสเรียกวิสสกัมมเทพบุตรมา มีเทวโองการสั่งให้นิรมิตบันได เพื่อพระตถาคตเสด็จลง วิสสุกัมมเทพบุตรเนรมิตบันไดทองข้างหนึ่ง บันไดเงินข้างหนึ่ง แล้วเนรมิตบันไดแก้วมณีไว้ตรงกลาง.
               พระศาสดาประทับยืนบนบันไดแก้วมณี ทรงอธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเรา ทรงอธิษฐานด้วยอานุภาพของพระองค์ว่า ขอมหาชนจงเห็นอเวจีมหานรก และทรงทราบว่า มหาชนเกิดความสลดใจ เพราะเห็นนรก จึงทรงแสดงเทวโลก.
               ลำดับนั้น เมื่อพระองค์เสด็จลง ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกเทวราชทรงรับบาตร ท้าวสุยามเทวราชพัดด้วยวาลวีชนีอันเป็นทิพย์ ปัญจสิขคันธัพพเทพบุตรบรรเลงพิณสีเหลืองดังผลมะตูมให้เคลิบเคลิ้มด้วยมุจฉนาเสียงประสาน ๕๐ ถ้วนลงนำเสด็จ.
               ในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับยืนบนแผ่นดิน มหาชนอธิษฐานว่า ข้าฯ จักถวายบังคมก่อนๆ พร้อมด้วยการเหยียบมหาปฐพีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งมหาชน ทั้งพระอสีติมหาสาวก ไม่ทันได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน.
               พระธรรมเสนาบดี สารีบุตรเถระเท่านั้นทันถวายบังคม. ตั้งแต่นี้ล่วงไป ๓ เดือน. พระเถระนำข่าวของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาบอกแก่มหาชน. มหาชนตั้งค่ายอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ๓ เดือน. ท่านจุลลอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายข้าวยาคูและภัต แก่บริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ตลอด ๓ เดือน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเริ่มปุถุชนปัญจกปัญหา (ปัญหามีปุถุชนเป็นที่ ๕) ในระหว่างบริษัท ๑๒ โยชน์ ด้วยพระพุทธประสงค์ว่า มหาชนจงรู้อานุภาพปัญญาของพระเถระ.
               ครั้งแรกตรัสถามปุถุชนด้วยพุทธประสงค์ว่า โลกิยมหาชนจักกำหนดได้. ชนเหล่าใดๆ กำหนดได้ ชนเหล่านั้นๆ ก็ตอบได้.
               ครั้งที่ ๒ ตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรค ล่วงวิสัยปุถุชน. ปุถุชนทั้งหลายก็นิ่ง พระโสดาบันเท่านั้นตอบได้. ลำดับนั้นจึงตรัสถามปัญหาในสกทาคามิมรรค ล่วงวิสัยพระโสดาบัน.พระโสดาบันก็นิ่ง พระสกทาคามิบุคคลเท่านั้นตอบได้. ตรัสถามปัญหาในอนาคามิมรรค ล่วงวิสัยแม้ของพระสกทาคามิบุคคลเหล่านั้น พระสกทาคามิบุคคลก็นิ่งพระอนาคามิบุคคลเท่านั้นตอบได้. ตรัสถามปัญหาในอรหัตมรรค ล่วงวิสัยของพระอนาคามิบุคคลแม้เหล่านั้น พระอนาคามีก็นิ่ง พระอรหันต์เท่านั้นตอบได้.
               ตั้งแต่เงื่อนปัญหาเบื้องต่ำกว่านั้นตรัสถามพระสาวกผู้รู้ยิ่ง พระสาวกเหล่านั้นตั้งอยู่ในวิสัยแห่งปฏิสัมภิทาของตนๆ ก็ตอบได้. ลำดับนั้นจึงตรัสถามพระมหาโมคคัลลานเถระ. พระสาวกนอกนั้นก็นิ่งเสีย พระเถระเท่านั้นตอบได้. ทรงล่วงวิสัยของพระเถระแม้นั้น ตรัสถามปัญหาในวิสัยของพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะก็นิ่งเสียพระสารีบุตรเถระเท่านั้นตอบได้. ทรงล่วงวิสัยแม้ของพระเถระ ตรัสถามปัญหาในพุทธวิสัย พระธรรมเสนาบดีแม้นึกอยู่ ก็ไม่สามารถจะเห็น มองดูไปรอบๆ คือ ทิศใหญ่ ๔ คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้และทิศน้อยทั้ง ๔ ก็ไม่สามารถจะกำหนดฐานที่เกิดปัญหาได้.
               พระศาสดาทรงทราบว่า พระเถระลำบากใจ จึงทรงดำริว่า สารีบุตรลำบากใจ จำเราจักแสดงแนวทางแก่เธอ จึงตรัสว่า เธอจงรอก่อนสารีบุตร แล้วตรัสบอกว่าปัญหานั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า ด้วยพระดำรัสว่า ปัญหานี้มิใช่วิสัยของเธอ เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้มียศ แล้วตรัสว่า สารีบุตรเธอจงเห็นภูตกายนี้.
               พระเถระรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกการกำหนดกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ แล้วทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์รู้แล้ว ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้าพระองค์รู้แล้ว.
               เกิดการสนทนากันขึ้นในที่นี้ดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าพระสารีบุตร มีปัญญามากหนอ ตอบปัญหาที่คนทั้งปวงไม่รู้ และตั้งอยู่ในนัยที่พระพุทธเจ้าประทานแล้ว ตอบปัญหาในพุทธวิสัยได้ ดังนั้น ปัญญานุภาพของพระเถระจึงขจรไปท่วมฐานะทั้งปวง เท่าที่กิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้าขจรไป.
               พระเถระได้ตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะมีปัญญามาก โดยอัตถุปปัตติ (เหตุเกิดเรื่อง) ด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               ได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยการมาก่อนอย่างไร? โดยนัยแห่งอัตถุปปัตตินี้นี่แหละ พระศาสดาตรัสว่า สารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาแต่ในปัจจุบันนี้เท่านั้นหามิได้ ในอดีตกาล แม้เธอบวชเป็นฤาษี ๕๐๐ ชาติก็ได้เป็นผู้มีปัญญามากเหมือนกัน.
                         สาวกรูปใด ละกามที่น่ารื่นรมย์ใจแล้ว บวชถึง
                         ๕๐๐ ชาติ ท่านทั้งหลายจงไหว้สาวกรูปนั้น ผู้
                         ปราศจากราคะ ผู้มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ดับ
                         สนิทแล้ว คือสารีบุตร.
               ท่านเพิ่มพูนการบวชอย่างนี้ สมัยหนึ่งบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กรุงพาราณสี เรียนไตรเพท ไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น จึงเกิดความคิดขึ้นว่า ควรที่เราจะบวชแสวงหาโมกขธรรมสักอย่างหนึ่ง.
               สมัยนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ผู้มหาศาล เจริญวัยแล้วเรียนศิลปะ เห็นโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในเนกขัมมะ ละการครองเรือน เข้าป่าหิมพานต์ กระทำบริกรรมกสิณ ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด มีผลหมากรากไม้ในป่าเป็นอาหาร ใกล้หิมวันตประเทศ.
               แม้มาณพนั้นก็บวชแล้วในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้นนั่นแล. ท่านมีบริวารมาก มีฤาษีประมาณ ๕๐๐ เป็นบริวาร. ลำดับนั้น หัวหน้าอันเตวาสิกของท่านได้พาบริษัทส่วนหนึ่ง ไปยังถิ่นมนุษย์เพื่อเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ได้ทำกาละ (ตาย) ณ หิมวันตประเทศนั้นนั่นเอง. ในเวลาจะทำกาละ อันเตวาสิกทั้งหลายประชุมกันถามว่า คุณวิเศษอะไร ที่ท่านบรรลุมีอยู่หรือ. พระโพธิสัตว์ตอบว่า อะไรๆ ไม่มี. เป็นผู้ไม่เสื่อมฌานบังเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสร.
               ท่านได้อากิญจัญญายตนสมาบัติก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ธรรมดาว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายไม่ปฏิสนธิในอรูปาวจรภูมิ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเป็นฐานะอันไม่ควร. ดังนั้น ท่านถึงแม้ได้อรูปสมาบัติก็บังเกิดในรูปาวจรภูมิ.
               ฝ่ายอันเตวาสิกของท่านไม่กระทำสักการะและสัมมานะอะไรๆ ด้วยคิดว่า อาจารย์กล่าวว่า อะไรๆ ไม่มี การกระทำกาลกิริยาของท่านเป็นโมฆะเปล่าคุณ.
               ลำดับนั้น หัวหน้าอันเตวาสิกรูปนั้น เมื่อล่วงพรรษาแล้ว จึงกลับมาแล้วถามว่า อาจารย์ไปไหน? อันเตวาสิกทั้งหลายตอบว่า ทำกาละเสียแล้ว. ท่านถามว่า พวกท่านถามถึงคุณที่อาจารย์ได้บ้างหรือ? อันเตวาสิกตอบว่า ขอรับ พวกกระผมถามแล้ว. หัวหน้าอันเตวาสิกถามว่า ท่านพูดว่ากระไร? พวกอันเตวาสิกตอบว่า อาจารย์กล่าวว่า อะไรๆ ไม่มี แม้พวกกระผมก็คิดว่า ชื่อว่าคุณที่อาจารย์ได้แล้ว ย่อมไม่มี จึงไม่กระทำสักการะและสัมมานะแก่ท่าน.
               หัวหน้าอันเตวาสิกกล่าวว่า พวกท่านไม่รู้ความของภาษิต ท่านอาจารย์ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ. อันเตวาสิกเหล่านั้นก็ไม่เชื่อคำของหัวหน้าอันเตวาสิก. หัวหน้าอันเตวาสิกแม้พูดอยู่บ่อยๆ ก็ไม่อาจให้พวกอันเตวาสิกเชื่อได้.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์รำพึงถึงอยู่คิดว่า มหาชนผู้บอดเขลาย่อมไม่เชื่อคำของหัวหน้าอันเตวาสิกของเรา จำเราจักกระทำเหตุนี้ให้ปรากฏ ดังนี้แล้วลงจากพรหมโลก ยืนอยู่ท้ายอาศรมทั้งที่อยู่ในอากาศนั่นแล พรรณนาอานุภาพแห่งปัญญาของหัวหน้าอันเตวาสิก ได้กล่าวคาถานี้ว่า
                                   ปโรสหสฺสํปิ สมาคตานํ
                                   กนฺเทยฺยํ เต วสฺสสตํ อปญญา
                                   เอโกว เสยฺโย ปุริโส สปญฺโญ
                                   โย ภาสิตสฺส วิชานามิ อตฺกํ

                         คนแม้เกินกว่า ๑๐๐๐ คนประชุมกัน ผู้ที่ไม่มีปัญญา
                         พึงคร่ำครวญอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี บุคคลผู้รู้แจ้งความ
                         หมายของภาษิต เป็นผู้มีปัญญาคนเดียวเท่านั้น
                         ประเสริฐกว่า (คนตั้ง ๑๐๐๐ คน).

               พระโพธิสัตว์ทำให้หมู่ฤาษีเข้าใจอย่างนี้แล้ว กลับไปพรหมโลก. แม้หมู่ฤาษีที่เหลือไม่เสื่อมฌานทำกาละแล้ว มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น พระโพธิสัตว์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ หัวหน้าอันเตวาสิกเป็นพระสารีบุตร ฤาษีที่เหลือเป็นพุทธบริษัท.
               แม้ในอดีตกาล ก็พึงทราบว่าพระสารีบุตรมีปัญญามาก สามารถรู้อรรถของภาษิตที่ตรัสไว้อย่างสังเขป โดยพิสดารได้ด้วยประการฉะนี้
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำปุถุชนปัญจกปัญหา ให้เป็นเหตุเกิดเรื่องแล้ว ตรัสชาดกนี้ว่า
                         ถ้าแม้คนเกิน ๑๐๐ คนประชุมกัน คนเหล่านั้นไม่ปัญญา
                         พึงเพ่งพินิจอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ผู้รู้อรรถของภาษิต ผู้มีปัญญา
                         คนเดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า.

               เนื้อความของชาดกนั้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในชาดกก่อนนั่นแล.
               ทรงกระทำปุถุชนปัญจกปัญหานี้แลอีกข้อหนึ่งให้เป็นเหตุเกิดเรื่องแล้ว ทรงแสดงอนังคณชาดกนี้ว่า
                         ทั้งคนมีสัญญาก็ทุคคตะ ทั้งคนไม่มีสัญญาก็ทุคคตะ
                         สุขในสมาบัตินั้นไม่มีเครื่องยียวน ย่อมมีได้แก่เหล่า
                         ชนผู้เว้นคน ๒ พวกนั้น.

               ก็ในชาดกนี้ อาจารย์เมื่อจะทำกาละ ถูกอันเตวาสิกทั้งหลายถาม จึงกล่าวว่า เนวสัญญีนาสัญญี (ผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่).
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ทรงกระทำปุถุชชนปัญจกปัญหาอื่นอีกให้เป็นอัตถุปปัตติแล้วตรัสจันทาภชาดกนี้ว่า
                         จนฺทาภํ สุริยาภญฺจ    โยธ ปญฺญาย คาธติ
                         อวิตกฺเกน ฌาเนน    โหติ อาภสฺสรูปโคติ
                         ในโลกนี้ ผู้ใดหยั่งลงสู่แสงจันทร์และแสงอาทิตย์ด้วยปัญญา
                         ผู้นั้นย่อมเข้าถึงอาภัสสรพรหมโลก ด้วยฌานอันไม่มีวิตก.

               ในชาดกนี้ อาจารย์เมื่อจะทำกาละ ถูกอันเตวาสิกถาม จึงกล่าวว่า จนฺทาภํ สุริยาภํ หมายเอาว่า ผู้ใดหยั่งลง เข้าไป แล่นไปสู่กสิณทั้ง ๒ นั้นคือ โอทาตกสิน ชื่อว่าจันทาภะ ปิตกสิณ ชื่อว่าสุริยาภะ แม้ผู้นั้นก็เข้าถึงอาภัสสรพรหมด้วยทุติยฌาน อันไม่มีวิตก เราก็เป็นเช่นนั้น.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ทรงกระทำปุถุชชนปัญจกปัญหานี้แลให้เป็นอัตถุปัตติ จึงตรัสสรภชาดก ในเตรสนิบาตนี้ว่า
                                   เป็นบุรุษพึงหวังอยู่ร่ำไป เป็นบัณฑิตไม่พึง
                         เหนื่อยหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า ปรารถนาอย่างใด
                         ก็ได้เป็นอย่างนั้น เป็นบุรุษพึงพยายามร่ำไป
                         เป็นบัณฑิตไม่พึงเหนื่อยหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า
                         ได้รับความช่วยเหลือให้ขึ้นจากน้ำสู่บกได้ นรชน
                         ผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ควรตัดความหวัง
                         ในอันจะมาสู่ความสุข ด้วยว่าผัสสะทั้งที่ไม่เกื้อกูล
                         และเกื้อกูลมีมาก คนที่ไม่ใฝ่ฝันถึงก็ต้องเข้าทาง
                         แห่งความตาย.
                                   แม้สิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ก็มีได้ แม้สิ่งที่คิดไว้ก็หาย
                         ไปได้ โภคะทั้งหลายของสตรีหรือบุรุษ สำเร็จได้
                         ด้วยความคิดนึกหามีไม่ เมื่อก่อนพระองค์เสด็จติด
                         ตามกวางตัวใด ไปติดที่ซอกเขา พระองค์ทรงพระ
                         ชนม์สืบมาได้ด้วยอาศัยความบากบั่นของกวางตัว
                         นั้นผู้มีจิตไม่ท้อแท้.
                                   กวางตัวใดพยายามเอาหินถมเหว ช่วยพระองค์
                         ขึ้นจากเหวลึกที่ขึ้นได้ยาก ปลดเปลื้องพระองค์ผู้เข้าถึง
                         ทุกข์ออกจากปากมฤตยู พระองค์กำลังตรัสถึงกวางตัว
                         นั้นผู้มีจิตไม่ท้อแท้.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ คราวนั้น ท่านอยู่ที่นั้นด้วยหรือ
                         หรือว่าใครบอกเรื่องนี้แก่ท่าน ท่านเป็นผู้เปิดเผยข้อที่
                         เคลือบคลุม เห็นเรื่องทั้งหมดละสิหนอ ความรู้ของท่าน
                         แก่กล้าหรือหนอ.
                                   ข้าแต่พระธีรราชผู้เป็นจอมชน คราวนั้น ข้าพระ
                         องค์หาได้อยู่ในที่นั้นไม่ และใครก็มิได้บอกแก่ข้าพระ
                         องค์ แต่ว่านักปราชญ์ทั้งหลายย่อมนำเนื้อความแห่ง
                         บทคาถาที่พระองค์ทรงภาษิตไว้ดีแล้ว มาใคร่ครวญดู.
               ก็ชาดกทั้ง ๕ นี้ พระศาสดาตรัสไว้เพื่อประกาศอานุภาพแห่งปัญญาของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเท่านั้นว่า แม้ในอดีต บุตรของเราก็รู้อรรถแห่งธรรมที่เรากล่าวแต่สังเขปโดยพิสดารได้ เพราะฉะนั้น พระเถระได้ตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะความที่ตนมีปัญญามาก แม้โดยการมาก่อน ด้วยประการอย่างนี้.
               โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญอย่างไร?
               ได้ยินว่า ข้อนั้นเป็นความช่ำชองของพระเถระ. พระเถระเมื่อแสดงธรรมท่ามกลางบริษัท ๔ ย่อมแสดงไม่พ้นสัจจะ ๔ เพราะฉะนั้นพระเถระได้เอตทัคคะ เพราะเป็นผู้มีปัญญามาก แม้โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ด้วยประการฉะนี้.
               โดยยิ่งด้วยคุณอย่างไร?
               จริงอยู่ เว้นพระทสพลเสีย คนอื่นใครเล่าแม้เป็นสาวกเอกที่จะเสมอเหมือนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ย่อมไม่มี เพราะท่านเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะฉะนั้น พระเถระได้ตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะมีปัญญามาก แม้โดยยิ่งด้วยคุณ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แม้พระมหาโมคคัลลานะก็เหมือนพระสารีบุตรเถระ ได้ตำแหน่งเอตทัคคะด้วยเหตุแม้ ๔ ประการนี้ทั้งหมด.
               ได้อย่างไร?
               ก็พระเถระมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรมานนาคราช เช่นนันโทปนันทนาคราช เพราะฉะนั้น พระเถระย่อมได้โดยอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องอย่างนี้ เป็นอันดับแรก.
               ก็พระเถระนี้มิใช่เป็นผู้มีฤทธิ์มาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง ๕๐๐ ชาติแล.
                         สาวกใด ละกามทั้งหลาย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ
                         บวช ๕๐๐ ชาติ ท่านทั้งหลายจงไหว้พระสาวก
                         นั้น ผู้ปราศจากราคะ ผู้มีอินทรีย์ตั้งมั่นแล้ว ดับ
                         สนิทแล้ว คือโมคคัลลานะ แล.
               ก็ท่านได้แม้โดยการมาก่อนอย่างนี้.
               ก็ข้อนั้นเป็นความช่ำชองของพระเถระ.
               พระเถระไปนรก อธิษฐานความเย็น เพื่อให้เกิดความเบาใจแก่สัตว์ทั้งหลายในนรก ด้วยกำลังฤทธิ์ของตนแล้ว เนรมิตดอกปทุมขนาดเท่าล้อ นั่ง ณ กลีบปทุม แสดงธรรมกถา. ท่านไปเทวโลก ทำทวยเทพให้รู้คติแห่งกรรม แล้วแสดงสัจจกถา. เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญอย่างนี้.
               ได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างไร?
               เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสาวกอื่น ใครเล่าย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระเถระได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้.
               แม้พระมหากัสสปเถระก็ได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุทั้งหมดนี้ เหมือนพระมหาโมคคัลลานะนี้.
               ได้อย่างไร?
               ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำการต้อนรับพระเถระสิ้นระยะทางประมาณ ๓ คาวุต ทรงให้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ทรงเปลี่ยนจีวรประทานให้.
               ในสมัยนั้น มหาปฐพีไหวถึงน้ำรองแผ่นดิน เกียรติคุณของพระเถระก็ขจรท่วมไประหว่างมหาชน. ท่านได้โดยอัตถุปปัตติ
                         สาวกใด ละกามทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์ใจ บวช ๕๐๐
                         ชาติ ขอท่านทั้งหลายจงไหว้สาวกนั้นผู้ปราศจากราคะ
                         ผู้มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ดับสนิท คือกัสสปะแล.
               ท่านได้โดยการมาอย่างนี้.
               ความจริง ข้อนั้นเป็นความช่ำชองของพระเถระ. ท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงไม่ละเว้นกถาวัตถุ ๑๐ เลย เพราะฉะนั้น พระเถระได้โดยเป็นผู้ช่ำชองอย่างนี้.
               เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นใครเล่าผู้เสมอ เหมือนพระมหากัสสปะด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้น พระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้.
               ควรประกาศคุณของพระเถระทั้งหลายนั้นๆ ตามที่ได้โดยทำนองนี้.
               จริงอยู่ เมื่อว่าด้วยอำนาจคุณนั่นแล พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงเสวยสิริราชสมบัติ ในห้องจักรวาล ด้วยอานุภาพแห่งจักรรัตนะ หาได้ทรงขวนขวายน้อยว่า สิ่งที่ควรบรรลุเราก็บรรลุแล้ว บัดนี้จะต้องการอะไรด้วยมหาชนที่เราดูแลอยู่แล้ว จึงเสวยแต่เฉพาะสิริราชสมบัติเท่านั้นไม่ แต่ทรงประทับนั่งในโรงศาลตามกาลอันสมควร ทรงข่มบุคคลที่ควรข่ม ทรงยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง ทรงตั้งไว้ในฐานันดรทั้งหลาย เฉพาะฐานันดรที่ควรแต่งตั้งเท่านั้นฉันใด
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เป็นพระธรรมราชาผู้บรรลุความเป็นพระราชา เพราะธรรมโดยลำดับ ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณที่พระองค์ทรงบรรลุ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน ไม่ทรงขวนขวายน้อยว่า บัดนี้จะต้องการอะไรด้วยชาวโลกที่เราจะต้องตรวจดู เราจักเสวยสุขในผลสมาบัติอันยอดเยี่ยม ยังประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาบรรจงจัดไว้ท่ามกลางบริษัท ๔. ทรงเปล่งพระสุรเสียงดังเสียงพรหม อันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้วทรงแสดงธรรม.
               ทรงข่มบุคคลผู้มีธรรมฝ่ายดำ ผู้ควรข่มด้วยการขู่ด้วยภัยในอบาย เหมือนทรงโยนไปในเหวแห่งขุนเขาสิเนรุ. ทรงยกย่องบุคคลผู้มีธรรมอันดี ผู้ควรยกย่อง เหมือนยกขึ้นให้นั่งในภวัคคพรหม. ทรงตั้งพระสาวกมีพระอัญญาโกณฑัญญเถระเป็นต้นผู้ควรตั้งไว้ในฐานันดรทั้งหลายให้ดำรงในฐานันดรทั้งหลายด้วยอำนาจคุณ พร้อมด้วยกิจคือหน้าที่ตามความเป็นจริงนั่นแล จึงตรัสคำมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้รัตตัญญู รู้ราตรีนาน อัญญาโกณฑัญญะเป็นเลิศ ดังนี้.
               เอตทคฺคปทวณฺณนา นิฏฺฐิตา ฯ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=628&Z=643
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :