ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ประวัติพระวังคีสเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๔ (เรื่องพระวังคีสะ) ดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า ปฏิภาณวนฺตานํ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พระวังคีสะเถระเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณสมบูรณ์.
               ได้ยินว่า พระเถระนี้ เมื่อเข้าไปเฝ้าพระทศพลตั้งแต่คลองแห่งจักษุ ก็กล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดาอุปมากับพระจันทร์ อุปมากับพระอาทิตย์ กับอากาศ กับมหาสมุทร กับพระยาช้าง กับพระยามฤคสีหะ หลายร้อยหลายพันบท จึงเข้าเฝ้า เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวความตามลำดับดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระแม้รูปนี้ถือปฏิสนธิในครอบครัวที่มีโภคสมบัติมาก ในกรุงหงสวดี ไปวิหารฟังธรรมโดยนัยก่อนนั่นแล เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ จึงกระทำกุศลกรรมแด่พระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล แม้ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ เป็นผู้อันพระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว กระทำกุศลจนตลอดชีพเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็มาบังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ กรุงสาวัตถี ญาติทั้งหลายขนานนามว่า วังคีสมาณพ.
               ท่านเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท ทำให้อาจารย์ชอบใจแล้ว ศึกษามนต์ชื่อว่า ฉวสีสมนต์ มนต์รู้ศีรษะคน เอาเล็บเคาะหัวศพแล้วก็รู้ว่า สัตว์นี้บังเกิดในกำเนิดชื่อโน้นๆ. พราหมณ์ทั้งหลายทราบว่า มนต์นี้เป็นทางสำหรับเราเลี้ยงชีพ จึงให้วังคีสมาณพนั่งในรถที่ปกปิดแล้วไปยังคามนิคมและราชธานีทั้งหลาย หยุดที่ประตูเมืองหรือประตูนิคม ทราบว่ามหาชนมาชุมกันแล้วแล้ว ก็พูดว่า ผู้ใดเห็นวังคีสะผู้นั้นจะได้ทรัพย์ หรือได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์ ดังนี้.
               ชนเป็นอันมากฟังถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้นแล้วให้สินจ้าง ต้องการจะดู.
               พระราชาและอำมาตย์ของพระราชาไปยังสำนักของพราหมณ์เหล่านั้นถามว่า คุณวิเศษคือการรู้ของอาจารย์เป็นอย่างไร. ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือ ชื่อว่าบัณฑิตอื่นที่จะเหมือนกับอาจารย์ของพวกเราไม่มีในชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้บุคคลนำศีรษะของคนแม้ตายไปแล้ว ๓ ปี เอาเล็บเคาะก็รู้ว่า สัตว์นี้ไปเกิดในที่โน้น.
               ฝ่ายวังคีสะเพื่อจะตัดความสงสัยของมหาชนจึงให้นำชนเหล่านั้นมาแล้วให้บอกคติของตนๆ อาศัยเหตุนั้นได้ทรัพย์จากมือของมหาชน ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง.
               พวกพราหมณ์พาวังคีสะมาณพเที่ยวไปตามชอบใจแล้ว ก็มาถึงกรุงสาวัตถีอีก วังคีสะอยู่ในที่ไม่ไกลเชตวันมหาวิหาร คิดว่าคนทั้งหลายพูดกันว่าพระสมณโคดมเป็นบัณฑิต ก็แต่ว่าเราไม่ควรจะเที่ยวไปกระทำตามคำของพราหมณ์เหล่านี้อย่างเดียวทุกเวลา เราควรไปสำนักของบัณฑิตทั้งหลายบ้าง. วังคีสมาณพนั้นกล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงไปเถิด. เราจะไม่ไป [เราจะไป] เฝ้าพระสมณโคดมกับใครเป็นอันมาก.
               พราหมณ์เหล่านั้นบอกว่า วังคีสะท่านอย่าชอบใจเฝ้าพระสมณโคดมเลย เพราะคนใดเห็นพระสมณะนั้น พระสมณะนั้นก็จะกลับใจบุคคลนั้นด้วยมายากล.
               วังคีสะไม่เชื่อถือถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น ไปเฝ้าพระศาสดา กระทำปฏิสัณฐานด้วยคำอันไพเราะ นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระศาสดาถามเธอว่า วังคีสะ เธอรู้ศิลปอะไร.
               วังคีสะทูลตอบว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ฉวสีสมนต์.
               พระศาสดาตรัสถามว่า มนต์นั้นทำอะไร.
               วังคีสะทูลว่า ร่ายมนต์นั้นแล้วเอาเล็บเคาะศีรษะของคนแม้ตายไปแล้วถึง ๓ ปี ก็รู้ที่เขาเกิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงแสดงศีรษะของคนที่เกิดในนรกศีรษะหนึ่งแก่วังคีสะนั้น ของคนเกิดในมนุษย์ศีรษะหนึ่ง ของคนเกิดในเทวโลกศีรษะหนึ่ง แสดงศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วศีรษะหนึ่ง.
               วังคีสะนั้นเคาะศีรษะแรกกราบทูลว่าท่านพระโคดม สัตว์นี้ไปสู่นรก.
               พระศาสดาตรัสตอบว่า สาธุ สาธุ ท่านเห็นดีแล้ว แล้วตรัสถามว่า สัตว์นี้ไปไหน วังคีสะ. ไปสู่มนุษยโลก ท่านพระโคดม. สัตว์นี้ละไปไหน วังคีสะทูลว่า สัตว์นี้ไปเทวโลก พระเจ้าข้า.
               เขากราบทูลถึงสถานที่ไปของคนทั้ง ๓ พวกด้วยประการฉะนี้ แต่เมื่อเอาเล็บเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพาน ก็ไม่เห็นทั้งปลายทั้งต้น. ทีนั้น พระศาสดาจึงตรัสถามวังคีสะนั้นว่า ท่านไม่อาจเห็นหรือวังคีสะ. วังคีสะมาณพทูลว่า เห็นซิ ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอสอบสวนดูก่อน แล้วพลิกกลับไปกลับมา.
               วังคีสะจักรู้คติของพระขีณาสพด้วยมนต์ของลัทธิภายนอกได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เหงื่อก็ผุดออกจากหน้าผากของเขา เขาละอายแล้วยืนนิ่ง.
               ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ลำบากหรือวังคีสะ วังคีสะทูลว่า พระเจ้าข้า ท่านโคดม ข้าพระองค์ไม่รู้ที่ไปของสัตว์นี้ ถ้าพระองค์ทราบขอจงตรัสบอกเถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เรารู้แม้ศีรษะนี้ แม้ยิ่งกว่านี้ก็รู้ ดังนี้แล้วได้ภาษิตพระคาถา ๒ คาถานี้ในพระธรรมบทว่า
                         จุตึ โย เวทิ สตฺตานํ     อุปปตฺตึ จ สพฺพโส
                         อสตฺตํ สุคตํ พุทฺธํ        ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ
                         ยสฺส คตึ น ชานนฺติ     เทวา คนฺธพฺพมานุสา
                         ขีณาสวํ อรหนฺตํ         ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณนฺติ.
                                   ผู้ใดรู้จุติและอุปบัติ ของสัตว์ทั้งหลายโดย
                         ประการทั้งปวง เราเรียกผู้นั้น ผู้ไม่ข้องอยู่แล้ว
                         ไปดีแล้ว รู้แล้วว่าเป็นพราหมณ์.
                                   เทพคนธรรพ์และมนุษย์ ไม่ทราบคติของ
                         ผู้ใด เราเรียกผู้นั้น ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้เป็นพระ
                         อรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ ดังนี้.

               แต่นั้น วังคีสะทูลว่า ท่านโคดม ผู้แลกวิชากับวิชาไม่มีความเสื่อม ข้าพระองค์จักถวายมนต์ที่ข้าพระองค์รู้แด่พระองค์ พระองค์ได้โปรดตรัสบอกมนต์นั้นแก่ข้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เราจะไม่แลกมนต์ด้วยมนต์ เราจะให้อย่างเดียวเท่านั้น. วังคีสะทูลว่า ดีละท่านโคดม ขอจงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์เถิด แล้วแสดงความนอบน้อมนั่งกระทำประณมมือแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เมื่อสมัยท่านเรียนมนต์อันมีค่ามาก หรือมนต์อะไรๆ ไม่ต้องมีการอยู่อบรมหรือ
               วังคีสะ ไม่มีดอก ท่านโคดม.
               พระศาสดาตรัสว่า ท่านจะสำคัญว่า มนต์ของเราไม่มีการอบรมหรือ.
               ขึ้นชื่อว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยมนต์ เพราะฉะนั้น วังคีสะนั้นจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ก็จักกระทำข้อกำหนดที่พระองค์ตรัสไว้.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เราเมื่อจะให้มนต์นี้ ย่อมให้แก่ผู้ที่มีเพศเสมอกันกับเรา. วังคีสะกล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าควรกระทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไปเรียนมนต์นี้. วังคีสะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าบวชแล้ว ก็อย่าคิดเลย ข้าพเจ้าเรียนมนต์แล้วจักเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั่วชมพูทวีป เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ท่านทั้งหลายก็จักมีความเจริญด้วย จึงบวชในสำนักพระศาสดาเพื่อเรียนมนต์.
               พระศาสดาตรัสว่า ท่านจงอยู่อบรมเพื่อเรียนมนต์ก่อนแล้วตรัสบอกอาการ ๓๒ สัตว์ผู้มีปัญญาเมื่อสาธยายอาการ ๓๒ อยู่ก็เริ่มตั้งความสิ้นไปและความเสื่อมไปในอาการ ๓๒ นั้น เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต.
               เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว พวกพราหมณ์ทั้งหลายในสำนักของท่านด้วยคิดว่า วังคีสะจะเป็นอย่างไรหนอ เราจักไปเยือนเธอถามว่า ท่านวังคีสะ ท่านเรียนศิลปะในสำนักของพระสมณโคดมแล้วหรือ
               ว. เออ เราเรียนแล้ว.
               พ. ถ้าอย่างนั้น มาเถอะ เราจะไปกัน.
               ว. ท่านจงไปกันเถอะ กิจที่จะไปกับท่านเราทำเสร็จแล้ว.
               พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราบอกท่านไว้ก่อนแล้วเทียวว่า พระสมณโคดมจะทำคนผู้ที่มาหาตนให้กลับใจด้วยมายากล บัดนี้ตัวท่านอยู่ในอำนาจของพระสมณโคดมแล้ว พวกเราจักทำอะไรในสำนักของท่าน ต่างพากันหลีกไปแล้วตามทางที่มานั้นแหละ.
               ฝ่ายพระวังคีสะเถระไปเฝ้าพระทศพลเวลาใดๆ ก็ไปกระทำความสดุดีอย่างหนึ่งในเวลานั้นๆ ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=660&Z=674
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=5351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=5351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :