ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ประวัติพระพาหิยทารุจิริยะ               
               ในสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า ขิปฺปาภิญฺญานํ ท่านแสดงว่า พระทารุจิริยเถระเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว.
               จริงอยู่ พระเถระนี้บรรลุพระอรหัตเมื่อจบพระธรรมเทศนาอย่างย่อ ไม่มีกิจที่จะต้องบริกรรมมรรคผลทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว.
               คนทั้งหลายตั้งชื่อท่านว่าพาหิยะ เพราะท่านเกิดในพาหิยรัฐ. ต่อมาภายหลังท่านนุ่งผ้าทำด้วยไม้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าทารุจิริยะ.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องเล่าตามลำดับดังนี้ :-
               แท้จริง แม้ท่านพาหิยทารุจิริยะนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เกิดในเรือนสกุลในกรุงหงสวดี กำลังฟังธรรมของพระทศพล เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเหล่าเทวดาและมนุษย์ เวลาศาสนาของพระกัสสปทศพลเสื่อมลง ก็กระทำสมณธรรมร่วมกับเหล่าภิกษุที่กล่าวไว้แต่หนหลัง เป็นผู้มีศีลบริบูรณ์ สิ้นชีพแล้วก็บังเกิดในเทวโลก.
               ท่านอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธกาลนี้ ก็บังเกิดในเรือนสกุลในพาหิยรัฐ เจริญวัยก็ครองเรือน ดำริว่าจะทำการค้าขาย จึงขึ้นเรือที่จะพาไปสุวรรณภูมิ ไม่ทันไปถึงถิ่นที่ปรารถนา เรือก็อับปางลงกลางสมุทร.
               มหาชน (ผู้โดยสาร) ก็กลายเป็นเหยื่อของเต่าและปลา. ส่วนพาหิยผู้นี้เกาะขอนไม้ขอนหนึ่งไว้ ๗ วัน จึงขึ้นท่าเรือชื่อสุปปารกะได้รู้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ คิดว่าจะเข้าไปหามนุษย์โดยแบบไม่มีผ้าติดตัว (เปลือย) ไม่สมควร จึงยึดเอาสาหร่ายที่หนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลเอามาพันตัว ถือเอาภาชนะใบหนึ่ง ซึ่งตกอยู่แถวๆ เทวสถาน เขาไปขอภิกษา (อาหาร).
               ผู้คนทั้งหลายเห็นเขาแล้วพากันคิดว่า ถ้าในโลกนี้ยังมีพระอรหันต์อยู่จริง พึงมีด้วยวิธีอย่างนี้ พระผู้เป็นเจ้าไม่รับผ้า เพราะถืออย่างอุกฤษฏ์หรือหนอ หรือจะรับผ้าที่เขาให้ดังนี้ จึงทดลองให้ผ้าทั้งหลายจากทิศต่างๆ.
               เขาคิดว่า ถ้าไม่มาโดยแบบนี้ คนเหล่านี้ก็ไม่พึงเลื่อมใสเรา จำเราจะพูดอย่างใดอย่างหนึ่งหลอกลวงคนเหล่านี้ ทำอุบายเลี้ยงชีพก็สมควร จึงไม่ยอมรับผ้าทั้งหลาย. พวกผู้คนก็เลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป. แม้เขาจะกินอาหารก็ต้องไปเทวสถานที่ไม่ไกล มหาชนก็เดินไปกับเขา บำรุงเทวสถานให้ทาน. เขาคิดว่า คนเหล่านี้เลื่อมใสเพียงการนุ่งสาหร่ายของเรา กระทำสักการะอย่างนี้ เราจะเป็นผู้ทำอุกฤษฏ์ขึ้นไป ก็ควรแก่คนเหล่านี้ ดังนี้แล้ว ก็ถือแผ่นกระดานไม้ที่เบาๆ ถากเสีย คลุมเปลือกไม้ ทำเป็นผ้านุ่งห่มเลี้ยงชีวิตอยู่.
               ครั้งนั้น บรรดาชน ๗ คนที่ทำสมณธรรม ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ชนคนหนึ่งเป็นภิกษุ บังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส สำรวจดูสมบัติพรหมของตน ระลึกถึงสถานที่ชน ๗ คนมา ก็เห็นสถานที่ชน ๗ คนขึ้นเขากระทำสมณธรรม ระลึกถึงสถานที่ชน ๖ คนไปบังเกิด ก็รู้ว่าคนหนึ่งปรินิพพานแล้ว อีก ๕ คนไปบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร ยังระลึกถึงชนทั้ง ๕ คนเป็นครั้งคราว เมื่อระลึกว่า ในเวลานี้เขาอยู่กันที่ไหนหนอ ก็เห็นทารุจิริยะอาศัยท่าเรือสุปปารกะเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวง คิดว่า ฉิบหายแล้วหนอ ทารุจิริยะนี้โง่ กระทำสมณธรรมมาแต่กาลก่อน ไม่ยอมฉันบิณฑบาตที่แม้พระอรหันต์นำมา เพราะเป็นผู้ถือกติกาอุกฤษฏ์ยิ่งนัก มาบัดนี้ ไม่เป็นอรหันต์ก็ปฏิญญาว่าเป็นอรหันต์ เที่ยวลวงโลกเพราะเห็นแก่ท้อง ทั้งไม่รู้ว่าพระทศพลบังเกิดแล้ว จำเราจะไปทำเขาให้สลดใจ แล้วให้เขารู้ว่าพระทศพลบังเกิดแล้ว.
               ในทันใดนั่นเองก็ออกจากพรหมโลก ไปปรากฏตัวต่อหน้าทารุจิริยะ ต่อจากเวลาเที่ยงคืน ที่ท่าเรือสุปปารกะ. เขาเห็นโอภาสสว่างในที่อยู่ของตน จึงออกมาข้างนอก เห็นองค์มหาพรหมประคองอัญชลี ประนมมือถามว่า ท่านเป็นใคร.
               มหาพรหมตอบว่า เราเป็นสหายเก่าของท่าน บรรลุอนาคามิผลบังเกิดในพรหมโลก. แต่ผู้เจริญที่สุดกว่าใครทั้งหมดหมด หัวหน้าของพวกเราบรรลุพระอรหัตปรินิพพานแล้ว พวกท่าน ๕ คนบังเกิดในเทวโลก. เรานั้นเห็นท่านเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงเขาในที่นี้ จึงมาเพื่อทรมาน แล้วจึงกล่าวเหตุนี้ว่า พาหิยะ ท่านยังไม่เป็นอรหันต์ ยังไม่ปฏิบัติถึงอรหัตตมรรค. ท่านก็ไม่มีปฏิปทาที่จะเป็นอรหันต์ หรือปฏิบัติถึงอรหัตตมรรค. ลำดับนั้น มหาพรหมบอกเขาว่า พระศาสดาอุบัติแล้วและประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านจงไปยังสำนักพระศาสดา แล้วส่งเขาไป ตนเองก็กลับพรหมโลก.
               แม้ทารุจิริยะถูกมหาพรหมทำให้สลดใจแล้ว ก็คิดจักแสวงหาทางพ้น จึงเดินทาง ๑๒๐ โยชน์โดยพักคืนเดียว ประจวบพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ละแวกบ้าน หมอบลงแทบมหายุคลบาทพระศาสดา ทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้งว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคตทรงแสดงธรรมโปรดข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงทราบว่า ญาณของพาหิยะแก่กล้าแล้ว ด้วยเหตุเท่านี้ จึงทรงสอนด้วยพระโอวาทนี้ว่า เพราะเหตุนี้แล พาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่ารูปที่เห็นแล้ว จักเป็นเพียงเห็นแล้ว๑- ดังนี้เป็นต้น. เมื่อจบเทศนา แม้พาหิยะนั้นทั้งที่อยู่ระหว่างถนนส่งญาณไปตามกระแสเทศนา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พาหิยะนั้นถึงที่สุดกิจของตนแล้ว ทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้า แสวงหาบาตรจีวร เพราะยังมีบาตรจีวรไม่ครบ กำลังดึงชิ้นผ้าทั้งหลายจากกองขยะ.
____________________________
๑- ขุ. อุ. ๒๕/๔๗-๕๐

               ลำดับนั้น อมนุษย์ผู้มีเวรกันมาแต่ก่อน เข้าสิงร่างของแม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่ง ทำท่านให้เสียชีวิต. พระศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะล้มอยู่ที่กองขยะระหว่างทาง ตรัสบอกเหล่าภิกษุว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ แล้วให้นำไปทำฌาปนกิจ โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้ ณ ทางใหญ่ ๔ แพร่ง.
               จากนั้น เกิดพูดกันกลางสงฆ์ว่า พระตถาคตรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทำฌาปนกิจร่างของพาหิยะ เก็บธาตุมาแล้ว โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้ พาหิยะนั้นกระทำให้แจ้งมรรค อะไรหนอ เขาเป็นสามเณรหรือหนอ. ภิกษุทั้งหลายเกิดจิตคิดกันดังนี้.
               พระศาสดาทรงปรารภถ้อยคำนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ เกิดเรื่อง แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาหิยะเป็นบัณฑิต. ทรงขยายพระธรรมเทศนาไว้ แล้วทรงประกาศว่า พาหิยะนั้นปรินิพพานแล้ว.
               เรื่องที่พูดกันนั้น เกิดขึ้นกลางสงฆ์อีกว่า พระศาสดามิได้ทรงแสดงธรรมมากเลย ตรัสว่า พาหิยะบรรลุพระอรหัต นี่เรื่องอะไรกัน.
               พระศาสดาตรัสว่า ธรรมน้อยหรือมาก ไม่ใช่เหตุ ธรรมนั้นก็เหมือนยาแก้คนที่ดื่มยาพิษ แล้วตรัสคาถาในพระธรรมบทว่า
                         สหสฺสมปิ เจ คาถา อนตฺถปทสญฺหิตา
                         เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ
                         สหสฺสมปิ เจ คาถา      อนตฺถปทสญฺหิตา
                         เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย   ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ
                                   ถ้าคาถา ถึงพันคาถา ที่ประกอบด้วยบท
                         อันไม่เป็นประโยชน์ ก็ประเสริฐสู้คาถาบทเดียว
                         ไม่ได้ ที่ฟังแล้วสงบระงับ.

               จบเทศนา สัตว์แปดหมื่นสี่พันก็พากันดื่มน้ำอมฤต.
               ก็แต่ว่า เรื่องของพระพาหิยะนี้ไม่จำต้องกล่าวไว้พิสดาร เพราะมาในพระสูตรแล้ว.
               แต่ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งกลางสงฆ์ ทรงสถาปนาท่านพาหิยเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็วแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=660&Z=674
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=5351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=5351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :