ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 32อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 42อ่านอรรถกถา 20 / 52อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
ปณิหิตอัจฉวรรคที่ ๕

               อรรถกถาปณิหิตอัจฉวรรค ๕               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๕ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ศัพท์ว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า อุปมา.
               ในอรรถที่ว่าด้วยอุปมานั้น บางแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเอาข้อความประกอบอุปมาเหมือนในวัตถสูตร และในปริฉัตตโกปมสูตรและอัคคิขันโธปมสูตร ในที่บางแห่งทรงแสดงเอาอุปมาประกอบข้อความเหมือนในโลณัมพิลสูตร และเหมือนในสุวัณณการสูตรและสุริโยปมสูตรเป็นต้น แต่ในสาลิสูโกปมสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเอาอุปมาประกอบข้อความจึงตรัสคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาลิสูกํ แปลว่า เดือยแห่งเมล็ดข้าวสาลี แม้ในเดือยแห่งข้าวเหนียวก็นัยนี้เหมือนกัน.
               วา ศัพท์ มีอรรถว่าวิกัปป์ ไม่แน่นอน.
               บทว่า มิจฺฉาปณิหิตํ แปลว่า ตั้งไว้ผิด. อธิบายว่า ไม่ตั้งให้ปลายขึ้นโดยประการที่อาจจะทิ่มเอาได้.
               บทว่า ภิชฺชิสฺสติ ความว่า จักทำลาย คือจักเฉือนผิว.
               บทว่า มิจฺฉาปณิหิเตน จิตฺเตน แปลว่า ด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด. คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะ
               บทว่า อวิชฺชํ ได้แก่ ความไม่รู้อย่างใหญ่ มากด้วยความทึบ เป็นความไม่รู้ในฐานะ ๘.
               บทว่า วิชฺชํ ในคำว่า วิชฺชํ อุปฺปาเทสฺสติ นี้ ได้แก่ ญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า นิพฺพานํ ได้แก่ อมตะ คุณชาติที่ไม่ตายที่ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น ก็โดยเป็นคุณชาตออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัดคือตัณหา.
               บทว่า สจฺฉิกริสฺสติ ได้แก่ กระทำให้ประจักษ์.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สมฺมาปณิหิตํ ความว่า ตั้งไว้ดี เพราะกระทำให้ปลายขึ้นโดยที่สามารถจะทิ่มได้.
               ในบทว่า อกฺกนฺตํ (เหยียบ) นี้ย่อมชื่อว่าเหยียบด้วยเท้าเท่านั้น (ถ้าเป็นมือก็ต้อง) เอามือบีบ. แต่ที่กล่าวว่า "เหยียบ" เหมือนกันก็เนื่องด้วยเป็นศัพท์ที่ใช้กันจนชิน.
               ก็ในสูตรนี้มีอริยโวหารเพียงเท่านี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ถือเอาสิ่งอื่นๆ ที่ใหญ่มีหนามไม้มะลื่นเป็นต้นถือเอาแต่เดือยข้าวสาลี เดือยข้าวเหนียวเท่านั้นซึ่งเป็นของอ่อน ไม่แข็ง.
               แก้ว่า เพื่อแสดงว่า อกุศลกรรมแม้มีจำนวนน้อยก็สามารถฆ่ากุศลกรรมได้. เหมือนอย่างว่า เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวเหนียวที่อ่อนไม่แข็ง หรือหนามของไม้มะลื่นและหนามของไม้มีหนามเป็นต้นอันใหญ่ๆ ก็ตามที
               ในบรรดาหนามเหล่านั้น หนามชนิดใดชนิดหนึ่งที่ตั้งไว้ผิด ไม่สามารถที่จะตำมือหรือเท้า หรือทำให้ห้อเลือด แต่ที่ตั้งไว้ถูกทาง ย่อมสามารถฉันใด กุศลมีจำนวนน้อยไม่ว่าจะเป็นการให้ใบไม้ประมาณกำมือหนึ่ง หรือกุศลใหญ่ๆ เช่นการให้ของเวลามพราหมณ์เป็นต้นก็ตามเถิด ถ้าปรารถนาวัฏฏสมบัติ จิตชื่อว่าตั้งไว้ผิดด้วยอำนาจอิงวัฏฏะ สามารถนำวัฏฏะเท่านั้นมาให้ หาสามารถนำวิวัฏฏะมาให้ไม่ฉันนั้นเหมือนกัน.
               แต่เมื่อบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะอย่างนี้ว่า ขอทานของเรานี้จงนำมาซึ่งความสิ้นอาสวะ ชื่อว่าตั้งไว้ชอบด้วยอำนาจวิวัฏฏะ ย่อมสามารถให้ทั้งพระอรหัตทั้งปัจเจกโพธิฌานทีเดียว.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ปฏิสมฺภิทา วิโมกฺขา จ ยา จ สาวกปารมี
                                   ปจฺเจกโพธิ พุทฺธภูมิ สพฺพเมเตน ลพฺภติ.

                         ปฏิสัมภิทา ๑ วิโมกข์ ๑ สาวกปารมี ๑ ปัจเจกโพธิ ๑
                         พุทธภูมิ ๑ ทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยจิตที่ตั้งไว้ชอบนั้น.

               ก็ในสูตรทั้งสองนี้ ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปทุฎฺฐจิตฺตํ ได้แก่ จิตอันโทสะประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า เจตสา เจโต ปริจฺจ ความว่า กำหนดจิตของเขาด้วยจิตของตน.
               บทว่า ยถาภตํ นิกฺขิตฺโต ความว่า พึงเห็นว่า ตั้งอยู่ในนรกนั่นแล เหมือนถูกนำมาทิ้งไว้คือวางไว้.
               บทว่า อปายํ เป็นต้นทั้งหมดเป็นคำไวพจน์ของนรก.
               จริงอยู่ นรกปราศจากความสุขคือความเจริญ จึงชื่อว่าอบาย. ภูมิเป็นที่ไป คือเป็นที่แล่นไปแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทุคคติ. ชื่อว่าวินิบาต เพราะเป็นที่ที่บุคคลผู้มักทำชั่วตกไป ไร้อำนาจ. ชื่อว่านรก เพราะอรรถว่าไม่มีคุณที่น่ายินดี.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปสนฺนํ ได้แก่ ผ่องใสโดยความผ่องใสด้วยศรัทธา.
               บทว่า สุคตึ ได้แก่ ภูมิเป็นที่ไปแห่งสุข.
               บทว่า สคฺคํ โลกํ ได้แก่ โลกอันเลอเลิศด้วยสมบัติมีรูปสมบัติเป็นต้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุทกรหโท แปลว่า ห้วงน้ำ.
               บทว่า อาวิไล ได้แก่ ไม่ใส.
               บทว่า ลุฬิโต ได้แก่ ไม่สะอาด.
               บทว่า กลลีภูโต แปลว่า มีเปือกตม.
               พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า สิปฺปิสมฺพุกํ เป็นต้นดังต่อไปนี้ :-
               หอยโข่งและหอยกาบ ชื่อว่าสิปปิสัมพุกะ ก้อนกรวดและกระเบื้อง ชื่อว่าสักขรกถละ. ฝูงคือกลุ่มแห่งปลาทั้งหลาย เหตุนั้นจึงชื่อว่ามัจฉคุมพะ ฝูงปลา.
               บทว่า จรนฺตมฺปิ ติฏฺฐมฺปิ นี้มีอธิบายว่า ก้อนกรวดและกระเบื้องหยุดอยู่อย่างเดียว นอกนี้หยุดอยู่ก็มี ว่ายไปก็มี เหมือนอย่างว่า ระหว่างแม่โคที่ยืนอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี โคนอกนั้นก็ถูกเรียกว่าเที่ยวไป เพราะอาศัยโคตัวที่กำลังเที่ยวไปว่า โคเหล่านี้เที่ยวไปอยู่ฉันใด ก้อนกรวดและกระเบื้องทั้งสองแม้นอกนี้ เขาเรียกว่า หยุด เพราะอาศัยก้อนกรวดและกระเบื้องที่หยุด แม้ก้อนกรวดและกระเบื้องที่เขาเรียกว่าว่ายไป ก็เพราะอาศัยฝูงปลาซึ่งกำลังว่ายไปฉันนั้น.
               บทว่า อาวิเลน ได้แก่ ถูกนิวรณ์ ๕ หุ้มห่อไว้.
               ประโยชน์ของตนอันคละกันทั้งที่เป็นโลกิยและโลกุตตระ อันเป็นไปในปัจจุบัน ชื่อว่าประโยชน์ของตน ในคำมีอาทิว่า อตฺตตฺถํ วา. ประโยชน์ของตนที่คละกันทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ในสัมปรายภพ ชื่อว่าประโยชน์ภายหน้า. แม้ประโยชน์ภายหน้า ชื่อว่าปรัตถะ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ของบุคคลอื่น. ประโยชน์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าอุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง ประโยชน์ส่วนโลกิยะและโลกุตตระที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพของตน ชื่อว่าประโยชน์ตน. ประโยชน์เช่นนั้นนั่นแลของผู้อื่น ชื่อว่าประโยชน์ของผู้อื่น. แม้ประโยชน์ทั้ง ๒ นั้นก็ชื่อว่าอุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง ๒.
               บทว่า อุตฺตรึ วา มนุสฺสธมฺมา ได้แก่ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ กล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ.
               จริงอยู่ ธรรม ๑๐ ประการนี้ แม้ไม่มีคนอื่นชักชวน ท่านก็เรียกว่ามนุษยธรรม เพราะเป็นธรรมที่มนุษย์ผู้เกิดความสังเวช สมาทานด้วยตนเองในท้ายแห่งสัตถันตรกัปป์ (กัปป์ที่ฆ่าฟันกันด้วยศาตราวุธ). แต่ฌานและวิปัสสนา มรรคและผล พึงทราบว่า ยิ่งไปกว่ามนุษยธรรมนั้น.
               บทว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสสํ ความว่า คุณวิเสสกล่าวคือญาณทัสสนะ อันควรแก่พระอริยะทั้งหลาย หรือที่สามารถทำให้เป็นอริยะ.
               จริงอยู่ ญาณนั่นแล พึงทราบว่า ญาณเพราะอรรถว่ารู้ ว่าทัสสนะเพราะอรรถว่าเห็น.
               คำว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสสํ นี้เป็นชื่อของทิพพจักขุญาณ วิปัสสนาญาณ มรรคญาณ ผลญาณและปัจจเวกขณญาณ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อจฺโฉ แปลว่า ไม่มีมลทิน. บาลีว่า ปสนฺโน (ใส) ดังนี้ก็ควร.
               บทว่า วิปฺปสนฺโน แปลว่า ใสดี.
               บทว่า อนาวิโล แปลว่า ไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า บริสุทธิ์. ท่านอธิบายไว้ว่า เว้นจากฟองน้ำ สาหร่ายและจอกแหน.
               บทว่า อนาวิเลน ได้แก่ ปราศจากนิวรณ์ ๕.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในสูตรที่ ๔ นั่นแล.
               ในสูตรทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า รุกฺขชาตานํ เป็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถปฐมาวิภัติ. อธิบายว่า รุกฺขชาตานิ ต้นไม้ทั้งหลาย.
               บทว่า รุกฺขชาตานิ นี้เป็นชื่อของต้นไม้ทั้งหลาย.
               บทว่า ยทิทํ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า มุทุตาย ได้แก่ เพราะเป็นไม้อ่อน. ทรงแสดงว่า ต้นไม้บางชนิดเลิศแม้ด้วยสี บางชนิดเลิศด้วยกลิ่น บางชนิดเลิศด้วยรส บางชนิดเลิศด้วยเป็นของแข็ง. ส่วนไม้จันทน์เป็นเลิศคือประเสริฐ เพราะเป็นไม้อ่อนและเหมาะแก่การงาน.
               ในคำว่า จิตฺตํ ภิกฺขเว ภาวิตํ พหุลีกตํ นี้ท่านประสงค์เอาจิตที่อบรมและกระทำบ่อยๆ ด้วยอำนาจสมถะและวิปัสสนา. ส่วนท่านกุรุนทกวาสีปุสสมิตตเถระกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ จิตในจตุตถฌานอันเป็นบาทของอภิญญาเท่านั้น ชื่อว่าจิตอ่อนโยนและเหมาะแก่การงานโดยส่วนเดียว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอวํ ลหุปริวตฺตํ ความว่า เกิดเร็วดับเร็วด้วยอาการอย่างนี้.
               ศัพท์ว่า ยาวญฺจ เป็นนิบาตใช้ในอรรถเท่ากับอธิมัตตะ มีประมาณยิ่ง. อธิบายว่า มิใช่ทำได้อย่างง่ายนัก.
               บทว่า อิทํ เป็นเพียงนิบาต.
               ในบทว่า จิตฺตํ ก่อนอื่น อาจารย์บางพวกกล่าวว่าเป็นภวังคจิต. แต่ท่านปฏิเสธคำนั้นแล้วกล่าวว่า จิตดวงใดดวงหนึ่งโดยที่สุดแม้จักขุวิญญาณ ก็ประสงค์เอาว่าจิตในที่นี้.
               แต่ในที่นี้ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนเถระผู้เป็นพระธรรมกถึกว่า ท่านพระนาคเสน จิตตสังขารที่เป็นไปชั่วขณะลัดนิ้วมือเดียว ถ้าเป็นรูปร่างจะเป็นกองใหญ่เท่าไร?
               พระนาคเสนตอบว่า มหาบพิตร ข้าวเปลือกร้อยวาหะ หย่อนครึ่งวาหะ ๗ อัมพนะและ ๒ ตุมพะ ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่ถึงแม้การคำนวณ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนของการคำนวณแห่งจิตที่เป็นไปชั่วขณะลัดนิ้วมือเดียว.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้ข้ออุปมา ก็ทำได้มิใช่ง่าย.
               แก้ว่า ก็แม้ท่านปฏิเสธอุปมาด้วยข้าวเปลือกก็ได้กระทำอุปมา ความยาวของกัปป์ โดยเปรียบเทียบกับภูเขาโยชน์หนึ่งกับพระนครเต็มไปด้วยเมล็ดพันธ์ผักกาดยาวโยชน์หนึ่ง เปรียบทุกข์ของสัตว์นรกโดยเปรียบด้วยถูกแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่มเปรียบความสุขในสวรรค์โดยเปรียบเทียบกับสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ์ฉันใด แม้ในที่นี้ก็พึงกระทำอุปมาฉันนั้น.
               ในมิลินทปัญหานั้น ท่านกระทำอุปมาด้วยอำนาจคำถามอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ทำอุปมาได้ไหม?
               ในสูตรนี้ ท่านไม่กระทำอุปมาไว้ เพราะไม่มีการถาม.
               จริงอยู่ พระสูตรนี้ ท่านกล่าวไว้ในตอนจบพระธรรมเทศนา. ในพระสูตรนี้ท่านเรียกชื่อว่า จิตตราสี (กองจิต) ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปภสฺสรํ ได้แก่ ขาวคือบริสุทธิ์.
               บทว่า จิตฺตํ ได้แก่ ภวังคจิต.
               ถามว่า ก็ชื่อว่าสีของจิตมีหรือ? แก้ว่าไม่มี.
               จริงอยู่ จิตจะมีสีอย่างหนึ่งมีสีเขียวเป็นต้น หรือจะเป็นสีทองก็ตาม จะอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านก็เรียกว่าปภัสสร เพราะเป็นจิตบริสุทธิ์. แม้จิตนี้ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะปราศจากอุปกิเลส เหตุนั้น จึงชื่อว่าปภัสสร.
               บทว่า ตญฺจ โข ได้แก่ ภวังคจิตนั้น.
               บทว่า อาคนฺตุเกหิ ได้แก่ อุปกิเลสที่ไม่เกิดร่วมกัน หากเกิด ในขณะแห่งชวนจิตในภายหลัง.
               บทว่า อุปกิเลเสหิ ความว่า ภวังคจิตนั้น ท่านเรียกว่า ชื่อว่าเศร้าหมองแล้ว เพราะเศร้าหมองแล้วด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               เศร้าหมองอย่างไร?
               เหมือนอย่างว่า บิดามารดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์มีศีลสมบูรณ์ด้วยความประพฤติ ไม่ดุว่า ไม่ให้ศึกษา ไม่สอน ไม่พร่ำสอนบุตร หรืออันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของตน เพราะเหตุที่บุตรและสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกเป็นผู้ทุศีล มีความประพฤติไม่ดี ไม่สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติ ย่อมได้รับการติเตียนเสียชื่อเสียงฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น.
               พึงเห็นภวังคจิตเหมือนบิดามารดาและอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้สมบูรณ์ด้วยความประพฤติ. ภวังคจิตแม้จะบริสุทธิ์ตามปกติก็ชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสที่จรมา อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่เกิดพร้อมด้วยโลภะโทสะและโมหะซึ่งมีความกำหนัดขัดเคืองและความหลงเป็นสภาวะในขณะแห่งชวนจิต เหมือนบิดามารดาเป็นต้นเหล่านั้นได้ความเสียชื่อเสียง เหตุเพราะบุตรเป็นต้น ฉะนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               แม้ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               จิต ก็คือภวังคจิตนั่นเอง.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตํ ความว่า ภวังคจิตนั้นไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่หลง ในขณะแห่งชวนจิต เกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตประกอบด้วยไตรเหตุเป็นต้น ย่อมชื่อว่าหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา.
               แม้ในที่นี้ ภวังคจิตนี้ ท่านเรียกว่าหลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา ด้วยอำนาจกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต เหมือนมารดาเป็นต้นได้รับความสรรเสริญและชื่อเสียงว่า พวกเขาช่างดีแท้ยังบุตรเป็นต้นให้ศึกษา โอวาท อนุสาสน์อยู่ดังนี้ เหตุเพราะบุตรเป็นต้นเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยความประพฤติ ฉะนั้น.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาปณิหิตอัจฉวรรค ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี ปณิหิตอัจฉวรรคที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 32อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 42อ่านอรรถกถา 20 / 52อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=161&Z=209
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1149
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1149
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :