ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 52อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 20 / 72อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
วิริยารัมภาทิวรรคที่ ๗

               อรรถกถาวิริยาภัมภาทิวรรคที่ ๗               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ในสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วีริยารมฺโภ ได้แก่ ความริเริ่มความเพียร คือสัมมัปปธานซึ่งมีกิจ ๔. อธิบายว่า ความเป็นผู้มีความเพียรอันประคองไว้บริบูรณ์.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า มหิจฺฉตา ได้แก่ ความโลภมาก ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า
               ในธรรมเหล่านั้น ความมักมากเป็นไฉน?
               ความปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป แห่งภิกษุผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย อันเป็นเภสัชชปริกขาร ยิ่งขึ้นๆ หรือด้วยกามคุณ ๕ ความปรารถนา ความเป็นแห่งความปรารถนา ความมักมาก ความกำหนัด ความกำหนัดมาก แห่งจิตเห็นปานนี้ใด.
               นี้เรียกว่า มหิจฺฉตา ความมักมาก.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อปฺปิจฺฉตา ได้แก่ ความไม่โลภ.
               บทว่า อปฺปิจฺฉสฺส ได้แก่ ผู้ไม่ปรารถนา ก็ในที่นี้ พยัญชนะดูเหมือนยังมีส่วนเหลือคือยังมีปรารถนาอยู่บ้าง ส่วนอรรถไม่มีส่วนเหลือ คือไม่ปรารถนาเลย.
               จริงอยู่ บุคคลนั้นท่านเรียกว่า ผู้มีความปรารถนาน้อย เพราะภาวะที่มีความปรารถนามีประมาณน้อยก็หามิได้ แต่ท่านเรียกว่ามีความปรารถนาน้อย (มักน้อย) เพราะไม่มีความปรารถนา คือภาวะที่ไม่มีความโลภที่เขาซ่องเสพบ่อยๆ นั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้พึงทราบความต่างกันดังนี้ว่า อตฺริจฺฉตา ความปรารถนาเกิน ปาปิจฺฉตา ความปรารถนาลามก มหิจฺฉตา ความมักมาก.
               ใน ๓ อย่างนั้น ความไม่อิ่มในลาภของตนยังปรารถนาในลาภของผู้อื่น ชื่อว่าความปรารถนาเกิน. สำหรับผู้ประกอบด้วยความปรารถนาเกินนั้น แม้ขนมสุกในภาชนะหนึ่ง เขาใส่ไว้ในภาชนะของตน ย่อมปรากฏเหมือนขนมที่สุกไม่ดี และเหมือนมีน้อย ขนมนั้นนั่นแล เขาใส่ในภาชนะของคนอื่น ปรากฏเหมือนสุกดีและเหมือนมีมาก.
               ความประกาศคุณที่ไม่มีอยู่ และความไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าความปรารถนาลามก.
               ความปรารถนาลามกแม้นั้น มาแล้วในอภิธรรม โดยนัยมีอาทิว่า
               คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้จักเราว่า เป็นผู้มีศรัทธา. บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลามกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความหลอกลวง.
               ส่วนความประกาศคุณที่มีอยู่ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าเป็นผู้มีความมักมาก. ความมักมากแม้นั้นก็มาแล้วโดยนัยนี้เหมือนกันแหละว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้จักเราว่า เป็นผู้มีศรัทธา. บางคนเป็นผู้มีศีล ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศีล.
               บุคคลผู้ประกอบด้วยความมักมากนั้น เป็นผู้อิ่มได้ยาก. แม้มารดาผู้บังเกิดเกล้า ก็ไม่สามารถจะยึดจิตใจเขาได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         อคฺคิกฺขนฺโธ สมุทฺโทจ   มหิจฺโฉ จาปิ ปุคฺคโล
                         สกเฏน ปจฺจเย เทนฺตุ    ตโยเปเต อตปฺปิยา.
                         กองไฟ ๑ สมุทร ๑ คนมักมาก ๑ ให้ปัจจัยตั้ง
                         เล่มเกวียน ทั้ง ๓ ประเภทนั้น ไม่รู้จักอิ่ม.

               ส่วนการซ่อนคุณที่มีอยู่ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าความเป็นผู้มักน้อย. บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มักน้อยนั้น ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล ชอบสงัด เป็นพหุสูต ผู้ปรารภความเพียร ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้มีปัญญา เป็นขีณาสพ ย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอชนจงรู้จักเราว่าเป็นพระขีณาสพ เหมือนพระมัชฌันติกเถระฉะนั้น.
               ได้ยินว่า พระเถระได้เป็นพระขีณาสพผู้ใหญ่ แต่บาตรและจีวรของท่านมีราคาเพียงบาทเดียวเท่านั้น. ท่านได้เป็นพระสังฆเถระในวันฉลองวิหารของพระเจ้าธรรมาโศกราช.
               ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายเห็นว่าท่านเป็นผู้ปอนนัก จึงกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงอยู่ภายนอกสักครู่เถิด. พระเถระคิดว่า เมื่อพระขีณาสพเช่นเราไม่กระทำการสงเคราะห์พระราชา คนอื่นใครเล่าจักทำได้ดังนี้แล้วจึงดำลงในแผ่นดิน แล้วผุดขึ้นรับก้อนข้าวที่เขายกขึ้นเพื่อพระสังฆเถระได้พอดี. ท่านเป็นพระขีณาสพย่อมไม่ปรารถนาว่า ขอคนจงรู้จักเราว่าเป็นพระขีณาสพ ด้วยประการอย่างนี้.
               ก็แล ภิกษุผู้มักน้อยอย่างนี้ย่อมทำลาภที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือย่อมทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง ย่อมทำจิตของทายกให้ยินดี. ภิกษุนั้นย่อมถือเอาแต่น้อย เพราะความที่ตนเป็นผู้มักน้อยโดยประการใดๆ มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสในวัตรของท่าน โดยประการนั้นๆ ย่อมถวายเป็นอันมาก.
               ความมักน้อยแม้อีกอย่าง มี ๔ ประการคือ มักน้อยในปัจจัย ๑ มักน้อยในธุดงค์ ๑ มักน้อยในปริยัติ ๑ มักน้อยในอธิคม ๑.
               บรรดาความมักน้อย ๔ อย่างนั้น ความมักน้อยในปัจจัย ๔ ชื่อว่ามักน้อยในปัจจัย.
               ภิกษุนั้นย่อมรู้กำลังของทายก ย่อมรู้กำลังของไทยธรรม ย่อมรู้กำลังของตน.
               ถ้าไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะถวายน้อย ย่อมรับแต่น้อย ด้วยอำนาจทายก, ไทยธรรมมีน้อย ทายกประสงค์จะถวายมาก ย่อมรับแต่น้อย ด้วยอำนาจไทยธรรม แม้ไทยธรรมมีมาก ทั้งทายกก็ประสงค์จะถวายมาก ย่อมรู้จักกำลังของตนแล้ว รับแต่พอประมาณ.
               ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะให้คนอื่นรู้การสมาทานธุดงค์แจ่มแจ้ง พึงทราบเรื่องเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์.
               เล่ากันมาว่า พระมหากุมารกัสสปเถระผู้ถือโสสานิกังคธุดงค์ อยู่ในป่าช้ามาตลอด ๖๐ ปี. ภิกษุอื่นแม้แต่รูปเดียวก็ไม่รู้ ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า
                         เราอยู่ในป่าช้ามาตลอด ๖๐ ปีรวด ภิกษุผู้เป็นเพื่อน
                         ก็ไม่รู้เรา โอ เราเป็นยอดของผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร.
               พระเถระสองรูปพี่น้องกันอยู่ที่เจติยบรรพต. น้องชายถือเอาท่อนอ้อยที่อุปัฏฐากส่งไปถวาย ไปสู่สำนักของพี่ชายกล่าวว่า ท่านขอรับ นิมนต์ท่านฉันเถิด. เวลาที่พูดเป็นเวลาที่พระเถระกระทำภัตตกิจเสร็จแล้วบ้วนปาก. พระเถระกล่าวว่า อย่าเลยคุณ. น้องชายกล่าวว่า ท่านถือเอกาสนิกังคธุดงค์หรือขอรับ. พระเถระกล่าวว่า เอามาเถอะคุณ ท่อนอ้อย แม้ถือเอกาสนิกังคธุดงค์ถึง ๕๐ ปีก็ยังปกปิดธุดงค์ไว้ กระทำการฉันแล้วบ้วนปาก อธิษฐานธุดงค์ใหม่แล้วไป.
               ก็ภิกษุใดเป็นเหมือนพระสาเกตติสสเถระ ไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเป็นพหุสูต ภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้มักน้อยในปริยัติ.
               ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า เวลาไม่มีจึงไม่กระทำโอกาสในอุเทศ (เรียน) และปริปุจฉา (สอบถาม) ถูกทักท้วงว่า ท่านขอรับ เมื่อไรท่านจักได้มรณขณะ (เวลาตาย) จึงสละหมู่ ไปยังกณิการวาลิกสมุทรวิหาร. ในที่นั้น ท่านได้มีอุปการะแก่พระเถระ พระนวกะและพระมัชฌิมะ ตลอดภายในพรรษา ในปวารณาในวันอุโบสถ. ให้ชาวชนบทแตกตื่นด้วยธรรมีกถาแล้วก็ไป.
               ส่วนภิกษุใดเป็นพระอริยะชั้นใดชั้นหนึ่งมีพระโสดาบันเป็นต้น ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ภิกษุนี้ ชื่อว่าผู้มีความปรารถนาน้อยในอธิคม เหมือนกุลบุตร ๓ คน แลเหมือนช่างหม้อชื่อฆฏิการะ.
               ก็ในอรรถนี้ แม้ปุถุชนผู้ศึกษาประกอบด้วยความไม่โลภมีกำลังกล้า ได้อาเสวนะแล้ว ก็พึงทราบว่าเป็นผู้มักน้อย.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อสนฺตุฏฺฐิตา ได้แก่ ความโลภ กล่าวคือความไม่สันโดษอันเกิดแก่บุคคลผู้เสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้ไม่สันโดษ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สนฺตุฏฺฐิตา ได้แก่ ความสันโดษ กล่าวคือความไม่โลภอันเกิดแก่บุคคลผู้เสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้สันโดษ.
               บทว่า สนฺตุฏฺฐสฺส ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้.
               ความสันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือ ความสันโดษในจีวร ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ๑ ยถาพลสันโดษ ๑ ยถาสารุปปสันโดษ ๑.
               ในบิณฑบาตเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               สันโดษนั้นมีการพรรณนาตามประเภทดังต่อไปนี้
               ภิกษุในพระศาสนานี้ ได้จีวรดีหรือไม่ดีก็ตาม เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั่นแล ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               ฝ่ายภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้มีกำลังทุรพลตามปกติ หรือถูกอาพาธและชราครอบงำ ห่มจีวรหนักย่อมลำบาก เธอเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้ชอบพอกัน ถึงจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรเบาก็เป็นผู้สันโดษ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้ได้ปัจจัยที่ประณีต ได้จีวรแผ่นผ้าที่นำมาแต่เมืองโสมารเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีราคา ก็หรือว่าได้จีวรเป็นอันมากให้ไปด้วยคิดว่า จีวรนี้สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน นี้สมควรแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต นี้สมควรแก่ภิกษุผู้เป็นไข้ นี้สมควรแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย แล้วจึงเลือกเอาจีวรเก่าของภิกษุเหล่านั้น หรือผ้าเปรอะเปื้อนจากกองขยะเป็นต้น (หรือผ้าตกตามร้านตลาด) กระทำเป็นสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านั้น แม้ครองเองก็เป็นผู้สันโดษทีเดียว นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ได้บิณฑบาตอันเศร้าหมองหรือประณีต เธอย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นนั่นแล ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดบิณฑบาตที่แสลงต่อปกติของตน หรือแสลงแก่ความป่วยไข้ บริโภคแล้วไม่ผาสุก เธอให้บิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แล้วฉันโภชนะอันเป็นสัปปายะจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรมอยู่ก็เป็นผู้สันโดษแท้ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตอันประณีตเป็นอันมาก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้เป็นไข้เหมือนจีวร แม้ฉันอาหารจากสำนักของภิกษุเหล่านั้น หรืออาหารที่ระคนกัน เพราะเที่ยวบิณฑบาตมา ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษแท้. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เสนาสนะที่น่าชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ. เธอไม่ให้ความดีใจเกิดขึ้น ไม่ให้ความขุ่นใจเกิดขึ้น ย่อมยินดีด้วยเสนาสนะตามที่ได้เท่านั้น โดยที่สุดแม้เครื่องลาดทำด้วยหญ้า. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุได้เสนาสนะแสลงแก่ปกติของตน หรือแสลงแก่ความเป็นไข้ของตน ซึ่งเธออยู่ไม่มีความผาสุก เธอให้เสนาสนะนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้จะอยู่ในเสนาสนะอันเป็นสัปปายะก็เป็นผู้สันโดษแท้. นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมากได้เสนาสนะอันประณีตเป็นอันมากมีถ้ำมณฑปและเรือนยอดเป็นต้น เธอถวายเสนาสนะแม้เหล่านั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้พหุสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้เป็นไข้เหมือนดังจีวร ถึงจะอยู่ในที่ใดที่หนึ่งก็เป็นผู้สันโดษแท้. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               แม้ภิกษุใดพิจารณาว่า ธรรมดาว่าเสนาสนะอันดีที่สุด เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ถีนมิทธะย่อมครอบงำสำหรับผู้นั่งในที่นั้น สำหรับผู้นอนหลับแล้วตื่นขึ้น วิตกอันลามกย่อมปรากฏ เธอไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้ที่มาถึงแล้ว เธอปฏิเสธเสนาสนะนั้น ถึงจะอยู่ในกลางแจ้งมีอยู่โคนไม้เป็นต้นก็เป็นผู้สันโดษแท้. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในพระศาสนานี้ได้เภสัชอันเศร้าหมองหรือประณีต เธอย่อมยินดีด้วยเภสัชที่ตนได้นั้นนั่นแล ไม่ปรารถนาเภสัชอื่นถึงจะได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดต้องการน้ำมันกลับได้น้ำอ้อย แม้เธอถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน ถือเอาน้ำมันจากมือของภิกษุผู้ชอบกันนั้น หรือแสวงหาน้ำมันอื่นกระทำเภสัช ก็เป็นผู้สันโดษแท้ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชอันประณีต มีน้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้นเป็นอันมาก เธอถวายเภสัชนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้เป็นไข้เหมือนจีวร แม้จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งอันเขานำมาแล้วเพื่อภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นผู้สันโดษแท้.
               อนึ่ง ภิกษุใดเมื่อเขาใส่สมอดองน้ำมูตรลงในภาชนะหนึ่ง วางวัตถุมีรสอร่อย ๔ ลงในภาชนะหนึ่ง แล้วพูดว่าท่านขอรับ ท่านต้องการสิ่งใดจงถือเอาสิ่งนั้นไปเถิด ถ้าโรคของเธอสงบไป แม้ด้วยเภสัชทั้งสองชนิดใดชนิดหนึ่งไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ชื่อว่าสมอดองน้ำมูตร บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว จึงปฏิเสธของมีรสอร่อย ๔ อย่าง แม้กระทำเภสัชด้วยสมอดองน้ำมูตรก็เป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               ก็บรรดาสันโดษ ๓ ในปัจจัยเฉพาะอย่างหนึ่งๆ นี้ ยถาสารุปปสันโดษเป็นเลิศ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖-๗               
               ในสูตรที่ ๖-๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               อโยนิโสมนสิการและโยนิโสมนสิการ มีลักษณะดังกล่าวแล้วในหนหลัง และคำที่เหลือในสูตรนี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖-๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อสมฺปชญฺญํ ได้แก่ ความไม่รู้ตัว.
               คำว่า อสมฺปชญฺญํ นี้เป็นชื่อของโมหะ.
               บทว่า อสมฺปชานสฺส ได้แก่ ผู้ไม่รู้ตัว คือผู้หลง.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สมฺปชญฺญํ ได้แก่ ความรู้ตัว.
               บทว่า สมฺปชญฺญํ นี้เป็นชื่อแห่งปัญญา.
               บทว่า สมฺปชานสฺส ได้แก่ ผู้รู้ตัวอยู่.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปาปมิตฺตตา ความว่า มิตรชั่วคือลามก มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่ามีมิตรชั่ว. ความมีมิตรชั่ว ชื่อว่าปาปมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว.
               คำว่า ปาปมิตตตา นี้เป็นชื่อของขันธ์ ๔ ที่เป็นไปโดยอาการนั้น.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ความเป็นผู้มีมิตรชั่วเป็นไฉน?
               บุคคลเหล่าใดเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีสุตน้อย เป็นผู้ตระหนี่ เป็นผู้มีปัญญาทราม การเสพ การอาศัยเสพ การซ่องเสพ การคบหา การสมคบ ความภักดี ความจงรักบุคคลเหล่านั้น ความมีบุคคลเหล่านั้นเป็นเพื่อนนี้ เรียกว่าความเป็นผู้มีมิตรชั่ว.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาวิริยาภัมภาทิวรรคที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี วิริยารัมภาทิวรรคที่ ๗ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 52อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 20 / 72อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=247&Z=290
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1554
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1554
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :