ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 1อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 25 / 3อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ สิกขาบท ๑๐

               ๒. พรรณนาสิกขาบท               
               หัวข้อปาฐะว่าด้วยสิกขาบท               
               ครั้นแสดงการเข้าสู่พระศาสนาด้วยการถึงสรณคมน์อย่างนี้แล้ว เพื่อจะพรรณนาปาฐะที่ว่าด้วยสิกขาบท ซึ่งตั้งเป็นบทนิกเขปไว้ เพื่อแสดงสิกขาบททั้งหลาย อันอุบาสกหรือบรรพชิต ผู้เข้ามาสู่พระศาสนาจะพึงศึกษา เป็นอันดับแรก บัดนี้ข้าพเจ้าจะกล่าวมาติกาหัวข้อดังต่อไปนี้
               สิกขาบทเหล่านี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวที่ใด กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุใด จำต้องกำหนดกล่าวทำนัยนั้น โดยความแปลกแห่งสิกขาบททั่วไป จำต้องกำหนดโทษทั้งเป็นปกติวัชชะ และปัณณัตติวัชชะ ทำการชี้แจงนัยทั่วไป ทั่วทุกสิกขาบท โดยพยัญชนะและอรรถะของบททั้งหลาย.
               แต่ใน ๕ สิกขาบทต้น พึงทราบวินิจฉัย โดยประกาศความแปลกกันของสิกขาบททั่วไป โดยความเป็นอย่างเดียวกันและความต่างกันเป็นอาทิ ตั้งต้นแต่ปาณาติบาตเป็นต้นไป โดยอารมณ์ การสมาทานและการขาด โดยความมีโทษมาก โดยประโยค องค์และสมุฏฐาน โดยเวทนา มูลและกรรม โดยการงดเว้นและโดยผล.
               ข้อยุติคือความถูกต้องจากการพรรณนา ๕ สิกขาบทต้น พึงนำมาใช้ใน ๕ สิกขาบทหลัง พึงกล่าวสิกขาบทเป็นข้อๆ พึงทราบว่า สิกขาบท มีอย่างเลว เป็นต้นไว้ด้วย.
               ในมาติกาหัวข้อนั้น ๑๐ สิกขาบทมีปาณาติปาตาเวรมณีเป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัสไว้ มิใช่พระสาวก. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ถึงกรุงสาวัตถี ทรงให้ท่านพระราหุลบรรพชา แล้ว ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี ตรัสสิกขาบท ๑๐ นั้น เพื่อทรงกำหนดสิกขาบทสำหรับสามเณรทั้งหลาย สมจริงดังที่ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เมื่อเสด็จจาริกมาตามลำดับ ก็ถึงกรุงสาวัตถี.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี
               สมัยนั้น ฯลฯ สามเณรทั้งหลายเกิดความคิดว่า สิกขาบททั้งหลายสำหรับพวกเรามีเท่าไรกันหนอ พวกเราจะพึงศึกษาในสิกขาบท จำนวนเท่าไร ภิกษุทั้งหลายจึงนำความกราบทูลแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตสิกขาบท ๑๐ สิกขาบทสำหรับสามเณรทั้งหลาย เพื่อสามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้นคือ ปาณาติปาตา เวรมณี ฯลฯ ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี ” ดังนี้.
               สิกขาบททั้ง ๑๐ นี้นั้นพึงทราบว่า ท่านยกขึ้นใช้บอกสอน โดยแนวพระสูตรว่า
                         สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ

                         สมาทานศึกษา ในสิกขาบททั้งหลาย
               และโดยแนวปาฐะที่ท่านแสดงไว้ในสรณคมน์ อย่างนี้ว่า
                         ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบทคือเจตนางดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น
               พึงทราบนัยว่าที่ว่า “สิกขาบทเหล่านี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวที่ใด กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุไร จะกล่าวนัยนั้น” เท่านี้ก่อน.

               กำหนดความแปลกกันของสิกขาบททั่วไป               
               ก็บรรดาสิกขาบทเหล่านั้น สิกขาบทที่ ๔-๕ สองสิกขาบทข้างต้นทั่วไปทั้งอุบาสก ทั้งสามเณรโดยเป็นนิจศีล แต่ว่าโดยเป็นอุโบสถศีล ของพวกอุบาสก เว้นสิกขาบทหลังหมด เพราะรวบสิกขาบทที่ ๗ และ ๘ เข้าเป็นองค์เดียวกัน สิกขาบททั้งหมด ก็ทั่วไปกับสามเณรทั้งหลาย ส่วนสิกขาบทหลังเป็นพิเศษสำหรับสามเณรเท่านั้น พึงทราบกำหนดโดยความแปลกกันของสิกขาบททั่วไปดังกล่าวมาฉะนี้
               พึงกำหนดปกติวัชชะ และปัณณัตติวัชชะ อย่างนี้คือ
               บรรดาสิกขาบทเหล่านั้น ๕ สิกขาบทข้างต้น กำหนดด้วยเจตนางดเว้นจากปกติวัชชะของปาณาติบาตเป็นต้น เพราะมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐานส่วนเดียว
               สิกขาบทนอกนั้น กำหนดด้วยเจตนางดเว้นจากปัณณัตติวัชชะ.

               ชี้แจงบททั่วไป               
               ก็เพราะเหตุที่บรรดาบทเหล่านั้น บทเหล่านี้ว่า เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ เป็นบททั่วไปทั้งหมด ฉะนั้น พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านั้นทั่วไป ทั้งโดยพยัญชนะ ทั้งโดยอรรถะดังต่อไปนี้.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบโดยพยัญชนะก่อน ชื่อว่า เวรมณี เพราะเว้นเวร. อธิบายว่า ละบรรเทาเวร คือทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี.
               อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมเว้นจากเวร ด้วยเจตนาตัวกระทำนั้น เหตุนั้น เจตนานั้นจึงชื่อว่า เวรมณี เพราะเอาวิอักษรเป็น เวอักษร. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในคำนี้ พุทธบริษัทจึงสวดกันเป็น ๒ อย่างว่า เวรมณีสิกขาปทํ วิรมณีสิกขาปทํ.
               ชื่อว่า สิกขา เพราะอันบุคคลพึงศึกษา. ชื่อว่า บท เพราะเป็นเครื่องถึงบทแห่งสิกขา, บทแห่งสิกขา ชื่อว่า สิกขาบท อธิบายว่าอุบายเป็นเครื่องถึงสิกขา.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า เป็นมูล เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้ง. สิกขาบทคือเจตนาเครื่องงดเว้น ชื่อว่า เวรมณีสิกขาบท หรือ วิรมณีสิกขาบท ตามนัยที่สอง.
               ข้าพเจ้ายึดถือโดยชอบ ชื่อว่า สมาทิยามิ ท่านอธิบายว่า ข้าพเจ้ายึดถือโดยประสงค์จะไม่ล่วงละเมิด เพราะเป็นผู้กระทำสิกขาบทไม่ให้เป็นท่อนไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่างพร้อย.
               แต่เมื่อว่าโดยอรรถะ บทว่า เวรมณี ได้แก่ วิรัติ เจตนางดเว้นประกอบด้วยจิตอันเป็นกามาวจรกุศล, วิรัตินั้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เจตนางด เจตนางดเว้น เว้นขาด งดเว้น ไม่ทำ ไม่กระทำ ไม่ล่วง ไม่ละเมิดขอบเขต การชักสะพานเสียด้วยอริยมรรค ชื่อว่า เสตุ จากปาณาติบาต ในสมัยนั้น อันใด. ธรรมดาว่า เวรมณีนั้น แม้เป็นโลกุตระมีอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นในที่นี้ ก็ควรเป็นเวรมณีที่เป็นไปโดยการสมาทาน เพราะผู้สมาทานกล่าวว่า สมาทิยามิ เพราะฉะนั้น เวรมณีที่เป็นโลกุตระนั้น จึงไม่มี ข้าพเจ้ากล่าวว่าวิรัติ เจตนางดเว้น ประกอบด้วยจิตอันเป็นกามาวจรกุศล.
               บทว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. แต่ในที่นี้ ศีลคือสัมปัตตวิรัติ วิปัสสนาฝ่ายโลกิยะ รูปฌานและอรูปฌานและอริยมรรค ท่านประสงค์ว่า สิกขา ในบทว่าสิกขานี้, เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ธรรมเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขา สมัยใด จิตเป็นกุศลฝ่ายกามาวจร เกิดขึ้น ไปกับโสมนัส ประกอบด้วยฌาน ฯลฯ สมัยนั้น ผัสสะ ก็มี ฯลฯ ความไม่กวัดแกว่งก็มี ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า สิกขา.
               ธรรมเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขา สมัยใด พระโยคาวจรเจริญมรรค ด้วยการเข้าถึงรูปฌานสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ฯลฯ เข้าถึงปัญจมฌานอยู่ ฯลฯ ความไม่กวัดแกว่งก็มี ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าสิกขา.
               ธรรมเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขา สมัยใด พระโยคาวจรเจริญมรรคด้วยการเข้าถึงอรูปฌาน ฯลฯ ไปกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ ความไม่กวัดแกว่งก็มี ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าสิกขา.
               ธรรมเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขา สมัยใด พระโยคาวจรเจริญโลกุตรฌาน เป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ ฯลฯ ความไม่กวัดแกว่งก็มี ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าสิกขา.
               บทคืออุบายเครื่องถึง อีกอย่างหนึ่งเป็นมูล เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งแห่งสิกขาอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาสิกขาเหล่านั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า สิกขาบท
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า
                         “พระโยคาวจรอาศัยศีลตั้งอยู่ในศีล เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗”
               อย่างนี้เป็นต้น.
               พึงทำการชี้แจงโดยพยัญชนะ โดยอรรถะ ทั่วๆ ไปแก่บททั้งหลายทั่วไป ในบทเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.

               พรรณนา ๕ สิกขาบทข้างต้น               
               คำใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า แต่ใน ๕ สิกขาบทข้างต้น จำต้องชี้แจงโดยประกาศความที่แปลกกัน ฯลฯ พึงทราบวินิจฉัย ฯลฯ ในคำนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวชี้แจงดังนี้ ก่อนอื่น ในคำว่า ปาณาติปาโต นี้ บทว่า ปาโณ ได้แก่ความสืบต่อแห่งขันธ์ที่นับเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์. อีกนัยหนึ่ง ได้แก่ สัตว์ที่บัณฑิตอาศัยความสืบต่อแห่งขันธ์นั้น บัญญัติไว้. ก็วธกเจตนา เจตนาคิดจะฆ่าของบุคคลผู้มีความสำคัญในสัตว์มีชีวิตนั้นว่าเป็นสัตว์มีชีวิต เป็นสมุฏฐานแห่งความพยายามที่จะตัดชีวิตินทรีย์ของสัตว์มีชีวิตนั้น เป็นไปทางกายทวารและวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ชื่อว่าปาณาติบาต.
               ในคำว่า อทินฺนาทานํ นี้ บทว่า อทินฺนํ ได้แก่ ทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน. ซึ่งเจ้าของเองเมื่อทำตามที่ต้องการ ก็ไม่ต้องโทษ ไม่ถูกตำหนิเถยยเจตนา เจตนาคิดจะลัก ของบุคคลผู้มีความสำคัญในทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหนว่าเป็นทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน เป็นสมุฏฐานแห่งความพยายามที่จะลักทรัพย์สิ่งของนั้น เป็นไปทางกายทวารและวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่งนั้นแล ชื่อว่าอทินนาทาน.
               บทว่า อพฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ความประพฤติไม่ประเสริฐ. เจตนาเป็นเหตุละเมิดฐาน คือการซ่องเสพอสัทธรรม เป็นไปทางกายทวาร โดยการซ่องเสพเมถุนคือการสมสู่กันสองต่อสอง ชื่อว่า อพรหมจรรย์.
               ในคำว่า มุสาวาโท นี้ บทว่า มุสา ได้แก่ วจีประโยคหรือ กายประโยคที่หักรานประโยชน์ของบุคคลผู้มุ่งจะให้คลาดเคลื่อนจากความจริงเป็นเบื้องหน้า มิจฉาเจตนา เจตนาที่จะพูดผิด ทำผิด ของบุคคลนั้น ด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เป็นสมุฏฐานแห่งกายประโยคและวจีประโยคที่จะทำผู้อื่นให้เข้าใจผิด เป็นไปทางกายทวารและวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ชื่อว่ามุสาวาท.
               ก็ในคำว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานํ นี้ บทว่า สุรา ได้แก่ สุรา ๕ อย่าง คือ สุราทำด้วยแป้ง สุราทำด้วยขนม สุราทำด้วยข้าวสุก สุราผสมเชื้อ สุราที่ปรุงด้วยเครื่องปรุง.
               แม้เมรัยก็มี ๕ อย่าง คือ เมรัยที่ทำด้วยดอกไม้ เมรัยที่ทำด้วยผลไม้ เมรัยทำด้วยงบน้ำอ้อย เมรัยที่ทำด้วยดอกมะซาง เมรัยที่ปรุงด้วยเครื่องปรุง.
               บทว่า มชฺชํ ได้แก่ ทั้งสองอย่างนั้นนั่นแหละ ชื่อว่ามัชชะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเมา. ก็หรือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความเมา บุคคลเมาประมาทด้วยสิ่งใดที่ดื่มแล้ว สิ่งอันนี้ก็เรียกว่ามัชชะ.
               บทว่า ปมาทฏฺฐานํ ได้แก่ เจตนาที่ดื่มกลืนกินมัชชะนั้น ท่านเรียกว่า ปมาทฏฺฐานํ เพราะเป็นเหตุแห่งความเมาความประมาท เจตนากลืนกินมัชชะคือสุราและเมรัย เป็นไปทางกายทวารด้วยประสงค์จะกลืนกิน พึงทราบว่าสุราเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทโดยประการใด พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทเหล่านั้น ก่อนนับตั้งแต่ปาณาติบาตเป็นต้นไปโดยประการนั้น.

               วินิจฉัยสิกขาบทอย่างเดียวกันและต่างกัน เป็นต้น               
               ในคำ เอกตานานตาทิโต โดยที่สิกขาบทอย่างเดียวกันแต่ต่างกันเป็นต้นนี้
               ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ปาณาติบาตหรือสิกขาบทอันมีอทินนาทานเป็นต้น เป็นอย่างเดียวกัน เพราะผู้จะพึงถูกฆ่า ผู้ฆ่า ประโยคและเจตนาเป็นต้นเป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน เพราะมีผู้จะถูกฆ่าเป็นต้นต่างกัน หรือว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
               ก็เพราะเหตุไร ผู้ทักท้วงจึงกล่าวคำนี้
               ผิว่าสิกขาบทจะเป็นอย่างเดียวกัน เพราะคนที่จะพึงถูกฆ่าเป็นต้นเป็นคนเดียวกันไซร้ เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อใดผู้ฆ่ามากคน ฆ่าคนที่จะพึงถูกฆ่าคนเดียว หรือผู้ฆ่าคนเดียวฆ่าคนที่จะพึงถูกฆ่ามากคน คนที่จะพึงถูกฆ่ามากคน ก็จะถูกผู้ฆ่าฆ่าด้วยประโยคเดียว มีสาหัตถิกประโยคเป็นต้น หรือเจตนาอย่างเดียว ก็จะยังประโยคของผู้เข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ ของคนที่จะพึงถูกฆ่ามากคนให้ตั้งขึ้น เมื่อนั้น ปาณาติบาตก็จะพึงมีอย่างเดียว
               แต่ผิว่าสิกขาบทจะต่างกัน เพราะคนที่จะพึงถูกฆ่าเป็นต้นต่างกันไซร้ เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อใดผู้ฆ่าคนเดียว เมื่อทำประโยคเดียว เพื่อคนๆ เดียว ก็ย่อมฆ่าคนที่พึงถูกฆ่ามากคน หรือผู้ฆ่ามากคนเมื่อทำมากประโยค เพื่อคนมากคนมีเทวทัต ยัญทัตและโสมทัตเป็นต้น ก็ย่อมฆ่าได้เฉพาะเทวทัต ยัญทัตหรือโสมทัตคนเดียวเท่านั้น หรือผู้ที่จะพึงถูกฆ่าคนเดียว ถูกผู้ฆ่าฆ่าด้วยมาก ประโยคมีสาหัตถิกประโยคเป็นต้น เจตนามากเจตนา ก็จะยังประโยคของผู้เข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ของผู้ที่จะพึงถูกฆ่าคนเดียวเท่านั้นให้ตั้งขึ้น. เมื่อนั้น ปาณาติบาตก็จะพึงมีมากอย่าง แม้คำทั้งสองนั้นก็ไม่ถูก. สิกขาบทจะชื่อว่า เป็นอย่างเดียวกัน เพราะผู้ที่จะพึงถูกฆ่าเป็นต้นเหล่านั้นมีผู้เดียวก็หามิได้, สิกขาบทชื่อว่าต่างกันเพราะผู้ที่จะพึงถูกฆ่าเป็นต้นเหล่านั้นต่างกัน ก็หามิได้ ความจริง สิกขาบทอย่างเดียวกันและต่างกัน ก็โดยเหตุอย่างอื่น คำนั้นพึงใช้แก่ปาณาติบาต แม้สิกขาบทนอกนั้น ก็พึงใช้อย่างนั้น.
               ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อไปนี้:-
               ก่อนอื่น ปาณาติบาตนั้นชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน เพราะผู้ที่จะพึงถูกฆ่าและคนฆ่าเป็นต้นเป็นอย่างเดียวกัน ชื่อว่าต่างกัน เพราะผู้ที่จะพึงถูกฆ่าเป็นต้นต่างกัน ก็หาไม่ ที่แท้ ปาณาติบาตชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน เพราะผู้ที่จะถูกฆ่าและคนฆ่าเป็นต้นเป็นอย่างเดียวกัน โดยจัดเป็นคู่ๆ กัน. ทั้งชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน เพราะผู้จะพึงถูกฆ่าและคนฆ่าเป็นต้นแม้ทั้งสองนั้น เป็นอย่างเดียวโดยจัดเป็นคู่ๆ กัน หรือชื่อว่าต่างกัน เพราะผู้ที่จะพึงถูกฆ่าและคนฆ่าเป็นต้นนั้น เป็นอีกคนหนึ่งจากคนทั้งสองนั้น.
               จริงอย่างนั้น เมื่อคนผู้ฆ่ามากคน แม้ฆ่าคนผู้ที่จะถูกฆ่าหลายคนด้วยประโยคหลายประโยค มีสรักเขปประโยค การขุดสระเป็นต้น หรือด้วยประโยคๆ เดียวมี โอปาตขณนประโยค การขุดบ่อเป็นต้น ก็เป็นปาณาติบาตมากปาณาติบาต เมื่อคนผู้ฆ่าคนเดียวแม้ฆ่าคนที่ถูกฆ่ามากคน ด้วยประโยคเดียวหรือมากประโยคด้วยเจตนาเดียว ที่ยังประโยคนั้นให้ตั้งขึ้น หรือด้วยมากประโยค ก็เป็นปาณาติบาตมากปาณาติบาต อนึ่ง เมื่อคนผู้ฆ่ามากคน แม้ฆ่าคนที่ถูกฆ่าคนเดียว ด้วยมากประโยคตามที่กล่าวแล้ว หรือด้วยประโยคเดียว ก็เป็นปาณาติบาตมากปาณาติบาต แม้ในสิกขาบทมีอทินนาทานเป็นต้นก็นัยนี้ ในเรื่องนี้
               พึงทราบวินิจฉัยโดยความเป็นสิกขาบทอย่างเดียวกันและต่างกันเป็นต้น ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้
               เมื่อว่าโดยอารมณ์ ในข้อนี้ ปาณาติบาตมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทาน อพรหมจรรย์และสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีสังขารคือบรรดารูปธรรมมีรูปายตนะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์ เพราะปรารภคนที่จะพูดมุสาเป็นไป อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า แม้อพรหมจรรย์ ก็มีสัตว์เป็นอารมณ์ อนึ่ง อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์ในเวลาที่สัตว์เป็นผู้ที่จะพึงถูกลักไป อีกประการหนึ่ง อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์ก็โดยอำนาจสังขาร มิใช่โดยอำนาจพระบัญญัติ
               ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยอารมณ์ดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยสมาทาน ก็สิกขาบทเหล่านี้มีปาณาติปาตาเวรมณีสิกขาบทเป็นต้น สามเณรสมาทานในสำนักภิกษุเท่านั้น จึงเป็นอันสมาทาน ส่วนอุบาสกสมาทานเองก็ดี สมาทานในสำนักของผู้อื่นก็ดี ก็เป็นอันสมาทานแล้ว สมาทานรวมกันก็ดี สมาทานแยกกันก็ดี ก็เป็นอันสมาทานแล้ว แต่ต่างกัน อย่างไรเล่า บุคคลสมาทานรวมกัน ก็มีวิรัติเดียว มีเจตนาเดียวเท่านั้น แต่ปรากฏว่าวิรัติและเจตนาเหล่านั้น มีถึง ๕ โดยอำนาจกิจคือหน้าที่. ส่วนบุคคลที่สมาทานแยกกันก็พึงทราบว่ามีวิรัติ ๕ เจตนาก็ ๕
               ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยการสมาทานด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยการขาด ในข้อนี้ สำหรับสามเณรทั้งหลาย เมื่อสิกขาบทหนึ่งขาด ทุกสิกขาบทก็เป็นอันขาดเพราะสิกขาบทเหล่านั้น เป็นฐานที่ตั้งแห่งปาราชิกของสามเณรเหล่านั้น ด้วยสิกขาบทที่สามเณรล่วงละเมิดนั่นแล ก็มีกรรมต่อเนื่องตามมา.
               แต่สำหรับคฤหัสถ์ เมื่อศีลข้อหนึ่งขาด ก็ขาดข้อเดียวเท่านั้น เพราะศีลของคฤหัสถ์เหล่านั้นมีองค์ ๕ ย่อมจะสมบูรณ์อีกด้วยการสมาทานศีลนั้นเท่านั้น. แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่าบรรดาศีลที่คฤหัสถ์สมาทานเป็นข้อๆ เมื่อศีลข้อหนึ่งขาด ก็ขาดข้อเดียวเท่านั้น แต่บรรดาศีลที่คฤหัสถ์สมาทานรวมกันอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าสมาทานศีล ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้ เมื่อศีลข้อหนึ่งขาด ศีลแม้ที่เหลือ ก็เป็นอันขาดหมดทุกข้อ. เพราะเหตุไร ? เพราะศีลข้อที่สมาทานไม่ขาด ด้วยศีลที่คฤหัสถ์ล่วงละเมิดนั่นแล ก็มีความผูกพันด้วยกรรม ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยการขาด ด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยโทษมาก บรรดาสัตว์มีชีวิตที่เว้นจากคุณ มีสัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น
               ปาณาติบาตชื่อว่ามีโทษน้อย. ก็เพราะสัตว์ตัวเล็ก, ชื่อว่ามีโทษมาก ก็เพราะสัตว์ตัวใหญ่.
               เพราะเหตุไร. เพราะประโยคใหญ่ (ความพยายามมาก)
               แม้เมื่อมีประโยคเสมอกัน ชื่อว่า มีโทษมาก เพราะวัตถุใหญ่
               ส่วนบรรดาสัตว์มีชีวิตที่มีคุณ มีมนุษย์เป็นต้น ปาณาติบาต ชื่อว่ามีโทษน้อย ก็เพราะมนุษย์มีคุณน้อย, ชื่อว่ามีโทษมาก ก็เพราะมนุษย์มีคุณมาก
               แต่เมื่อมีตัวและคุณเสมอกัน ก็พึงทราบว่า มีโทษน้อย เพราะกิเลสและความพยายามอ่อนและมีโทษมาก เพราะกิเลสและความพยายามแรงกล้า แม้ในสิกขาบทที่เหลือก็นัยนี้.
               อนึ่ง ในข้อนี้ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมาก ปาณาติบาตเป็นต้นหามีโทษมากเช่นนั้นไม่ เพราะอะไร เพราะทำอันตรายแก่อริยธรรม เหตุทำผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นคนบ้า
               ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยความมีโทษมากด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อว่าด้วยประโยค ก็ในข้อนี้ ปาณาติบาตมี ๖ ประโยคคือ สาหัตถิกประโยค อาณัตติกประโยค นิสสัคคิยประโยค ถาวรประโยค วิชชามยประโยค อิทธิมยประโยค.
               บรรดาประโยคเหล่านั้น การประหารด้วยกายหรือของที่เนื่องด้วยกาย ชื่อว่าสาหัตถิกประโยค สาหัตถิกประโยคนั้นแยกเป็น ๒ คือ สาหัตถิกประโยคเจาะจงและสาหัตถิกประโยคไม่เจาะจง. ในสาหัตถิกประโยคทั้งสองนั้น เฉพาะสาหัตถิกประโยคเจาะจงบุคคลย่อมผูกพันด้วยกรรม เพราะความตายของคนที่ไปเจาะจงประหารเท่านั้น. ในสาหัตถิกประโยคไม่เจาะจงอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจงตายเสียเถิดดังนี้ บุคคลย่อมผูกพันด้วยกรรมเพราะความตายของคนใดคนหนึ่ง เหตุการประหารเป็นปัจจัย. อนึ่ง แม้ด้วยสาหัตถิกประโยคทั้งสอง เขาพอถูกประหารก็ตาย หรือตายด้วยโรคนั้นในภายหลัง บุคคลก็ย่อมผูกพันอยู่ด้วยกรรมขณะที่เขาถูกประหารเท่านั้น แต่เมื่อบุคคลประหารด้วยประสงค์จะให้เขาตาย แต่เขาไม่ตายด้วยการประหารนั้น กลับคิดประหารเขาอีก ผิว่า แม้ในภายหลังเขาตายด้วยการประหารครั้งแรก บุคคลก็ย่อมผูกพันด้วยกรรมในเวลานั้นเท่านั้น ถ้าว่าเขาตายด้วยการประหารครั้งที่สอง ก็ไม่เป็นปาณาติบาต แม้เมื่อเขาตายด้วยสาหัตถิกประโยคทั้งสอง บุคคลก็ผูกพันด้วยกรรม โดยการประหารครั้งแรกเท่านั้น เมื่อเขาไม่ตายแม้ด้วยสาหัตถิกประโยคทั้งสอง ก็ไม่เป็นปาณาติบาตเลย ในข้อที่แม้คนมากคนประหารคนคนเดียวก็นัยนี้ แม้ในข้อนั้นความผูกพันด้วยกรรม ย่อมมีแก่คนที่ประหารเขาตายเท่านั้น.
               การตั้งใจสั่งให้เขาทำ ชื่อว่าอาณัตติกประโยค แม้ในอาณัตติกประโยคนั้น ก็พึงทราบความผูกพันด้วยกรรม โดยนัยที่กล่าวไว้ในสาหัตถิกประโยคนั่นแล
               ก็ในอาณัตติกประโยคนั้น พึงทราบว่า มีกำหนดไว้ ๖ อย่าง
               อาณัตติกประโยคกำหนดไว้ ๖ อย่างเหล่านี้คือ
               วัตถุ ๑ กาล ๑ โอกาส ๑ อาวุธ ๑ อิริยาบถ ๑ กิริยาวิเศษ ๑

               ในข้อกำหนด ๖ นั้น สัตว์มีชีวิต พึงจำไว้ว่าวัตถุ. เวลาเช้าเวลาเย็นเป็นต้น และเวลาหนุ่มสาว เวลาเป็นผู้ใหญ่เป็นต้น ก็พึงจำไว้ว่ากาล. คาม นิคม ป่า ตรอกหรือทางแยก ดังว่ามานี้เป็นต้น พึงจำไว้ว่าโอกาส. อาวุธเป็นต้นอย่างนี้คือ ดาบ ธนูหรือหอก พึงทรงการยืนหรือการนั่งของคนที่ถูกฆ่าและคนฆ่าดังว่ามานี้เป็นต้น พึงจำไว้ว่าอิริยาบถ. การแทง การตัด การทำให้ขาด หรือกร้อนผม ดังว่ามาเป็นต้น พึงจำไว้ว่ากิริยาวิเศษ.
               ก็หากว่า คนถูกเขาสั่งให้ฆ่าผู้ใด ทำวัตถุให้คลาดเคลื่อน [ฆ่าผิดตัว] ไปฆ่าคนอื่น นอกจากผู้นั้นไซร้ ผู้สั่งก็ไม่ต้องผูกพันด้วยกรรม ถ้าเขาไม่ทำวัตถุให้คลาดเคลื่อน ฆ่าไม่ผิดตัว แม้ทั้งสองคนก็ต้องผูกพันด้วยกรรม คือผู้สั่งในขณะสั่ง ผู้ถูกสั่งในขณะฆ่า แม้ในข้อกำหนดอื่นๆ มีกาลเป็นต้นก็นัยนี้.
               ก็การปล่อยเครื่องประหารด้วยกายหรือของที่เนื่องด้วยกาย เพื่อทำเขาให้ตาย ชื่อว่านิสสัคคิยประโยค แม้นิสสัคคิยประโยคนั้น ก็แยกเป็น ๒ เหมือนกันคือ นิสสัคคิยประโยคเจาะจงและไม่เจาะจง ในข้อนี้ การผูกพันด้วยกรรมก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วในข้อต้นๆ นั่นแล
               การขุดบ่อ การวางกระดานหก การประกอบเหยื่อยาพิษและกรงยนต์เป็นต้น เพื่อทำให้เขาตาย ชื่อว่าถาวรประโยค. แม้ถาวรประโยคนั้นก็แบ่งเป็น ๒ คือถาวรประโยคเจาะจงและไม่เจาะจง. ก็ในข้อนี้ การผูกพันด้วยกรรม พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วในข้อต้นๆ
               แต่ความแปลกกันมีดังนี้ เมื่อคนหาหัวมัน ทำบ่อเป็นต้นใกล้ๆ หรือทำบ่อเปล่าก็ดีของคนอื่นๆ ผิว่า เขาตายเพราะบ่อเป็นต้นนั้น เป็นปัจจัย ความผูกพันด้วยกรรม ก็มีแก่คนหาหัวมัน. อนึ่ง เมื่อคนนั้นหรือคนอื่นกลบบ่อนั้นเสียแล้ว ทำพื้นให้เรียบ หรือคนกวาดฝุ่นโกยฝุ่นไป หรือคนขุดหัวมันขุดหัวมันทำหลุมไว้ หรือเมื่อฝนตกเกิดโคลนตม คนลงไปติดตายในโคลนตมนั้น ความผูกพันด้วยกรรม ก็มีแก่คนหาหัวมันนั่นแหละ.
               ก็ผิว่า คนที่ได้หัวมันหรือคนอื่น ทำหลุมนั้นให้กว้างหรือลึกกว่าเดิม คนลงไปตายเพราะหลุมกว้างหรือลึกนั้น ความผูกพันด้วยกรรม ก็มีแก่คนแม้ทั้งสอง เหมือนอย่างว่า มูลเหตุทั้งหลายย่อมเทียบกันได้กับการขุดหัวมันฉันใด เมื่อคนกลบหลุมให้เรียบในที่นั้น คนก็พ้นจากตกหลุม ก็ฉันนั้น.
               แม้ในถาวรประโยคมีการวางกระดานหกเป็นต้น ก็อย่างนั้นเหมือนกัน การผูกพันด้วยกรรมตามเหตุที่เกิด ก็พึงทราบตราบเท่าที่ถาวรประโยคเหล่านั้นยังเป็นไป.
               การร่ายวิทยาคมเพื่อทำให้ตาย ชื่อว่าวิชชามยประโยค.
               การทำฤทธิ์ต่างๆ ที่เกิดแต่วิบากกรรม เพื่อทำให้เขาตาย เหมือนใช้อาวุธคือเขี้ยวเป็นต้น ขบด้วยเขี้ยวเป็นอาทิ ชื่อว่าอิทธิมยประโยค.
               ส่วนอทินนาทานก็มีประโยค คือสาหัตถิกประโยคและอาณัตติกประโยคเป็นต้นที่เป็นไปโดยอำนาจเถยยาวหาร ปสัยหาวหาร ปฏิจฉันนาวหาร ปริกัปปาวหารและกุสาวหาร ประเภทแห่งประโยคแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวมาแล้วนั่นแล,
               สิกขาบทแม้ทั้งสามมีอพรหมจริยะเป็นต้น ก็ได้เฉพาะสาหัตถิกประโยคอย่างเดียว ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยประโยค ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้
               เมื่อว่าโดยองค์ ในข้อนี้
               ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ
                         ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
                         ๒. ปาณสญฺญี สำคัญว่า สัตว์มีชีวิต
                         ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
                         ๔. วายมติ พยายาม
                         ๕. เตน มรติ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
               แม้อทินนาทาน ก็มีองค์ ๕ เหมือนกัน คือ
                         ๑. ปรปริคฺคหิตํ ของมีเจ้าของหวงแหน
                         ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญญี สำคัญว่า ของมีเจ้าของหวงแหน
                         ๓. เถยฺยจิตฺตํ มีจิตคิดจะลัก
                         ๔. วายมติ พยายาม
                         ๕. เตน อาทาตพฺพํ อาทานํ คจฺฉติ ลักของได้มาด้วยความพยายามนั้น
               ส่วนอพรหมจรรย์ มีองค์ ๔ คือ
                         ๑. อชฺฌาจริยวตฺถุ สิ่งที่พึงล่วงละเมิด
                         ๒. เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพ
                         ๓. ปโยคํ สมาปชฺชติ พยายามเข้าถึง
                         ๔. สาทิยติ ยินดี
               มุสาวาท ก็มีองค์ ๔ เหมือนกัน คือ
                         ๑. มุสา เรื่องเท็จ
                         ๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดเท็จ
                         ๓. วายาโม พยายาม เกิดแต่จิตนั้น
                         ๔. ปรวิสํวาทนํ พูดเท็จต่อคนอื่น และเขารู้เรื่องเท็จ
               สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ก็มีองค์ ๔ คือ
                         ๑. สุราทีนํ อญฺญตรํ ของมึนเมามีสุราเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง
                         ๒. มทนียปาตุกมฺยตาจิตฺตํ จิตคิดอยากจะดื่มของมึนเมา
                         ๓. ตชฺชํ วายามํ อาปชฺชติ ความพยายามเกิดแต่จิตนั้น
                         ๔. ปีเต จ ปวิสติ ดื่มเข้าไปในลำคอ
               ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยองค์ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยสมุฏฐาน ในข้อนี้ปาณาติบาต อทินนาทานและมุสาวาท มีสมุฏฐาน ๓ คือ ๑. กายจิต ๒. วาจาจิต ๓. กายวาจาจิต. อพรหมจรรย์มีสมุฏฐานเดียว คือกายจิต. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานมี ๒ สมุฏฐาน คือกาย และกายจิต ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยสมุฏฐานด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยเวทนา ในข้อนี้ปาณาติบาตประกอบด้วยทุกขเวทนา. อทินนาทานประกอบด้วยเวทนา ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง มุสาวาทก็เหมือนกัน. อีกสองสิกขาบท ประกอบด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยเวทนาด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยมูล ในข้อนี้ ปาณาติบาต มีโทสะและโมหะเป็นมูล อทินนาทานและมุสาวาท มีโลภะและโมหะเป็นมูลบ้าง มีโทสะและโมหะเป็นมูลบ้าง. อีก ๒ สิกขาบทนอกนี้มีโลภะและโมหะเป็นมูล ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยมูล ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยกรรม ในข้อนี้ปาณาติบาต อทินนาทานและอพรหมจรรย์ เป็นกายกรรม และเป็นกรรมบถ มุสาวาทเป็นวจีกรรมอย่างเดียว ที่หักรานประโยชน์ ก็เป็นกรรมบถ มุสาวาทนอกนี้เป็นกรรมอย่างเดียว สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานเป็นกายกรรมอย่างเดียว ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยกรรมด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยวิรัติงดเว้น ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า บุคคลเมื่องดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น งดเว้นจากไหน. จะกล่าวชี้แจงดังนี้ ก่อนอื่น บุคคลเมื่องดเว้น โดยสมาทานวิรัติ ย่อมงดเว้นจากอกุศลกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นของตนเองหรือของคนอื่นๆ
               ปรารภอะไร. ก็ปรารภอกุศลกรรมที่จะงดเว้นนั่นแหละ เมื่องดเว้นโดยสัมปัตตวิรัติ ย่อมงดเว้นจากอกุศลกรรม ดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ปรารภอะไร. ก็ปรารภอารมณ์แห่งอกุศลกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นที่กล่าวแล้ว.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บุคคลปรารภสังขารทั้งหลาย. ที่นับได้ว่าน้ำเมา คือสุราและเมรัยจึงงดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มกินน้ำเมาคือสุราและเมรัย. บุคคลปรารภบรรดาสัตว์และสังขารเฉพาะที่ตนพึงลักและพึงหักราน จึงงดเว้นจากอทินนาทานและมุสาวาท. ปรารภสัตว์อย่างเดียว จึงงดเว้นจากปาณาติบาตและอพรหมจรรย์.
               อาจารย์นอกจากนั้นมีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลเมื่อคิดอย่างหนึ่ง ก็ทำเสียอย่างหนึ่ง ละสิ่งใดก็ไม่รู้สิ่งนั้น ดังนี้ เมื่อไม่ต้องการ [อย่างนั้น] จึงกล่าวว่า บุคคลละสิ่งใดก็ปรารภสิ่งนั้น คือ อกุศลกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นของตนนั่นแล จึงงดเว้น.
               คำนั้นไม่ถูก เพราะเหตุไร
               เพราะสิ่งนั้นไม่มีอารมณ์ปัจจุบัน และไม่มีอารมณ์ภายนอก. จริงอยู่ ในบาลีวิภังค์แห่งสิกขาบททั้งหลาย ท่านถามว่า สิกขาบททั้ง ๕ เป็นกุศลเท่าไร ฯลฯ เป็นอรณะเท่าไร แล้วในการตอบปัญหาที่ดำเนินไปอย่างนี้ว่า กุศลทั้งหลายประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี จึงกล่าวถึงความที่ธรรมมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน และอารมณ์ภายนอกอย่างนี้ว่ามีอารมณ์เป็นปัจจุบัน มีอารมณ์ภายนอก คำนั้นย่อมไม่ถูกสำหรับคนที่ปรารภอกุศลธรรม มีปาณาติบาตเป็นต้นของตน. ในคำที่ว่า บุคคลคิดอย่างหนึ่ง ทำเสียอย่างหนึ่ง และละสิ่งใดก็ไม่รู้สิ่งนั้น ขอกล่าวชี้แจง ดังนี้ บุคคลกำลังปฏิบัติโดยทำกิจให้สำเร็จ ใครจะกล่าวว่า คิดอย่างหนึ่ง ทำเสียอย่างหนึ่ง หรือว่า ละสิ่งใด ไม่รู้สิ่งนั้น ดังนี้ย่อมไม่ได้
                         อารภิตฺวาน อมตํ               ชหนฺโต สพฺพปาปเก
               นิทสฺสนญฺเจตฺถ ภเว               มคฺคฏฺโฐริยปุคฺคโล
                         พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค ปรารภอมตธรรม
               ก็ละบาปธรรมได้หมด เป็นอุทาหรณ์ในข้อนี้.
               ในข้อนี้พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยวิรัติงดเว้นด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               เมื่อว่าโดยผล บาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด ย่อมให้เกิดผลคือทุคติ และให้เกิดวิบากที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจในสุคติ ทั้งให้เกิดผลมีความไม่แกล้วกล้าเป็นต้น ในภายภาคหน้าและปัจจุบัน. อนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัย แม้โดยผลตามนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า วิบากของปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ทำให้เป็นผู้มีอายุสั้น
               อีกประการหนึ่ง ในข้อนี้ ก็พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยสมุฏฐาน เวทนา มูล กรรม และผลของเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ในเจตนางดเว้นนั้น ให้เข้าใจกันดังนี้. เวรมณี เจตนางดเว้นเหล่านี้ทั้งหมด ตั้งขึ้นโดยสมุฏฐาน ๔ คือ กาย กายจิต วาจาจิต กายวาจาจิต. ทั้งหมดนั่นแหละประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอทุกขมสุขเวทนาก็มี มีอโลภะอโทสะเป็นมูลก็มี มีอโลภะอโทสะและอโมหะเป็นมูลก็มี ในข้อนี้ เวรมณีแม้ทั้ง ๔ เป็นกายกรรม มุสาวาทาเวรมณีเป็นวจีกรรม แต่ก็ตั้งขึ้นจากจิต. ในขณะมรรคจิต แม้เวรมณีทั้งปวง ก็เป็นมโนกรรม.
               ปาณาติปาตา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้คือ
               ความมีอวัยวะใหญ่น้อยสมบูรณ์ ความมีสมบัติคือความสูงใหญ่ ความมีสมบัติคือเชาว์ว่องไว ความมีเท้าตั้งอยู่เรียบดี ความงาม ความนุ่มนวล ความสะอาด ความกล้า ความมีกำลังมาก ความมีวาจาสละสลวย ความเป็นที่รักของชาวโลก ความมีวาจาไม่มีโทษ ความมีบริษัทไม่แตกกัน ความมีความองอาจ ความมีรูปไม่บกพร่อง ความเป็นผู้ไม่ตายเพราะศัตรู ความเป็นผู้มีบริวารมาก ความเป็นผู้มีรูปงาม ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความมีโรคน้อย ความไม่เศร้าโศก ความไม่พลัดพรากกับสัตว์สังขารที่รักที่พอใจ ความมีอายุยืน.
               อทินนาทานา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้คือ
               ความมั่งมีธนทรัพย์ ความมั่งมีธัญญทรัพย์ ความมั่งมีโภคทรัพย์ ความเกิดโภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิด ความมีความถาวรมั่นคงแห่งโภคทรัพย์ที่เกิดแล้ว ความได้โภคทรัพย์ที่ปรารถนาอย่างฉับพลัน ความมีโภคทรัพย์ไม่ถูกแบ่งด้วยภัย คือ พระราชา โจร น้ำ ไฟ ทายาทที่ไม่รักกัน ความได้ธนทรัพย์ที่ไม่สาธารณ์ ความได้โลกุตรทรัพย์ ความไม่รู้จักความไม่มี ความอยู่เป็นสุข.
               อพฺรหฺมจริยา เวรมณี มีผลเป็นต้นดังนี้ คือ
               ความไม่มีศัตรู ความเป็นที่รักของคนทุกคน ความได้ข้าวน้ำผ้าและที่นอนเป็นต้น ความนอนสบาย ความตื่นสบาย ความพ้นภัยในอบาย ความเป็นผู้ไม่เกิดเป็นสตรีหรือเกิดเป็นคนไม่มีเพศ ความไม่โกรธ ความกระทำโดยเคารพ ความเป็นที่รักกันแห่งสตรีและบุรุษ ความมีอินทรีย์บริบูรณ์ ความมีลักษณะบริบูรณ์ ความไม่มีความสงสัย ความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ความอยู่เป็นสุข ความไม่มีภัยแต่ที่ไหน ความไม่มีความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่รัก
               มุสาวาทา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้ คือ
               ความมีอินทรีย์ผ่องใส ความเป็นผู้พูดวาจาไพเราะสละสลวย ความมีฟันเรียงเรียบและสะอาด ความไม่อ้วนเกินไป ความไม่ผอมเกินไป ความไม่เตี้ยเกินไป ความไม่สูงเกินไป ความมีสัมผัสสบาย ความมีปากมีกลิ่นดังดอกอุบล ความมีคนใกล้ชิดเชื่อฟังดี ความมีวาจาที่เชื่อถือได้ ความมีลิ้นอ่อนแดงบางเสมือนดอกโกมลและอุบล ความไม่ฟุ้งซ่าน ความไม่คลอนแคลน.
               สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี มีผลเป็นต้นอย่างนี้คือ
               ความปฏิญาณได้ฉับพลันในกรณียกิจทั้งปวง ทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน ความมีสติมั่นคงทุกเมื่อ ความไม่เป็นคนบ้า ความมีญาณ ความไม่เกียจคร้าน ความไม่โง่ ความไม่เป็นใบ้ ความไม่มัวเมา ความไม่ประมาท ความไม่หลง ความไม่หวาดกลัว ความไม่แข่งดี ความไม่ต้องสงสัย ความไม่ต้องแคลงใจ ความเป็นคนพูดสัจจะ ความเป็นคนพูดแต่วาจาไม่ส่อเสียด ไม่หยาบคาย ไม่เปล่าประโยชน์ ความเป็นคนไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ความมีกตัญญู มีความกตเวที ความไม่ตระหนี่ ความเสียสละ ความมีศีล ความเป็นคนตรง ความไม่โกรธ ความมีหิริ ความมีโอตตัปปะ ความมีความเห็นตรง ความมีปัญญามาก ความมีความรู้ ความเป็นบัณฑิต ความฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
               ในข้อนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยสมุฏฐาน เวทนา มูล กรรมและผลด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               พรรณนา ๕ สิกขาบทหลัง               
               คำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ข้อยุติจากคำพรรณนา ๕ สิกขาบทต้นนั้น ควรนำมาใช้ใน ๕ สิกขาบทหลัง ควรกล่าวเป็นข้อๆ และควรทราบว่าสิกขาบทมีอย่างเลวเป็นต้นไว้ด้วย บัดนี้จะพรรณนาความดังต่อไปนี้. คำใดในการพรรณนา ๕ สิกขาบทต้น ย่อมยุติถูกต้อง คำนั้นควรถือจากการพรรณนานั้นมาประกอบใน ๕ สิกขาบทหลัง. ในข้อนั้น ประกอบความดังนี้. เหมือนอย่างว่า
               เมื่อว่าโดยอารมณ์ในสิกขาบทก่อนๆ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีสังขารมีรูปายตนะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ ฉันใด ในที่นี้ วิกาลโภชนะก็ฉันนั้น พึงทราบความต่างกันแห่งอารมณ์ของ ๕ สิกขาบทหลังทุกสิกขาบท โดยนัยนี้.
               แต่เมื่อว่าโดยสมาทาน ๕ สิกขาบทต้น ที่สามเณรหรืออุบาสกสมาทาน ย่อมเป็นอันสมาทานแล้วฉันใด ๕ สิกขาบทหลังนี้ ก็ฉันนั้น. แม้เมื่อว่าโดยองค์ ความต่างกันแห่งองค์ของ ๕ สิกขาบทต้นมีปาณาติบาตเป็นต้น กล่าวไว้แล้วในที่นั้น ฉันใด แม้ในที่นี้ก็ฉันนั้น.
               วิกาลโภชนะมีองค์ ๔ คือ ๑. วิกาล ๒. ของเป็นยาวกาลิกะ ๓. การกลืนกิน ๔. ความไม่เป็นคนบ้า.
               พึงทราบความต่างกันแห่งองค์ของสิกขาบทแม้นอกนั้น โดยทำนองนี้.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยสมุฏฐานในที่นั้น สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มี ๒ สมุฏฐาน คือ กาย และกายจิต ฉันใด ในที่นี้ วิกาลโภชนะก็ฉันนั้น
               พึงทราบสมุฏฐานของสิกขาบททุกสิกขาบท โดยนัยดังนี้.
               อนึ่งเมื่อว่าโดยเวทนา ในที่นั้น อทินนาทาน ประกอบด้วยเวทนา ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันใด ในที่นี้ วิกาลโภชนะก็ฉันนั้น.
               พึงทราบการประกอบพร้อมด้วยเวทนาของสิกขาบททุกสิกขาบท โดยนัยนี้.
               อนึ่ง ในที่นั้น อพรหมจริยะ มีโลภะและโมหะเป็นมูล ฉันใด แม้ในที่นี้ วิกาลโภชนะ และอีก ๒ สิกขาบท ก็ฉันนั้น
               พึงทราบความต่างกันแห่งมูลของสิกขาบททุกสิกขาบท โดยนัยนี้.
               อนึ่ง ในที่นั้น ปาณาติบาตเป็นต้น เป็นกายกรรม ฉันใด แม้ในที่นี้ วิกาลโภชนะเป็นต้น ก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง ชาตรูปรชตปฏิคคหณะ เป็นกายกรรมก็มี เป็นวจีกรรมก็มี โดยปริยายแห่งความเป็นไปและความเกิดทางกายทวารเป็นต้น มิใช่กรรมบถ.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยวิรัติ ในที่นั้น บุคคลเมื่องดเว้น ย่อมงดเว้นจากอกุศลมีปาณาติบาตเป็นต้นของตนหรือของคนอื่นๆ ฉันใด แม้ในที่นี้ ก็ย่อมงดเว้นจากอกุศลมีวิกาลโภชนะเป็นต้น ก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยความเป็นกุศล ก็เป็นอย่างเดียวกัน ก็ ๕ เวรมณีต้นมี ๔ สมุฏฐาน คือ กาย กายจิต วาจาจิต และกายวาจาจิต ทุกเวรมณี ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอทุกขมสุขเวทนาก็มี มีอโลภะ อโทสะเป็นมูลก็มี มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นมูลก็มี และทุกเวรมณีให้เกิดผลที่น่าปรารถนามีประการต่างๆ ฉันใด แม้ในที่นี้ ก็ฉันนั้น
               ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า
                         ข้อยุติจากการพรรณนา ๕ สิกขาบทต้นนั้น ควรนำมาใช้ใน ๕ สิกขาบทหลัง
                         ควรกล่าวสิกขาบทเป็นข้อๆ ควรทราบว่า สิกขาบทมีอย่างเลวเป็นต้นไว้ด้วย.
               พึงทราบวินิจฉัยใน ๕ สิกขาบทหลังนั้น.
               คำว่า วิกาลโภชนํ ได้แก่ การบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงตรง. จริงอยู่ การบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงตรงนั้น ก็คือการบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยกาลที่ทรงอนุญาตไว้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า วิกาลโภชนะ เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลนั้น.
               ในคำว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนํ นี้ การฟ้อนรำอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่านัจจะ. การขับร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าคีตะ. การประโคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวาทิตะ. การดูสิ่งที่เป็นข้าศึก เพราะทำลายธรรมฝ่ายกุศล โดยเป็นปัจจัยทำให้เกิดกิเลส ชื่อว่าวิสูกทัสสนะ หรือการดูการเห็นที่เป็นข้าศึก ก็ชื่อว่าวิสูกทัสสนะ. การฟ้อนรำด้วย การขับร้องด้วย การประโคมด้วย การดูสิ่งที่เป็นข้าศึกด้วย ชื่อว่านัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ.
               ก็วิสูกทัสสนะ ในที่นี้พึงถือเอาตามนัยที่ตรัสไว้ในพรหมชาลสูตร.
               จริงอยู่ ในพรหมชาลสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   อนึ่ง ท่านสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบริโภคโภชนะ
                         ที่เขาให้ด้วยศรัทธา ยังชอบดูการเล่นที่เป็นข้าศึกเห็น
                         ปานนี้อยู่ คือ ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม เล่นมหรสพ
                         เล่นเล่านิทาน เล่นปรบมือ เล่นเคาะปลุกยาม เล่นตี
                         กลอง เล่นของสวยๆ ทำของสวยๆ เล่น เล่นเลียน
                         คนจัณฑาล เล่นไม้สูง เล่นหน้าศพ เล่นชนช้าง
                         เล่นชนม้า เล่นชนกระบือ เล่นชนโค เล่นชนแพะ
                         เล่นชนแกะ เล่นชนไก่ เล่นชนนกกระทา เล่นกระบี่-
                         กระบอง เล่นแข่งสุนัข เล่นมวยชก เล่นมวยปล้ำ
                         เล่นรบกัน เล่นสนามรบ เล่นตรวจพล เล่นจัดกระ-
                         บวนทัพ ดูกองทัพดังนี้เห็นปานใด พระสมณโคดม
                         เว้นขาดจากการดูการละเล่นเห็นปานนั้น ดังกล่าวมา
                         ฉะนี้.

               อีกอย่างหนึ่ง การฟ้อนรำ การขับร้องและการประโคมโดยความตามที่กล่าวมาแล้วเท่านั้นเป็นข้าศึก ชื่อว่านัจจคีตวาทิตวิสูกะ การดูการฟ้อนรำขับร้องและประโคมที่เป็นข้าศึกเหล่านั้น ชื่อว่านัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและประโคมที่เป็นข้าศึกนั้น เมื่อควรจะกล่าวว่า ทสฺสนสวนา แม้การฟังท่านก็เรียกว่า ทัสสนะ เหมือนกัน เหมือนการจับอารมณ์ แม้มิใช่เป็นไปทางจักษุทวาร ท่านก็เรียกว่าทัสสนะ ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         โส จ โหติ มิจฺฉาทิฏฺฐิโก วิปรีตทสฺสโน
                         ผู้นั้นย่อมเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด มีทัสสนะความเห็นวิปริต
               อันการล่วงละเมิดในสิกขาบทนี้ ย่อมมีแก่ผู้เข้าไปดูเพราะอยากจะดูเท่านั้น ส่วนผู้เดินไปพบหรือเห็นเฉพาะที่มาปรากฏ ในโอกาสที่ยืน นั่งนอนก็มีแต่ความเศร้าหมอง มิใช่ล่วงละเมิด ก็ในสิกขาบทนี้ การขับร้องแม้ที่อิงธรรมะ ก็ไม่ควร แต่ธรรมะที่อิงการขับร้อง พึงทราบว่าสมควร.
               ดอกไม้เป็นต้น พึงใช้ประกอบด้วยการทัดทรงเป็นอาทิ ตามสมควรในสิกขาบทนั้น คำว่า มาลา ได้แก่ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง. คำว่า วิเลปนะ ได้แก่ ของอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาบดจัดไว้เพื่อลูบไล้ นอกจากนั้นของหอมมีผงและควันอบเป็นต้นทุกอย่าง ชื่อว่า ของหอม ของหอมนั้นทุกอย่าง ใช้ตกแต่งประดับ ไม่ควร แต่ใช้เป็นยา ก็ควร. แต่ของหอมที่เขานำมาเพื่อบูชาสำหรับผู้รับไว้ ย่อมไม่ควร โดยปริยายไรๆ หามิได้.
               ที่นอนเกินขนาด ท่านเรียกว่า ที่นอนสูง ที่นอนเป็นอกัปปิยะ และเครื่องปูที่นอนเป็นอกัปปิยะ ท่านเรียกว่า ที่นอนใหญ่ ที่นอนแม้ทั้งสองอย่างนั้น สำหรับผู้รับไว้ย่อมไม่ควร ไม่ว่าโดยปริยายไรๆ.
               คำว่า ชาตรูปะ ได้แก่ ทอง. คำว่า รชตะ ได้แก่ กหาปณะ คือของใดๆ มีมาสกโลหะ มาสกไม้ และมาสกก้อนยางเป็นต้นที่เขาใช้แลกเปลี่ยนกันในประเทศนั้นๆ. ทองและเงินตราทั้งสองแม้นั้น ชื่อว่าชาตรูปรชตะ. การรับเอาทองและเงินตรานั้น ชื่อว่าปฏิคคหะ การรับ. การรับนั้น ย่อมไม่ควรไม่ว่าปริยายไรๆ.
               พึงทราบสิกขาบทเป็นข้อๆ ดังกล่าวมาฉะนี้
               ทั้ง ๑๐ สิกขาบทนี้ บุคคลสมาทาน ด้วยฉันทะหรือ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอย่างเลว ก็ชื่อว่าหีนะอย่างเลว. ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสาปานกลาง ก็ชื่อว่ามัชฌิมะอย่างกลาง. ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอย่างประณีต ชื่อว่า ปณีตะอย่างดี.
               อีกนัยหนึ่ง สิกขาบททั้ง ๑๐ นี้เศร้าหมองด้วยตัณหา ทิฏฐิและมานะ ชื่อว่าอย่างเลว. ที่ไม่เศร้าหมอง ชื่อว่าอย่างกลาง. ที่ปัญญากำกับในสิกขาบทนั้นๆ ชื่อว่าอย่างดี.
               อีกนัยหนึ่ง สิกขาบทเหล่านั้นที่สมาทานด้วยกุศลจิตเป็นญาณวิปปยุตปราศจากความรู้ ชื่อว่าอย่างเลว. ที่สมาทานด้วยกุศลจิตเป็นญาณสัมปยุต ประกอบด้วยความรู้ เป็นสสังขาริก มีเครื่องชักจูง ชื่อว่าอย่างกลาง. ที่สมาทานด้วยกุศลจิตเป็นญาณสัมปยุต เป็นอสังขาริก ไม่มีเครื่องชักจูง ชื่อว่าอย่างดี. พึงทราบว่า สิกขาบทมีอย่างเลวเป็นต้น ดังกล่าวมาฉะนี้.
               มาติกาหัวข้ออันใด ข้าพเจ้ายกเป็นบทตั้งไว้ เพื่อพรรณนาปาฐะแห่งสิกขาบทด้วยคาถา ๖ คาถามีว่า สิกขาบทนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวไว้ที่ใด กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุใด ดังนี้เป็นต้น
               มาติกาหัวข้อนั้น เป็นอันข้าพเจ้าประกาศโดยอรรถ ด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้แล.

               จบ พรรณนาสิกขาบท               
               แห่ง               
               อรรถกถาขุททกปาฐะ ปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ สิกขาบท ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 1อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 25 / 3อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=13&Z=26
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=329
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=329
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :