ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 439อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปารายนวรรค
ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖

               อรรถกถาปิงคิยสูตร#- ที่ ๑๖               
____________________________
#- บาลีเป็น ปิงคิยปัญหา

               ปิงคิยสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ชิณฺโณหมสฺมิ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ชิณฺโณหมสฺมิ อพโล วีตวณฺโณ ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง
               คือ นัยว่า พราหมณ์นั้นถูกชราครอบงำมีอายุได้ ๑๒๐ ปีโดยกำเนิด มีกำลังน้อย คิดว่า เราจักทำให้ถึงบทในที่นี้ กลับทำเสียในที่อื่น และมีผิวพรรณเศร้าหมอง.
               ด้วยเหตุนั้น ปิงคิยะจึงกล่าวว่า ชิณฺโณหมสฺมิ อพโล วีตวณฺโณ ดังนี้.
               บทว่า มาหมฺ ปนสฺสํ โมมูโห อนฺตราย ข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย คือข้าพระองค์ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมของพระองค์ ยังเป็นผู้ไม่รู้แจ้ง อย่าได้ฉิบหายเสียในระหว่างเลย.
               บทว่า ชาติปราย อิธ วิปฺปหานํ ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในที่นี้ คือขอพระองค์จงทรงบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชรา คือนิพพานธรรม ณ บาทมูลของพระองค์หรือ ณ ปาสาณกเจดีย์นี้ที่ข้าพระองค์ควรรู้เถิด.
               บัดนี้ เพราะปิงคิยะกล่าวคาถาว่า ชิณฺโณหมสฺมิ เพราะเพ่งในกาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อให้ปิงคิยะนั้นละความเยื่อใยในกายเสีย จึงตรัสว่า ทิสฺวาน รูเปสุ วิหญฺมาเน ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนในเพราะรูป ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูเปสุ คือ เพราะรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัย.
               บทว่า วิหญฺญมาเน คือ เดือดร้อนอยู่ด้วยกรรมกรณ์เป็นต้น.
               บทว่า รูปฺปนฺติ รูเปสุ ย่อมย่อยยับในเพราะรูปทั้งหลาย คือชนทั้งหลายย่อมย่อยยับย่อมลำบากด้วยโรคทั้งหลายมีโรคตาเป็นต้น เพราะรูปเป็นเหตุ.
               ปิงคิยะแม้ฟังข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจนถึงพระอรหัตแล้วก็ยังไม่บรรลุธรรมวิเศษ เพราะความชราและกำลังน้อย เมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถานี้อีกว่า ทิสา จ ตสฺโส ทิศใหญ่สี่ดังนี้ จึงวิงวอนขอให้เทศนา.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาจนถึงพระอรหัตแก่ปิงคิยะอีก จึงตรัสคาถาว่า ตณฺหาธิปนฺเน หมู่มนุษย์ถูกตัณหาครอบงำแล้วดังนี้เป็นต้น.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดเจนดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตนั่นแล.
               อนึ่ง เมื่อจบเทศนา ปิงคิยะได้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล.
               นัยว่า ปิงคิยะนั้นคิดในระหว่างๆ ว่า พาวรีพราหมณ์ผู้เป็นลุงของเราไม่ได้ฟังเทศนาอันวิจิตร เฉียบแหลมอย่างนี้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการฟังของเรา เพราะความฟุ้งซ่านด้วยความเยื่อใยนั้นปิงคิยะจึงไม่ได้บรรลุพระอรหัต.
               ส่วนชฎิล ๑,๐๐๐ ที่เป็นอันเตวาสิกของปิงคิยะนั้นได้บรรลุพระอรหัต ทั้งหมดทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ได้เป็นเอหิภิกขุด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาปิงคิยสูตรที่ ๑๖               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

               อรรถกถาปารายนานุสังคีติคาถา               
               ต่อจากนี้ไป พระสังคีติกาจารย์ เมื่อจะสรรเสริญเทศนา จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อิทมโวจ ภควา ดังนี้
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิทมโวจ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปารายนสูตรนี้.
               บทว่า ปริจารกโสฬสนฺนํ พราหมณ์มาณพ ๑๖ คนผู้เป็นบริวาร คือพราหมณ์ ๑๖ คนพร้อมด้วยปิงคิยะผู้เป็นบริวารของพาวรีพราหมณ์ หรือพราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นบริวาร. บริวารเหล่านั้นเป็นพราหมณ์ทั้งหมด. บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น บริษัทของพราหมณ์ ๑๖ คนนั่งข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้ายและข้างขวาข้างละ ๖ โยชน์ นั่งแถวตรง ๑๒ โยชน์.
               บทว่า อชฺฌิตฺโถ แปลว่า ทูลอาราธนา.
               บทว่า อตฺถมญฺญาย รู้ทั่วถึงอรรถ คือรู้ความแห่งบาลี.
               บทว่า ธมฺมมญฺญาย รู้ทั่วถึงธรรม คือรู้ธรรมในบาลี.
               พระสังคีติกาจารย์ตั้งชื่อธรรมปริยายนี้อย่างนี้ว่า ปารายนะ แล้วเมื่อจะประกาศชื่อของพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า อชิโต ติสฺสเมตฺเตยโย ฯเปฯ พุทฺธเสฏฺฐมุปคามุํ พราหมณ์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ติสสเมตเตยยะ ฯลฯ ได้เข้าไปเฝ้าทูลถามปัญหากะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนจรณํ ผู้มีจรณะสมบูรณ์ คือถึงพร้อมแล้วด้วยศีลในพระปาติโมกข์เป็นต้น อันเป็นเหตุใกล้ให้ถึงพระนิพพาน.
               บทว่า อิสึ ได้แก่ ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
               คำที่เหลือชัดแล้วต่อจากนี้ไป.
               บทว่า พฺรหฺมจริยมจรึสุ ความว่า พราหมณ์ทั้งหลายได้ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น บทว่า ปารายนํ ท่านอธิบายว่า เป็นทางไปสู่นิพพานอันเป็นฝั่งโน้นนั้น.
               บทว่า ปารายนมนุคายิสฺสํ ปิงคิยะกล่าวว่า อาตมาจักขับตามภาษิต เครื่องไปยังฝั่งโน้น นี้เป็นความเชื่อมของบทว่า ปารายนํ นั้น.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปารายนสูตรจบแล้ว ชฎิล ๑๖,๐๐๐ ได้บรรลุพระอรหัต. เทวดามนุษย์นับได้ ๑๔ โกฎิที่เหลือได้บรรลุธรรม.
               สมดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า
                         แต่นั้นพระพุทธเจ้าทรงยังสัตว์ ๑๔ โกฏิให้ดื่มอมตธรรม
                         ในปารายนสมาคมอันน่ารื่นรมย์ ที่ปาสาณกเจดีย์.

               ก็แลครั้นจบพระธรรมเทศนาแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่มาจากที่นั้นๆ ได้ไปปรากฎในคามนิคมเป็นต้นของตนๆ ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปกรุงสาวัตถี แวดล้อมด้วยภิกษุไม่น้อย มีภิกษุผู้เป็นบริวาร ๑๖,๐๐๐ รูปเป็นต้น ณ ที่นั่น ปิงคิยะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขอไปเพื่อบอกพาวรีพราหมณ์ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว เพราะพาวรีพราหมณ์นั้นจะรับฟังข้าพระองค์ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระปิงคิยะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วจึงไปยังฝั่งแม่น้ำโคธาวรีโดยไปด้วยฌาน มุ่งหน้าไปยังอาศรมด้วยการเดินเท้า.
               พาวรีพราหมณ์เห็นพระปิงคิยะเดินทางไปถึงจึงถามว่า ปิงคิยะ พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้วหรือ.
               ปิงคิยภิกษุตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วพราหมณ์ พระองค์ประทับนั่ง ณ ปาสาณกเจดีย์แสดงธรรมแก่พวกอาตมา อาตมาจักแสดงธรรมนั้นแก่ท่าน.
               ลำดับนั้น พาวรีพราหมณ์พร้อมด้วยบริษัทบูชาพระปิงคิยะนั้นด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก แล้วปูอาสนะให้นั่ง.
               พระปิงคิยะนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว กล่าวคาถามีอาทิว่า ปารายนมนุคายิสฺสํ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนฺคายิสฺสํ คือ อาตมภาพจักขับภาษิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับแล้ว.
               บทว่า ยถา อทฺทกฺขิ อาตมาขอกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นแล้ว คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นแล้วด้วยอสาธารณญาณ (ญาณไม่ทั่วไป) อันเป็นการตรัสรู้ยิ่งตามความจริงด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า นิกฺกาโม ไม่มีความใคร่ คือละความใคร่ได้แล้ว. ปาฐะว่า นิกฺกโม บ้าง แปลว่ามีความเพียร หรือออกจากธรรมฝ่ายอกุศล.
               บทว่า นิพฺพาโน ทรงดับกิเลส คือเว้นจากเครื่องร้อยรัดคือกิเลส หรือเว้นจากตัณหานั่นเอง. บทว่า กิสฺส เหตุ มุสา ภเณ จะพึงตรัสมุสาเพราะเหตุไร. ท่านแสดงไว้ว่ากิเลสอันเป็นเหตุให้กล่าวมุสา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละได้แล้ว.
               พระปิงคิยะให้พราหมณ์เกิดอุตสาหะในการฟังด้วยบทนี้.
               บทว่า วณฺณูปสญฺหิตํ คือ วาจาอันประกอบด้วยคุณ. บทว่า สจฺจวฺหโย มีพระนามตามความเป็นจริง คือประกอบด้วยพระนามตามความเป็นจริงว่า พุทฺโธ.
               บทว่า พฺรหฺเม พระปิงคิยะเรียกพราหมณ์นั้น.
               บทว่า กุพฺพนํ ได้แก่ ป่าเล็ก.
               บทว่า พหุปฺผลํ กานนํ อาวเสยฺย มาอยู่อาศัยป่าใหญ่อันมีผลไม้มาก คือมาอยู่อาศัยป่าใหญ่อันบริบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลายชนิด.
               บทว่า อปฺปทสฺเส อาตมาละอาจารย์ผู้มีความเห็นน้อย คือละคณาจารย์เริ่มต้นแต่พาวรีพราหมณ์.
               บทว่า มโหทธึ ได้แก่ ห้วงน้ำใหญ่มีสระอโนดาตเป็นต้น.
               บทว่า เยเม ปุพฺเพ ตัดบทเป็น เย อิเม ปุพฺเพ.
               บทว่า ตมนุทาสีโน คือ ทรงบรรเทาความมืด สงบระงับได้. บทว่า ภูริปญฺญาโณ คือ มีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจธง. บทว่า ภูริเมธโส คือ มีพระปัญญากว้างขวาง. บทว่า สนฺทิฏฺฐิกมกาลิกํ ทรงแสดงธรรมอันบุคคลพึงเห็นเองไม่ประกอบด้วยกาล คือพึงเห็นผลด้วยตนเอง ไม่พึงเห็นผลในกาลที่มีระหว่าง. บทว่า อนีติกํ ไม่มีจัญไร คือเว้นจากจัญไรมีกิเลสเป็นต้น.
               ลำดับนั้น พาวรีพราหมณ์กล่าวคาถาสองคาถากะปิงคิยภิกษุนั้นว่า กินฺนุ ตมฺหา เหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ดังนี้เป็นต้น.
               จากนั้น ท่านปิงคิยะเมื่อจะแสดงถึงการที่ต้องจากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวคาถามีอาทิว่า นาหํ ตมฺหา อาตมามิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ดังนี้.
               บทว่า ปสฺสามิ นํ มนสา จกฺขุนา วา ความว่า อาตมาเห็นพระโคดมนั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยจักษุ. บทว่า นมสฺสมาโน วิวเสมิ รตฺตึ คือ อาตมานมัสการนอบน้อมอยู่ตลอดคืน. บทว่า เตน เตเนว นโต อาตมานอบน้อมไปโดยทิศนั้นๆ คือแสดงว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่โดยทิศาภาคใด แม้อาตมาก็นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ.
               บทว่า ทุพฺพลถามกสฺส คือ มีกำลังเรี่ยวแรงน้อย. อีกอย่างหนึ่ง มีกำลังน้อยและมีโรคเบียดเบียน. ท่านอธิบายว่า มีกำลังและความเพียรเลวลง.
               บทว่า เตเนว กาโย น ปเลติ กายไม่เข้าไปด้วยเหตุนั้นนั่นเอง คือกายไม่ไป เพราะมีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง หรือว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่โดยที่ใด กายไม่ไปโดยที่นั้น. ปาฐะว่า น ปเรติ บ้าง ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในสำนักของพระพุทธเจ้า. บทว่า สงฺกปฺปยนฺตาย คือ ด้วยการไปแห่งความดำรินั้น.
               บทว่า เตน ยุตฺโต ใจของอาตมาประกอบด้วยพระพุทธเจ้านั้น. ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด ใจประกอบแล้ว ไม่ปราศจากการประกอบ คือมุ่งตรงต่อพระพุทธองค์ ณ ที่นั้น.
               บทว่า ปงฺเก สยาโน คือ อาตมานอนอยู่บนเปือกตมคือกามทั้งหลาย.
               บทว่า ทีปา ทีปํ อุปลฺลวึ แล่นจากที่พึ่งหนึ่งไปสู่ที่พึ่งหนึ่ง คือเข้าไปหาศาสดาทั้งหลายเป็นต้น.
               บทว่า อถทฺทสาสึ สมฺพุทฺธํ ครั้งนั้น อาตมาได้เห็นพระพุทธเจ้า คืออาตมานั้นได้ถือความเห็นผิดๆ แล้วเที่ยวไปตามลำดับ.๑-
               ครั้งนั้นได้เห็นพระพุทธเจ้า ณ ปาสาณกเจดีย์.
__________________
๑- ม. อนฺวาหิณฺฑนฺโต.

               เมื่อจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของพระปิงคิยะและของพราหมณ์พาวรีแล้วประทับยืนอยู่ ณ กรุงสาวัตถีนั้นเอง ทรงเปล่งพระรัศมีสีทองไป.
               พระปิงคิยะนั่งพรรณนาถึงพระพุทธคุณแก่พราหมณ์พาวรีอยู่นั่นแหละ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่านี้อะไร เหลียวแลไปได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจประทับอยู่ข้างหน้าตน จึงบอกพาวรีพราหมณ์ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว.
               พราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ยืนประคองอัญชลี.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแผ่พระรัศมีแล้ว จึงทรงแสดงตนแก่พราหมณ์ ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของคนทั้งสอง เมื่อจะตรัสเรียกพระปิงคิยะเท่านั้น จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า ยถา อหุ วกฺกลิ ดังนี้เป็นต้น
               บทนั้นมีความดังนี้
               พระวักกลิ พระภัทราวุธแห่งมาณพ ๑๖ และพระอาฬวิโคดม เป็นผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธาแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตด้วยศรัทธาทุกรูปฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธานั้นฉันนั้น แต่นั้นเมื่อท่านน้อมใจไปด้วยศรัทธา ปรารภวิปัสสนาโดยนัยมีอาทิว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพานอันเป็นฝั่งโน้นแห่งวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัตนั่นแล.
               เมื่อจบเทศนาพระปิงคิยะตั้งอยู่ในพระอรหัต. พาวรีพราหมณ์ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. ส่วนศิษย์ ๕๐๐ ของพาวรีพราหมณ์ได้เป็นพระโสดาบัน.
               บัดนี้ ปิงคิยภิกษุ เมื่อประกาศความเลื่อมใสของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอส ภิยฺโย ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปฏิภาณวา ทรงมีปฏิภาณ คือเข้าถึงปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ). บทว่า อธิเทเว อภิญฺญาย คือ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุให้เรียกว่าอธิเทพ.
               บทว่า ปโรวรํ คือ เลวและประณีต. ท่านอธิบายว่า รู้ธรรมชาติทั้งปวงอันทำความเป็นอธิเทพ ของตนและของคนอื่น.
               บทว่า กงฺขีนํ ปฏิชานตํ คือ เหล่าชนผู้มีความสงสัย ปฏิญาณอยู่ว่า เราหมดความสงสัยในธรรมของสัตบุรุษ. บทว่า อสํหิรํ ได้แก่ นิพพานอันราคะเป็นต้นนำไปไม่ได้.
               บทว่า อสงฺกุปฺปํ คือ ไม่กำเริบมีอันไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา.
               พระปิงคิยะกล่าวถึงนิพพานด้วยบทสองบท.
               บทว่า อทฺธา คมิสฺสามิ คือ ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นเป็นแน่แท้.
               บทว่า น เมตฺถ กงฺขา คือ ความสงสัยในนิพพานนี้มิได้มีแก่ข้าพระองค์.
               บทว่า เอวํ มํ ธาเรหิ อธิมุตฺตจิตฺตํ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว คือพระปิงคิยะยังศรัทธาให้เกิดขึ้นในตนด้วยพระโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ว่า แล้วปล่อยเสียด้วยศรัทธาธุระนั่นเอง เมื่อจะประกาศความที่ตนมีจิตน้อมไปแล้วด้วยศรัทธา จึงทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้วเถิด ด้วยประการฉะนี้.
               อธิบายในที่นี้มีดังต่อไปนี้ว่า
               พระองค์ตรัสกะข้าพระองค์อย่างใด ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า อธิมุตตะ ผู้น้อมใจไปแล้วเถิด.

               จบอรรถกถาพระสูตร               
               แห่งปารายนานุสังคีติคาถา ในกัณฑ์แห่งอรรถกถาสุตตนิบาต               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               จบอรรถกถาปารายนวรรคที่ ๕               
               ------------------------------------------------               

               นิคมกถา               
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คำใดที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า
                                   ข้าพเจ้าทั้งหลายจักไหว้พระรัตนตรัย
                         ผู้สูงสุดกว่าผู้ที่ควรไหว้ทั้งหลาย จักกระทำการ
                         พรรณนาความแห่งสุตตนิบาต อันพระโลกนาถ
                         สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ละความกระหายคือตัณหา
                         ได้แล้ว ผู้ทรงแสวงหาวิธีรื้อถอนสัตว์ออกจาก
                         โลก ตรัสไว้แล้วในขุททกนิกาย.
               เป็นอันได้กระทำการพรรณนาความแห่งสุตตนิบาตอันมีสูตร ๗๐ สูตร มีอุรคสูตรเป็นต้น สงเคราะห์ลงใน ๕ วรรค มีอุรควรรคเป็นต้น ในข้อนี้
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนั้นว่า
                                   กุศลใด อันข้าพเจ้าผู้กระทำการพรรณนา
                         ความแห่งสุตตนิบาตนี้ ผู้ใคร่เพื่อความตั้งมั่นแห่ง
                         พระสัทธรรม เพราะอานุภาพแห่งกุศลนั้น ขอชน
                         นี้จงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม อัน
                         พระอริยะประกาศไว้แล้วโดยเร็วเถิด.
               พึงทราบว่า มีภาณวารประมาณ ๔๔ ภาณวาร โดยประมาณแห่งปริยัติ.
               อรรถกถาสุตตนิบาตชื่อปรมัตถโชติกานี้ อันพระเถระมีชื่อซึ่งครูทั้งหลายตั้งไว้ว่า
               พุทธโฆสะ ผู้ประดับด้วยคุณ คือศรัทธาพุทธิและวิริยะอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ผู้ปรากฏเหตุให้เกิดคุณมีศีล อาจาระ ความอ่อนโยนเป็นต้น ผู้ประกอบด้วยความเฉลียวฉลาดทางปัญญา สามารถหยั่งลงในความยึดถือทั้งในลัทธิของตนและลัทธิอื่นได้ เป็นมหากวี มีวาทะประเสริฐ กล่าวคำเหมาะสม ประกอบด้วยการพรรณนาคำอันไพเราะและวิเศษ ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการทำและเข้าถึงความสุขด้วยการทำให้แจ่มแจ้งเข้าใจ เพราะมีความรู้อันอะไรๆ ไม่ขัดขวางได้ในสัตถุศาสน์ พร้อมด้วยอรรถกถาอันมีประเภทเป็นปริยัตคือพระไตรปิฎก เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางบริสุทธิ์ อันเป็นเครื่องประดับของวงศ์ของพระเถระผู้อยู่ในมหาวิหารอันเป็นประทีปของเถรวงศ์ ผู้มีปัญญาตั้งไว้ดีแล้วในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ประดับด้วยประเภทธรรมมีอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาเป็นต้นได้แต่งไว้แล้ว.
                                   ขออรรถกถาขุททกนิกายสุตตนิบาตอันแสดงนัย
                         แห่งปัญญาอันบริสุทธิ์แก่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้แสวงหาการ
                         รื้อถอนออกจากโลก จงดำรงอยู่ในโลก ตราบเท่าแม้พระ
                         นามว่า พุทฺโธ ของพระโลกเชษฐ์ ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ผู้คงที่
                         ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ยังเป็นไปอยู่ในโลก.
               เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายผู้บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าดุจห้วงน้ำ จงมีความสุข มีความฉลาด ไม่มีเวร ชนทั้งหมดจงมีกายไร้โรค คล่องแคล่วมีปัญญา เป็นคนดี ดำรงตนอยู่ในความดีดังนี้ ความที่ใจไม่อยู่ในอำนาจ เว้นการยึดถือว่าเป็นตัวตนเพราะไม่มีแก่นสาร เหมือนต้นกากะทิง คนเล่นกล พะยับแดด ต้นกล้วย โดยนัยมีอาทิว่า ขันธ์ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงถึงการเกิดและการดับไปทุกขณะ มีธุลีคือราคะเป็นภัย ละคติอันประเสริฐ ไม่น่าปรารถนาเข้าไปหาคติลามกหลายอย่างในโลก ย่อมฟุ้งไปด้วยความสุข คือภพ ๓ มีกายวาจาใจทรมานแล้ว. อันเตวาสิกจงเข้าถึงนิพพานเถิด.

                         สุตฺตุทฺทานํ๑-
                         อุรุโค ธนิโยปิ    ขคฺควิสาโณ กสิ
                         จุนฺโท ภเว ปุนเทว    วสโล จ กรณีย
                         เหมวโต อถ ยกฺโข    วิชยํ สุตฺตวรํ มุนิ
                         ฯ ป ฯ
                                   เขมสิวํ สุขสีตลสนฺตํ
                                   มจฺจุตฺตาณปรมตฺถํ
                                   ตสฺส สุนิพฺพุตทสฺสนเหตุํ
                                   เทสยิ สุตฺตวรํ ทิปทคฺโค ฯ
                                   สุตฺตนิปาโต นิฏฺฐิโต ฯ
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๔๔

               จบอรรถกถาสุตตนิบาต               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปารายนวรรค ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 439อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=11405&Z=11613
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=10200
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=10200
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :