ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 55อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 25 / 58อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ คัพภินีสูตร

               อรรถกถาคัพภินีสูตร               
               คัพภินีสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อญฺญตรสฺส ปริพฺพาชกสฺส ได้แก่ ของกุฏุมพีปริพาชกผู้หนึ่ง.
               บทว่า ทหรา แปลว่า เป็นสาว.
               บทว่า มาณวิกา เป็นโวหารเรียกธิดาของพราหมณ์.
               บทว่า ปชาปตี แปลว่า ภรรยา.
               บทว่า คพฺภินี แปลว่า ผู้มีครรภ์.
               บทว่า อุปวิชญฺญา เชื่อมความว่า เป็นผู้มีเวลาจะคลอดปรากฏว่า วันนี้ พรุ่งนี้.
               ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นเป็นชาติพราหมณ์มีภรรยา ตั้งอยู่ที่อาศรมชื่อวาทปัตถะ เพราะเหตุนั้น คนจึงเรียกเขาผู้มีภรรยา โดยโวหารว่า ปริพาชก. ส่วนภรรยาของเขาเรียกว่า พราหมณ์ เพราะมีชาติเป็นพราหมณ์.
               บทว่า เตลํ ได้แก่ น้ำมันงา.
               ก็ในข้อนี้ว่า โดยวัตถุมีน้ำมันเป็นประธาน นางจึงสั่งว่า ท่านจงนำเอาสิ่งที่หญิงผู้จะคลอดต้องการ เพื่อบำบัดทุกข์ในเวลาคลอดทั้งหมด มีเนยใสและเกลือเป็นต้นมา.
               บทว่า ยํ เม วิชาตาย ภวิสฺสติ ความว่า สิ่งใดมีน้ำมันเป็นต้น จักเป็นอุปการะแก่เราผู้มีครรภ์จะคลอดออกไป.
               ปาฐะว่า ปริพฺพาชิกาย ดังนี้ก็มี.
               บทว่า กุโต แปลว่า จากที่ไหน. อธิบายว่า เราพึงนำน้ำมันเป็นต้นมาจากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นตระกูลญาติตระกูลมิตร ที่นั้นไม่มีแก่เรา.
               บทว่า เตลํ อาหรามิ ท่านกล่าวให้เป็นปัจจุบันกาล เพราะใกล้กาลอันเป็นปัจจุบัน หมายความว่าจักนำน้ำมันมา.
               วา ศัพท์ในบทว่า สมณสฺส วา ก็ดี พฺราหฺมณสฺส วา ก็ดี สปฺปิสฺส วา ก็ดี เตลสฺส วา ก็ดี เป็นสมุจจยัตถะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า อคฺคิโต วา อุทกโต วา มิถุเภทา วา.
               บทว่า สปฺปิสฺส วา เตลสฺส วา เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถปฐมาวิภัตติ. อธิบายว่า เนยใสและน้ำมันอันเขาให้ดื่มเท่าที่ต้องการ.
               ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า สปฺปิสฺส วา เตลสฺส วา เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถว่า ส่วนย่อยและสิ่งที่มีส่วนย่อย จริงอย่างนั้น ส่วนย่อยของกลุ่มเนยใสและน้ำมัน ในที่นี้ท่านเรียกโดยศัพท์เท่าที่ต้องการ.
               บทว่า โน นีหริตุํ ความว่า เขาไม่ให้ใช้ภาชนะหรือมือนำออกไปข้างนอก.
               บทว่า อุจฺฉินฺทิตฺวา ได้แก่ สำรอกออก. เชื่อมความว่า ไฉนหนอ เราพึงสำรอกออก. ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะไปเรือนคลังของพระราชาดื่มน้ำมันแค่คอ แล้วมาเรือนในทันทีสำรอกตามที่ดื่มลงไว้ในภาชนะหนึ่ง จักยกขึ้นเตาไฟต้ม สิ่งที่เจือด้วยดีและเสมหะเป็นต้น ไฟจักไหม้ แต่เราจักเอาแต่น้ำมันไปใช้ในการงานของนางปริพาชิกานี้.
               บทว่า อุทฺธํ กาตุํ ได้แก่ เพื่อนำขึ้นข้างบนโดยจะสำรอกออก.
               บทว่า น ปน อโธ ความว่า แต่ไม่อาจเพื่อจะนำออกข้างล่างด้วยการถ่ายออก. จริงอยู่ ปริพาชกนั้นดื่มด้วยคิดว่า จักสำรอกสิ่งที่เราดื่มเข้าไปมากๆ ออกจากปากเสียเอง เมื่อสิ่งที่ดื่มเข้าไปไม่ออกมา เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่กระเพาะ ไม่รู้หรือไม่ได้สิ่งที่ควรจะสำรอกและถ่ายออกได้ ได้รับทุกขเวทนาอย่างเดียว จึงหมุนไปหมุนมา.
               บทว่า ทุกฺขาหิ แปลว่า มีทุกข์.
               บทว่า ติปฺปาหิ ได้แก่ มาก หรือแรงกล้า.
               บทว่า ขราหิ ได้แก่ กล้าแข็ง.
               บทว่า กฏุกาหิ ได้แก่ ทารุณ เพราะเป็นของไม่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง.
               บทว่า อาวฏฺฏติ ความว่า เมื่อไม่นอนอยู่ในที่เดียว พาร่างของตนไปข้างโน้นข้างนี้ ชื่อว่าหมุนไป.
               บทว่า ปริวฏฺฏติ ความว่า แม้นอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เมื่อสลัดอวัยวะน้อยใหญ่ไปรอบๆ ชื่อว่าหมุนไปรอบ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อหมุนไปตรงหน้า ชื่อว่าหมุนไป เมื่อหมุนไปรอบๆ ชื่อว่าหมุนไปรอบ.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ครั้นทรงทราบโดยประการทั้งปวง ถึงความนี้ว่า ความเกิดทุกข์อันนี้ เหตุเพราะบริโภคโดยไม่พิจารณาของคนผู้มีกิเลสเครื่องกังวล มีอยู่ แต่สำหรับคนไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมไม่มีทุกข์นี้โดยประการทั้งปวง ดังนี้ แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขิโน วต ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายมีความสุขหนอ.
               ถามว่า ก็สัตบุรุษเหล่านั้น คือพวกไหน?
               ตอบว่า คือ พวกที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลที่ชื่อว่า อกิญจนะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น และกิเลสเครื่องกังวลในสิ่งที่หวงแหน พระองค์จึงตรัสว่า เวทคุโน หิ ชนา อกิญฺจนา พวกชนผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล.
               บุคคลผู้ชื่อว่า เวทคู เพราะถึง คือบรรลุเวท กล่าวคืออริยมรรคญาณ หรือถึงคือบรรลุพระนิพพานด้วยเวทนั้น. อริยชนเหล่านั้นคือบุคคลผู้สิ้นอาสวะ ชื่อว่าอกิญจนะ เพราะตัดกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้นได้เด็ดขาด ด้วยอรหัตมรรค. ก็เมื่อกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้นไม่มี กิเลสเครื่องกังวลในสิ่งที่หวงแหน จักมีแต่ที่ไหน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงสรรเสริญบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ ด้วยบุรพภาคแห่งคาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงติเตียนอันธปุถุชน ด้วยอปรภาคแห่งคาถา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สกิญฺจนํ ปสฺส. คำนั้นมีอรรถดังกล่าวไว้แล้วในสูตรแรกนั่นแหละ ด้วยคาถาแม้นี้พระองค์ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               จบอรรถกถาคัพภินีสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ คัพภินีสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 55อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 25 / 58อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1818&Z=1847
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=2718
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=2718
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :