ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 399อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 400อ่านอรรถกถา 26 / 401อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อประกาศคุณของตน จึงได้กล่าวคาถามีอาทิว่า สาริปุตฺโตว ดังนี้.
               บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาว่า สาริปุตฺโตว มีความสังเขปดังต่อไปว่า
               ภิกษุใดถึงฝั่งคือถึงความสิ้นสุด คือความอุกฤษฏ์ด้วยปัญญา เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยศีล เพราะถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยความสงบ เพราะถึงพร้อมด้วยความสงบกิเลส ภิกษุนั้นคือพระสารีบุตร ผู้ถึงที่สุดยิ่งด้วยคุณมีปัญญาเป็นต้นกว่าสาวกทั้งหลาย. เพราะท่านถึงความอุกฤษฏ์อย่างยิ่งด้วยปัญญา ด้วยศีล. ท่านเป็นผู้มีคุณมีปัญญาเป็นต้นเป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่ามีคุณมีปัญญาเป็นต้นนั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีคุณธรรมอื่นยิ่งกว่านั้น. แต่พระเถระได้กล่าวคำนี้เพื่อแสดงว่า เราเป็นผู้สูงสุดด้วยสมาธิเหมือนพระสารีบุตรเป็นผู้สูงสุดด้วยปัญญาฉะนั้น เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า โกฏิสตสหสฺสสฺส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขเณน นิมฺมิเน ความว่า พึงนิรมิต คือพึงสามารถเพื่อจะนิรมิตอัตภาพตั้งแสนโกฏิโดยขณะเดียวเท่านั้น. เราไม่มีหน้าที่ในการนิรมิตนั้น.
               บทว่า วิกุพฺพนาสุ กุสโล วสีภูโตมฺหิ อิทฺธิยา ความว่า ไม่ใช่เป็นผู้ฉลาดในวิกุพพนาอิทธิอันสำเร็จด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ เรายังเป็นผู้ถึงความชำนาญด้วยฤทธิ์แม้ทั้งหมด.
               บทว่า สมาธิวิชฺชาวสิปารมีคโต ความว่า เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งบารมี คือที่สุดโดยความเป็นผู้ชำนาญในสมาธิอันมีวิตกและมีวิจารเป็นต้น และในวิชชามีปุพเพนิวาสญาณเป็นต้น. เป็นที่ตั้งแห่งท่านผู้เว้นจากตัณหานิสัยเป็นต้น คือถึงความเป็นผู้สูงสุดด้วยคุณตามที่กล่าวแล้วในพระศาสนา.
               ชื่อว่าผู้เป็นนักปราชญ์ เพราะเพียบพร้อมด้วยปัญญา.
               ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเป็นโมคคัลลานโคตร ชื่อว่ามีอินทรีย์ตั้งมั่นแล้ว เพราะมีอินทรีย์ตั้งมั่นด้วยดี ตัดเครื่องผูกคือกิเลสทั้งสิ้นเสียได้ เหมือนช้างเชือกประเสริฐตัดเครื่องผูกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนได้โดยง่ายดายฉะนั้น.
               พระเถระเมื่อจะคุกคามมารผู้เข้าไปสู่ท้องแล้วออกตามลำดับแล้วมายืนอยู่ ได้กล่าวคาถามีอาทิว่า กีทิโส นิรโย อาสิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กีทิโส ความว่า เป็นประการเช่นไร?
               บทว่า ยตฺถ ทุสฺสี ความว่า มารผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า ทุสสี ในนรกใด.
               บทว่า อปจฺจถ ความว่า หมกไหม้ด้วยไฟในนรก.
               บทว่า วิธุรํ สาวกํ ความว่า อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ชื่อว่าวิธุระ.
               บทว่า อาสชฺช ความว่า ทุบตีเบียดเบียน.
               บทว่า กกุสนฺธญฺจ พฺราหฺมณํ ความว่า กระทบกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ. มารเข้าสิงกุมาร๑- ซัดก้อนกรวดเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า ตกลงบนศีรษะของพระเถระ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๖๔

               บทว่า สตํ อาสิ อโยสงฺกุ ความว่า ได้ยินว่า สัตว์ผู้เกิดในนรกนั้นมีอัตภาพถึง ๓ คาวุต. แม้ทุสสีมารก็มีอัตภาพเช่นนั้นเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น นายนิรยบาลทั้งหลายต่างถือเอาหลาวเหล็กตั้ง ๑๐๐ อันขนาดเท่าลำต้นตาล อันไฟลุกโชนรุ่งโรจน์โชติช่วงกล่าวว่า ท่านมีหัวใจตั้งอยู่ที่นี้แหละ คิดทำบาป ดังนี้แล้ว จึงจัดเป็นคนจำนวน ๕๐ คนผินหน้าไปทางเท้า จำนวน ๕๐ คนผินหน้าไปทางศีรษะ ตอกตรงกลางหัวใจ ย้ำเข้าไปๆ เหมือนคนตำปูนขาวในรางสำหรับตำปูนขาวฉะนั้น ก็แลเมื่อตำไปอย่างนี้ ๕๐๐ ปีจึงถึงที่สุดทั้ง ๒ ข้าง แล้วหวนกลับมาถึงกลางหัวใจอีก ๕๐๐ ปี ท่านหมายเอาข้อนั้นจึงกล่าวว่า มีขอเหล็กตั้ง ๑๐๐ อัน.
               บทว่า สพฺเพ ปจฺจตฺตเวทนา ได้แก่ ให้เกิดเวทนาเฉพาะของตนเองทีเดียว.
               ได้ยินว่า เวทนานั้นเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเวทนาในมหานรก คือเวทนาที่เกิดในอุสนรกเป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์ในมหานรก เหมือน ๗ วันในการบริหาร เป็นทุกข์กว่า ๗ วันในการดื่มด้วยความเสน่หา.
               ด้วยบทว่า อีทิโส นิรโย อสิ นี้พึงแสดงนรกในที่นี้ด้วยเทวทูตสูตร.
               บทว่า โย เอตมภิชานาติ ความว่า ภิกษุใดมีอภิญญามาก ย่อมรู้กรรมและผลแห่งกรรมนี้ โดยประจักษ์เฉพาะหน้า ดุจรู้ผลมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น.
               บทว่า ภิกฺขุ พุทฺธสฺส สาวโก ความว่า ภิกษุผู้ทำลายกิเลสได้แล้ว เป็นสาวกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า กณฺห ทุกฺขํ นิคจฺฉสิ ความว่า ดูก่อนมารชื่อว่าผู้มีธรรมดำ เพราะประกอบด้วยบาปธรรมอันดำโดยส่วนเดียว ท่านจักประสบทุกข์.
               บทว่า มชฺเฌสรสฺมึ ความว่า ได้ยินว่า วิมานที่เกิดโดยทำน้ำ ตรงกลางมหาสมุทรให้เป็นที่ตั้ง เป็นวิมานตั้งอยู่ชั่วกัป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิมานทั้งหลายตั้งอยู่ได้ตลอดกัป ดังนี้เป็นต้น. วิมานเหล่านั้นมีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์และมีเปลวไฟโชติช่วง เหมือนกองไฟแห่งไม้อ้อที่ลุกโพลงบนยอดภูเขาฉะนั้น เพราะเหตุนั้น วิมานเหล่านั้นจึงสว่างไสวพรั่งพร้อมด้วยรัศมีมากมาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ งดงาม มีรัศมีพลุ่งออก เหมือนเปลวไฟ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปุถุ นานตฺตวณฺณิโย ความว่า นางอัปสรเป็นอันมาก มีวรรณะต่างๆ กันโดยมีวรรณะเขียวเป็นต้น ย่อมฟ้อนรำในวิมานเหล่านั้น.
               บทว่า โย เอตมภิชานาติ ความว่า ภิกษุใดย่อมรู้เรื่องวิมานนั้นโดยแจ่มแจ้ง.
               ก็เนื้อความนี้ พึงแสดงด้วยเรื่องวิมานเปรตทั้งหลายเถิด.
               บทว่า พุทฺเธน โจทิโต ความว่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตักเตือน คือทรงส่งไป.
               บทว่า ภิกฺขุสงฺฆสฺส เปกฺขโต ได้แก่ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ผู้เห็นอยู่.
               บทว่า มิคารมาตุปาสาทํ ปาทงฺคุฏฺเฐน กมปยิ ความว่า เราทำมหาปราสาทที่ประดับด้วยห้อง ๑,๐๐๐ ห้องอันนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างไว้ในบุพพาราม ให้ไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้าของตน.
               จริงอยู่ สมัยนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในปราสาทตามที่กล่าวแล้ว ในบุพพาราม พวกภิกษุใหม่ๆ จำนวนมากนั่นอยู่บนปราสาทชั้นบน แม้ก็ไม่คำนึงถึงพระศาสดา เริ่มกล่าวเดรัจฉานกถากัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้น จึงยังพวกภิกษุเหล่านั้นให้สลดใจ ทรงประสงค์จะทำให้เป็นภาชนะสำหรับพระธรรมเทศนาของพระองค์ จึงตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานเถระมาว่า โมคคัลลานะ เธอจงดูพวกภิกษุใหม่ที่พากันกล่าวเดรัจฉานกถา.
               พระเถระได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว รู้พระอัธยาศัยของพระศาสดา จึงเข้าจตุตถฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์อันเป็นบาทของอภิญญาแล้ว ออกจากฌานอธิษฐานว่า จงมีน้ำเต็มโอกาสของปราสาทเถิด แล้วเอานิ้วหัวแม่เท้ากดยอดปราสาท, ปราสาทโอนเอียงไปข้างหนึ่ง. กดซ้ำอีกก็เอียงไปอีกข้างหนึ่ง.
               ภิกษุเหล่านั้นพากันกลัวหวาดเสียว เพราะกลัวตกปราสาท จึงออกจากปราสาทนั้นไปยืนอยู่ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงแสดงธรรม. บรรดาภิกษุที่ได้ฟังธรรมนั้น บางพวกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล, บางพวกดำรงอยู่ในสกทาคามิผล, บางพวกดำรงอยู่ในอนาคามิผล, บางพวกดำรงอยู่ในอรหัตผล.
               เนื้อความนี้นั้นพึงแสดงด้วยปาสาทกัมปนสูตร.
               บทว่า เวชยนฺตปาสาทํ ความว่า เวชยันตปราสาทนั้นในภพดาวดึงส์ สูงได้ประมาณ ๑,๐๐๐โยชน์ ประดับด้วยเรือนยอดมีประตูหลายพันประตู ที่ตั้งขึ้นในเมื่อท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดาทรงชนะพวกอสูรในสงครามระหว่างเทวดากับอสูร แล้วประทับอยู่ท่ามกลาง พระนครเป็นปราสาทที่ได้นามว่าเวชยันต์ เพราะบังเกิดสุดท้ายแห่งชัยชนะ.
               ท่านหมายเอาปราสาทนั้น กล่าวว่า เวชยันตปราสาท.
               ก็แม้เวชยันตปราสาทนั้น พระเถระนี้ก็ให้สั่นสะเทือนด้วยนิ้วหัวแม่เท้า.
               จริงอยู่ สมัยหนึ่งท้าวสักกเทวราชเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเสด็จประทับอยู่ในบุพพาราม ทูลถามถึงวิมุตติคือความสิ้นตัณหา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแก่ท้าวสักกเทวราชนั้น, ท้าวเธอได้สดับดังนั้น ดีใจ ร่าเริง ถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วเสด็จไปยังเทวโลกของพระองค์.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะคิดอย่างนี้ว่า ท้าวสักกะนี้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามปัญหาอันปฏิสังยุตด้วยพระนิพพานอันลึกซึ้งเห็นปานนี้ และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงวิสัชนาปัญหานั้นแล้ว ท้าวสักกะทรงรู้แล้วเสด็จไป หรือว่าไม่รู้. ถ้ากระไร เราพึงไปยังเทวโลกแล้ว ให้ท้าวเธอรู้เนื้อความนั้น.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้นไปยังภพดาวดึงส์ ในบัดดลแล้ว ถามเนื้อความนั้นกะท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทวดา. ท้าวสักกะเป็นผู้ประมาท เพราะทิพยสมบัติ จึงได้กระทำความฟุ้งซ่าน. เพื่อจะให้ท้าวสักกะทรงสลดพระทัย พระเถระจึงทำเวชยันตปราสาทให้สั่นสะเทือน ด้วยนิ้วหัวแม่เท้า.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ดูก่อนเทวดา ภิกษุใดมีกำลังฤทธิ์กล้าแข็ง ทำเวชยันต
               ปราสาทให้สั่นสะเทือนด้วยนิ้วหัวแม่เท้า และยังเทพเจ้าทั้ง
               หลายให้สลดใจ.
               ก็ความนี้พึงแสดงด้วยจูฬตัณหาสังขยวิมุตติสูตร. อาการที่ปราสาทไหว ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ด้วยบทว่า สกฺกํ โส ปริปุจฺฉติ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาคำถามถึงวิมุตติเพราะสิ้นตัณหาตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านรู้วิมุตติเพราะสิ้นตัณหาบ้างหรือ ดังนี้.
               คำว่า ตสฺส สกฺโก วิยากาสิ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาความที่เมื่อพระเถระทำปราสาทให้สั่นสะเทือนแล้ว ท้าวสักกะมีความสลดพระทัย ละความประมาทเสีย ใส่ใจโดยความแยบคายแล้วพยากรณ์ปัญหา. จริงอยู่ ท้าวสักกะนั้นกล่าวแล้วในคราวนั้น เฉพาะตามทำนองที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนั้นแหละ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท้าวสักกะถูกถาม แล้วจึงพยากรณ์ปัญหาตามที่เป็นจริง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกํ โส ปริปุจฺฉติ ความว่า พระโมคคัลลานเถระนั้นถามท้าวสักกเทวราชว่า ความหลุดพ้นคือความหมดสิ้นตัณหาที่พระศาสดาทรงแสดงไว้เป็นความหลุดพ้นที่ท้าวเธอถือเอาชอบแล้ว.
               จริงอยู่ คำว่า ปริปุจฺฉติ นี้ เป็นคำกล่าวถึงปัจจุบัน แต่ใช้ในอรรถอันเป็นอดีต.
               บทว่า อปิ อาวุโส ชานาสิ ความว่า ผู้มีอายุ ท่านรู้บ้างหรือ คือรู้ไหม.
               บทว่า ตณฺหกฺขยวิมุตฺติโย ความว่า พระเถระถามว่า พระศาสดาทรงแสดงวิมุตติความหมดสิ้นตัณหาแก่ท่านไว้โดยประการใด ท่านรู้โดยประการนั้นหรือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า ตณฺหกฺขยวิมุตฺติโย นี้ พระเถระถามถึงเทศนาตัณหาสังขยวิมุตติสูตร.
               บทว่า พฺรหฺมานํ ได้แก่ ท้าวมหาพรหม.
               บทว่า สุธมฺมายํ ฐิโต สภํ ได้แก่ ที่สุธรรมสภา.
               ก็สภานี้เป็นเฉพาะสุธรรมสภาในพรหมโลก, ไม่ใช่ในดาวดึงสพิภพ. ขึ้นชื่อว่าเทวโลก เว้นจากสุธรรมสภาย่อมไม่มี.
               บทว่า อชฺชาปิ ตฺยาวุโส สา ทิฏฺฐิ ยา เต ทิฏฺฐิ ปุเร อหุ ความว่า ใครๆ จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ผู้สามารถเข้าไปยังพรหมโลกนี้ย่อมไม่มี, ก่อนแต่พระศาสดาเสด็จมาในพรหมโลกนี้ ท่านได้มีทิฏฐิใด แม้ทุกวันนี้ คือแม้ขณะนี้ ทิฏฐินั้นก็ยังไม่หายไปหรือ.
               บทว่า ปสฺสสิ วีติวตฺตนฺตํ พฺรหฺมโลเก ปภสฺสรํ ความว่า ท่านเห็นแสงสว่างของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสาวก ผู้อันพระสาวกทั้งหลายมีพระมหากัปปินะ และพระมหากัสสปะเป็นต้น ห้อมล้อมผู้ประทับนั่งเข้าเตโชธาตุ (มีแสง) พวยพุ่งอยู่ในพรหมโลก.
               จริงอยู่ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบความคิดของพรหมผู้นั่งประชุมในสุธรรมสภาในพรหมโลก ผู้คิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ไรๆ ผู้มีฤทธิ์อย่างนี้ สามารถที่จะมาในพรหมโลกนี้ มีไหมหนอ. พระองค์จึงเสด็จไปในพรหมโลกนั้นแล้ว ประทับนั่งในอากาศเหนือเศียรของพรหม ทรงเข้าเตโชธาตุเปล่งแสงสว่างอยู่ ทรงพระดำริให้พระมหาโมคคัลลานะเป็นต้นมาหา. ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้นนั้นมาในที่นั้นพร้อมกับที่ทรงพระดำริ ถวายบังคมพระศาสดา รู้พระอัธยาศัยของพระศาสดา จึงนั่งเข้าเตโชธาตุองค์ละทิศๆ แล้วเปล่งโอภาสแสงสว่าง พรหมโลกทั้งสิ้นจึงได้มีโอภาสแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน.
               พระศาสดาทรงทราบว่า พรหมมีจิตสงบ จึงทรงแสดงธรรมอันประกาศสัจจะ ๔. ในเวลาจบเทศนา พรหมหลายพันองค์ดำรงอยู่ในมรรคและผลทั้งหลาย.
               ท่านหมายถึงเรื่องนั้น เมื่อจะทักท้วงจึงกล่าวคาถาว่า ผู้มีอายุ แม้ทุกวันนี้ทิฏฐิของท่านนั้น ดังนี้. ก็ข้อความนี้พึงแสดงโดยพกพรหมสูตร.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-๒-
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่งเกิดทิฏฐิชั่วช้าลามกเห็นปานดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่จะมาในพรหมโลกนี้ได้ ไม่มีเลย.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปจากพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดเข้ามาฉะนั้น.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณด้วยจักษุเพียงดังทิพย์บริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นแล้วจึงได้หายไปจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบปานบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดเข้ามาฉะนั้น.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะอาศัยทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะได้มีความดำริดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ. ท่านพระมหากัสสปะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ จึงหายไปในพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น.
               ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปอาศัยทิศใต้นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะได้มีความดำริดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ, ท่านพระมหากัปปินะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นแล้วได้หายไปจากพระวิหารเชตวัน ได้ปรากฏในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะอาศัยทิศตะวันตกนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้มีความดำริดังนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ, ท่านพระอนุรุทธะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ ในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นแล้วได้หายไปจากพระวิหารเชตวัน ได้ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้อาศัยทิศเหนือนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมนั้นด้วยคาถาว่า
                         ดูก่อนผู้มีอายุ แม้วันนี้ ท่านก็ยังมีความเห็นผิดอยู่
               เหมือนเมื่อก่อน ท่านยังจะเห็นอยู่หรือว่าบนพรหมโลก
               มีแสงสว่างพวยพุ่งออกได้เอง.
               พรหมกล่าวว่า
                         พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือน
               เมื่อก่อน ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างพวยพุ่งไปเองในพรหม
               โลก ไฉนในวันนี้ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยง เป็น
               ผู้ยั่งยืน" ดังนี้เล่า
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไปในพรหมโลกนั้น ปรากฏในพระวิหารเชตวันเหมือนบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น.
               ลำดับนั้นแล พรหมนั้นได้เรียกพรหมปาริสัชชะ พรหมพวกรับใช้องค์หนึ่งมาว่า แน่ะ ท่านผู้นิรทุกข์ มาเถิด ท่านจงเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงกล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้องค์อื่นๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเหมือนกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระกัปปินะและท่านพระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ.
               พรหมปาริสัชชะนั้นรับคำของพรหมนั้นว่า อย่างนั้นท่านผู้นิรทุกข์ แล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคลัลลานะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้องค์อื่นๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเหมือนท่านพระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ พระกัปปินะ พระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะนั้นด้วยคาถาว่า
                         พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ
               ได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยญาณ ยังมี
               อยู่เป็นอันมาก.
               ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้นชื่นชมยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว เข้าไปหาพรหมนั้นจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะพรหมนั้นว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวอย่างนี้ว่า
                         พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ
               ได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยญาณ ยังมี
               อยู่เป็นจำนวนมาก.
               พรหมปาริสัชชะได้กล่าวคำนี้แล้ว และพรหมนั้นมีใจยินดี ชื่นชมภาษิตของพรหมปาริสัชชะนั้น ฉะนี้แล.
____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๕๗๓-๕๘๘

               ท่านหมายเอาเรื่องดังกล่าวมานี้จึงกล่าวว่า ก็ข้อความนี้พึงแสดงโดยพกพรหมสูตร ดังนี้.
               ด้วยบทว่า มหาเนรุโน กูฏํ นี้ ท่านกล่าวถึงขุนเขาสิเนรุทั้งสิ้นทีเดียว โดยจุดเด่นคือยอด.
               บทว่า วิโมกฺเขน อผสฺสยิ อธิบายว่า บรรลุด้วยความรู้ยิ่งอันเป็นที่อาศัยแห่งฌานและวิโมกข์.
               บทว่า วนํ ได้แก่ ชมพูทวีป.
               จริงอยู่ ชมพูทวีปนั้น ท่านเรียกว่าวนะ เพราะมีวนะ คือป่ามาก. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นใหญ่แห่งชมพูทวีป.
               บทว่า ปุพฺพวิเทหานํ ได้แก่ สถานที่แห่งปุพพวิเทหทวีป. อธิบายว่า ทวีปปุพพวิเทหะ.
               บทว่า เย จ ภูมิสยา นรา ความว่า พวกมนุษย์ชาวอปรโคยานกทวีป อุตตรกุรุกทวีป ชื่อว่าคนผู้นอนบนแผ่นดิน.
               จริงอยู่ คนเหล่านั้น ท่านเรียกว่าภูมิสยะ ผู้นอนบนแผ่นดิน เพราะไม่มีบ้านเรือน. เชื่อมความว่า คนทั้งหมดแม้นั้นไม่บรรลุ.
               ก็ข้อความนี้พึงแสดงโดยการทรมานนันโทปนันทนาคราช :-
               ได้ยินว่า สมัยหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงทูลนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอพระองค์กับภิกษุ ๕๐๐ โปรดรับภิกษาหารในเรือนของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า แล้วได้หลีกไป.
               ก็วันนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุในเวลาใกล้รุ่ง พญานาคนามว่านันโทปนันทะ มาสู่คลองในหน้าแห่งพระญาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า นาคราชนี้มาสู่คลองในหน้าพระญาณของเรา อะไรหนอจักเกิดมี ก็ได้ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรณคมน์ จึงทรงรำพึง (ต่อไปอีก) ว่า นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ใครหนอจะพึงปลดเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฏฐิได้ ก็ได้ทรงเห็นพระโมคคัลลานะ.
               แต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว พระองค์ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า อานนท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุ ๕๐๐ ว่า พระตถาคตจะเสด็จจาริกไปยังเทวโลก.
               ก็วันนั้น พวกนาคตระเตรียมภาคพื้นเป็นที่มาดื่ม (โรงดื่มสุรา) เพื่อนันโทปนันทนาคราช. นันโทปนันทราคราชนั้นอันพวกนาคกางกั้นด้วยเศวตฉัตรทิพย์ นพรัตนบัลลังก์ทิพย์ ห้อมล้อมด้วยนักฟ้อน ๓ พวกและนาคบริษัท นั่งมองดูชนิดแห่งข้าวและน้ำที่เขาจัดวางไว้ในภาชนะทิพย์ทั้งหลาย.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำให้นาคราชเห็น เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังดาวดึงส์เทวโลก พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ โดยเฉพาะทางยอดวิมานของนาคราชนั้น.
               ก็สมัยนั้นแล นันโทปนันทนาคราชเกิดความเห็นอันชั่วช้าเห็นปานนี้ขึ้นว่า พวกสมณะหัวโล้นเหล่านี้เข้าๆ ออกๆ ยังที่อยู่ของพวกเทพดาวดึงส์ โดยทางเบื้องบนที่อยู่ของพวกเรา คราวนี้ ตั้งแต่บัดนี้ไปเราจะไม่ให้พวกสมณะเหล่านี้โปรยขี้ตีนลงบนหัวของเราแล้วไป จึงลุกขึ้นไปยังเชิงเขาสิเนรุ ละอัตภาพนั้น เอาขนดวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบแล้วแผ่พังพานข้างบน เอาพังพานคว่ำลงงำเอาภพดาวดึงส์ไว้ ทำให้มองไม่เห็น.
               ลำดับนั้นแล ท่านพระรัฏฐปาลได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน ข้าพระองค์ยืนอยู่ตรงประเทศนี้มองเห็นเขาสิเนรุ เห็นวงขอบเขาสิเนรุ เห็นภพดาวดึงส์ เห็นเวชยันตปราสาท เห็นธงเบื้องบนเวชยันตปราสาท, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไรหนอ ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าพระองค์ไม่เห็นภูเขาสิเนรุ ฯลฯ ไม่เห็นธงเบื้องบนเวชยันตปราสาท ในบัดนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า รัฏฐปาละ นาคราชชื่อว่านันโทปนันทะนี้โกรธพวกเธอจึงเอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ เอาพังพานปิดข้างบนกระทำให้มืดมิดอยู่. รัฏฐปาละทูลว่า ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชตนนั้น พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต.
               ลำดับนั้นแล ภิกษุแม้ทั้งหมดก็ลุกขึ้นโดยลำดับ คือท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต.
               ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอทรมานนาคราชนั้น พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า โมคคัลลานะ เธอจงทรมาน.
               พระเถระเปลี่ยนอัตภาพนิรมิตเป็นรูปนาคราชใหญ่ เอาขนดหางวงรอบนันโทปนันทนาคราช ๑๔ รอบ วางพังพานของตนลงบนยอดพังพานของนันโทปนันทนาคราชแล้ว กดเข้ากับเขาสิเนรุ. นาคราชบังหวนควัน. พระเถระกล่าวว่า จะมีแต่ควันในร่างกายของท่านเท่านั้นก็หามิได้ แม้ของเราก็มี แล้วจึงบังหวนควัน. ควันของนาคราชไม่เบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของพระเถระเบียดเบียนนาคราช.
               ลำดับนั้น นาคราชจึงโพลงไฟ. ฝ่ายพระเถระกล่าวว่า จะมีแต่ไฟในร่างกายของท่านเท่านั้นก็หาไม่ แม้ของเราก็มี จึงโพลงไฟ. ไฟของนาคราชไม่เบียดเบียนพระเถระ แต่ไฟของพระเถระเบียดเบียนนาคราช.
               นาคราชคิดว่า พระองค์นี้กดเราเข้ากับเขาสิเนรุ แล้วบังหวนควันและทำให้ไฟโพลง จึงสอบถามว่า ผู้เจริญ ท่านเป็นใคร. พระเถระตอบว่า นันทะ เราแหละคือโมคคัลลานะ. นาคราชกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงดำรงอยู่โดยภิกขุภาวะของตนเถิด.
               พระเถระจึงเปลี่ยนอัตภาพนั้น แล้วเข้าไปทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น แล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทางช่องหูซ้ายแล้วออกทางช่องหูขวา. อนึ่ง เข้าทางช่องจมูกขวา ออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายแล้วออกทางช่องจมูกขวา. ลำดับนั้น นาคราชได้อ้าปาก. พระเถระจึงเข้าทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ภายในท้อง ทางด้านทิศตะวันออกบ้าง ด้านทิศตะวันตกบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะ เธอจงใส่ใจ นาคมีฤทธิ์มากนะ.
               พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจวัตถุที่ตั้ง ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมไว้แล้ว ปรารภไว้ดีแล้ว, นันโทปนันทะจงยกไว้เถิด พระเจ้าข้า, นาคราชเช่นกับนันโทปนันทะตั้งร้อยก็ดี ตั้งพันก็ดี ตั้งแสนก็ดี ข้าพระองค์ก็พึงทรมานได้.
               นาคราชคิดว่า เมื่อตอนเข้าไป เราไม่ทันเห็น ในเวลาออกในบัดนี้ เราจักใส่เขาในระหว่างเขี้ยวแล้วเคี้ยวกินเสีย ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวว่า ขอท่านจงมาเถิดขอรับ อย่าเดินไปๆ มาๆ ในภายในท้อง ทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย. พระเถระได้ออกไปยืนข้างนอก. นาคราชเห็นว่า นี้คือเขาละ จึงพ่นลมทางจมูก. พระเถระเข้าจตุตถฌาน แม้ขุมขนของพระเถระ ลมก็ไม่สามารถทำให้ไหวได้.
               นัยว่า ภิกษุทั้งหลายที่เหลือสามารถทำปาฏิหาริย์ทั้งมวลได้ จำเดิมแต่ต้น แต่พอถึงฐานะนี้ จักไม่สามารถสังเกตได้รวดเร็วอย่างนี้แล้วเข้าสมาบัติ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทรมานนาคราช.
               นาคราชคิดว่า เราไม่สามารถเพื่อจะทำแม้ขุมขนของสมณะนี้ให้ไหวได้ด้วยลมจมูก สมณะนั้นมีฤทธิ์มาก, พระเถระจึงละอัตภาพ นิรมิตรูปครุฑ แสดงลมครุฑไล่ติดตามนาคราชไป, นาคราชจึงละอัตภาพนั้นนิรมิตรูปมาณพน้อยแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมขอถึงท่านเป็นสรณะ ไหว้เท้าพระเถระ,
               พระเถระกล่าวว่า นันทะ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ท่านจงมา พวกเราจักได้ไป.
               ท่านทรมานนาคราชทำให้หมดพยศแล้วได้พาไปยังสำนักของพระศาสดา. นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านจงเป็นสุขเถิด นาคราช ดังนี้แล้วอันหมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี.
               ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไร พระองค์จึงเสด็จมาสาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะและนันโทปนันทะได้ทำสงครามกัน. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ก็ใครแพ้ ใครชนะ พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะชนะ นันทะแพ้.
               อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ตามลำดับแห่ง เดียวตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์จักกระทำสักการะแก่พระเถระ ๗ วันแล้วได้กระทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พึงแสดงเนื้อความโดยการทรมานนันโทปนันทนาคราช.
               บทว่า โย เอตมภิชานาติ ความว่า ย่อมรู้วิโมกข์ตามที่กล่าวนี้ด้วยอำนาจกระทำการถูกต้อง.
               บทว่า น เว อคฺคิ เจตยติ อหํ พาลํ ฑหามิ ความว่า ไฟย่อมไม่จงใจอย่างนี้ คือย่อมไม่กระทำประโยคคือความพยายามเพื่อจะเผา แต่คนพาลคิดว่า ไฟนี้มีความร้อนน้อย จึงถูกต้องไฟที่ลุกโพลงประหนึ่งว่าจะไม่ดับ จึงถูกไฟไหม้ ดูก่อนมาร พวกเราก็เหมือนอย่างนั้นนั่นแลประสงค์จะแผดเผา ประสงค์จะเบียดเบียนหามิได้ แต่ท่านนั่นแหละมากระทบกระทั่งพระอริยสาวกผู้เช่นกับกองไฟ ชื่อว่าผู้มาแล้วอย่างนั้น เพราะอรรถว่ามีการมาอย่างนั้นเป็นต้น จักเผาตนเอง คือจักไม่พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการแผดเผา.
               บทว่า อปุญฺญํ ปสวติ แปลว่า ย่อมได้เฉพาะบาปมิใช่บุญ.
               บทว่า น เม ปาปํ วิปจฺจติ ความว่า บาปยังไม่ให้ผลแก่เรา ดูก่อนมาร เหตุไรหนอ ท่านจึงสำคัญอย่างนี้ว่า บาปนี้ไม่มี.
               บทว่า กโรโต เต จียเต ปาปํ ความว่า บาปที่ท่านกระทำอยู่โดยส่วนเดียว ย่อมเข้าไปก่อความฉิบหาย ความทุกข์ตลอดกาลนาน.
               บทว่า มาร นิพฺพินฺท พุทฺธมฺหา ความว่า ท่านจงเบื่อหน่าย คือเหนื่อยหน่ายกรรมของผู้อื่น จากพุทธสาวกผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔.
               บทว่า อาสํ มากาสิ ภิกฺขุสุ ความว่า ท่านอย่าได้ทำความหวังนี้ว่า เราทำร้าย คือเบียดเบียนภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า อิติ แปลว่า อย่างนั้น.
               บทว่า มารํ อตชฺเชสิ ความว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระกล่าวว่า ดูก่อนมาร ท่านจงเหนื่อยหน่าย ฯลฯ ในภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า เภสกฬาวเน ได้แก่ ในป่าอันมีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ตโต ได้แก่ เหตุคุกคาม.
               บทว่า โส ทุมฺมโน ยกโข ความว่า มารนั้นเสียใจได้หายไปในที่นั้นนั่นแหละ. คือได้ถึงการมองไม่เห็น,
               ก็คาถานี้ ท่านตั้งไว้ในคราวสังคายนาพระธรรมวินัย.
               ก็คำใดในที่นี้ท่านไม่จำแนกความไว้ในระหว่างๆ คำนั้นง่ายทั้งนั้น เพราะอรรถว่ามีนัยดังกล่าวไว้ในหนหลัง.
               พระมหาเถระนี้คุกคามมารอย่างนี้แล้ว ได้กระทำอุปการะแก่เหล่าสัตว์ไม่ทั่วไปกับพระสาวกอื่นๆ เช่นเที่ยวไปในเทวดา และเที่ยวไปในนรกเป็นต้น ในเวลาหมดอายุก็ปรินิพพานไป และเมื่อจะปรินิพพาน แม้จะได้ตั้งปณิธานไว้ที่ใกล้บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสี ตั้งแต่นั้นได้กระทำบุญอันใหญ่ยิ่งไว้ในภพนั้นๆ ดำรงอยู่ในที่สุดแห่งสาวกบารมี ก็ถูกพวกโจรที่เหล่าเดียรถีย์ส่งไปเบียดเบียน เพราะกรรมเก่าที่ตั้งขึ้นด้วยอำนาจบาปกรรมที่ทำไว้ในระหว่าง กระทำความลำบากแก่ร่างกายมิใช่น้อย จึงได้ปรินิพพาน.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า :-๓-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี เป็นพระโลกเชษฐ์ เป็นนระผู้องอาจ อันเทวดาและภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับอยู่ ณ ภูเขาหิมวันต์. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นพระชินเจ้า เสด็จลงจากภูเขาหิมวันต์นั้นแล้วเสด็จเที่ยวจาริกไป ทรงอนุเคราะห์หมู่สัตว์เสด็จเข้าถึงกรุงพาราณสี. พระมหามุนีผู้นำโลกแวดล้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ ทรงส่องทิศทั้งปวงให้สว่างไสวไพโรจน์.
               ในคราวนั้น เราเป็นคฤหบดีอันสหายผู้มีมหิทธิฤทธิ์นามว่าสรทะส่งไป ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา. ครั้นแล้วได้ทูลนิมนต์พระตถาคตสัมพุทธเจ้านำเสด็จไปยังที่อยู่ของตน ทำการบูชาพระมหามุนีอยู่, เวลานั้นเรายังพระมหาวีรเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทวดา เป็นนระผู้องอาจ ผู้เสด็จเข้ามาพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ.
               พระมหาวีรเจ้าผู้เป็นพระสยัมภูอัครบุคคลทรงอนุโมทนาแล้ว ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้บูชาพระสงฆ์และได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้นายกของโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้นจักไปสู่เทวโลก จักเสวยเทวรัชสมบัติ ๗๗ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติในแผ่นดิน ครอบครองพสุธา ๑๐๘ ครั้งและจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ครั้ง โภคสมบัติอันนับไม่ถ้วนจักบังเกิดแก่ผู้นั้นในขณะนั้น.
               ในกัปอันนับไม่ได้แต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคตมะ โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก ผู้นั้นเคลื่อนจากนรกแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นบุตรพราหมณ์ มีนามว่าโกลิตะ
               ภายหลังอันกุศลมูลกระตุ้นเตือนแล้วเขาจักออกบวช จักได้เป็นพระสาวกองค์ที่สองของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม. จักปรารภความเพียร มีใจสงบถึงความยอดเยี่ยมแห่งฤทธิ์ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะจักปรินิพพาน.
               เราอาศัยมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจของกามราคะ มีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ได้ฆ่ามารดาและบิดา. เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม เพราะความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกรรมอันลามก ต้องเป็นผู้มีศีรษะแตกตาย นี้เป็นผลกรรมครั้งสุดท้ายของเรา ภพสุดท้ายย่อมดำเนินไป ผลกรรมเช่นนี้จักมีแก่เราในเวลาใกล้จะตายแม้ในที่นี้.
               เราหมั่นประกอบในวิเวก ยินดีในสมาธิภาวนา กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่. แม้แผ่นดินอันลึกซึ้งหนา ใครๆ กำจัดได้ยาก เราผู้ถึงความยอดเยี่ยมแห่งฤทธิ์ พึงทำให้ไหวได้ด้วยนิ้วหัวแม่มือซ้าย. เราไม่เห็นอัสมิมานะ เราไม่มีมานะ เรากระทำความเคารพยำเกรง แม้ที่สุดในสามเณร.
               ในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้ เราสั่งสมกรรมใด เราได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้น เป็นผู้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว. คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
____________________________
๓- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๔


               จบอรรถกถามหาโมคคัลลานเถรคาถาที่ ๑               
               จบอรรถกถาเถรคาถา สัฏฐินิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 399อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 400อ่านอรรถกถา 26 / 401อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8478&Z=8642
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12299
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12299
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :