ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา

               อรรถกถาเถรีคาถา มหานิบาต               
               ๑. อรรถกถาสุเมธาเถรีคาถา               
               ในมหานิบาต คาถาว่า มนฺตาวติยา นคเร เป็นต้นเป็นคาถาของพระสุเมธาเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระเถรีแม้รูปนี้ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ เพิ่มพูนสัมภารธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์โดยเคารพ.
               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ก็บังเกิดในเรือนสกุล รู้เดียงสาแล้ว ก็มีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกันกับเหล่ากุลธิดาสหายของตน ร่วมกันสร้างอารามใหญ่ มอบถวายภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
               เพราะบุญกรรมนั้น เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ นางก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ณ สวรรค์ชั้นนั้น นางก็เสวยทิพยสมบัติจนตลอดอายุ จุติจากนั้นแล้วก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นยามา จุติจากนั้นแล้วก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จากดุสิตสวรรค์ก็มาสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีก็มาสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี นางบังเกิดในสวรรค์กามาวจรทั้ง ๕ ชั้นตามลำดับดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นมเหสีของท้าวเทวราช [เทวดาเจ้าสวรรค์แต่ละชั้น] ในสวรรค์ชั้นนั้นๆ จุติจากนั้นแล้ว
               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ก็เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก รู้เดียงสาตามลำดับแล้ว ก็เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา ได้กระทำบุญกรรมอันโอฬารเฉพาะพระรัตนตรัย.
               ในครั้งนั้น นางอาศัยธรรมหล่อเลี้ยงชีวิต ยินดีมั่นในกุศลธรรมจนตลอดชีวิต จุติจากนั้นแล้วก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติเท่านั้น.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าโกญจะ กรุงมันตาวดี พระชนกชนนีได้ขนานพระนามพระนางว่าสุเมธา สมัยพระนางเจริญพระชันษา ก็ทรงปรึกษาตกลงกันว่าจักถวายพระนางแด่พระเจ้าอนิกรัตตะ กรุงวารณวดี แต่นับตั้งแต่ยังทรงเป็นทาริกา.
               พระนางพร้อมด้วยราชธิดาที่มีวัยปูนเดียวกันและเหล่าทาสี ก็พากันเสด็จไปสำนักภิกษุณี ฟังธรรมในสำนักภิกษุณีแล้ว ก็เกิดสังเวชในสังสารวัฏ เพราะบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลาช้านาน ทรงเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาก็ได้มีพระทัยหันกลับจากกามทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระนางได้สดับการปรึกษาของพระชนกชนนี พระประยูรญาติ จึงตรัสว่า ลูกไม่ประสงค์กิจฆราวาส ลูกจักบวชเพคะ.
               พระชนกชนนีโปรดจะทรงประกอบพระนางไว้ในกิจฆราวาส แม้จะทรงอ้อนวอนโดยประการต่างๆ ก็ไม่สามารถจะทำพระนางให้ทรงยินยอมได้.
               พระนางทรงดำริว่า เราจะได้การบวชโดยวิธีนี้ แล้วคว้าพระขรรค์ตัดพระเกศาของพระองค์เอง ทรงปรารภพระเกศาเหล่านั้น เริ่มทรงมนสิการ การใส่ใจโดยเป็นของปฏิกูล ทรงทำอสุภนิมิตให้เกิดขึ้น ก็บรรลุปฐมฌาน ณ ที่ตรงนั้นเอง เพราะทรงบำเพ็ญบารมีมาแล้วในชาตินั้น และเพราะทรงเคยสดับวิธีมนสิการมาในสำนักภิกษุณี.
               ก็แลพระนางบรรลุปฐมฌานแล้ว ทรงทำราชสกุลทั้งหมดทั้งอันโตชนและปริวารชน ตั้งต้นแต่พระชนกชนนีผู้ทรงเกลี้ยกล่อมไว้ในกิจฆราวาสด้วยพระองค์เอง ให้พากันเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา เสด็จออกจากพระราชมณเฑียรไปยังสำนักภิกษุณี ทรงผนวช.
               ครั้นทรงผนวชแล้ว ก็ทรงเริ่มตั้งวิปัสสนา มีพระญาณแก่กล้าโดยชอบโดยแท้ ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะธรรมทั้งหลายที่ช่วยอบรมบ่มวิมุตติ ทำให้บรรลุคุณวิเศษ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า๑-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ทรงอุบัติในโลก เมื่อสังฆารามสร้างเสร็จใหม่ๆ ข้าพเจ้าเป็นชน ๓ คนเป็นสหายกัน ได้ถวายวิหารทาน.
               ข้าพเจ้าเกิดในเทวดา ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ไม่ต้องกล่าวถึงการเกิดในมนุษย์ ข้าพเจ้ามีฤทธิ์มากในหมู่เทวดา ไม่จำต้องกล่าวถึงในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าเป็นพระมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีรัตนะ ๗ ประการ.
               ชน ๓ คน ก็คือ ธนัญชานี เขมาและข้าพเจ้า เป็นผู้สร้างสมกุศลในที่นี้ เป็นบุตรของตระกูลที่มั่งคั่ง. เราช่วยกันสร้างพระอารามเป็นอันดี ประดับด้วยทัพสัมภาระครบถ้วน มอบถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พากันบันเทิงใจแล้ว.
               ข้าพเจ้าเกิดในที่ไรๆ ด้วยอำนาจบุญกรรมนั้น ก็เป็นเลิศทั้งในเทวดา ทั้งในมนุษย์.
               พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ โดยพระโคตร ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ ผู้มียศมาก เป็นยอดของเหล่าศาสดา ทรงอุบัติแล้วในกัปนี้นี่แล.
               พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ครองราชย์ ณ กรุงพาราณสีราชธานี ได้ทรงเป็นพระอุปฐากของพระกัสสปพุทธเจ้า ในครั้งนั้น.
               ท้าวเธอมีพระราชธิดา ๗ พระองค์ พระราชธิดาเหล่านั้นเสวยสุข ยินดีในการบำรุงพระพุทธเจ้า พากันประพฤติพรหมจรรย์.
               ข้าพเจ้าเป็นสหายของพระราชธิดาเหล่านั้น ตั้งอยู่ในศีล ถวายทานทั้งหลายด้วยความเคารพ ประพฤติวัตรถูกต้องในการครองเรือน.
               ด้วยกรรมที่ทำมาดีและด้วยการตั้งใจชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุติจากดาวดึงส์ก็เข้าถึงสวรรค์ชั้นยามา จากชั้นยามาก็เข้าถึงชั้นดุสิต จากดุสิตก็เข้าถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จากนิมมานรดีก็เข้าถึงสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี.
               ข้าพเจ้าพรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม เกิดในภพใดๆ ก็ครองความเป็นอัครมเหสีของพระราชาทั้งหลายในภพนั้นๆ จุติจากภพนั้นๆ แล้ว ในอัตภาพเป็นมนุษย์ก็ครองความเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และของพระเจ้ามณฑลประเทศ.
               ข้าพเจ้าเสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ มีสุขในภพทุกภพ ท่องเที่ยวไปในชาติเป็นอันมาก. นั้นเป็นเหตุ นั้นเป็นแดนเกิด นั้นเป็นมูล นั้นเป็นความอดทนในการเพ่งธรรมในพระศาสนา นั้นเป็นที่รวมบุญครั้งแรก นั้นเป็นความดับทุกข์สำหรับข้าพเจ้าผู้ยินดีในธรรม.
               กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็เผาเสียแล้ว ภพทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ถอนแล้ว ข้าพเจ้าตัดเครื่องล่ามดังพระยาคชสารตัดเครื่องผูกฉะนั้น ไม่มีอาสวะอยู่.
               ข้าพเจ้ามาดีแล้วในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด วิชชา ๓ ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.
               ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๔๑ สุเมธาเถรีอปทาน

               ก็ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระสุเมธาเถรีพิจารณาทบทวนข้อปฏิบัติประวัติความเป็นมาของตน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
                                   ข้าพเจ้าเป็นธิดาของพระอัครมเหสีของพระเจ้า
                         โกญจะ กรุงมันตาวดี ชื่อว่าสุเมธา อันพระอริยะทั้งหลาย
                         ผู้ทำตามคำสั่งสอนทำให้เลื่อมใสแล้ว พระนางสุเมธามีศีล
                         กล่าวธรรมได้วิจิตร เป็นพหูสูต ถูกแนะนำในคำสั่งสอน
                         ของพระพุทธเจ้า เข้าเฝ้าพระชนกชนนีแล้ว กราบทูลให้
                         ทั้งสองพระองค์โปรดตั้งพระทัยสดับคำของตนว่า
                                   ลูกยินดีอย่างยิ่งในพระนิพพาน ภพถึงแม้ว่าจะ
                         เป็นทิพย์ ก็ไม่ยั่งยืน จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามทั้งหลาย
                         ซึ่งเป็นของว่างเปล่า อร่อยน้อย คับแค้นมาก กามทั้งหลาย
                         เผ็ดร้อน เปรียบด้วยงูพิษ ที่พวกคนเขลาพากันจมดักดาน
                         คนเขลาเหล่านั้น แออัดกันในนรก ต้องเดือดร้อนเป็น
                         ทุกข์ เป็นเวลาช้านาน.
                                   พวกคนเขลาผู้ไม่สำรวมกายวาจาใจ ทำกรรมที่
                         เป็นบาป พอกพูนแต่บาป ย่อมเศร้าโศกในอบายทุกเมื่อ.
                                   คนเขลาเหล่านั้น ไม่มีปัญญา ไม่มีเจตนา ถูก
                         ทุกขสมุทัยปิดไว้ เมื่อไม่รู้อริยธรรมที่ท่านแสดง ก็ไม่
                         ตรัสรู้อริยสัจ.
                                   ทูลกระหม่อมแม่เพคะ คนเขลาเหล่าใด เมื่อไม่
                         รู้สัจจะทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้ว
                         ยังชื่นชมภพ กระหยิ่มการเกิดในหมู่เทพทั้งหลาย คน
                         เขลาเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่าเพคะ.
                                   เมื่อภพไม่เที่ยง ความเกิดในหมู่เทพทั้งหลายก็
                         ไม่ยั่งยืน พวกคนเขลา ย่อมไม่หวาดสะดุ้งต่อคนที่ต้อง
                         เกิดบ่อยๆ.
                                   อบาย ๔ สัตว์ทั้งหลายย่อมได้กันสะดวก ส่วน
                         คติ ๒ ได้กันลำบาก ในนรกของเหล่าสัตว์ที่เข้าถึง
                         อบาย ไม่มีการบวชดอกเพคะ.
                                   ขอพระชนกชนนีทั้งสองพระองค์ โปรดทรง
                         อนุญาตให้ลูกบวชในธรรมวินัยของพระทศพลเถิด ลูก
                         จักขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ.
                                   จะมีประโยชน์อะไรด้วยโทษคือกายที่ไร้สาระ
                         ในภพ ซึ่งพวกคนเขลาชื่นชมนักหนา ขอทรงโปรด
                         อนุญาตเถิด ลูกจักบวชเพื่อดับภวตัณหา ความอยาก
                         ในภพ.
                                   ความอุบัติของพระพุทธะทั้งหลาย ลูกได้แล้ว
                         อขณะก็เว้นไปแล้ว ขณะลูกก็ได้แล้ว ลูกจะไม่ประทุษ
                         ร้าย ศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต.
                                   พระนางสุเมธากราบทูลพระชนกชนนีอย่างนี้ว่า
                         ลูกยังเป็นคฤหัสถ์ จักไม่เสวยอาหาร จักยอมตายเพคะ
                                   พระชนนีเป็นทุกข์ทรงกันแสง พระชนกของ
                         พระนางสุเมธานั้น พระอัสสุชลก็นองทั่วทั้งพระพักตร์
                         ทั้งสองพระองค์ทรงพากเพียรเกลี้ยกล่อมพระนางสุเมธา
                         ซึ่งฟุบลงที่พื้นปราสาทว่า.
                                   ลูกเอ๋ยลุกขึ้นเถิด จะเศร้าโศกไปทำไม พ่อยก
                         ลูกให้ที่กรุงวารณวดีแล้วนะ พระเจ้าอนิกรัตตะทรงงาม
                         สง่า พ่อยกลูกถวายพระองค์แล้ว.
                                   ลูกจักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัตตะ
                         ศีล พรหมจรรย์ บรรพชา ทำได้ยากนะลูกนะ.
                                   อำนาจ ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราช
                         สมบัติ ทั้งลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามเถิด ลูกจงวิวาหะ
                         เสียเถิด นะลูกนะ.
                                   พระนางสุเมธากราบทูลพระชนกชนนีนั้นว่า
                         อำนาจเป็นต้นเช่นนี้ อย่ามีมาเลย เพราะภพหาสาระ
                         มิได้ การบวชหรือความตายเท่านั้นจักมีแก่ลูก ลูกไม่
                         ยอมวิวาหะแน่แท้.
                                   กายอันเน่าเหมือนหนอน ไม่สะอาด กลิ่นเหม็น
                         คลุ้งไป น่าสะพรึงกลัว ดุจถุงหนังบรรจุซากศพ เต็มด้วย
                         ของไม่สะอาด ไหลออกอยู่เป็นนิตย์ อันคนเขลายึดถืออยู่.
                                   ลูกรู้จักซากศพนั้นเป็นเหมือนอะไร เป็นเหมือน
                         ของปฏิกูล ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่อยู่ของลูกหลาน
                         หนอน เป็นอาหารของแร้งกา ทำไมทูลกระหม่อมจึงพระ
                         ราชทานกเฬวระซากศพ แก่พระราชาพระองค์นั้นเล่า.
                                   ไม่ช้า ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณอันหมู่ญาติ
                         ผู้เกลียดทอดทิ้งไปเหมือนท่อนไม้ เขาก็นำไปป่าช้า.
                                   บิดามารดาของตนยังเกลียด ครั้นเอาซากศพนั้น
                         ไปทิ้งให้เป็นอาหารสัตว์อื่นในป่าช้าแล้ว กลับมาก็ต้อง
                         อาบน้ำดำเกล้า จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่ชนทั่วๆ ไปเล่า.
                                   หมู่ชนยึดถืออยู่ในซากศพที่ไม่มีแก่นสาร เป็น
                         ร่างของกระดูกและเอ็น เป็นกายอันเน่าเต็มไปด้วยน้ำ
                         น้ำตาและอุจจาระ.
                                   ผู้ใดพึงชำแหละร่างกายนั้น เอาข้างในมาไว้ข้าง
                         นอก ก็จะทนกลิ่นเหม็นของร่างกายนั้นไม่ได้ แม้แต่
                         มารดาของตน ก็ยังเกลียด.
                                   บัณฑิตทั้งหลายเลือกเฟ้นโดยอุบายแยบคายว่า
                         ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อันปัจจัยปรุงแต่งแล้วเป็นทุกข์ที่
                         มีชาติเป็นมูล ทำไมลูกยังจะปรารถนาวิวาหะเล่าเพคะ.
                                   หอก ๓๐๐ เล่มใหม่เอี่ยม จะพึงตกต้องที่กาย
                         ทุกๆ วัน ทิ่มแทงอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ยังประเสริฐกว่า หาก
                         ว่าความสิ้นทุกข์ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.
                                   ชนใดรู้คำสั่งสอนของพระศาสดาอย่างนี้ พึง
                         ยอมรับการทิ่มแทง [ดังกล่าว] สังสารวัฎ ย่อมยืดยาว
                         สำหรับชนเหล่านั้น ซึ่งเดือดร้อนอยู่ร่ำไป.
                                   ในเทวดา มนุษย์ ในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน
                         หมู่อสุรกาย เปรตและนรก การทำร้ายกันยังปรากฏ
                         อยู่ หาประมาณมิได้.
                                   สำหรับสัตว์อยู่ในอบายที่กำลังถูกเบียดเบียน
                         ยังมีการทำร้ายกันเป็นอันมากในนรก แม้ในเทวดา
                         ทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ สุขนอกจากสุขคือพระนิพพาน
                         ไม่มีเลย.
                                   ชนเหล่าใดประกอบอยู่ในธรรมวินัยของพระ
                         ทศพล ขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติมรณะ
                         ชนเหล่านั้นก็ถึงพระนิพพาน.
                                   ทูลกระหม่อมพ่อเพคะ วันนี้นี่แหละลูกจักออก
                         บวช ประโยชน์อะไรด้วยโภคะทั้งหลายที่ไม่มีแก่นสาร
                         กามทั้งหลายลูกเบื่อหน่ายแล้ว ลูกทำให้เสมอด้วยของ
                         ที่คายแล้ว [รากสุนัข] ให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว.
                                   พระนางสุเมธานั้นกราบทูลพระชนกอย่างนี้
                         พระเจ้าอนิกรัตตะผู้ที่ได้รับพระราชทานพระนาง
                         สุเมธานั้น ทรงแวดล้อมด้วยราชบริพารหนุ่ม ก็เสด็จ
                         เข้าสู่วิวาหะเมื่อเวลากระชั้นชิด.
                                   ภายหลัง พระนางสุเมธาทรงทราบว่าพระเจ้า
                         อนิกรัตตะเสด็จมา จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำ
                         สนิทที่รวบไว้ อ่อนสลวย ทรงปิดปราสาทเข้าปฐมฌาน.
                                   พระนางสุเมธานั้นเข้าฌานอยู่ในปราสาทนั้น
                         พระเจ้าอนิกรัตตะก็เสด็จถึงพระนคร พระนางสุเมธา
                         ทรงเจริญอสุภสัญญาอยู่ในปราสาท.
                                   พระนางสุเมธานั้นกำลังมนสิการ พระเจ้า
                         อนิกรัตตะทรงแต่งพระองค์ด้วยมณีและทอง ก็รีบ
                         เสด็จขึ้นปราสาท ทรงประคองอัญชลี ทูลวอนพระ
                         นางสุเมธาว่า
                                   อำนาจ ทรัพย์ อิสริยะ โภคะ สุข ในราชสมบัติ
                         ขอมอบถวาย พระน้องนางก็ยังสาวอยู่ ขอเชิญบริโภค
                         กามสมบัติ กามสุขหาได้ยากในโลกนะพระน้องนาง.
                                   ราชสมบัติพี่สละให้พระน้องนางแล้ว ขอพระ
                         น้องนางโปรดบริโภคโภคะ ถวายทานทั้งหลายเถิด
                         พระน้องนางอย่าเสียพระทัยเลย พระชนกชนนีของ
                         พระน้องนางทรงเป็นทุกข์.
                                   เพราะเหตุนั้น พระนางสุเมธาผู้ไม่ต้องการด้วย
                         กามทั้งหลายทรงปราศจากโมหะแล้ว จึงทูลพระเจ้า
                         อนิกรัตตะว่า อย่าทรงเพลิดเพลินกามเลย โปรดทรง
                         เห็นโทษในกามทั้งหลายเถิดเพคะ.
                                   พระเจ้ามันธาตุราช เจ้าทวีปทั้ง ๔ ทรงเป็นยอด
                         ของผู้บริโภคกามทั้งหลาย ยังไม่ทันทรงอิ่ม ก็เสด็จ
                         สวรรคตไปแล้ว ความปรารถนาของข้าพเจ้าก็ยังไม่เต็ม.
                                   เทวดาแห่งฝนพึงหลั่งรัตนะ ๗ ประการให้ตกลง
                         มาโดยรอบทั้ง ๑๐ ทิศ ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายก็ไม่มี
                         นรชนทั้งหลายทั้งที่ยังไม่อิ่ม ก็พากันตายไป.
                                   กามทั้งหลาย เปรียบด้วยดาบและหลาว เปรียบ
                         ด้วยหัวงูเห่า เปรียบด้วยคบเพลิงตามเผาอยู่ เปรียบด้วย
                         ร่างกระดูก.
                                   กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มี
                         พิษมาก เป็นมูลแห่งทุกข์ มีทุกข์เป็นผล เหมือนก้อน
                         เหล็กที่ร้อนโชน.
                                   กามทั้งหลายเปรียบด้วยผลไม้ เปรียบด้วยชิ้น
                         เนื้อเป็นทุกข์ กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน หลอก
                         ลวง เปรียบด้วยของที่ขอยืมเขามา.
                                   กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว เป็นหัวฝี
                         เป็นทุกข์ เป็นความลำบาก เสมือนหลุมถ่านเพลิง เป็น
                         มูลแห่งทุกข์ เป็นภัย เป็นเพชฌฆาต [ผู้ฆ่า]
                                   กามทั้งหลายมีทุกข์มากดังกล่าวมานี้ บัณฑิตทั้ง
                         หลายจึงกล่าวว่า ทำอันตราย เชิญเสด็จกลับไปเสียเถิด
                         หม่อมฉันไม่พิศวาสในความมีโชคของพระองค์ ดอก
                         เพคะ.
                                   เมื่อไฟกำลังไหม้ศีรษะของหม่อมฉันอยู่ คนอื่น
                         จะช่วยอะไรหม่อมฉันได้ เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่
                         ก็ควรที่จะพยายามทำลายชรามรณะนั้นเสีย.
                                   ข้าพเจ้าเห็นพระชนกชนนีและพระเจ้าอนิรัตตะ
                         เสด็จยังไม่ทันถึงพระทวาร ก็ประทับนั่งที่พื้นดิน ทรง
                         พระกันแสง จึงกราบทูลดังนี้ว่า สังสารวัฎยืดยาวสำหรับ
                         เหล่าคนเขลาที่ร้องไห้บ่อยๆ เพราะบิดาตาย พี่ชายถูก
                         ฆ่า เพราะตัวเองถูกฆ่า ในสังสารวัฏที่มีเงื่อนต้นเงื่อน
                         ปลาย ตามไปไม่รู้แล้ว.
                                   โปรดทรงระลึกถึงสังสารวัฏที่ประกอบด้วยน้ำตา
                         น้ำนมและน้ำเลือด โดยความเป็นสังสารวัฏที่เงื่อนต้น
                         เงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว โปรดทรงระลึกถึงกองกระดูก
                         ทั้งหลายของเหล่าสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่.
                                   โปรดทรงระลึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ในน้ำตา น้ำ
                         นมและน้ำเลือด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน้อมนำมา
                         เปรียบเทียบ โปรดทรงระลึกถึงกองกระดูกในกัปหนึ่ง
                         ที่เทียบเท่ากับภูเขาวิปุลบรรพต.
                                   โปรดทรงระลึกถึงแผ่นดินชมพูทวีป ที่พระผู้มี
                         พระภาคเจ้าทรงนำมาเปรียบเทียบสังสารวัฏ ของสัตว์
                         ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ แผ่นดินทั้งหลายทำเป็น
                         ก้อนขนาดเมล็ดพุทรา ก็มากไม่พอกับจำนวนแม่และ
                         ยายทั้งหลาย.
                                   โปรดทรงระลึกถึงหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ที่พระผู้
                         มีพระภาคเจ้าทรงนำมาเปรียบเทียบ เพราะสังสารวัฏมี
                         เงื่อนต้นเงื่อนปลายที่ตามไปไม่รู้แล้ว ท่อนไม้ทั้งหลาย
                         มีขนาด ๔ องคุลี ก็มากไม่เท่ากับจำนวนบิดาและปู่ทั้ง
                         หลาย.
                                   โปรดทรงระลึกถึงเต่าตาบอด และช่องแอกอัน
                         หมุนไปทิศบูรพา และทิศอื่นๆ อีกในมหาสมุทร มา
                         สวมหัวเต่าตาบอดตัวนั้น เปรียบเทียบในการได้อัต-
                         ภาพเป็นมนุษย์.
                                   โปรดทรงระลึกถึงโทษคือกาย ที่ไม่มีแก่นสาร
                         เปรียบด้วยก้อนฟองน้ำ โปรดเห็นขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง
                         โปรดทรงระลึกถึงนรกทั้งหลาย ที่มีความคับแค้นมาก.
                                   โปรดทรงระลึกถึงสัตว์ทั้งหลาย ที่พากันทำให้รก
                         ป่าช้า ในชาตินั้นๆ เรื่อยไป โปรดทรงระลึกถึงภัยคือ
                         จระเข้ ความเห็นแก่ปากท้อง โปรดทรงระลึกถึงอริยสัจ ๔.
                                   เมื่ออมตนิพพานมีอยู่ จะต้องการอะไรด้วยของ
                         เผ็ดร้อน ๕ อย่าง ที่พระองค์ทรงดื่มแล้ว เพราะว่าความ
                         ยินดีกามทุกอย่าง เผ็ดร้อนกว่าของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง.
                                   เมื่ออมตนิพพานมีอยู่ พระองค์จะต้องการอะไร
                         ด้วยกามทั้งหลายที่เร่าร้อน เพราะว่าความยินดีกามทุก
                         อย่างอันไฟติดโพลงแล้ว ให้เดือดแล้ว ให้หวั่นไหวแล้ว
                         เผาให้ร้อนแล้ว.
                                   เมื่อเนกขัมมะที่ไม่มีข้าศึกมีอยู่ พระองค์จะทรง
                         ต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่มีข้าศึกมาก กามทั้ง
                         หลายมีภัยทั่วไป คือ โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัยและ
                         อัปปิยภัย [ภัยคือคนร่วมมรดกที่ไม่ถูกกัน] ชื่อว่ามี
                         ข้าศึกมาก.
                                   เมื่อโมกขธรรมมีอยู่ พระองค์ยังจะต้องการอะไร
                         ด้วยกามทั้งหลาย ซึ่งมีการฆ่าและการจองจำเล่า เพราะ
                         ว่าการฆ่าการจองจำมีอยู่ในกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย
                         ผู้ใคร่กามย่อมเสวยทุกข์ทั้งหลาย.
                                   กามทั้งหลายเหมือนคบเพลิงที่ลุกโพลง ย่อมไหม้
                         คนถือที่ไม่ยอมปล่อย เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน
                         คบเพลิง ย่อมจะไหม้คนที่ไม่ยอมปล่อยคบเพลิง.
                                   โปรดอย่าทรงละสุขอันไพบูลย์ เพราะเหตุแห่ง
                         กามสุขอันเล็กน้อยเลย อย่าทรงเป็นดุจปลากลืนเบ็ด
                         แล้วต้องเดือดร้อนภายหลัง.
                                   โปรดอย่าหมุนไปหมุนมาเพราะกามทั้งหลาย ดุจ
                         สุนัขถูกล่ามโซ่เลย เพราะว่ากามทั้งหลายจักทำผู้นั้นให้
                         เป็นเหมือนจัณฑาล หิวจัด ได้สุนัขก็ทำให้พินาศได้
                                   พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม จักเสวยทุกข์อันหา
                         ประมาณมิได้ และความเสียใจอย่างมาก โปรดทรงสละ
                         กามอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด.
                                   เมื่อพระนิพพานที่ไม่มีความแก่มีอยู่ พระองค์
                         ยังจะต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลาย ที่มีความแก่เล่า
                         ชาติทั้งปวงอันมรณะและพยาธิกำกับไว้ ในภพทุกภพ.
                                   พระนิพพานนี้ไม่แก่ พระนิพพานนี้ไม่ตาย
                         พระนิพพานนี้เป็นบทอันไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีความเศร้า
                         โศก ไม่ถูกข้าศึกเบียดเบียน ไม่พลาด ไม่น่ากลัว ไม่มี
                         ความเดือดร้อน.
                                   พระนิพพานนี้ พระอริยะเป็นอันมากบรรลุแล้ว
                         อมตนิพพานนี้ อันผู้พยายามโดยแยบคาย ควรได้ใน
                         วันนี้นี่แหละ แต่ผู้ไม่พยายามหาอาจได้ไม่.
                                   พระนางสุเมธา เมื่อไม่ทรงได้ความยินดีในสัง-
                         ขาร กำลังทรงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าอนิกรัตตะ พระนาง
                         สุเมธาก็ทรงเหวี่ยงพระเกศาลงที่พื้นดิน.
                                   พระเจ้าอนิกรัตตะเสด็จลุกขึ้นประคองอัญชลี
                         ทูลวอนพระชนกของพระนางว่า ขอทรงโปรดปล่อย
                         พระนางสุเมธาให้ทรงผนวชเถิด พระนางทรงเห็น
                         วิโมกข์และสัจจะ.
                                   พระนางสุเมธานั้นอันพระชนกชนนีทรงปล่อย
                         แล้ว ทรงกลัวภัยคือความโศกทรงผนวชแล้ว เมื่อทรง
                         ศึกษาผลอันเลิศ ก็ทรงทำให้แจ้งอภิญญา ๖.
                                   พระนิพพานนั้น อัศจรรย์ไม่เคยมี ก็ได้มีแก่
                         พระนางสุเมธาราชธิดา พระสุเมธาเถรี ได้พยากรณ์
                         ปุพเพนิวาสจริต เหมือนในเวลาสุดท้ายคือเวลาปริ-
                         นิพพานว่า
                                   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
                         เสด็จอุบัติในโลก เมื่อสร้างสังฆารามเสร็จใหม่ๆ ข้าพเจ้า
                         เป็นหญิง ๓ คนเป็นสหายกัน [ธนัญชานี เขมาและ
                         ข้าพเจ้า] ได้ถวายวิหารทาน.
                                   ข้าพเจ้าเกิดในเทวดา ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐
                         ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ไม่จำต้องกล่าวในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้า
                         มีฤทธิ์มากในเทวดา ไม่จำต้องกล่าวในหมู่มนุษย์
                         ข้าพเจ้าเป็นมเหสีนารีรัตน์ ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มี
                         รัตนะ ๗ ประการ.
                                   การสร้างอารามถวายสงฆ์เป็นวิหารทานครั้งนั้น
                         เป็นเหตุ เป็นแดนเกิดแห่งทิพยสมบัติ ข้อนั้นเป็นมูล
                         เป็นการอดทนเพ่งธรรมในพระศาสนา เป็นที่รวมบุญ
                         ครั้งแรก ข้อนั้นเป็นความดับทุกข์ สำหรับข้าพเจ้าผู้
                         ยินดีในธรรม.
                                   ชนเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ผู้มีพระบัญญัติไม่ทราม ชนเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้
                         ย่อมเบื่อหน่ายในภพ ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลาย
                         กำหนัด ดังนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต ๑. สุเมธาเถรีคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=10138&Z=10326
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7270
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7270
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :