ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1713 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1725 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1738 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา อัมพชาดก
ว่าด้วย มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระเทวทัต ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อาหาสิ เม อมฺพผลานิ ปุพฺเพ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า พระเทวทัตบอกคืนอาจารย์ว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้า พระสมณโคดมมิใช่อาจารย์ มิใช่พระอุปัชฌาย์ของเราเลย เสื่อมจากฌาน ทำลายสงฆ์ กำลังมาสู่กรุงสาวัตถีโดยลำดับ. เมื่อแผ่นดินให้ช่องเข้าไปอเวจีมหานรก ภายนอกพระวิหารพระเชตวัน.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตบอกคืนอาจารย์เสียถึงความพินาศใหญ่ บังเกิดในอเวจีมหานรก. พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็บอกคืนอาจารย์เสียถึงความพินาศใหญ่แล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ตระกูลแห่งปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น พินาศไปด้วยอหิวาตกโรค. บุตรชายคนหนึ่งทำลายฝาเรือนหนีไปได้ เขาไปกรุงตักกสิลาเรียนไตรเพทและศิลปะที่เหลือในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ กราบลาอาจารย์. เมื่อจะออกไปคิดว่าเราต้องรู้จักขนบธรรมเนียมของประเทศจึงเที่ยวไป ถึงเมืองชายแดนเมืองหนึ่ง.
               หมู่บ้านจัณฑาลหมู่ใหญ่ได้อาศัยเมืองนั้นอยู่ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์อาศัยบ้านนั้นอยู่ เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาด รู้มนต์ที่จะทำให้มะม่วงมีผลในเวลามิใช่ฤดูกาลได้. ท่านลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ คว้าหาบออกไปจากบ้านนั้น เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงต้นหนึ่งในป่า หยุดยืนอยู่ในระยะที่สุด ๗ ก้าวร่ายมนต์นั้น สาดต้นมะม่วงด้วยน้ำซองมือหนึ่ง. ในขณะนั้นนั่นเอง ใบแก่ๆ ก็ร่วงหล่นลงจากต้น แตกใบอ่อน ออกดอกแล้วร่วงลง ผลมะม่วงก็มีขึ้น โดยครู่เดียวเท่านั้นก็สุก มีโอชาหวานเช่นเดียวกับมะม่วงทิพย์ แล้วก็หล่นจากต้น. พระมหาสัตว์เก็บผลเหล่านั้นเคี้ยวกินจนพอความต้องการ เก็บจนเต็มหาบไปสู่เรือน ขายมะม่วงเหล่านั้นเลี้ยงลูกเมีย.
               พราหมณ์กุมารนั้นเห็นพระมหาสัตว์ผู้นำผลมะม่วงมาในเวลามิใช่ฤดูกาลมาขาย จึงคิดว่าไม่ต้องสงสัยละ อันผลมะม่วงเหล่านั้นต้องเกิดขึ้นด้วยกำลังของมนต์ อาศัยบุรุษนี้ เราจักได้มนต์อันหาค่ามิได้นี้ คอยกำหนดจับลู่ทางที่พระมหาสัตว์นำผลมะม่วงมา ก็รู้แน่นอน เมื่อท่านยังไม่มาจากป่า ได้ไปสู่เรือนของท่าน เป็นเหมือนไม่รู้ ถามภรรยาของท่านว่า ท่านอาจารย์ไปไหน. ครั้นภรรยาท่านตอบว่าไปป่า. จึงยืนรอท่านอยู่ พอเห็นท่านมาก็ต้อนรับ รับหาบจากมือ นำมาวางไว้ในเรือน.
               พระโพธิสัตว์มองดูเขา กล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ มาณพนี้มาเพื่อต้องการมนต์ แต่มนต์จะไม่ตั้งอยู่ในกำมือเขาได้เพราะเขาเป็นอสัตบุรุษ. ฝ่ายมาณพคิดว่า เราต้องบำเพ็ญอุปการะแก่อาจารย์จึงจะได้มนต์นี้. ตั้งแต่นั้นมา กระทำกิจทุกอย่างในเรือนของท่าน หาฟืน ซ้อมข้าว หุงข้าว ให้น้ำล้างหน้าเป็นต้น ล้างเท้า.
               วันหนึ่ง เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวว่า พ่อมาณพ เธอจงให้เครื่องหนุนเท้าเตียงเถิด เขามองไม่เห็นสิ่งอื่นก็เลยเอาเท้าเตียงวางบนขา นั่งอยู่ตลอดราตรี.
               ครั้นกาลต่อมา ภรรยาของพระมหาสัตว์คลอดบุตร ได้กระทำบริกรรม ในเวลาคลอดบุตรแก่นาง. วันหนึ่ง นางจึงกล่าวแก่พระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่นาย มาณพนี้ แม้จะสมบูรณ์ด้วยชาติ ก็ยังยอมกระทำการช่วยเหลือเราด้วยต้องการมนต์ ขอมนต์จงตั้งอยู่ในกำมือของเขาหรืออย่าตั้งอยู่ก็ตามเถิด ท่านโปรดให้มนต์แก่เขาเถิด.
               ท่านรับคำว่า ดีละ แล้วให้มนต์แก่เขา กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย มนต์หาค่ามิได้ ลาภสักการะอันใหญ่หลวง จักมีแก่เจ้าเพราะอาศัยมนต์นี้ ในเวลาที่เจ้าถูกพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของเจ้า เจ้าอย่าข่มเราเสียนะ ถ้าหากเจ้าอดสูว่าคนจัณฑาลเป็นอาจารย์ของเรา เราเรียนมนต์จากสำนักของคนจัณฑาลนั้น จักกล่าวเสียว่าพราหมณ์ผู้มหาศาลเป็นอาจารย์ของเราไซร้ ผลของมนต์นี้จักไม่มีเลย.
               เขากล่าวว่า เหตุไร ผมจักต้องข่มขี่เล่า ในเวลาที่ใครๆ ถาม ผมต้องบอกอ้างท่านเท่านั้น แล้วกราบลาท่าน ออกไปจากบ้านคนจัณฑาล ทดลองมนต์แล้ว บรรลุถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับ ขายมะม่วงได้ทรัพย์มาก.
               ครั้นวันหนึ่ง นายอุทยานบาลซื้อมะม่วงจากมือของเขา ถวายแด่พระราชา. พระราชาเสวยมะม่วงนั้นแล้ว ตรัสถามว่า น่าอัศจรรย์อร่อยอย่างยิ่ง เจ้าไปได้มะม่วงชนิดนี้มาจากไหนละ. เขากราบทูลว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม มาณพผู้หนึ่งนำผลมะม่วงทะวายมาขาย ข้าพระพุทธเจ้าถือเอาจากมาณพนั้น พระเจ้าข้า. ทรงรับสั่งว่า จงบอกเขาว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป จงนำผลมะม่วงมา ณ ที่นี้. แม้นายอุทยานบาลนั้นก็กระทำตามที่รับสั่งนั้น.
               ตั้งแต่นั้นมา มาณพก็นำผลมะม่วงทั้งหลายไปสู่ราชสกุล เมื่อได้รับสั่งว่า เจ้าจงบำรุงเราเถิด ก็บำรุงพระราชา ได้รับทรัพย์เป็นอันมาก ค่อยคุ้นเคยโดยลำดับ.
               ครั้นวันหนึ่ง พระราชาตรัสถามเขาว่า มาณพ เจ้านำมะม่วงอันสมบูรณ์ด้วยกลิ่นและรสเห็นปานนี้ ในสมัยมิใช่ฤดูกาลมาจากไหน นาคครุฑหรือเทพเจ้าองค์ใดให้แก่เจ้าหรือไฉน หรือว่าทั้งนี้เป็นกำลังแห่งมนต์.
               เขากราบทูลว่า ขอเดชะ พระมหาราชเจ้า ใครๆ มิได้ให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แต่มนต์อันหาค่ามิได้ของข้าพระพุทธเจ้า มีอยู่. นี้เป็นกำลังแห่งมนต์นั้น พระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะขอดูกำลังมนต์ของเจ้า สักวันหนึ่ง.
               เขากราบทูลว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าจักแสดงถวาย พระเจ้าข้า.
               วันรุ่งขึ้น พระราชาเสด็จไปสู่พระอุทยานกับตรัสว่า เจ้าจงแสดงเถิด.
               เขารับพระดำรัสว่า สาธุ เดินเข้าไปใกล้ต้นมะม่วง ยืนในระยะ ๗ ก้าวร่ายมนต์วักน้ำสาดต้น. ทันใดนั้นเอง ต้นมะม่วงก็เผล็ดผลโดยนิยมดังกล่าวแล้ว ในหนหลังนั่นแหละ ฝน คือผลมะม่วงร่วงพรั่งพรู เป็นดังมหาเมฆ หลั่งกระแสฝน. มหาชนพากันให้สาธุการ แผ่นผ้าได้ถูกชูขึ้นสลอนไป.
               พระราชาทรงเสวยผลมะม่วง ประทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เขา แล้วตรัสถามว่า มาณพ มนต์อันเป็นอัศจรรย์ของเจ้าเช่นนี้ เจ้าเรียนในสำนักของใคร.
               มาณพคิดว่า ถ้าเราจักทูลว่าในสำนักคนจัณฑาล จักต้องมีความอดสู และคนทั้งหลายจักติเตียนได้ อย่ากระนั้นเลย มนต์ของเราคล่องแคล่วแม่นยำ คงไม่เสื่อมหายไปในบัดนี้ดอก เราจักอ้างอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แล้วกระทำมุสาวาท กล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้าเรียนในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในเมืองตักกสิลา พระเจ้าข้า. เป็นอันบอกคืนอาจารย์เสีย ทันใดนั่นเอง มนต์ก็เสื่อม.
               พระราชาทรงโสมนัส ทรงชวนเขาเข้าสู่พระนคร.
               วันรุ่งขึ้น ทรงพระดำริว่า เราจักกินมะม่วงจึงเสด็จสู่อุทยาน ประทับนั่งเหนือแผ่นศิลาอันเป็นมงคล ตรัสว่า มาณพ เจ้าจงนำมะม่วงมาเถิด. เขารับพระดำรัสว่า สาธุ แล้วเข้าไปใกล้ต้นมะม่วง ยืนในระยะ ๗ ก้าว คิดว่าเราจักร่ายมนต์ ครั้นมนต์ไม่ปรากฏก็ทราบว่าเสื่อมเสียแล้ว ยืนอดสูใจอยู่.
               พระราชาทรงพระดำริว่า วันก่อน มาณพนี้นำผลมะม่วงมาให้เราในท่ามกลางบริษัททีเดียว ให้ฝน คือผลมะม่วงร่วงหล่นพรั่งพรู เหมือนฝนลูกเห็บตก. บัดนี้ ยืนเหมือนแข็งทื่อ เหตุอะไรกันเล่าหนอ.
               เมื่อจะทรงถามเขา จึงตรัสพระคาถาว่า
               ดูก่อนท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อน ท่านได้นำผลมะม่วงทั้งเล็กทั้งใหญ่มาให้เรา
               ดูก่อนพราหมณ์ บัดนี้ ผลไม้ทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏด้วยมนต์เหล่านั้นของท่านเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาหาสิ แปลว่า นำมาแล้ว.
               บทว่า ทุมปฺผลานิ แปลว่า ผลแห่งต้นไม้.

               มาณพฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า ถ้าเราจักทูลว่า วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจักถือเอาผลไม้มาถวายมิได้ พระราชาจักกริ้วเรา เราจักลวงพระองค์ด้วยมุสาวาท.
               จึงทูลคาถาที่ ๒ ว่า
               ข้าพระบาทกำลังคำนวณคลองแห่งนักขัตฤกษ์ จนเห็นขณะและครู่ ด้วยมนต์ก่อน ครั้นได้ฤกษ์และยามดีแล้ว จักนำผลมะม่วงเป็นอันมาก มาถวายพระองค์ เป็นแน่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทฺธา หริสฺสํ อมฺพผลํ ความว่า เราจักนำผลมะม่วงมาแน่แท้.

               พระราชาทรงพระดำริว่า มาณพนี้ในเวลาอื่นไม่พูดถึงคลองแห่งนักขัตฤกษ์เลย นี้มันเรื่องอะไรกันเล่า.
               เมื่อจะตรัสถาม ได้ทรงภาษิตคาถา ๒ คาถาว่า
               แต่ก่อน ท่านไม่ได้พูดถึงคลองแห่งนักขัตฤกษ์ ไม่ได้เอ่ยถึงขณะและครู่ ทันใดนั้น ท่านก็นำเอาผลมะม่วงเป็นอันมาก อันประกอบด้วยสี กลิ่น และรส มาให้เราได้.
               ดูก่อนพราหมณ์ แม้เมื่อก่อน ผลไม้ทั้งหลายย่อมปรากฏ ด้วยร่ายมนต์ของท่าน วันนี้ แม้ท่านจะร่ายมนต์ก็ไม่อาจให้สำเร็จได้ วันนี้ สภาพของท่านเป็นอย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น วาเทสิ แปลว่า ย่อมไม่อาจ.
               บทว่า ชปฺปมฺปิ ความว่า ท่านจะท่องบ่นก็ดี จะร่ายมนต์ก็ดี.
               บทว่า อยํ โส ความว่า สภาพของท่านนี้นั้น เป็นอย่างไรในวันนี้.

               มาณพฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า เราไม่อาจจะลวงพระราชาด้วยมุสาวาท แม้ว่าเราสารภาพความจริงแล้ว พระองค์คงไม่ลงพระราชอาญา เราต้องสารภาพความจริงเสียเถอะ ดังนี้แล้ว.
               จึงกราบทูล ๒ คาถาว่า
               บุตรของคนจัณฑาลได้บอกมนต์ให้ข้าพระบาทโดยธรรม และได้สั่งกำชับข้าพระบาทว่า ถ้ามีใครมาถามถึงชื่อและโคตรของเราแล้ว เจ้าอย่าปกปิด มนต์ทั้งหลายก็จะไม่ละเจ้า.
               ข้าพระบาทนั้น ครั้นพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชนถามถึงอาจารย์ อันความลบหลู่ครอบงำแล้ว ได้กราบทูลเท็จว่า มนต์เหล่านี้เป็นของพราหมณ์ ข้าพระบาทจึงเป็นผู้เสื่อมมนต์ เป็นเหมือนคนกำพร้า ร้องไห้อยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน ความว่า ได้ให้มนต์โดยธรรมสม่ำเสมอ โดยเหตุ โดยไม่ปกปิดเลย.
               บทว่า ปกติญฺจ สํสิ ความว่า บุตรของคนจัณฑาลได้กำชับถึงความเสื่อมและความปกติแห่งมนต์เหล่านั้นแก่เราว่า ถ้าใครๆ มาถามถึงนามและโคตรของเรา เจ้าอย่าปกปิด ถ้าปกปิดมนต์ของเจ้าจักเสื่อม.
               บทว่า พฺราหฺมณสฺส มิจฺฉา ความว่า ข้าพระองค์ได้บอกผิดไปว่า ข้าพระองค์ได้เรียนมาจากสำนักของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น มนต์ทั้งหลายของข้าพระองค์จึงเสื่อม ข้าพระองค์นั้นมีมนต์อันเสื่อมแล้ว บัดนี้ ย่อมร้องไห้เหมือนคนกำพร้า.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงกริ้วว่า เจ้านี่ลามก มองไม่เห็นรัตนะเห็นปานฉะนี้ เมื่อได้รัตนะอันสูงสุดเช่นนี้แล้ว เรื่องชาติจักกระทำอะไรให้ได้
               เมื่อทรงติเตียนเขา จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
               บุรุษต้องการน้ำหวานจะพึงได้น้ำหวานจากต้นไม้ใด จะเป็นต้นละหุ่งก็ตาม ต้นสะเดาก็ตาม ต้นทองหลางก็ตาม ต้นไม้นั่นแล เป็นต้นไม้สูงสุดของบุรุษนั้น.
               บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นแพทย์ก็ตาม เป็นศูทรก็ตาม เป็นคนจัณฑาลก็ตาม คนเทหยากเยื่อก็ตาม ผู้นั้นก็จัดเป็นคนสูงสุดของบุรุษนั้น.
               ท่านทั้งหลายจงลงอาชญาและเฆี่ยนตีมาณพผู้นี้ แล้วจับมาณพลามกผู้นี้ไสคอออกไปเสีย มาณพใดได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ด้วยความยากเข็ญ ท่านทั้งหลายจงยังมาณพนั้นให้พินาศเพราะความเย่อหยิ่งจองหอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มธุตฺถิโก ความว่า บุรุษผู้ต้องการด้วยน้ำหวาน ตรวจดูน้ำหวานในป่า ย่อมได้น้ำหวานของต้นไม้นั้นจากที่ใด ต้นไม้นั้นแลจัดว่าเป็นต้นไม้สูงสุดสำหรับผู้นั้น. นรชนพึงรู้ธรรมคือเหตุประโยชน์ที่ควรจากบุรุษใดในบรรดากษัตริย์เป็นต้นเหมือนอย่างนั้น บุรุษนั้นจัดว่าเป็นผู้สูงสุดของนรชนนั้น.
               บทว่า อิมสฺส ทณฺฑญฺจ ความว่า ท่านทั้งหลายจงเพิกหนังหลังของบุรุษผู้มีธรรมอันลามกนี้ ด้วยชิ้นไม้ไผ่สำหรับเฆี่ยน และลงอาชญาทุกอย่าง แล้วจับคอบุรุษผู้ลามกนี้ขับไสไปเสีย ลงโทษตามอำเภอใจแล้วขับไล่ไปเสีย จะประโยชน์อะไรด้วยบุรุษนี้ผู้อยู่ในที่นี้.
               พวกราชบุรุษพากันทำตามพระราชบัญชาอย่างนั้น พากันกล่าวว่า เจ้าไปเถิด เจ้าไปสู่สำนักอาจารย์ของเจ้า ทำให้อาจารย์ของเจ้าชื่นชมได้แล้ว ถ้าเจ้าจักได้มนต์อีก ค่อยมาในที่นี้ ถ้าไม่ได้ก็อย่ามองดูทิศนี้เลย ได้กระทำเขาให้หมดอำนาจทีเดียว.
               เขาหมดที่พึ่งคิดว่า เว้นอาจารย์แล้ว ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราต้องไปหาท่าน ทำให้ท่านชื่นชม ขอเรียนมนต์นั้นอีกจนได้ ร้องไห้พลางเดินไปสู่บ้านนั้น.
               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เห็นเขาเดินมา ก็เรียกภรรยามา กล่าวว่า นางผู้เจริญ เชิญดูซิ เจ้านี่ชั่วช้า มนต์เสื่อมหมดแล้ว กำลังกลับมา. เขาไปหาพระมหาสัตว์ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถูกท่านถามว่า เหตุไรเล่าเจ้าจึงมา. จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ผมทำมุสาวาท บอกคืนท่านอาจารย์เสีย ถึงความฉิบหายใหญ่โต.
               เมื่อจะแสดงโทษที่ล่วงเกินแล้ว ขอเรียนมนต์ใหม่ จึงกล่าวคาถาว่า
               บุคคลผู้สำคัญว่าที่เสมอ พึงตกบ่อ ถ้ำ เหว หรือหลุมที่มีรากไม้ผุ ฉันใด อนึ่ง บุคคลตาบอดเมื่อสำคัญว่าเชือก พึงเหยียบงูเห่า พึงเหยียบไฟ ฉันใด
               ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญา ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าพลาดไปแล้วฉันนั้น ขอจงให้มนต์แก่ข้าพเจ้าผู้มีมนต์อันเสื่อมแล้ว อีกสักครั้งหนึ่งเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา สมํ ความว่า บุรุษสำคัญว่า ที่นี้เป็นที่สม่ำเสมอ พึงตกไปสู่บ่อ ถ้ำ เหว กล่าวคือที่พลาดจากพื้น หรือรากไม้ผุ.
               บทว่า ปูติปาทํ ความว่า ต้นไม้ใหญ่ในหิมวันตประเทศแห้งตาย เมื่อรากทั้งหลายของต้นไม้ใหญ่นั้นเกิดเปื่อยเน่า ในที่นั้นย่อมเป็นบ่อใหญ่ นี้เป็นสถานที่ชื่อของบ่อใหญ่นั้น.
               บทว่า โชติมธิฏฺฐเหยฺย ความว่า พึงเหยียบไฟ.
               บทว่า เอวํปิ ความว่า แม้เราก็ฉันนั้น เป็นผู้บอด เพราะไม่มีจักษุ คือปัญญา ไม่รู้คุณวิเศษของท่าน พลั้งพลาดในท่าน ท่านรู้เรานั้นว่า เป็นผู้พลั้งพลาด.
               บทว่า สปญฺญา ความว่า ดูก่อนท่านผู้สมบูรณ์ด้วยญาณ จงให้มนต์แก่ข้าพเจ้าผู้เสื่อมมนต์อีก.

               ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะเขาว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าพูดอะไร ธรรมดาว่าคนบอด เมื่อมีผู้ให้สัญญาแล้วย่อมหลบหลีกบ่อเป็นต้นได้ เราเล่าก็บอกเจ้าแล้วแต่แรกทีเดียว คราวนี้เจ้าจะมาหาเราเพื่อประโยชน์อะไรเล่า แล้วกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               เราได้ให้มนต์แก่ท่านโดยธรรม ฝ่ายท่านก็ได้เรียนมนต์โดยธรรม หากว่าท่านมีใจดีรักษาปกติไว้ มนต์ก็จะไม่พึงละทิ้งท่าน ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
               ดูก่อนคนพาล มนต์อันใดที่จะพึงได้ในมนุษยโลก มนต์อันนั้นท่านก็จะได้ในวันนี้โดยลำบาก ท่านผู้ไม่มีปัญญา กล่าวคำเท็จ ทำมนต์อันมีค่าเสมอด้วยชีวิต ที่ได้มาโดยยาก ให้เสื่อมเสียแล้ว.
               เราจะไม่ให้มนต์เช่นนั้นแก่เจ้าผู้เป็นพาล หลงงมงาย อกตัญญู พูดเท็จ ไม่มีความสำรวม มนต์ที่ไหน ไปเสียเถิด เราไม่พอใจ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน ความว่า แม้เราก็ไม่รับเงินหรือทองอันเป็นส่วนของอาจารย์ ยินยอมมอบให้แก่ท่าน โดยธรรมแท้ทีเดียว แม้เจ้าเล่าก็มิได้ให้อะไร ย่อมรับเอาโดยธรรม โดยเสมอดุจกัน.
               บทว่า ธมฺเม ฐิตํ ได้แก่ ตั้งอยู่ในธรรมของบุคคลผู้บูชาอาจารย์.
               บทว่า ตาทิสเก ความว่า เราไม่ยอมให้มนต์ เห็นปานนั้น คือที่จะให้มะม่วงมีผลในเวลามิใช่ฤดูกาล เจ้าจงไป เจ้าไม่ถูกใจข้าเลย.

               เขาถูกอาจารย์ตะเพิดอย่างนี้ คิดว่า เราจะอยู่ไปทำไม ดังนี้เข้าไปสู่ป่า ตายอย่างน่าอนาถ.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็บอกคืนอาจารย์เสีย ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวงแล้ว ดังนี้แล้ว.
               จึงทรงประชุมชาดกว่า
                         มาณพอกตัญญูในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัต
                         พระราชาได้มาเป็น พระอานนท์
                         ส่วนบุตรคนจัณฑาล คือ เราตถาคต แล.


               จบอรรถกถาอัมพชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อัมพชาดก ว่าด้วย มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1713 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1725 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1738 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=6765&Z=6808
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=2984
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=2984
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :