พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการพูดเสียดแทงให้เจ็บใจของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มนุญฺญเมว ภาเสยฺย ดังนี้.
ความพิศดารว่า สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อกระทำการทะเลาะ ย่อมขู่ ย่อมตะเพิด ย่อมทิ่มแทง ย่อมด่าด้วย
เรื่องสำหรับด่า ๑๐ ประการ.
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์มา แล้วตรัสถามว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเธอกระทำการทะเลาะ จริงหรือ? เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า.
จึงทรงติเตียน แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าวาจาหยาบ กระทำแต่ความฉิบหายให้ ไม่เป็นที่พอใจแม้แห่งสัตว์เดียรัจฉาน
แม้ในกาลก่อน สัตว์เดียรัจฉานตัวหนึ่ง ย่อมยังคนผู้ร้องเรียกตนด้วยคำหยาบ ให้พ่ายแพ้ด้วยทรัพย์พันหนึ่ง แล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า คันธาระ ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดโค.
ครั้งในกาลที่พระโพธิสัตว์เป็นลูกโคหนุ่มนั่นเอง. พราหมณ์คนหนึ่งได้พระโพธิสัตว์นั้นจากสำนักของทายกผู้ให้ทักษิณา
ตั้งชื่อว่า นันทิวิสาล แล้วตั้งไว้ในฐานะบุตร รักใคร่มาก ให้ข้าวยาคูและภัตเป็นต้น บำรุงเลี้ยงแล้ว.
พระโพธิสัตว์เจริญวัยแล้ว คิดว่า พราหมณ์นี้ปรนนิบัติเราได้โดยยาก ชื่อว่า โคอื่น ผู้มีธุระเสมอเช่นกับเรา ย่อมไม่มี ในชมพูทวีปทั้งสิ้น. ถ้ากระไร เราพึงแสดงกำลังของตน แล้วพึงให้ค่าเลี้ยงดูแก่พราหมณ์.
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้นกล่าวกะพราหมณ์ว่า พราหมณ์ท่านจงไป จงเข้าไปหาโควินทกเศรษฐีนั่น แล้วกล่าวว่า
โคพลิพัทของเรายังเกวียนร้อยเล่มซึ่งผูกติดๆ กันให้เคลื่อนไปได้ ท่านจงกระทำการเดิมพันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ
พราหมณ์นั้นจึงไปยังสำนักของเศรษฐี สั่งสนทนาขึ้นว่า ในนครนี้ โคของใครเพียบพร้อมด้วยเรี่ยวแรง.
ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ของคนโน้น และของคนโน้น แล้วกล่าวว่า ก็ทั่วทั้งนคร โคชื่อว่าเช่นกับด้วยโคทั้งหลายของเรา ย่อมไม่มี.
พราหมณ์กล่าวว่า โคของเราตัวหนึ่งสามารถให้เกวียนร้อยเล่มผูกติดๆ กันเคลื่อนไปได้ มีอยู่. เศรษฐีกล่าวว่า คฤหบดี โคเห็นปานนี้ จะมีแต่ไหน.
พราหมณ์กล่าวว่า มีอยู่ในเรือนของเรา. เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกระทำเดิมพัน.
พราหมณ์กล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจะทำ แล้วได้กระทำเดิมพันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ พราหมณ์นั้นยังเกวียนร้อยเล่มให้เต็มด้วยทราย กรวด และหินเป็นต้น
แล้วจอดไว้ตามลำดับกัน แล้วผูกเกวียนทุกเล่มเข้าด้วยกัน ด้วยเชือกสำหรับผูกเพลา แล้วให้โคนันทิวิสาลอาบนํ้า แล้วเจิมด้วยของหอม ประดับพวงมาลาที่คอ
แล้วเทียมเฉพาะตัวเท่านั้นที่ทูบเกวียนเล่มแรก ตนเองนั่งที่ทูบเกวียน เงื้อปฏักขึ้น แล้วกล่าวว่า เจ้าโคโกง จงลากไป เจ้าโคโกง จงนำไป.
พระโพธิสัตว์คิดว่า พราหมณ์นี้ร้องเรียกเราผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโกง จึงได้ยืนทำเท้าทั้ง ๔ ให้นิ่ง เหมือนเสา.
ทันใดนั้น เศรษฐีจึงให้พราหมณ์นำทรัพย์พันกหาปณะมา.
พราหมณ์แพ้ (พนัน) ด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จึงปลดโคแล้วไปเรือน ถูกความโศกครอบงำ จึงได้นอน.
โคนันทิวิสาลเที่ยวไปแล้วกลับมา เห็นพราหมณ์ถูกความโศกครอบงำ จึงเข้าไปหา แล้วกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านนอนหลับหรือ.
พราหมณ์กล่าวว่า เราแพ้พนันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จะมีความหลับมาแต่ไหน.
โคนันทิวิสาลกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ฉันอยู่ในเรือนของท่านมาตลอดกาล มีประมาณเท่านี้
เคยทำภาชนะอะไรๆ แตก เคยเหยียบใครๆ หรือเคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ในที่อันไม่ควร มีอยู่หรือ.
พราหมณ์กล่าวว่า ไม่มีดอกพ่อ.
ลำดับนั้น โคนันทิวิสาลกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงเรียกฉัน ด้วยวาทะว่าโคโกง
นั้นเป็นโทษของท่านเท่านั้น โทษของฉันไม่มี ท่านจงไป จงทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีนั้น ขออย่างเดียว ท่านอย่าเรียกฉันผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโคโกง.
พราหมณ์ได้ฟังคำของโคนันทิวิสาลนั้นแล้ว ไปกระทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะ แล้วผูกเกวียนร้อยเล่มติดกัน โดยนัยอันมีแล้วในก่อน ประดับโคนันทิวิสาล แล้วเทียมเกวียนเล่มแรกเข้าที่ทูบเกวียน.
ถามว่า เทียมอย่างไร?
ตอบว่า พราหมณ์ผูกแอกให้แน่นที่ทูบเกวียน แล้วเทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่ปลายแอกข้างหนึ่ง แล้วเอาเชือกที่ทูบเกวียน พันปลายแอกข้างหนึ่ง แล้วใส่ไม้คํ้ายันปลายแอก เพลาและเชิงเกวียน
เอาเชือกนั้นผูกให้แน่นแล้วจอดไว้ ก็เมื่อกระทำอย่างนี้ แอกย่อมไม่เคลื่อนไปทางโน้นทางนี้ โคตัวเดียวเท่านั้น อาจลากไปได้.
ลำดับนั้น พราหมณ์นั่งบนทูบเกวียน ลูบหลังโคนันทิวิสาลนั้น พลางกล่าวว่า โคผู้เจริญ พ่อจงไป โคผู้เจริญ พ่อจงลากไป.
พระโพธิสัตว์ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยกำลังแรงครั้งเดียวเท่านั้น ให้เกวียนเล่มที่ตั้งอยู่ข้างหลังไปตั้งอยู่ในที่ของเกวียนซึ่งตั้งอยู่ข้างหน้า โควินทกเศรษฐีแพ้ แล้วได้ให้ทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะแก่พราหมณ์
มนุษย์แม้อื่นๆ ก็ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พระโพธิสัตว์ ทรัพย์ทั้งหมดนั้นได้เป็นของพราหมณ์ทั้งนั้น พราหมณ์นั้นอาศัยพระโพธิสัตว์ จึงได้ทรัพย์เป็นอันมาก ด้วยประการอย่างนี้.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าคำหยาบไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แล้วทรงติเตียนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท
เป็นพระผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่น่าพอใจ ในกาลไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระหนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจเพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุญฺญเมว ภาเสยฺย ความว่า บุคคลเมื่อจะกล่าวกับคนอื่น พึงกล่าวเฉพาะปิยวาจาอันอ่อนหวานอ่อนโยน เป็นที่น่าพอใจไพเราะ เว้นจากโทษ ๔ ประการ.
บทว่า ครุภารํ อุททฺธริ ความว่า โคนันทิวิสาล เมื่อพราหมณ์กล่าวคำที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่ลากภาระ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำเป็นที่รัก น่าพอใจในภายหลัง จึงลากภาระหนักไปให้ถึง.
ก็ ท อักษร ในบทว่า อุททฺธริ นั้นในคาถานี้ เป็นอักษรทำการเชื่อมบท โดยการเชื่อมพยัญชนะแล.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ว่า มนุญฺญเมว ภาเสยฺย มาด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
พราหมณ์ในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์
ส่วนโคนันทิวิสาลได้เป็น เราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
จบอรรถกถานันทิวิสาลชาดกที่ ๘
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก กุรุงควรรค ๘. นันทิวิสาลชาดก ว่าด้วยการพูดดี จบ.
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=185&Z=191
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=5919
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=5919
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]