ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 385 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 388 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 391 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา จุลลปโลภนชาดก
ว่าด้วย หญิงทำบุรุษให้งงงวย

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกเหมือนกันรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อภิชฺชมาเน วาริสฺมึ ดังนี้
______________________________
* ในอรรถกถาเป็น จุลลปโลภ ฯ
               ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้น ผู้ถูกนำมาที่โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอเป็นผู้กระสันจะสึกจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นทูลรับเป็นสัตย์แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ชื่อว่าหญิงเหล่านี้ย่อมทำสัตว์ผู้บริสุทธิ์ให้เศร้าหมอง ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้สัตว์ผู้บริสุทธิ์อันมีในกาลก่อน ก็ทำให้เศร้าหมองเหมือนกัน
               อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี เป็นผู้ไม่มีพระโอรส จึงตรัสกับนางสนมของพระองค์ว่า เธอทั้งหลายจงกระทำความปรารถนาเพื่อให้ได้บุตร. นางสนมเหล่านั้นจึงพากันปรารถนาบุตร.
               เมื่อกาลล่วงไปด้วยอาการอย่างนี้ พระโพธิสัตว์จึงจุติจากพรหมโลก บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี. พระโพธิสัตว์นั้นพอประสูติ พระชนกชนนีให้สรงสนานแล้ว ได้ประทานแก่พระนม เพื่อให้ดื่มถันธารา. พระโพธิสัตว์นั้นอันแม่นมทั้งหลายให้ดื่มน้ำนมอยู่ก็ทรงกรรแสง. ลำดับนั้น จึงได้ทรงประทานพระโพธิสัตว์นั้นให้แก่พระนมอื่น. ในมือของมาตุคาม พระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้นิ่งเฉย.
               ลำดับนั้น จึงได้ประทานพระโพธิสัตว์นั้นแก่บุรุษคนหนึ่งผู้เป็นข้าบาทมูลิกา. พอข้าบาทมูลิกาคนนั้นรับเอาเท่านั้น พระโพธิสัตว์ก็หยุดนิ่ง. ครั้นในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์นั้น พระชนกชนนีได้ทรงขนานพระนามว่าอนิตถิคันธกุมาร. ตั้งแต่นั้นมา บุรุษเท่านั้นจึงจะพาพระกุมารนั้นเที่ยวไป เมื่อจะให้ดื่มน้ำนม จะปิดและคลุมให้ดื่ม หรือวางถันในพระโอษฐ์ตามช่องพระวิสูตร. เมื่อพระกุมารแม้ประพฤติพระองค์ไปๆ มาๆ อยู่ ใครๆ ไม่อาจแสดงมาตุคามให้เห็น ด้วยเหตุนั้น พระราชาจึงให้สร้างสถานที่ประทับนั่งเป็นต้นไว้ในที่ว่าง และให้สร้างฌานาคารหอคอย ไว้ภายนอกเพื่อพระกุมารนั้น. ในเวลาพระกุมารนั้นมีพระชันษา ๑๖ พรรษา พระราชาทรงพระดำริว่า เราไม่มีโอรสองค์อื่นอีก ส่วนกุมารนี้ไม่บริโภคกาม แม้ราชสมบัติก็ไม่ปรารถนา เราได้พระโอรสยากจริงหนอ.
               ครั้งนั้น มีหญิงฟ้อนรุ่นสาวผู้หนึ่ง ฉลาดในการฟ้อนการขับร้องและการประโคม สามารถที่เล้าโลมบุรุษให้ตกอยู่ในอำนาจของตนได้ เข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์ทรงพระดำริเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า. ฝ่ายพระราชาก็ตรัสบอกเหตุนั้น. หญิงฟ้อนกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เรื่องนั้นโปรดยกไว้ กระหม่อมฉันจักประเล้าประโลมพระราชกุมารนั้นให้รู้จักกามรส. พระราชาตรัสว่า ถ้าเจ้าจักสามารถประเล้าประโลมอนิตถิคันธกุมารผู้โอรสของเราได้ไซร้ พระกุมารนั้นจักเป็นพระราชา ตัวเจ้าจักเป็นอัครมเหสี.
               หญิงฟ้อนกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์เป็นเจ้า การประเล้าประโลมเป็นภาระของกระหม่อมฉัน พระองค์อย่าทรงปริวิตก ดังนี้แล้วเข้าไปหาคนผู้ทำหน้าที่อารักขา แล้วกล่าวว่า ในเวลาใกล้รุ่ง เราจักมายืนที่หอคอยภายนอกพระวิสูตร ใกล้ที่บรรทมของพระลูกเจ้า แล้วจักขับร้อง ถ้าพระราชกุมารจักทรงกริ้ว พวกท่านพึงบอกเรา เราจะหลบไปเสีย ถ้าทรงสดับ พวกท่านช่วยบอกแก่เราเช่นเดียวกัน. คนผู้ทำหน้าที่อารักขาทั้งหลายต่างพากันรับคำนาง.
               ฝ่ายหญิงฟ้อนนั้น ในเวลาใกล้รุ่งได้ไปยืนอยู่ ณ ประเทศที่นั้น แล้วขับเสียงเพลงประสานกับเสียงพิณ บรรเลงเสียงพิณประสานกับเสียงเพลงขับด้วยเสียงอันไพเราะ. พระกุมารทรงบรรทมฟังอยู่ ทรงยอมรับว่า ดี มีประโยชน์. วันรุ่งขึ้น ทรงสั่งให้นางยืนขับร้องในที่ใกล้ รุ่งขึ้นวันที่สอง รับสั่งให้ยืนขับร้องในหอคอย รุ่งขึ้นวันที่สาม รับสั่งให้ยืนขับร้องในที่ใกล้กับพระองค์
               ด้วยวิธีการอย่างนี้ พระองค์ทรงทำตัณหาให้เกิดขึ้นโดยลำดับๆ จนถึงซ่องเสพโลกธรรม ได้รู้รสกามเข้าแล้ว ออกพระโอษฐ์ว่า ขึ้นชื่อว่ามาตุคาม เราจักไม่ยอมให้แก่ชายอื่น ถือพระแสงดาบเสด็จลงสู่ท้องถนน เที่ยวไล่ติดตามบุรุษทั้งหลาย.
               ลำดับนั้น พระราชารับสั่งให้จับพระกุมารนั้นแล้วให้นำออกไปเสียจากพระนคร พร้อมกับกุมาริกานั้น. ฝ่ายพระกุมารและชายาทั้งสอง เสด็จเข้าป่าไปยังแม่น้ำคงคาด้านใต้ สร้างอาศรมอยู่ในระหว่างแม่น้ำคงคาและมหาสมุทร โดยมีแม่น้ำคงคาอยู่ด้านหนึ่ง และมีมหาสมุทรอยู่ด้านหนึ่ง สำเร็จการอยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายนางกุมาริกานั่งอยู่ในบรรณศาลา กำลังต้มหัวเผือกเหง้าไม้และผลไม้อยู่ พระโพธิสัตว์นำผลาผลทั้งหลายมาจากป่า.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์แม้นั้นไปเพื่อต้องการผลหมากรากไม้ มีพระดาบสรูปหนึ่งอาศัยอยู่ที่เกาะในมหาสมุทร เหาะมาทางอากาศในเวลาภิกขาจาร เห็นควันไฟนั้นจึงลงยังอาศรม. ลำดับนั้น กุมาริกานั้นเชิญพระดาบสนั้นให้นั่ง โดยกล่าวว่า ท่านจงนั่งรอจนกว่าดิฉันจะต้มเสร็จ แล้วเล้าโลมด้วยความเด่นของหญิง ให้เสื่อมจากฌาน ทำพรหมจรรย์ของดาบสนั้นให้อันตรธานหายไป. พระดาบสนั้นเป็นเหมือนกาปีกหัก ไม่อาจละนางกุมาริกานั้นไปได้ คงอยู่ในที่นั้นเองตลอดทั้งวัน
               ในเวลาเย็นเห็นพระโพธิสัตว์มา จึงรีบหนีบ่ายหน้าไปทางมหาสมุทร ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงชักดาบออกไล่ติดตามดาบสนั้นไปด้วยเข้าใจว่า ผู้นี้จักเป็นศัตรูของเรา. พระดาบสแสดงอาการจะเหาะขึ้นในอากาศ จึงตกลงไปในมหาสมุทร.
               พระโพธิสัตว์คิดว่า ดาบสผู้นี้จักมาทางอากาศ เพราะฌานเสื่อมจึงตกลงในมหาสมุทร บัดนี้ เราควรจะเป็นที่พึ่งอาศัยของดาบสนี้ แล้วยืนที่ชายฝั่ง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               เมื่อน้ำไม่กระเพื่อม ดาบสนี้มาได้ด้วยฤทธิ์เอง ครั้นถึงความระคนด้วยหญิง ก็จมลงในห้วงมหรรณพ.
               ธรรมดาว่า หญิงเหล่านี้เป็นผู้ทำบุรุษให้งงงวย มีมายามาก และยังพรหมจรรย์ให้กำเริบ ย่อมจมลงในอบาย บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล.
               หญิงเหล่านั้นย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใด เพราะความรักใคร่พอใจ หรือเพราะทรัพย์เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ของตนเองฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺชมาเน วาริสฺมึ ความว่า เมื่อน้ำนี้ไม่ไหว คือไม่กระเพื่อม พระดาบสไม่ถูกต้องน้ำ มาด้วยฤทธิ์ทางอากาศด้วยตนเอง.
               บทว่า มิสฺสีภาวิตฺถิยา ได้แก่ ภาวะที่ระคนกับหญิงด้วยอำนาจการเสพโลกธรรม.
               บทว่า อาวฏฺฏนี มหามายา ความว่า ธรรมดาหญิงเหล่านี้ ชื่อว่าทำบุรุษให้เวียนมา เพราะให้เวียนมาด้วยกามคุณ ชื่อว่ามีมายามาก เพราะประกอบด้วยมายาหญิงหาที่สุดมิได้.

               สมจริงดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า :-
               หญิงทั้งหลายนี้เป็นผู้มีมายาดุจพยับแดด ความโศก โรคและอันตราย ย่อมเกิดแก่ผู้สมาคมกับหญิงร่ำไป
               อนึ่ง หญิงทั้งหลายกล้าแข็ง เป็นดุจเครื่องผูก เป็นบ่วงแห่งมัจจุราช และมีมหาภูตรูปดุจคูหาเป็นที่อาศัย
               บุรุษใดคุ้นเคยในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นเท่ากับคนอาธรรม์ในนรชนทั้งหลาย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมจริยวิโกปนา ความว่า ยังความประพฤติอันประเสริฐ คือเมถุนวิรัตพรหมจรรย์ให้กำเริบ.
               บทว่า สีทนฺติ ความว่า ธรรมดาหญิงเหล่านี้ ชื่อว่าย่อมจมลงในอบายทั้งหลาย เพราะทำพรหมจรรย์ของพวกฤาษีให้กำเริบ.
               คำที่เหลือพึงประกอบความโดยนัยก่อนนั่นแล.

               ฝ่ายพระดาบส ครั้นได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ยืนอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรนั้นเอง ทำฌานที่เสื่อมให้กลับเกิดขึ้นอีก แล้วไปยังที่อยู่ของตนทางอากาศ.
               พระโพธิสัตว์คิดว่า พระดาบสนี้เป็นผู้อบรมมาแล้วอย่างนี้ ไปทางอากาศเหมือนปุยนุ่น แม้เราก็ควรทำฌานให้เกิด แล้วไปทางอากาศเหมือนพระดาบสนี้.
               ครั้นคิดแล้วก็ไปยังอาศรม นำหญิงนั้นไปส่งยังถิ่นมนุษย์ แล้วส่งไปด้วยคำว่า เจ้าจงกลับไปเถิด เสร็จแล้วก็เข้าป่า สร้างอาศรมในภูมิภาคอันรื่นรมย์ แล้วบวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรม ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิด ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจจธรรม ทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบอริยสัจ ภิกษุผู้กระสันจะสึก ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
               ก็อนิตถิคันธกุมาร ในกาลนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาจุลลปโลภนชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลลปโลภนชาดก ว่าด้วย หญิงทำบุรุษให้งงงวย จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 385 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 388 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 391 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2137&Z=2147
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=1413
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=1413
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :