ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 843 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 849 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 855 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เนรุชาดก
ว่าด้วย อานุภาพของเนรุบรรพต

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กาโกลา กากสงฺฆา จ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐาน ในสำนักของพระศาสดา แล้วได้ไปยังหมู่บ้านชนบทตำบลหนึ่ง. คนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบทของท่าน ให้ท่านฉันแล้ว รับปฏิญญาท่าน สร้างบรรณศาลาในป่าให้ท่านอยู่ที่บรรณศาลานั้น และพากันถวายสักการะท่านอย่างเหลือเฟือ.
               ครั้งนั้น ภิกษุอื่นซึ่งเป็นพวกสัสตวาทะได้มา ณ ที่นั้น. คนเหล่านั้นได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว พากันสละเถรวาททิ้ง เชื่อถือสัสสตวาท ถวายสักการะท่านเหล่านั้นเท่านั้น.
               ต่อมา พวกอุจเฉทวาทมา พวกเขาก็พากันสละสัสสตวาททิ้ง เชื่อถืออุจเฉทวาท.
               ต่อมา พวกอื่นที่เป็นอเจลกวาทมา พวกเขาก็พากันสละอุจเฉทวาททิ้ง เชื่อถืออเจลกวาท.
               ท่านอยู่อย่างไม่สบายในสำนักของพวกคนเหล่านั้นผู้ไม่รู้จักคุณและมิใช่คุณ ออกพรรษาปวารณาแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอจำพรรษาที่ไหน? ทูลว่า อาศัยหมู่บ้านชายแดน พระเจ้าข้า.
               ถูกตรัสถามว่า อยู่สบายดีหรือ? จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่อย่างเป็นทุกข์ในสำนักของผู้ไม่รู้คุณและไม่ใช่คุณ.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในสมัยก่อน แม้เกิดในกำเนิดเดียรฉาน แม้เพียงวันเดียว ก็ไม่อยู่กับคนทั้งหลายผู้ไม่รู้คุณและมิใช่คุณ เหตุไฉน เธอจึงอยู่ในสำนักของคนที่ไม่รู้จักคุณและมิใช่คุณของตน. ทรงเป็นผู้ที่ภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดสุวรรณหงส์ แม้พี่ๆ น้องๆ ของเขาก็มี. พวกเขาพากันอยู่ที่เขาจิตกูฏ จิกกินข้าวสาลีที่เกิดเองในท้องที่หิมพานต์.
               อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาพากันเที่ยวไปในท้องถิ่นหิมพานต์นั้น แล้วกำลังกลับมายังเขาจิตกูฏ เห็นภูเขาทองลูกหนึ่งชื่อว่า เนรุ ในระหว่างทางจึงได้พากันเกาะอยู่บนยอดเขานั้น. แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ภูเขานั้นมีทั้งนก ทั้งกระต่าย และสัตว์ ๔ เท้านานาชนิดในทำเลหากิน ตั้งแต่เวลาเข้าไปสู่ภูเขาจะกลายเป็นมีสีเหมือนทอง เพราะต้องแสงภูเขานั้น. พวกสุวรรณหงส์พากันเห็นแล้ว น้องสุดท้องของพระโพธิสัตว์ไม่รู้เหตุนั้น สงสัยว่า นั่นเป็นเหตุอะไรหนอ?
               เมื่อจะสนทนากับพี่ชาย จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               กาป่าก็ดี ฝูงกาธรรมดาก็ดี และพวกเราผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลายก็ดี มาถึงภูเขานี้แล้ว เป็นเหมือนกันหมด.
               ทั้งสิงโต ทั้งเสือ ทั้งนก ทั้งหมาไน ก็เป็นเหมือนกันหมด ภูเขานี้ชื่ออะไร?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาโกลา ได้แก่ กาป่า นกกาเหว่า.
               บทว่า กากสงฺฆา ความว่า หรือฝูงกาปกติ.
               บทว่า ปตฺตํ วรา ความว่า ประเสริฐสุดกว่านกทั้งหลาย.
               บทว่า สทิสา โหม ความว่า เป็นผู้มีสีเหมือนกัน.

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               คนทั้งหลายรู้จักภูเขาลูกนี้ว่า ชื่อว่า เนรุ เป็นภูเขาชั้นยอดกว่าภูเขาทั้งหลาย สัตว์ทุกชนิดอยู่ในภูเขานี้ สีสวยหมด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วณฺเณน ความว่า สัตว์ทั้งหลายในเนรุบรรพตนี้ เป็นผู้มีสีสวย เพราะรัศมีภูเขา.

               น้องชายได้ยินคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
               ณ ที่ใด มีแต่ความไม่นับถือกัน การดูหมิ่นสัตบุรุษ หรือการนับถือคนเลว ณ ที่นั้น คนมีอำนาจไม่ควรอยู่.
               คนเกียจคร้านกับคนขยัน คนกล้าหาญกับคนขลาด มีผู้บูชาเสมอกันในที่ใด สัตบุรุษย่อมไม่อยู่ในที่นั้น ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่สามารถจะแบ่งคนให้แปลกกันได้.
               เขาเนรุนี้ จะไม่คบคนที่เลว คนชั้นสูง และคนขนาดกลาง เขาเนรุทำให้สัตว์ไม่แตกต่างกัน เชิญเถิด พวกเราจะละทิ้งเขาเนรุนั้นเสีย.


               บรรดาบทเหล่านั้น คาถาที่หนึ่งมีเนื้อความว่า ณ ที่ใด มีทั้งการไม่นับถือ ทั้งการดูหมิ่น หรือการปราศจากความนับถือ ด้วยอำนาจการดูหมิ่น เพราะไม่มีความนับถือสัตบุรุษ คือบัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล หรือมีการนับถือคนเลวหรือคนทุศีล ณ ที่นั้น ผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่.
               บทว่า ปูชิยา ความว่า คนเหล่านี้เป็นผู้ที่เขาบูชาแล้ว ด้วยการบูชาที่เป็นเช่นเดียวกัน คือได้สักการะเสมอกันในที่นั่น.
               บทว่า หีนฺมุกฺกฏฺฐมชฺฌิมเม ความว่า ผู้นี้จะไม่คบทั้งคนเลว ทั้งคนปานกลาง และคนชั้นสูง โดยชาติ โคตร ตระกูล ท้องถิ่น ศีล อาจาระ และญาณเป็นต้น.
               ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่งอุปสรรค. บทว่า ชหามเส ความว่า ย่อมสลัดทิ้ง.

               ก็แลหงส์ทั้ง ๒ ตัวนั้นครั้นพูดกันอย่างนี้แล้ว ได้พากันบินไปยังเขาจิตกูฏนั่นเอง.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจะ ภิกษุนั้นได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               หงส์ตัวน้องในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนหงส์ตัวพี่ คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เนรุชาดก ว่าด้วย อานุภาพของเนรุบรรพต จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 843 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 849 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 855 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3895&Z=3910
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=494
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=494
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :