ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2327 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ฉัททันตชาดก
ว่าด้วย พญาช้างฉัททันต์

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

โรยเชือกลง คล้ายอาการที่แมงมุมชักใย. บางอาจารย์กล่าวว่า นายพรานโสณุดรลงจากเขาโดยร่มหนัง เหมือนนกถาปีกโฉบลง ฉะนั้น.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงทำให้แจ่มแจ้ง ซึ่งข้อที่นายพรานโสณุดรรับเอา พระเสาวนีย์ของพระนางสุภัททาอย่างนั้น แล้วออกจากพระนคร. ล่วงเลยป่าชัฏ ๑๗ แห่ง จนถึงชัฏแห่งภูเขา ข้ามเขาหกลูกในที่นั้นได้ แล้วขึ้นสู่ยอดเขาสุวรรณปัสสบรรพต. จึงตรัสพระคาถา ความว่า
               นายพรานนั้นยึดเอาพระเสาวนีย์ของพระนางสุภัททาราชเทวี ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง แล้วถือเอาแล่งลูกธนู ข้ามภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ ลูกไป จนถึงลูกที่ชื่อว่า สุวรรณปัสสบรรพต อันสูงโดด. เขาขึ้นไปสู่บรรพต อันเป็นที่อยู่ของกินนร แล้วมองลงมายังเชิงเขา ได้เห็นต้นไทรใหญ่สีเขียว ดังสีเมฆมีย่านไทรแปดพันห้อยย้อย ที่เชิงเขานั้น.
               ทันใดนั้นเอง ก็ได้เห็นพญาช้างเผือกขาวผ่อง งามีรัศมี ๖ ประการ ยากที่คนเหล่าอื่นจะจับได้ มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ล้วนแต่มีงางามงอน ขนาดงอนไถวิ่งไล่เร็วดุจลมพัด แวดล้อมรักษาพญาช้างนั้นอยู่. และได้เห็นสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ของพญาช้างนั้น ทั้งท่าน้ำก็ราบเรียบ น้ำมากมาย มีพรรณไม้ดอกบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรเที่ยวเคล้าคลึงอยู่.
               ครั้นเห็นที่ที่พญาช้างลงอาบน้ำ จนกระทั่งที่ซึ่งพญาช้างเดินยืนอยู่ และทางที่พญาช้างลงอาบน้ำ. ก็แลนายพรานผู้มีใจลามก ถูกพระนางสุภัททาผู้ตกอยู่ในอำนาจจิตทรงใช้มา ก็มาจัดแจงตระเตรียมหลุม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายพรานนั้น ยึดเอาพระดำรัสของพระเทวี ซึ่งประทับยืน ณ พื้นปราสาทชั้นที่ ๗ นั้น แล้วถือเอาแล่งศร และธนูใหญ่ไปยังชัฏแห่งบรรพต คิดว่าภูเขาลูกไหนหนอชื่อสุวรรณปัสสบรรพต (ข้าม) มหาบรรพตใหญ่ทั้งเจ็ด. บทว่า วิตุริยา ความว่า ไตร่ตรอง คือพิจารณาดูในครั้งนั้น. เมื่อกำลังพิจารณาทบทวนอยู่นั้น เขาเห็นภูเขาที่ชื่อว่าสุวรรณปัสสคิรีอันสูงใหญ่ จึงคิดว่าชะรอยจักเป็นภูเขาลูกนี้.
               บทว่า โอโลกยิ ความว่า เขาขึ้นไปยังบรรพต อันเป็นที่อยู่ของพวกกินนรแล้ว ก้มมองดูข้างล่าง ตามข้อกำหนดหมายที่พระนางสุภัททาประทานมา. บทว่า ตตฺถ ความว่า เขาจึงเห็นต้นนิโครธนั้นอยู่ใกล้ๆ เชิงเขานั้นเอง. บทว่า ตตฺถ ความว่า ยืนอยู่ที่โคนต้นไทรนั้น. บทว่า ตตฺถ ความว่า ภายในภูเขาไม่ห่างต้นไทรนั้นเอง พญาช้างอาบน้ำ ณ สระฉัททันต์ใด เขาได้เห็นสระฉัททันต์นั้น. บทว่า ทิสฺวาน ความว่า ในเวลาที่ช้างทั้งหลายไปแล้ว นายพรานนั้นก็ลงจากสุวรรณปัสสบรรพต สวมถุงมือและรองเท้า แล้วตรวจตราดูที่ๆ พญาช้างนั้นไป และที่ๆ พญาช้างอยู่ประจำ เห็นตลอดไปหมดว่า พญาช้างเดินทางนี้ อาบน้ำตรงนี้. ครั้นอาบแล้วขึ้นไปยืนตรงนี้ เพราะเป็นผู้ไม่มีหิริ คือมีใจลามก ถูกพระนางสุภัททาผู้ตกอยู่ในอำนาจจิตใช้มา. เพราะฉะนั้น จึงมาตระเตรียมหลุม คือเดินไปขุดหลุมไว้.
               ในเรื่องนั้น มีข้อความเรียงลำดับ ดังต่อไปนี้.
               เล่ากันมาว่า นายพรานโสณุดรนั้น มาถึงที่อยู่ของพระมหาสัตว์กำหนดได้ เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน. กำหนดดูสถานที่อยู่ของพระมหาสัตว์ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเอง. กำหนดหมายใจไว้ว่า เราจะต้องขุดหลุมที่ตรงนี้ ยืนแอบในหลุมนั้นยิงพญาช้างให้ถึงความตาย ดังนี้. แล้วเข้าป่าตัดต้นไม้เพื่อทำเสาเป็นต้น ตระเตรียมทัพสัมภาระไว้. เมื่อช้างทั้งหลายไปอาบน้ำกันแล้ว จึงเอาจอบใหญ่ขุดหลุมสี่เหลี่ยมจตุรัส ตรงที่อยู่ของพญาช้าง แล้วเอาน้ำราด เหมือนจะปลูกพืชที่คุ้ยฝุ่นขึ้น ปักเสาลงบนหินซึ่งมีสัณฐานคล้ายครก ใส่ขื่อ ปูกระดานเรียบไว้ เจาะช่องขนาดคอลอดได้ แล้วโรยฝุ่น และเกลี่ยขยะมูลฝอยพลางข้างบนด้านหนึ่ง ทำเป็นที่เข้าออกของตน. เมื่อหลุมเสร็จแล้วอย่างนี้ ในเวลาใกล้รุ่งจึงคลุมศีรษะ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถือธนูพร้อมด้วยลูกศรอันอาบยาพิษ ลงไปยืนอยู่ในหลุม.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถาความว่า
               นายพรานผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า ขุดหลุมเอากระดานปิด เสร็จแล้วสอดธนูไว้ เอาลูกศรลูกใหญ่ ยิงพญาช้างที่มายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
               พญาช้างถูกยิงแล้ว ก็ร้องก้องโกญจนาท ช้างทั้งหมดพากันบันลืออื้ออึง ต่างพากันวิ่งมารอบๆ ทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุณไป.
               พญาช้างเอาเท้ากระชุ่นดิน ด้วยคิดว่า เราจักฆ่านายพรานคนนี้ แต่ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระฤาษี ก็เกิดความรู้สึกว่า ธงชัยของพระอรหันต์ อันสัตบุรุษไม่ควรทำลาย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอธาย ความว่า ผูกสอดธนูไว้.
               บทว่า ปสฺสาคตํ ความว่า (ยิงพญาช้าง) ตัวมายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
               ได้ยินว่า ในวันที่สอง พญาช้างนั้นมาอาบน้ำ แล้วขึ้นมายืนอยู่ที่อันเป็นลานกว้างใหญ่. ลำดับนั้น น้ำจากสรีระของพญาช้างนั้น ไหลหยดทางนาภีประเทศ ตกต้องตัวของนายพรานทางช่องนั้น. โดยข้อสังเกตอันนั้น นายพรานก็ทราบว่า พระมหาสัตว์มายืนอยู่แล้ว จึงเอาลูกศรใหญ่ยิงพญาช้าง ซึ่งมายืนอยู่ข้างหลุมของตน.
___________________
๑. นาภี แปลว่า สะดือ.

               บทว่า ทุกฺกฏกมฺมการี ความว่า ชื่อว่าผู้ก่อกรรมอันชั่วช้า เพราะก่อทุกข์ให้เกิดแก่พระมหาสัตว์เจ้า ทั้งกายและใจ. บทว่า โกญฺจนมนาทิ ความว่า บันลือโกญจนาทก้องไป. นัยว่า ลูกศรนั้นทะลุไปตรงนาภีประเทศของพญาช้าง ทำลายอวัยวะ เช่นไตเป็นต้นให้แหลกละเอียด ตัดไส้น้อยเป็นต้น เรื่อยไปจนทะลุออกทางเบื้องหลังของพญาช้าง แล่นเลยไปในอากาศ แผลเหวอะหวะ คล้ายถูกคมขวาน ฉะนั้น เลือดไหลออกทางปากแผลนองไป ดุจน้ำย้อมไหลออกจากหม้อ บังเกิดทุกขเวทนาเหลือกำลัง. พญาช้างไม่สามารถจะอดกลั้นทุกขเวทนาได้ ก็ร้องก้องสนั่นไปทั่วสกลบรรพต บันลือโกญจนาทอื้ออึงถึงสามครั้ง.
               บทว่า สพฺเพว ความว่า ช้าง ๘,๐๐๐ ทั้งหมดได้ยินเสียงนั้น ต่างสะดุ้งกลัวต่อมรณภัย บันลือเสียงอันพิลึกน่าสะพรึงกลัว.
               บทว่า รณํ กโรนฺตา ความว่า ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ต่างส่งเสียงร้องกึกก้องน่าเกรงขาม พลางมาตามเสียงนั้น เห็นพญาฉัททันต์ได้รับทุกขเวทนา คิดว่า พวกเราจักจับปัจจามิตรให้ได้ ต่างวิ่งหาจนหญ้าและไม้แหลกเป็นจุณ.
               บทว่า วธิสฺสเมตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นช้างทั้งหลายหลีกไปในทิศานุทิศแล้ว เมื่อนางช้างมหาสุภัททาเข้าไปยืนเคียงข้าง เล้าโลมปลอบใจ.
               พญาฉัททันต์ก็อดกลั้นเวทนาได้ แล้วกำหนดทางที่ลูกศรแล่นมา ไตร่ตรองดูว่า ถ้าลูกศรนี้จักมาทางเบื้องปุรัตถิมทิศเป็นต้นแล้ว ลูกศรจักต้องทะลุทางกระพองเป็นต้นก่อน แล้วแล่นออกทางเบื้องหางเป็นต้น แต่นี่เข้าทางนาภี ทะลุแล่นไปในอากาศ เพราะฉะนั้น จักมีคนที่ยืนอยู่ใต้ดินยิงมา ประสงค์จะตรวจตราดูที่ซึ่งมีคนยืนต่อไป จึงคิดว่า ใครจะล่วงรู้ว่าจักมีอะไรเกิดขึ้น ควรที่เราจะให้นางมหาสุภัททาหลีกไปเสีย. แล้วกล่าวว่า น้องรัก ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ค้นหาปัจจามิตรของพี่ต่างก็พากันวิ่งไปในทิศานุทิศ เจ้ามัวทำอะไรอยู่ที่นี่เล่า?
               เมื่อนางมหาสุภัททาตอบว่า ท่านเจ้าขา ดิฉันยืนคอยพยาบาลปลอบใจท่านอยู่ ขอท่านอดโทษแก่ดิฉันด้วยเถิด แล้วกระทำประทักษิณ ๓ รอบจบทำความเคารพในฐานะทั้ง ๔ แล้วเหาะไปสู่อากาศ.
               ฝ่ายพญาช้างก็เอาเล็บเท้ากระชุ่นพื้นดิน กระดานกระดกขึ้น พญาช้างก้มมองดูทางช่อง เห็นนายพรานโสณุดรก็เกิดโทสจิต คิดว่า เราจักฆ่ามัน จึงสอดงวงงามราวกะพวงเงิน ลงไปลูบคลำดู ได้มองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               พญาช้างจึงยกนายพรานขึ้นมาวางไว้เบื้องหน้า.
               ลำดับนั้น สัญญาคือความสำนึกผิดชอบ ได้เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ ซึ่งได้รับทุกขเวทนาขนาดหนัก ดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า ธงชัยแห่งพระอรหันต์ ไม่ควรที่บัณฑิตจะทำลาย ควรสักการะเคารพอย่างเดียวโดยแท้.
               เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าจะสนทนากับนายพราน จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
               ผู้ใดยังไม่หมดกิเลส ปราศจากทมะและสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ. ส่วนผู้ใดคลายกิเลสได้แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ.

               คาถานั้นมีอธิบายดังนี้
               สหายพรานเอ๋ย คนใดใช่คนหมดกิเลส ดุจน้ำฝาดมีราคะเป็นต้น ปราศจากการฝึกอินทรีย์ทั้งวจีสัจจะ คือไม่เข้าถึงคุณเหล่านั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด คนนั้นไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นั้นเลย คือไม่สมควรกับผ้านั้น ส่วนคนใดพึงชื่อว่า เป็นผู้ชำระกิเลสได้ เพราะคลายกิเลส ดุจน้ำฝาดเหล่านั้นเสียได้.
               บทว่า สีเลสุ สุสมาหิโต ความว่า บุคคลใดเป็นผู้มีศีลและอาจาระตั้งมั่นด้วยดีบริบูรณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะนี้.
               พระมหาสัตว์เจ้า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ระงับความคิดที่จะฆ่านายพรานนั้นเสีย. ถามว่า สหายเอ๋ย ท่านยิงเราเพื่อต้องการอะไร เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือคนอื่นใช้มา.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถา ความว่า
               พญาช้างถูกลูกศรใหญ่เสียบเข้าแล้ว ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ได้ถามนายพรานว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านประสงค์อะไร เพราะเหตุอะไร หรือว่าใครใช้ให้ท่านมาฆ่าเรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมตฺถิยํ ความว่า ท่านปรารถนาอะไรไว้ ในอนาคต. บทว่า กิสฺส วา แปลว่า เพราะเหตุอะไร. อธิบายว่า ด้วยเหตุอันใด คือท่านผูกเวรอะไรไว้กับเรา. บทว่า กสฺส วา ความว่า หรือว่านี้เป็นความประสงค์ของผู้อื่น คือใครใช้ท่านมาฆ่าเรา.
               เมื่อนายพรานโสณุดรจะบอกความนั้นแก่พญาช้าง จึงกล่าวคาถา ความว่า
               ดูก่อนพญาช้างที่เจริญ นางสุภัททาพระมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช อันประชาชนสักการะบูชา อยู่ในราชสกุล. พระนางได้ทรงนิมิตเห็นท่าน และได้โปรดให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้าแล้ว ตรัสบอกข้าพเจ้าว่า มีพระประสงค์งาทั้งคู่ของท่าน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปูชิตา ความว่า อันประชาชนบูชาแล้ว โดยฐานะเป็นพระอัครมเหสี. บทว่า อทฺทสา ความว่า นัยว่า พระนางเธอทรงพระสุบินนิมิตเห็นท่าน. บทว่า อสํสิ ความว่า ทั้งพระนางเจ้าโปรดให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้า แล้วตรัสบอกว่า ในป่าหิมพานต์ มีพญาช้างรูปร่างอย่างนี้ อยู่สถานที่ชื่อโน้น. บทว่า ทนฺเตหิ ความว่า พระนางเทวีได้ตรัสบอกข้าพเจ้าว่า งาทั้งสองของพญาช้างนั้น มีรัศมี ๖ ประการรุ่งเรือง เราต้องการงาเหล่านั้น ประสงค์จะทำเป็นเครื่องประดับ เจ้าจงไปนำเอา งาช้างนั้นมาให้เรา.
               พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้น ก็ทราบว่านี้เป็นการกระทำของนางจุลลสุภัททา สู้อดกลั้นเวทนาไว้ กล่าวว่า พระนางสุภัททานั้น ใช่จะต้องการงาทั้งสองของเราก็หามิได้ แต่เพราะประสงค์จะให้ท่านฆ่าเรา จึงได้ส่งมา.
               เมื่อจะแสดงความต่อไป จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
               แท้จริง พระนางสุภัททาทรงทราบดีว่า งางามๆ แห่งบิดา และปู่ทวดของเรา มีอยู่เป็นอันมาก แต่พระนางเป็นคนพาล โกรธเคือง ผูกเวร ต้องการจะฆ่าเรา.
               ดูก่อนนายพราน ท่านจงลุกขึ้นเถิด จงหยิบเลื่อยมาตัดงาคู่นี้เถิด ประเดี๋ยวเราจะตายเสียก่อน ท่านจงกราบทูลพระนางสุภัททาผู้ยังผูกโกรธว่า พญาช้างตายแล้ว เชิญพระนางรับงาคู่นี้ไว้เถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิเม ความว่า ได้ยินว่า งาทั้งหลายครั้งบิดาและปู่ของพญาช้างนั้น ได้เก็บซ่อนไว้ในที่เร้นลับ ด้วยประสงค์ว่าอย่าได้พินาศไปเสีย พญาช้างฉัททันต์หมายเอางาช้างเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ชานาติ ความว่า พระนางสุภัททานั้นทราบอยู่ว่า งาของช้างเป็นจำนวนมาก เก็บซ่อนไว้ในที่นี้.
               บทว่า วธตฺถิกา ความว่า แต่พระนางสุภัททานั้นประสงค์ จะให้ท่านฆ่าข้าพเจ้าให้ตายอย่างเดียว ได้ผูกเวรไว้ เพราะเก็บความพยาบาท แม้เพียงเล็กน้อยไว้ในใจ คือพระนางจะให้เราถึงที่สุด ด้วยการกระทำที่ร้ายกาจ เห็นปานนี้.
               บทว่า ขรํ แปลว่า เลื่อย. บทว่า ปุรา มรามิ ความว่า ตอนที่เรายังไม่ตาย. บทว่า วชฺชาสิ ความว่า ท่านพึงกราบทูล.
               บทว่า หนฺท อิมสฺส ทนฺตา ความว่า ท่านพึงทูลพระนางสุภัททานั้นว่า พญาช้างนั้นถูกท่านฆ่าตายแล้ว มโนรถของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว เชิญรับงาเหล่านี้ของพญาช้างนั้นไว้.
               นายพรานโสณุดรได้ฟังคำของพญาช้างแล้ว ลุกขึ้นจากที่นั่ง ถือเลื่อยเข้ามาใกล้ๆ พญาช้าง คิดว่า เราจักตัดเอางาไป. ก็พญาช้างนั้นสูงประมาณ ๘๐ ศอก ยืนเด่นคล้ายภูเขาเงิน. ด้วยเหตุนั้น พรานโสณุดรจึงเอื้อมเลื่อยงาไม่ถึง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงย่อกายนอนก้มศีรษะลงเบื้องต่ำ ขณะนั้น นายพรานจึงเหยียบงวงเช่นกับพวงเงินของพระมหาสัตว์ ขึ้นไปอยู่บนกระพอง เป็นเหมือนขึ้นยืนอยู่บนเขาไกรลาส แล้วเอาเข่ากระตุ้นเนื้อ ซึ่งย้อยอยู่ที่ปาก ยัดเข้าข้างใน ลงจากกระพอง แล้วสอดเลื่อยเข้าไปภายในปาก. นายพรานเอามือทั้งสองเลื่อยชักขึ้นชักลง อย่างทะมัดทะแมง. ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์เป็นกำลัง ปากเต็มไปด้วยโลหิต. เมื่อนายพรานเลื่อยชักไปชักมาอยู่ ก็ไม่สามารถจะเอาเลื่อยตัดงาให้ขาดได้.
               ทีนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงบ้วนโลหิตออกจากปาก สู้อดกลั้นทุกขเวทนาได้ ถามนายพรานว่า สหายเอ๋ย ท่านไม่สามารถจะตัดงาให้ขาดได้ละหรือ?
               พรานโสณุดรตอบ ใช่แล้วนาย.
               พระมหาสัตว์ดำรงสติมั่นกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงยกงวงของเราขึ้น ให้จับเลื่อยข้างบนไว้ เราเองไม่มีกำลังจะยกงวงของเราได้. นายพรานก็ปฏิบัติตามเช่นนั้น.
               พระมหาสัตว์เอางวงยึดมือเลื่อยไว้แล้วชักขึ้นชักลง ส่วนงาทั้งสองก็ขาด ประดุจตัดตอไม้ฉะนั้น.
               ทีนั้น พญาช้างจึงให้นายพรานนำงาเหล่านั้นมาถือไว้ แล้วกล่าวว่า
               “ สหายพราน เราให้งาเหล่านี้แก่ท่าน ใช่ว่าเราจะไม่รักของเราก็หามิได้ ทั้งเรามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ เป็นมาร เป็นพรหมเลย. แต่เพราะงา คือพระสัพพัญญุตญาณนั้น เรารักกว่างาคู่นี้ ตั้งร้อยเท่าพันเท่า. ขอบุญนี้จงเป็นปัจจัยแห่งการได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ. ” ดังนี้
               แล้วมอบงาไป แล้วถามต่อไปว่า สหาย กว่าท่านจะมาถึงที่นี่ เป็นเวลานานเท่าไร? เมื่อนายพรานตอบว่า เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน. จึงกล่าวว่า เชิญไปเถิดด้วยอานุภาพแห่งงาคู่นี้ ท่านจักถึงพระนครพาราณสีภายในเจ็ดวันเท่านั้น ดังนี้แล้วทำการป้องกันแก่นายพรานนั้น ส่งเขาไปโดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า
               เราเป็นผู้ถูกลูกศรเสียบแทงแล้ว แม้จะถูกเวทนาครอบงำ ก็ไม่คิดประทุษร้ายในบุคคลผู้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถ้าข้อนี้เป็นความจริง อันเราผู้เป็นพญาช้างตั้งไว้ ขอพาลมฤคในไพรสณฑ์ อย่าได้มากล้ำกรายนายพรานนี้เลย.

               ก็แล ครั้นพระมหาสัตว์ส่งนายพรานไปแล้ว ก็ทำกาลกิริยาล้มลง ในเมื่อพวกช้างและนางมหาสุภัททายังมาไม่ถึง.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า
               นายพรานนั้นรีบลุกขึ้นจับเลื่อย เลื่อยงาพญาช้างทั้งคู่ อันงดงามวิลาส หาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี แล้วรีบถือหลีกออกจากที่นั้นไป.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคู ความว่า งามวิลาส.
               บทว่า สุเภ แปลว่า งดงาม.
               บทว่า อปฺปฏิเม ความว่า งดงามหางาอื่นในแผ่นดินนี้เปรียบมิได้.
               เมื่อนายพรานนั้นหลีกไปแล้ว ช้างทั้งหลายก็มาถึง ไม่ทันเห็นปัจจามิตร.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า
               ช้างเหล่านั้นตกใจ ได้รับความเสียใจ เพราะพญาช้างถูกยิง พากันวิ่งไปยังทิศทั้ง ๘ เมื่อไม่เห็นปัจจามิตรของพญาช้าง ก็พากันกลับมายังที่อยู่ของพญาช้าง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยทฺทิตา ความว่า อันความกลัวต่อมรณภัย เข้าไปคุกคามแล้ว. บทว่า อฏฺฏา แปลว่า ถึงความทุกข์. บทว่า คชปจฺจามิตฺตํ ได้แก่ บุคคลผู้เป็นศัตรูของพญาช้าง. บทว่า เยน โส ความว่า พญาช้างนั้นทำกาลกิริยาล้มลง ณ ลานอันกว้างใหญ่ คล้ายภูเขาไกรลาส ช้างทั้งหลายพากันมายังสถานที่นั้น.
               ฝ่ายนางมหาสุภัททาที่มาพร้อมกับช้างเหล่านั้นก็ดี ช้าง ๘,๐๐๐ ทั้งหมดนั้นก็ดี ต่างร่ำไห้คร่ำครวญอยู่ ณ ที่นั้น แล้วพากันไปยังสำนักแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กุลุกะของพระมหาสัตว์ บอกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ปัจจยทายกของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ทำกาละเสียแล้ว นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายไปดูซากของปัจจยทายกนั้นในป่าช้าเถิด.
               ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ รูป ก็เหาะมาทางอากาศ ลงตรงที่ลานใหญ่.
               ขณะนั้น ช้างหนุ่ม ๒ เชือก ช่วยกันเอางาเสยยกสรีระร่างของพญาช้างให้จบพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วยกขึ้นสู่จิตกาธานทำฌาปนกิจ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกระทำการสาธยายธรรมอยู่ที่ป่าช้า ตลอดคืนยังรุ่ง.
               ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ครั้นดับธาตุเสร็จ สรงสนานแล้ว เชิญนางมหาสุภัททาเป็นหัวหน้า แห่มายังสถานที่อยู่ของตนๆ.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถาความว่า
               ช้างเหล่านั้น พากันคร่ำครวญร่ำไห้อยู่ ณ ที่นั้น ต่างเกลี่ยอังคารขึ้นบนกระพองของตนๆ แล้วยกเอานางสัพพภัททาผู้เป็นมเหสี ให้เป็นหัวหน้า พากันกลับยังที่อยู่ของตนทั้งหมด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปํสุกํ ได้แก่ ฝุ่นสรีรังคารที่ป่าช้า.
               ฝ่ายนายพรานโสณุดร เอางาทั้งคู่มายังไม่ถึง ๗ วัน ก็ถึงพระนครพาราณสี.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า
               นายพรานนั้นนำงาทั้งคู่ของพญาคชสาร อันอุดมไพศาล งดงาม ไม่มีงาอื่นในปฐพีจะเปรียบได้ ส่องรัศมีดุจสีทอง สว่างไสวไปทั่วทั้งไพรสณฑ์ มาถึงยังพระนครกาสี แล้วน้อมนำงาทั้งคู่ เข้าไปถวายพระนางสุภัททา กราบทูลว่า พญาช้างล้มแล้ว ขอเชิญพระนางทอดพระเนตรงาทั้งคู่นี้เถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวณฺณราชีหิ ความว่า ส่องรัศมีดุจสีทอง. บทว่า สมนฺตโมทเร ความว่า แผ่รัศมีดุจสีทองไปรอบๆ ทั่วตลอดทั้งไพรสณฑ์.
               บทว่า อุปเนสิ ความว่า ฝ่ายนายพรานโสณุดรส่งข่าวไปทูลพระนางเทวีว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะนำงาทั้งคู่อันเปล่งปลั่งมีรัศมี ๖ ประการของพญาช้างฉัททันต์ เข้ามาถวาย ขอพระองค์ได้โปรดให้ประดับตกแต่งพระนคร.
               เมื่อพระนางเทวีกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ ให้ประดับตกแต่งพระนครดุจเทพนครแล้ว ก็เข้าสู่พระนคร ขึ้นไปยังปราสาทน้อมงาทั้งคู่เข้าไป ครั้นน้อมเข้าไปแล้ว ก็กราบทูลว่า ขอเดชะพระแม่เจ้า ได้ทราบว่า พระแม่เจ้าก่อความขุ่นเคืองเหตุเล็กน้อยไว้ในพระทัยต่อพญาช้างใด ข้าพระพุทธเจ้าฆ่าพญาช้างนั้นตายแล้ว โปรดทรงทราบว่า พญาช้างตายแล้ว ขอเชิญพระแม่เจ้าทอดพระเนตร นี้คืองาทั้งสองของพญาช้างนั้น แล้วได้ถวายงาไป.
               พระนางสุภัททาจึงเอางวงตาลทำด้วยแก้วมณี รับคู่งาอันวิจิตรมีรัศมี ๖ ประการของพระมหาสัตว์เจ้ามาวางไว้ที่อุรุประเทศ ทอดพระเนตรดูงาแห่งสามีที่รักของพระองค์ในปุริมภพ พลางระลึกว่า นายพรานโสณุดรฆ่าพญาช้างที่ถึงส่วนแห่งความงามเห็นปานนี้ให้ถึงแก่ชีวิต ตัดเอางาทั้งคู่มา. เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงพระมหาสัตว์ ก็ทรงบังเกิดความเศร้าโศกไม่สามารถที่จะอดกลั้นได้ ทันใดนั้น ดวงหทัยของพระนางก็แตกทำลายไป ได้ทำกาลกิริยาในวันนั้นเอง.
               พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสพระคาถาความว่า
               พระนางสุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอดพระเนตรเห็นงาทั้งสองของพญาคชสารอันอุดม ซึ่งเป็นปิยภัสดาของตน ในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนางก็แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง ด้วยเหตุนั้นแล พระนางจึงได้สวรรคต.

               ลำดับนั้น เมื่อพระธรรมสังคาหกเถระเจ้าทั้งหลายจะสรรเสริญพระคุณแห่งพระทศพล จึงกล่าวคำเป็นคาถาอย่างนี้ความว่า
               พระบรมศาสดาได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้วมีพระอานุภาพมาก ได้ทรงทำการแย้มในท่ามกลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากันกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ โดยไร้เหตุผลไม่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายจงดูกุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติอนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแลเป็นนางสุภัททาในกาลนั้น เราตถาคตเป็นพญาช้างในกาลนั้น นายพรานผู้ถือเอางาทั้งคู่ของพญาคชสารอันอุดม หางาอื่นเปรียบปานมิได้ในปฐพี กลับมายังพระนครกาสีในกาลนั้น เป็นพระเทวทัต.
               พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็นของเก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่งพระองค์ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน เป็นบุรพจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้น เรายังเป็นพญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.

               คาถาเหล่านี้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายสรรเสริญพระคุณของพระทศพล รจนาให้ปรากฏไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิตํ อกาสิ ความว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว มีพระอานุภาพมาก วันหนึ่งประทับนั่งเหนือธรรมาสน์อันอลงกต ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภาอันประดับตกแต่งแล้ว ทรงกระทำการยิ้มแย้ม.
               บทว่า นานากรเณ ความว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มหาขีณาสพกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาทรงทำการแย้มอย่างไร้เหตุผลไม่ ก็การแย้มพระองค์ทรงกระทำแล้ว อะไรหนอเป็นเหตุ ให้พระองค์ทรงทำการแย้ม.
               บทว่า ยมททฺสาถ ความว่า อาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาถูกทูลถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะตรัสบอกเหตุที่พระองค์ทรงทำการแย้ม ทรงชี้ภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพบหรือเห็นนางกุมาริกานี้ใดซึ่งกำลังรุ่นสาว ครองผ้ากาสาวพัสตร์ เข้าถึงคือบวชประพฤติอนาคาริยวัตร ในพระศาสนานี้ นางกุมาริกานั้นคือพระนางสุภัททาราชกัญญาในคราวนั้น ซึ่งใช้นายพรานโสณุดรไปว่า เจ้าจงเอาลูกศรอาบด้วยยาพิษไปยิงฆ่าพญาช้างเสีย คราวนั้นเราเป็นพญาช้างผู้ซึ่งนายพรานโสณุดรไปยิงให้ถึงสิ้นชีวิต.
               บทว่า เทวทตฺโต ความว่า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานโสณุดรในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัต ในบัดนี้. บทว่า อนาวสูรํ ตัดบทเป็น น อวสูรํ แปลว่า ชั่วพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต. บทว่า จิรรตฺตสํสิตํ ความว่า นับแต่กาลอันยาวนานนี้ ทรงท่องเที่ยวไปแล้ว คือทรงแล่นไปแล้ว ได้แก่ทรงประพฤติมาแล้วโดยลำดับ ในที่สุดแห่งโกฏิกัปมิใช่น้อย.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระพุทธเจ้า ชื่อว่าทรงปราศจากความกระวนกระวาย เพราะทรงปราศจากกิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่าทรงปราศจากความเศร้าโศก เพราะไม่มีความเศร้าโศก อันเกิดแต่ญาติและทรัพย์เป็นต้น ชื่อว่าปราศจากลูกศร เพราะปราศจากลูกศร มีลูกศรคือราคะเป็นต้น รู้ชัดด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ตรัสเรื่องนี้ อันเป็นของเก่า (ชั่วพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต) นับแต่กาลอันนานนี้ แม้ที่ทรงท่องเที่ยวไป ในที่สุดแห่งโกฏิกัปมิใช่น้อย อันชื่อว่าเป็นพระจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำ เพราะทรงสูงด้วยสามารถแห่งบุรพจรรยาของพระองค์ และเพราะต่ำด้วยสามารถแห่งจรรยาของพระนางสุภัททาราชธิดา และนายพรานโสณุดร ดุจทรงระลึกได้ถึง
               “ สิ่งที่กระทำด้วยความหลง ด้วยปราศจากความหลง  สิ่งที่กระทำเวลาเช้าได้ ในตอนเย็นวันนั้น ทีเดียว.”
               บทว่า โว ในบทว่า อหํ โว นี้เป็นเพียงนิบาต. ความก็ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาลนั้น เราได้เป็นพญาช้างอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น. บทว่า นาคราชา ความว่า และเมื่ออยู่ในคราวนั้นใช่ว่าจะเป็นใครอื่นก็หามิได้ ที่แท้ก็คือเราผู้เป็นพญาช้างฉัททันต์.
               บทว่า เอวํ ธาเรถ ความว่า เธอทั้งหลายจงทรงจำคือจดจำได้แก่เล่าเรียนชาดกนี้ไว้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แล คนเป็นอันมากฟังพระธรรมเทศนานี้แล้วได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเป็นต้น.
               (ส่วน) นางภิกษุณีนั้นเจริญวิปัสสนาแล้ว ภายหลังได้บรรลุพระอรหัตผลฉะนี้แล.


               จบอรรถกถาฉัททันตชาดกที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ฉัททันตชาดก ว่าด้วย พญาช้างฉัททันต์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2327 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=9415&Z=9524&bgc=ivory
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=4638
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=4638
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :