ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา สุธาโภชนชาดก
ว่าด้วย ของกินอันเป็นทิพย์

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้มีอัธยาศัยในการบำเพ็ญทานรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นคตตเม คิริวเร คนธมาทเน ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นกุลบุตรคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงออกบวช กระทำศีลให้บริบูรณ์ ประกอบด้วยธุดงคคุณ มีเมตตาจิตแผ่ไปในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ วันละ ๓ ครั้ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาท มีอัธยาศัยชอบในการให้ทาน ได้บำเพ็ญสาราณียธรรมจนครบบริบูรณ์แล้ว ภิกษุรูปนั้นเมื่อปฏิคาหกทั้งหลายยังมีอยู่ ย่อมให้สิ่งของที่ตนได้แล้วจนหมดสิ้น แม้ตนเองถึงกับอดอาหาร เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ปรากฏในหมู่ภิกษุว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งในทาน.
               ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้นเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งแล้วในทาน ตัดความโลภเสียได้แล้ว มีน้ำประมาณเพียงซองมือหนึ่งที่ตนได้มา ก็ถวายแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายจนหมด เธอมีอัธยาศัย ดุจพระโพธิสัตว์.
               พระศาสดาทรงได้ยินถ้อยคำนั้น ด้วยพระโสตธาตุเพียงดังทิพย์ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไร. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เมื่อชาติก่อน เป็นผู้ไม่ให้ทานเป็นประจำ เป็นผู้ตระหนี่ ไม่ให้ของอะไรๆ แก่ใครๆ แม้หยาดน้ำมันด้วยปลายหญ้า ต่อมา เราได้ทรมานเธอกระทำให้หมดพยศ พรรณนาผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในทานแล้ว เธอได้รับพรในสำนักแห่งเราว่า แม้ได้น้ำมาเล็กน้อยเพียงซองมือหนึ่ง ยังมิได้ให้ทานแล้ว ก็จักไม่ดื่มน้ำนั้น ด้วยผลแห่งการที่ได้รับพรในสำนักของเรานี้ เธอจึงเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน เป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน.
               ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่. เมื่อพวกภิกษุผู้ฉลาดด้วยอนุสนธิในเรื่องเทศนาเหล่านั้น กราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ. ภายหลัง พระราชาได้ทรงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่พระโพธิสัตว์นั้น เศรษฐีนั้นได้เป็นผู้อันพระราชาทรงบูชาแล้ว และอันชาวเมืองชาวชนบทนับถือบูชาแล้ว. วันหนึ่ง เธอแลดูสมบัติของตนแล้ว คิดว่า ยศนี้เรามิได้นอนหลับอยู่ได้แล้ว หรือว่าเราทำกายทุจริตเป็นต้นไว้ในอดีตภพแล้วได้มา ก็หามิได้ เราบำเพ็ญกายสุจริตเป็นต้นให้บริบูรณ์แล้วจึงได้มา แม้ในอนาคตกาลเล่า เราก็ควรจะกระทำที่พึ่งของเรา เธอจึงไปยังสำนักของพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ทรัพย์ในเรือนของข้าพระองค์มีอยู่ถึง ๘๐ โกฏิ ขอพระองค์จงรับทรัพย์นั้นไว้ เมื่อพระราชาตรัสสั่งว่า เราไม่มีความต้องการทรัพย์ของท่าน ทรัพย์ของเราก็มากมายอยู่แล้ว ตั้งแต่นี้ไป ท่านปรารถนาสิ่งใด ก็จงถือเอาสิ่งนั้นเถิด. จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จะได้ให้ทรัพย์ของข้าพระองค์เป็นประโยชน์อย่างไรดีหนอ. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสว่า ท่านจงกระทำตามความพอใจเถิด ดังนี้
               เธอจึงให้สร้างศาลาทานขึ้น ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ที่ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง และที่ประตูเรือนของตน ๑ แห่ง กระทำการบริจาคทรัพย์วันละหกแสน บำเพ็ญมหาทานอยู่ทุกๆ วัน เธอให้ทานอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต แล้วสั่งสอนพวกลูกๆ ว่า เจ้าอย่าได้ตัดทานวงศ์นี้ของเราเสีย ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ให้ทานเหมือนบิดาฉะนั้น ครั้นทำลายขันธ์ก็ไปบังเกิดเป็นพระจันทเทพบุตร บุตรของพระจันทเทพบุตรก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดา ได้บังเกิดเป็นสุริยเทพบุตรแล้ว บุตรแห่งสุริยเทพบุตรนั้นบำเพ็ญทานเหมือนบิดา ก็ได้บังเกิดเป็นพระมาตลีเทพบุตร บุตรแห่งพระมาตลี ก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดา บังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร.
               ส่วนบุตรคนที่ ๖ แห่งปัญจสิขเทพบุตรนั้นได้เป็นเศรษฐีมีนามว่า มัจฉริยโกสิยะ มีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ เศรษฐีนั้นเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มานึกว่า บิดาและปู่ของเราเป็นคนพาล ทิ้งทรัพย์ที่แสวงหามาด้วยความลำบากเสียแล้ว ส่วนเราจักรักษาทรัพย์ไว้ จักไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ เลย จึงให้รื้อโรงทานทั้ง ๖ แห่งนั้น เผาไฟเสียสิ้น. ลำดับนั้น พวกยาจกมาประชุมกันที่ประตูเรือนของเศรษฐีนั้น ยกแขนทั้งสองขึ้นร้องคร่ำครวญ ด้วยเสียงอันดังว่า ข้าแต่มหาเศรษฐี ขอท่านจงอย่ากระทำทานวงศ์แห่งบิดาและปู่ของตนให้ฉิบหายเสียเลย ท่านจงให้ทานเถิด. มหาชนได้ยินก็พากันติเตียนเศรษฐีนั้นว่า มัจฉริยโกสิยเศรษฐีตัดทานวงศ์ของตนเสียแล้ว เศรษฐีนั้นก็มีความละอายได้ตั้งคนรักษาไว้ เพื่อคอยห้ามยาจกผู้มาที่ประตูเรือน พวกยาจกเหล่านั้นหมดที่พึ่ง ก็มิได้มองดูประตูเรือนของเศรษฐีนั้นอีกเลย จำเดิมแต่นั้นมา เขาก็รวบรวมทรัพย์เองทีเดียว ไม่บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นบริโภคอีกด้วย ตนเองบริโภคข้าวปลายเกรียนปนรำ มีน้ำส้มพะอูมเป็นกับข้าว นุ่งผ้าเนื้อหยาบที่ช่างหูกทอ สักว่าเป็นดังรากไม้ผลไม้ กั้นร่มใบตาล ใช้รถเก่าคร่ำคร่า เทียมด้วยโคแก่เป็นยานพาหนะ ทรัพย์อันเป็นของเศรษฐีผู้เป็นอสัตบุรุษนั้น ได้เป็นดังสุนัขได้ผลมะพร้าว ด้วยประการฉะนี้.
               วันหนึ่ง มัจฉริยโกสิยเศรษฐีนั้น เมื่อจะไปสู่ที่เฝ้าพระราชา คิดว่า เราจะไปชวนอนุเศรษฐีไปด้วย จึงได้ไปยังเรือนของอนุเศรษฐีนั้น ในขณะนั้น อนุเศรษฐีแวดล้อมด้วยบุตรธิดา กำลังบริโภคข้าวปายาสที่ปรุง ด้วยของที่เจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้งสุกและน้ำตาลกรวด อนุเศรษฐีนั้น ครั้นเห็นมัจฉริยโกสิยเศรษฐีมาจึงลุกจากอาสนะ กล่าวว่า เชิญท่านมหาเศรษฐีมานั่งที่บัลลังก์นี้ เชิญบริโภคข้าวปายาสด้วยกัน มหาเศรษฐีพอเห็นข้าวปายาสนั้น ก็เกิดน้ำลายไหล อยากจะใคร่บริโภคบ้าง แต่มาคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราบริโภค เราก็จะต้องกระทำสักการะตอบแทน ในเวลาที่อนุเศรษฐีไปยังเรือนของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัพย์ของเราก็จักพินาศ เราจักไม่บริโภคละ.
               ลำดับนั้น มหาเศรษฐี แม้ถูกอนุเศรษฐีอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จึงกล่าวกะอนุเศรษฐีนั้นว่า เราเพิ่งบริโภคมาเดี๋ยวนี้เอง เรายังอิ่มอยู่ แล้วมิได้ปรารถนาจะบริโภค แต่เมื่ออนุเศรษฐีบริโภคอยู่ มหาเศรษฐีนั่งมองดูอยู่ มีน้ำลายไหลออกจากปาก เมื่อเสร็จภัตกิจของอนุเศรษฐี จึงไปยังพระราชนิเวศน์ด้วยกัน กลับจากพระราชนิเวศน์มาถึงเรือนของตน ถูกความอยากในรสแห่งข้าวปายาสบีบคั้นอยู่ จึงคิดว่า ถ้าเราจักพูดว่า เราอยากบริโภคข้าวปายาส มหาชนก็จะพลอยอยากบริโภคกับเราด้วย สิ่งของเป็นอันมากมีข้าวสารเป็นต้น ก็จักหมดเปลืองไป เราจักไม่บอกแก่ใครๆ มหาเศรษฐีนั้นคิดถึงแต่ข้าวปายาสอยู่อย่างเดียว ทำคืนและวันให้ล่วงไป มิได้บอกแก่ใครๆ เพราะกลัวทรัพย์จะหมด อดกลั้นความอยากไว้ เมื่อไม่อาจจะอดกลั้นโดยลำดับได้ ก็เป็นผู้มีโรคผอมเหลืองเกิดขึ้น แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่บอกใครเพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป ในเวลาต่อมา ก็เป็นผู้หมดกำลัง จึงเข้าไปสู่ที่นอน แล้วแอบซ่อนนอนอยู่.
               ลำดับนั้น ภรรยาจึงเข้าไปใกล้มหาเศรษฐีนั้น แล้วเอามือบีบนวด พลางถามว่า ข้าแต่นาย ท่านไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ. ไม่เป็นอะไรหรอก นางผู้เจริญ. ความไม่สบายในร่างกายของท่านเองมีอยู่หรือ. ความไม่สบายในร่างกายของเราก็ไม่มี. ข้าแต่นาย ท่านเป็นผู้ผอมเหลืองเกิดขึ้นแล้ว ท่านมีความคิดอะไรบ้างหรือ หรือว่าพระราชากริ้วท่าน หรือพวกลูกๆ กระทำการดูหมิ่น หรือความอยากอะไรบังเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน. เออ ความอยากเกิดขึ้นแล้วแก่เรา. ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงบอกมาเถิด. ท่านจักอาจรักษาถ้อยคำของเราไว้ได้หรือ. ถ้าเป็นวาจาที่ข้าพเจ้าควรจะรักษา ข้าพเจ้าก็จักรักษาไว้. แม้เมื่อภรรยากล่าวรับรองอยู่อย่างนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่อาจจะบอกได้ เพราะกลัวเสียทรัพย์.
               ครั้นถูกภรรยารบเร้าอยู่บ่อยๆ จึงได้บอกว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ วันหนึ่ง เราเห็นอนุเศรษฐีบริโภคข้าวปายาสที่ปรุงด้วยของอันเจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด. จำเดิมแต่วันนั้นมา ก็เกิดอยากจะบริโภคข้าวปายาสอย่างนั้นบ้าง. ดูก่อนท่านผู้เป็นอสัตบุรุษ ตัวท่านยากจนนักหรือ ข้าพเจ้าจักหุงข้าวปายาส ให้เพียงพอแก่ชาวพระนครทั้งสิ้น คราวนั้น ได้เป็นดุจดังว่า กาลที่มหาเศรษฐีถูกตีที่ศีรษะด้วยท่อนไม้ เขาโกรธภรรยามาก กล่าวว่า เรารู้อยู่ว่าท่านเป็นผู้มีทรัพย์มาก ถ้าว่าทรัพย์ที่นำมาจากเรือนสกุลของท่านมีอยู่ ท่านจงหุงข้าวปายาสแจกแก่ชาวเมืองทั้งหลายเถิด ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ชาวบ้านผู้อยู่ในถนนเดียวกัน. ประโยชน์อะไรด้วยชนเหล่านั้นแก่ท่าน พวกเขาก็จงกินของของตนเองซิ. ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ชนผู้อยู่รอบเรือนข้างละเจ็ดๆ ตั้งแต่เรือนนี้ไป. ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยชนเหล่านั้น. ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้เฉพาะท่านและข้าพเจ้าเพียงสองคนเท่านั้น. ตัวท่านเป็นอะไรเล่า ข้าวปายาสนี้ไม่สมควรแก่ท่าน. ครั้นภรรยากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ท่านคนเดียวเท่านั้น.
               มหาเศรษฐีจึงกล่าวว่า ก็ถ้าท่านจะหุงเฉพาะเราคนเดียวแล้ว จงอย่าหุงในเรือนนี้เลย ด้วยว่าเมื่อท่านหุงในเรือนนี้ ชนมากมายก็คอยหวังจะบริโภค ก็ท่านจงเอาแป้งข้าวสารของเรา แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน น้ำตาลกรวดสักหยิบมือหนึ่ง นมเนยและน้ำผึ้งอย่างละขวด กับภาชนะสำหรับหุงใบหนึ่งให้แก่เรา เราจักเข้าไปสู่ป่า หุงในที่นั้นแล้วบริโภค ภรรยาได้กระทำตามคำสั่งทุกประการ เศรษฐีให้คนใช้เอาผ้าห่อของนั้นทั้งหมด แล้วให้ถือไปส่ง แล้วกล่าวว่า เจ้าจงไปยืนอยู่ในที่โน้น ส่งคนใช้ไปข้างหน้าแล้วไปแต่ผู้เดียว เอาผ้าคลุมแปลงเพศไม่ให้ใครรู้จักไปถึงที่ป่านั้น ให้คนใช้ทำเตาที่โคนกอไม้แห่งหนึ่งริมแม่น้ำ ให้หาฟืนและน้ำมาแล้วบอกว่า เจ้าจงไปยืนอยู่ที่หนทางแห่งหนึ่ง ถ้าเห็นใครๆ มาพึงให้สัญญาแก่เรา อนึ่ง เมื่อเวลาที่เราร้องเรียกเจ้าจึงค่อยมา ส่งคนใช้ไปแล้ว จึงติดไฟหุงข้าวปายาส.
               ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทอดพระเนตร สิริสมบัติของพระองค์อย่างนี้คือ เทพนครอันประดับแล้วประมาณหมื่นโยชน์ ถนนแล้วด้วยทองคำหกสิบโยชน์ เวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ สุธรรมาสภากว้างห้าร้อยโยชน์ อาสน์หินอ่อนมีสีเหลือง ดุจผ้ากัมพลเหลืองกว้างใหญ่หกสิบโยชน์ เศวตฉัตรมีพวงดอกไม้ทองเวียนรอบห้าร้อยโยชน์ นางเทพอัปสรนับได้สองโกฏิครึ่ง และอัตภาพอันประดับตกแต่งแล้ว ครั้นทรงเห็นฉะนี้ จึงใคร่ครวญว่า ยศนี้เราได้มาเพราะกระทำอะไรหนอ จึงได้ทรงเห็นทานที่พระองค์บำเพ็ญให้เป็นไป เมื่อเป็นเศรษฐีในเมืองพาราณสี ในลำดับนั้น จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า ชนทั้งหลายมีบุตรของเราเป็นต้นเกิดแล้วในที่ไหน ได้ทอดพระเนตรเห็นที่เกิดของชนทั้งปวง คือบุตรของเราได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็นสุริยะ บุตรของสุริยะเกิดเป็นมาตลี บุตรของมาตลีเกิดเป็นปัญจสิขคันธัพพเทพบุตร จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า บุตรของปัญจสิขเทพบุตรเป็นเช่นไร ก็ได้ทรงเห็นบุตรของปัญจสิขเทพบุตร เป็นผู้เข้าไปตัดวงศ์ทานของพระองค์เสีย.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงปริวิตกว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นผู้ตระหนี่ มิได้บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้แก่ชนเหล่าอื่นด้วย เข้าไปตัดทานวงศ์ของเราเสีย ทำกาลกิริยาแล้ว จักไปบังเกิดในนรก เราจักให้โอวาทแก่เขา จักให้ประดิษฐานทานวงศ์ของเราต่อไป จักทำเหตุอันจะให้เขามาเกิดในเทพนครนี้ ท้าวเธอจึงให้เรียกจันทเทพบุตรเป็นต้นมา แล้วจึงมีบัญชาสั่งว่า เธอทั้งหลายจงมา เราจักไปยังมนุษยโลกด้วยกัน มัจฉริยโกสิยเศรษฐีเข้าไปตัดวงศ์ของพวกเราเสียแล้ว ให้เผาโรงทานเสียสิ้น ตนเองก็ไม่บริโภค พวกชนเหล่าอื่นก็ไม่ให้เขาเลย ก็บัดนี้เขาเป็นผู้ใคร่จะบริโภคข้าวปายาส คิดว่า เมื่อหุงข้าวปายาสในเรือน ก็จะต้องให้ข้าวปายาสแก่คนอื่นบ้าง จึงเข้าป่าหุงกินแต่คนเดียว เราจักทรมานเศรษฐีนี้ กระทำให้รู้จักผลของทานแล้วจักกลับมา ก็แต่ว่าเศรษฐีนี้ เมื่อถูกพวกเราทั้งหมดขออยู่พร้อมๆ กัน ก็จะพึงตายเสียในที่นั้นทีเดียว ในเวลาที่เราไปขอข้าวปายาสนั่งอยู่ก่อนแล้ว พวกท่านพึงแปลงเป็นพราหมณ์ไปขอโดยลำดับเถิด ครั้นสั่งแล้ว ท้าวเธอก็เนรมิตเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปหาเศรษฐีนั้นก่อน แล้วถามว่า หนทางที่จะไปยังเมืองพาราณสีไปทางไหน ท่านผู้เจริญ.
               ลำดับนั้น มัจฉริยโกสิยเศรษฐีจึงกล่าวกะท้าวเธอว่า ท่านเป็นคนบ้าหรือ จึงไม่รู้จัก แม้จนกระทั่งทางไปเมืองพาราณสี จะมาทำอะไรทางนี้เล่า จงไปทางโน้นซิ. ท้าวสักกะทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสถามว่า ท่านพูดว่าอย่างไร แล้วก็เดินกระเถิบเข้าไปใกล้เขาอีก แม้เศรษฐีนั้นก็ร้องตะโกนว่า แน่ะพราหมณ์หูหนวกคนร้าย ท่านจะมาทำไมทางนี้เล่า จงไปข้างหน้าซิ. ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงกล่าวกะเขาว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านร้องเอะอะทำไม ควันและไฟยังปรากฏอยู่ ท่านคงหุงข้าวปายาสสุกแล้ว ชะรอยว่า คงจะนิมนต์พราหมณ์ทั้งหลายมาฉันในที่นี้ ในเวลาที่พวกพราหมณ์ฉันแล้ว แม้ข้าพเจ้าก็จักพลอยได้บริโภคสักหน่อยหนึ่ง ท่านไม่นิมนต์ข้าพเจ้าบ้างหรือ. เศรษฐีตอบว่า การนิมนต์พวกพราหมณ์ในที่นี้ไม่มีเลย ท่านจงไปข้างหน้าเถิด. ท้าวสักกะจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านโกรธข้าพเจ้าทำไม ในเวลาที่ท่านบริโภคแล้ว ข้าพเจ้าก็คงจักได้บริโภคบ้างสักเล็กน้อย.
               ลำดับนั้น เศรษฐีหมายเอาอาหารที่ตนขอภรรยาได้มาแล้ว จึงกล่าวกะท้าวสักกะนั้นว่า ข้าพเจ้าจักไม่ให้แม้เพียงเมล็ดเดียวแก่ท่าน ภัตนี้มีน้อย พอข้าพเจ้าบริโภคเพียงคนเดียวเท่านั้น. อนึ่ง ก็ภัตนี้ข้าพเจ้าก็ต้องขอเขาจึงได้มา ท่านจงแสวงหาอาหารของท่านจากที่อื่นเถิด
               แล้วกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้าจะไม่ซื้อ จะไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้า ในที่นี้ก็ไม่มีเลย ภัตนี้มีนิดหน่อย ทั้งหาได้แสนยากยิ่งนัก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ หาพอแก่เราสองคนไม่.


               ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำนั้น จึงรับสั่งว่า ข้าพเจ้าจักกล่าวโศลกสักบทหนึ่ง ด้วยเสียงอันไพเราะให้ท่าน ขอท่านจงฟังโศลกคาถาสรรเสริญคุณนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียวว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความต้องการด้วยโศลกคาถาสรรเสริญของท่าน.
               ท้าวเธอก็ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
               บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วนกลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียว หาได้ความสุขไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุมชฌโต มชฌกํ ความว่า แม้ของมีประมาณน้อย บุคคลควรแบ่งออกในท่ามกลาง กระทำให้เป็นสองส่วน ให้ทานเสียส่วนหนึ่ง แม้ส่วนที่เหลืออยู่จากส่วนที่ให้ทานไปแล้วนั้น พึงแบ่งออกในท่ามกลาง แม้จากส่วนกลางอันน้อยนั้นอีกครั้งหนึ่ง พึงให้ส่วนหนึ่งทีเดียว.
               บทว่า อทานํ นูปปชฺชติ ความว่า สิ่งที่ให้ทานนั้นจะน้อยหรือมากก็ตาม ก็เป็นอันได้ชื่อว่าให้แล้ว ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้เสียเลยย่อมไม่ควร ทานแม้นั้นย่อมมีผลมากทีเดียว.

               มัจฉริยโกสิยเศรษฐีสดับคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพูดจาน่าพอใจมาก เมื่อข้าวปายาสสุกแล้ว ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง ท่านจงนั่งลงเถิด. ท้าวสักกะจึงนั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท้าวสักกะนั่งแล้ว จันทเทพบุตรจึงเข้าไปใกล้เศรษฐีโดยทำนองนั้นทีเดียว ยังถ้อยคำให้เป็นไปเหมือนอย่างนั้น.
               เมื่อเศรษฐีนั้นคัดค้านห้ามปรามอยู่ ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
               บุคคลใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว พลีกรรมของบุคคลผู้นั้น ย่อมไร้ผล ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ ก็ไร้ประโยชน์ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียว หาได้ความสุขไม่.


               คำว่า ความเพียรแสวงหาทรัพย์ ในคาถานั้น หมายเอาความเพียรที่ให้เกิดทรัพย์.

               เศรษฐีฟังคำของจันทเทพบุตรนั้นแล้ว ก็ได้กล่าวถ้อยคำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วจึงพูดด้วยความลำบากยากแค้นว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง. จันทเทพบุตรไปนั่งในสำนักของท้าวสักกะ. ในลำดับนั้น สุริยเทพบุตรจึงเข้าไปบอกเศรษฐีนั้น โดยทำนองนั้นเหมือนกัน แล้วจึงกล่าวเหมือนอย่างนั้น
               เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
               ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว มิได้บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ ก็ย่อมมีประโยชน์โดยแท้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียว หาได้ความสุขไม่.


               เศรษฐีได้สดับคำของสุริยเทพบุตรนั้นแล้ว จึงพูดด้วยความลำบากยากเย็นว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง สุริยเทพบุตรนั้นจึงไปนั่งในสำนักจันทเทพบุตร. ลำดับนั้น มาตลีเทพบุตรจึงเข้าไปหาเศรษฐีนั้น โดยอุบายอุบายอย่างเดียวกันนั้นแล แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น
               เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ก็ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               ก็บุรุษไปสู่สระแล้วบูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่าชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่ มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี การบูชาและความเพียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผลมีกำไรได้ ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่คนเดียว จะกล่าวว่า ไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียว หาได้ความสุขไม่.


               เนื้อความแห่งคาถาเหล่านั้นว่า
               บุรุษใดคิดว่า เราจักกระทำพลีกรรมแก่นาคและยักษ์เป็นต้น จึงเข้าไปสู่สระแห่งใดแห่งหนึ่ง ในบรรดาสมุทร แอ่งและสระโบกขรณีเป็นต้น แล้วบูชาอยู่ กระทำพลีกรรมอยู่ในที่นั้นๆ อนึ่ง บุคคลบูชาอยู่ที่แม่น้ำชื่อพหุกา ที่สระโบกขรณีชื่อคยา หรือที่ท่าโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อติมพรุก็ดี หรือที่ห้วงน้ำใหญ่มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี.
               บทว่า อตฺร จสฺส ความว่า ถ้าว่าการบูชาและความเพียรของบุรุษนั้นในที่นั้นๆ คือในสระเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมมี คือมีผลกำไรถึงพร้อมอยู่ไซร้ คำที่บุคคลจะพึงกล่าวในคำนี้ว่า ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่คนเดียวย่อมไร้ผลดังนี้ ก็จะไม่มีเลย ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกะท่าน ท่านจงให้ทานด้วย จงบริโภคเองด้วย ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน เพราะว่า ผู้กินคนเดียว คือผู้บริโภคอยู่แต่เพียงคนเดียว ย่อมไม่ได้รับความสุขเลย.

               เศรษฐีสดับคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว ประหนึ่งถูกยอดภูเขาทับ จึงพูดด้วยความลำบากใจว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง มาตลีเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้กับสุริยเทพบุตร. ในลำดับนั้น ปัญจสิขเทพบุตรจึงเข้าไปหาเศรษฐีโดยทำนองนั้นอีก แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น
               เมื่อเศรษฐีกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว ผู้นั้นเท่ากับกลืนกินเบ็ด อันมีสายยาวพร้อมทั้งเหยื่อ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียว หาได้ความสุขไม่.


               มัจฉริยโกสิยเศรษฐีได้สดับคำนั้น ทอดถอนใจอยู่ด้วยกำลังแห่งความทุกข์ทีเดียว กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้มาตลีเทพบุตร เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๕ คนเหล่านั้น พอนั่งพร้อมกันเท่านั้น ข้าวปายาสก็สุกพอดี ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น โกสิยเศรษฐีจึงยกข้าวปายาสนั้นลงจากเตา แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำใบไม้มาให้เราเถิด พราหมณ์เหล่านั้นมิได้ลุกขึ้น นั่งอยู่ในที่เดิมนั่นแล เหยียดมือไปนำใบย่างทรายมาจากป่าหิมวันต์ โกสิยเศรษฐีเห็นใบไม้ใหญ่นัก จึงพูดว่า ข้าวปายาสนี้ เราควรจะให้แก่ท่านในใบไม้เหล่านี้ไม่มี ท่านจงนำใบตะเคียนเป็นต้นมา พราหมณ์เหล่านั้นก็นำเอาใบไม้ทั้งหลายมาแล้ว ใบไม้แต่ละใบที่นำมานั้นใหญ่ประมาณเท่าโล่ของทหาร โกสิยเศรษฐีนั้นจึงเอาทัพพีตักข้าวปายาสให้แก่พราหมณ์ทั้งหมดคนละทัพพี แม้ในเวลาที่ให้แก่พราหมณ์ปัญจสิข อันเป็นคนสุดท้ายกว่าพราหมณ์ทั้งหมด ข้าวปายาสนั้น ก็หาปรากฏว่าพร่องลงไปถึงก้นหม้อไม่.
               เศรษฐีนั้น ครั้นให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๕ คนแล้ว ส่วนตนนั่งจับหม้อไว้ ในขณะนั้น ปัญจสิจเทพบุตรจึงลุกขึ้นแปลงร่างเป็นสุนัข เข้าไปยืนข้างหน้าพราหมณ์เหล่านั้น ถ่ายปัสสาวะแล้วก็ไป พวกพราหมณ์เอามือปิดข้าวปายาสของตนไว้ หยาดน้ำปัสสาวะกระเซ็นถูกหลังมือของโกสิยเศรษฐี พวกพราหมณ์จึงเอาเต้าน้ำไปตักน้ำเอามาเกลี่ยข้าวปายาส กระทำประดุจจะบริโภค.
               โกสิยเศรษฐีจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าล้างมือแล้วจักบริโภค ท่านจงนำน้ำของท่านมาล้างมือแล้วบริโภคเองเถิด. ข้าพเจ้าให้ข้าวปายาสแก่พวกท่านแล้ว ท่านจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าสักหน่อยหนึ่งเถิด. พวกเราชื่อว่าย่อมไม่กระทำกรรม คือการให้ก้อนข้าวตอบก้อนข้าว (ท่านให้ก้อนข้าวเราและเราให้ก้อนข้าวตอบ). เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงช่วยดูหม้อข้าวนี้ เราไปล้างมือแล้วจักกลับมา แล้วจึงลงไปสู่แม่น้ำ ในขณะนั้น สุนัขจึงถ่ายปัสสาวะลงไว้จนเต็มหม้อข้าว เศรษฐีนั้นกลับมาเห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะ จึงถือเอาท่อนไม้ใหญ่มาขู่ตวาดสุนัขนั้นอยู่ สุนัขนั้นกลับเป็นสัตว์ใหญ่โต ประมาณเท่าม้าอาชาไนย ไล่ติดตามเศรษฐีนั้น แล้วแปลงร่างเป็นสัตว์มีสีต่างๆ เป็นสีดำบ้าง สีขาวบ้าง สีคล้ายทองคำบ้าง ด่างบ้าง ต่ำบ้าง สูงบ้าง เป็นสัตว์มีสีต่างๆ อย่างนี้ ไล่ติดตามมัจฉริยโกสิยเศรษฐีไป.
               เศรษฐีมีความกลัวต่อมรณภัย จึงเข้าไปหาพวกพราหมณ์ แม้พวกพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันเหาะขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศ
               เศรษฐีเห็นอิทธิฤทธิ์ของพวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เหตุไฉน สุนัขของท่านนี้จึงเปล่งรัศมีสีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ พวกท่านใครเล่าจะบอกข้าพเจ้าได้.


               ท้าวสักกเทวราชทรงสดับคำนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ผู้นี้คือจันทเทพบุตร ผู้นี้คือสุริยเทพบุตร และผู้นี้คือมาตลีเทพสารถีมาแล้วในที่นี้ เราคือท้าวสักกะ เป็นจอมของเทวดาพวกไตรทศ ส่วนสุนัขแล เราเรียกปัญจสิขเทพบุตร.


               ท้าวสักกเทวราช ครั้นตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงชมเชยยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่น และตื่นขึ้นแล้ว ย่อมเพลิดเพลินใจ.


               เศรษฐีได้สดับคำของท้าวสักกะนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ปัญจสิขเทพบุตรนี้ได้ทิพยสมบัติเห็นปานนี้ เพราะทำกรรมอะไรไว้. เมื่อท้าวสักกะจะทรงแสดงว่า บุคคลผู้ไม่ให้ทานเป็นปกติ มีกรรมอันเป็นบาป มีความตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้ ย่อมไปเกิดในนรก จึงตรัสคาถาว่า
               ชนเหล่าใด ผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่นรก.


               ท้าวสักกะ ครั้นตรัสคาถานี้แล้ว หวังจะทรงแสดงการได้เฉพาะซึ่งเทวโลกของบุคคลทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในธรรม จึงตรัสคาถาว่า
               ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งหวังสุคติ ตั้งอยู่แล้วในธรรม คือความสำรวมและความจำแนก ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่สุคติ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึสมานา ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เมื่อจะหวัง ย่อมหวังสุคติ ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรม คือศีล ๑๐ ประการ ที่นับว่าความสำรวมอย่างหนึ่ง ในธรรมคือการให้ทานที่มีแต่การจำแนกอย่างหนึ่ง ทอดทิ้งร่างกายกล่าวคือสรีระไว้ในโลกนี้ทีเดียว เพราะการแตกกายของเขา ย่อมเข้าถึงสุคติ.

               ท้าวสักกะ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว หวังจะทรงประกาศแก่เศรษฐีนั้นว่า ดูก่อนโกสิยเศรษฐี พวกเรามายังสำนักของท่านเพื่อต้องการข้าวปายาสก็หาไม่ แต่พวกเราเอ็นดูท่านจึงพากันมาด้วยความกรุณา จึงตรัสคาถาว่า
               ตัวท่านนั้นชื่อโกสิยะ มีความตระหนี่ มีธรรมอันลามก เป็นญาติของเราทั้งหลายในชาติก่อน เราทั้งหลายพากันมาในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้เดียว ด้วยคิดว่า โกสิยะนี้อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ความว่า ท่านนั้นเป็นญาติของพวกเรา.
               บทว่า มา ปาปธมฺโม ความว่า เราพากันมาด้วยคิดอย่างนี้ว่า เศรษฐีเป็นญาติของเรา อย่าได้เป็นผู้มีธรรมอันลามกไปนรกเสียเลย.

               โกสิยเศรษฐีสดับคำนั้น มีจิตยินดีว่า ได้ยินว่า เทพบุตรเหล่านี้ใคร่ประโยชน์แก่เรา ปรารถนาจะยกเราขึ้นจากนรก ให้ประดิษฐานบนสวรรค์ จึงกล่าวคาถาว่า
               ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแน่แท้ เพราะเหตุที่มาตามพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักกระทำตามคำทั้งหมดที่ ท่านผู้แสวงหาประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ.
               ข้าพเจ้านั้นจะเว้นจากความเป็นคนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงกระทำบาปอะไรๆ อนึ่ง ชื่อว่าการไม่ให้ของอะไรๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้าอีก อนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่ให้แล้ว จะไม่ดื่มแม้จนกระทั่งน้ำ
               ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่อย่างนี้ตลอดกาลทั้งปวง แม้โภคทรัพย์ทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดไป ข้าแต่ท้าวสักกะ แต่นั้น ข้าพเจ้าจักละกามทั้งหลายที่ยังคงมีอยู่อย่างนี้ไปแล้วจักบวช.


               ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า แก่ข้าพเจ้า หมายเอาแก่ตัวข้าพเจ้าเอง.
               คำว่า ท่าน หมายเอาท่านทั้งหลาย.
               คำว่า ข้าพเจ้า อธิบายว่า ท่านทั้งหลายมาตามพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่ด้วยเหตุใด ท่านทั้งหลายก็ย่อมเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าด้วยเหตุนั้น.
               คำว่า ทุกประการ อธิบายว่า ท่านกล่าวอย่างใด ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้นทุกประการ.
               คำว่า เว้น คือ ข้าพเจ้าจะเว้นจากความเป็นคนตระหนี่.
               คำว่า การไม่ให้จะไม่มี อธิบายว่า อนึ่ง จำเดิมแต่นี้ไป ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้ แม้ประมาณสักว่าครึ่งหนึ่งแห่งคำข้าวของข้าพเจ้า จะไม่มีอีกต่อไปเลย.
               คำว่า อนึ่ง ยังไม่ให้ อธิบายว่า อนึ่ง ข้าพเจ้าได้น้ำมาแม้ประมาณเพียงซองมือหนึ่งถ้ายังมิให้ทานก่อนแล้ว จะไม่ดื่มกินน้ำนั้นเลย.
               คำว่า จักหมดไป คือจักสิ้นไป.
               คำว่า ยังคงมีอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า ข้าพเจ้าจักละกามอันมีส่วนตามที่ยังเหลืออยู่ ด้วยอำนาจวัตถุกามและกิเลสกามทีเดียว.

               ท้าวสักกะทรงทรมานมัจฉริยโกสิยเศรษฐี กระทำให้หมดพยศ ให้รู้จักผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ด้วยธรรมเทศนาแล้ว จึงพากันเสด็จกลับเทพนครของพระองค์ พร้อมด้วยเทพบุตรเหล่านั้น.
               ฝ่ายมัจฉริยโกสิยเศรษฐีเข้าไปยังพระนคร ขอพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ทรัพย์แก่ยาจกทั้งหลาย ด้วยคำว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์จนเต็มภาชนะที่ตนถือมาแล้วๆ นั้นเถิด แล้วออกจากเรือนไปในขณะนั้น ไปสร้างบรรณศาลา ในระหว่างแม่น้ำคงคาและชาตสระแห่งหนึ่ง ที่ข้างทิศทักษิณ แต่หิมวันตประเทศแล้วจึงบรรพชา มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ได้อยู่ในที่นั้นเป็นเวลานานตลอดกาลถึงชรา.
               ในกาลนั้น ธิดาของท้าวสักกะมีอยู่ ๔ นาง คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ นางหิริ นางทั้ง ๔ นั้นถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้ อันเป็นทิพย์มากมายไปยังสระอโนดาต เพื่อประสงค์จะเล่นน้ำ ครั้นเล่นน้ำในสระนั้นแล้ว จึงพากันนั่งอยู่บนพื้นมโนศิลา ในขณะนั้น พราหมณ์ดาบสชื่อนารทะ ไปยังพิภพดาวดึงส์ เพื่อต้องการจะพักผ่อนในกลางวัน จึงกระทำที่อยู่ในกลางวัน ในสวนนันทวันและสวนจิตรลดาวัน แล้วถือเอาดอกปาริฉัตตกะ เพื่อบังเงาประหนึ่งร่ม ไปยังกาญจนคูหาอันเป็นที่อยู่ของตน โดยที่สุดแห่งพื้นมโนศิลา. ลำดับนั้น พวกนางเทพธิดาทั้ง ๔ เห็นดอกไม้ในมือของดาบสนั้นจึงพากันขอ.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               นางเทพธิดาเหล่านั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารักษาแล้ว บันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์ซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด ในกาลนั้น นารทดาบสผู้ประเสริฐกว่าฤาษี ผู้สามารถไปตลอดโลกทั้งปวง ได้มาถือเอากิ่งไม้อันประเสริฐมีดอกบานงามดีแล้ว ดอกไม้นั้นสะอาดมีกลิ่นหอม เทพยดาชั้นดาวดึงส์พากันกระทำสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด ท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลายได้เสพแล้ว ส่วนพวกมนุษย์เหล่าอื่น หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา เป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์อันสมควรแก่พวกเทวดาเหล่านั้น
               ในลำดับนั้น นางเทพนารีทั้ง ๔ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณประหนึ่งทองคำ เป็นใหญ่กว่านางเทพธิดาผู้รื่นเริง ลุกขึ้นกล่าวกะนารทมุนีผู้เป็นพราหมณ์ประเสริฐกว่าพวกเทวดามากว่า ข้าแต่มหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้ พระผู้เป็นเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็จงให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้แก่พวกข้าพเจ้าดุจท้าววาสวะฉะนั้นเถิด.
               นารทดาบสเห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ พากันขอดอกไม้นั้น จึงกล่าวว่า ท่านพูดถ้อยคำชวนทะเลาะ เราหามีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่งไม่ บรรดาพวกเจ้าทั้ง ๔ นางใดประเสริฐกว่า นางนั้นก็จงประดับดอกไม้นั้นเถิด.


               ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า เป็นภูเขาอันประเสริฐ นี้เป็นไวพจน์ของคำแรกที่ว่าเป็นภูเขาสูงสุด.
               คำว่า ท้าวสักกเทวราชผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทรงรักษาแล้ว คือ นางเทพธิดาทั้ง ๔ นั้นเป็นผู้อันท้าวสักกะทรงรักษาแล้ว.
               คำว่า สามารถไปตลอดโลกทั้งปวง อธิบายว่า เป็นผู้สามารถที่จะไปได้ในโลกทั้งหมด คือ ทั้งในเทวโลกทั้งในมนุษยโลก.
               คำว่า ถือเอากิ่งไม้อันประเสริฐ อธิบายว่า ถือเอาดอกไม้มีชื่ออันได้แล้วว่า ทุมวรสาขะ เพราะดอกไม้นี้เกิดจากกิ่ง.
               คำว่า พากันทำสักการะ คือ มีสักการะอันกระทำแล้ว.
               คำว่า ผู้ประเสริฐกว่าหมู่อมร ดังนี้ พระศาสดาตรัสหมายเอาท้าวสักกะ.
               คำว่า เว้นไว้แต่พวกเทวดา อธิบายว่า นอกจากพวกเทวดาและท่านผู้มีฤทธิ์แล้ว พวกมนุษย์หรือพวกอมนุษย์มียักษ์เป็นต้นเหล่าอื่นไม่ได้แล้ว.
               คำว่า มีประโยชน์อันสมควรแก่พวกเทวดาเหล่านั้น อธิบายว่า เป็นประโยชน์ คือสมควรเหมาะแก่พวกเทวดาเหล่านั้น เดียว.
               คำว่า ผู้มีผิวพรรณประหนึ่งทองคำ อธิบายว่า มีผิวหนังประดุจทองคำ.
               คำว่า ลุกขึ้น อธิบายว่า นางเทพนารีเหล่านั้นปรึกษากันว่า พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้เว้นขาดแล้วจากระเบียบดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นต้น คงจักไม่ประดับดอกไม้ จักทิ้งเสียในประเทศแห่งหนึ่ง เราจักขอกะท่านแล้วจักประดับดอกไม้ เมื่อจะเหยียดมือออกไปขอ จึงลุกขึ้นพร้อมกันทีเดียว.
               คำว่า เป็นใหญ่กว่านางเทพธิดาผู้รื่นเริง คือ เป็นผู้สูงสุดกว่านางผู้รื่นเริงทั้งหลาย.
               คำว่า มุนี หมายเอาฤาษี.
               คำว่า ไม่เจาะจง คือ ไม่เจาะจงว่า เราจักให้ดอกไม้นี้แก่ชนชื่อโน้น.
               คำว่า คติทั้งปวงจงสำเร็จแด่พระผู้เป็นเจ้า อธิบายว่า นางเทพธิดาเหล่านั้นกล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคลแก่นารทมุนีนั้นว่า ขอคติแห่งใจของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดจงสำเร็จเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ได้สิ่งที่ตนปรารถนาแล้วและปรารถนาแล้วเถิด.
               คำว่า ดุจท้าววาสวะฉะนั้น อธิบายว่า ท้าววาสวะผู้เป็นบิดาของหม่อมฉันทั้งหลาย ประทานสิ่งที่หม่อมฉันปรารถนาแล้ว อยากได้แล้ว ฉันใด แม้พระผู้เป็นเจ้าก็จงให้แก่พวกหม่อมฉันเหมือนกันฉันนั้นเถิด.
               คำว่า นั้น หมายเอาดอกไม้นั้น.
               คำว่า เห็น คือมองเห็น.
               คำว่า ชวนทะเลาะ อธิบายว่า ท่านกล่าวถ้อยคำมีการถือเอาต่างๆ ก่อให้เกิดความทะเลาะวิวาท.
               คำว่า เหล่านี้ อธิบายว่า เราไม่มีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้ นารทมุนีแสดงว่า เราเป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการทัดทรงประดับดอกไม้.
               คำว่า บรรดาพวกท่านนางใดประเสริฐกว่า อธิบายว่า นางใดเป็นผู้เจริญที่สุดในระหว่างท่านทั้งหลาย.
               คำว่า นางนั้นจงประดับ อธิบายว่า นางนั้นจงประดับดอกไม้นี้.

               แม้นางเทพนารีทั้ง ๔ นั้น ครั้นได้สดับคำของดาบส จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่นารทดาบสผู้สูงสุด พระผู้เป็นเจ้านั่นแล จงพิจารณาดูพวกข้าพเจ้า ปรารถนาจะให้แก่นางใด จงเริ่มให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกข้าพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจักให้แก่นางใด นางนั้นแล พวกข้าพเจ้าสมมุติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด.


               คำว่า ผู้สูงสุด ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่มหามุนีผู้อุดม พระผู้เป็นเจ้านั่นแล จงใคร่ครวญดูพวกข้าพเจ้า.

               นารทดาบสสดับคำของนางทั้ง ๔ นั้น เมื่อจะเจรจากะนางเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนนางผู้มีกายอันงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเล่าเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการทะเลาะ ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตเถิด.


               อธิบายความแห่งคาถานั้นว่า
               ดูก่อนนางผู้มีกายอันงามผู้เจริญ คำที่พวกท่านกล่าวแล้วนี้ ไม่สมควรแก่เรา ด้วยว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เมื่อเรากระทำนางหนึ่งในบรรดาพวกท่าน ให้เป็นผู้ประเสริฐ นางที่เหลือให้เป็นคนเลวแล้ว ความทะเลาะวิวาทก็จะพึงมีขึ้น ใครจะเป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาป ใครพึงกล่าวการทะเลาะ คือพึงทำความทะเลาะให้เจริญ ด้วยว่า การทำความทะเลาะให้เกิดขึ้น ย่อมไม่สมควรแก่เราผู้มีรูปเห็นปานนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปจากที่นี้แล้ว จงถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งหลาย ซึ่งเป็นบิดาของตนเอาเองเถิด ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ.

               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า
               นางเทพธิดาเหล่านั้น ที่นารทดาบสได้กล่าวขึ้น เป็นผู้มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้ว ด้วยความเมาในผิวพรรณ จึงไปสู่สำนักแห่งท้าวสหัสนัยน์ แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า บรรดาพวกหม่อมฉัน ใครเล่าเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน.


               ในคาถานั้น มีอธิบายว่า คำว่า มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง คือ นางทั้ง ๔ นั้น เมื่อนารทดาบสไม่ให้ดอกไม้ ก็เป็นผู้มีความโกรธยิ่งนักหนา. คำว่า ได้กล่าวขึ้น คือ เมื่อนารทดาบสกล่าวว่า พวกท่านจงไปถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูต เอาเองเถิด. คำว่า ท้าวสหัสนัยน์ คือ ไปสู่สำนักของท้าวสักกะ. คำว่า ใครเล่า อธิบายว่า นางเทพธิดาทั้ง ๔ ทูลถามว่า ในระหว่างข้าพระองค์ทั้งหลาย ใครคนไหนเล่าเป็นผู้สูงสุด.

               นางเทพธิดาทั้ง ๔ ยืนทูลถามดังนั้นแล้ว.
               (พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาว่า)
               ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลีแล้ว ทรงเห็นพระธิดาทั้ง ๔ นั้น มีใจพะวักพะวงอยู่ จึงตรัสว่า ดูก่อนธิดาผู้งามเลิศ พวกเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ในที่นี้ใครเล่าหนอ ได้กล่าวการทะเลาะขึ้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตา ทิสฺวา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกเทวราชเห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ ซึ่งมายังสำนักของตน.
               บทว่า อายตฺตมนา ความว่า มีใจหงุดหงิดมีจิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า กตญฺชลี ความว่า ผู้อันเทวดาทั้งหลายนอบน้อมอยู่กระทำอัญชลีแล้ว.
               บทว่า สาทิสี ความว่า พวกเจ้าทั้งหมดเป็นผู้เหมือนกัน จงยกไว้ก่อน.
               บทว่า โกเนธ ความว่า ก็ใครเล่าหนอ ในที่นี้.
               บทว่า กลหํ อุทีรเย ความว่า กล่าวการทะเลาะวิวาทนี้ขึ้น คือทำความทะเลาะให้เกิดขึ้น.

               ลำดับนั้น นางเทพนารีทั้ง ๔ เมื่อจะกราบทูลแด่ท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               นารทมหามุนีใด ผู้เที่ยวไปยังโลกทั้งปวง ดำรงอยู่ในธรรม มีความเพียร บากบั่นมั่นอยู่ในความสัตย์อย่างแท้จริง ท่านนั้นได้บอกแก่พวกหม่อมฉัน ณ ที่ภูเขาคันธมาทน์ ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตเอาเองเถิด.


               คำว่า มีความเพียร ในคาถานั้น หมายเอามีความบากบั่น เป็นเครื่องก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง.

               ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า นางทั้ง ๔ นี้ล้วนเป็นธิดาของเราทั้งหมด ถ้าเราจักกล่าวนางคนหนึ่ง ในบรรดานางเหล่านี้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณ เป็นผู้สูงสุดแล้วไซร้ นางที่เหลือก็จักโกรธ เราไม่อาจตัดสินความเรื่องนี้ได้ เราจักส่งธิดาของเราทั้ง ๔ เหล่านี้ ไปยังสำนักของโกสิยดาบส ในหิมวันตประเทศ เธอจักวินิจฉัยความเรื่องนี้แก่นางเหล่านี้เอง จึงตรัสบอกว่า พ่อจะตัดสินความของเจ้าทั้งหลายไม่ได้ ในหิมวันตประเทศมีดาบสองค์หนึ่งชื่อว่า โกสิยะ พ่อจักมอบสุธาโภชน์ไปถวายแก่เธอ เธอยังไม่ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว จักไม่บริโภค ก็เมื่อจะให้ เธอจะใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงให้แก่บุคคลผู้มีคุณ ในบรรดาเจ้าทั้งหลาย นางคนใดได้รับภัตจากมือของเธอ นางคนนั้นจักเป็นผู้สูงสุด แล้วจึงตรัสคาถาว่า
               ดูก่อนเจ้าผู้มีกายอันงดงาม มหามุนีผู้อยู่ในป่าใหญ่โน้น ยังมิได้ให้ก่อนแล้ว หาบริโภคภัตไม่ เมื่อโกสิยดาบสจะให้ก็พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ ถ้าเธอจักให้แก่นางคนใด นางคนนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ.


               คำว่า ผู้อยู่ในป่าใหญ่ ในคาถานั้น หมายเอาผู้มีปกติอยู่ในราวป่าอันใหญ่.

               ท้าวสักกะส่งนางทั้ง ๔ ไปยังสำนักของดาบส ด้วยประการฉะนี้ แล้วให้เรียกมาตลีเทพบุตรมา เมื่อจะส่งไปยังสำนักของดาบสนั้น จึงตรัสคาถาติดต่อกันไปว่า
               ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมวันตบรรพตโน้น โกสิยดาบสนั้นมีน้ำดื่มและโภชนะหาได้ยาก ดูก่อนเทพสารถี ท่านจงนำสุธาโภชน์ไปให้ถึงเธอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อยู่ หมายเอาอาศัยอยู่. คำว่า ทิศทักษิณ ได้แก่ ทิศทักษิณ ของภูเขาหิมวันต์. คำว่า ข้าง คือข้างภูเขาหิมวันต์.

               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสว่า
               มาตลีเทพสารถีนั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาใช้ให้ไปแล้ว จึงขึ้นรถเทียมด้วยม้าพันตัว ไปยังอาศรมบทโดยรวดเร็วอย่างนี้ เป็นผู้มีร่างกายอันไม่ปรากฏ ได้ถวายสุธาโภชน์แก่มุนี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทิสฺสมาโน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาตลีนั้นรับคำสั่งของท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็ไปยังอาศรมบทนั้น มีกายอันมิได้ปรากฏให้เห็น ได้ถวายสุธาโภชน์แก่ดาบสนั้น ก็เมื่อจะถวาย ได้วางถาดสุธาโภชน์ลงในมือของเธอ ผู้ประกอบความเพียรอยู่ตลอดราตรี บำเรอไฟในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อราตรีสว่างแล้ว ยืนนอบน้อมนมัสการพระอาทิตย์ ซึ่งกำลังขึ้นสู่ท้องฟ้า.

               โกสิยดาบสรับโภชนะนั้นแล้ว ยืนกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พระอาทิตย์ ซึ่งแรกขึ้น มีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งหมด หรือว่าใครเล่า มาวางภัตขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาวสะอาด มีพรรณขาวประดุจสังข์ขาวน่าดูยิ่งกว่าปุยนุ่น สะอาดมีกลิ่นหอมน่ารักใคร่ ยังไม่เคยมีเลย แม้เราเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยชาตจักษุของเรา เทวดาองค์ไหนเล่ามาวางไว้ในฝ่ามือของเรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทคฺคิหุตฺตํ ความว่า เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ออกจากโรงไฟ ยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ยืนอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งมีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำก้าวล่วงเสีย ซึ่งภูตทั้งหมดเป็นไปอยู่ หรือมิใช่หนอ มาวางภัตอันขาวสะอาดลงบนมือของเราอย่างนี้ โกสิยดาบสนั้นเป็นผู้ยืนอยู่ทีเดียว ได้กล่าวสรรเสริญสุธาโภชน์อันวิเศษ ด้วยคำเป็นต้นว่า มีพรรณขาวประดุจสังข์ ดังนี้.

               ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีจึงตอบว่า
               ข้าแต่มหามุนีผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ใช้ให้นำสุธาโภชน์มาโดยด่วน พระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า ชื่อมาตลีเทพสารถี และจงบริโภคภัตอันอุดม อย่าห้ามเสียเลย เพราะสุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ถึง ๑๒ ประการ คือ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ ความกระสัน ๑ ความกระวนกระวาย ๑ ความเหน็ดเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไปผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ๑ ความส่อเสียด ๑ ความหนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ภัตนี้มีรสอันสูงสุด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุธาภิหาสึ ความว่า ข้าพเจ้านำสุธาโภชน์นี้มาเฉพาะพระคุณเจ้า.
               บทว่า ชานาสิ มํ ความว่า ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า ผู้นี้คือเทพสารถีมีนามว่า มาตลี.
               บทว่า มาภิวารยิ ความว่า ขอพระคุณเจ้าอย่าได้ห้ามเสียเลยว่า เราจักไม่บริโภคภัตนี้ดังนี้ จงฉันเถิด อย่ากระทำความชักช้าเลย.
               บทว่า ปาปเก ความว่า ด้วยว่า สุธาโภชน์ที่บุคคลบริโภคแล้วนี้ ย่อมขจัดเสียได้ซึ่งธรรมอันลามกถึง ๑๒ ประการ คือ ย่อมขจัดความหิวเป็นที่ ๑ ก่อน ขจัดความกระหายน้ำเป็นที่ ๒ ความกระสันเป็นที่ ๓ ความกระวนกระวายกายเป็นที่ ๔ ความเหน็ดเหนื่อยเป็นที่ ๕ ความโกรธเป็นที่ ๖ ความเข้าไปผูกโกรธเป็นที่ ๗ ความวิวาทเป็นที่ ๘ ความส่อเสียดเป็นที่ ๙ ความหนาวเป็นที่ ๑๐ ความร้อนเป็นที่ ๑๑ ความเกียจคร้านเป็นที่ ๑๒ สุธาโภชน์มีรสอันสูงสุด คือมีรสอันอุดมถึงเพียงนี้ ย่อมขจัดบาปธรรม ๑๒ ประการเหล่านี้เสียได้.

               โกสิยดาบสสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เรายังไม่ได้ให้ก่อนแล้ว บริโภคย่อมไม่สมควร วัตรของเรานี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียว พระอริยเจ้าไม่บูชาแล้ว ก็ชนผู้มิได้แบ่งบริโภคเสียแต่ผู้เดียว ย่อมไม่ประสบความสุขเลย.


               โกสิยดาบส ครั้นกล่าวคาถาแล้ว ผู้อันมาตลีถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าเห็นโทษอะไรในการไม่ให้คนอื่นเสียก่อนแล้วบริโภค จึงได้สมาทานวัตรนี้ จึงตอบว่า
               ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้ายต่อมิตร อนึ่ง ย่อมฆ่าสมณพราหมณ์ ผู้มีวัตรอันดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ห้า ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าไม่ให้ก่อนแล้ว จึงไม่ดื่มแม้จนกระทั่งน้ำ ข้าพเจ้านั้นจักให้ทานแก่หญิงหรือชาย ที่ผู้รู้สรรเสริญแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ถ้อยคำที่ปฏิคาหกขอ ปราศจากความตระหนี่ สมมติว่าเป็นผู้สะอาดและมีความสัตย์ในโลกนี้.


               ในคาถานั้นมีคำอรรถาธิบายว่า คำว่า ก่อน คือ ไม่ให้ก่อนแล้วอย่างหนึ่ง โกสิยดาบสแสดงว่า วัตรนี้เป็นวัตรอันอุดมของเรามาก่อน คือเราสมาทานวัตรนี้มาก่อนด้วยประการฉะนี้แล. คำว่า การบริโภคคนเดียว คือ การกินของบุคคลคนเดียว พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่บูชาแล้ว. คำว่า ความสุข คือ ย่อมไม่ได้รับความสุข ทั้งที่เป็นทิพย์และเป็นของมนุษย์.
               คำว่า ฆ่าหญิง ได้แก่ ฆ่าสตรี. คำว่า เหล่าใด คือเหล่าใดเหล่าหนึ่ง. คำว่า ด่า คือ ย่อมด่า. คำว่า ผู้มีวัตรอันดีงาม หมายเอาสมณพราหมณ์ผู้ประกอบในธรรม. คำว่า มีความตระหนี่เป็นที่ห้า อธิบายว่า ความตระหนี่เป็นที่ห้าของชนเหล่านี้ เหตุนั้น ชนเหล่านี้จึงชื่อว่ามีความตระหนี่เป็นที่ห้า. คำว่า เลวทราม คือ ธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ชื่อว่าอธรรม. คำว่า เพราะเหตุนั้น เราจึงสมาทานวัตรนี้ว่า ถ้ายังมิได้ให้ก่อนแล้ว จักไม่บริโภคแม้น้ำดังนี้ เพราะกลัวความเป็นอธรรมที่ห้า. คำว่า ข้าพเจ้านั้น อธิบายว่า ข้าพเจ้านั้นจักให้ทานแก่หญิงหรือ. คำว่า ผู้รู้สรรเสริญแล้ว หมายเอาผู้รู้ซึ่งได้แก่บัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว. คำว่า สมมติ เป็นผู้สะอาดแล้วมีความสัตย์ อธิบายว่า บุรุษทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธาอันหยั่งลงเชื่อมั่น เป็นผู้รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สะอาด และสมมติว่าสูงสุด.

               มาตลีสดับคำนั้น จึงยืนแสดงกายให้ปรากฏ ในขณะนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ เหล่านั้น ได้มายืนอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือ นางสิริยืนอยู่ในทิศปราจีน นางอาสายืนอยู่ในทิศทักษิณ นางศรัทธายืนอยู่ในทิศประจิม นางหิริยืนอยู่ในทิศอุดร.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาว่า

.. อรรถกถา สุธาโภชนชาดก ว่าด้วย ของกินอันเป็นทิพย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1598&Z=1896
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=5778
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=5778
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :