พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกทั้งหลาย แล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ กิญฺจิ รตนมตฺถิ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในวันอุโบสถ อุบาสกเหล่านั้นอธิษฐานอุโบสถแต่เช้าตรู่ ถวายทาน. ภายหลังภัตต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังพระเชตวัน นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเพื่อฟังธรรม.
ก็ในกาลนั้น พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาตบแต่งไว้ ตรวจดูภิกษุสงฆ์ ทรงทราบว่า ก็บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ธรรมกถาตั้งขึ้นปรารภภิกษุเหล่าใด พระตถาคตทั้งหลายทรงเจรจาปราศัยกับภิกษุเหล่านั้น.
เพราะเหตุนั้น วันนี้ ธรรมกถาที่เกี่ยวกับบุรพจริยา ตั้งขึ้นปรารภอุบาสกทั้งหลาย ดังนี้แล้ว จึงทรงเจรจาปราศัยกับอุบาสกเหล่านั้น แล้วตรัสถามว่า พวกเธอเป็นผู้รักษาอุโบสถหรือ อุบาสกทั้งหลาย.
เมื่ออุบาสกกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดีละ อุบาสกทั้งหลาย ก็ข้อที่พวกเธอ เมื่อได้พระพุทธเจ้าผู้เช่นเราเป็นผู้ให้โอวาท พึงกระทำอุโบสถ จัดว่าเธอกระทำกรรม อันงามไม่น่าอัศจรรย์เลย.
แม้โบราณกบัณฑิต ผู้ไม่เอื้อเฟื้อละยศใหญ่ กระทำอุโบสถได้เหมือนกัน ดังนี้แล้ว. ได้ทรงเป็นผู้นิ่ง อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาว่า
ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี
ทรงประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรส ทอดพระเนตรเห็นยศใหญ่ของพระราชโอรสนั้น.
จึงทรงเกิดความระแวงขึ้นว่า พระราชโอรสจะพึงยึดแม้ราชสมบัติของเรา จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสนั้นมาแล้วตรัสว่า
ดูก่อนพ่อ เธอไม่อาจจะอยู่ในที่นี้ เธอจงออกไปจากที่นี้ แล้วไปอยู่ในที่ๆ เธอชอบใจ โดยล่วงไปแห่งเรา เธอจงยึดเอารัชสมบัติอันเป็นของแห่งตระกูล.
พระราชโอรสทรงรับพระดำรัสแล้ว ถวายบังคมพระราชบิดาแล้ว เสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังแม่น้ำยมุนา โดยลำดับทีเดียว.
แล้วให้สร้างบรรณศาลาในระหว่างแม่น้ำยมุนา สมุทรและภูเขา มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหารอาศัยอยู่ในที่นั้น.
ครั้งนั้น นางนาคมาณวิกา ผู้ที่สามีตายตนหนึ่งในภพนาค ผู้สถิตย์อยู่ฝั่งสมุทรตรวจดูยศของคนเหล่าอื่นผู้มีสามี อาศัยกิเลสกระสันขึ้น
จึงออกจากภพนาคเที่ยวไปที่ฝั่งสมุทร เห็นรอยเท้าของพระราชโอรส จึงเดินไปตามรอยเท้า ได้เห็นบรรณศาลานั้น.
ครั้งนั้น พระราชโอรสได้เสด็จไปสู่ป่าเพื่อต้องการผลไม้. นางเข้าไปยังบรรณศาลา เห็นเครื่องลาดทำด้วยไม้และบริขารที่เหลือ.
จึงคิดว่า นี้ชะรอยว่าจักเป็นที่อยู่ของบรรพชิตรูปหนึ่ง เราจักทดลอง เขาบวชด้วยศรัทธาหรือไม่หนอ. ก็ถ้าเขาจักบวชด้วยศรัทธา จักน้อมไปในเนกขัมมะ.
เขาจักไม่ยินดีการนอนที่เราตกแต่งไว้ ถ้าเขาจักยินดียิ่งในกาม จักไม่บวชด้วยศรัทธา ก็จักนอนเฉพาะในที่นอนที่เราจัดแจงไว้.
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักจับเขากระทำให้เป็นสามีของตน แล้วจักอยู่ในที่นี้เอง. นางไปสู่ภพนาค นำดอกไม้ทิพย์ และของหอมทิพย์มาจัดแจงที่นอน
อันสำเร็จด้วยดอกไม้ได้ นำดอกไม้ไว้ที่บรรณศาลา เกลี่ยจุณของหอมประดับบรรณศาลา แล้วไปยังภพนาคตามเดิม.
พระราชโอรส เสด็จมาในเวลาเย็นเข้าไปยังบรรณศาลา ทรงเห็นความเป็นไปนั้น จึงคิดว่า ใครหนอ จัดแจงที่นอนนี้ ดังนี้แล้ว.
จึงเสวยผลไม้น้อยใหญ่ คิดว่า น่าอัศจรรย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอม น่าอัศจรรย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอม ใครตบแต่งที่นอนให้เป็นที่ชอบใจของเรา.
เกิดโสมนัสขึ้นด้วยมิได้บวชด้วยศรัทธา จึงนอนพลิกกลับไปกลับมา บนที่นอนดอกไม้ ก้าวลงสู่ความหลับ.
วันรุ่งขึ้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไป ลุกขึ้นแต่ไม่ได้กวาดบรรณศาลา ได้ไปเพื่อต้องการแก่รากไม้และผลไม้น้อยใหญ่ในป่า.
ในขณะนั้น นางนาคมาณวิกามาเห็นดอกไม้เหี่ยวแห้งรู้ว่า ท่านผู้นี้ น้อมใจไปในกาม ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เราอาจจะจับเขาได้.
ดังนี้แล้วนำดอกไม้เก่าๆ ออกไป นำดอกไม้อื่นๆ มา จัดแจงที่นอนดอกไม้ เหมือนอย่างนั้นนั่นแล ประดับบรรณศาลา และเกลี่ยดอกไม้ในที่จงกรม
แล้วไปยังภพนาคตามเดิม. แม้ในวันนั้น พระราชโอรสนั้นก็นอนบนที่นอนดอกไม้ วันรุ่งขึ้นจึงคิดว่า ใครหนอประดับบรรณศาลานี้.
พระองค์ไม่ไปเพื่อต้องการผลไม้น้อยใหญ่ ได้ยืนอยู่ในที่กำบังไม่ไกลจากบรรณศาลา. ฝ่ายนางนาคมาณวิกาถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากมายังอาศรมบท.
พระราชโอรส พอเห็นนางนาคมาณวิกา ผู้ทรงรูปอันเลอโฉม มีจิตปฏิพัทธ์ ไม่แสดงตน เข้าไปยังบรรณศาลาของนาง
เข้าไปในเวลาจัดแจงดอกไม้แล้วถามว่า เจ้าเป็นใคร? นางตอบว่า ข้าแต่นายฉันชื่อว่า นางนาคมาณวิกา.
พระราชโอรสตรัสถามว่า เธอมีสามีแล้วหรือยัง. นางตอบว่า ข้าแต่นาย เมื่อก่อนฉันมีสามี แต่เดี๋ยวนี้ฉันยังไม่มีสามี เป็นหม้ายอยู่ ท่านเล่าอยู่ที่ไหน?
พระราชโอรสตอบว่า ฉันชื่อว่า พรหมทัตกุมาร โอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี. ก็ท่านเล่าเพราะเหตุไร จึงละภพนาคเที่ยวอยู่ในที่นี้.
นางตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันตรวจดูยศของพวกนางนาคมาณวิกาผู้มีสามีในที่นั้น อาศัยกิเลสจึงกระสันขึ้น ออกจากภพนาคนั้นเที่ยวแสวงหาสามี.
พระราชโอรสตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแล นางผู้เจริญ แม้เราก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เพราะถูกพระบิดาขับไล่ จึงมาอยู่ในที่นี้.
เจ้าอย่าคิดไปเลย เราจักเป็นสามีของเจ้า. แม้คนทั้งสองก็ได้อยู่สมัครสังวาสกันในที่นั้นนั่นเอง. นางสร้างตำหนักมีค่ามาก ด้วยอานุภาพของตนแล้ว
นำบัลลังก์อันควรแก่ค่ามากแล้วตบแต่งที่นอน. จำเดิมแต่นั้นมา พระราชโอรสนั้น ไม่ได้เสวยรากไม้และผลไม้น้อยใหญ่ เสวยแต่ข้าวและน้ำอันเป็นทิพย์เหล่านั้นเลี้ยงชีวิต.
ครั้นต่อมาภายหลัง นางนาคมาณวิกาตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย พวกญาติได้ขนานนามท่านว่า สาครพรหมทัต เพราะท่านประสูติที่ฝั่งแม่น้ำสาคร.
ในเวลาที่เดินได้นางนาคมาณวิกาก็คลอดบุตรเป็นหญิง. พวกญาติขนานนามนางว่า สมุททชา เพราะนางเกิดที่ริมฝั่งสมุทร. ก็แลเมื่อระยะกาลล่วงเลยไป.
ครั้งนั้น พรานไพรชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง ถึงที่นั้นแล้ว ได้กระทำปฏิสันถาร จำพระราชโอรสได้อยู่ในที่นั้น ๒-๓ วันแล้วกล่าวว่า
ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จักบอก ความที่พระองค์อยู่ในที่นี้แก่ราชตระกูล ไหว้ท่านแล้วออกจากที่นั้น ได้ไปสู่พระนคร.
ในกาลนั้นพระราชาก็สวรรคต. พวกอำมาตย์ได้ทำพระสรีรกิจแก่ท้าวเธอ. แล้วประชุมกันในวันที่ ๗ ปรึกษากันว่า
ชื่อว่ารัชสมบัติอันไม่มีพระราชา ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ พวกเราไม่รู้ที่อยู่ของพระราชโอรส ยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าไม่มี จึงปล่อยผุสสรถยึดเอาพระราชา.
ขณะนั้นพรานไพรเข้าไปสู่พระนคร ทราบเรื่องนั้นของอำมาตย์เหล่านั้น จึงไปยังสำนักของพวกอำมาตย์แล้วคิดว่า
เราอยู่ในสำนักของพระราชโอรส ๓-๔ วันแล้วจึงมา จึงได้บอกเรื่องนั้น. ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว
ได้ทำสักการะแก่เขา มีเขาเป็นผู้นำทางไป ในที่นั้น ได้กระทำปฏิสันถารแล้ว บอกความที่พระราชาสวรรคต แล้วทูลว่า
ขอพระองค์จงครองราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า. พระราชโอรสทรงดำริว่า เราจักรู้จิตของนางนาคมาณวิกา.
ดังนี้แล้วเข้าไปหาเธอแล้วตรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ พระบิดาของเราสวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายมาในที่นี้ เพื่อยกฉัตรให้เรา
ไปกันเถิดนางผู้เจริญ เราทั้งสองจักครองรัชสมบัติในกรุงพาราณสีประมาณ ๑๒ โยชน์ เธอจักเป็นใหญ่กว่าหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.
นางกล่าวว่า ข้าแต่นาย ดิฉันไม่อาจไปกับท่านได้. พระราชโอรสถามว่า เพราะเหตุอะไร?
นางกล่าวว่า พวกเราเป็นอสรพิษร้าย โกรธเร็ว ย่อมโกรธแม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย และชื่อว่าการอยู่ร่วมผัวเป็นภาระหนัก.
ถ้าดิฉันเห็นหรือได้ยินสิ่งอะไรก็โกรธ แลดูอะไร จักกระจัดกระจายไปเหมือนกำธุลี. เพราะเหตุนี้ ดิฉันจึงไม่อาจไปกับท่านได้ แม้วันรุ่งขึ้นพระราชโอรสก็อ้อนวอนเธออยู่นั่นเอง.
ลำดับนั้น นางจึงกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดิฉันจักไม่ไปด้วยปริยายไรๆ ส่วนนาคกุมารบุตรของเราเหล่านี้ เป็นชาติมนุษย์ เพราะเกิดโดยสมภพกับท่าน.
ถ้าบุตรเหล่านั้นยังมีความรักในเรา ท่านจงอย่าประมาทในบุตรเหล่านั้น แต่บุตรเหล่านี้แล เป็นพืชน้ำละเอียดอ่อน เมื่อเดินทางต้องลำบาก ด้วยลมแดดจะพึงตาย.
ท่านพึงให้ขุดเรือลำหนึ่ง ให้เต็มด้วยน้ำ แล้วให้บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำนำไป พึงกระทำสระโบกขรณีในพื้นที่ในภายในพระนครแก่บุตรเหล่านั้น.
ก็แลนางครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ไหว้พระราชโอรสทำประทักษิณ กอดพวกบุตร ให้นั่งระหว่างถันจูบที่ศีรษะ มอบให้แก่พระราชโอรส ร้องไห้คร่ำครวญ.
แล้วหายไปในที่นั้นนั่นเอง ได้ไปยังภพนาคตามเดิม. ฝ่ายพระราชโอรสถึงความโทมนัส มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา ออกจากนิเวศน์ เช็ดนัยนาแล้วเข้าไปหาพวกอำมาตย์.
พวกอำมาตย์เหล่านั้น อภิเษกพระราชโอรสนั้นในที่นั้นนั่นเอง แล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะไปยังนครของพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงจึงรีบขุดเรือยกขึ้นสู่เกวียนให้เต็มด้วยน้ำ. ขอท่านจงเกลี่ยดอกไม้ต่างๆ อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นบนหลังน้ำ.
บุตรทั้งหลายของเราผู้มีพืชแต่น้ำ บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำ ในที่นั้น จักไปสบาย. พวกอำมาตย์ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น
พระราชาเสด็จถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าไปยังนครที่ตบแต่งไว้ แวดล้อมไปด้วยหญิงนักฟ้อน และอำมาตย์เป็นต้นประมาณ ๑๖,๐๐๐ คน ประทับนั่งบนพื้นใหญ่
เสวยน้ำมหาปานะ ๗ วัน แล้วให้สร้างสระโบกขรณี เพื่อประโยชน์แก่พวกบุตร. พวกบุตรได้เล่นในที่นั้นเนืองนิตย์.
ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อพวกบุตรพากันเล่นน้ำในสระโบกขรณี เต่าตัวหนึ่งเข้าไป ไม่เห็นที่ออก จึงดำลงในพื้นสระโบกขรณี.
ในเวลาเด็กเล่นน้ำ ผุดขึ้นจากน้ำโผล่ศีรษะขึ้นมา เห็นพวกเด็กเหล่านั้น จึงดำลงไปในน้ำอีก. พวกเด็กเหล่านั้นเห็นเต่านั้นจึงสะดุ้งกลัว
ไปยังสำนักของพระบิดากราบทูลว่า ข้าแต่พ่อ ในสระโบกขรณียังมียักษ์ตนหนึ่ง ทำพวกข้าพระองค์ให้สะดุ้ง.
พระราชาทรงสั่งบังคับพวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงไปจับยักษ์นั้นมา. ราชบุรุษเหล่านั้นทอดแห นำเต่าไปถวายแด่พระราชา.
พระกุมารทั้งหลายเห็นเต่านั้นแล้วร้องว่า นี้ปีศาจพ่อ นี้ปีศาจพ่อ. พระราชาทรงกริ้วเต่าด้วยความรักในบุตร จึงสั่งบังคับว่า
พวกท่านจงไปทำกรรมกรณ์แก่เต่านั้นเถิด. ในบรรดาราชบุรุษเหล่านั้น ราชบุรุษคนหนึ่งกล่าวว่า เต่านี้เป็นผู้ก่อเวรแก่พระราชา
ควรจะเอามันใส่ในครก แล้วเอาสากตำทำให้เป็นจุณ. อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า ควรจะปิ้งให้สุกในไฟถึง ๓ ครั้งแล้วจึงกิน.
อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า ควรจะต้มมันในกะทะนั่นแล. แต่อำมาตย์คนหนึ่งผู้กลัวน้ำกล่าวว่า ควรจะโยนเต่านี้ลงในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา
มันจะถึงความพินาศใหญ่ในที่นั้น เพราะกรรมกรณ์ของเต่านั้น เห็นปานนี้ย่อมไม่มี. เต่าได้ฟังถ้อยคำของเขา จึงโผล่ศีรษะขึ้นพูดอย่างนี้ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เหตุอะไรของท่าน เราทำผิดอะไร ที่ท่านวิจารถึงกรรมกรณ์ เห็นปานนี้กะเรา ก็เราสามารถอดกลั้นกรรมกรณ์นอกนี้ได้
ก็แลผู้นี้เป็นผู้หยาบช้าเหลือเกิน ท่านอย่ากล่าวคำเห็นปานนี้เลย. พระราชาทรงสดับดังนั้น ควรจะสร้างทุกข์กะเต่านี้ แหละดังนี้แล้ว. จึงให้ทิ้งลงไปในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา.
เต่านั้นถึงห้วงน้ำอันเป็นที่ไปสู่ภพนาคแห่งหนึ่ง ได้ไปสู่ภพนาคแล้ว. ลำดับนั้น พวกนาคมาณพบุตรของพญานาคชื่อว่าธตรฐ
กำลังเล่นอยู่ในห้วงน้ำนั้น เห็นเต่านั้น จึงกล่าวว่า พวกท่านจงจับมันเป็นทาส. เต่านั้นคิดว่า เราพ้นจากพระหัตถ์ของพระเจ้าพาราณสีแล้ว.
บัดนี้ถึงมือของพวกนาคผู้หยาบช้าเห็นปานนี้ เราจะพึงพ้นด้วยอุบายอะไรหนอ. เต่านั้นคิดว่า อุบายนี้ใช้ได้ เราจะพึงพูดมุสาวาท จึงจะพ้น.
แล้วกล่าวว่า พวกท่านมาจากสำนักของพระยานาคชื่อว่า ธตรฐ. เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ เราเป็นเต่าชื่อว่าจิตตจูฬ เป็นทูตแห่งพระเจ้าพาราณสีมายังสำนักของพระยานาคชื่อว่า ธตรฐ.
พระราชาของเรา ประสงค์จะให้ธิดาแก่พระยานาคชื่อว่า ธตรฐ จึงส่งเรามา. ขอท่านจงแสดงเราแก่ พระยานาคนั้นเถิด.
นาคมาณพเหล่านั้นเชื่อแล้วเกิดโสมนัส พาเต่านั้นไปยังสำนักพระราชากราบทูลความนั้นแล้ว. พระราชารับสั่งให้เรียกเต่านั้นมาด้วยคำว่า จงนำมันมาเถิด
พอเห็นเต่านั้น จึงพอพระทัยตรัสว่า ผู้มีร่างลามกเห็นปานนี้ ไม่สามารถจะทำทูตกรรม. เต่าได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็ชื่อว่าผู้เป็นทูต จะพึงมีร่างกายประมาณเท่าลำตาลหรือ ความจริงร่างกายเล็กหรือน้อย ไม่เป็นประมาณ.
การทำกรรมในที่ที่ไปแล้วๆ ให้สำเร็จนั่นแล เป็นประมาณ. ดังนั้น ข้าแต่มหาราชเจ้า ทูตเป็นอันมากของพระราชาของเราเป็นมนุษย์
ย่อมทำกรรมบนบก นกย่อมทำกรรมบนอากาศ. ข้าพระองค์ชื่อว่า จิตตจูฬ ถึงฐานันดรเป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ย่อมทำกรรมในน้ำ.
ขอพระองค์อย่าข่มขู่ ดูหมิ่นข้าพระองค์เลย. ดังนี้แล้วจึงสรรเสริญคุณของตน.
ลำดับนั้น พระยานาคธตรฐจึงถามเต่านั้นว่า ก็ท่านเป็นผู้อันพระราชาส่งมาเพื่อต้องการอะไร?
เต่ากล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระราชาของข้า ตรัสกะข้า อย่างนี้ว่า เราจะทำมิตรธรรมกับพระราชา ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น.
บัดนี้ เราควรจะทำมิตรธรรมกับพระยานาคธตรฐ เราจะให้นางสาวสมุททชาผู้เป็นธิดาของเราแก่พระยานาคธตรฐ.
จึงส่งข้า มาด้วยพระดำรัสว่า ขอท่านอย่ากระทำการเนิ่นช้า จงส่งบุรุษทั้งหลายไปกับข้า และกำหนดวันรับนางทาริกาเถิด.
พระยานาคนั้นยินดีให้กระทำสักการะแล้ว ส่งนาคมาณพ ๔ นายไปกับเต่านั้นด้วยคำว่า พวกท่านไปเถิด จงฟังคำของพระราชา
กำหนดวันแล้วจงมา. นาคมาณพเหล่านั้น รับคำแล้วจึงพาเต่าออกจากภพนาค. เต่าเห็นสระปทุมสระหนึ่งในระหว่างแม่น้ำยมุนา กับกรุงพาราณสี.
มีความประสงค์จะหนีไป ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนนาคมาณพทั้งหลาย ผู้เจริญ พระราชาของเรา และบุตรภรรยาของพระราชา
เห็นเราเที่ยวไปในน้ำ ไปสู่พระราชนิเวศน์. อ้อนวอนว่า ท่านจงให้ดอกปทุมแก่เราทั้งหลาย จงให้รากเหง้าบัว เราจักถือเอารากเหง้าบัวเหล่านั้นเพื่อประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น.
พวกท่านจงปล่อยข้า ในที่นี้ แม้เมื่อพวกท่านไม่เห็นข้า จงล่วงหน้าไปยังสำนักของพระราชา เราจักเห็นพวกท่านในที่นั้นนั่นแล.
นาคมาณพเหล่านั้นเชื่อถ้อยคำของเต่านั้น จึงได้ปล่อยเต่านั้นไป. เต่าได้แอบอยู่ในที่ส่วนข้างหนึ่งในที่นั้น.
ฝ่ายนาคมาณพไม่เห็นเต่า จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาด้วยเพศแห่งมาณพตามสัญญาว่า เราจักไปสำนักพระราชา.
จบกัจฉปกัณฑ์
พระราชาทรงกระทำปฏิสันถารแล้วตรัสถามว่า พวกท่านมาแต่ที่ไหน?
นาคมาณพทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์มาจากสำนักของพระยานาคธตรฐ. พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงมาในที่นี้.
นาคมาณพทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นทูตของพระยานาคธตรฐนั้น. พระยานาคธตรฐถามถึง ความไม่มีโรคของพระองค์
และพระองค์ปรารถนาสิ่งใด ท่านจะให้สิ่งนั้นแก่พระองค์. ข่าวว่า พระองค์จะประทานนางสมุททชา ผู้เป็นพระธิดาของพระองค์ให้เป็นบาทปริจาริกาของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ดังนี้แล้ว
เมื่อจะประกาศความนั้น จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า
รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรฐ รัตนะทั้งหมดนั้นจงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์.
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดประทาน พระราชธิดาแก่พระราชาของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพานิ เต อุปยนฺตุ ความว่า ขอรัตนะทั้งหมดของท้าวธตรฐนั้นจงนำเข้ามา คือจงเข้ามาสู่พระนิเวศน์ของพระองค์
พระราชา ครั้นได้สดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับนาคทั้งหลาย ในกาลไหนๆ เลย พวกเราจะทำวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไรเล่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสํยุตฺตํ ความว่า ไม่สมควร คือไม่เหมาะสมกับสัตว์ดิรัจฉาน.
พวกเราเป็นชาติมนุษย์จะกระทำ ความสัมพันธ์กับสัตว์ดิรัจฉานอย่างไรได้.
พวกนาคมาณพ ได้ฟังคำดังนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ถ้าความสัมพันธ์กับพระยานาคธตรฐ ไม่เหมาะสมกับท่าน. เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงส่งเต่าชื่อว่า จิตตจูฬ ผู้อุปฐากของตนไปเป็นทูตแก่พระราชาของพวกเราว่า เราจะให้ธิดาของเราชื่อว่า สมุททชา เล่า.
ครั้นส่งสาสน์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อท่านกระทำการดูหมิ่นพระราชาของพวกเรา พวกเราแลชื่อว่าเป็นนาคมาณพ จักรู้กรรมที่ควรกระทำแก่ท่าน.
เมื่อจะขู่พระราชาจึงกล่าว ๒ พระคาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ พระองค์จำต้องทรงสละพระชนม์ชีพ หรือแว่นแคว้นเสียเป็นแน่
เพราะเมื่อพวกนาคโกรธแล้ว คนทั้งหลาย เช่นพระองค์จะมีชีวิตอยู่นานไม่ได้. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์เป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์
มาดูหมิ่นพวกพระยานาค ธตรฐ ผู้มีฤทธิ์ ผู้เป็นบุตรของท้าววรุณนาคราช เกิดภายใต้แม่น้ำยมุนา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รฏฺฐํวา ความว่า ชีวิต หรือรัฐท่านจักสละโดยส่วนเดียว.
บทว่า ตาทิสา ความว่า พระราชาทั้งหลายผู้เช่นท่าน ถูกนาคผู้มีอานุภาพมากโกรธแล้วอย่างนี้ ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้นาน ย่อมอันตรธานไปในระหว่างเทียว.
บทว่า โย ตฺวํ เทว ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ ท่านใดแม้เป็นมนุษย์.
บทว่า วรุณสฺส ได้แก่ พระยานาคชื่อว่า วรุณ.
บทว่า นิยํ ปุตฺตํ ได้แก่บุตรผู้อยู่ในภายใน (ตน). บทว่า ยามุนํ ได้แก่ เกิดในภายใต้แม่น้ำยมุนา.
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัส ๒ คาถาว่า
เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรฐผู้เรืองยศ ก็ท้าวธตรฐ ผู้เป็นใหญ่กว่านาคแม้ทั้งหมด. ถึงจะเป็นพระยานาคผู้มีอานุภาพมาก ก็ไม่สมควรกะธิดาของเรา.
เราเป็นกษัตริย์ของชนชาววิเทหรัฐ และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็นอภิชาต.
บรรดาบทเหล่านั้นด้วยบทว่า พหูนมฺปิ นี้ ท่านกล่าวหมายเอา ความเป็นใหญ่ แห่งภพนาคประมาณ ๕๐๐ โยชน์.
บทว่า น เม ธีตรมารโห ความว่า ก็ท่านแม้เป็นผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ ก็ไม่สมควรกะธิดาของเรา เพราะท่านเป็นอหิชาติ (ชาติงู).
พระองค์เมื่อแสดงถึงผู้เป็นญาติอันเป็นฝ่ายมารดา จึงตรัสคำนี้ว่า ขตฺติโย จ วิเทหานํ ดังนี้.
ด้วยบทว่า สมุทฺทชา นี้ ท่านกล่าวว่า คนทั้งสอง คือกษัตริย์ผู้เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิเทหะ และพระธิดาของเรานามว่า สมุททชา เป็นอภิชาตสมควรจะสังวาสกันและกัน เพราะนางย่อมไม่คู่ควรแก่งู ผู้มีกบเป็นภักษา.
พวกนาคมาณพได้ฟังดังนั้นแล้ว แม้ประสงค์จะฆ่าพระองค์ด้วยลมในนาสิก ในที่นั้นนั่นเอง. จึงคิดว่า แม้เมื่อพวกเราถูกพระราชาส่งไปเพื่อกำหนดวัน.
การที่เราจะฆ่าพระราชานี้แล้วไปไม่สมควรเลย. พวกเราจักไปกราบทูลพระราชาแล้วจักทราบ. ดังนี้แล้ว พวกเขาจึงลุกจากที่นั้น ออกจากราชนิเวศน์ดำลงแผ่นดินไปในที่นั้น.
ถูกพระยานาคถามว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านได้ราชธิดาแล้วหรือ? ดังนี้แล้วโกรธต่อพระราชา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ
พระองค์ส่งพวกข้าพระองค์ ไปในที่ใดที่หนึ่ง เพราะเหตุอันไม่สมควรอะไรเลย. ถ้าพระองค์ปรารถนาจะฆ่า พระองค์จงฆ่าพวกข้าพระองค์เสียในที่นี้แหละ.
พระราชานั้นด่าบริภาษพระองค์ ยกธิดาของตนขึ้นด้วยความเมาในชาติ. ดังนี้แล้วกราบทูลถึง ความที่พระองค์กล่าวและมิได้กล่าว
ทำความโกรธให้เกิดขึ้นแก่พระราชา. พระองค์เมื่อจะทรงสั่งบังคับให้ประชุมบริษัทจึงตรัสว่า
พวกนาคเหล่ากัมพลอัสสดรจงเตรียมตัว จงไปบอกให้พวกนาคทั้งปวงรู้กัน จงพากันไปกรุงพาราณสี แต่อย่าได้เบียดเบียนใครๆ เลย.
บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กมฺพลสฺสตรา พระองค์เมื่อสั่งบังคับว่า นาคชื่อว่ากัมพลอัสสดร ผู้เป็นฝักฝ่ายมารดาของเรานั้น.
นาคผู้อยู่ที่เชิงเขาสิเนรุ และนาคเหล่านั้นจงลุกขึ้นเถิด และนาคเหล่าอื่น ผู้กระทำตามคำของเราในทิศใหญ่ ๔ ในทิศน้อย ๔ มีประมาณเท่าใด. จงไปบอกนาคทั้งหมดนั้นให้ทราบ ข่าวว่าพวกท่านจงรีบประชุมกันจึงได้ตรัสอย่างนั้น.
ลำดับนั้น เมื่อพวกนาคทั้งหมดนั่นแลรีบประชุมกันทูลว่า พวกข้าพระองค์จะทำอย่างไร พระเจ้าข้า.
พระองค์จึงตรัสว่า นาคของเราทั้งหมดจงรีบไปกรุงพาราณสี. และเมื่อพวกนาคเหล่านั้นกล่าวว่า พวกข้าพระองค์ไปในที่นั้นจะพึงทำอย่างไร พระเจ้าข้า.
อย่างไรพวกข้าพระองค์จะทำให้เป็นขี้เถ้า โดยการประหารด้วยพ่นลมทางนาสิก. พระยานาคไม่ปรารถนาความพินาศแก่นาง เพราะมีจิตปฏิพัทธ์ในราชธิดา.
จึงตรัสว่า พวกนาคอย่าพึงเบียดเบียนใครๆ. อธิบายว่า บรรดาพวกท่านบางพวก อย่าพึงเบียดเบียนใครๆ. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
ลำดับนั้น พวกนาคจึงกล่าวกะพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าไม่เบียดเบียนมนุษย์บางคน พวกเราไปในที่นั้น แล้วจะกระทำอะไร?
ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะพวกนาคนั้นว่า พวกท่านจงทำสิ่งนี้และสิ่งนี้ แม้เราก็จะทำสิ่งชื่อนี้ ดังนี้แล้ว เมื่อจะตรัสบอกจึงตรัสสองคาถาว่า
นาคทั้งหลาย จงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่บ้านเรือนในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง ๔ แพร่ง บนยอดไม้ และบนเสาระเนียด.
แม้เราก็จะนิรมิตตัวใหญ่ขาวล้วน วงล้อมเมืองใหญ่ด้วยขนดหาง ยังความกลัวให้เกิดแก่ชนชาวกาสี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสพฺเภสุ แปลว่า ในสระโบกขรณี.
บทว่า รถิยา แปลว่า ที่ถนน.
บทว่า ลมฺพนฺตุ แปลว่า ห้อยลงอยู่.
บทว่า วิตตา ความว่า นาคทั้งหลายจงแผ่พังพาน มีร่างกายใหญ่ ห้อยลงอยู่ ที่บ้านเรือนเป็นต้นเหล่านั้น และที่ประตูและทาง ๔ แพร่ง
ประมาณเท่านี้ ก็แลเมื่อทำ อันดับแรก จงนิรมิตร่างกายให้ใหญ่ และแผ่พังพานให้ใหญ่ ภายในห้องและภายนอกห้องเป็นต้น
ภายใต้และบนเตียงและตั่ง ที่บ้านเรือนที่ข้างทางเดินเป็นต้น บนหลังน้ำในสระโบกขรณี บนบกและที่เรือน บังหวนควัน
เหมือนสูบของช่างโลหะกระทำเสียงว่า สุ สุ. ห้อยลงและนอนลง และอย่าแสดงตนแก่คน ๔ คน คือ เด็กหนุ่ม คนแก่ชรา หญิงมีครรภ์ และนางสมุททชา.
แม้เราก็จะไปด้วยร่างกายอันใหญ่ขาวล้วน วงล้อมเมืองกาสีไว้โดยรอบ ๗ ชั้น ปิดด้วยพังพานใหญ่ กระทำให้มืดมนเป็นอันเดียวกัน.
ให้เกิดความกลัวแก่ชนชาวกาสี เปล่งเสียงว่า สุ สุ ดังนี้. นาคทั้งหลายได้กระทำอย่างนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรฐแล้ว แปลงเพศเป็นหลายอย่าง พากันเข้าไปยังกรุงพาราณสี.
แต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย แผ่พังพานห้อยอยู่ที่บ้านเรือน ในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง ๔ แพร่ง บนยอดไม้.
พวกสตรีเป็นอันมาก ได้เห็นนาคเหล่านั้น แผ่พังพานห้อยอยู่ ตามที่ต่างๆ หายใจฟู่ๆ ก็พากันร้องคร่ำครวญ.
ชาวเมืองพาราณสีมีความสะดุ้งกลัว เดือดร้อนก็พากันไปประชุมกอดอกร้องทุกข์ว่า ขอพระองค์ จงพระราชทานพระราชธิดา แก่พระยานาคเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกวณฺณิโน ความว่า ก็นาคเหล่านั้นแปลงเพศเป็นหลายอย่าง ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้น นิรมิตรูปเห็นปานนั้น.
บทว่า ปวชฺชึสุ ความว่า นาคเหล่านั้น เข้าไปในเวลาเที่ยงคืน.
บทว่า ลมฺพึสุ ความว่า โดยทำนองที่ท้าวธตรฐ กล่าวแล้วนั่นแล นาคทั้งหมดห้อยลงอยู่
ตัดการสัญจรของพวกมนุษย์ในที่นั้นๆ ก็นาคมาณพทั้ง ๔ ตนเป็นทูต มาวงล้อมเท้าทั้ง ๔ แห่งที่บรรทมของพระราชา แผ่พังพานใหญ่บนพระเศียร
ได้แยกเขี้ยวยืนดูอยู่ เหมือนจะฉกกัดศีรษะด้วยปาก. ฝ่ายท้าวธตรฐ รับสั่งให้ปิดพระนคร โดยทำนองที่ตนกล่าวแล้วนั่นแล.
บุรุษทั้งหลายเมื่อตื่นขึ้น เหยียดมือหรือเท้าไปทางที่ใดๆ ก็ ถูกต้องงูในที่นั้นๆ แล้วร้องว่า งูๆ ดังนี้.
บทว่า ปุถู กนฺทึสุ ความว่า ประทีปจุดขึ้นในเรือนใดๆ หญิงทั้งหลายในเรือนนั้นๆ ตื่นขึ้นแล้ว แลดูประตู เสา ไม้จันทัน เห็นพวกนาคห้อยลงอยู่
ร้องคร่ำครวญกันเป็นอันมากโดยพร้อมๆ กันทีเดียว. พระนครทั้งสิ้นได้เกิดโกลาหล เป็นอันเดียวกันด้วยประการฉะนี้.
บทว่า โสณฺฑิกเต แปลว่า แผ่พังพาน.
บทว่า ปกฺกนฺทุํ ความว่า ครั้นราตรีสว่าง เมื่อนครทั้งสิ้นและพระราชนิเวศน์ ถูกปกคลุมด้วยลมหายใจเข้าออกของพวกนาค.
มนุษย์ทั้งหลายพากันกลัว จึงกล่าวกะนาคราชทั้งหลายว่า พวกท่านเบียดเบียนพวกเราเพื่ออะไร? ดังนี้แล้วจึงส่งทูตไปถึงท้าวธตรฐว่า พระราชาของพวกท่านทรงพระดำริว่า จะให้ธิดาของเราแก่ท่าน.
เมื่อทูตของท้าวเธอมากล่าวอีกว่า จงให้ แล้วด่าบริภาษพระราชาของพวกเรา. เมื่อทูตกล่าวว่า ถ้าไม่ให้ธิดาแก่พระราชาของพวกเรา ชีวิตของชาวพระนครทั้งสิ้นจะไม่มี.
จึงอ้อนวอนว่า เพราะเหตุนั้นแล ท่านจงให้โอกาสแก่นายของเรา พวกเราจักไปอ้อนวอนพระราชา ได้โอกาสแล้วไปยังประตูพระนคร
พากันร้องคร่ำครวญด้วยเสียงดัง. ฝ่ายมเหสีของพระองค์ บรรทมอยู่ในห้องของตนๆ ร้องคร่ำครวญในทันทีทันใดว่า พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงให้ธิดาแก่พระเจ้าธตรฐเถิด.
ฝ่ายนาคมาณพทั้ง ๔ นั้น ได้ยืนอยู่เหมือนจะเอาปากฉกกัดศีรษะว่า จงให้ จงให้ พระองค์ทรงบรรทมอยู่.
ได้สดับเสียงชาวพระนคร และมเหสีของพระองค์ร้องคร่ำครวญอยู่ และพระองค์ถูกนาคมาณพทั้ง ๔ คุกคาม ทรงสะดุ้งพระทัยแต่มรณภัย.
จึงได้ตรัสขึ้น ๓ ครั้งว่า เราจะให้พระนางสมุททชาผู้เป็นธิดาของเราแก่ท้าวธตรฐ. นาคราชทั้งหมด ครั้นได้ฟังพระดำรัสดังนั้นแล้ว.
ก็กลับไปยังที่ประมาณหนึ่งคาวุต สร้างนครขึ้นแห่งหนึ่ง เหมือนเทวนคร. ได้อยู่ในที่นั้นจึงส่งบรรณาการไปว่า ข่าวว่า ขอพระองค์จงส่งพระธิดา
พระราชายึดเอาเครื่องบรรณาการที่พวกนาคนำมา จึงส่งพวกนาคเหล่านั้นไปว่า พวกท่าน ไปเถิด เราจักส่งธิดาไปใน ความคุ้มครองของพวกอำมาตย์ของเรา.
แล้วรับสั่งให้เรียกธิดามาให้ขึ้นสู่ปราสาทชั้นบน ให้เปิดสีหบัญชรแล้วให้สัญญาว่า ดูก่อนแม่ เจ้าจงดูนครอันตบแต่งแล้วนี้ เจ้าเป็นอัครมเหสีของพระราชานี้ในที่นี้.
นครนั้นไม่ไกลแต่ที่นี้ เมื่อเวลาเจ้าเกิดความเบื่อหน่ายนครนั้นขึ้นมา เจ้าสามารถจะมาในที่นี้ได้ เจ้าพึงมาในที่นี้ แล้วให้สนานศีรษะ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
ให้นั่งในวอที่ปกปิดแล้ว ได้ประทานส่งไปในความคุ้มครองของอำมาตย์ของพระองค์.
พระยานาคทั้งหลายกระทำการต้อนรับพระธิดาแล้ว ได้กระทำมหาสักการะ อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปสู่พระนคร ถวายพระธิดานั้นแก่ท้าวเธอ ได้ถือเอาทรัพย์เป็นอันมากแล้วกลับมา.
พระราชาให้พระธิดาขึ้นสู่ปราสาท ให้นอนบนที่นอนอันเป็นทิพย์ที่ประดับไว้. ในขณะนั้นนั่นเอง พวกนาคมาณพ แปลงเพศเป็นคนค่อมและคนเตี้ยเป็นต้น
แวดล้อมพระธิดาเหมือนพวกบริจาริกาของมนุษย์. พระธิดาพอนอนบนที่นอนอันเป็นทิพย์ ถูกต้องสัมผัสอันเป็นทิพย์เท่านั้น ก็ก้าวลงสู่ความหลับ.
ท้าวธตรฐพาพระธิดา พร้อมบริษัทนาคหายไปในที่นั้นได้ปรากฏในภพนาค. พระราชธิดาทรงตื่นขึ้น ทรงทอดพระเนตรที่บรรทม อันเป็นทิพย์ที่ตบแต่งไว้
และที่อื่นเช่นปราสาท อันสำเร็จด้วยทองคำและสำเร็จด้วยแก้วมณี. พระอุทยานและสระโบกขรณีและภพนาค เหมือนเทพนครที่ตบแต่งไว้.
จึงตรัสถามหญิงบำเรอมีหญิงค่อมเป็นต้นว่า นครนี้ช่างตบแต่งเหลือเกิน ไม่เหมือนนครของเรา นครนั่นเป็นของใคร.
หญิงบำเรอทูลว่า ข้าแต่พระเทวี นั่นเป็นของพระสวามีของพระนาง พระเจ้าข้า. ผู้ที่มีบุญน้อย ย่อมไม่ได้สมบัติ
เห็นปานนี้. ท่านได้สมบัตินี้ เพราะท่านมีบุญมาก. ฝ่ายท้าวธตรฐรับสั่งให้ ตีกลองร้องประกาศไปในภพนาคประมาณ ๕๐๐ โยชน์ว่า
ผู้ใดๆ แสดงเพศงู แด่พระนางสมุททชา. ผู้นั้นๆ จักต้องราชทัณฑ์. เพราะเหตุนั้น ขึ้นชื่อว่าผู้สามารถเพื่อจะแสดงเพศงูแก่พระนาง แม้คนเดียวไม่ได้มีเลย.
เพราะความสำคัญว่าเป็นโลกมนุษย์ พระนางจึงชื่นชมยินดีกับท้าวธตรฐนั้น ในที่นั้นนั่นเอง อยู่สังวาสด้วยความรักด้วยอาการอย่างนี้.
จบนครกัณฑ์
ครั้นต่อมา พระนางทรงอาศัยท้าวธตรัฐ จึงทรงครรภ์ประสูติพระโอรส. พวกพระญาติได้ตั้งชื่อว่าสุทัสสนะ เพราะเห็นแล้วให้เกิดความรัก.
ในเวลาพระโอรสทรงดำเนินเดินได้ พระนางประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่ง. พวกพระญาติได้ตั้งชื่อว่าทัตตะ ก็พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์.
พระนางประสูติโอรสอีกองค์หนึ่ง พวกพระญาติตั้งชื่อท่านว่าสุโภคะ. พระนางประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง พวกพระญาติได้ตั้งชื่อท่านว่าอริฏฐะ.
ดังนั้น พระนางแม้ประสูติพระโอรส ๔ พระองค์แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นภพของนาค. ภายหลังวันหนึ่งพวกนาคหนุ่มๆ บอกแก่พระโอรสชื่อว่า อริฏฐะว่า
มารดาของพระองค์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนางนาค. พระโอรสนามว่า อริฏฐะ คิดว่า เราจะทดสอบพระมารดานั้น.
ครั้นวันหนึ่งเมื่อเสวยนมจึงนิรมิตสรีระเป็นงู เอาปลายหาง เสียดสีหลังเท้าพระมารดา. พระนางเห็นร่างงูของพระโอรสนามว่า อริฏฐะ
จึงตกพระทัยสะดุ้งกลัวแล้วกรีดร้อง ทิ้งพระโอรสไปที่ภาคพื้น นัยน์ตาของพระโอรสนั้นแตกไปเพราะเล็บ แต่นั้นโลหิตก็ไหล.
พระราชาทรงสดับเสียงของพระนาง จึงตรัสถามว่า นั่นเสียงกรีดร้องของใคร ทรงสดับกิริยาที่พระโอรสนามว่า อริฏฐะกระทำ.
จึงเสด็จพลางคุกคามว่า ไปเถิดพวกท่าน จงพาอริฏฐะนั้นไปทำให้ถึงความสิ้นชีวิต. พระราชธิดาทรงทราบว่า พระราชาทรงกริ้ว.
จึงตรัสด้วยความสิเนหาในบุตรว่า พระเจ้าข้า นัยน์ตาบุตรของหม่อมฉันแตกไปแล้ว.
ขอพระองค์จงงดโทษให้แก่บุตรของหม่อมฉันเถิด. พระราชา เมื่อพระนางตรัสอย่างนั้น จึงตรัสว่า เราไม่อาจทำอะไรได้ จึงงดโทษให้.
ก็ในวันนั้นพระนางได้ทราบว่า นี้เป็นภพนาค จำเดิมแต่นั้นมา พระโอรสนามว่า อริฏฐะ ได้ชื่อว่า อริฏฐะบอด.
ฝ่ายพระโอรสทั้ง ๔ องค์ถึงความรู้เดียงสาแล้ว. ลำดับนั้น พระบิดาของพระโอรสเหล่านั้น ได้ทรงประทานรัชสมบัติแห่งละ ๑๐๐ โยชน์
ยศใหญ่ได้มีแล้ว. นางสาวนาคพากันแวดล้อมแห่งละ ๑๖,๐๐๐. พระบิดาได้มีรัชสมบัติ ๑๐๑ โยชน์เท่านั้น พระโอรสทั้ง ๓ มาเพื่อเฝ้าพระมารดาบิดาทุกๆ เดือน.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์มาทุกกึ่งเดือน พระโพธิสัตว์นั่นเอง ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภพนาค พร้อมกับพระบิดาจึงไปสู่ที่อุปัฏฐากแม้ของท้าววิรูปักขมหาราช.
พระองค์ได้กล่าวแม้ปัญหาที่ตั้งขึ้นในสำนักของภพนาคนั้น. ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อท้าวมหาราชวิรูปักข์ พร้อมด้วยนาคบริวารไปยังไตรทศบุรี.
นั่งแวดล้อมท้าวสักกะ ได้ถกปัญหาขึ้นในระหว่างหมู่เทพทั้งหลาย. ใครๆ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาแม้นั้นได้. พระโพธิสัตว์เป็นผู้นั่งอยู่บนบัลลังก์ อันประเสริฐเท่านั้นจึงแก้ได้.
ลำดับนั้น พระเทวราชาทรงบูชาพระโพธิสัตว์นั้น ด้วยของหอมและดอกไม้อันเป็นทิพย์แล้ว ตรัสว่า พ่อทัตตะ ท่านประกอบด้วยปัญญาอันไพบูลย์เสมอด้วยแผ่นดิน. ตั้งแต่นี้ไปท่านจงชื่อว่า ภูริทัต เพราะเหตุนั้นจึงได้ตั้งชื่อท่านว่า ภูริทัต.
ตั้งแต่นั้นมาท่านได้ไปสู่ที่อุปัฏฐากของท้าวสักกะ เห็นเวชยันตปราสาทอันประดับประดาไว้ และสมบัติของท้าวสักกะ อันน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก เกลื่อนกล่นไปด้วยนางเทพอัปสร.
ทำความปรารถนาในเทวโลกแล้วคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยอัตภาพนี้ ซึ่งมีกบเป็นภักษา แล้วไปสู่ภพนาคอยู่จำอุโบสถ จักกระทำเหตุเกิดในเทวโลกนี้.
ดังนี้แล้ว จึงกลับมาภพนาค ทูลลาพระมารดาและพระบิดาว่า พระแม่ พ่อ หม่อมฉันจะกระทำอุโบสถกรรม.
พระมารดาพระบิดาตรัสว่า ดีละพ่อ จงทำเถิด ก็เมื่อเจ้าจะทำ เจ้าอย่าไปภายนอก จงกระทำในวิมานอันว่างแห่งหนึ่งในภพนาคนี้แล.
ก็เมื่อพวกนาคไปข้างนอก ภัยใหญ่ย่อมเกิดขึ้น. พระโพธิสัตว์ทูลรับว่า ดีละ แล้วอยู่จำอุโบสถในพระราชอุทยาน ในวิมานอันว่างนั้นนั่นเอง.
ลำดับนั้น นางนาคต่างถือดนตรีต่างๆ แวดล้อมพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเราอยู่ในที่นี้ อุโบสถจักไม่ถึงที่สุด.
เราจะไปถิ่นมนุษย์ กระทำอุโบสถ ไม่ได้บอกแก่มารดาและบิดา เพราะกลัวจะถูกห้าม จึงเรียกภรรยาทั้งหลายของตนมากล่าวว่า
นางผู้เจริญ ฉันจะไปโลกมนุษย์ ขดขนด (เข้าสมาธิ) บนจอมปลวก ไม่ไกลแต่ที่ที่ต้นไทรใหญ่มีอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำยมุนา.
จักอธิษฐานอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๔ นอนกระทำอุโบสถกรรม. เมื่อเรานอนทำอุโบสถกรรมตลอดคืนยังรุ่ง.
ในเวลาอรุณขึ้นนั่นแล พวกเจ้าผู้เป็นสตรี ถือดนตรีครั้งละ ๑๐ นาง จงผลัดเปลี่ยนกันไปยังสำนักของเรา บูชาเราด้วยของหอมและดอกไม้
ขับฟ้อนแล้วกลับมายังภพนาคตามเดิม. ดังนี้แล้วไปในที่นั้น วงขนดบนจอมปลวก แล้วอธิษฐานอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๔ ว่า
ผู้ใดปรารถนา หนัง เอ็น กระดูก หรือเลือด ผู้นั้นจงนำไปเถิด. แล้วนิรมิตร่างประมาณเท่างอนไถ นอนกระทำอุโบสถกรรม.
พออรุณขึ้น นางมาณวิกามาปฏิบัติพระโพธิสัตว์ตามคำพร่ำสอน แล้วกลับมาสู่ภพนาค. เมื่อพระโพธิสัตว์กระทำอุโบสถกรรมตามทำนองนี้ ระยะกาลผ่านไปยาวนาน.
จบอุโบสถกัณฑ์
ในกาลนั้น ยังมีพราหมณ์เนสาทคนหนึ่ง อาศัยอยู่ใกล้ประตูกรุงพาราณสี พร้อมกับโสมทัตลูกชาย.
ไปสู่ป่าเที่ยวดักสัตว์ ด้วยหลาวยนต์และบ่วงแร้ว ฆ่ามฤคได้แล้วหาบเนื้อมาขายเลี้ยงชีพ. วันหนึ่ง พราหมณ์นั้นไม่ได้อะไร โดยที่สุดแม้เพียงเหี้ยสักตัวหนึ่ง.
จึงกล่าวว่า ดูก่อนพ่อโสมทัต ถ้าเราไปมือเปล่าๆ มารดาของเจ้าก็จะโกรธเอา เราจักพาสัตว์สักตัวหนึ่งไปให้ได้.
ดังนี้แล้วจึงบ่ายหน้าตรงไปทาง จอมปลวกที่พระโพธิสัตว์นอนอยู่. เห็นรอยเท้าเนื้อทั้งหลาย ซึ่งลงไปดื่มน้ำที่แม่น้ำยมุนา
จึงกล่าวว่า ลูกพ่อ ทางเนื้อปรากฏอยู่ เจ้าจงถอยออกไป เราจะยิงเนื้อซึ่งมาดื่มน้ำ. ดังนี้แล้วจึงหยิบเอาธนู ยืนแอบโคนต้นไม้ต้นหนึ่ง คอยดูเนื้ออยู่.
ครั้นเวลาเย็น เนื้อตัวหนึ่งมาเพื่อดื่มน้ำ. พราหมณ์นั้นยิงเนื้อนั้น. เนื้อหาล้มลงในที่นั้นไม่ ตกใจด้วยกำลังศรมีเลือดไหลวิ่งหนีไป.
ส่วนบิดาและบุตรพากันติดตามเนื้อนั้นไป จับเอาเนื้อนั้นในที่ๆ มันล้มลงแล้ว ออกจากป่าถึงต้นไทรนั้น.
ในเวลาพระอาทิตย์ตก จึงปรึกษากันว่า บัดนี้ไม่ใช่เวลาที่สามารถจะไปได้ เราจะพักอยู่ในที่นี้แล. ดังนี้แล้วจึงเอาเนื้อวางไว้ ในที่สมควรข้างหนึ่ง
ก็พากันขึ้นต้นไม้นอนอยู่ที่ระหว่างค่าคบไม้. ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พราหมณ์ตื่นขึ้น เอียงหูคอยฟังเสียงเนื้อร้อง.
ขณะนั้น นางนาคมาณวิกาทั้งหลาย พากันมาตกแต่งอาสนะดอกไม้เพื่อพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์กลายร่างกายจากงู นิรมิตเป็นร่างทิพย์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ ด้วยลีลาดุจท้าวสักกเทวราช.
ฝ่ายนางนาคมาณวิกา ก็บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วบรรเลงทิพย์ดนตรีจับฟ้อนรำขับร้อง.
พราหมณ์ ได้ฟังเสียงนั้นแล้วคิดว่า นั่นเป็นใครหนอ เราจักรู้จักเสียงนั้น. ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า ลูกพ่อผู้เจริญ เมื่อไม่อาจปลุกบุตรให้ตื่นขึ้นได้.
จึงคิดว่า ลูกนี้เห็นจะเหนื่อย จงนอนไปเถิด เราจักไปคนเดียว. คิดแล้วก็ลงจากต้นไม้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์.
เหล่านางนาคมาณวิกา เห็นพราหมณ์นั้นจึงดำลงในแผ่นดิน พร้อมด้วยเครื่องดนตรีกลับไปยังนาคพิภพตามเดิม.
ส่วนพระโพธิสัตว์ได้นั่งอยู่แต่ผู้เดียวเท่านั้น. พราหมณ์ยืนอยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์ เมื่อจะถามจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง อกผายนั่งอยู่ท่ามกลางป่า อันเต็มไปด้วยดอกไม้ สตรี ๑๐ คนเป็นใคร
ทรงเครื่องประดับล้วนแล้วแต่ทองคำ นุ่งผ้างาม ยืนเคารพอยู่. ท่านเป็นใครมีแขนใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางป่า
เหมือนไฟอันลุกโชนด้วยเปรียง. ท่านคงเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่คนใดคนหนึ่ง เป็นยักษ์หรือเป็นนาคผู้มีอานุภาพมาก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุปฺผาภิหารสฺส ความว่า อันประกอบด้วยการนำไปเฉพาะซึ่งดอกไม้ทิพย์ ที่เขานำมาเพื่อบูชาพระโพธิสัตว์.
บทว่า โก แปลว่า ท่านคือใคร. บทว่า โลหิตกฺโข แปลว่า มีนัยน์ตาแดง. บทว่า วิหตนฺตรํโส แปลว่า มีรัศมีผึ่งผาย.
บทว่า กา กมฺพุกายูรธรา แปลว่า ทรงเครื่องอันล้วนแล้วด้วยทองคำ. บทว่า พฺรหาพาหุ แปลว่า มีแขนใหญ่. อธิบายว่า มีแขนใหญ่.
บทว่า วนสฺส มชฺเฌ ความว่า ท่านมีแขนใหญ่ คือใครมีอานุภาพมากในท่ามกลางแห่งป่าใหญ่ คือท่านเป็นใครหนอมีศักดิ์ใหญ่.
ในท่ามกลางแห่งนางนาคผู้ปิดอกผูกโบที่ศีรษะ นุ่งผ้าดีๆ.
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราจักบอกว่า เราเป็นใครคนใดคนหนึ่งที่มีฤทธิ์ ในบรรดาผู้มีฤทธ์มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น.
พราหมณ์คนนี้คงจักเชื่อแน่แท้. แต่วันนี้เราควรจะพูดความจริงอย่างเดียว.
เมื่อจะบอกว่า ตนเป็นพระยานาค จึงกล่าวว่า
.. อรรถกถา ภูริทัตชาดก ว่าด้วย พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=4328&Z=4760
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]