พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในสวนตาลหนุ่ม ทรงปรารภถึงการทรงทรมานท่านอุรุเวลกัสสป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหุ ราชา วิเทหานํ ดังนี้.
ดังจะกล่าวโดยพิศดาร ในกาลที่พระศาสดาทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงทรมานชฏิล ๓ คนพี่น้องมีอุรุเวลกัสสปชฏิลเป็นต้น แวดล้อมไปด้วยปุราณชฏิล ๑,๐๐๐ คน
เสด็จไปยังสวนตาลหนุ่ม เพื่อพระประสงค์จะทรงเปลื้องปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นเจ้าแผ่นดินแห่งมคธรัฐ.
ในกาลนั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธรัฐ พร้อมด้วยบริษัทประมาณ ๑๒ นหุต เสด็จมาถวายบังคมพระทศพล แล้วประทับนั่งอยู่
ขณะนั้น พวกพราหมณ์คหบดีในภายในราชบริษัทเกิดความปริวิตกขึ้นว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณโคดม หรือพระมหาสมณโคดมประพฤติพรหมจรรย์ในท่านพระอุรุเวลกัสสป.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ความปริวิตกแห่งใจของพวกบริษัทเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงทรงพระดำริว่า จักต้องประกาศภาวะที่กัสสปมาบวชในสำนักของเราให้พวกนี้รู้ ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
กัสสป ผู้อยู่ในอุรุเวลประเทศ ท่านเคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฏิล ผู้ผอมเพราะกำลังประพฤติพรต. ท่านเห็นอะไร จึงได้ละไฟที่เคยบูชาเสีย เราถามเนื้อความนั้นกะท่าน อย่างไรท่านจึงละการบูชาเพลิงของท่านเสีย.
ฝ่ายพระเถระก็ทราบพระพุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ใคร่จะแสดงเหตุ จึงกราบทูลว่า
ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และหญิงที่น่าใคร่ทั้งหลาย ข้าพระองค์รู้ว่า ของน่ารักใคร่นั้นๆ เป็นมลทิน ตกอยู่ในอุปกิเลสทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดี ในการเซ่นสรวงและการบูชาเพลิง
ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันระงับแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อันเป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ มิใช่วิสัยที่ผู้อื่นจะนำมาให้ผู้อื่นรู้ได้ ไม่แปรปรวนกลายเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชาไฟ.
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว เพื่อจะประกาศภาวะที่ตนเป็นพุทธสาวก จึงซบศีรษะลงที่หลังพระบาทของพระตถาคต ทูลประกาศว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
ดังนี้แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ สูงชั่วลำตาล ๑. ครั้งที่ ๒ สูงชั่ว ๒ ลำตาล. จนถึงครั้งที่ ๗ สูง ๗ ชั่วลำตาล. แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคต นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้น ก็ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระศาสดาว่า น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้ามีอานุภาพมาก. ธรรมดาผู้มีความเห็นผิดที่มีกำลังถึงอย่างนี้ เมื่อสำคัญตนว่า เป็นพระอรหันต์. แม้ท่านพระอุรุเวลกัสสป พระองค์ก็ทรงทำลายข่าย คือทิฏฐิ ทรมานเสียได้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย การที่เราถึงซึ่งสัพพัญญุตญาณ ทรมานอุรุเวลกัสสปนี้ ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับครั้งก่อน
แม้ในเวลาที่ เรายังมีราคะ โทสะและโมหะ เป็นพรหมชื่อว่านารทะ ทำลายข่ายคือทิฏฐิของเธอ กระทำเธอให้หมดพยศ ดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพ.
อันบริษัทนั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติ ในกรุงมิถิลามหานคร ณ วิเทหรัฐ
พระองค์ทรงตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา พระองค์มีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระนางรุจาราชกุมารี มีพระรูปโฉมสวยงาม ชวนดู ชวนชม มีบุญมาก.
ได้ทรงตั้งปณิธาน ความปรารถนาไว้สิ้นแสนกัป จึงได้มาเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี. ส่วนพระเทวีนอกนั้นของพระองค์ ๑๖,๐๐๐ คน ได้เป็นหญิงหมัน. พระนางรุจาราชกุมารีนั้น จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ยิ่งนัก.
พระองค์ได้ทรงจัดผ้าเนื้อละเอียดอย่างยิ่ง หาค่ามิได้พร้อมกับผอบดอกไม้ ๒๕ ผอบ อันเต็มไปด้วยบุปผาชาตินานาชนิด ส่งไปพระราชทานพระราชธิดาทุกๆ วัน ด้วยทรงพระประสงค์จะให้ พระราชธิดาทรงประดับพระองค์ด้วยของเหล่านี้
และของเสวยที่จัดส่งไปประทานนั้น เป็นขาทนียะและโภชนียะ อันหาประมาณมิได้ ทุกกึ่งเดือนได้ทรงส่งพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ ไปพระราชทานพระราชธิดา โดยตรัสสั่งว่า ส่วนนี้ลูกจงให้ทานเถิด.
และพระองค์มีอำมาตย์อยู่ ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตอำมาตย์ ๑.
ครั้นถึงคืนกลางเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบานเทศกาลมหรสพ มหาชนพากันตบแต่งพระนคร และภายในพระราชฐานไว้อย่างตระการ
ปานประหนึ่งว่าเทพนคร จึงพระเจ้าอังคติราชเข้าโสรจสรง ทรงลูบไล้พระองค์ ประหนึ่งเครื่องราชอลังการ เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จประทับนั่งเหนือราชอาสน์
บนพื้นปราสาทใหญ่ ริมสีหบัญชรไชยมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ทอดพระเนตรดูจันทมณฑลอันทรงกรดหมดราคีลอยเด่นอยู่ ณ พื้นคัคนานต์อากาศ. จึงมีพระราชดำรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ราตรีอันบริสุทธิ์เช่นนี้ น่ารื่นรมย์หนอ วันนี้เราพึงเพลิดเพลินกันด้วยเรื่องอะไรดี.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้นได้ตรัสว่า
[๘๓๔] พระเจ้าอังคติ ผู้เป็นพระราชาของชนชาววิเทหรัฐ. พระองค์มีช้างม้าพลโยธามากมายเหลือที่จะนับ ทั้งพระราชทรัพย์ก็เหลือหลาย. ก็คืนหนึ่งในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบาน ตอนปฐมยาม.
พระองค์ทรงประชุมเหล่าอำมาตย์ราชบัณฑิตผู้เป็นพหูสูต เฉลียวฉลาด ผู้ทรงเคยรู้จัก ทั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย
คือ วิชัยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตอำมาตย์ ๑ แล้ว. จึงตรัสถามตามลำดับว่า เธอจงแสดงความเห็นของตนมาว่า ในวันกลางเดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้. พวกเราจะยังฤดูเช่นนี้ให้เป็นไป ด้วยความยินดีอะไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหูตโยโค ความว่า พระองค์ประกอบด้วยพลช้างมากมาย เป็นต้น.
บทว่า อนนฺตพลโปริโส ได้แก่ พระองค์มีพลโยธามากมายเหลือที่นับ. บทว่า อนาคเต ความว่า ยังไม่ถึง คือยังไม่ล่วงถึงที่สุด.
บทว่า จาตุมาสา ได้แก่ ในราตรีอันเป็นวันสุดท้าย แห่งเดือนอันมีในฤดูฝน ๔ เดือน.
บทว่า โกมุทิยา เมื่อดอกโกมุทบาน. บทว่า มิตปุพฺเพ ความว่า มีปกติกระทำยิ้มแย้มก่อน แล้วกล่าวในภายหลัง.
บทว่า ตมนุปุจฺฉิ ความว่า ตรัสถามตามลำดับ กะอำมาตย์แต่ละคน ในบรรดาอำมาตย์เหล่านั้น.
บทว่า ปจฺเจกํ พฺรูถ สํรุจึ ความว่า พวกเธอทั้งหมด จงแสดงเรื่องที่เหมาะสม แก่อัธยาศัยของตนๆ อันน่าชอบใจของตน แต่ละอย่างแก่เรา.
บทว่า โกมุทชฺชา ตัดเป็น โกมุที อชฺช. บทว่า ชุณฺหํ ความว่า ดวงจันทร์อันมีในคืนเดือนหงาย โผล่ขึ้นแล้ว.
บทว่า พฺยปหตํ ตมํ ความว่า แสงจันทร์นั้นกำจัดมืดทั้งปวงเสียได้. บทว่า อุตุํ ความว่า วันนี้ เราจะยังราตรี คือฤดูเห็นปานนี้ ให้เป็นอยู่ด้วยความยินดี อย่างไรหนอ.
ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามพวกอำมาตย์ทั้งหลาย อำมาตย์เหล่านั้นถูกพระองค์ตรัสถามแล้ว จึงกราบทูลถ้อยคำ อันสมควรแก่อัธยาศัยของตนๆ.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๓๕] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีได้กราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงจัดพลช้าง พลม้า พลเสนา จะนำชายฉกรรจ์ออกรบ พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ.
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะนำมาสู่อำนาจ นี่เป็นความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า. เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะ ผู้ที่เรายังไม่ชนะ. (ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ นี้เป็นเพียงความคิดของข้าพระพุทธเจ้า).
[๘๓๖] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา พวกศัตรูของพระองค์มาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว
ต่างพากันวางศาสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด วันนี้เป็นวันมหรสพ สนุกสนานยิ่ง. การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ ชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด. ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ และในการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม เถิดพระเจ้าข้า.
[๘๓๗] วิชยอำมาตย์ ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา กามคุณทุกอย่าง บำเรอพระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว การทรงเพลิดเพลิน ด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย. ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์ด้วยกามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิดของข้าพระบาท.
วันนี้เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหุสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ. ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่า.
[๘๓๘] พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับคำของวิชยอำมาตย์แล้ว ได้ตรัสว่า ตามที่วิชยอำมาตย์พูดว่า วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่านั้น แม้เราก็ชอบใจ ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ทุกท่านจงลงมติว่า วันนี้เราทั้งหลายควรจะเข้าไปหา ใครผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านพึงกำจัด ความสงสัยของพวกเราได้.
[๘๓๙] อลาตเสนาบดีได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า มีอเจลกที่โลกสมมติว่าเป็นนักปราชญ์ อยู่ในมฤคทายวัน. อเจลกผู้นี้ ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตรเป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรเข้าไปหาเธอ เธอจักขจัดความสงสัยของเราทั้งหลายได้.
[๘๔๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว ได้ตรัสสั่งสารถีว่า เราจะไปยังมฤคทายวัน ท่านจงนำยานเทียมม้ามาที่นี่.
บทว่า หฏฺฐํ แปลว่า ยินดีร่าเริง. บทว่า โอชินามเส ความว่า พวกเราจะเอาชัยชนะ ผู้ที่พวกเราไม่ชนะ นี้เป็นอัธยาศัยของเราแล. พระราชาทรงทราบถ้อยคำท่าน ไม่ทรงคัดค้าน ไม่ทรงยินดี.
บทว่า เอตทพฺรวิ ความว่า สุนามอำมาตย์ได้เห็นพระราชาผู้ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน คำของอลาตเสนาบดี คิดว่า นี้ไม่เป็นอัธยาศัยของนักรบ เราจะยึดเอาความคิดของท่าน แล้วจักสรรเสริญความยินดียิ่งในกามคุณ จึงได้กล่าวคำนี้ มีอาทิว่า กามทั้งหมดเป็นของท่าน.
บทว่า วิชโย เอตทพฺรวิ ความว่า พระราชาทรงสดับคำของสุนามอำมาตย์แล้ว ก็ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน
ลำดับนั้น วิชัยอำมาตย์จึงคิดว่า พระราชานี้สดับคำของท่านทั้งสองนี้แล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ทีเดียว ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย เป็นนักฟังธรรม เราจะสรรเสริญการฟังธรรมแก่พระองค์ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สพฺเพ กามา กามทั้งปวงดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวมุปฏฺฐิตา แปลว่า บำรุงบำเรอพระองค์.
บทว่า โมทิตุํ ความว่า เมื่อท่านมีความปรารถนาจะบันเทิง ยินดียิ่ง. พระองค์จะได้กามคุณเหล่านี้ โดยไม่ยากเลย.
บทว่า เนตํ จิตฺตมตํ มม ความว่า ชื่อว่า ความอภิรมย์ด้วยกามคุณของท่านนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงมติของข้าพระองค์ ความคิดของข้าพระองค์มิได้มุ่งไปในข้อนี้.
บทว่า โย นชฺชา ตัดบทเป็น โย โน อชฺช. บทว่า อตฺถธมฺมวิทู ได้แก่ รู้ซึ่งอรรถแห่งบาลี และธรรมแห่งบาลี.
บทว่า อิเส ได้แก่ ฤาษี คือผู้มีคุณอันแสวงหาแล้ว. บทว่า องฺคติมพฺรวิ ตัดบทเป็น องฺคติ อพฺรวิ.
บทว่า มยฺหํ เจตํว รุจฺจติ ความว่า แม้ข้าพเจ้าก็ชอบใจข้อนั้นเหมือนกัน. บทว่า สพฺเพว สนฺตา ความว่า พวกท่านทั้งหมดมีอยู่ในที่นี้ จงกระทำ คือจงคิดซึ่งมติ.
บทว่า อลาโต เอตทพฺรวิ ความว่า อลาตเสนาบดีฟังถ้อยคำของพระราชานั้นแล้ว คิดว่า อาชีวก ผู้ชื่อว่าคุณะ ผู้เข้าสู่ตระกูลของเรานี้ อยู่ในราชอุทยาน. เราจะสรรเสริญอาชีวกนั้น กระทำให้เป็นผู้เข้าถึงราชตระกูล จึงได้กล่าวคำนี้มีอาทิว่า อตฺถายํ ดังนี้.
บทว่า ธีรสมฺมโต แปลว่า สมมติว่าเป็นบัณฑิต. บทว่า กสฺสปโคตฺตาย ความว่า ผู้นี้เป็นกัสสปโคตร. บทว่า สุโต ได้แก่ มีพุทธพจน์อันสดับแล้วมาก.
บทว่า คณี แปลว่า หมู่มาก. บทว่า โจเทสิ แปลว่า ได้สั่งบังคับแล้ว.
พระราชา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๔๑] พวกนายสารถีได้จัดพระราชยาน อันล้วนแล้วไปด้วยงา มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรอง อันขาวผุดผ่อง ดังพระจันทร์ในราตรี ที่ปราศจากมลทินโทษ มาถวายแก่พระราชา. รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว ล้วนมีสีดังสีดอกโกมุท เป็นม้ามีฝีเท้าเร็ว ดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง พระกลด ราชรถม้า และวีชนี ล้วนมีสีขาว.
พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จออกย่อมงดงามดังพระจันทร์. หมู่พลราชบริพาร ผู้กล้าหาญ ขี่บนหลังม้า ถือหอกดาบตามเสด็จ.
พระเจ้าวิเทหราชมหากษัตริย์ พระองค์นั้นเสด็จถึงมฤคทายวัน โดยครู่เดียว เสด็จลงจากราชยานแล้ว ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์.
ก็ในกาลนั้น มีพราหมณ์และคฤหบดีมาประชุมกันอยู่ในพระราชอุทยานนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พระราชามิให้ลุกหนีไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส ยานํ ความว่า พวกนายสารถีได้จัดพระราชยาน ถวายแด่พระราชานั้น. บทว่า ทนฺตํ ได้แก่ อันล้วนแล้วไปด้วยงา.
บทว่า รูปิยปกฺขรํ แปลว่า มีกระพองเป็นเงิน. บทว่า สุกฺกมฏฺฐปริวารํ ความว่า มีรถอันบริสุทธิ์ เกลี้ยงเกลา ไม่หยาบเป็นเครื่องแห่แหน.
บทว่า โทสินา มุข ความว่า เป็นเสมือนพระจันทร์เพ็ญ ประหนึ่งหน้าแห่งราตรี ที่ปราศจากมลทินโทษ.
บทว่า ตตฺราสุํ แปลว่า ได้มีในรถนั้น. บทว่า กุมุทา แปลว่า เป็นเสมือนสีแห่งโกมุท. บทว่า สินฺธวา ได้แก่ ม้าที่มีฝีเท้าเร็วเชื้อชาติม้าสินธพ.
บทว่า อนีลุปฺปสมุปฺปาตา ได้แก่ ม้าที่มีกำลังเสมือนกับกำลังลม. บทว่า เสตจฺฉตฺตํ แม้ฉัตรที่เขายกขึ้นไว้บนรถนั้นก็มีสีขาว.
บทว่า เสตรโถ ความว่า แม้รถนั้นก็มีสีขาวเหมือนกัน. บทว่า เสตสฺสา ความว่า แม้ม้าก็มีสีขาว. บทว่า เสตวีชนี ความว่า แม้พัดวีชนีก็ขาว.
บทว่า นียํ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชแวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จไปด้วยรถเงินนั้น ย่อมงดงามดังจันทเทพบุตร.
บทว่า นรา นรวราธิปํ ความว่า เป็นอธิบดีแห่งนรชนผู้ประเสริฐ เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา.
บทว่า โส มุหุตฺตํว ยายิตฺวา ความว่า พระราชานั้น เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน โดยครู่เดียวเท่านั้น.
บทว่า ปตฺติคุณมุปาคมิ ความว่า ทรงพระราชดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก.
บทว่า เยปิ ตตฺถ ตทา อาสุํ ความว่า ในกาลนั้น พวกพราหมณ์คฤหบดีทั้งหลายไปก่อนไปในอุทยานนั้น เข้าไปนั่งใกล้อาชีวกนั้น.
บทว่า น เต อปนยี ความว่า พระราชาตรัสว่า โทษเป็นของพวกเราเท่านั้น พวกเรามาภายหลัง อย่าวิตกไปเลย. จึงไม่ให้พวกพราหมณ์และคฤหบดี กระทำโอกาส คือลุกขึ้นหลีกไป เพื่อประโยชน์แก่พระราชา.
บทว่า ภูมิมาคเต ความว่า เขาเหล่านั้น ผู้มาสู่พื้นที่ประชุม อันพระราชามิให้ลุกขึ้นแล้วหนีไป.
พระเจ้าอังคติราชนั้น แวดล้อมไปด้วยบริษัทผสมกันนั้น แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทรงกระทำปฏิสันถาร. พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๔๒] ลำดับนั้น พระเจ้าอังคติราชนั้น เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะ อันปูลาดพระยี่ภู่ มีสัมผัสอันอ่อนนุ่ม ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
แล้วได้ทรงปราศรัย ถามทุกข์สุขว่า ผู้เป็นเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ ผู้เป็นเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยมิฝืดเคืองหรือ ได้บิณฑบาตพอเยียวยาชีวิต ให้เป็นไปอยู่หรือ ผู้เป็นเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปจากปรกติหรือ.
[๘๔๓] คุณาชีวก ทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหราช ผู้ทรงยินดีในวินัยว่า ข้าแต่มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าสบายดีทุกประการ.
บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ ช้างม้าของพระองค์หาโรคมิได้หรือ พาหนะยังพอเป็นไปแหละหรือ พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระสรีระของพระองค์แลหรือ.
[๘๔๔] เมื่อคุณาชีวกทูลปราศรัยแล้ว ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุว่า
ท่านกัสสป นรชนพึงประพฤติธรรมในมารดาและบิดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุตรและภรรยาอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในวุฒิบุคคลอย่างไร พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร และพึงประพฤติธรรมในชนบทอย่างไร ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติ ส่วนคนบางพวกผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม. ไฉนจึงตกลงไปในนรก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุทุกา ภิสิยา ความว่า ด้วยพระยี่ภู่ซึ่งมีสัมผัสสบายอ่อนนุ่ม.
บทว่า มุทุจิตฺตกสณฺฐเต ความว่า บนเครื่องลาดอันวิจิตร มีสัมผัสสบาย.
บทว่า มุทุปจฺจตฺถเต ความว่า อันลาดด้วยเครื่องลาดอันอ่อนนุ่ม. บทว่า สมฺโมทิ ความว่า ได้กระทำสัมโมทนียกถากับอาชีวก.
บทว่า ตโต ความว่า ถัดจากการนั่งนั่นแล ได้กล่าวสาราณียกถา.
บทว่า กจฺจิ ยาปนียํ ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอยู่ดีหรือ ท่านสามารถยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยปัจจัยอันประณีตอยู่หรือ.
บทว่า วาตานมวิยตฺตตา ความว่า วาโยธาตุในร่างกายของท่านเป็นไปอย่างสบายอยู่หรือ โรคลมมิได้กำเริบหรือ. อธิบายว่า ลมที่เกิดขึ้นเป็นพวกในร่างกายนั้นๆ ของท่าน ไม่เบียดเบียนท่านหรือ.
บทว่า อกสิรา ได้แก่ หมดทุกข์. บทว่า วุตฺติ ได้แก่ ความเป็นไปแห่งชีวิต. บทว่า อปฺปาพาโธ ความว่า เว้นจากอาพาธ อันหักรานอิริยาบถ.
ด้วยบทว่า จกฺขุ นี้ ท่านถามว่า อินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้นของท่าน ไม่เสื่อมหรือ. บทว่า ปฏิสมฺโมทิ ความว่า ท่านกล่าวตอบด้วยสัมโมทนียกถา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพเมตํ คำที่ท่านกล่าวว่า ลมมิได้กำเริบเสียดแทงเป็นต้นทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้นนั่นแล.
บทว่า ตทูภยํ ความว่า แม้คำที่ท่านกล่าวว่า ท่านมีอาพาธน้อย จักษุไม่เสื่อมหรือ ทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า น พลียเร ได้แก่ ไม่ครอบงำ ไม่กำเริบ ด้วยบทว่า อนนฺตรา นี้ ท่านถามปัญหา ในลำดับแต่ปฏิสันถาร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถํ ธมฺมญฺจ ญายญฺจ ได้แก่ อรรถแห่งบาลี ธรรมแห่งบาลี และอรรถธรรมอันประกอบไปด้วยเหตุ
ก็อำมาตย์นั้นเมื่อถามว่า กถํ ธมฺมญฺจเร จึงถามอรรถธรรมและความประพฤติดีนี้ว่า ขอท่านจงบอก อรรถแห่งบาลี ธรรมแห่งบาลี และอรรถธรรมอันสมควรแก่เหตุ อันแสดงการปฏิบัติในมารดาและบิดา เป็นต้นแก่ข้าพเจ้า.
บทว่า กถญฺเจเก อธมฺมฏฺฐา ความว่า ชนบางพวกตั้งอยู่ในอธรรม อย่างไร คนบางพวกจึงเอาหัวลงตกสู่นรก และเอาเท้าขึ้น ตกไปในอบาย.
ก็ปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ พระราชาควรจะตรัสถาม ผู้มีศักดิ์ใหญ่คนหลังๆ เพราะไม่ได้คำตอบจากคนก่อนๆ.
ในบรรดาพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวก และพระมหาโพธิสัตว์ แต่กลับตรัสถามคุณาชีวก ผู้เปลือยกาย หาสิริมิได้ เป็นคนอันธพาล ไม่รู้ปัญหาอะไรเลย.
คุณาชีวกนั้น ครั้นถูกถามแล้วอย่างนี้ จึงไม่เห็นทางพยากรณ์ อันเหมาะสมแก่ราชปุจฉา ซึ่งเป็นประหนึ่ง เอาท่อนไม้ตีโคที่กำลังเที่ยวไปอยู่
หรือเหมือนคราดหยากเยื่อทิ้งด้วยจวัก ฉะนั้น. แต่ได้ทูลขอโอกาสว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงสดับเถิด. แล้วเริ่มตั้งมิจฉาวาทะของตน.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๔๕] คุณาชีวกกัสสปโคตรได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราช ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ทรงสดับทางที่จริงแท้ของพระองค์ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติ แล้วเป็นบุญเป็นบาปไม่มี.
ขอเดชะ ปรโลกไม่มี ใครเล่าจากปรโลกนั้นมาโลกนี้ ปู่ย่าตายายไม่มี มารดาบิดาจะมีที่ไหน ขึ้นชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกผู้ที่ฝึกไม่ได้ สัตว์เสมอกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียรไม่มี
บุรุษผู้มีความหมั่นจักได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ที่เกิดตามกันมา เหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่ สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรได้.
ในข้อนั้น ผลทานจักมีแต่ที่ไหน ผลทานไม่มี ความเพียรไม่มีอำนาจ. ทาน คนโง่บัญญัติไว้ คนฉลาดรับทาน. คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธาคโต ความว่า ชื่อว่าผู้จากปรโลกนั้น มาสู่โลกนี้ย่อมไม่มี.
บทว่า ปิตโร วา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เฉพาะปิยชนทั้งหลาย มีปู่ย่าตายายเป็นต้น ย่อมไม่มี. เมื่อท่านเหล่านั้นไม่มี มารดาจะมีแต่ที่ไหน บิดาจะมีแต่ที่ไหน?.
บทว่า ยถา โหถ วิโย ตถา ความว่า พวกสัตว์เป็นเหมือนเรือน้อย ห้อยท้ายตามเรือใหญ่ไป ฉะนั้น. ท่านกล่าวว่า เรือน้อยที่ผูกห้อยท้ายตามหลังเรือใหญ่ไป ฉันใด. สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมติดตามไป อย่างแน่นอนทีเดียวถึง ๘๔ กัป.
บทว่า อวโส เทว วีริโย ความว่า เมื่อผลของทานไม่มี ด้วยอาการอย่างนี้. คนพาลคนใดคนหนึ่ง ย่อมชื่อว่าให้ทาน ท่านแสดงไว้ว่า คนพาลนั้นไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร ย่อมให้ทานโดยอำนาจ คือโดยกำลังของตนหาได้ไม่. แต่ย่อมเชื่อต่อคนอันธพาลเหล่าอื่น จึงให้ด้วยสำคัญว่า ผลทานย่อมมี.
บทว่า พาเลหิ ทานํ ปญฺญตฺตํ ความว่า คนพาลเท่านั้นย่อมให้ ทานนั้นบัณฑิตย่อมคอยรับทาน ที่คนอันธพาลบัญญัติไว้ คืออนุญาตไว้ว่า ควรให้ทานแล.
ครั้นคุณาชีวกทูลพรรณนา ภาวะที่ทานเป็นของไม่มีผล อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อพรรณนาถึงบาปที่ไม่มีผล จึงกล่าวว่า
[๘๔๖] รูปกายอันเป็นที่รวม ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวิต ๗ ประการนี้ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ. รูปกาย ๗ ประการนี้ของสัตว์เหล่าใด ชื่อว่าขาด ไม่มี. ผู้ที่ถูกฆ่าหรือถูกตัด หรือเบียดเบียนใดๆ ไม่มี.
ศาสตราทั้งหลายพึงเป็นไปในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้. ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบอันคม ผู้นั้นไม่ชื่อว่า ตัดร่างกายเหล่านั้น. ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน.
สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง. เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะสำรวมด้วยดีก็บริสุทธิ์ไม่ได้. เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้นแม้จะประพฤติความดีมากมาย ก็บริสุทธิ์ไม่ได้.
ถ้าแม้กระทำบาปมากมาย ก็ไม่ล่วงขณะนั้นไป. ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ โดยลำดับเมื่อถึง ๘๔ กัป. พวกเราไม่ล่วงเลยเขตอันแน่นอนนั้น เหมือนคลื่นไม่ล่วงเลยฝั่งไป ฉะนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายา แปลว่า หมู่. บทว่า อวิโกปิโน ได้แก่ ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้.
บทว่า ชีเว จ ได้แก่ ชีวะ (ชีวิต). ปาฐะว่า ชีโว จ ดังนี้ ก็มีอรรถเป็นอันเดียวกัน. บทว่า สตฺติเม กายา ได้แก่ หมู่สัตว์เหล่านี้.
บทว่า หญฺญเร วาปิ โกจินํ ความว่า ผู้ใดพึงเบียดเบียน แม้ผู้นั้นก็ไม่จัดว่า เป็นผู้ทำร้าย.
บทว่า สตฺถานิ วินิวตฺตเร ความว่า ศาสตราทั้งหลายเที่ยวไป อยู่ในภายในกายทั้ง ๗ นี้ ไม่สามารถจะตัดได้. บทว่า สิรมาทาย ความว่า จับศีรษะของชนเหล่าอื่น.
บทว่า นิสิตาสินา ความว่า ท่านกล่าวว่า ตัดด้วยดาบอันคม. ท่านแสดงไว้ว่า แม้ผู้นั้นตัดพวกนั้นด้วยกาย ธาตุดินก็จัดเป็นปฐวีธาตุ ธาตุลมเป็นต้น. ก็จัดเข้าเป็นอาโปธาตุเป็นต้น. สุขทุกข์ และชีวิต ย่อมแล่นไปสู่อากาศ.
บทว่า สํสรํ ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า สัตว์เหล่านี้จะทำแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้ออันหนึ่งก็ดี ท่องเที่ยวไปตลอดกัป มีประมาณเท่านี้ก็ดี ก็หาบริสุทธิ์ได้ไม่. จริงอยู่ ชื่อว่าผู้สามารถจะชำระเหล่าสัตว์ ให้บริสุทธิ์จากสงสารย่อมไม่มี. สัตว์ทั้งหมดนั้น ย่อมบริสุทธิ์ด้วยสงสาร นั่นเอง.
บทว่า อนาคเต ตมฺหิ กาเล ความว่า ก็เมื่อกาลหนึ่งตามที่กล่าวแล้ว ยังไม่ถึงอนาคตกาล. ผู้ที่สำรวมดีก็ดี ผู้มีศีลบริสุทธิ์ก็ดีในระหว่าง ย่อมไม่บริสุทธิ์. บทว่า ตํ ขณํ ได้แก่ ตลอดกาลมีประการดังกล่าวแล้วนั้น.
บทว่า อนุปุพฺเพน โน สุทฺธิ ความว่า ความหมดจดย่อมมีโดยลำดับ ในวาทะของเรา. อธิบายว่า ความหมดจด โดยลำดับแห่งเราทั้งปวงก็มี. บทว่า ตํ เวลํ ได้แก่ ตลอดกาลมีประการดังกล่าวแล้วนั้น.
คุณาชีวกผู้มีวาทะว่า ขาดสูญ เมื่อจะยังวาทะของตนให้สำเร็จ ตามกำลังของตน จึงกราบทูลโดยหาหลักฐานมิได้
[๘๔๗] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้เจริญกล่าวฉันใด คำนั้นข้าพเจ้าชอบใจฉันนั้น
แม้ข้าพเจ้าก็ระลึกชาติหนหลังของตนได้ชาติหนึ่ง คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสีอันเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อว่าปิงคละ ข้าพเจ้าได้ทำบาปกรรมไว้มาก ได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต คือกระบือ สุกร แพะเป็นอันมาก ข้าพเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในตระกูลเสนาบดี อันบริสุทธิ์นี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลาโต เอตทพฺรวิ ความว่า ได้ยินว่า อลาตเสนาบดีนั้นกระทำการบูชาด้วยพวงดอกอังกาบที่เจดีย์
ในกาลแห่งพระทศพลทรงพระนาม กัสสปะ ในกาลก่อน. ในมรณสมัย ถูกกรรมอื่นซัดไปตามอานุภาพ ท่องเที่ยวไปในสงสาร ด้วยผลแห่งบาปกรรมอันหนึ่ง.
จึงบังเกิดในตระกูลแห่งโคฆาต ได้กระทำกรรมเป็นอันมาก. ครั้นในเวลาที่เขาจะตาย บุญกรรมอันนั้นที่ตั้งอยู่ตลอดกาล ประมาณเท่านี้ได้ให้โอกาส.
เหมือนไฟที่เอาขี้เถ้าปิดไว้ ฉะนั้น. ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น เขาจึงบังเกิดในที่นี้ ได้รับสมบัติเช่นนั้น และระลึกชาติได้.
เมื่อไม่อาจระลึกถึงกรรมอื่นจากอนันตรกรรม ในอดีต. จึงสนับสนุนวาทะของคุณาชีวกนั้น ด้วยสำคัญว่า เราได้กระทำกรรมคือการฆ่าโคจึงบังเกิดในที่นี้. จึงได้กล่าวคำนี้มีอาทิว่า ยถา ภทฺทนฺโต ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเร สํสริตตฺตโน ความว่า ระลึกถึงชาติที่ตนท่องเที่ยวอยู่ได้.
บทว่า เสนาปติกุเล แปลว่า เกิดในตระกูลแห่งเสนาบดี.
[๘๔๘] ครั้งนั้น ในมิถิลานครนี้ มีคนเข็ญใจเป็นทาสเขาผู้หนึ่ง ชื่อว่าวีชกะ รักษาอุโบสถศีล ได้เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก.
ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก และอลาตเสนาบดีกล่าวกันอยู่ ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้น้ำตาไหล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเถตฺถ ความว่า ครั้งนั้นในเมืองมิถิลานั้น. บทว่า ปฏจฺฉรี ได้แก่ คนเข็ญใจกำพร้า.
บทว่า คุณสนฺติกวุปาคมิ ความว่า ได้ไปยังสำนักของคุณาชีวก พึงทราบความว่า เข้าไปใกล้ด้วยตั้งใจว่า ข้าพระองค์จักฟังเหตุอะไรนั่นแล.
[๘๔๙] พระเจ้าวิเทหราชได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า สหายเอ๋ย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมา หรือเจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ มํ เวเทสิ เวทนํ ความว่า เจ้าได้รับเวทนาทางกาย หรือทางจิตอะไร หรือเป็นอย่างไร. เจ้าจึงร้องไห้อย่างนี้ จงบอกให้เราทราบ เจ้ากระทำตนให้ลำบากอย่างไรหรือ จงบอกเรา.
[๘๕๐] นายวีชกะได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย ข้าแต่พระมหาราชา ขอได้ทรงพระกรุณาฟังข้าพระพุทธเจ้า
แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึงความสุขสบายของตนในชาติก่อนได้ คือในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเกิดเป็นภาวเศรษฐี
ยินดีในคุณธรรม อยู่ในเมืองสาเกต ข้าพระพุทธเจ้านั่นอบรมตนดีแล้ว ยินดีในการบริจาคทานแก่ พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีการงานอันสะอาด ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบาปกรรม ที่ตนกระทำแล้วไม่ได้เลย
ข้าแต่พระเจ้าวิเทหราช ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี หญิงขัดสน ในมิถิลามหานครนี้ จำเดิมแต่เวลาที่เกิดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ยากจนเรื่อยมา
แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้ ก็ตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ท่านที่ปรารถนา ได้รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ และไม่ได้ลักทรัพย์เลย
กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้าประพฤติดีแล้วนั้นไร้ผลเป็นแน่ ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว
ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้ เหมือนนักเลงผู้ไม่ได้ฝึกหัดฉะนั้น เป็นแน่ ส่วนอลาตเสนาบดีย่อมกำเอาแต่ชัยชนะไว้ ดังนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ฉะนั้
ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นประตูอันเป็นเหตุสุคติเลย ข้าแต่พระราชา เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาวเสฏฺฐี ความว่า เศรษฐีผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ผู้มีชื่ออย่างนี้.
บทว่า คุณรโต แปลว่า ผู้ยินดีในคุณ. บทว่า สมฺมโต ความว่า อันตนอารมดีแล้ว. บทว่า สุจิ ได้แก่ ผู้มีกรรมอันสะอาด.
บทว่า อิธ ชาโต ทุริตฺถิยา ความว่า ข้าพเจ้าเกิดในท้องกุมภทาสี ผู้เป็นหญิงขัดสน เข็ญใจกำพร้า ในมิถิลานครนี้.
ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ในปางก่อน. นายวีชกบุรุษนั้นเกิดเป็นนายโคบาล แสวงหาโคพลิพัททะ ที่หายไปในป่า.
ถูกภิกษุรูปหนึ่งผู้หลงทาง ถามถึงหนทางได้นิ่งเสีย. ถูกท่านถามอีก ก็โกรธแล้วกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า สมณขี้ข้านี้ปากแข็ง. ชะรอยว่า ท่านนี้จะเป็นขี้ข้าเขา จึงปากแข็งยิ่งนัก. กรรมหาได้ให้ผลในชาตินั้นไม่ ตั้งอยู่เหมือนไฟที่มีเถ้าปิดไว้ ฉะนั้น.
ถึงเวลาตาย กรรมอื่นก็ปรากฏ. เขาจึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ตามลำดับของกรรม เพราะผลแห่งกุศลกรรมอย่างหนึ่ง เขาจึงเป็นเศรษฐี มีประการดังกล่าวแล้ว ในเมืองสาเกต ได้กระทำบุญมีทานเป็นต้น.
ก็กรรมที่เขาด่าภิกษุผู้หลงทางนั้นตั้งอยู่ ประหนึ่งขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในแผ่นดิน ได้โอกาสจึงให้ผลแก่เขาในอัตภาพนั้น. เขาเมื่อไม่รู้ จึงกล่าวอย่างนั้น ด้วยสำคัญว่า ด้วยกรรมอันดีงามนอกนี้ เราจึงเกิดในท้องของนางกุมภทาสี.
บทว่า ยโต ชาโต สุทุคฺคโต ท่านแสดงว่า ข้าพเจ้านั้น ตั้งแต่เกิดมา เป็นคนเข็ญใจอย่างยิ่ง.
บทว่า สมจริยมธิฏฺฐิโต ความว่า ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในความประพฤติสม่ำเสมอทีเดียว.
บทว่า นูเนตํ แก้เป็น เอกํเสเนตํ เป็นอย่างนั้นโดยส่วนเดียว. บทว่า มญฺญิทํ สีลํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ธรรมดาว่า ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์.
บทว่า อลาโต ความว่า อลาตเสนาบดีนี้กล่าวว่า เรากระทำกรรมชั่ว คือปาณาติบาตไว้มากในภพก่อน จึงได้ตำแหน่งเสนาบดี เพราะเหตุใด. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงสำคัญว่า ศีลไร้ประโยชน์.
บทว่า กลิเมว ความว่า ผู้ไม่มีศิลปะไม่ได้ศึกษา เป็นนักเลงสะกา ถือเอาการปราชัย ฉันใด ข้าพเจ้าย่อมถือเอาฉันนั้นแน่ พึงให้สมบัติของตนในภพก่อนฉิบหายไป. บัดนี้ ข้าพเจ้าจึงเสวยทุกข์.
บทว่า กสฺสปภาสิตํ ท่านกล่าวว่า ได้ฟังภาษิตของอเจลกกัสสปโคตร.
[๘๕๑] พระเจ้าอังคติราชสดับคำของนายวีชกะแล้ว ได้ตรัสว่า ประตูสุคติไม่มี ยังสงสัยอยู่อีกหรือวีชกะ ได้ยินว่า สุขหรือทุกข์สัตว์ย่อมได้เองแน่นอน สัตว์ทั้งปวงหมดจดได้ ด้วยการเวียนเกิดเวียนตาย
เมื่อยังไม่ถึงเวลาอย่ารีบด่วนไปเลย เมื่อก่อนแม้เราก็เป็นผู้กระทำความดี ขวนขวายในพราหมณ์ และคฤหบดีทั้งหลาย อนุศาสน์ราชกิจอยู่เนืองๆ งดเว้นจากความยินดีในกามคุณ ตลอดกาลประมาณเท่านี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคติมพรฺวิ ความว่า พระเจ้าอังคติราชสดับคำของคนทั้ง ๓ คือของ ๒ คนนอกนี้ก่อน และของวีชกะในภายหลัง ยึดมั่นมิจฉาทิฏฐิ แล้วกล่าวคำมีอาทิว่า ประตูไม่มี.
บทว่า นิยตํ กงฺขา ความว่า ดูก่อนวีชกะผู้สหาย ท่านจงตรวจดูแต่ความแน่นอนเท่านั้น. พระเจ้าอังคติราช ตรัสอย่างนี้โดยอธิบายว่า ความจริง กาลมีประมาณ ๘๔ มหากัปเท่านั้น ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์ได้ ท่านอย่ารีบด่วนนักเลย.
บทว่า อนาคเต ความว่า ท่านอย่ารีบด่วนว่า เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้นแล้ว เราจะไปสู่เทวโลกในระหว่างได้.
บทว่า ปาวโฏ ความว่า อย่าได้มีความขวนขวายด้วยการกระทำ มีการกระทำการขวนขวายทางกาย เป็นต้นแก่ชนทั้งหลายนั้น คือในพวกพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย. บทว่า โวหารํ ความว่า นั่งในที่เป็นที่วินิจฉัยแล้ว พร่ำสอนตามบัญญัติแห่งราชกิจ.
บทว่า รติหีโน ตทนฺตรา ความว่า ละจากความยินดีในกามคุณ ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้.
ก็แลครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ตรัสบอกลาคุณาชีวกว่า ท่านกัสสปโคตร พวกข้าพเจ้าประมาทมาแล้ว สิ้นกาลเท่านี้ แต่บัดนี้ พวกข้าพเจ้าได้อาจารย์แล้ว ตั้งแต่นี้ไป พวกข้าพเจ้าจะเพลิดเพลิน ยินดีแต่ในกามคุณเท่านั้น
แม้การฟังธรรมในสำนักของท่าน ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ก็เป็นกาลเนิ่นช้าของพวกข้าพเจ้าเปล่า ท่านจงหยุดเถิด พวกข้าพเจ้าจักลาไปละดังนี้ จึงตรัสคาถาว่า
[๘๕๒] ถ้าการสมาคมจักมีผล พวกข้าพเจ้าจักมาหาท่านอีก
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺคติ เจ ความว่า ถ้าการสมาคมของพวกข้าพเจ้า ในที่แห่งหนึ่งจักไม่เกิดผล คือเมื่อผลบุญไม่มี จะประโยชน์อะไร ด้วยท่านที่เราจะมาเยี่ยม.
ครั้นพระเจ้าวิเทหราชตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺนิเวสนํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าวิเทหราช ครั้นตรัสคำนี้แล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่รถพระที่นั่ง กลับไปยังพื้นจันทกปราสาท อันเป็นพระราชนิเวศน์ของพระองค์.
ตอนแรก พระราชาเสด็จไปยังสำนักของคุณาชีวก ทรงนมัสการแล้ว จึงได้ตรัสถามปัญหา ก็แล เมื่อเสด็จกลับหาได้ทรงนมัสการไม่ ก็เพียงแต่การทรงนมัสการคุณาชีวก ยังไม่ได้รับเพราะเป็นผู้ไม่มีคุณ ไฉนจะได้รับพระราชทาน สักการะมีก้อนข้าวเป็นต้น.
ส่วนพระราชาทรงยังคืนนั้นให้ผ่านไป วันรุ่งขึ้นจึงให้ประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วตรัสว่า พวกท่านจงบำเรอกามคุณกันเถิด นับแต่วันนี้ไป เราจะเสวยความสุขในกามคุณเท่านั้น อย่าพึงรายงานกิจการอื่นให้เราทราบเลย ผู้ใดผู้หนึ่งจงกระทำการวินิจฉัยเถิด.
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงมัวเมาเพลิดเพลินยินดีอยู่แต่ในกามคุณเท่านั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
[๘๕๓] ตั้งแต่รุ่งสว่าง พระเจ้าอังคติราชรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ในที่ประทับสำราญพระองค์แล้วตรัสว่า จงจัดกามคุณทั้งหลายเพื่อเรา ไว้ในจันทกปราสาทของเราทุกเมื่อ เมื่อข้อราชการลับและเปิดเผยเกิดขึ้น ใครๆ อย่าเข้ามาหาเรา
อำมาตย์ผู้ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือวิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตเสนาบดี ๑ จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านั้น.
พระเจ้าวิเทหราช ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงใส่ใจกามคุณให้มาก ไม่ต้องขวนขวายในพราหมณ์ คฤหบดี และกิจการอะไรเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฏฺฐานมฺหิ ได้แก่ ในที่ประทับสำราญพระองค์.
บทว่า จนฺทเก เม ได้แก่ ในจันทกปราสาทอันเป็นสำนักของเรา. บทว่า วิเธนฺตุ เม ความว่า จงจัด คือจงบำรุงบำเรอกามคุณทั้งหลาย แก่เราเป็นนิตย์.
บทว่า คุยฺหปากาสิเยสุ ความว่า เมื่อเรื่องราวทั้งลับ ทั้งเปิดเผยเกิดขึ้น ใครๆ อย่าเข้ามาหาเรา. บทว่า อตฺเถ ได้แก่ ในที่เป็นที่วินิจฉัยเหตุผล.
บทว่า นิสีทนฺตุ ความว่า จงนั่งกับด้วยอำมาตย์ที่เหลือ เพื่อกระทำกิจที่เราพึงกระทำ.
[๘๕๔] ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันที่ ๑๔ ราชกัญญาพระนามว่ารุจา ผู้เป็นพระธิดาที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราช ได้ตรัสกะพระพี่เลี้ยงว่า ขอท่านทั้งหลาย ช่วยประดับให้ฉันด้วย และหญิงสหายทั้งหลายของเรา ก็จงประดับ
พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ฉันจะไปเฝ้าพระชนกนาถ พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัยแก่นจันทน์ แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดาและผ้าต่างๆ สีอันมีค่ามาก มาถวายแก่พระนางรุจาราชกัญญา.
หญิงบริวารเป็นอันมาก ห้อมล้อมพระนางรุจาราชธิดา ผู้มีพระฉวีวรรณงามผุดผ่อง ประทับนั่งอยู่บนตั่งทอง งามโสภาราวกะนางเทพกัญญา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต ความว่า จำเดิมแต่ที่พระราชาติดข้องอยู่ในเปือกตม คือกามคุณนั้น.
บทว่า เทวสตฺรตตฺตสฺส แปลว่า ในวันที่ ๑๔. บทว่า ธาติมาตมาทพฺรวี ความว่า เป็นผู้ใคร่จะไปยังสำนักของพระบิดา จึงกล่าวกะพี่เลี้ยงทั้งหลาย.
ดังได้สดับมา ในวันที่ ๑๔ พระนางรุจาราชธิดาทรงผ้าสีต่างๆ แวดล้อมไปด้วยหมู่กุมารี ๕๐๐ พาหมู่พระพี่เลี้ยงนางนม ลงจากปราสาท ๗ ชั้น ด้วยสิริวิลาสอันใหญ่ยิ่ง เสด็จไปยังจันทกปราสาท เพื่อเฝ้าพระชนกนาถ.
ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นพระธิดา ทรงมีพระทัยยินดีชื่นบาน ให้จัดมหาสักการะต้อนรับ เมื่อจะส่งกลับจึงได้พระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ แล้วส่งไปด้วยตรัสว่า นี่ลูก เจ้าจงให้ทาน.
พระนางรุจานั้นเสด็จกลับไปยังนิเวศน์ของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงทรงรักษาอุโบสถศีล ทรงให้ทานแก่คนกำพร้า คนเดินทางไกล ยาจกและวนิพกเป็นอันมาก.
ได้ยินว่า ชนบทหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชได้พระราชทานแก่พระธิดา พระนางรุจาได้ทรงกระทำกิจทั้งปวง ด้วยรายได้จากชนบทนั้น.
ก็ในกาลนั้น เกิดลือกันขึ้นทั่วพระนครว่า พระราชาทรงอาศัยคุณาชีวก จึงทรงถือมิจฉาทิฏฐิ. พวกพระพี่เลี้ยงนางนม ได้ยินเขาลือกันดังนั้น จึงมาทูลพระนางรุจาว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า เขาลือกันว่า พระชนกของพระองค์ทรงสดับถ้อยคำของอาชีวกแล้ว ทรงถือมิจฉาทิฏฐิ
และได้ยินว่าพระราชานั้นตรัสสั่งให้รื้อโรงทานที่ประตูเมืองทั้ง ๔ และทรงข่มขืนหญิงและเด็กหญิงที่ผู้อื่นหวงห้าม มิได้ทรงพิจารณาถึงพระราชกรณียกิจเลย ทรงมัวเมาอยู่แต่ในกามคุณ.
พระนางรุจานั้นได้ทรงสดับคำของพระพี่เลี้ยงนางนมเหล่านั้น ก็ทรงสลดพระหฤทัย จึงทรงพระดำริว่า เพราะเหตุอะไรหนอ พระชนกของเราจึงเสด็จเข้าถามปัญหากะคุณาชีวก
ผู้ปราศจากคุณธรรม ไม่มีความละอาย ผู้เปลือยกายเช่นนั้น สมณพราหมณ์ผู้มีธรรมเป็นกรรมวาที ควรที่จะเข้าไปถามมีอยู่ มิใช่หรือ
แต่เว้นเราเสียแล้ว คนที่จะปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนกของเรา ให้กลับตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิอีก คงจะไม่มีใครสามารถ ก็เราระลึกถึงชาติได้ถึง ๑๔ ชาติ คือที่เป็นอดีต ๗ ชาติ ที่เป็นอนาคต ๗ ชาติ
เพราะฉะนั้น เราจะทูลแสดงกรรมชั่วที่ตนทำในชาติก่อน และแสดงผลแห่งกรรม ปลุกพระชนกของเราให้ทรงตื่น ก็ถ้าเราจักเฝ้าในวันนี้ไซร้ พระชนกของเราคงจะท้วงเราว่า เมื่อก่อนลูกเคยมาทุกกึ่งเดือน
เพราะเหตุไร วันนี้จึงรีบมาเล่า ถ้าเราจะทูลว่า กระหม่อมฉันมาในวันนี้นั้น เพราะได้ทราบข่าวเล่าลือกันว่า พระองค์ทรงถือมิจฉาทิฏฐิ ดังนี้ คำของเราจะไม่ยึดคุณค่า อันหนักแน่นได้นัก
เพราะฉะนั้น วันนี้เราอย่าไปเฝ้าเลย ถึงวัน ๑๔ ค่ำจากนี้ไป เฉพาะในวัน ๑๔ ค่ำในกาฬปักข์ เราจะทำเป็นไม่รู้ เข้าไปเฝ้าโดยอาการที่เคยเข้าไปเฝ้า ในกาลก่อนๆ ครั้นเวลากลับ เราจักทูลขอพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาทำงาน
เมื่อนั้น พระชนกของเราจักแสดงการถือมิจฉาทิฏฐิแก่เรา ลำดับนั้น เราจักมีโอกาสให้พระองค์ทรงละทิ้งมิจฉาทิฏฐินั้นเสียได้ด้วยกำลังของตน เพราะฉะนั้น ในวัน ๑๔ ค่ำ พระนางรุจาราชธิดาจึงทรงใคร่จะไปเฝ้าพระชนก จึงตรัสอย่างนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สขิโย จ ความว่า หญิงสหายกับทั้งกุมาริกาประมาณ ๕๐๐ ของเราทั้งหมด จงประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน คือด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้มีสีต่างๆ.
บทว่า ทิพฺโย แปลว่า วันทิพย์. ที่ชื่อว่าทิพย์ เพราะประชุมกันประดับอย่างเทวดาก็มี.
บทว่า คจฺฉํ ความว่า ฉันจักไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นพระชนกนาถ เพื่อให้นำทานวัตรของเรามา.
บทว่า อภิหรึสุ ความว่า เล่ากันมาว่าให้อาบด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วนำไปเพื่อประดับนางกุมาริกา.
บทว่า ปริกีริย แปลว่า แวดล้อมแล้ว. บทว่า อโสภึสุ ความว่า วันนั้นหญิงบริวารพากันแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา งามยิ่งนักราวกะนางเทพกัญญา.
.. อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก ว่าด้วย พระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=5180&Z=5625
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=2853
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=2853
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]