ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               บทว่า สณฺเหน กายกมฺเมน สมนฺนาคโต เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมอันละเอียด คือเป็นผู้พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกันด้วยกายกรรมอันอ่อนโยนไม่หยาบ. แม้ในวจีกรรมเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบททั้งหลายมีอาทิว่า สณฺเหหิ สติปฏฺฐาเนหิ ความว่า สติปัฏฐานเป็นต้นเป็นธรรมเจือด้วยโลกิยะและโลกุตระ ปัญญาอันได้แก่ปฏิภาณ ๓ สอบสวนถึงอรรถอันได้เล่าเรียนมาเป็นต้น สามารถทำการสังเกต การทำให้แจ้ง การกำหนดด้วยการบรรลุโลกิยธรรมและโลกุตรธรรมมีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่ามีปฏิภาณ.
               บทว่า ตสฺส ปริยตฺตึ นิสฺสาย ปฏิภายติ ญาณของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้งเพราะอาศัยปริยัติ คือญาณของบุคคลนั้นที่ได้เรียนมาแน่นแฟ้นแจ่มแจ้ง เป็นญาณปรากฏอยู่เฉพาะหน้า.
               บทว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา สติปัฏฐาน ๔ คือท่านกล่าวโพธิปักขิยธรรม ๓๗ โดยเจือปนกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ. พึงทราบว่า ท่านกล่าวปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยโลกุตระอันเกิดจากมรรคผล และอภิญญา ๖ ด้วยสามารถอันมีในที่สุดแห่งวิโมกข์.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จตสฺโส ปฏิสมฺภิทาโย ได้แก่ ประเภทของญาณ ๔.
               บทว่า ฉ อภิญฺญา ได้แก่ อภิญญา ๖ อันยิ่งมีอิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ได้) เป็นต้น มีอาสวักขยะ (การสิ้นอาสวะ) เป็นที่สุด.
               บทว่า ตสฺส คือ ของบุคคล. พึงเชื่อมว่า อตฺโถ ปฏิภายติ อรรถก็แจ่มแจ้ง.
               บทว่า อตฺโถ เป็นผลอันเกิดแต่เหตุโดยสังเขป.
               เพราะบุคคลย่อมถึง ย่อมบรรลุอรรถนั้นด้วยแล่นไปตามเหตุ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อตฺโถ ผล. แต่โดยประเภทธรรม ๕ อย่างเหล่านี้ คือปัจจยุปบัน (ผล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ นิพพาน ๑ อรรถแห่งภาษิต ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ พึงทราบว่า อรรถะ. เมื่อพิจารณาถึงอรรถะนั้น เป็นอันรู้ชัดอรรถะนั้นโดยประเภท.
               บทว่า ธมฺโม เป็นปัจจัย (เหตุ) โดยสังเขป.
               เพราะปัจจัยนั้นย่อมจัดการสืบทอดให้เป็นไปและให้ถึงอรรถนั้นๆ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ธรรมะ. แต่โดยประเภทธรรม ๕ อย่างเหล่านี้ คือธรรมที่ให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ เหตุ ๑ อริยมรรค ๑ ภาษิตที่เป็นกุศล ๑ ที่เป็นอกุศล ๑ พึงทราบว่า ธรรมะ. เมื่อพิจารณาธรรมนั้น เป็นอันรู้ชัดธรรมนั้นโดยประเภท, การใช้ภาษาตามสภาวะ การออกเสียง การพูดอันใดในอรรถและในธรรมนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทำเสียงในการใช้ภาษาตามสภาวะ ให้เป็นการพูดการกล่าวการเปล่งเสียง ในการพูด ในการกล่าว ในการเปล่งเสียงให้เป็นอารมณ์แล้วพิจารณา ก็เป็นอันรู้ชัดการใช้ภาษานั้น.
               พึงทราบความในบทต่อไปนี้
               บทว่า อตฺเถ ญาเต อตฺโถ ปฏิภายติ เมื่อรู้อรรถ อรรถก็แจ่มแจ้ง คือเมื่ออรรถอันมีประเภทดังที่นำเสียงของบุคคลนั้นมากล่าวแล้วปรากฏ อรรถมีประเภทดังกล่าวแล้วก็แจ่มแจ้งแก่บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มุ่งต่อญาณ.
               บทว่า ธมฺเม ญาเต ธมฺโม ปฏิภายติ เมื่อรู้ธรรม ธรรมก็แจ่มแจ้ง คือเมื่อธรรมมีประเภทดังกล่าวแล้วปรากฏ ธรรมมีประเภทดังกล่าวแล้วก็แจ่มแจ้ง.
               บทว่า นิรุตฺติยา ญาตาย นิรุตฺติ ปฏิภายติ เมื่อรู้นิรุตติ นิรุตติก็แจ่มแจ้ง คือเมื่อนิรุตติมีประเภทดังกล่าวแล้วปรากฏ นิรุตติมีประเภทดังกล่าวแล้วก็แจ่มแจ้ง.
               บทว่า อิเมสุ ตีสุ ญาเณสุ ญาณํ ญาณในญาณ ๓ เหล่านี้ คือเมื่อบุคคลทำญาณทั้งหมดในญาณ ๓ เหล่านั้น คืออรรถธรรมและนิรุตติให้เป็นอารมณ์แล้วพิจารณา ญาณอันมีประเภทในญาณ ๓ เหล่านั้น หรือญาณอันมีความพิสดารด้วยโคจรกิจเป็นต้น ในญาณ ๓ เหล่านั้นดังที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าปฏิสัมภิทาญาณ.
               บทว่า อิมาย ปฏิภาณปฏิสมฺภิทาย ด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ ท่านกล่าวสรุปว่า บุคคลเข้าไปถึงปัญญากว้างขวางดังกล่าวแล้วนี้ บุคคลนั้นท่านเรียกว่าผู้มีปฏิภาณ.
               พระพุทธพจน์ชื่อว่าปริยัติ ในบทว่า ยสฺส ปริยตฺติ นตฺถิ ผู้ใดไม่มีปริยัติ ดังนี้.
               จริงอยู่ ความแตกฉาน ความฉลาด ย่อมมีแก่บุคคลผู้เรียนปริยัตินั้น ปริยัติเห็นปานนั้นไม่มีแก่บุคคลใด.
               บทแห่งคัณฐี (ประมวลคำศัพท์) บทแห่งอรรถ คำวินิจฉัยในบาลีและอรรถกถาเป็นต้น ชื่อว่าปริปุจฉา ในบทว่า ปริปุจฺฉา นตฺถิ ไม่มีปริปุจฉา (การตรวจสอบ). ความแตกฉาน ความฉลาดย่อมมีแก่บุคคลผู้กล่าวอรรถในบาลีที่ได้เรียนมาเป็นต้น.
               การบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าอธิคมะ ในบทว่า อธิคโม นตฺถิ ไม่มีอธิคม.
               จริงอยู่ ความแตกฉาน ความฉลาดย่อมมีแก่ผู้บรรลุพระอรหัต. สมบัติ ๓ อย่างดังกล่าวแล้วไม่มีแก่บุคคลใด ญาณอะไรเล่าจักปรากฏแก่บุคคลนั้น คือญาณอันถึงความเป็นประเภทจักปรากฏแก่บุคคลนั้นด้วยเหตุอะไร.
               บทว่า สามํ คือ ตนเอง.
               บทว่า สยมภิญฺญาตํ ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยตนเอง คือรู้ด้วยญาณนั้นด้วยตนเอง.
               บทว่า อตฺตปจฺจกฺขํ ธมฺมํ ธรรมอันประจักษ์ด้วยตนเอง คือตนเห็นเอง.
               บทว่า น กสฺสจิ สทฺทหติ ไม่เชื่อใครๆ คือไม่เชื่อผู้อื่น คือไม่ไปด้วยศรัทธา เพราะประจักษ์ด้วยตนเอง.
               ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ด้วยเห็นปัจจยาการ ๑๒.
               ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า อวิชฺชานิโรธา เพราะดับอวิชชาหมายถึงการกลับไปแห่งสังสารวัฏ.
               ท่านกล่าวว่า อิทํ ทุกฺขํ นี้เป็นทุกข์เป็นต้น ด้วยเห็นอริยสัจ.
               ท่านกล่าวว่า อิเม อาสวา อาสวะเหล่านี้เป็นต้น โดยปริยายอย่างอื่นด้วยอำนาจกิเลสด้วยอำนาจการเห็นสัจธรรม.
               ท่านกล่าวว่า อิเม ธมฺมา อภิญฺเญยฺยา ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่งเป็นต้น ด้วยอำนาจการเห็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ที่ควรกำหนดรู้ ที่ควรละและที่ควรทำให้แจ้ง.
               ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า ฉนฺนํ ผสฺสายตนานํ ผัสสายตนะ ๖ ด้วยอำนาจการเห็นการเกิดการดับ คุณโทษและอุบายเครื่องสลัดออกไปแห่งสฬายตนะ.
               ขันธ์ทั้งหลาย ท่านกล่าวด้วยอำนาจการเห็นมีอาทิอย่างนี้ ความเกิดและความเสื่อมแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ โดยอาการ ๒๕ อย่าง ความพอใจด้วยอำนาจฉันทราคะในขันธ์เหล่านั้น ความปรวนแปรและโทษของขันธ์เหล่านั้น นิพพานอันได้แก่การสลัดออกไป ความเกิดมีอวิชชาเป็นต้นแห่งมหาภูตรูป ๔ และความดับในนิโรธมีอวิชชาเป็นต้น. พึงทราบธรรมเหล่านี้โดยนัยที่กล่าวแล้วในที่นั้นๆ.
               บทว่า อมโตคธํ หยั่งลงสู่อมตะ. ชื่อว่าอมตะ เพราะไม่มีความตายอันได้แก่มรณะ. ชื่อว่าอมตะ คือเป็นยาบ้าง เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส. ชื่อว่า อมโตคธํ เพราะน้อมไปในอมตะนั้น.
               บทว่า อมตปรายนํ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า คือมีอมตะดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องหน้า เป็นที่ไป เป็นทางไป เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อมตปรายนํ.
               บทว่า อมตปริโยสานํ มีอมตะเป็นที่สุด คือมีอมตะนั้นเป็นที่สุด เพราะสิ้นสุดสังสารวัฏแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อมตปริโยสานํ.
               บทว่า ลาภกมฺยา น สิกฺขติ บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ คือไม่ศึกษาในพระสูตรเป็นต้น เพราะปรารถนาลาภ.
               บทว่า อวิรุทฺโธ จ ตณฺหาย รเสสุ นานุคิชฺฌติ ไม่มีการทำร้ายและไม่ติดในรสแห่งตัณหา คือเป็นผู้ไม่มีวิโรธ เพราะไม่มีความโกรธและไม่ถึงความอยากในรสอันเป็นรากเหง้าแห่งตัณหาเป็นต้น.
               บทว่า เกน นุ โข เพราะอะไรหนอ คือความเป็นผู้ตกไปในความคิดถึงเหตุเพื่อจะได้ลาภ คือในการแสวงหาความริษยา.
               บทว่า ลาภาภินิพฺพตฺติยา เพราะความเกิดขึ้นแห่งลาภ คือเพราะความเกิดขึ้นแห่งปัจจัย ๔ ด้วยความวิเศษ.
               บทว่า ลาภํ ปริปาเจนฺโต คือ เจริญงอกงามในปัจจัย.
               บทว่า อตฺตทมตฺถาย เพื่อฝึกตน คือเพื่อฝึกตนด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า อตฺตสมตฺถาย เพื่อสงบตน คือเพื่อความตั้งมั่นแห่งตนด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยสมาธิ.
               บทว่า อตฺตปรินิพฺพาปนตฺถาย เพื่อให้ตนปรินิพพาน คือเพื่อให้ตนปรินิพพานด้วยอนุปาทาปรินิพพานของตนด้วยญาณแม้สองอย่าง.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อนิพพานด้วยอนุปาทาปรินิพพาน.
               บทว่า อปฺปิจฺฉญฺเญว นิสฺสาย เพราะอาศัยความปรารถนาน้อย.
               ความปรารถนาน้อย ในบทนี้มี ๔ อย่าง คือ ความปรารถนาน้อยในปัจจัย ๑ ความปรารถนาน้อยในอธิคม ๑ ความปรารถนาน้อยในปริยัติ ๑ ความปรารถนาน้อยในธุดงค์ ๑. ความต่างกันแห่งความปรารถนาน้อยเหล่านั้นมีพิสดารแล้วในหนหลัง. ติดแน่นอยู่กับความปรารถนาน้อยนั้น.
               บทว่า สนฺตุฏฺฐิเยว ความสันโดษ คือติดแน่นอยู่กับความสันโดษ ๓ อย่างในปัจจัย ๔. ความแจ่มแจ้งแห่งสันโดษเหล่านั้นมีพิสดารแล้วในหนหลัง.
               บทว่า สลฺเลขญฺเญว ได้แก่ ความขัดเกลากิเลส.
               บทว่า อิทมตฺถิตญฺเญว ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยกุศลนี้ คือความที่บุคคลนั้นมีความต้องการด้วยกุศลธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อิทมตฺถิตา อาศัยติดแน่นอยู่กับความเป็นผู้มีความต้องการด้วยกุศลนี้นั่นแล.
               บทว่า รโส รส เป็นบทยกขึ้นแสดงถึงบทไขความ.
               บทว่า มูลรโส มีรสที่ราก คือมีรสเกิดขึ้นเพราะอาศัยรากอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               แม้ในรสเกิดที่ลำต้นก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า อมฺพิลํ รสเปรี้ยว มีรสเปรี้ยวของเปรียงเป็นต้น.
               บทว่า มธุรํ มีรสหวาน คือมีนมโคและเนยใสเป็นต้นมีรสหวานโดยส่วนเดียว. แต่น้ำผึ้งผสมกับรสฝาดเก็บไว้นานก็เฝื่อนได้. น้ำอ้อยผสมกับรสเค็มเก็บไว้นานก็มีรสปร่าได้. ส่วนเนยใสเก็บไว้นานแม้ละสีและกลิ่นก็ไม่เสียรส เพราะฉะนั้น เนยใสนั้นจึงมีรสหวานส่วนเดียว.
               บทว่า ติตฺตกํ รสขม ได้แก่ ใบสะเดาเป็นต้น.
               บทว่า กฏุกํ รสเผ็ด ได้แก่ ขิงและพริกไทยเป็นต้น.
               บทว่า โลณิกํ รสเค็ม ได้แก่ เกลือสินเธาว์เป็นต้น.
               บทว่า ขาริกํ รสปร่า ได้แก่มะอึกและหน่อไม้เป็นต้น.
               บทว่า ลมฺพิลํ๑- รสเฝื่อน ได้แก่ พุทรา มะขวิดและใบโลทเป็นต้น.
____________________________
๑- ม. ลมฺพิกํ

               บทว่า กสาวํ รสฝาด ได้แก่สมอไทยเป็นต้น.
               รสแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ท่านก็กล่าวไว้โดยเป็นวัตถุ. แต่ในที่นี้พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงรสอันมีรสนั้นๆ เป็นวัตถุ โดยชื่อมีรสเปรี้ยวเป็นต้น.
               บทว่า สาทุ รสอร่อย คือรสที่ชอบ.
               บทว่า อสาทุ รสไม่อร่อย คือรสที่ไม่ชอบ.
               แม้ด้วยสองบทนี้ก็เป็นอันมุ่งหมายถึงรสแม้ทั้งหมด.
               บทว่า สีตํ คือ มีรสเย็น.
               บทว่า อุณฺหํ คือ มีรสร้อน. รสนี้แม้จะต่างกันโดยประเภทมีรสที่รากเป็นต้น อย่างนี้ก็ไม่ต่างกันโดยลักษณะเป็นต้น. รสทั้งหมดนี้มีการกระทบที่ลิ้นเป็นลักษณะ ความรู้สึกที่ลิ้นเป็นรส มีรสนั้นนั่นแลเป็นอาหาร เป็นเครื่องปรากฏ.
               บทว่า เต ชิวฺหคฺเคน รสคฺคานิ คือ สมณพราหมณ์เหล่านั้น เที่ยวแสวงหารสอันเลิศด้วยปลายชิวหาประสาท.
               บทว่า ปริเยสนฺตา คือ เที่ยวแสวงหา.
               บทว่า อาหิณฺฑนฺติ คือ เที่ยวไปในที่นั้นๆ.
               บทว่า เต อมฺพิลํ ลภิตฺวา อนมฺพิลํ ปริเยสนฺติ สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้รสเปรี้ยว ก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว คือได้รสเปรี้ยวมีเปรียงเป็นต้น ก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว. เปลี่ยนไปแล้วๆ เล่าๆ อยู่ทั้งหมดอย่างนี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส อาหารํ อาหาเรติ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร คือรู้ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาแล้วจึงฉันโดยอุบายแยบคาย.
               บัดนี้เพื่อทรงแสดงอุบายอันแยบคาย จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เนว ทวาย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เนว ทวาย คือ ไม่ฉันเพื่อเล่น.
               ในบทนั้น นักฟ้อน นักกระโดดเป็นต้น ชื่อว่าบริโภค เพื่อประโยชน์ในการละเล่น.
               จริงอยู่ การละเล่นอันได้แก่การฟ้อน การขับร้อง นักกลอน นักโศลกของผู้บริโภคอาหารใด ย่อมประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้น ชนเหล่านั้นแสวงหาอาหารนั้นบริโภคโดยไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม. แต่ภิกษุนี้มิได้ฉันอย่างนั้น.
               บทว่า น มทาย ไม่ฉันเพื่อเมา คือไม่ฉันเพื่อความเจริญแห่งความเมาด้วยความถือตัวและความเมาแห่งบุรุษ.
               ในบทนั้น พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา ชื่อว่าบริโภคเพื่อความเมา. เพราะพระราชาและมหาอำมาตย์เหล่านั้นบริโภคอาหารประณีต มีอาหารที่มีรสกลมกล่อมเป็นต้น เพื่อต้องการความเจริญแห่งความเมาด้วยความถือตัว และความเมาแห่งบุรุษ. แต่ภิกษุนี้ไม่ฉันอย่างนั้น.
               บทว่า น มณฺฑนาย คือ ไม่ฉันเพื่อตกแต่งร่างกาย.
               ในบทนั้น สตรีที่อาศัยรูปเลี้ยงชีพและชาววังจึงดื่มเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น บริโภคอาหารละเอียดอ่อนและนุ่ม ด้วยหวังว่าข้อนิ้วมือของเราจักเรียบ ผิวพรรณในร่างกายจักผ่องใสด้วยอาหารอย่างนี้. แต่ภิกษุนี้ไม่ฉันอย่างนั้น.
               บทว่า น วิภูสนาย ไม่ฉันเพื่อประดับ คือไม่ฉันเพื่อประดับเนื้อในร่างกาย.
               ในบทนั้น นักมวยอาชีพ นักมวยปล้ำและคนใช้กำลังเป็นต้น ย่อมให้ร่างกายอิ่มเอิบด้วยเนื้อและปลาเป็นต้น อันละเอียดอ่อนด้วยหวังว่าเนื้อของเราจะบริบูรณ์ เพื่อทนต่อการชกต่อยดังนี้. แต่ภิกษุนี้ไม่ฉันเพื่อประดับแต่งเนื้อในร่างกายอย่างนั้น.
               บทว่า ยาวเทว เป็นการแสดงข้อกำหนดนิยมถึงประโยชน์ของการฉันอาหาร.
               บทว่า อิมสฺส กายสฺส ฐิติยา ฉันเพื่อดำรงกายนี้ คือฉันเพื่อดำรงกรชกายอันมีมหาภูตรูป ๔ นี้. อธิบายว่า นี้เป็นประโยชน์ในการฉันของภิกษุนั้น.
               บทว่า ยาปนาย เพื่อให้ร่างกายเป็นไป คือฉันเพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป.
               บทว่า วิหึสุปรติยา เพื่อกำจัดความลำบาก คือความหิวเกิดขึ้นเพราะเหตุที่ไม่บริโภค ชื่อว่าความลำบาก ฉันเพื่อสงบความลำบากนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ คือสิกขา ๓. คำสอนทั้งสิ้นชื่อว่าพรหมจรรย์ ฉันเพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์นั้น.
               บทว่า อิติ เป็นคำไขของอุบายแยบคาย ได้แก่ด้วยอุบายนี้.
               บทว่า ปุราณญฺจ เวทนํ ปฏิหงฺขามิ เราจักบำบัดเวทนาเก่าเสีย เวทนาเกิดเพราะเหตุไม่ฉัน ชื่อว่าเวทนาเก่า ฉันด้วยตั้งใจว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่านั้นเสีย ดังนี้.
               บทว่า นวญฺจ เวทนํ น อุปฺปาเทสฺสามิ เราจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น เวทนาเกิดขึ้น เพราะเหตุฉันมากเกินไป ชื่อว่าเวทนาใหม่ ฉันด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ยังเวทนาใหม่นั้นให้เกิดขึ้นดังนี้. เวทนาเกิดขึ้นเพราะเหตุฉันแล้ว ชื่อว่าเวทนาใหม่ ฉันเพื่อเวทนาใหม่ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ยาตฺรา จ เม ภวิสฺสติ การดำเนินไปจักมีแก่เรา คือชีวิตของเราจักดำเนินต่อไปได้.
               ในบทว่า อนวชฺชตา จ ความไม่มีโทษนี้ ได้แก่ มีโทษและไม่มีโทษ.
               ในบทนั้น การแสวงหาไม่เป็นธรรม การรับไม่เป็นธรรม การบริโภคไม่เป็นธรรม นี้ชื่อว่ามีโทษ. การแสวงหาโดยธรรม รับโดยธรรม พิจารณาแล้วบริโภค ชื่อว่าไม่มีโทษ.
               ภิกษุบางรูปทำสิ่งไม่มีโทษให้เป็นสิ่งมีโทษฉันเสียเกินพอดี เพราะนึกว่าไหนๆ เราก็ได้มาแล้ว ไม่สามารถจะให้อาหารนั้นย่อยได้ ย่อมลำบากด้วยท้องขึ้นและท้องเดินเป็นต้น. ภิกษุทั้งหลายในวิหารทั้งสิ้นขวนขวายในการเยียวยารักษาและแสวงหายาให้แก่ภิกษุนั้น เมื่อถูกถามว่า เป็นอะไรเล่า ก็บอกว่าภิกษุรูปโน้นท้องขึ้น ย่อมนินทาติเตียนว่า ภิกษุรูปนี้ปกติก็เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา ช่างไม่รู้จักประมาณท้องของตนเสียบ้างเลย. ภิกษุนี้ชื่อว่ากระทำสิ่งไม่มีโทษ ให้เป็นสิ่งมีโทษ. ภิกษุไม่ทำอย่างนั้น ฉันด้วยคิดว่าความไม่มีโทษจักมีแก่เรา.
               แม้ในบทว่า ผาสุวิหาโร จ ความอยู่สบายนี้ก็มีทั้งอยู่สบาย และมีทั้งอยู่ไม่สบาย.
               ในบทนั้น การบริโภคของพราหมณ์ ๕ คนเหล่านี้คือ อาหรหัตถกะ ๑ อลังสาฏกะ ๑ ตัตรวัฏฏกะ ๑ กากมาสกะ ๑ ภุตตวมิตกะ ๑ ชื่อว่าอยู่ไม่สบาย.
               ในพราหมณ์ ๕ คนเหล่านั้น พราหมณ์ชื่อว่าอาหรหัตถกะ บริโภคมากไม่สามารถจะลุกขึ้นตามธรรมดาของตนได้พูดว่า ช่วยฉุดมือที. พราหมณ์ชื่อว่าอลังสาฏกะ เพราะค่าที่ตนมีท้องพลุ้ยเกินไป แม้ลุกขึ้นได้ก็ไม่อาจนุ่งผ้าสาฎกได้. พราหมณ์ชื่อว่าตัตรวัฏฏกะไม่สามารถจะลุกขึ้นได้กลิ้งไปในที่นั้นๆ นั่นเอง. พราหมณ์ชื่อว่ากากมาสกะบริโภคจนล้นปากโดยที่กาสามารถจิกกินได้. พราหมณ์ชื่อว่าภุตตวมิตกะไม่อาจให้อาหารอยู่ในปากได้คายเสียในที่นั้นๆ เอง.
               ภิกษุไม่กระทำอย่างนี้ ฉันด้วยคิดว่า ความอยู่สบายจักมีแก่เรา. ความเป็นผู้มีท้องเหลือจากอาหารสี่ห้าคำ ชื่อว่าอยู่สบาย. อิริยาบถ ๔ ของผู้บริโภคพอดีๆ แล้วดื่มน้ำย่อมเป็นไปด้วยความสุข. เพราะฉะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         บริโภคเหลือไว้สี่ห้าคำแล้วพึงดื่มน้ำ เป็นความเพียง
                         พอสำหรับอยู่สบาย ของภิกษุผู้ทำความเพียร.

               อนึ่ง พึงประมวลองค์ทั้งหลายไว้ในที่นี้. ไม่ฉันเพื่อเล่นเป็นองค์หนึ่ง ไม่ฉันเพื่อเมาเป็นองค์หนึ่ง ไม่ฉันเพื่อตกแต่งเป็นองค์หนึ่ง ไม่ฉันเพื่อประดับเป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่อดำรงกายนี้ เพื่อให้ร่างกายนี้เป็นไปเป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่อกำจัดความลำบากเป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่ออนุเคราะห์ แก่พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้นเป็นองค์หนึ่ง ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นเป็นองค์หนึ่ง ความดำเนินไปจักมีแก่เราเป็นองค์หนึ่ง.
               ในบทว่า อนวชฺชตา จ ผาสุวิหาโร จ ความไม่มีโทษ ความอยู่สบายนี้เป็นอานิสงส์ของการฉัน.
               พระมหาสิวเถระกล่าวไว้ว่า องค์สี่ที่ห้ามควรอยู่ข้างล่าง ควรประมวลองค์แปดไว้ข้างบน.
               ในองค์แปดนั้น ฉันเพื่อดำรงกายนี้เป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่อให้ร่างกายเป็นไปเป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่อกำจัดความลำบากเป็นองค์หนึ่ง ฉันเพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์เป็นองค์หนึ่ง ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่าเป็นองค์หนึ่ง เราจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นเป็นองค์หนึ่ง ความดำเนินไปจักมีแก่เราเป็นองค์หนึ่ง ความไม่มีโทษเป็นองค์หนึ่ง. ความอยู่สบายเป็นอานิสงส์ของการฉัน. ภิกษุฉันอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้.
               บทว่า อุเปกฺขโก มีอุเบกขา คือเป็นผู้ประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา.
               บทว่า สโต มีสติ ได้แก่ประกอบด้วยสติในกายานุปัสสนาเป็นต้น.
               อะไรชื่อว่าธรรม คืออุเบกขามีองค์ ๖ ในบทว่า อุเปกฺขโกติ ฉฬงฺคุเปกฺขาย สมนฺนาคโต นี้คือญาณเป็นต้น.
               เมื่อกล่าวว่า ญาณก็ได้แก่กิริยาญาณสัมปยุต ๔. เมื่อกล่าวว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองๆ ก็ได้แก่มหาจิต ๘ ดวง.
               เมื่อกล่าวว่า ไม่มีกำหนัดและขัดเคือง ก็ได้แก่จิต ๑๐ ดวง. โสมนัส ได้แก่อาเสวนะ.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว คือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ สามารถเห็นรูปที่ได้ด้วยสิ่งที่ชื่อว่าจักษุโดยเหตุ. แต่โบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า จักษุย่อมไม่เห็นรูปเพราะไม่มีจิต แม้จิตก็ย่อมไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจักษุ แต่ย่อมเห็นได้ด้วยจิตอันมีประสาทเป็นวัตถุกระทบอารมณ์ทางทวาร ก็ในฐานะเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นการกล่าวรวมกัน ดุจในประโยคมีอาทิว่า บุรุษยิงด้วยธนูดังนี้ เพราะฉะนั้น ความในบทนี้จึงมีว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณดังนี้.
               บทว่า เนว สุมโน โหติ ไม่ดีใจ คือไม่มีโสมนัสด้วยเกิดโลภะ ด้วยเกิดฉันทราคะ.
               บทว่า น ทุมฺมโน ไม่เสียใจ คือไม่มีจิตประทุษร้าย ด้วยเกิดปฏิฆะ.
               บทว่า อุเปกฺขโก โหติ วางเฉย คือเห็นเพียงเกิด. เป็นผู้ไม่ตกไปในฝักฝ่ายทำอิริยาบถให้ปกติ.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน คือ มีสติสมบูรณ์ด้วยญาณ.
               บทว่า มนาปํ นาภิคิชฺฌติ ไม่ติดใจ คือไม่อยากไม่ปรารถนาอารมณ์ที่น่าปรารถนาอันเจริญใจ.
               บทว่า นาภิหํสติ คือ ไม่ยินดี.
               บทว่า น ราคํ ชเนติ ไม่ให้ราคะเกิด คือไม่เกิดความกำหนัดในอารมณ์ที่น่าปรารถนานั้น.
               บทว่า ตสฺส ฐิโตว กาโย โหติ กายของบุคคลนั้นก็ตั้งอยู่ คือกายมีจักษุเป็นต้นของพระขีณาสพนั้นก็ตั้งอยู่ คือไม่หวั่นไหว เพราะเว้นจากความหวั่นไหวได้.
               บทว่า อมนาปํ ไม่ชอบใจ ได้แก่ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า น มงฺกุ โหติ ไม่เป็นผู้เก้อ คือไม่เสียใจ.
               บทว่า อปฺปติฏฺฐิตจิตฺโต ไม่โกรธ คือไม่มีใจตั้งอยู่ด้วยความโกรธ.
               บทว่า อาลีนมนโส คือ ไม่หดหู่.
               บทว่า อพฺยาปนฺนเจตโส ไม่พยาบาท คือมีจิตเว้นจากพยาบาท.
               บทว่า รชนีเย น รชฺชติ ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คือไม่เกิดราคะในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
               บทว่า โทสนีเย น ทุสฺสติ ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง คือไม่เกิดโทสะในวัตถุอันทำให้เกิดโทสะ.
               บทว่า โมหนีเย น มุยฺหติ ไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง คือไม่ให้โมหะเกิดในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ.
               บทว่า โกปนีเย น กุปฺปติ ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง คือไม่หวั่นไหวในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ.
               บทว่า มทนีเย น มชฺชติ ไม่มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา คือไม่จมลงในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา.
               บทว่า กิเลสนีเย น กิลิสฺสติ ไม่เศร้าหมอง คือไม่เข้าไปเดือดร้อนในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเข้าไปเดือดร้อน.
               บทว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺโต เป็นเพียงแต่เห็นในรูปที่เห็น คือเป็นเพียงแต่เห็นในรูปารมณ์ด้วยจักขุวิญญาณ.
               บทว่า สุเต สุตมตฺโต เป็นแต่เพียงได้ยินในเสียงที่ได้ยินในสัททายตนะด้วยโสตวิญญาณ.
               บทว่า มุเต มุตมตฺโต เป็นเพียงแต่ทราบในสิ่งที่ทราบ คือเป็นเพียงแต่ยึดถือในสิ่งที่ถึงแล้วยึดถือไว้ด้วยฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณและกายวิญญาณ.
               บทว่า วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺโต เป็นแต่เพียงรู้แจ้งในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง คือเป็นแต่เพียงรู้ในธรรมารมณ์ที่รู้ด้วยมโนวิญญาณ.
               บทว่า ทิฏฺเฐ น ลิมฺปติ ไม่ติดในรูปที่เห็น คือไม่ติดในรูปารมณ์ที่เห็นแล้วด้วยจักขุวิญญาณด้วยการติดด้วยตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า ทิฏฺเฐ อนูปโย ไม่มีตัณหาในรูปที่เห็น คือไม่มีตัณหาในรูปารมณ์นั้นเอง.
               บทว่า อนปาโย ได้แก่ ไม่มีจิตประทุษร้าย.
               บทว่า สํวิชฺชติ ย่อมปรากฏ คือย่อมเข้าไปได้.
               บทว่า ปสฺสติ คือ แลดู.
               บทว่า ฉนฺทราโค ความกำหนัดด้วยความพอใจ คือความเยื่อใย.
               บทว่า รูปารามํ ชอบรูปารมณ์ ชื่อว่ารูปารามะ เพราะมีรูปเป็นที่ชอบ.
               บทว่า รูปรตํ คือ ยินดีในรูป.
               บทว่า รูปสมฺมุทิตํ คือ ชื่นชมในรูป.
               บทว่า ทนฺตํ นยนฺติ สมิตึ ชนทั้งหลายย่อมนำพาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม คือชนทั้งหลายเมื่อไปท่ามกลางมหาชนในสวน สนามกีฬาเป็นต้น ย่อมเทียมโคหรือม้าที่ฝึกดีแล้วที่ยาน แล้วนำไป.
               บทว่า ราชา ความว่า แม้พระราชาเมื่อจะเสด็จไปสู่ที่เช่นนั้น ก็ทรงขึ้นพาหนะที่ฝึกดีแล้วนั่นแล.
               บทว่า มนุสฺเสสุ ความว่า บุคคลผู้ฝึกฝนแล้วด้วยอริยมรรค ๔ หมดพยศเป็นผู้ประเสริฐสุดแม้ในหมู่มนุษย์.
               บทว่า โยติวากฺยํ อดกลั้นด้วยคำที่ล่วงเกิน ความว่า บุคคลใดอดกลั้น ไม่โต้ตอบ ไม่เดือดร้อน ต่อคำพูดล่วงเกินเห็นปานนั้น แม้เขาพูดอยู่บ่อยๆ บุคคลเห็นปานนี้ ฝึกฝนดีแล้วชื่อว่าผู้ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า อสฺสตรา ม้าอัสดร คือม้าที่เกิดจากแม่ม้า พ่อลา.
               บทว่า อาชานียา ม้าอาชาไนย คือม้าสามารถรู้เหตุการณ์ที่สารถีฝึกม้าให้ทำได้เร็วพลัน.
               บทว่า สินฺธวา ได้แก่ ม้าที่เกิดในแคว้นสินธพ.
               บทว่า มหานาคา ช้างใหญ่ คือช้างชาติกุญชร.
               บทว่า อตฺตทนฺโต บุคคลผู้ฝึกตนแล้ว.
               อธิบายว่า ม้าอัสดรก็ดี ม้าสินธพก็ดี ช้างชาติกุญชรก็ดี ที่เขาฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่เขาไม่ฝึกก็เป็นสัตว์ไม่ประเสริฐ แต่บุคคลใดฝึกตนดีแล้ว เพราะฝึกตนด้วยธรรมคือมรรค ๔ หมดพยศ บุคคลนี้เป็นผู้ประเสริฐกว่านั้น คือยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหมดเหล่านั้น.
               บทว่า น หิ เอเตหิ ยาเนหิ อันเป็นทิศที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านั้น.
               ความว่า บุคคลใดๆ ไม่พึงไปสู่ทิศ คือนิพพานที่เรียกว่า อคตะ เพราะเป็นทิศไม่เคยไปแม้แต่ฝันด้วยยานมียานช้างเป็นต้น เหมือนบุคคลผู้ฝึกตนแล้วมีตนฝึกด้วยการฝึกอินทรีย์ในเบื้องต้น มีตนฝึกดีแล้วด้วยอริยมรรคภาวนาในเบื้องปลาย หมดพยศ มีปัญญา ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป คือถึงภูมิที่ฝึกตนแล้ว (พระอรหันต์) เพราะฉะนั้นการฝึกตนนั้นแลจึงประเสริฐ.
               บทว่า วิธาสุ น วิกมฺปนฺติ ไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย คือไม่หวั่นไหวในมานะมีอาทิว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้ที่ประเสริฐ.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตา ปุนพฺภวา เป็นผู้พ้นขาดแล้วจากภพใหม่ คือเป็นผู้พ้นด้วยดีแล้วจากการเกิดบ่อยๆ โดยการถือปฏิสนธิในภพใหม่.
               บทว่า ทนฺตภูมึ อนุปฺปตฺตา เป็นผู้บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว คือบรรลุถึงภูมิคืออรหัตผล อันเป็นที่ฝึกโดยส่วนเดียว.
               บทว่า เต โลเก วิชิตาวิโน พระอรหันต์เหล่านั้นเป็นผู้ชนะแล้วในโลก คือพระอรหันต์เหล่านั้นเป็นผู้ชื่อว่ามีชัยชนะอย่างวิเศษในสัตวโลก.
               ก็เพราะผู้มีอินทรีย์อบรมแล้ว ไม่มีภัย ไม่ผิดปกติ ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงตรัสคาถาว่า ยสฺสินฺทฺริยานิ ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               ผู้ใดยกอินทรีย์หกมีจักขุนทรีย์เป็นต้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์มีลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น ด้วยโคจรภาวนา (การเจริญอารมณ์) แล้วให้ยึดถือสติและสัมปชัญญะด้วยวาสนาภาวนา (บุญหรือบาปที่อบรมมา) แล้วจึงอบรมอินทรีย์เหล่านั้นทั้งภายนอกอย่างนี้ ด้วยโคจรภาวนาในภายใน.
               บทว่า สพฺพโลเก ในโลกทั้งปวง. อธิบายว่า บุคคลรู้แจ้งแทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น คือขันธโลกอันสืบต่อจากโลกของตนและคนอื่น อย่างนี้ว่า ความบกพร่องหรือมีความบกพร่องของอินทรีย์ทั้งหลายในที่ใดๆอบรมอินทรีย์ในที่นั้นๆ ด้วยการไม่เพ่งเล็งเป็นต้น แล้วประสงค์จะตาย ตายอย่างผู้ฝึกตนแล้วหวังจะตาย รอคอยเวลาสิ้นชีวิต ไม่กลัวต่อความตาย.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   เราไม่กลัวความตาย เราไม่มีความใคร่ในชีวิต
                         เราไม่หวังมรณะ ไม่หวังชีวิต เรารอคอยความตาย
                         เหมือนลูกจ้างรอรับของไม่มีพิษฉะนั้น.
               บทว่า ภาวิโต ส ทนฺโต คือ ผู้นั้นมีอินทรีย์อบรมแล้วฝึกตนแล้ว.
               บทว่า นิสฺสยา นิสัย คือตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย.
               บทว่า ญตฺวา ธมฺมํ รู้ธรรม คือรู้ธรรมโดยอาการทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า อนิสฺสิโต คือ อันนิสัยสองอย่างนั้นไม่อาศัยแล้วอย่างนี้. ท่านแสดงไว้ว่าไม่มีนิสัย คือตัณหาและทิฏฐินอกจากรู้ธรรม.
               บทว่า ภวาย วิภวาย วา ในภพ หรือในความปราศจากภพ คือสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ. การขยายความแห่งคาถานี้ง่าย.
               บทว่า ตํ พฺรูมิ อุปสนฺโต เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นผู้เข้าไปสงบ คือเรากล่าวบุคคลนั้นดังที่กล่าวไว้แล้วในคาถาหนึ่งๆ ว่า เป็นผู้สงบ.
               บทว่า อตริ โส วิสตฺติกํ บุคคลนั้นข้ามตัณหาอันชื่อว่าวิสัตติกา คือได้ข้ามตัณหาใหญ่อันชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความอยากเป็นต้นนี้ได้แล้ว.
               บทว่า อตฺตโน ทิฏฺฐิยา ราโค อภิชฺฌากายคนฺโถ ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดทางกายคืออภิชฌา. ความว่า ความกำหนัด กล่าวคือความยินดีในทิฏฐิที่ตนยึดถือ ชื่อว่ากายคันถะ (กิเลสเครื่องร้อยรัดทางกาย) คืออภิชฌา.
               บทว่า ปรวาเทสุ อาฆาโต อปฺปจฺจโย ความอาฆาต ความไม่ยินดีในวาทะของคนอื่น คือความโกรธและอาการแสดงความไม่ยินดีในวาทะและการโต้วาทะของคนเหล่าอื่น ชื่อว่ากายคันถะ คือพยาบาท.
               บทว่า อตฺตโน สีลํ วา วตํ วา ศีลหรือพรตของตน คือ ศีลอันได้แก่การเว้นจากเมถุนที่ตนยึดถือไว้ หรือพรตมีการประพฤติพรตเยี่ยงโคเป็นต้น.
               บทว่า สีลพฺพตํ วา หรือศีลและพรตทั้งสองนั้น.
               บทว่า ปรามาโส การยึดถือ คือยึดถือจากอื่นด้วยคำมีอาทิว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีด้วยสิ่งนี้.
               บทว่า อตฺตโน ทิฏฺฐิ อิทํสจฺจาภินิเวโส กายคนฺโถ ทิฏฐิของตน คือความถือมั่นว่าสิ่งนี้จริง ถือทิฏฐิที่ตนยึดถือ ชื่อว่ากายคันถะ คือความยึดถือโดยไม่แยบยลว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ ชื่อว่ากายคันถะ คือถือมั่นว่าสิ่งนี้จริง.
               บทว่า คนฺถา ตสฺส น วิชฺชนฺติ กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ทิฏฐิคันถะทั้งสองย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้นด้วยโสดาปัตติมรรค. พยาปาทกายคันถะ ย่อมไม่มีด้วยอนาคามิมรรค. อภิชฌากายคันถะ ย่อมไม่มีด้วยอรหัตมรรค.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญผู้เข้าไปสงบนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า น ตสฺส ปุตฺตา บุตรทั้งหลายย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺตา ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก มีบุตรเกิดแต่ตนเป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงกำหนดบุตรโดยชื่อว่าบุตรเป็นต้น. ก็บุตรเหล่านั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น. อธิบายว่า เพราะไม่มีบุตรเหล่านั้น บุตรเป็นต้นจึงไม่มี.
               บทว่า อตฺตา ความว่า สัสสตทิฏฐิที่ถือว่า อัตตามีอยู่ย่อมไม่มี.
               บทว่า นิรตฺตา ความว่า อุจเฉททิฏฐิที่ถือว่าขาดสูญ.
               บทว่า คหิตํ นตฺถิ ความว่า สิ่งที่ควรยึดถือย่อมไม่มี.
               บทว่า มุญฺจิตพฺพํ นตฺถิ ความว่า สิ่งที่ควรปล่อยวางย่อมไม่มี.
               บทว่า ยสฺส นตฺถิ คหิตํ ได้แก่ สิ่งที่ยึดถือด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ย่อมไม่มีแก่บุคคลใด.
               บทว่า ตสฺส นตฺถิ มุญฺจิตพฺพํ สิ่งที่ควรปล่อยวางก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น.
               บทว่า คาหมุญฺจนํ สมติกฺกนฺโต ความว่า พระอรหันต์ก้าวล่วงความถือและปล่อยวางแล้ว.
               บทว่า วุฑฺฒิปริหานิวีติวตฺโต ความว่า พระอรหันต์ล่วงเลยความเจริญและความเสื่อมแล้ว.
               บทว่า เยน นํ วชฺชุํ ปุถุชฺชนา อโถ สมณพฺราหฺมณา พวกปุถุชนทั้งพวกสมณะและพราหมณ์ พึงกล่าวโดยโทษใด คือพวกปุถุชน แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดรวมทั้งสมณพราหมณ์ พึงกล่าวกะเขาว่า เขาเป็นผู้กำหนัดแล้วก็ดี เป็นผู้ประทุษร้ายแล้วก็ดี ด้วยโทษมีราคะเป็นต้นใด.
               บทว่า ตํ ตสฺส อปุรกฺขตํ โทษนั้นไม่ห้อมล้อมบุคคลนั้น คือโทษมีราคะเป็นต้นนั้นไม่ห้อมล้อมบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้น.
               บทว่า ตสฺมา วาเทสุ เนญฺชติ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะวาทะทั้งหลาย คือไม่หวั่นไหวในเพราะคำพูดนินทา.
               บทว่า เนญฺชติ เป็นบทยกขึ้นแสดงบทขยายความ.
               บทว่า น อิญฺชติ คือ ไม่ทำความหวั่นไหว.
               บทว่า น จลติ คือ ไม่น้อมไปในเพราะวาทะนั้น.
               บทว่า น เวธติ ได้แก่ ไม่ดิ้นรน เพราะไม่สามารถจะให้หวั่นไหวได้.
               บทว่า น ปเวธติ คือ ไม่สะท้าน.
               บทว่า น สมฺปเวธติ คือ ไม่สะเทือน.
               บทว่า น อุสฺเสสุ วทเต ไม่กล่าวในความเป็นผู้สูงกว่าเขา คือทำตนในความวิเศษไว้ภายใน แล้วไม่กล่าวดูหมิ่นว่า เราเป็นผู้วิเศษกว่าเขา.
               ในสองบทนอกนั้นก็มีนัยนี้.
               บทว่า กปฺปนฺเนติ อกปฺปิโย คือ เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนดสองอย่าง. เพราะเหตุไร. เพราะท่านกล่าวไว้ว่า เป็นผู้ไม่มีความกำหนด คือละความกำหนดได้แล้ว. การขยายความคาถานี้ง่าย.
               บทว่า สกํ ของตน คือยึดถือว่า ของเรา.
               บทว่า อสตา จ น โสจติ เมื่อสิ่งที่ถือว่าของตนไม่มี ย่อมไม่เศร้าโศก คืออวิชชาและมานะเป็นต้นไม่มี ย่อมไม่เศร้าโศก.
               บทว่า ธมฺเมสุ จ น คจฺฉติ ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย คือไม่ถึงความลำเอียงด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้นในธรรมทั้งปวง.
               บทว่า สเว สนฺโตติ วุจฺจติ คือ บุคคลนั้นแลเป็นผู้สูงสุดกว่าคน เรียกว่า เป็นผู้สงบ. การขยายความคาถาแม้นี้ก็ง่าย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต. เมื่อจบเทศนา เทวดาแสนโกฏิได้บรรลุพระอรหัต. การนับจำนวนพระโสดาบันเป็นต้นไม่มี.


               จบอรรถกถาปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=4612&Z=5616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=7251
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=7251
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :