ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

               อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส               
               ภาคที่ ๒               
               อรรถกถาปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
               พึงทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยเหมือนกันแห่งสัตว์นี้ว่า กถํทสฺสี บุคคลมีความเห็นอย่างไรดังนี้เป็นต้น และสูตรอื่นจากสูตรนี้อีก ๕ สูตร คือ กลหวิวาทสูตร ๑ จูฬวิยูหสูตร ๑ มหาวิยูหสูตร ๑ ตุวฏกสูตร ๑ อัตตทัณฑสูตร ๑ แต่โดยต่างกันพึงทราบดังต่อไปนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงธรรมให้เป็นที่สบายของเทวดาที่เป็นราคจริตในมหาสมัยนั้น ทรงให้พระพุทธนิมิตตรัสถามปัญหากะพระองค์แล้วจึงได้ตรัสสัมมาปริพพชานียสูตร ขึ้นด้วยประการใด ในมหาสมัยนี้ก็ด้วยประการนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจิตของทวยเทพผู้มีจิตเกิดขึ้นว่า ก่อนกายแตกควรจะทำอะไรหนอ เพื่อทรงอนุเคราะห์ทวยเทพเหล่านั้นจึงทรงพาพระพุทธนิมิตพร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๒,๕๐๐ รูปมาทางอากาศ แล้วทรงให้พระพุทธนิมิตทูลถามพระองค์ จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.
               ตรัสไว้อย่างไร.
               ตรัสไว้ดังต่อไปนี้
               ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง เป็นสัตว์ผู้วิเศษ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้ถึง ได้แสวงหา ได้เที่ยวตามไปด้วยใจของโลกพร้อมด้วยเทวโลกด้วยตนเอง บรรดารูปารมณ์ที่จำแนกออกไปโดยมีสีเขียวเป็นต้น รูปารมณ์ไรๆ หรือบรรดาสัททารมณ์ที่จำแนกออกไปโดยมีเสียงกลองเป็นต้น อารมณ์มีสัททารมณ์เป็นต้นไรๆ มิได้มีในที่ไหนๆ คือไม่มาสู่คลองในห้วงพระญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเลย.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เทวดาและมนุษย์ได้เห็น ได้ฟัง ได้รู้ ได้รู้แจ้ง ได้ถึง ได้เที่ยวตามไปด้วยใจของโลกพร้อมด้วยเทวโลก เราย่อมรู้สิ่งนั้น เราได้รู้ทั่วถึงสิ่งนั้นดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำทวยเทพเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็น ๒ ส่วนโดยเป็นภัพพะ (ควร) และอภัพพะ (ไม่ควร). สัตว์ทั้งหลายที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม ชื่อว่าอภัพพะ. พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงเหลียวแลสัตว์เหล่านั้น แม้อยู่ในที่เดียวกัน. ส่วนสัตว์ตรงกันข้าม ชื่อว่าภัพพะ. พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปสงเคราะห์สัตว์เหล่านั้นแม้อยู่ไกล.
               ในที่ประชุมเทวดานั้น เทวดาเหล่าใดเป็นอภัพพะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละเทวดาเหล่านั้น ทรงสำรวจเทวดาพวกที่เป็นภัพพะ ครั้นทรงสำรวจแล้วได้ทรงทำให้เป็น ๖ ส่วนตามจริต คือพวกที่เป็นราคจริตประมาณเท่านี้ พวกที่เป็นโทสจริตเป็นต้นประมาณเท่านี้.
               ต่อแต่นั้น พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงพระธรรมเทศนาเป็นที่สบายของเทวดาเหล่านั้น จึงทรงกำหนดเทศนาไว้ว่า เราจักแสดงสัมมาปริพพาชนียสูตรแก่เทวดาจำพวกราคจริต จักแสดงกลหวิวาทสูตรแก่เทวดาจำพวกโทสจริต จักแสดงมหาวิยูหสูตรแก่เทวดาจำพวกโมหจริต จักแสดงจูฬวิยูหสูตรแก่เทวดาจำพวกวิตกจริต จักแสดงตุวฏกสูตรแก่เทวดาจำพวกศรัทธาจริต จักแสดงปุราเภทสูตรแก่เทวดาจำพวกพุทธิจริต แล้วทรงคำนึงถึงบริษัทนั้นต่อไปว่า บริษัทจะพึงรู้โดยอัตตัชฌาสัย (อัธยาศัยของตน) โดยปรัชฌาสัย (อัธยาศัยของผู้อื่น) โดยอัตถุปัตติกะ (เรื่องราวที่เกิดขึ้น) หรือโดยปุจฉาวสะ (อำนาจของคำถาม) หนอ.
               ครั้นพระองค์ทรงทราบว่าบริษัทจะพึงรู้ได้ด้วยอำนาจคำถาม จึงทรงดำริว่า จะมีใครบ้างไหมหนอที่สามารถจะกำหนดอัธยาศัยของเทวดาทั้งหลาย แล้วถามปัญหาตามจริต ทรงเห็นว่า บรรดาภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเหล่านั้นแม้แต่รูปเดียวก็ไม่สามารถ. แล้วจึงทรงหวนระลึกถึงพระอสีติมหาสาวกและพระอัครสาวกทั้งสอง ทรงเห็นว่าแม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่สามารถ จึงทรงดำริต่อไปว่า หากเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเล่าจะสามารถหรือไม่หนอ ทรงทราบว่าแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่สามารถ จึงหวนระลึกถึงท้าวสักกะและท้าวสุยามะเป็นต้นองค์ใดองค์หนึ่งจะพึงสามารถบ้าง หากท้าวสักกะและท้าวสุยามะองค์ใดองค์หนึ่งสามารถก็จะให้ถาม พระองค์จะแก้ด้วยพระองค์เอง. แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่มีใครสามารถ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่าพระพุทธเจ้าเช่นเราเท่านั้นพึงสามารถ แต่ยังมีพระพุทธเจ้าองค์อื่นในที่ไหนอีกบ้างไหม. พระองค์จึงแผ่พระญาณอันหาที่สุดมิได้ไปในโลกธาตุอันไม่มีที่สุด ตรวจดูโลก มิได้ทรงเห็นพระพุทธเจ้าองค์อื่นเลย ข้อที่พระองค์มิได้ทรงเห็นผู้เสมอด้วยพระองค์ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้ในที่พระองค์ประสูติก็มิได้ทรงเห็นผู้เสมอด้วยพระองค์ ตามนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถาพรหมชาลสูตร จึงได้ทรงบันลือสีหนาทแม้ในธรรมที่ใครๆ ให้เป็นไปไม่ได้ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เลิศแห่งโลกดังนี้.
               ครั้นพระองค์มิได้ทรงเห็นผู้อื่นเสมอด้วยพระองค์อย่างนี้จึงทรงดำริว่า หากเราถามแล้วตอบด้วยตนเอง เทวดาเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ ก็เมื่อพระพุทธเจ้าองค์อื่นถาม และเมื่อเราตอบจักน่าอัศจรรย์กว่า และเทวดาทั้งหลายก็จักสามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้ เพราะฉะนั้น เราจักเนรมิตพระพุทธนิมิต แล้วทรงเข้าฌานมีอภิญญาเป็นบาท ทรงกระทำบริกรรมด้วยกามาวจรจิตว่า การถือบาตรและจีวร การดู การเหลียว การคู้ การเหยียด จงเหมือนเราเถิด. แล้วทรงอธิษฐานด้วยรูปาวจรจิตว่า ขอพระพุทธนิมิตจงมา ดุจแหวกมณฑลพระจันทร์ซึ่งโผล่ขึ้นจากการล้อมของภูเขายุคนธรด้านทิศปราจีนเถิด.
               หมู่เทพเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ดูโน่นท่านทั้งหลาย พระจันทร์โผล่ขึ้นอีกดวงแล้ว. พอใกล้เข้ามา หมู่เทพละพระจันทร์กล่าวว่า ไม่ใช่พระจันทร์ พระอาทิตย์ขึ้น พอใกล้เข้ามาอีก ไม่ใช่พระอาทิตย์ เป็นเทพวิมานองค์หนึ่ง พอใกล้เข้ามา ไม่ใช่เทพวิมาน เป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง พอใกล้เข้ามาอีก ไม่ใช่เทพบุตร เป็นมหาพรหมองค์หนึ่ง พอใกล้เข้ามาอีก ไม่ใช่มหาพรหม เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเสด็จมา ดังนี้.
               บรรดาทวยเทพเหล่านั้น เทพที่เป็นปุถุชนคิดกันว่า การประชุมเทวดานี้จักมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวหรือมีถึงสององค์. พวกเทพที่เป็นอริยะคิดกันว่าโลกธาตุหนึ่งมิได้มีพระพุทธเจ้าถึงสองพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นให้คล้ายพระองค์เป็นแน่.
               ลำดับนั้น เมื่อหมู่เทพกำลังดูอยู่นั้นเอง พระพุทธนิมิตเสด็จมาถึงมิได้ไหว้พระทศพล ทำเสมอๆ กันในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่เนรมิตไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ แม้พระพุทธนิมิตก็มี ๓๒ เหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระฉัพพรรณรังสีซ่านออกจากพระวรกาย แม้พระพุทธนิมิตก็เหมือนกัน. พระรัศมีในพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมกระทบในพระวรกายของพระพุทธนิมิต. พระรัศมีของพระพุทธนิมิตก็ย่อมกระทบในพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระรัศมีเหล่านั้นพุ่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์จรดถึงภวัคคพรหม กลับจากภวัคคพรหมจรดลงบนที่สุดขม่อมของทวยเทพแล้วประดิษฐาน ณ ขอบปากจักรวาล. ห้องจักรวาลทั้งสิ้นไพโรจน์ดุจเรือนเจดีย์ที่ผูกด้วยไม้จันทันโค้งทำด้วยทองคำ. ทวยเทพในหมื่นจักรวาลรวมกันในจักรวาลเดียวเข้าไปยืนอยู่ระหว่างห้องพระรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์.
               พระพุทธนิมิต พอประทับนั่งเท่านั้น เมื่อจะทูลถามถึงอธิปัญญาเป็นต้น จึงตรัสคาถาโดยนัยมีอาทิว่า กถํทสฺสี กถํสีโล อุปสนฺโตติ วุจฺจติ ความว่า บุคคลมีความเห็นอย่างไร มีศีลอย่างไร อันบัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้เข้าไปสงบแล้ว ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นก่อน. พระพุทธนิมิตนั้นถามถึงอธิปัญญาว่า บุคคลมีความเห็นอย่างไร ถามถึงอธิศีลว่ามีศีลอย่างไร ถามถึงอธิจิตว่าเป็นผู้เข้าไปสงบแล้ว.
               บทที่เหลือชัดเจนดีแล้ว. เพื่อความแจ่มแจ้งในปัญหาที่พระพุทธนิมิตถามเป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในปิฎก๑- ว่าดังนี้.
                         บุคคลสอบถามอยู่ ย่อมเข้าถึงธรรมอันเป็นกุศล
               ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่เกิด พระพุทธ
               เจ้าทั้งหลายย่อมทรงกล่าวถึงบุคคลนั้นเป็นไฉน.
                         บุคคลมีสงสารสิ้นไปแล้ว ยังไม่คลายความกำหนัด
               ยังไม่เป็นพระเสกขะ ยังไม่เห็นธรรม ยังไม่เป็นพระขีณาสพ
               ยังทรงร่างกายไว้ในที่สุด พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรง
               กล่าวถึงบุคคลนั้นเป็นไฉน.
                         บุคคลเป็นผู้ไม่พร้อมด้วยทุกขสัจจะ ไม่พร้อมด้วย
               มรรคสัจจะ จะดับจากสมุทยสัจจะทั้งใกล้ไกลได้แต่ไหน
               พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงกล่าวถึงบุคคลนั้นเป็นไฉน.
                         จิตนั้นไม่มีเหตุ ไม่อาศัยรูป มีปัจจัย ไม่ใช่อสังขตะ
               มีอสังขตะเป็นอารมณ์ ไม่ใช่รูป พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง
               กล่าวถึงบุคคลนั้นเป็นไฉน.

____________________________
๑- อรรถกถาว่า ไม่มีในพระไตรปิฎก.

               ในคาถาเหล่านั้น คาถาที่หนึ่งพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึง พระพุทธนิมิต.
               คาถาที่สองกล่าวหมายถึงพระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย.
               คาถาที่สามกล่าวหมายถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล.
               คาถาที่สี่พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงจิตต๒- สมังคีอันเป็นปุเรจาริก (เที่ยวไปในก่อน) ในมโนทวารแห่งการพิจารณาถึงนิพพานในอรูปภพ.
____________________________
๒- ได้แก่ มโนทวาราวัชชนะจิต

               บทว่า กีทิเสน ทสฺสเนน คือ ด้วยการเห็นเช่นไร.
               บทว่า กึสณฺฐิเตน ด้วยความดำรงอยู่อย่างไร คือด้วยการเห็นคล้ายกันอย่างไร.
               บทว่า กึปกาเรน ด้วยประการอย่างไร คือด้วยวิธีอย่างไร.
               บทว่า กึปฏิภาเคน ด้วยส่วนเปรียบอย่างไร คือด้วยอาการอย่างไร.
               บทว่า ยํ ปุจฺฉามิ ได้แก่ ข้าพระองค์ถามถึงบุคคลใด ขอจงตรัสพยากรณ์ถึงบุคคลนั้นแก่ข้าพระองค์.
               บทว่า ยาจามิ คือ ขอให้บอก.
               บทว่า อชฺเฌสามิ คือ ขอให้ตรัสบอก.
               บทว่า ปสาเทมิ ขอให้ประสาท คือขอยังความโสมนัสให้เกิดในพระสันดานของพระองค์.
               บทว่า พฺรูหิ ตรัสเล่าเป็นบทยกหัวข้อของบทไขความ.
               บทว่า อาจิกฺข บอก คือกล่าวด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ควรแสดง.
               บทว่า เทเสหิ แสดง คือชี้ให้เห็น.
               บทว่า ปญฺญาเปหิ แถลง คือให้รู้ ท่านกล่าวว่าตั้งอัปปนา (ความแนบแน่น) ไว้ด้วยหัวข้อคือญาณจึงแถลงให้รู้.
               บทว่า ปฏฺฐเปหิ แต่งตั้ง คือบัญญัติ. อธิบายว่า ให้เป็นไป. หรือขอจงตั้งไว้ด้วยหัวข้อคือญาณ.
               บทว่า วิวร เปิดเผย คือขอจงทำให้เปิดเผย. อธิบายว่า เปิดเผยแล้วจึงแสดง.
               บทว่า วิภช จำแนก ความว่า ชี้แจงด้วยการจำแนกแสดง.
               บทว่า อุตฺตานีกโรหิ ทำให้ตื้น คือขอจงทำให้ปรากฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อาจิกฺข เป็นรากเหง้าของบททั้งหลาย ๖ บทมีเทศนาเป็นต้น.
               ท่านกล่าวบท ๖ บทมีเทศนาเป็นต้น เพื่อเปิดเผยความนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เทเสหิ ความว่า ขอพระองค์จงแสดงโดยยกหัวข้อก่อนโดยสังเขปเพื่ออุคฆติตัญญู (เพียงยกหัวข้อก็รู้ทันที).
               จริงอยู่ บุคคลผู้เป็นอุคฆติตัญญู ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดธรรมที่ท่านกล่าวโดยย่อและรู้ครั้งแรก.
               บทว่า ปญฺญาเปหิ ความว่า ขอพระองค์จงทรงแถลงด้วยการขยายความแห่งบทที่ย่อไว้ก่อนโดยพิสดาร เมื่อวิปจิตัญญู (รู้ต่อเมื่อขยายความในหัวข้อออกไป) ผู้มีปัญญาด้วยใจยินดีต่อธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า ปฏฺฐเปหิ ความว่า ขอพระองค์จงทรงแต่งตั้งด้วยการขยายความจำแนกข้อความที่ขยายให้กว้างขวางออกไปอีก.
               บทว่า วิวร ความว่า ขอพระองค์จงทรงเปิดเผยถ้อยคำแห่งบทที่ขยายนั้นบ่อยๆ.
               บทว่า วิภช ความว่า ขอพระองค์จงทรงจำแนกด้วยการอธิบายจำแนกข้อความที่ตรัสไว้แล้วบ่อยๆ.
               บทว่า อุตฺตานีกโรหิ ความว่า ขอพระองค์จงทรงทำให้ตื้นด้วยตรัสข้อที่เปิดเผยแล้วให้พิสดาร และด้วยตรัสข้อที่พิสดารด้วยการชี้แจง. เทศนานี้เพื่อรู้แจ้งแทงตลอดของเนยยบุคคล (บุคคลผู้ควรแนะนำสั่งสอนได้).
               ก็ในการตอบปัญหาพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแก้อธิปัญญาเป็นต้น โดยสรุปเมื่อจะทรงแสดงถึงการสงบกิเลสที่ท่านกล่าวว่าเป็นผู้เข้าไปสงบโดยสภาวะมีอธิปัญญาเป็นต้น โดยอนุโลมแก่อัธยาศัยของเทวดาต่างๆ จึงได้ตรัสคาถามีคาถาอาทิว่า วีตตณฺโห ผู้ปราศจากตัณหา ดังนี้.
               ในคาถาเหล่านั้น พึงทราบการเชื่อมคาถานี้ว่า ตํ พฺรูมิ อุปสนฺโต เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้เข้าถึงความสงบแล้วดังนี้แห่ง ๘ คาถาตอนต้น. แต่นั้นพึงทราบนัยการพิจารณาบทตามลำดับ ด้วยบทหลังทั้งหมดนี้ว่า สเว สนฺโตติ วุจฺจติ ผู้นั้นแล เรากล่าวว่าเป็นผู้สงบ ดังนี้ แห่งคาถาทั้งหลายอื่น.
               บทว่า วีตตณฺโห ปุรา เภทา ก่อนแต่กายแตกพระอรหันต์เป็นผู้ปราศจากตัณหา คือพระอรหันต์ละตัณหาได้ก่อนแต่กายแตกแล้ว.
               บทว่า ปุพฺพมนฺตมนิสฺสิโต คือ ผู้ไม่อาศัยส่วนเบื้องต้นมีกาลในอดีตเป็นต้น.
               บทว่า เวมชฺเฌ นูปสงฺเขยฺโย อันใครๆ นับไม่ได้ในส่วนกลาง คืออันใครๆ นับไม่ได้โดยนัยมีอาทิว่า พระอรหันต์ยินดีแล้วในกาลอันเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า ตสฺส นตฺถิ ปุเรกฺขตํ การทำไว้ในเบื้องหน้ามิได้มีแก่พระอรหันต์นั้น คือพระอรหันต์นั้นมิได้มีแม้การทำไว้ในเบื้องหน้าในกาลอันเป็นอนาคต เพราะไม่มีการทำไว้เบื้องหน้าทั้งสอง พึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นผู้เข้าไปสงบแล้ว ดังนี้.
               บทว่า ปุรา กายสฺส เภทา ก่อนแต่กายแตก คือก่อนแต่กรชกาย (ร่างกาย) แตกนั่นเอง.
               บทว่า อตฺตภาวสฺส ได้แก่ อัตภาพทั้งสิ้น.
               บทว่า กเฬวรสฺส นิกฺเขปา ก่อนแต่ทิ้งซากศพ คือตั้งสรีระไว้.
               บทว่า ชีวิตินฺทฺริยสฺส อุปจฺเฉทา ก่อนแต่ขาดชีวิตินทรีย์ คือก่อนแต่ขาดชีวิตินทรีย์สองอย่าง.
               บทว่า ปุพฺพนฺโต วุจฺจติ อตีโต อทฺธา อดีตกาลท่านเรียกว่าส่วนเบื้องต้น คืออดีตกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นท่านกล่าวว่า กาลล่วงไปแล้ว.
               บทว่า อตีตํ อทฺธานํ อารพฺภ พระอรหันต์ปรารภถึงอดีตกาล คือละตัณหาได้เพราะอาศัยอดีตกาล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึง ภัทเทกรัตตปริยาย (ปริยายว่าด้วยราตรีเดียวเจริญ) แม้อื่นอีกจึงตรัสคำมีอาทิว่า อถวา อีกอย่างหนึ่งดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า เอวรูโป อโหสึ เราได้มีรูปอย่างนั้น คือเราได้มีรูปอย่างนั้นโดยเป็นรูปที่น่าพอใจอย่างนี้ว่า แม้จะดำก็ได้มีสีเหมือนแก้วมณีสีคราม. ในอดีตกาลเราได้มีเวทนาอย่างนี้ ด้วยอำนาจสุขเวทนา โสมนัสเวทนาอันเป็นกุศล เราได้มีสัญญาอย่างนี้ ได้มีสังขารอย่างนี้ ได้มีวิญญาณอย่างนี้ ด้วยอำนาจสัญญาเป็นต้นอันสัมปยุตด้วยเวทนานั้นนั่นเอง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า นนฺทึ สมนฺนาเนติ ไม่เป็นไปตามความเพลิดเพลิน คือพระอรหันต์ทั้งหลายไม่เป็นไปตามความอยากในรูปเป็นต้นเหล่านั้น หรือทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยความอยากนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงมหากัจจานภัทเทกรัตตปริยายโดยปริยายอื่นอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า อถวา อิติ เม จกฺขุํ อโหสิ อีกอย่างหนึ่ง เราได้มีจักษุดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า จกฺขุํ ได้แก่ จักษุประสาท.
               บทว่า รูปา ได้แก่ รูปอันมีสมุฏฐาน ๔. โดยนัยนี้พึงทราบแม้อายตนะที่เหลือ.
               บทว่า วิญฺญาณํ ได้แก่ วิญญาณอันเป็นที่อาศัย.
               บทว่า น ตทภินนฺทติ ไม่เพลินจักษุและรูปนั้น คือไม่เพลินจักษุและรูปนั้นด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า มโน ในบทนี้ว่า อิติ เม มโน อโหสิ อิติ ธมฺมา เราได้มีใจดังนี้ มีธรรมารมณ์ดังนี้เป็นภวังคจิต.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมารมณ์อันเป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า หสิตลปิตกีฬิตานิ ได้แก่ หัวเราะเจรจาเล่น คือหัวเราะจนเห็นฟัน เจรจาพร่ำเพรื่อและเล่นกายกรรมเป็นต้น.
               บทว่า น ตทสฺสาเทติ คือ พระอรหันต์ย่อมไม่พอใจการหัวเราะเป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า น ตํ นิกาเมติ ไม่ชอบใจการหัวเราะเป็นต้นนั้น คือไม่ทำความใคร่.
               บทว่า น เตน จ วิตฺตึ อาปชฺชติ คือ พระอรหันต์ไม่ถึงความปลื้มใจ คือความยินดีด้วยการหัวเราะเป็นต้นนั้น.
               บทว่า ตํ ตํ ปจฺจยํ ปฏิจฺจ อุปฺปนฺโน เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยนั้นๆ คือปัจจุบัน.
               บทว่า รตฺโตติ นูปสงฺเขยฺโย คือ อันใครๆ นับไม่ได้ว่าเป็นผู้กำหนัดด้วยความยินดี.
               แม้ในตอนต่อๆ ไปก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบความเป็นไปตามความเพลินอันได้แก่ความเป็นไปด้วยตัณหาและทิฏฐิ ด้วยอำนาจรูปที่ประณีตและน่าพึงพอใจเป็นต้น แม้ในบทมีอาทิว่า เอวํรูโป สิยา พึงเป็นผู้มีอย่างนี้เป็นรูปดังนี้.
               บทว่า น ปณิทหติ คือ ไม่ตั้งอยู่ด้วยอำนาจความปรารถนา.
               บทว่า อปฺปณิธานปจฺจยา เพราะเหตุไม่ตั้งใจไว้ คือเพราะเหตุไม่ตั้งความปรารถนาไว้.
               บทว่า อสนฺตาสี ผู้ไม่สะดุ้ง คือไม่สะดุ้งเพราะไม่ได้นั้นๆ.
               บทว่า อวิกตฺถี ผู้ไม่โอ้อวด คือมีปกติไม่โอ้อวดด้วยศีลเป็นต้น.
               บทว่า อกุกฺกุจฺโจ ไม่มีความคะนอง คือเว้นจากความคะนองมือเป็นต้น.
               บทว่า มนฺตภาณี พูดด้วยปัญญา คือกำหนดด้วยปัญญาก่อนแล้วจึงกล่าว.
               บทว่า อนุทฺธโต ไม่ฟุ้งซ่าน คือเว้นจากการฟุ้งซ่าน.
               บทว่า สเว วาจายโต สำรวมวาจา คือสำรวมระวังการพูด เป็นผู้กล่าววาจาเว้นจากโทษ ๔ ประการ.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ไม่โกรธในคำว่าผู้ไม่โกรธ คือเว้นจากความโกรธ ก็แต่ว่าความโกรธควรกล่าวก่อนที่จะกล่าวคำใด.
               บทว่า โกโธ ตาว วตฺตพฺโพ ได้แก่ ควรกล่าวความโกรธก่อน.
               บทว่า ทสหากาเรหิ โกโธ ชายติ ความโกรธย่อมเกิดด้วยอาการ ๑๐ อย่าง.
               บทว่า อนตฺถํ เม อจริ เขาได้ประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เรา คือได้กระทำความไม่เจริญให้แก่เรา. พึงทราบความในทุกบทโดยทำนองนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดในที่ไม่ใช่ฐานะ คือไม่ใช่เหตุที่ควรโกรธ เพราะบางคน ฝนตกมากก็โกรธ ฝนไม่ตกเลยก็โกรธ พระอาทิตย์ร้อนไปก็โกรธ ไม่ร้อนก็โกรธ เมื่อลมพัดก็โกรธ ไม่พัดก็โกรธ ไม่สามารถจะกวาดใบไม้ที่ต้นโพธิได้ก็โกรธ ไม่สามารถจะห่มจีวรได้ก็โกรธลม สะดุดหกล้มก็โกรธตอ ท่านกล่าวว่า ความอาฆาตย่อมเกิดในที่อันไม่ใช่ฐานะหมายถึงข้อนี้.
               ความต่างแห่งกรรมบถย่อมมีได้เพราะเกิดขึ้นปรารภสัตว์ทั้งหลายในฐานะ ๙ อย่างในหนหลังนั้น. แต่ความอาฆาตในที่ไม่ใช่ฐานะเกิดในสังขารทั้งหลายย่อมไม่กระทำความต่างแห่งกรรมบถ.
               จิตปองร้ายเพราะจิตเกิดอาฆาต. ความมุ่งร้ายมีกำลังกว่า. ความขัดเคืองด้วยอำนาจความเบียดเบียน. ความขุ่นเคืองเพราะโกรธตอบ. ความเคืองด้วยอำนาจความโกรธ.
               บทว่า ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ เพิ่มด้วยอำนาจของอุปสัค. ความชังด้วยอำนาจการประทุษร้าย.
               บทว่า ความชังทั่ว ความชังเสมอ เพิ่มด้วยอำนาจของอุปสัค. ความที่จิตเห็นผิด อาการเห็นผิด อาการเปลี่ยนแปลง ชื่อว่าความพยาบาทแห่งจิต. ชื่อว่าความประทุษร้ายทางใจ เพราะใจเกิดประทุษร้าย. ความโกรธด้วยอำนาจความเคือง. กิริยาที่โกรธมีอาการเคือง. ความเป็นผู้โกรธคือความเป็นผู้เคือง. ความชังเพราะความประทุษร้าย. อาการชังคือกิริยาที่ชัง. ความเป็นผู้ชังคือความเป็นผู้ประทุษร้าย. ความพยาบาทคือความปองร้ายเพราะละภาวะเดิม. อาการปองร้ายคือกิริยาที่พยาบาท. ความพิโรธเพราะความมุ่งร้าย. ความพิโรธตอบเพราะความมุ่งร้ายบ่อยๆ.
               บทนี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจของอาการพิโรธและอาการพิโรธตอบ.
               คนกระด้างดุร้าย ท่านกล่าวว่าความเป็นผู้ดุร้าย ความเป็นผู้ดุร้ายชื่อว่าจัณฑิกกะ. ชื่อว่าเป็นผู้เพาะวาจาชั่ว เพราะไม่เป็นผู้เพาะวาจาดี การพูดชั่วยังไม่บริบูรณ์ทีเดียว.
               จริงอยู่ ในเวลาโกรธย่อมไม่มีคำพูดที่บริบูรณ์. แม้บทว่าวาจาบริบูรณ์จะมีแก่ใครๆ ก็ไม่เป็นประมาณ. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อว่าอัสสุโรปะ เพราะเพาะน้ำตา ด้วยอรรถว่าให้เกิดน้ำตา. นั่นไม่ใช่เหตุเพราะแม้ดีใจก็เกิดน้ำตาได้. ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเพราะไม่มีใจแช่มชื่น โดยตรงกันข้ามกับมีใจแช่มชื่นดังได้กล่าวไว้ในหนหลัง. ก็เพราะความไม่แช่มชื่นแห่งจิตนั้นย่อมมีแก่จิตเท่านั้นไม่มีแก่สัตว์ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า จิตฺตสฺส แห่งจิต.
               บทว่า อธิมตฺตปริตฺตตา เวทิตพฺพา ควรรู้ความโกรธมากโกรธน้อย คือความมากและความน้อย. อธิบายว่า ความโกรธมีกำลังมากและมีกำลังอ่อน.
               บทว่า กิญฺจิ กาเล คือ บางครั้ง. ปาฐะว่า กิญฺจิ กาลํ บางเวลาบ้าง.
               บทว่า จิตฺตาวิลกรณมตฺโต โหติ คือ ความโกรธเป็นเพียงทำจิตให้ขุ่นมัว. อธิบายว่า เป็นเพียงทำจิตให้เศร้าหมอง. ปาฐะว่า จิตฺตปิฬากรณมตฺโต เป็นเพียงกระทำการบีบคั้นจิตบ้าง. นั้นไม่ดี. อธิบายว่า เป็นเพียงทำจิตนั้นให้ลำบาก.
               บทว่า น จ ตาว มุขกุลานวิกุลาโน โหติ แต่ยังไม่ถึงให้หน้าเง้าหน้างอก็มี คือไม่ถึงทำหน้าเบี้ยวหน้าบูดก็มี.
               บทว่า น จ ตาว หนุสญฺโจปโน โหติ ความโกรธไม่ถึงทำให้คางสั่นก็มี คือไม่ถึงทำให้คางสั่นไปมาก็มี.
               บทว่า น จ ตาว ผรุสวาจํ นิจฺฉารโณ โหติ ความโกรธยังไม่ให้เปล่งผรุสวาจาก็มี คือความโกรธยังไม่ถึงออกภายนอก ด้วยการเปล่งผรุสวาจาตัดจุดสำคัญของร่างกายของคนอื่น.
               บทว่า น จ ตาว ทิสาวิทิสํ อนุวิโลกโน โหติ ความโกรธไม่ถึงให้เหลียวดูทิศต่างๆ ก็มี คือไม่ถึงให้เหลียวดูทิศน้อยบ่อยๆ เพื่อหาท่อนไม้เป็นต้น เพื่อเงื้อตีคนอื่น.
               บทว่า น จ ตาว ทณฺฑสตฺถปรามสโน โหติ ความโกรธยังไม่ถึงจับท่อนไม้และศัสตราก็มี คือไม่ถึงจับท่อนไม้และศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น เพื่อความอาฆาต.
               บทว่า น จ ตาว ทณฺฑสตฺถํ อพฺภุกฺกิรโณ โหติ ความโกรธยังไม่ถึงเงื้อท่อนไม้และศัสตราก็มี คือไม่ถึงเงื้อท่อนไม้และศัสตราประหารดังที่กล่าวไว้แล้วก็มี.
               บทว่า น จ ตาว ทณฺฑสตฺถํ อภินิปาตโน โหติ ความโกรธยังไม่ถึงให้ท่อนไม้และศัสตราถูกต้องก็มี คือยังไม่ถึงขว้างท่อนไม้และศัสตราสองอย่างเพื่อประหารคนอื่น.
               บทว่า น จ ตาว ฉิทฺทวิฉิทฺทกรโณ โหติ ความโกรธยังไม่ถึงทำให้เป็นแผลใหญ่ก็มี คือไม่ทำให้ร่างกายคนอื่นแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยการขว้างท่อนไม้และศัสตราเป็นต้น และไม่ทำให้เป็นแผลโดยอาการหลายอย่าง.
               ปาฐะว่า ฉินฺทวิฉินฺทกรโณ ก็มีบ้าง.
               บทว่า น จ ตาว สมฺภญฺชนปลิภญฺชโน โหติ ความโกรธยังไม่ถึงทำให้กระดูกหักก็มี คือยังไม่ถึงทำให้ร่างกายขาดเป็นจุณวิจุณไป.
               บทว่า น จ ตาว องฺคมงฺคาปกฑฺฒโน โหติ ความโกรธยังไม่ถึงทำให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไปก็มี คือยังไม่ถึงทำให้อวัยวะน้อยใหญ่แหลกละเอียดไป.
               บทว่า น จ ตาว ชีวิตา ปนาสโน โหติ ความโกรธยังไม่ถึงให้ชีวิตดับก็มี คือยังไม่ถึงให้ชีวิตินทรีย์ดับ.
               บทว่า น จ ตาว สพฺพงฺคปริจฺจาคาย สณฺฐิโต โหติ ความโกรธไม่ถึงเสียสละชีวิตของตนให้หมดไปก็มี คือยังไม่ถึงเพื่อให้ชีวิตทั้งหมดของผู้อื่นพินาศ หรือชีวิตของตนพินาศ.
               ข้อนี้ท่านอธิบายว่า เมื่อใดดำรงอยู่เพื่อฆ่าผู้อื่นแล้วจึงฆ่าตน เมื่อนั้นชื่อว่าสละอวัยวะให้หมด.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความ
                         โกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้า
                         ทั้งหลาย ทรงสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ
                         มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่
                         เศร้าโศก.

               บทว่า ยโต แปลว่า เมื่อใด.
               บทว่า ปรปุคฺคลํ ฆาเตตฺวา ความโกรธให้ฆ่าบุคคลอื่น คือทำบุคคลอื่นให้พินาศ.
               บทว่า อตฺตานํ ฆาเตติ ความโกรธให้ฆ่าตน คือยังตนให้ตาย.
               บทว่า ปรมุสฺสาหคโต ความโกรธเป็นไปรุนแรงอย่างหนัก คือถึงความมีกำลังอย่างยิ่ง.
               บทว่า ปรมเวปุลฺลปฺปตฺโต คือ ถึงความเป็นของมากอย่างยิ่ง.
               บทว่า โกธสฺส ปหีนตฺตา เพราะละความโกรธได้แล้ว คือละความโกรธมีประการดังกล่าวแล้วได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               บทว่า โกธวตฺถุสฺส ปริญฺญาตตฺตา เพราะกำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธ คือเพราะกำหนดรู้วัตถุอันได้แก่สิ่งน่ารักไม่น่ารัก และสิ่งอันไม่ใช่ฐานะอันเป็นที่ตั้งเป็นเหตุแห่งความโกรธ ด้วยญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการรู้) ติรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา).
               บทว่า โกธเหตุสฺส อุปจฺฉินฺนตฺตา เพราะตัดเหตุแห่งความโกรธเสีย คือเพราะตัดจิตตุปบาทอันสหรคตด้วยโทมนัสอันเป็นเหตุให้ความโกรธเกิด.
               บทว่า ตาสี เป็นผู้สะดุ้ง คือมีความกลัวเป็นปกติ.
               บทว่า อุตฺตาสี เป็นผู้หวาดเสียว คือมีความกลัวอย่างยิ่งเป็นปกติ.
               บทว่า ปริตฺตาสี เป็นผู้สยดสยอง คือมีความกลัวเป็นปกติโดยรอบ.
               บทว่า ภายติ ย่อมกลัวคือย่อมถึงความกลัว.
               บทว่า สนฺตาสํ อาปชฺชติ ย่อมถึงความสะดุ้งคือย่อมถึงความผิดรูป.
               บทว่า กตฺถี โหติ เป็นผู้อวด คือมีปกติกล่าวคุณของตน.
               บทว่า วิกตฺถี เป็นผู้โอ้อวด คือเป็นผู้มีปกติกล่าวคุณโดยประการต่างๆ หลายอย่าง.
               บทว่า ชาติยา วา ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง คือถึงพร้อมด้วยชาติมีความเป็นกษัตริย์เป็นต้น.
               บทว่า โคตฺเตน วา ด้วยโคตรบ้าง คือโคตรชั้นอุกฤษฏ์ มีโคตมโคตรเป็นต้น.
               บทว่า โกลปุตฺติเกน วา ด้วยเป็นบุตรแห่งตระกูลบ้าง คือด้วยความเป็นผู้มีตระกูลใหญ่.
               บทว่า วณฺณโปกฺขรตาย วา ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง คือด้วยความเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณ. สรีระท่านเรียกว่าโปกขระ. อธิบายว่า เพราะมีรูปงามสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณแห่งสรีระนั้น.
               บทว่า ธเนน วา เป็นอาทิ มีความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า กุกฺกุจฺจํ ความรำคาญ เป็นบทแสดงหัวข้อของบทขยาย.
               ในบทนั้น การทำที่น่าเกลียดชื่อว่า กุกฺกตํ. ความเป็นแห่งการกระทำอันน่าเกลียดนั้น ชื่อว่ากุกกุจจะ. ความน่าเกลียดนั้นพึงเห็นว่า มีความเดือดร้อนในภายหลังเป็นลักษณะ มีการเศร้าโศกถึงสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำเป็นรส มีความเดือดร้อนเป็นปัจจุปัฏฐาน (ความปรากฏ) มีการกระทำและไม่กระทำเป็นปทัฏฐานดุจความเป็นทาส.
               บทว่า หตฺถกุกฺกุจฺจมฺปิ ความรำคาญมือบ้าง คือทำความน่าเกลียดด้วยมือ ชื่อว่า กุกฺกตํ. ความเป็นแห่งความน่าเกลียดด้วยมือนั้นชื่อว่าหัตถกุกกุจจะ.
               แม้ในความทำความรำคาญด้วยเท้าเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา ความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร คือเคี้ยวกินเนื้อหมีว่าเป็นเนื้อสุกร บริโภคโภชนะอันเป็นอกัปปิยะว่าเป็นโภชนะอันเป็นกัปปิยะ บริโภคในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล ดื่มน้ำที่เป็นอกัปปิยะ ว่าเป็นน้ำกัปปิยะ นี้ ชื่อว่าความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร.
               บทว่า กปฺปิเย อกปฺปิยสญฺญิตา ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร คือเคี้ยวกินเนื้อสุกรว่าเป็นเนื้อหมี เคี้ยวกินเนื้อมฤคว่าเป็นเนื้อเสือเหลือง บริโภคโภชนะที่เป็นกัปปิยะว่าเป็นโภชนะที่เป็นอกัปปิยะ บริโภคในกาลสำคัญว่าเป็นในเวลาวิกาล ดื่มน้ำที่เป็นกัปปิยะว่าเป็นอกัปปิยะ นี้ชื่อว่าสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร.
               บทว่า อวชฺเช วชฺชสญฺญิตา คือ ความสำคัญในสิ่งไม่มีโทษว่ามีโทษ.
               บทว่า วชฺเช อวชฺชสญฺญิตา คือ ความสำคัญในสิ่งมีโทษว่าไม่มีโทษ.
               บทว่า กุกฺกุจฺจายนา ความรำคาญ คืออาการแห่งความรำคาญ.
               บทว่า กุกฺกุจฺจายิตตฺตํ กิริยาที่รำคาญ คือความเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ.
               บทว่า เจตโส วิปฺปฏิสาโร ความเดือดร้อนจิต คือจิตผิดรูปจิตพล่าน.
               บทว่า มโนวิเลโข คือ ความกลุ้มใจ.
               บทว่า กตตฺตา จ อกตตฺตา จ เพราะทำและเพราะไม่ทำ คือเพราะทำกายทุจริตเป็นต้น และเพราะไม่ทำกายสุจริตเป็นต้น.
               บทว่า กตํ เม กายทุจฺจริตํ เราทำกายทุจริต คือเราทำความประพฤติทุจริตทางกาย เพราะความเน่าของกิเลสทางกาย.
               บทว่า อกตํ เม กายสุจริตํ เราไม่ทำกายสุจริต คือเราไม่ทำความประพฤติสุจริตทางกาย. แม้ในวจีทุจริตและวจีสุจริตเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จิตฺตสฺส แห่งจิต คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล.
               บทว่า อุทฺธจฺจํ ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า อวูปสโม คือ ไม่สงบ.
               บทว่า เจตโส วิกฺเขโป ได้แก่ จิตกวัดแกว่ง.
               บทว่า ภนฺตตฺตํ จิตฺตสฺส ความที่จิตหมุนไป คือความที่จิตหมุนไป ดุจยานหมุนไปและโคหมุนไปเป็นต้น.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวความดิ้นรนในอารมณ์เดียวนั่นแล. จริงอยู่ ความฟุ้งซ่านย่อมดิ้นรนไปในอารมณ์เดียว ความสงสัยย่อมดิ้นรนไปในอารมณ์ต่างๆ.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ อุทฺธจฺจํ คือ นี้ท่านเรียกว่าความฟุ้งซ่าน.
               บทว่า มุสา ในบทว่า มุสาวาทํ ปหาย ละมุสาวาท นี้เป็นวจีประโยคหรือกายประโยค อันหักเสียซึ่งประโยชน์ของผู้มุ่งจะกล่าวให้ผิด. เจตนาอันมีกายประโยคหรือวจีประโยคเป็นที่ตั้งของผู้พูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด โดยความประสงค์จะพูดให้ผิด ชื่อว่ามุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า มุสา คือ เป็นวัตถุที่ไม่จริง ไม่แท้.
               บทว่า วาโท คือ การให้เขารู้วัตถุนั้นโดยความเป็นจริงโดยความแท้.
               อนึ่งโดยลักษณะเจตนาอันจะให้เขารู้อย่างนั้นตั้งขึ้นแก่ผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้วัตถุอันไม่เป็นจริงโดยความเป็นจริง ก็ชื่อว่ามุสาวาท. ซึ่งมุสาวาทนั้น.
               บทว่า ปหาย ละมุสาวาทนั้น คือละความเป็นผู้ทุศีลอันได้แก่ เจตนาจะพูดเท็จนี้เสีย.
               บทว่า ปฏิวิรโต เว้นขาด คืองดเว้นจากความเป็นผู้ทุศีลนั้นตั้งแต่เวลาละได้แล้ว.
               พึงทราบความในบททั้งหลายเห็นปานนี้แม้อื่นโดยนัยนี้ว่า แม้ความคิดว่าจักล่วงก็ยังไม่มี จะกล่าวไปทำไมถึงธรรมอันควรรู้ด้วยจักษุโสตะและกายเล่า.
               ชื่อว่า สจฺจวาที เพราะพูดจริง.
               ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ ดำรงคำสัตย์ เพราะสืบทอดคำสัตย์ไว้ด้วยความจริง. อธิบายว่า ไม่พูดเท็จในระหว่างๆ. เพราะคนใดบางครั้งพูดเท็จ บางครั้งพูดจริง คำสัตย์ของบุคคลนั้นไม่สืบต่อด้วยความสัตย์ เพราะเขาพูดเท็จในระหว่าง เพราะฉะนั้น คนนั้นได้ชื่อว่าไม่ดำรงคำสัตย์. บุคคลนี้ไม่พูดเท็จ แม้เพราะเหตุความเป็นอยู่ ย่อมดำรงความสัตย์ไว้ด้วยความสัตย์เหมือนกัน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงคำสัตย์.
               บทว่า เถโต คือ มั่นคง. อธิบายว่า มีถ้อยคำมั่นคง.
               บุคคลคนหนึ่งเป็นผู้มีถ้อยคำไม่มั่นคง ดุจสีย้อมผ้า ดุจหลักปักที่กองแกลบ และดุจฟักวางบนหลังม้าฉะนั้น คนหนึ่งมีถ้อยคำมั่นคง ดุจรอยจารึกบนแผ่นหิน และดุจเสาเขื่อนฉะนั้น. แม้จะเอาดาบตัดศีรษะก็ไม่ยอมพูดเป็นคำสอง. บุคคลนี้ท่านเรียกว่าผู้มีวาจามั่นคง.
               บทว่า ปจฺจยิโก คือ เชื่อถือได้. อธิบายว่า มั่นอยู่ในคำสัตย์.
               จริงอยู่ คนบางคนเชื่อถือไม่ได้ เมื่อเขากล่าวว่า คนโน้นพูดเรื่องอะไร ก็พูดว่า พวกท่านอย่าเชื่อคำของเขาเลย. คนหนึ่งเชื่อถือได้ เมื่อเขากล่าวว่า คนโน้นพูดเรื่องอะไรก็พูดว่า ผิว่า คนนั้นพูดถือเป็นประมาณได้ ไม่ต้องสอบสวน นี้ต้องเป็นอย่างนั้นดังนี้ บุคคลนี้ท่านกล่าวว่า เป็นบุคคลเชื่อถือได้.
               บทว่า อวิสํวาทโก โลกสฺส ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดแก่โลก. อธิบายว่า ไม่พูดให้ชาวโลกเข้าใจผิด เพราะเป็นผู้กล่าวคำสัตย์นั้น.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ปิสุณาวาจํ ปหาย ละปิสุณาวาจา ดังต่อไปนี้
               วาจาที่บุคคลพูดทำให้เขารักตน ทำความส่อเสียดแก่ผู้อื่น ชื่อว่าปิสุณาวาจา. วาจาที่ทำความหยาบให้ตนบ้าง ให้ผู้อื่นบ้าง แม้วาจาเองก็หยาบไม่เพราะหู ไม่สุขใจ ชื่อว่าผรุสวาจา. บุคคลผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ. แม้เจตนาใดอันเป็นเหตุแห่งคำพูดเหล่านั้น ย่อมได้ชื่อว่าปิสุณาวาจาเป็นต้นเหมือนกัน เจตนานั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บทว่า อิเมสํ เภทาย เพื่อทำลายคนหมู่นี้ คือเพื่อทำลายผู้ที่ฟังในสำนักของผู้ที่กล่าววาจาแต่สำนักนี้.
               บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา สมานคนที่แตกกัน คือเมื่อมิตรสองคนหรือผู้ที่ร่วมอุปัชฌาย์กันเป็นต้น แตกกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เข้าไปหาคนๆ หนึ่ง แล้วกล่าวคำมีอาทิว่า การแตกกันนี้ไม่สมควรแก่ท่านทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลเช่นผู้เป็นพหูสูตอย่างนี้ ชื่อว่าทำความสมาน.
               บทว่า อนุปฺปทาตา ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกัน คือส่งเสริมคนที่สมานกัน. อธิบายว่า เห็นคนสองคนพร้อมเพรียงกัน แล้วกล่าวคำมีอาทิว่า นี้สมควรแก่พวกท่านผู้เกิดในตระกูลเห็นปานนี้ ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้แล้วทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น.
               ชื่อว่า สมคฺคาราโม เพราะมีความพร้อมเพรียงเป็นที่มายินดี. อธิบายว่า ความพร้อมเพรียงไม่มีในที่ใด ไม่ควรแม้จะอยู่ในที่นั้น. บาลีว่า สมคฺคราโม ดังนี้บ้าง ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า สมคฺครโต คือ ยินดีในบุคคลผู้พร้อมเพรียงกัน. อธิบายว่า ละบุคคลเหล่านั้นแล้วไม่ปรารถนาจะไปในที่อื่น.
               ชื่อว่า สมคฺคนนฺที เพราะเห็นก็ดี ฟังก็ดี ซึ่งบุคคลผู้พร้อมเพรียงกันย่อมยินดี.
               บทว่า สมคฺคกรณึ วาจํ ภาสิตา กล่าววาจาทำให้เขาพร้อมเพรียงกัน คือกล่าววาจาที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายพร้อมเพรียงกันอันแสดงถึงคุณของความสามัคคี มิใช่นอกเหนือไป. เจตนาหยาบโดยส่วนเดียวยังกายประโยคและวจีประโยคให้ตั้งขึ้นตัดความรักของบุคคลอื่น ชื่อว่าผรุสวาจา.
               บทว่า เนลา กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ โทษท่านเรียกว่าเอลา. ชื่อว่า เนลา เพราะวาจาไม่มีโทษ. ดุจ เนลา ที่ท่านกล่าวไว้ในคาถานี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท ไม่มีโทษ (บริสุทธิ์) คลุมด้วยผ้าขาว.
               บทว่า กณฺณสุขา ไพเราะโสต คือวาจาสบายหู เพราะไพเราะด้วยพยัญชนะไม่เกิดแสลงหูดุจเข็มแทงหู. ชื่อว่าเปมนิยา เพราะไม่เกิดความโกรธ ให้เกิดความรักไปทั่วกาย เพราะไพเราะด้วยอรรถ.
               บทว่า หทยงฺคมา วาจาหยั่งลงถึงหทัย.
               ชื่อว่า หทยงฺคมา เพราะไม่มีอะไรกระทบไปถึงหทัยเข้าไปสู่จิตโดยสะดวก.
               ชื่อว่า โปรี เพราะเป็นคำของชาวเมือง บริบูรณ์ด้วยคุณ.
               อนึ่ง ชื่อว่า โปรี เพราะเป็นเด็กดีดุจนารีผู้เจริญในบุรี. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โปรี เพราะเป็นวาจาของชาวเมือง. อธิบายว่า เป็นคำพูดของชาวเมือง. จริงอยู่ ชาวเมืองเป็นผู้พูดเหมาะสมย่อมเรียกคนปูนบิดาว่าบิดา คนปูนพี่ว่าพี่.
               ชื่อว่า พหุชนกนฺตา เพราะคำพูดเห็นปานนี้ ย่อมเป็นที่พอใจของชนหมู่มาก.
               ชื่อว่า พหุชนมนาปา เพราะเป็นที่ชอบใจของชนหมู่มาก ทำความงดงามให้แก่ใจ ด้วยเป็นวาจาที่พอใจ. อกุศลเจตนาอันยังกายประโยคและวจีประโยคให้ตั้งขึ้นด้วยให้รู้ความไม่มีประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ.
               ชื่อว่า กาลวาที เพราะพูดถูกกาลอันควร. อธิบายว่า พูดตามกำหนดกาลที่ควรพูด.
               ชื่อว่า ภูตวาที เพราะพูดจริงแท้ตามความจริง.
               ชื่อว่า อตฺถวาที เพราะพูดอิงประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ในภายหน้า.
               ชื่อว่า ธมฺมวาที เพราะพูดอิงโลกุตรธรรม ๙.
               ชื่อว่า วินยวาที เพราะพูดอิงสังวรวินัย (การสำรวม) และปหานวินัย (การละ).
               ชื่อว่า นิธานวตี เพราะมีวาจาเป็นหลักฐาน ที่ท่านเรียกว่านิธาน. อธิบายว่า กล่าวคำพูดอันควรจำไว้ในหทัย.
               บทว่า กาเลน โดยกาลอันควร คือแม้เมื่อจะกล่าววาจาเห็นปานนี้ก็ไม่กล่าวในกาลอันไม่ควรว่า เราจักกล่าววาจาอันมีหลักฐาน. แต่กล่าวในกาลอันควร.
               บทว่า สาปเทสํ มีที่อ้างอิง. อธิบายว่า พร้อมด้วยอุปมา พร้อมด้วยเหตุ.
               บทว่า ปริยนฺตวตึ มีส่วนสุด. อธิบายว่า แสดงหัวข้อแล้วกล่าวไปตามที่หัวข้อของวาจานั้นปรากฏ.
               บทว่า อตฺถสญฺหิตํ ประกอบด้วยประโยชน์ คือกล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ เพราะมีประกอบด้วยอรรถที่ผู้นั้นกล่าว สมบูรณ์ด้วยอรรถอันผู้กล่าวจำแนกไว้หลายนัย สามารถถือเอาได้. อธิบายว่า มิใช่ยกบทอื่นแล้วกล่าวบทอื่น.
               บทว่า จตุทฺโทสาปคตํ วาจํ ภาสติ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ คือกล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ มีมุสาวาทเป็นต้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=4612&Z=5616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=7251
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=7251
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :