ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 366อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 30 / 413อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในชตุกัณณีสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สุตฺวานหํ วีร อกามกามึ ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่า พระองค์ไม่มีความใคร่กาม คือข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่าพระพุทธองค์ไม่มีความใคร่กาม เพราะไม่ประสงค์กามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา๑- ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๑, ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๙๒, เล่ม ๙/ข้อ ๓๕๒, ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๗๖, สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๔๑๒.

               บทว่า อกามมาคมํ ผู้ไม่มีกาม คือข้าพระองค์มาเพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่มีกาม.
               บทว่า สหา ชเนตฺต คือ ผู้มีญาณดังดวงตาอันเกิดพร้อมกับการตรัสรู้.
               บทว่า ยถาตจฺฉํ คือ ธรรมอันแท้จริง. ชตุกัณณีมาณพทูลวิงวอนอยู่อีกว่า ขอพระองค์จงทรงบอกแก่ข้าพระองค์เถิด. เพราะว่าชตุกัณณีมาณพควรจะทูลวิงวอนอยู่แม้พันครั้ง จะกล่าวพูดไปทำไมถึงสองครั้ง.
               ความแห่งบททั้งหลายนี้ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ได้กล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ.
               ในบทนั้น บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชา ๓ บ้าง วิชชา ๘ บ้าง.
               วิชชา ๓ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในภยเภรวสูตรนั่นแล.
               วิชชา ๘ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในอัมพัฏฐสูตร.
               ในบทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน นั้น ท่านกล่าววิชชา ๘ กำหนดเอาอภิญญา ๖ พร้อมด้วยวิปัสสนาญาณและมโนมยิทธิ.
               พึงทราบธรรม ๑๕ อย่างเหล่านี้คือ การสำรวมในศีล ๑ ความเป็นผู้มีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ๑ การประกอบความเพียร ๑ สัทธรรม ๗ รูปาวจรฌาน ๔ ชื่อว่าจรณะ. เพราะพระอริยสาวกย่อมเที่ยวไปสู่ทิศอันเป็นอมตะด้วยธรรม ๑๕ อย่างเหล่านี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าจรณะ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหานาม อริยสาวกในศาสนานี้เป็นผู้มีศีล.
               บททั้งปวงพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในมัชฌิมปัณณาสก์.๒-
____________________________
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๗

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาทั้งหลายเหล่านี้และด้วยจรณะนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน.
               ในบทนั้น การถึงพร้อมด้วยวิชชายังพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บริบูรณ์ดำรงอยู่. การถึงพร้อมด้วยจรณะยังความเป็นผู้มีพระมหากรุณาให้บริบูรณ์ดำรงอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสรรพสัตว์ เพราะพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเว้นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ประกอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะพระองค์มีพระมหากรุณา สมกับที่พระองค์เป็น วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน. ด้วยเหตุนั้น สาวกของพระองค์เป็นผู้ปฏิบัติชอบ มิใช่ปฏิบัติไม่ชอบ ดุจสาวกของผู้ปฏิบัติผิดในวิชชาและจรณะมีการทำตนให้เร่าร้อนเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุคโต เสด็จไปดีแล้ว เพราะเสด็จไปงาม เสด็จไปสู่ฐานะอันดี เสด็จไปโดยชอบและเพราะตรัสชอบ.
               จริงอยู่ แม้การไปก็เรียกว่า คตํ ไปแล้ว. การเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น งามบริสุทธิ์ไม่มีโทษ. ก็นั่นเพราะอะไร. เพราะอริยมรรค. ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เสด็จไปไม่ติดขัดยังทิศอันเกษมด้วยการเสด็จไป เพราะเหตุนั้น จึงมีพระนามว่า สุคโต เพราะเสด็จไปงาม.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเสด็จไปสู่ฐานะอันดีคืออมตนิพพาน เพราะเหตุนั้น จึงมีพระนามว่า สุคโต เพราะเสด็จไปสู่ฐานะอันดี.
               อนึ่ง พระองค์เสด็จไปแล้วโดยชอบ ไม่ทรงกลับมาหากิเลสที่พระองค์ทรงละได้แล้ว ด้วยมรรคนั้นๆ.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๓-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุคโต เพราะไม่กลับไปหากิเลสที่พระองค์ละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค ฯลฯ พระนามว่า สุคโต เพราะไม่กลับไปหากิเลสที่พระองค์ละได้แล้วด้วยอรหัตมรรค.
____________________________
๓- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๑๘๐, ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๑๙๒.

               หรือว่าพระองค์เสด็จไปแล้วโดยชอบ ทรงบำเพ็ญประโยชน์สุขเท่านั้นแก่สรรพโลก ด้วยการทรงปฏิบัติชอบบริสุทธิ์ เพราะทรงบำเพ็ญบารมีครบ ๓๐ จำเดิมแต่บาทมูลของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตราบเท่าถึงโพธิมณฑล ไม่ทรงเข้าถึงที่สุดเหล่านี้ คือกามสุขและการทำตนให้ลำบากอันเป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ เสด็จไปแล้ว เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงมีพระนามว่า สุคโต เพราะเสด็จไปโดยชอบ.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดำรัสชอบ ตรัสพระวาจาอันสมควร ในฐานะที่เหมาะสม เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงมีพระนามว่า สุคโต เพราะพระดำรัสชอบ.
               ยกตัวอย่างพระสูตรต่อไปนี้๔-
               พระตถาคตทรงทราบวาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระตถาคตจะไม่ตรัสวาจานั้น. พระตถาคตทรงทราบวาจาแม้ใดจริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระตถาคตจะไม่ตรัสวาจาแม้นั้น.
               อนึ่ง พระตถาคตทรงทราบวาจาใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระตถาคตเป็นผู้รู้จักกาลในข้อนั้น เพื่อทำให้แจ้งวาจานั้น พระตถาคตทรงทราบวาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระตถาคตจะไม่ตรัสวาจาแม้นั้น.
               อนึ่ง พระตถาคตทรงทราบวาจาใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระตถาคตเป็นผู้รู้จักกาลในข้อนั้น เพื่อทำให้แจ้งวาจานั้นฉะนี้แล.
               พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่า สุคโต เพราะมีพระดำรัสชอบด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๙๔

               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่า โลกวิทู เพราะทรงรู้แจ้งโลกด้วยประการทั้งปวง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงรู้ทั่วทรงแทงตลอดโลกด้วยประการทั้งปวง คือโดยสภาวะ โดยเหตุเกิด โดยดับเหตุ โดยอุบายดับเหตุ.
               สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า๕-
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่าควรรู้ควรเห็นควรถึงที่สุดโลกด้วยการไปของผู้ที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เรายังไม่บรรลุ จะไม่กล่าวถึงที่สุดโลก การทำที่สุดทุกข์
               อนึ่ง ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราจะไม่บัญญัติโลก เหตุเกิดโลก การดับโลกและปฏิปทาให้ถึงการดับโลก ในเพราะซากอันมีสัญญา มีใจประมาณวาหนึ่งนี้เท่านั้น.
                                   แต่ไหนแต่ไรมา บุคคลพึงถึงที่สุดของโลกด้วยการเดิน
                         ทางได้ แต่จะไม่มีการพ้นจากทุกข์ เพราะยังไม่ถึงที่สุดของ
                         โลก เพราะฉะนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งโลก
                         ทรงมีปัญญาดีถึงที่สุดโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นผู้มี
                         ความสงบ ทรงรู้ที่สุดของโลก ไม่ทรงหวังโลกนี้และโลกหน้า.

____________________________
๕- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒๙๘, องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๔๕.

               อนึ่ง โลกมี ๓ อย่าง คือสังขารโลก ๑ สัตวโลก ๑ โอกาสโลก ๑.
               ในโลกทั้ง ๓ นั้น พึงทราบสังขารโลกในอาคตสถานว่า๖- โลกหนึ่งคือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.
               พึงทราบสัตวโลกในอาคตสถานว่า๗- โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง.
____________________________
๖- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๕.
๗- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๙๔, ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๐๙.

               พึงทราบโอกาสโลกในอาคตสถานว่า๘-
                                   พระจันทร์และพระอาทิตย์ยังบริหารโลก แสงสว่างยัง
                         หมุนไปทั่วทิศตราบใด ตราบนั้นอำนาจของท่านยังเป็นไป
                         ในโลกนี้ตั้งพันส่วน.

____________________________
๘- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๕๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรู้แม้โอกาสโลกนี้ด้วยประการทั้งปวง.
               จริงดังนั้น โลก ๑ คือสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร โลก ๒ คือนามและรูป โลก ๓ คือเวทนา ๓ โลก ๔ คืออาหาร ๔ โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖ โลก ๗ คือวิญญาณฐิติ ๗ โลก ๘ คือโลกธรรม ๘ โลก ๙ คือสัตตาวาส ๙ โลก ๑๐ คืออายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คืออายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือธาตุ ๑๘.#-
               แม้สังขารโลกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบด้วยประการทั้งปวง.
____________________________
#- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๖

               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงรู้อัธยาศัย ทรงรู้ความประพฤติอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ทรงรู้อารมณ์ของสัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งหมด ทรงรู้สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสเพียงดังธุลีน้อย มีกิเลสเพียงดังธุลีมาก มีอินทรีย์กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว ให้รู้ได้ง่าย ให้รู้ได้ยาก ควรตรัสรู้ ไม่ควรตรัสรู้ ฉะนั้น พระองค์ทรงรู้แจ้งแม้สัตวโลกด้วยประการทั้งปวง.
               แม้โอกาสโลก ก็ทรงรู้แจ้งเหมือนสัตวโลก.
               จริงดังนั้น โอกาสโลกนั้นเป็นจักรวาลหนึ่ง โดยยาว โดยกว้าง โดยรอบ หนึ่งล้านสองแสนสี่ร้อยห้าสิบโยชน์๙-
____________________________
๙- ม. ทวาทส สตสหสฺสานิ จตุตึส สตานิ จ ปญฺญาสญฺจ โยชนานิ แปลว่า ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์.

                                   จักรวาลทั้งหมดมีปริมณฑล สามล้านหกแสนหนึ่ง
                         หมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์.

               ในโอกาสโลกนั้น
                                   มีแผ่นดินหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ น้ำรองแผ่นดิน
                         สี่แสนแปดหมื่นโยชน์ ตั้งอยู่บนลม.

               ลมที่รองน้ำแม้นั้น
                                   ลมพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า เก้าแสนหกหมื่นโยชน์ นี้เป็น
                         การตั้งอยู่ของโลก.

               เมื่อสัณฐานโลกเป็นอยู่อย่างนี้
                                   ภูเขาสิเนรุหยั่งลงในห้วงน้ำใหญ่โผล่ขึ้นสูงแปดหมื่น
                         สี่พันโยชน์. รัตนะวิจิตรนานาชนิดล้วนเป็นของทิพย์มีอยู่
                         ที่ภูเขาสิเนรุในส่วนที่หยั่งลงและโผล่ขึ้นตามลำดับประมาณ
                         ส่วนละครึ่งหนึ่งๆ.
                                   ภูเขาหินล้วนเป็นภูเขาใหญ่ ๗ ลูก คือยุคนธระ อิสิน
                         ธระ กรวิกะ สุทัสสนะ เนมินธระ วินตกะ อัสสกัณณะตั้งอยู่
                         รอบภูเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช เทวดาและยักษ์
                         อาศัยอยู่.
                                   ภูเขาหิมวันต์ ๕ ลูก สูงร้อยโยชน์ ยาวและกว้าง สาม
                         พันโยชน์ประดับด้วยยอดแปดหมื่นสี่พันยอด.
                                   ภูเขาล้อมรอบโคน สามสิบห้าโยชน์ ความกว้างของ
                         สาขาที่โคนห้าสิบโยชน์ ตั้งอยู่โดยรอบ.
                                   ต้นชมพูขึ้นเต็มแผ่ไปร้อยโยชน์ ด้วยความหนาแน่น
                         ของต้นชมพูนั้น จึงเรียกว่า ชมพูทวีป.

               ก็ขนาดของต้นชมพูนี้เท่าใด ของต้นแคฝอยของพวกอสูร ของต้นงิ้วของพวกครุฑ ของต้นกระทุ่มในอมรโคยานทวีป ของต้นกัลปพฤกษ์ในอุตตรกุรุทวีป ของต้นซึกในปุพพวิเทหทวีป ของต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์ ก็มีขนาดเท่านั้นเหมือนกัน.
               ด้วยเหตุนั้นโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   ต้นแคฝอย ต้นงิ้ว ต้นชมพู ต้นไม้ปาริฉัตตกะ ของ
                         พวกเทวดา ต้นกระทุ่ม ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นซึกทั้ง ๗ นี้ เกิด
                         ขึ้นด้วยสิริ. การก่อตัวขึ้นของหินจักรวาล หยั่งลงในห้วงน้ำ
                         ใหญ่ ผุดขึ้นแปดหมื่นสองพันโยชน์ ล้อมโลกธาตุนั้นทั้ง
                         หมดตั้งอยู่.

               ในจักรวาลนั้น จันทมณฑลสี่สิบเก้าโยชน์ สุริยมณฑลห้าสิบโยชน์ ดาวดึงสพิภพหนึ่งหมื่นโยชน์ อสุรพิภพ อเวจีมหานรกและชมพูทวีปก็เหมือนกัน อมรโคยานทวีปเจ็ดพันโยชน์ ปุพวิเทหทวีปก็เหมือนกัน อุตตรกุรุทวีปแปดพันโยชน์.
               ในจักรวาล มหาทวีปหนึ่งๆ มีทวีปน้อย ทวีปละห้าร้อยเป็นบริวาร. จักรวาลหนึ่งทั้งหมดนั้นเป็นโลกธาตุเดียว โลกันตริกนรกอยู่ในระหว่างโลกธาตุนั้น. ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงรู้ ทรงรู้ทั่วถึง ทรงแทงตลอดจักรวาลอันไม่มีที่สุด โลกธาตุอันไม่มีที่สุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุด.
               แม้โอกาสโลก พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งด้วยประการทั้งปวงอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นโลกวิทู เพราะทรงรู้แจ้งด้วยประการทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อนุตฺตโร เพราะไม่มีใครๆ ประเสริฐกว่าด้วยพระคุณของพระองค์ คือไม่มีผู้ยอดเยี่ยม.
               จริงดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงครอบงำสรรพโลก ด้วยคุณคือศีลบ้าง ด้วยคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีผู้เสมอ สมกับเป็นผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้แม้น หาบุคคลเปรียบมิได้ ด้วยคุณคือศีลบ้าง ด้วยคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง.
               สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ก็เรายังไม่เห็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตน ในพวกเทวดา ในเทวโลกและมนุษย์ในโลกเลย.๑๐-
               พึงทราบความพิสดารต่อไป.
               พึงยังอัคคัปปสาทสูตรเป็นต้น๑๑- และยังคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า๑๒- อาจารย์ของเราไม่มีดังนี้ ให้พิสดารด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑๐- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๕๖๐, องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๑
๑๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔, ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๐
๑๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๑, ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๕, อภิ. ก. เล่ม ๓๗/ข้อ ๙๘๓

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะทรงฝึกคนที่ควรฝึกได้. อธิบายว่า ฝึกคือแนะนำ.
               บทว่า ปุริสทมฺม ในบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ นั้น คือคนฝึกไม่ได้ เป็นดิรัจฉานบุรุษก็ดี มนุษยบุรุษก็ดี อมนุษยบุรุษก็ดี ควรฝึกได้.
               จริงดังนั้น แม้ดิรัจฉานบุรุษเป็นต้นว่าอปลาลนาคราช จูโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อารวาฬนาคราช และช้างชื่อว่าธนปาลกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงฝึกได้ ทำให้หมดพยศได้ และให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลได้.
               แม้มนุษยบุรุษเป็นต้นว่า สัจจกนิคัณฐบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑพราหมณ์ กูฏทันตพราหมณ์ พระองค์ก็ทรงฝึกได้ ทำให้หมดพยศได้ และให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลได้.
               แม้อมนุษยบุรุษเป็นต้นว่าอาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลมยักษ์และท้าวสักกเทวราช พระองค์ก็ยังทรงฝึกได้ ทรงแนะนำด้วยอุบายเป็นเครื่องแนะนำอย่างวิจิตรได้.
               ในบทนี้พึงให้พิสดารด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนเกสี เราแนะนำคนที่ควรฝึกด้วยถ้อยคำไพเราะบ้าง หยาบบ้าง ทั้งไพเราะและหยาบบ้างดังนี้.๑๓-
____________________________
๑๓- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๑๑

               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสบอกปฐมฌานเป็นต้นแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์เป็นต้น และมรรคปฏิทาอันยิ่งแก่พระโสดาบันเป็นต้น ชื่อว่าย่อมทรงฝึกแม้คนที่ฝึกแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่พึงฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมนี้ เป็นบทมีความเป็นอันเดียวกันนั่นเอง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกคนที่ควรฝึกได้ โดยประการที่คนทั้งหลายนั่งอยู่โดยบัลลังก์เดียวกัน แล่นไปไม่ติดทิศทั้ง ๘.
               บทว่า ปหุ คือ ผู้สามารถ.
               บทว่า วิสวี ให้ผู้อื่นมีความเพียร คือยังความเพียรให้เกิดในสันดานของผู้อื่น.
               บทว่า อลมตฺโต คือ มีความสามารถ.
               บทว่า วิรโต คือ ทรงเว้นจากบาปทั้งปวงด้วยอริยมรรค. ไม่มีปฏิสนธิต่อไป เพราะเว้นได้ด้วยอริยมรรค.
               บทว่า นิรยทุกฺขมติจฺจ คือ ล่วงเสียซึ่งทุกข์ในนรก เพราะไม่มีปฏิสนธิต่อไป.
               บทว่า วิริยวาโส คือ ทรงอยู่ด้วยความเพียร.
               บทว่า โส วิริยวา พระองค์มีวิริยะ คือพระองค์เป็นผู้สิ้นอาสวะ ย่อมสมควรซึ่งความเป็นผู้อันบุคคลควรกล่าวว่า วิริยวา.
               บทว่า ปธานวา วีโร ตาที มีปธานะ ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้คงที่ นี้เป็นคำยกย่องพระองค์. เพราะพระองค์ชื่อว่ามีปธานะ เพราะมีปธานะในมรรคและฌาน ชื่อว่าทรงแกล้วกล้า เพราะสามารถกำจัดข้าศึกคือกิเลสได้. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะไม่มีวิการ.
               บทว่า ปวุจฺจเต ตถตฺตา ท่านกล่าวว่า มีพระองค์เป็นอย่างนั้น คือท่านกล่าวผู้เป็นอย่างนั้นว่า วิริยวา.
               บทว่า เต กามกามิโน ชนเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่กาม คือปรารถนาวัตถุกามมีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ราคราคิโน คือ กำหนัดด้วยราคะ.
               บทว่า สญฺญสญฺญิโน คือ มีความสำคัญในราคสัญญา.
               บทว่า น กาเม กาเมติ คือ ไม่ปรารถนาวัตถุกามมีรูปเป็นต้น.
               บทว่า อกาโม คือ เว้นจากกาม.
               บทว่า นิกฺกาโม คือ ออกจากกาม.
               บทว่า สพฺพญฺญุตญาณํ พระพุทธเจ้าพระนามว่า สพฺพญฺญู เพราะทรงรู้ทางที่ควรแนะนำทั้งปวงให้ถึงความเจริญ. ความเป็นแห่งสัพพัญญูนั้น ชื่อว่า สพฺพญฺญุตา. ญาณคือความเป็นแห่งสัพพัญญู ชื่อว่า สพฺพญฺญุตญาณํ. ดวงตาคือสัพพัญญุตญาณและความเป็นผู้ชนะ เพราะยังกิเลสทั้งหลายพร้อมด้วยวาสนาให้แพ้แล้วชนะ เกิดขึ้นแล้วในขณะเดียวกัน ในกาลเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง. ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว เพราะถึงในเบื้องสูงจากส่วนสุดในเบื้องต้น.
               บทว่า เตชี เตชสา พระผู้มีพระภาคเจ้ามีเดช ทรงประกอบด้วยเดช คือทรงประกอบด้วยเดช ครอบงำด้วยเดช.
               บทว่า ยมหํ วิชญฺญํ ชาติชราย อิธ วิปฺปหานํ โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติชราในภพนี้ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ คือข้าพระองค์พึงทราบธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในภพนี้.
               บทว่า ชคติ คือ แผ่นดิน.
               บทว่า สพฺพํ อากาสคตํ คือ เลื่อนลอยแผ่ไปในอากาศทั่วไป.
               บทว่า ตมคตํ ความมืดนั่นแลชื่อว่า ตมคตํ คือไปในความมืด เหมือนไปในคูถในมูตรฉะนั้น.
               บทว่า อภิวิหจฺจ เลื่อนลอยไป คือหายไป.
               บทว่า อนฺธการํ วิธมิตฺวา กำจัดมืดคือทำลายความมืดอันห้ามการเกิดแห่งจักขุวิญญาณ.
               บทว่า อาโลกํ ทสฺสยิตฺวา คือ ส่องแสงสว่างของดวงอาทิตย์.
               บทว่า อากาเส คือ ในอากาศอันไม่รกชัฏ.
               บทว่า อนฺตลิกฺเข คือ ในอากาศอันว่างเปล่า ไม่สามารถจะขีดเขียนได้.
               บทว่า คมนปเถ เป็นทางเดิน คือไปในทางเดินของพวกเทวดา.
               บทว่า สพฺพํ อภิสงฺขารสมุทยํ สมุทัยแห่งอภิสังขารทั้งปวง คือสมุทัยแห่งกรรมทั้งสิ้น. อธิบายว่า ตัณหาทำให้เกิด.
               บทว่า กิเลสตมํ อวิชฺชนฺธการํ วิธมิตฺวา ทรงกำจัดความมืดคือกิเลส ความมืดคืออวิชชา คือทรงนำความไม่รู้อันได้แก่ความมืดคือกิเลส ความมืดคืออวิชชาออกให้พินาศไป แล้วทรงแสดงแสงสว่างคือพระญาณ แสงสว่างคือปัญญา.
               บทว่า วตฺถุกาเม ปริชานิตฺวา ทรงกำหนดรู้วัตถุกาม คือ ทรงรู้วัตถุกามมีรูปเป็นต้น ด้วยญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการรู้) ติรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา).
               บทว่า กิเลสกาเม ปหาย ทรงละกิเลสกาม คืออันได้แก่ทำความเดือดร้อนด้วยปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ).
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสบอกธรรมนั้นแก่ชตุกัณณีมาณพ จึงได้ตรัสคาถาต่อๆ ไป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เนกฺขมฺมํ ทุฏฺฐุ เขมโต ท่านเห็นเนกขัมมะโดยความเกษม คือเห็นนิพพานและปฏิปทาอันทำให้ถึงนิพพานว่าเป็นความเกษม.
               บทว่า อุคฺคหิตํ คือ กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               บทว่า นิรตฺตํ วา คือ ควรสลัดเสีย. อธิบายว่า พึงปล่อยเสีย.
               บทว่า มา เต วิชฺชิตฺถ คือ อย่าได้มีแก่ท่านเลย.
               บทว่า กิญฺจนํ คือ เครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น. กิเลสเครื่องกังวลแม้นั้นก็อย่าได้มีแก่ท่านเลย.
               บทว่า มุญฺจิตพฺพํ คือ ควรปล่อยเสียไม่ควรยึดถืออีก.
               บทว่า ปชหิตพฺพํ ควรละ คือควรเว้น.
               บทว่า วิโนเทตพฺพํ ควรบรรเทา คือควรซัดไป.
               บทว่า พฺยนฺติกาตพฺพํ ควรทำให้สิ้นสุด คือควรทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้ปราศจากไป.
               บทว่า อนภาวํ คเมตพฺพํ ควรให้ถึงความไม่มีแม้แต่น้อย.
               บทว่า ปุพฺเพ กิเลสชาติในกาลก่อน คือกิเลสอันเกิดขึ้นปรารภสังขารในอดีต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกชตุกัณณีมาณพว่า พฺราหฺมณ ดูก่อนพราหมณ์.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.
               เมื่อจบเทศนาได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นกับคราวก่อนนั่นเอง.

               จบอรรถกถาชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 366อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 30 / 413อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=3559&Z=3782
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=921
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=921
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :