ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๗.

               ครั้นกุลบุตรนั้นเริ่มวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนูปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา) ๑๐ อย่างย่อมเกิดขึ้น คือ โอภาส (แสงสว่าง) ๑ ญาณ ๑ ปิติ ๑ ปัสสัทธิ ๑ สุข ๑ อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ๑ ปัคคหะ (การประคองไว้) ๑ อุปัฏฐานะ (การเข้าไปตั้งไว้) ๑ อุเบกขา ๑ นิกันติ (ความใคร่) ๑.
               ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ เพราะญาณมีกำลังในขณะแห่งวิปัสสนา โลหิตย่อมผ่องใส ชื่อว่าโอภาส. เพราะโลหิตผ่องใสนั้น ความสว่างแห่งจิตย่อมเกิด. พระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ครั้นเห็นดังนั้นแล้วพอใจแสงสว่างนั้น ด้วยคิดว่าเราบรรลุมรรคแล้ว.
               แม้ญาณก็เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น. ญาณนั้นบริสุทธิ์ผ่องใส ย่อมเป็นไปแก่ผู้พิจารณาสังขารทั้งหลาย พระโยคาวจรเห็นดังนั้นย่อมพอใจว่า เราได้บรรลุมรรคแล้วดุจในครั้งก่อน.
               ปีติก็เป็นวิปัสสนาปีติเท่านั้น. ในขณะนั้น ปีติ ๕ อย่างย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น. ปัสสัทธิ ได้แก่ ปัสสัทธิในวิปัสสนา.ในสมัยนั้น กายและจิตไม่กระวนกระวาย ไม่มีความกระด้าง ไม่มีความไม่ควรแก่การงาน ไม่มีความไข้ ไม่มีความงอ. แม้สุขก็เป็นสุขในวิปัสสนาเท่านั้น. นัยว่าในสมัยนั้น ร่างกายทุกส่วนชุ่มชื่น ประณีตยิ่ง เป็นสุขย่อมเกิดขึ้น.
               ศรัทธาเป็นไปในขณะแห่งวิปัสสนา ชื่อว่าอธิโมกข์
               จริงอยู่ ในขณะนั้นศรัทธาที่มีกำลัง ซึ่งยังจิตและเจตสิกให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ตั้งอยู่ด้วยดีย่อมเกิดขึ้น.
               ความเพียรทีสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ชื่อว่าปัคคหะ.
               จริงอยู่ ในขณะนั้น ความเพียรที่ประคองไว้ดีแล้วไม่ย่อหย่อนอันตนปรารภยิ่งแล้วย่อมเกิดขึ้น.
               สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนา ชื่อว่าอุปัฏฐาน.
               จริงอยู่ ในสมัยนั้น สติที่ตั้งมั่นดีแล้วย่อมเกิดขึ้น.
               อุเบกขามี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาและอาวัชชนะ (การพิจารณา).
               จริงอยู่ ในขณะนั้นญาณกล่าวคือวิปัสสนูเปกขา อันมีความเป็นกลางในการยึดถือสังขารทั้งปวง เป็นสภาพมีกำลังย่อมเกิดขึ้น. แม้อุเบกขาในมโนทวาราวัชชนะก็ย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่ง อุเบกขานั้นกล้าเฉียบแหลมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้พิจารณาถึงฐานะนั้นๆ.
               ความใคร่ในวิปัสสนา ชื่อว่า นิกนฺติ.
               จริงอยู่ ในวิปัสสนูปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น ความใคร่มีอาการสงบ สุขุม กระทำความอาลัยย่อมเกิดขึ้น.
               โอภาสเป็นต้นในวิปัสสนูปกิเลสนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นวัตถุแห่งกิเลสมิใช่เพราะเป็นอกุศล. แต่นิกันติความใคร่ เป็นทั้งอุปกิเลส เป็นทั้งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส.
               ก็ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้นไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ย่อมกำหนดมรรคและมิใช่มรรคว่า ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้นมิใช่มรรค แต่วิปัสสนาญาณอันไปตามวิถี พ้นจากอุปกิเลสเป็นมรรค. ญาณกำหนดรู้ว่านี้เป็นมรรค นี้มิใช่มรรคของผู้ปฏิบัตินั้น ท่านเรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง).
               ตั้งแต่นี้ไป วิปัสสนาญาณอันมีสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณที่คล้อยตามสัจจะ) ที่ ๙ ถึงความเป็นยอดของวิปัสสนาญาณ ๘ นี้ ชื่อว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ).
               ชื่อว่าญาณ ๘ เหล่านี้ คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ ๑ ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นความดับ ๑ ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณคำนึงเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ๑ อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ ๑ นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่าย ๑ มุญจิตุกามยตาญาณ ญาณคำนึงด้วยความใคร่จะพ้นไปเสีย ๑ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง ๑ สังขารุเปกขาญาณ ญาณคำนึงด้วยความวางเฉยในสังขาร ๑.
               คำว่า สัจจานุโลมิกญาณที่ ๙ นี้เป็นชื่อของอนุโลมญาณเพราะฉะนั้น ผู้ประสงค์จะให้วิปัสสนาญาณนั้นสมบูรณ์ ควรทำความเพียรในญาณเหล่านั้น ตั้งแต่อุทยัพพยญาณอันพ้นจากอุปกิเลสแล้วเป็นต้นไป เพราะเมื่อเห็นความเกิดความดับ อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง.
               เมื่อเห็นความบีบคั้นของความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ทุกขลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง และเมื่อเห็นอยู่ว่า ทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป อนัตตลักษณะย่อมปรากฏตามความ เป็นจริง.
               อนึ่ง ในข้อนี้พึงทราบการจำแนกนี้ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจลกฺขณํ ทุกขํ ทุกฺขลกฺขณํ อนตฺตา อนตฺตลกฺขณํ.
               ในวิภาคทั้ง ๖ เหล่านั้น บทว่า อนิจฺจํ คือ ขันธ์ ๕. เพราะเหตุไร เพราะขันธ์ ๕ นั้นมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไป และมีความเป็นอย่างอื่น หรือเพราะมีแล้วไม่มี. ชราชื่อว่าความเป็นอย่างอื่น. ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป และความเป็นอย่างอื่น ชื่อว่าอนิจจลักษณะ. หรือความวิการแห่งอาการกล่าวคือความมีแล้วไม่มี ชื่อว่าอนิจจลักษณะ.
               ขันธ์ ๕ นั้นแลเป็นทุกข์ เพราะพระพุทธดำรัสว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์" เพราะเหตุไร. เพราะบีบคั้นอยู่เนื่องๆ. อาการบีบคั้นเนื่องๆ ชื่อว่าทุกขลักษณะ.
               ขันธ์ ๕ นั่นแลเป็นอนัตตา เพราะพระพุทธดำรัสว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา. เพราะเหตุไร. เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ. อาการไม่เป็นไปในอำนาจ ชื่อว่าอนัตตลักษณะ.
               แม้ลักษณะ ๓ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นอารมณ์ของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อมนั่นเอง. ผู้นั้นย่อมเห็นรูปธรรมและอรูปธรรมแม้อีก โดยนัยมีอาทิว่า "อย่างนี้ไม่เที่ยง." สังขารทั้งหลายของผู้นั้นย่อมมาสู่คลองเร็วพลัน. แต่นั้นเมื่อมีความสิ้นความเสื่อมและความดับของสังขารเหล่านั้น.
               พระโยคาวจรไม่กระทำความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความเป็นไปหรือนิมิตให้เป็นอารมณ์ดำรงอยู่. นี้ชื่อว่าภังคญาณ.
               จำเดิมแต่ภังคญาณนี้เกิด พระโยคาวจรนี้เห็นความดับเท่านั้นว่า สังขารทั้งหลายเหล่านี้ย่อมแตกดับไปฉันใด แม้ในอดีต สังขารก็แตกแล้ว แม้ในอนาคตก็จักแตกฉันนั้น.
               เมื่อพระโยคาวจรนั้นเสพภังคานุปัสสนาญาณบ่อยๆ กระทำให้มาก สังขารทั้งหลายอันแตกต่างกันในภพ กำเนิด คติ ฐิติและสัตตสวาส ย่อมปรากฏเป็นภัยใหญ่หลวง ดุจหลุมถ่านเพลิงอันลุกโพลงฉะนั้น นี้ชื่อว่าภยตูปัฏฐานญาณ.
               เมื่อพระโยคาวจรนั้นเสพภยตูปัฏฐานญาณนั้น ภพเป็นต้นทั้งหมดไม่เป็นที่พึ่งได้ มีโทษ ย่อมปรากฏดุจเรือนถูกไฟไหม้ ดุจข้าศึกเงื้อดาบฉะนั้น. นี้ชื่อว่าอาทีนวานุปัสสนาญาณ.
               เมื่อพระโยคาวจรนั้นเห็นสังขารโดยความมีโทษอย่างนี้ ความเบื่อหน่าย ความไม่ยินดี ย่อมเกิดขึ้นในสังขารทั้งปวง เพราะสังขารทั้งหลายในภพเป็นต้นมีโทษ นี้ชื่อว่านิพพิทานุปัสสนาญาณ.
               เมื่อเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ความเป็นผู้ใคร่จะพ้นออกไปจากสังขารนั้นย่อมมีขี้น. นี้ชื่อว่ามุญจิตุกามยตาญาณ.
               การยกสังขารเหล่านั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ แล้วพิจารณาด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ เพื่อจะพ้นจากสังขารนั้น ชื่อว่าปฏิสังขานุปัสสนาญาณ.
               พระโยคาวจรนั้นยกสังขารทั้งหลายขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อย่างนี้ แล้วกำหนดอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่าเป็นตนหรือเนื่องด้วยตนเพราะเห็นชัดซึ่งความเป็นอนัตตลักษณะในสังขารเหล่านั้น ละความกลัวและความเพลิดเพลินในสังขารทั้งหลาย เป็นผู้วางเฉยเป็นกลางในสังขารทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่า เราหรือของเรา เป็นผู้วางเฉยในภพทั้ง ๓. นี้ชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ.
               ก็สังขารุเปกขาญาณนั้น หากว่าพระโยคาวจรเห็นนิพพานเป็นทางสงบโดยความสงบ สละความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวงแล้วแล่นไป น้อมไปในนิพพาน หากไม่เห็นนิพพานโดยความเป็นธรรมชาติสงบ เป็นญาณมีสังขารเป็นอารมณ์เท่านั้น ย่อมเป็นไปบ่อยๆ ด้วยอำนาจแห่งอนุปัสสนา ๓ อย่าง คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนาหรืออนัตตานุปัสสนา.
               อนึ่ง สังขารุเปกขาญาณนั้น เมื่อตั้งอยู่อย่างนี้ก็ถึงความเป็นไปแห่งวิโมกข์ ๓ อย่างตั้งอยู่.
               อนุปัสสนา ๓ อย่าง ท่านเรียกว่า วิโมกขมุข คือ ทางแห่งวิโมกข์ ๓.
               ในวิโมกข์ ๓ อย่างนี้ พระโยคาวจรมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้มากไปด้วยความน้อมใจเชื่อ ย่อมได้เฉพาะอนิมิตตวิโมกข์.
               เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ เป็นผู้มากไปด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้เฉพาะอัปปณิหิตวิโมกข์.
               เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา เป็นผู้มากไปด้วยความรู้ ย่อมได้เฉพาะสุญวิโมกข์.
               พึงทราบความในวิโมกข์นี้ต่อไป อริยมรรคทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เป็นไปแล้วโดยอาการหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์. จริงอยู่ อริยมรรคนั้นชื่อว่าหานิมิตไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นด้วยธาตุอันไม่มีนิมิต และชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย.
               โดยนัยนี้เหมือนกัน อริยมรรคนั้นทำนิพพานให้เป็นอารมณ์เป็นไปแล้วโดยอาการหาที่ตั้งมิได้ ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์.
               พึงทราบว่า อริยมรรคทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เป็นไปแล้วโดยอาการเป็นของสูญ ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์.
               วิปัสสนาของกุลบุตรผู้บรรลุสังขารุเปกขาญาณ ย่อมถึงความสุดยอด.
               วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือการวางเฉยในสังขารอย่างแรงกล้า ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้เสพสังขารุเปกขาญาณนั้น. มรรคจักเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรวางเฉยในสังขารพิจารณาสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยงก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี เป็นอนัตตาก็ดี ย่อมหยั่งลงสู่ภวังค์มโนทวาราวัชชนะย่อมเกิดขึ้นในลำดับต่อจากภวังค์เพราะมนสิการโดยอาการไม่เที่ยงเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในสังขารุเปกขาญาณ.
               เมื่อพระโยคาวจรมนสิการอยู่อย่างนั้น ปฐมชวนจิตย่อมเกิดขึ้น ปฐมชวนจิตนั้นเรียกว่าบริกรรม. ต่อจากบริกรรมนั้น ทุติยชวนจิตย่อมเกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้น ทุติยชวนจิตนั้นเรียกว่าอุปจาร. แม้ต่อจากอุปจารนั้น ตติยชวนจิตย่อมเกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้น ตติยชวนจิตนั้น เรียกว่าอนุโลม. นี้เป็นชื่อเรียกแยกกันของจิตเหล่านั้น แต่โดยไม่ต่างกัน ชวนจิต ๓ ดวงนี้ท่านเรียกอาเสวนะบ้าง บริกรรมบ้าง อุปจารบ้าง อนุโลมบ้าง ก็อนุโลมญาณนี้เป็นญาณสุดท้ายของวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีมีสังขารเป็นอารมณ์. แต่โดยตรงโคตรภูญาณเท่านั้น ท่านเรียกว่าเป็นที่สุดของวิปัสสนา.
               ต่อจากนั้น โคตรภูญาณเมื่อกระทำนิโรธคือนิพพานให้เป็นอารมณ์ ก้าวล่วงโคตรปุถุชน หยั่งลงสู่อริยโคตร เป็นธรรมชาติ น้อมไปในนิพพานอารมณ์เป็นครั้งแรก อันไม่เป็นไปในภพอีกย่อมบังเกิดขึ้น. แต่ญาณนี้ไม่จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิเป็นอัพโภหาริกในระหว่างญาณทั้งสองเท่านั้น. เพราะญาณนี้ตกไปในกระแสแห่งวิปัสสนา จึงถึงการนับว่าเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือวิปัสสนา.
               เมื่อโคตรภูญาณกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ดับไปแล้ว โสดาปัตติผลซึ่งทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยสัญญาที่โคตรภูญาณนั้นให้แล้ว กำจัดสังโยชน์คือทิฏฐิสังโยชน์ สีลัพปรามาสสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ย่อมเกิดขึ้น.
               ในลำดับต่อจากนั้น ผลจิตสองหรือสามขณะอันเป็นผลแห่งโสดาปัตติมรรคนั้นนั่นแหละย่อมเกิดขึ้น เพราะผลจิตเป็นวิบากในลำดับต่อจากโลกุตรกุศล. ในที่สุดแห่งผลจิต มโนทวาราวัชชนจิตของพระโยคีนั้น เพราะตัดภวังค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเกิดขึ้นเพื่อพิจารณา.
               พระโยคีนั้นย่อมพิจารณามรรคว่า เรามาแล้วด้วยมรรคนี้หนอ. แต่นั้นพิจารณาผลว่า เราได้อานิสงส์นี้แล้ว. แต่นั้นพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วว่า กิเลสเหล่านี้เราละได้แล้ว. แต่นั้นพิจารณากิเลสที่จะพึงฆ่าด้วยมรรคเบื้องบน ๓ ว่ากิเลสเหล่านี้ยังเหลืออยู่. ในที่สุดพิจารณาอมตนิพพานว่า ธรรมนี้อันเราแทงตลอดแล้ว. การพิจารณา ๕ อย่างย่อมมีแก่พระโสดาบันนั้นด้วยประการฉะนี้.
               ในที่สุดแห่งสกทาคามิผลและอนาคามิผลก็เหมือนกัน.
               แต่ในที่สุดแห่งอรหัตผลไม่มีการพิจารณากิเลสที่เหลือ.
               การพิจารณาทั้งหมดมี ๑๙ อย่าง ดังนี้.
               พระโยคาวจรนั้น ครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้วก็นั่งบนอาสนะนั้นนั่นเอง เห็นแจ้งโดยนัยที่กล่าวแล้ว กระทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบาง ย่อมบรรลุทุติยมรรค. ในลำดับต่อจากทุติยมรรคนั้นก็บรรลุผลโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               แต่นั้น พระโยคาวจรทำการละกามราคะและพยาบาทไม่ให้มีส่วนเหลือโดยนัยที่กล่าวแล้ว ย่อมบรรลุตติยมรรคและบรรลุตติยผลตามนัยดังกล่าวแล้ว.
               แต่นั้น ณ อาสนะนั้นเอง พระโยคาวจรเห็นแจ้งโดยนัยที่กล่าวแล้วทำการละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ไม่ให้มีส่วนเหลือ ย่อมบรรลุจตุตถมรรคและบรรลุจตุตถผลโดยนัยที่กล่าวแล้ว. โดยเหตุเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้นก็เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้อรหันตมหาขีณาสพ. ญาณในมรรค ๔ เหล่านี้ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ด้วยสองบาทคาถานี้ว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ อเหฐยํ อญฺญตฺรมฺปิ เตสํ บุคคลวางแล้วซึ่งอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นอันพระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงศีลวิสุทธิ เพราะกล่าวถึงศีลมีปาติโมกขสังวรเป็นต้น.
               ด้วยบาทคาถานี้ว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย กุโต สหายํ ไม่พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนาสหายแต่ไหน เป็นอันท่านกล่าวถึงจิตตวิสุทธิ เพราะกล่าวถึงเมตตาเป็นต้น ด้วยการเว้นจากความกระทบกระทั่งและความยินดี.
               ด้วยบทนี้ว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น เป็นอันท่านกล่าวถึงทิฏฐิวิสุทธิ เพราะกล่าวถึงการกำหนดนามรูปเป็นต้น.
               วิสุทธิ ๓ ข้างต้นที่กล่าวแล้ว วิสุทธิ ๔ ประการคือ กังขาวิตรณวิสุทธิ ๑ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ ญาณทัสสนวิสุทธิ ๑ เป็นอันท่านกล่าวไว้แล้ว (ครบ ๗ ประการ) นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเพียงหัวข้อในวิสุทธิ ๗ นี้. แต่ผู้ปรารถนาความพิสดาร พึงดูวิสุทธิมรรคแล้วถือเอาเถิด.
               ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นี้.
                         มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้ง ๔ ไม่มีความขัดเคือง
                         ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตรายทั้งหลาย
                         ไม่หวาดสะดุ้ง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.

               เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงถึงความเป็นที่รักของสกุลทั้งหลายเป็นต้น เข้าไปสำราญอยู่ยังภูเขาคันธมาทน์.
               ในบททั้งปวงก็มีความอย่างนี้.


               จบอรรถกถานิทเทสแห่งคาถาที่ ๑               
               ในอรรถกถาขัคควิสาณสุตตนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :