ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 731อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๑๐. มาติกากถา

               อรรถกถามาติกากถา               
               บัดนี้ พระมหาเถระประสงค์จะสรรเสริญธรรม คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล นิพพานที่ท่านชี้แจงไว้แล้วในปฏิสัมภิทามรรคทั้งสิ้นในลำดับแห่งวิปัสสนากถา โดยปริยายต่างๆ ด้วยความต่างกันแห่งอาการจึงยกบทมาติกา ๑๙ บทมีอาทิว่า นิจฺฉาโต ผู้ไม่มีความหิวขึ้นแล้วกล่าวมาติกากถาด้วยชี้แจงบทมาติกาเหล่านั้น.
               ต่อไปนี้จะพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งมาติกากถานั้น พึงทราบวินิจฉัยในมาติกาก่อน.
               บทว่า นิจฺฉาโต คือ ผู้ไม่มีความหิว.
               จริงอยู่ กิเลสแม้ทั้งหมดชื่อว่า มิลิตา (เหี่ยวแห้ง) เพราะประกอบด้วยความบีบคั้น แม้ราคะอันเป็นไปในลำดับก็เผาผลาญร่างกาย จะพูดไปทำไมถึงกิเลสอย่างอื่น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกิเลส ๓ อย่างอันเป็นตัวการของกิเลสว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ อย่าง คือ ราคัคคิ (ไฟราคะ) โทสัคคิ (ไฟโทสะ) โมหัคคิ (ไฟโมหะ).
____________________________
๑- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๓

               แม้กิเลสที่ประกอบด้วยราคะ โทสะ โมหะนั้นก็ย่อมเผาผลาญเหมือนกัน.
               ชื่อว่า นิจฺฉาโต เพราะไม่มีกิเลสเกิดแล้วอย่างนี้.
               ผู้ไม่มีความหิวนั้นเป็นอย่างไร.
               พึงเห็นว่า ความหลุดพ้นโดยผูกพ้นกับวิโมกข์ ชื่อว่า โมกฺโข เพราะพ้น ชื่อว่า วิโมกฺโข เพราะหลุดพ้น นี้เป็นมาติกาบท ๑.
               บทว่า วิชฺชาวิมุตฺติ คือ วิชานั่นแหละคือวิมุตติ นี้เป็นมาติกาบท ๑.
               บทว่า ฌานวิโมกฺโข คือ ฌานนั่นแหละเป็นวิโมกข์ นี้เป็นมาติกาบท ๑.
               มาติกาบทที่เหลือก็เป็นบทหนึ่งๆ เพราะเหตุนั้นจึงเป็นมาติกาบท ๑๙ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เนกฺขมฺเมน กามจฺฉนฺทโต นิจฺฉาโต บุคคลผู้ไม่มีความหิวย่อมหลุดพ้นจากกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ คือพระโยคาวจรผู้ไม่มีกิเลส ย่อมหลุดพ้นจากกามฉันทะ เพราะปราศจากกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ แม้เนกขัมมะที่พระโยคาวจรนั้นได้ก็หมดความหิว ไม่มีกิเลสเป็นความหลุดพ้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
               บทว่า เนกฺขมฺเมน กามจฺฉนฺทโต มุจฺจตีติ วิโมกฺโข ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ คือพระโยคาวจรย่อมพ้นจากกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ เพราะเหตุนั้น เนกขัมมะนั้นจึงเป็นวิโมกข์.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
               บทว่า วิชฺชตีติ วิชฺชา เนกขัมมะชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่ามีอยู่. ความว่า เนกขัมมะชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่า มีอยู่ถือเข้าไปได้โดยสภาพ.
               อีกอย่างหนึ่ง เนกขัมมะชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่าอันพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ความจริง ย่อมรู้สึก ย่อมรู้ความเป็นจริง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่าอันพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติเพื่อได้คุณวิเศษ ย่อมรู้สึก ย่อมได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่าพระโยคาวจรย่อมประสบ ย่อมได้ภูมิที่ตนควรประสบ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่าพระโยคาวจรย่อมทำความรู้แจ้งสภาวธรรม เพราะเห็นสภาวธรรมเป็นเหตุ.
               บทว่า วิชฺชนฺโต มุจฺจติ มุจฺจนฺโต วิชฺชติ ชื่อว่าวิชชาวิมุตติ เพราะอรรถว่ามีอยู่หลุดพ้น หลุดพ้นมีอยู่.
               อธิบายว่า ชื่อว่าวิชชาวิมุตติ เพราะอรรถว่าธรรมตามที่กล่าวแล้วมีอยู่ ด้วยอรรถตามที่กล่าวแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากธรรมตามที่กล่าวแล้ว เมื่อหลุดพ้นจากธรรมตามที่กล่าวแล้ว ย่อมมีด้วยอรรถตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า กามจฺฉนฺทํ สํวรฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องกั้นกามฉันทะ.
               ความว่า เนกขัมมะนั้นชื่อว่าสีลวิสุทธิ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องห้ามกามฉันทะ. เนกขัมมะชื่อว่าจิตตวิสุทธิ เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน เพราะความไม่ฟุ้งซ่านเป็นเหตุ. ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ เพราะอรรถว่าเห็นเพราะการเห็นเป็นเหตุ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสมฺเภติ ย่อมระงับ. ความว่า ธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อว่าปัสสัทธิ เพราะพระโยคาวจรย่อมระงับกามฉันทะเป็นต้น ด้วยเนกขัมมะเป็นต้น.
               บทว่า ปหีนตฺตา คือ เพราะเป็นเหคุให้ละด้วยปหานะนั้นๆ.
               บทว่า ญาตฏฺเฐน ญาณํ ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่ารู้.
               ความว่า เนกขัมมะเป็นต้น ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่ารู้ ด้วยสามารถพิจารณาฌาน วิปัสสนา มรรค.
               แม้ในบทนี้ว่า ทิฏฺฐตฺตา ทสฺสนํ ชื่อว่าทัศนะ เพราะอรรถว่าเห็นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ชื่อว่า โยคี เพราะบริสุทธิ์ คือวิสุทธิมีเนกขัมมะเป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในเนกขัมมนิเทศดังต่อไปนี้.
               เนกขัมมะชื่อว่านิสสรณะ (สลัดกาม) เพราะสลัดจากกามราคะเพราะไม่มีโลภ ชื่อว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากกามราคะนั้น.
               เมื่อกล่าวว่า เนกขัมมะเป็นเครื่องสลัดรูป เพื่อแสดงถึงความวิเศษ เพราะไม่แสดงความวิเศษของอรูป ท่านจึงกล่าวว่า ยทิทํ อารุปฺปํ อรูปฌานสลัดรูป ตามลำดับปาฐะที่ท่านกล่าวไว้แล้วในที่อื่นนั่นแหละ.
               อนึ่ง อรูปฌานนั้นชื่อว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากรูป เพราะเหตุนั้นเป็นอันท่านกล่าวด้วยอธิการะ.
               บทว่า ภูตํ สิ่งที่เป็นแล้ว เป็นบทแสดงถึงการประกอบสิ่งที่เกิดขึ้น.
               บทว่า สงฺขตํ สิ่งที่ปรุงแล้ว เป็นบทแสดงถึงความวิเศษแห่งกำลังปัจจัย.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นบทแสดงถึงความไม่ขวนขวายปัจจัย แม้ในการประกอบปัจจัย.
               บทว่า นิโรโธ ตสฺส เนกฺขมฺมํ นิโรธเป็นเนกขัมมะจากสิ่งที่มีที่เป็น คือนิพพาน ชื่อว่าเนกขัมมะจากสิ่งที่ปรุงแต่งนั้น เพราะออกจากสิ่งที่ปรุงแต่งนั้น การถืออรูปฌานและนิโรธ ท่านทำแล้วตามลำดับดังกล่าวแล้วในปาฐะอื่น.
               เมื่อกล่าวว่าการออกไปจากกามฉันทะเป็นเนกขัมมะ เป็นอันท่านกล่าวซ้ำอีก. ท่านไม่กล่าวว่า ความสำเร็จแห่งการออกไปจากกามฉันทะ ด้วยคำว่าเนกขัมมะเท่านั้นแล้วกล่าวว่าเนกขัมมะที่เหลือ ข้อนั้นตรงแท้.
               แม้ในนิสสรณนิเทศก็พึงทราบความโดยนัยนี้แหละ.
               อนึ่ง ธาตุเป็นเครื่องสลัดออกในนิเทศนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเนกขัมมะตรงทีเดียว.
               บทว่า ปวิเวโก ความสงัด คือความสงัดเป็นเนกขัมมะเป็นต้นทีเดียว.
               บทว่า โวสฺสชฺชติ ย่อมปล่อยวาง คือโยคี. เนกขัมมะเป็นต้นเป็นการปล่อยวาง. ท่านกล่าวว่า พระโยคาวจรประพฤติเนกขัมมะ ย่อมเที่ยวไปด้วยเนกขัมมะ.
               อนึ่ง เนกขัมมะนั้นเป็นจริยา แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               ควรจะกล่าวไว้ในฌานวิโมกขนิเทศ ท่านก็กล่าวไว้ในวิโมกกถา.
               ในวิโมกขกถานั้น ท่านกล่าวว่า ฌานวิโมกฺโข หลุดพ้นเพราะฌานว่า๒- ชานาติ ย่อมรู้อย่างเดียว. แต่ในฌานวิโมกขนิเทศนี้มีความแปลกออกไปว่า ท่านแสดงเป็นบุคลาธิษฐานว่า ชายติ ย่อมเกิด.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๘๓

               อนึ่ง ในภาวนาธิฏฐานชีวิตนิเทศ ท่านแสดงเป็นบุคลาธิษฐาน.
               แต่ตามธรรมดา เนกขัมมะเป็นต้นนั่นแหละชื่อว่าภาวนา.
               จิตที่ตั้งไว้ด้วยเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อว่าอธิษฐาน.
               สัมมาอาชีวะของผู้มีจิตตั้งไว้ด้วยเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อว่าชีวิต.
               สัมมาอาชีวะนั้นเป็นอย่างไร การเว้นจากมิจฉาชีวะและพยายามแสวงหาปัจจัยโดยธรรมโดยเสมอ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมํ ชีวติ เป็นอยู่สงบ คือมีชีวิตอยู่อย่างสงบ. อธิบายว่า เป็นอยู่โดยสงบ.
               บทว่า โน วิสมํ ไม่เป็นอยู่ไม่สงบ ท่านทำเป็นอวธารณ (คำปฏิเสธ) ด้วยปฏิเสธความที่กล่าวว่า สมํ ชีวติ เป็นอยู่สงบ.
               บทว่า สมฺมา ชีวติ เป็นอยู่โดยชอบ เป็นบทชี้แจงอาการ.
               บทว่า โน มิจฺฉา ไม่เป็นอยู่ผิด คือกำหนดความเป็นอยู่นั้นนั่นเอง.
               บทว่า วิสุทฺธิ ชีวติ เป็นอยู่หมดจด คือมีชีวิตเป็นอยู่หมดจด ด้วยความหมดจดตามสภาพ.
               บทว่า โน กิลิฏฺฐิ ไม่เป็นอยู่เศร้าหมอง คือกำหนดความเป็นอยู่นั้นนั่นเอง.
               พระสารีบุตรเถระแสดงอานิสงส์แห่งสัมปทา ๓ ตามที่กล่าวแล้ว แห่งญาณสมบัติด้วยบทมีอาทิว่า ยญฺญเทว.
               บทว่า ยญฺญเทว ตัดบทเป็น ยํ ยํ เอว.
               บทว่า ขตฺติยปริสํ คือประชุมพวกกษัตริย์. ท่านกล่าวว่า บริษัทเพราะนั่งอยู่รอบๆ ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรกัน.
               ในอีก ๓ บริษัทนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน
               การถือเอาบริษัท ๔ เหล่านั้น เพราะประกอบด้วยอาคมสมบัติและญาณสมบัติ ของกษัตริย์เป็นต้นนั่นเอง มิใช่ด้วยบริษัทของพวกศูทร.
               บทว่า วิสารโท เป็นผู้แกล้วกล้า คือถึงพร้อมด้วยปัญญา ปราศจากความครั่นคร้าม คือไม่กลัว.
               บทว่า อมงฺกุโต ไม่เก้อเขิน คือไม่ขยาด มีความอาจหาญ.
               บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ ข้อนั้นเพราะเหตุไร กล่าวถึงเหตุแห่งความกล้าหาญนั้นว่า ตถา หิ เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัมปทา ๓ คือ ภาวนา อธิษฐาน อาชีวะ ฉะนั้น
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงถึงเหตุแห่งความเป็นผู้กล้าหาญว่า วิสารโท โหติ เป็นผู้กล้าหาญแล้ว จึงให้จบลงด้วยประการฉะนี้แล.

               อรรถกถามาติกากถา               
               -----------------------------------------------------               

               รวมกถาที่มีในปกรณ์ปฏิสัมภิทานั้น คือ
                         ๑. ญาณกถา ๒. ทิฏฐิกถา ๓. อานาปานกถา
                         ๔. อินทรียกถา ๕. วิโมกขกถา ๖. คติกถา
                         ๗. กรรมกถา ๘. วิปัลลาสกถา ๙. มรรคกถา
                         ๑๐. มัณฑเปยยกถา
                         ๑. ยุคนัทธกถา ๒. สัจจกถา ๓. โพชฌงคกถา
                         ๔. เมตตากถา ๕. วิราคกถา ๖. ปฏิสัมภิทากถา
                         ๗. ธรรมจักรกถา ๘. โลกุตรกถา ๙. พลกถา
                         ๑๐. สุญญกถา
                         ๑. มหาปัญญากถา ๒. อิทธิกถา ๓. อภิสมยกถา
                         ๔. วิเวกกถา ๕. จริยากถา ๖. ปาฏิหาริยกถา
                         ๗. สมสีสกถา ๘. สติปัฏฐานกถา ๙. วิปัสสนากถา
                         ๑๐. มาติกากถา
               วรรค ๓ วรรคในปกรณ์ปฏิสัมภิทา มีอรรถกว้างขวางลึกซึ้งในมรรคเป็นอนันตนัย เปรียบด้วยสาคร เหมือนนภากาศเกลื่อนกลาดด้วยดวงดาว และเช่นสระใหญ่ ความสว่างจ้าแห่งญาณของพระโยคีทั้งหลาย ย่อมมีได้โดยพิลาสแห่งคณะพระธรรมกถิกาจารย์ ฉะนี้แล ฯ

               ปฏิสัมภิทาจบด้วยประการฉะนี้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๑๐. มาติกากถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 731อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10975&Z=11086
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=8378
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=8378
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :