ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๔ / ๗.

               อนึ่ง พึงทราบการพิจารณาในการครองเรือนโดยนัยมีอาทิว่า
               การครองเรือนคับแคบเป็นทางแห่งธุลีในกามทั้งหลายโดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายอุปมาด้วยโครงกระดูก และโดยนัยมีอาทิว่า แม้มารดาก็ทะเลาะกับบุตร. เบื้องต้นเห็นโทษในกามฉันทะเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า เหมือนอย่างบุรุษกู้หนี้ไปประกอบการงาน.
               ในเนกขัมมบารมีด้วยการพิจารณาอานิสงส์ในบรรพชาเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า
               บรรพชาเป็นอัพโภกาส คือโอกาสดียิ่งโดยปริยายดังกล่าวแล้ว.
               นี้เป็นสังเขปในที่นี้.
               ส่วนความพิสดารพึงทราบในทุกขักขันธสูตรและอาสีวิโสปมสูตรเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงมนสิการถึงปัญญาคุณว่า
               ธรรมทั้งหลายมีทานเป็นต้น เว้นจากปัญญาย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้ ย่อมไม่มีความสามารถขวนขวายตามที่เป็นของตนได้ เหมือนอย่างสรีรยนต์เว้นชีวิตก็ย่อมไม่งาม. อนึ่งย่อมไม่สามารถปฏิบัติในกิริยาทั้งหลายของตนได้. และอินทรีย์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้นเว้นวิญญาณเสียแล้วก็ไม่พอที่จะทำกิจในวิสัยของตนได้. อินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธาเป็นต้นก็อย่างนั้น เว้นปัญญาเสียแล้วก็ไม่สามารถในการปฏิบัติกิจของตนได้ เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงเป็นใหญ่ในการปฏิบัติมีการบริจาคเป็นต้น.
               จริงอยู่ พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาจักษุอันลืมแล้ว ให้แม้อวัยวะน้อยใหญ่ของตน เป็นผู้ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น. เป็นผู้เกิดโสมนัสแม้ใน ๓ กาล ปราศจากการกำหนดดุจต้นไม้ที่เป็นยา.
               จริงอยู่ การบริจาคโดยประกอบด้วยความฉลาดในอุบายด้วยปัญญา ย่อมเข้าถึงความเป็นทานบารมี เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น. เพราะว่าทานเป็นเช่นกับกำไรอันเป็นประโยชน์ของตน.
               อนึ่ง ความบริสุทธิ์แห่งศีลโดยไม่ปราศจากความเศร้าหมองมีตัณหาเป็นต้น ย่อมเกิดไม่ได้เพราะไม่มีปัญญา. การอธิษฐานคุณแห่งความเป็นพระสัพพัญญูจักมีได้แต่ไหน. ผู้มีปัญญาเท่านั้นพิจารณาเห็นโทษในการครองเรือน ในกามคุณและในสงสาร และอานิสงส์ในการบรรพชา ในฌานสมาบัติและในนิพพานด้วยดี ครั้นบวชแล้วยังฌานสมาบัติให้เกิดมุ่งหน้าต่อนิพพาน และยังคนอื่นให้ตั้งอยู่ในฌานสมาบัตินั้น.
               ไม่ยังความเพียรปราศจากปัญญาเพียงตั้งความปรารถนาไว้ให้สำเร็จได้เพราะเริ่มไม่ดี. การไม่เริ่มยังประเสริฐกว่าการเริ่มไม่ดี. การบรรลุยากอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเพียรประกอบด้วยปัญญา ไม่ประเสริฐกว่าการปฏิบัติโดยอุบาย.
               อนึ่ง ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นผู้มีความอดกลั้นต่อความเสียหายของผู้อื่นเป็นต้น ผู้มีปัญญาทรามไม่เป็นผู้อดกลั้น.
               ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน. แต่ความเสียหายเหล่านั้นของผู้มีปัญญาย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งขันตินั้นด้วยเพิ่มพูนความสมบูรณ์แห่งขันติ.
               ผู้มีปัญญาเท่านั้นรู้สัจจะ ๓ อย่าง เหตุแห่งสัจจะเหล่านั้น และปฏิปักษ์ตามความเป็นจริงเป็นผู้ไม่กล่าวผิดแก่ผู้อื่น.
               อนึ่ง ผู้อุปถัมภ์ตนด้วยกำลังปัญญาเป็นผู้ตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหวในบารมีทั้งปวงด้วยการถึงพร้อมด้วยปัญญา. ผู้มีปัญญาเท่านั้น ไม่ทำการแบ่งแยกคนที่รัก คนกลางและคนที่เป็นศัตรู เป็นผู้ฉลาดในการนำประโยชน์เข้าไปในที่ทั้งปวง.
               อนึ่ง เป็นผู้มีความเป็นกลางเพราะไม่มีความผิดปกติในการประสบโลกธรรมมีลาภ เสื่อมลาภเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งปัญญา. ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ของบารมีทั้งปวงด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้นควรพิจารณาคุณของปัญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง เว้นปัญญาเสียแล้วทัศนสมบัติย่อมมีไม่ได้ เว้นทิฏฐิสัมปทาโดยระหว่างศีลสัมปทาก็มีไม่ได้. ผู้ปราศจากศีลสัมปทาและทิฏฐิสัมปทา สมาธิสัมปทาก็มีไม่ได้.
               อนึ่ง ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นไม่สามารถแม้เพียงประโยชน์ตนให้สำเร็จได้ ไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ผู้อื่นอันถึงขั้นอุกฤษฎ์กันละ เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ควรสอนตนว่า ท่านควรทำความเพียรในความเจริญด้วยปัญญาโดยเคารพ มิใช่หรือ.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์ตั้งมั่นในอธิษฐานธรรม ๔ ด้วยบุญญานุภาพ อนุเคราะห์โลกด้วยสังคหวัตถุ ๔ ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้หยั่งลงในมรรคอันเป็นการออกไป และยังอินทรีย์ของสัตว์เหล่านั้นให้เจริญงอกงาม.
               อนึ่ง พึงกำหนดคุณของปัญญามีอาการไม่น้อยโดยนัยมีอาทิว่า ผู้มากด้วยการค้นคว้าในขันธ์อายตนะเป็นต้น ด้วยกำลังปัญญากำหนดรู้ความเป็นไปและการกลับตามความเป็นจริงแนะนำคุณมีทานเป็นต้น อันเป็นส่วนแห่งความรู้อย่างวิเศษเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในการศึกษาของพระโพธิสัตว์ แล้วพึงพอกพูนปัญญาบารมี.
               อนึ่ง กรรมอันเป็นโลกิยะแม้ปรากฏอยู่ก็ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยความเพียรชั้นต่ำ. ผู้ปรารภความเพียรไม่คำนึงถึงความลำบาก จะบรรลุได้ไม่ยากเลย.
               จริงอยู่ ผู้มีความเพียรต่ำไม่สามารถจะปรารภว่า เราจักยังสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงใหญ่คือสงสาร. ผู้มีความเพียรปานกลางปรารภแล้วย่อมถึงที่สุดในระหว่าง. ส่วนผู้มีความเพียรอุกฤษฏ์ไม่เพ่งถึงความสุขของสัตว์ ย่อมบรรลุบารมีที่ปรารภไว้ เพราะเหตุนั้น พึงพิจารณาถึงวิริยสมบัติ
               อีกอย่างหนึ่ง พึงพิจารณาถึงคุณของความเพียรโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               การปรารภเพื่อถอนจากเปือกตมคือสงสารของตนของบุคคลใด การถึงที่สุดแห่งความปรารถนาในความเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อน แม้ของบุคคลนั้นไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้. ไม่ต้องพูดถึงการสร้างอภินิหารเพื่อถอนโลกพร้อมกับเทวโลกกันละ. เพราะหมู่แห่งกิเลสเป็นเครื่องประทุษร้ายมีราคะเป็นต้น ห้ามได้ยากดุจคชสารตกมัน เพราะการสมาทานกรรมอันมีกิเลสเป็นเครื่องประทุษร้ายนั้นเป็นเหตุ เช่นกับเพชฌฆาตเงื้อดาบ เพราะทุคติอันเป็นนิมิตแห่งกรรมนั้นเปิดอยู่ตลอดกาล เพราะมิตรชั่วชักชวนในกรรมนั้นได้เตรียมไว้แล้วทุกเมื่อ และเพราะทำตามโอวาทของมิตรชั่วนั้น.
               ในความมีสติของความเป็นปุถุชนคนพาล จึงควรออกจากสังสารทุกข์เองได้ เพราะเหตุนั้น มิจฉาวิตกย่อมอยู่ไกลด้วยอานุภาพของความเพียร และหากว่าสามารถบรรลุสัมโพธิญาณได้ด้วยความเพียรอาศัยตน. อะไรเล่าจะทำได้ยากในข้อนี้.
               อนึ่ง ชื่อว่าขันตินี้เป็นอาวุธ ไม่เบียดเบียนคนดี ในเพราะสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ เพราะกำจัดความโกรธอันเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมไม่มีส่วนเหลือ. เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้. เป็นพลสัมปทาของสมณพราหมณ์. เป็นสายน้ำกำจัดไฟคือความโกรธ. เป็นเครื่องชี้ถึงความเกิดแห่งกิตติศัพท์อันดีงาม. เป็นมนต์และยาวิเศษระงับพิษคำพูดของคนชั่ว. เป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยมของผู้ตั้งอยู่ในสังวร. เป็นสาครเพราะอาศัยความลึกซึ้ง. เป็นฝั่งของมหาสาครคือโทสะ. เป็นบานประตูปิดประตูอบาย. เป็นบันไดขึ้นสู่เทวโลกและพรหมโลก. เป็นภูมิที่สถิตอยู่ของคุณทั้งปวง. เป็นความบริสุทธิ์กายวาจาและใจอย่างสูงสุด.
               พึงมนสิการด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เดือดร้อนในโลกนี้ เพราะไม่มีขันติสมบัติ. และเพราะประกอบธรรมอันทำให้เดือดร้อนในโลกหน้า. หากว่า ทุกข์มีความเสียหายของผู้อื่นเป็นนิมิตเกิดขึ้น. อัตภาพอันเป็นเขตของทุกข์นั้น และกรรมอันเป็นพืชของทุกข์นั้นอันเราปรุงแต่งแล้ว. นั่นเป็นเหตุแห่งความเป็นหนี้ของทุกข์นั้น.
               เมื่อไม่มีผู้ทำให้เสียหาย ขันติสัมปทาของเราจะเกิดได้อย่างไร.
               แม้หากว่า บัดนี้ผู้นี้ไม่ทำให้เสียหาย. ผู้นั้นก็ได้ทำอุปการะแก่เรามาก่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ไม่ทำให้เสียหายนั่นแหละเป็นผู้มีอุปการะ เพราะมีขันติเป็นนิมิต. สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเช่นบุตรของเรา. ใครจักโกรธในความผิดที่บุตรทำได้. บุตรนี้ทำผิดแก่เราโดยมิใช่เพศของปีศาจที่โกรธอันใด เราควรแนะนำบุตรผู้มิใช่เพศที่เป็นความโกรธนั้น. ทุกข์นี้เกิดแก่เราด้วยความเสียหายใด แม้เราก็เป็นนิมิตของความเสียหายนั้น. ทำความเสียหายด้วยธรรมใดและทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ดับไปในขณะนั้นเอง บัดนี้ใครพึงทำความโกรธแก่ใคร และใครผิดแก่ใคร เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.
               พิจารณาดังนี้ควรเพิ่มพูนขันติสัมปทาด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง หากว่าความโกรธมีการทำความเสียหายต่อผู้อื่นเป็นนิมิต ด้วยการสะสมมาตลอดกาลของบุคคลนั้นพึงครอบงำจิตตั้งอยู่. บุคคลนั้นควรสำเหนียกว่าดังนี้ ชื่อว่าขันตินี้เป็นเหตุช่วยเหลือการปฏิบัติเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ไม่ทำความเสียหายต่อผู้อื่น. ขันติเป็นปัจจัยแห่งศรัทธาโดยให้ทุกข์เกิดว่า ศรัทธาอาศัยทุกข์เป็นความเสียหายของเราและแห่งอนภิรติสัญญาคือกำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง. ความปกติของอินทรีย์นี้คือการประกอบสม่ำเสมอในอารมณ์อันน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาในอินทรีย์ปกตินั้น การประกอบสม่ำเสมอในอารมณ์อันไม่น่าปรารถนาไม่พึงมีแก่เรา ด้วยเหตุนั้น การประกอบสม่ำเสมอในอารมณ์ไม่น่าปรารถนานั้น จะพึงมีได้ในที่นี้แต่ไหน.
               สัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธมัวเมาด้วยความโกรธมีจิตฟุ้งซ่าน.
               ในสัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธนั้นจะได้อะไรด้วยการช่วยเหลือ. สัตว์เหล่านี้ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคุ้มครองดุจบุตรเกิดแต่อกฉะนั้น. เพราะฉะนั้น เราไม่ควรทำใจโกรธในสัตว์นั้น.
               เมื่อผู้ทำความผิดมีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ. เมื่อไม่มีคุณควรแสดงความสงสารเป็นพิเศษ. ยศอันเป็นคุณของเราย่อมเสื่อมเพราะความโกรธ. สิ่งเป็นข้าศึกทั้งหลายมีผิวพรรณเศร้าหมองและการอยู่เป็นทุกข์เป็นต้น ย่อมมาถึงเราด้วยความโกรธ.
               อนึ่ง ชื่อว่าความโกรธนี้กระทำสิ่งไม่เป็นประโยชน์ได้ทุกอย่าง ยังประโยชน์ทั้งปวงให้พินาศเป็นข้าศึกมีกำลัง. เมื่อมีขันติ ข้าศึกไรๆ ก็ไม่มี. ทุกข์มีความผิดเป็นนิมิตอันผู้ทำความผิดพึงได้รับต่อไป.
               อนึ่ง เมื่อมีขันติ เราก็ไม่มีทุกข์. ข้าศึกติดตามเราผู้คิดและโกรธ. เมื่อเราครอบงำความโกรธด้วยขันติ ข้าศึกเป็นทาสของความโกรธนั้นก็จะถูกครอบงำโดยชอบ. การสละขันติคุณอันมีความโกรธเป็นนิมิตไม่สมควรแก่เรา.
               เมื่อมีความโกรธอันเป็นข้าศึกทำลายคุณธรรม ธรรมมีศีลเป็นต้น จะพึงถึงความบริบูรณ์แก่เราได้อย่างไร.
               เมื่อไม่มีธรรมมีศีลเป็นต้นเหล่านั้น เราเป็นผู้มากด้วยอุปการะแก่สัตว์ทั้งหลาย จักถึงสมบัติสูงสุดสมควรแก่ปฏิญญาได้อย่างไร. เมื่อมีความอดทนสังขารทั้งหลายทั้งปวง ของผู้มีจิตตั้งมั่นเพราะไม่มีความฟุ้งซ่านในภายนอก ย่อมทนต่อการเพ่งโดยความเป็นของไม่เที่ยงโดยความเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมทนการเพ่งโดยความเป็นอนัตตา และนิพพานย่อมทนต่อการเพ่งโดยความเป็น อสังขตะ อมตะ สันตะและปณีตะเป็นต้น และพุทธธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏโดยเป็นอจินไตย และหาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง แต่นั้นพึงทราบการพิจารณาขันติบารมีโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ผู้ตั้งอยู่ในขันติอันเหมาะสมย่อมควรแก่การเพ่ง เพราะเป็นผู้ไม่ตั้งมั่นอยู่ในอหังการมมังการว่า ความเป็นสิ่งธรรมดาเว้นจากการถือตัวถือตนเหล่านี้อย่างเดียว ย่อมเกิด ย่อมเสื่อม ด้วยปัจจัยทั้งหลายของตน. ย่อมไม่มาแต่ที่ไหนๆ. ย่อมไม่ไปในที่ไหนๆ . ทั้งไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ. ทั้งไม่มีความขวนขวายไรๆ ของใครๆ ในที่นี้ ดังนี้. พระโพธิสัตว์เป็นผู้เที่ยงต่อโพธิญาณ เป็นผู้ไม่กลับมาเป็นธรรมดา ดังนี้.
               อนึ่ง พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยมีอาทิว่า
               เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้. เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา. เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจธรรม. เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้. เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไปมาพูด. เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง. เพราะเป็นผู้สามารถบำเพ็ญโพธิสมภารทั้งปวงให้บริสุทธิ์ได้. เพราะกระทำกิจแห่งโพธิสมภารทั้งปวงด้วยไม่ให้ผิดสภาวธรรม และเพราะสำเร็จในการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ดังนี้.
               อนึ่ง พึงพิจารณาคุณในอธิษฐานโดยนัยมีอาทิว่า
               การสมาทานมั่นในทานเป็นต้น และการอธิษฐานไม่หวั่นไหวของคุณเหล่านั้น ในเพราะการประชุมธรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อการสมาทานมั่นนั้น การสะสมบารมีมีทานบารมีเป็นต้น อันมีสัมโพธิญาณเป็นนิมิต เว้นความเป็นผู้มีปัญญาและความกล้าในอธิษฐานนั้นเสีย ย่อมมีไม่ได้ ดังนี้.
               อนึ่ง พึงพิจารณาคุณของเมตตาโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               อันผู้ตั้งลงในคุณเพียงประโยชน์ตน เว้นความเป็นผู้มีจิตมุ่งประโยชน์ในสัตว์ทั้งหลาย ไม่สามารถบรรลุสมบัติในโลกนี้และในโลกหน้าได้. ไม่ต้องพูดถึงผู้ใคร่ยังสรรพสัตว์ให้ตั้งอยู่ในนิพพานสมบัติกันละ.
               บัดนี้ หวังโลกิยสมบัติก็ควรแล้ว ภายหลังจึงค่อยหวังโลกุตรสมบัติแก่สรรพสัตว์. บัดนี้ เราไม่สามารถทำการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์สุขแก่สัตว์เหล่าอื่นด้วยคุณเพียงอัธยาศัยได้ เมื่อไรจึงจักให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความเพียรเล่า.
               บัดนี้ เราให้เจริญด้วยการนำประโยชน์สุขเข้าไปให้ ภายหลังสหายผู้จำแนกธรรมจักมีแก่เรา. เพราะฉะนั้น พึงเข้าไปตั้งความเป็นผู้มีอัธยาศัยบำเพ็ญประโยชน์ในสรรพสัตว์ พร้อมกับความวิเศษว่า สัตว์เหล่านี้เป็นบุญเขตอย่างยิ่ง เป็นบ่อเกิดแห่งกุศลอย่างเยี่ยม เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพอย่างสูงของเรา เพราะเป็นเหตุให้สำเร็จความเจริญด้วยพุทธคุณทั้งปวง.
               พึงเพิ่มพูนเมตตาในสรรพสัตว์ แม้โดยความอธิษฐานกรุณาอย่างแท้จริง. ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะกำจัดสิ่งไม่มีประโยชน์และทุกข์ของสัตว์เหล่านั้น มีกำลัง มีรากมั่นคง ย่อมเกิดแก่ผู้ยินดี นำประโยชน์สุขเข้าไปให้ในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยใจที่ไม่มีขอบเขต.
               อนึ่ง กรุณาเป็นเบื้องต้น เป็นจรณะ เป็นหลัก เป็นมูล เป็นหน้า เป็นประมุขของพุทธการกธรรมทั้งหลายทั้งปวง.
               อนึ่ง พึงพิจารณาอุเบกขาบารมีโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ความเสียหายที่สัตว์ทั้งหลายทำเพราะไม่มีอุเบกขา พึงให้เกิดความพิการทางจิต เมื่อจิตพิการก็ไม่มีการสะสมบารมีมีทานบารมีเป็นต้น. เมื่อจิตยังผูกพันอยู่ด้วยเมตตา เว้นอุเบกขาเสียแล้ว การสะสมบารมีก็มีไม่ได้. ผู้ไม่มีอุเบกขา ไม่สามารถจะน้อมบุญสมภารและประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นผลของบุญสมภารนั้นเข้าไปในการสะสมทั้งหลายได้. เพราะไม่มีอุเบกขา ไม่ทำการจำแนกไทยธรรมและปฏิคาหก แล้วไม่สามารถบริจาคได้. อันผู้ปราศจากอุเบกขาไม่มนสิการถึงอันตรายแห่งปัจจัยเป็นเครื่องนำมาซึ่งชีวิตและชีวิต แล้วไม่สามารถทำศีลให้บริสุทธิ์ได้.
               อนึ่ง ความสำเร็จแห่งการตั้งใจสมาทานโพธิสมภารทั้งปวงให้บริบูรณ์ ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งอุเบกขา
               คือ โดยความไม่ยินดีและความยินดีพันหนึ่ง สำเร็จด้วยกำลังแห่งเนกขัมมะ ด้วยอำนาจแห่งอุเบกขา โดยเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการพิจารณา โดยสำเร็จกิจแห่งการสะสมบารมีทั้งปวง โดยไม่ทำกิจการใหญ่ๆ ในเพราะไม่เพ่งถึงความเพียรที่เริ่มไว้มากแล้ว โดยความวางเฉย โดยมีความเพ่งถึงความอดกลั้น โดยไม่พูดผิดต่อสัตว์สังขาร ด้วยอำนาจแห่งอุเบกขา โดยความสำเร็จ ความตั้งใจอันไม่หวั่นไหวในธรรมที่สมาทานแล้ว ด้วยความวางเฉยต่อโลกธรรม โดยความสำเร็จแห่งเมตตาวิหารธรรม ด้วยการไม่ผูกใจในความเสียหายของผู้อื่นเป็นต้น.
               การพิจารณาโทษและอานิสงส์ตามลำดับ ในการไม่บริจาคและการบริจาคเป็นต้นอย่างนี้ พึงเห็นว่า เป็นปัจจัยแห่งบารมีมีทานบารมีเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบจรณธรรม ๑๕ และอภิญญา ๕ พร้อมด้วยธรรมเป็นบริวารดังต่อไปนี้.
               ศีลสังวร ๑ การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ความรู้จักประมาณในการบริโภค ๑ การประกอบความเพียรเนืองๆ ๑ สัทธรรม ๗ และฌาน ๔ ชื่อว่าจรณธรรม.
               ในจรณธรรมเหล่านั้น ธุดงค์ ๑๓ และความมักน้อยเป็นต้นเป็นบริวารของธรรม ๔ มีศีลเป็นต้น.
               ในสัทธรรมทั้งหลาย ความที่จิตน้อมไปในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล จาคะ การระลึกถึงเทวดา การเว้นบุคคลเศร้าหมอง การคบหาบุคคลผู้สนิท การพิจารณาธรรมอันน่าเลื่อมใส เป็นบริวารของศรัทธา.
               ความที่จิตน้อมไปในการพิจารณาโทษของอกุสล ของอบาย การพิจารณาความอุปถัมภ์ของกุศลธรรม การเว้นบุคคลที่ปราศจากหิริโอตตัปปะ การคบบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะเป็นบริวารของหิริโอตตัปปะ.
               ความเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าด้วยการสะสมมีการสอบถาม การประกอบความเพียรในเบื้องต้น การตั้งอยู่ในพระสัทธรรม และดำรงอยู่ในวิชาอันไม่มีโทษ ความที่จิตน้อมไปในการเว้นการฟังน้อยถึงความไกลจากกิเลส และเสพการฟังมาก เป็นบริวารของพาหุสัจจะ.
               ความที่จิตน้อมไปในการพิจารณาเห็นภัยในอบาย พิจารณาเห็นทางดำเนิน พิจารณาถึงการบูชาธรรม พิจารณาถึงการบรรเทาถีนมิทธะ การเว้นบุคคลเกียจคร้าน การคบบุคคลปรารภความเพียรและความเพียรชอบ เป็นบริวารของวีริยะ.
               ความที่จิตน้อมไปในการเว้นบุคคลผู้ขาดสติสัมปชัญญะ หลงๆ ลืมๆ และคนบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นบริวารของสติ.
               ความที่จิตน้อมไปในสติให้ถึงความบริบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ทำความเฉียบแหลมในเรื่องที่สอบถาม เว้นบุคคลปัญญาทราม คบบุคคลมีปัญญา และพิจารณาถึงข้อควรประพฤติอันเป็นญาณลึกซึ้ง เป็นบริวารของปัญญา.
               หมวด ๔ แห่งคุณมีศีลเป็นต้น. บุพภาคภาวนาในอารมณ์ ๓๘, และการกระทำวสีมีอาวัชชนวสีเป็นต้น เป็นบริวารของฌานทั้ง ๔.
               พึงเจาะจงกล่าวตามสมควรถึงความที่จรณะเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งการสะสมบารมีมีทานบารมีเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า
               ชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการให้อภัยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยความบริสุทธิ์แห่งการประกอบด้วยศีลเป็นต้น ในการให้อามิส ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ในการให้ธรรมด้วยความบริสุทธิ์ทั้งสองอย่าง.
               เราจะไม่เจาะจงกล่าวเพราะเกรงว่าจะพิสดารเกินไป.
               แม้สมบัติจักรเป็นต้น ก็พึงทราบว่าเป็นปัจจัยแห่งทานเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               อะไรเป็นความเศร้าหมอง?
               ความลูบคลำด้วยตัณหาเป็นต้น เป็นความเศร้าหมองแห่งบารมีทั้งหลาย โดยไม่ต่างกัน.
               แต่โดยความต่างกัน :-
               เป็นความเศร้าหมองแห่งทานบารมี เพราะกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหก.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งศีลบารมี เพราะกำหนดบุคคลและกาลเวลา.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งเนกขัมมบารมี เพราะกำหนดความยินดีและความไม่ยินดีในการเข้าไประงับกิเลสนั้นในกามภพ.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งปัญญาบารมี เพราะกำหนดว่า เรา ของเรา ดังนี้.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งวีริยบารมี เพราะกำหนดด้วยความหดหู่และความฟุ้งซ่าน.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น.
               เป็นความเศร้าหมองแห่งสัจบารมี เพราะกำหนดด้วยมีการเห็นในสิ่งที่ไม่ได้เห็นเป็นต้น.
               เป็นความเศร้าหมองของอธิษฐานบารมี เพราะกำหนดด้วยโทษและคุณ ในโพธิสมภารและฝ่ายตรงข้ามกับโพธิสมภาร.
               เป็นความเศร้าหมองของเมตตาบารมี เพราะกำหนดด้วยประโยชน์และมิใช่ประโยชน์.
               เป็นความเศร้าหมองของอุเบกขาบารมี เพราะกำหนดด้วยสิ่งน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา.
               พึงเห็นด้วยประการฉะนี้แล.
               อะไรเป็นความผ่องแผ้ว?
               พึงทราบว่า การไม่เข้าไปอาฆาตด้วยตัณหาเป็นต้น การปราศจากความกำหนดตามที่กล่าวแล้ว เป็นความผ่องแผ้วของบารมีเหล่านั้น.
               เพราะบารมีมีทานบารมีเป็นต้น ปราศจากการกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น อันกิเลสทั้งหลายมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มทะ ปมาทะเป็นต้น ใช่จะเข้าไปกระทบ ย่อมเป็นบารมีบริสุทธิ์ผุดผ่อง.
               อะไรเป็นปฏิปักษ์?
               ความเศร้าหมองแม้ทั้งหมด อกุสลธรรมแม้ทั้งหมดเป็นปฏิปักษ์ของบารมีเหล่านั้นโดยไม่ต่างกัน.
               แต่โดยความต่างกัน พึงทราบว่า ความตระหนี่เป็นต้นที่กล่าวแล้วในตอนก่อนเป็นปฏิปักษ์ของบารมีเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ทานเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะ โทสะและโมหะ เพราะประกอบด้วยคุณ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ในไทยธรรม, ปฏิคาหกและผลของทานทั้งหลาย.
               ศีลเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะเป็นต้น เพราะปราศจากความคดคือโทสะมีกายเป็นต้น.
               เนกขัมมะเป็นปฏิปักษ์แก่หมวด ๓ แห่งโทสะ เพราะเว้นจากกามสุข การเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่นและการทำตนให้ลำบาก.
               ปัญญาเป็นปฏิปักษ์ของโลภะเป็นต้น เพราะทำความมืดมนแก่โลภะเป็นต้น และเพราะทำความไม่มืดมนแก่ญาณ.
               วิริยะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภเป็นต้น ด้วยไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่านและปรารภเพื่อความรู้.
               ขันติเป็นปฏิปักษ์แก่โลภเป็นต้น เพราะอดทนต่อความสูญของสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งไม่น่าปรารถนา.
               สัจจะเป็นปฏิปักษ์แก่โลภเป็นต้น เพราะเป็นไปตามความเป็นจริง เมื่อผู้อื่นทำอุปการะและทำความเสียหาย.
               อธิษฐานเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะครอบงำโลกธรรม แล้วไม่หวั่นไหวในการสั่งสมบารมีตามที่สมาทานแล้ว.
               เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะสงบจากนิวรณ์.
               อุเบกขาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภเป็นต้น เพราะกำจัดความคล้อยตามและความคับแค้นในสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา และเพราะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ.
               พึงเห็นด้วยประการฉะนี้.
               อะไรเป็นข้อปฏิบัติ?
               การทำความอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนมากด้วยการสละเครื่องอุปกรณ์ความสุข ร่างกายและชีวิตด้วยการกำจัดภัย และการชี้แจงธรรมเป็นข้อปฏิบัติของทานบารมี.
               ในทานบารมีนั้นมีทาน ๓ อย่าง โดยเป็นวัตถุที่ควรให้ คือ อามิสทาน ๑ อภัยทาน ๑ ธรรมทาน ๑.
               ในทานเหล่านั้น วัตถุที่พระโพธิสัตว์ควรให้มี ๒ อย่าง คือ วัตถุภายใน ๑ วัตถุภายนอก ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น วัตถุภายนอกมี ๑๐ อย่าง คือ ข้าว ๑ น้ำ ๑ ผ้า ๑ ยาน ๑ ดอกไม้ ๑ ของหอม ๑ เครื่องลูบไล้ ๑ ที่นอน ๑ ที่อาศัย ๑ ประทีป ๑.
               บรรดาวัตถุมีข้าวเป็นต้น มีวัตถุหลายอย่าง โดยจำแนกของควรเคี้ยวและของควรบริโภคเป็นต้น.
               อนึ่ง วัตถุ ๖ อย่าง คือรูปารมณ์จนถึงธรรมารมณ์.
               อนึ่ง บรรดาวัตถุมีรูปารมณ์เป็นต้น วัตถุหลายอย่าง โดยการจำแนกเป็นสีเขียวเป็นต้น.
               อนึ่ง วัตถุหลายอย่าง ด้วยเครื่องอุปกรณ์อันทำความปลาบปลื้มหลายชนิด มีแก้วมณี กนก เงิน มุกดา ประพาฬ นา ไร่ สวน ทาสหญิง ทาสชาย โค กระบือเป็นต้น.
               ในวัตถุเหล่านั้น พระมหาบุรุษ เมื่อจะให้วัตถุภายนอกรู้ด้วยตนเองว่า จะให้วัตถุแก่ผู้มีความต้องการ. แม้เขาไม่ขอก็ให้ ไม่ต้องพูดถึงขอละ. มีของให้จึงให้. ไม่มีของให้ย่อมไม่ให้. ให้สิ่งที่ปรารถนา. เมื่อมีไทยธรรมย่อมไม่ให้สิ่งที่ไม่ปรารถนา. อาศัยอุปการะตอบย่อมให้. เมื่อไม่มีไทยธรรมย่อมแบ่งสิ่งที่ปรารถนาให้สมควรแก่การแจกจ่าย.
               อนึ่ง ไม่ให้ศัตรายาพิษและของเมาเป็นต้น อันจะนำมาซึ่งความเบียดเบียนผู้อื่น. แม้ของเล่นอันประกอบด้วยความพินาศ และนำมาซึ่งความประมาท ก็ไม่ให้.
               อนึ่ง ไม่ให้ของไม่เป็นที่สบาย มีน้ำดื่มและของบริโภคเป็นต้น หรือของที่เว้นจากการกำหนดแก่ผู้ขอที่เป็นไข้. แต่ให้ของเป็นที่สบายเท่านั้นอันสมควรแก่ประมาณ.
               อนึ่ง คฤหัสถ์ขอก็ให้ของสมควรแก่คฤหัสถ์. บรรพชิตขอก็ให้ของสมควรแก่บรรพชิต. ให้ไม่ให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครๆ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ คือ มารดาบิดา ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ บุตรภรรยา ทาสและกรรมกร.
               อนึ่ง รู้ไทยธรรมดีมาก ไม่ให้ของเศร้าหมอง.
               อนึ่ง ไม่ให้อาศัยลาภสักการะความสรรเสริญ. ไม่ให้อาศัยการตอบแทน. ไม่ให้หวังผลเว้นแต่สัมมาสัมโพธิญาณ. ไม่ให้รังเกียจผู้ขอหรือไทยธรรม.
               อนึ่ง ไม่ให้ทานทอดทิ้ง ยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ. ที่แท้มีจิตเลื่อมใสให้อนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว. ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว. ให้เพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมเท่านั้น. ไม่ให้โดยที่ทำยาจกให้เศร้าหมองด้วยการให้เข้าไปนั่งใกล้เป็นต้น. ให้ไม่ทำให้ยาจกเศร้าหมอง.
               อนึ่ง ไม่ให้ประสงค์จะลวงหรือประสงค์จะทำลายผู้อื่น. ให้มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างเดียว. ไม่ให้ทานใช้วาจาหยาบ หน้านิ่วคิ้วขมวด. ให้พูดน่ารัก พูดก่อน พูดพอประมาณ. โลภะมีมากในไทยธรรมใด เพราะความพอใจยิ่งก็ดี เพราะสะสมมานานก็ดี เพราะความอยากตามสภาพก็ดี. พระโพธิสัตว์รู้อยู่บรรเทาไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจกให้.
               อนึ่ง ไทยวัตถุใดนิดหน่อย แม้ยาจกก็ปรากฏแล้ว แม้ไม่คิดถึงไทยวัตถุนั้น ก็ทำตนให้ลำบาก แล้วให้ยาจกนับถือเหมือนอกิตติบัณฑิต ฉะนั้น.
               อนึ่ง มหาบุรุษ เมื่อบุตรภรรยา ทาสกรรมกร บุรุษของตน ไม่ร้องเรียกถึงความโทมนัสขอ ย่อมไม่ให้แก่ยาจกทั้งหลาย. แต่เมื่อชนเหล่านั้นร้องเรียกถึงความโสมนัสโดยชอบ จึงให้.
               อนึ่ง เมื่อให้รู้อยู่ย่อมไม่ให้แก่ยักษ์ รากษส ปีศาจเป็นต้น หรือแก่มนุษย์ผู้ทำการงานหยาบช้า.
               อนึ่ง แม้ราชสมบัติก็ไม่ให้แก่คนเช่นนั้น. ให้แก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความพินาศแก่โลกผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม คุ้มครองโลกโดยธรรม.
               พึงทราบการปฏิบัติในทานภายนอกด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนทานภายในพึงทราบโดยอาการ ๒ อย่าง.
               อย่างไร?
               เหมือนบุรุษคนใดคนหนึ่งสละตน เพราะเหตุอาหารและเครื่องปกปิดแก่ผู้อื่น. ย่อมถึงความเป็นผู้เชื่อฟัง ความเป็นทาสฉันใด. พระมหาบุรุษก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีจิตปราศจากอามิสเพราะเหตุสัมโพธิญาณ ปรารถนาประโยชน์สุขอันยอดเยี่ยมแก่สัตว์ทั้งหลาย ประสงค์จะบำเพ็ญทานบารมีของตน จึงสละตนเพื่อคนอื่น ย่อมถึงความเป็นผู้เชื่อฟัง ความเป็นผู้ต้องทำตามความประสงค์. ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ มอบอวัยวะน้อยใหญ่มีมือเท้าและนัยน์ตาเป็นต้นให้แก่ผู้ต้องการด้วยอวัยวะนั้นๆ. ไม่ข้องใจ ไม่ถึงความสยิ้วหน้า ในการมอบให้นั้น เหมือนในวัตถุภายนอก.
               เป็นความจริงอย่างนั้น พระมหาบุรุษยังความปรารถนาของยาจกเหล่านั้นให้บริบูรณ์ ด้วยการบริโภคตามสบาย หรือด้วยความชำนาญของตน จึงสละวัตถุภายนอกด้วยอาการ ๒ อย่าง ด้วยหวังว่า เราให้ทานหมดสิ้นแล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณด้วยการเสียสละอย่างนี้ดังนี้.
               พึงทราบการปฏิบัติในวัตถุภายใน ด้วยประการฉะนี้.
               ให้วัตถุภายในที่ให้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ยาจก โดยส่วนเดียวเท่านั้น. ใช่จะให้พวกนั้น.
               อนึ่ง พระมหาบุรุษ เมื่อรู้ย่อมไม่ให้อัตภาพหรืออวัยวะน้อยใหญ่ของตนแก่มารหรือแก่เทวดาผู้เนื่องด้วยหมู่มาร ผู้ประสงค์จะเบียดเบียน ด้วยคิดว่า ความฉิบหายอย่าได้มีแก่มารเหล่านั้น. ย่อมไม่ให้แม้แต่ตุ๊กตาแป้ง เหมือนไม่ให้แก่เทวดาผู้เนื่องด้วยหมู่มาร ฉะนั้น. ไม่ให้แม้แก่คนบ้า. แต่คนพวกนั้นขอให้ตลอดไป เพราะการขอเช่นนั้นหาได้ยาก และเพราะการให้เช่นนั้นทำได้ยาก.
               ส่วนอภัยทาน พึงทราบโดยความป้องกันจากภัยที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย จากพระราชา โจร ไฟ น้ำ ศัตรู สัตว์ร้ายมีราชสีห์ เสือโคร่งเป็นต้น.
               ส่วนธรรมทาน ได้แก่การแสดงธรรมไม่วิปริตแก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง.
               การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง ผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมิกประโยชน์ สัมปรายิกและปรมัตถประโยชน์.
               ในการแสดงธรรมนั้น พึงทราบนัยโดยสังเขปดังนี้ก่อน คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษและความเศร้าหมองของกามและอานิสงส์ในการออกจากกาม.
               ส่วนโดยพิสดาร พึงทราบประดิษฐานและการทำให้ผ่องแผ้วในธรรมนั้นๆ ตามสมควร ด้วยสามารถการประกาศคุณของธรรมเหล่านั้นแก่ผู้มีจิตน้อมไปแล้วในสาวกโพธิญาณ คือ การเข้าถึงสรณะ การสำรวมศีล ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียรเนืองๆ สัทธรรม ๗ การประกอบสมถะ ด้วยการทำกรรมในอารมณ์ ๓๘ การประกอบวิปัสสนา ด้วยหัวข้อคือการยึดมั่นตามสมควรในการยึดมั่นวิปัสสนาในรูปกายเป็นต้น.
               ปฏิปทาเพื่อความหมดจดอย่างนั้น การยึดถือความถูกต้อง วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ สาวกโพธิญาณ.
               อนึ่ง พึงทราบการประดิษฐาน การทำให้ผ่องแผ้วในญาณทั้งสอง ด้วยการประกาศความเป็นผู้มีอานุภาพมาก ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ในฐานะแม้ ๓ อย่าง โดยหัวข้อประกาศมิสภาวะ ลักษณะและรสเป็นต้นของบารมีมีทานบารมีเป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์ทั้งหลายผู้น้อมไปในปัจเจกโพธิญาณ และในสัมมาสัมโพธิญาณ.
               พระมหาบุรุษย่อมให้ธรรมทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :