ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 961อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 976อ่านอรรถกถา 35 / 991อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ ปัญจกนิเทศ

               อรรถกถาปัญจกนิทเทส               
               อธิบายมาติกาหมวด ๕               
               สัญโญชน์ทั้งหลายมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น อันบุคคลใดยังมิได้ละ สัญโญชน์เหล่านี้ก็จะคร่าบุคคลเหล่านั้นผู้เกิดอยู่แม้ในภวัคคภูมิ (ยอดภูมิ) ให้ไปในกามภพนั่นแหละ เหตุใด เพราะเหตุนั้น สัญโญชน์เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า โอรัมภาคิยะ๑- (เบื้องต่ำ).
               ด้วยเหตุนี้ สัญโญชน์ ๕ เหล่านี้จึงมิได้ห้ามผู้ไปสู่ภวัคคภูมิ ก็แต่ย่อมนำผู้ไปแล้วนั้นให้กลับมาสู่ภพนี้อีก. สัญโญชน์เบื้องบน๒- มีราคะเป็นต้น ชื่อว่าสังคะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องข้อง และชื่อว่าสัลละ (ลูกศร) เพราะอรรถว่าเข้าไปเสียบแทง.
____________________________
๑- สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สิลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท.
๒- อุทธัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ คือ รูปราคะ อรปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา.

               คำว่า เจโตขีลา ได้แก่ ความที่จิตเป็นธรรมชาติกระด้าง ความที่จิตเป็นดุจกองหยากเยื่อ ความที่จิตเป็นดุจตอไม้.
               คำว่า สตฺถริ กงฺขติ ได้แก่ ความสงสัยในพระสรีระร่างกายของพระศาสดา หรือในพระคุณของพระศาสดา คือว่า เมื่อบุคคลสงสัยในพระสรีระของพระศาสดา ย่อมสงสัยว่า พระสรีระของพระศาสดา ชื่อว่าประดับด้วยลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการนั้น มีจริงหรือ ดังนี้ เมื่อสงสัยในพระคุณของพระศาสดาย่อมสงสัยว่า พระสัพพัญญุตญาณที่สามารถรู้อดีต อนาคตและปัจจุบัน มีอยู่หรือ ดังนี้.
               คำว่า วิจิกิจฺฉติ ได้แก่ เมื่อบุคคลคิดอยู่ ย่อมลำบาก ย่อมประสพความทุกข์ ย่อมไม่อาจเพื่อตัดสินได้. คำว่า นาธิมุจฺจติ ได้แก่ ย่อมไม่ได้เฉพาะซึ่งการน้อมใจเชื่อว่า พระคุณของพระศาสดานั้น เป็นอย่างนี้ ดังนี้.
               คำว่า น สมฺปสีทติ ได้แก่ บุคคลหยั่งลงสู่พระคุณของพระศาสดาแล้ว ย่อมไม่อาจเพื่อเป็นผู้ไม่มัวหมอง เพราะความยินดี และเพราะความเป็นผู้หมดความสงสัย.
               คำว่า ธมฺเม ได้แก่ ย่อมสงสัยในพระปริยัตติธรรม ในพระปฏิเวธธรรม. อธิบายว่า เมื่อสงสัยในพระปริยัตติธรรม ย่อมสงสัยว่า ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า พระไตรปิฎกคือพระพุทธพจน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นมีอยู่หรือหนอ ดังนี้
               เมื่อสงสัยในพระปฏิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า ชื่อว่ามรรค เพราะการไหลออกแห่งวิปัสสนา ชื่อว่าผล เพราะการไหลออกแห่งมรรค และชื่อว่าพระนิพพาน เพราะเป็นการสละคืนแห่งสังขารทั้งหลาย ดังนี้นั้น มีอยู่หรือ ดังนี้.
               คำว่า สงฺเฆ กงฺขติ ได้แก่ ย่อมสงสัยว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔ ผู้ดำเนินไปสู่ปฏิปทา ด้วยสามารถแห่งการดำเนินไปมีคำว่า อุชุปฏิปนุโน เป็นต้นเห็นปานนี้ ชื่อว่าสงฆ์อันหมู่แห่งพระอริยบุคคล ๘ มีอยู่หรือหนอ ดังนี้. เมื่อสงสัยในสิกขา ย่อมสงสัยว่า บุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาดังนี้ คำนี้มีอยู่หรือหนอ ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เจโต วินิพนฺธา.
               ชื่อว่าเจโตวินิพันธะ (เครื่องผูกพันจิต) เพราะเครื่องผูกทั้งหลายย่อมผูกจิตไว้ เหมือนบุคคลกำวัตถุด้วยมือแล้วก็ถือเอา.
               คำว่า กาเม ได้แก่ ในวัตถุกามบ้าง ในกิเลสกามบ้าง.
               คำว่า กาเย ได้แก่ ในกายของตน. คำว่า รูเป ได้แก่ ในรูปภายนอก.
               คำว่า ยาวทตฺถํ แปลว่า ตามความต้องการ.
               คำว่า อุทราวเทหกํ ได้แก่ เต็มกระเพาะอาหาร. จริงอยู่ อาหารเต็มกะเพาะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อุทราวเทหกะ เพราะการบริโภคอาหารจนเต็มอิ่ม.
               คำว่า เสยฺยสุขํ ได้แก่ หาความสุขบนเตียงและตั่ง หรือว่า ความสุขเกี่ยวกับอุณหภูมิ.
               คำว่า ปสฺสสุขํ ได้แก่ ความสุขของบุคคลผู้นอนพลิกไปมาข้างขวา หรือข้างซ้ายย่อมมีฉันใด ความสุขอันเกิดขึ้นแล้วในที่นี้ก็ฉันนั้น.
               คำว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่ ความสุขในการหลับ.
               คำว่า อนุยุตฺโต ได้แก่ ประกอบแล้วขวนขวายแล้วอยู่.
               คำว่า ผูกใจ ได้แก่ ปรารถนาแล้ว.
               คำว่า ด้วยศีล ในคำว่า สีเลน เป็นต้นได้แก่ จตุปาริสุทธิศีล.
               คำว่า วตฺตํ ได้แก่ สมาทานวัตร คือการประพฤติ.
               คำว่า ตโป ได้แก่ การประพฤติตบะ.
               คำว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ย่อมเว้นเมถุนธรรม.
               คำว่า เทโว วา ภวิสฺสามิ แปลว่า เราจักเป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่.
               คำว่า เทวญฺญตโร วา ได้แก่ หรือว่า เป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อยตนใดตนหนึ่ง ดังนี้.
               ธรรมทั้งหลายที่ชื่อว่านิวรณ์ เพราะย่อมปิด ย่อมกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย.
               คำว่า มาตา ชีวิตา โวโรปิตา โหติ ได้แก่ มนุษย์เท่านั้นฆ่ามารดาของตนผู้เป็นมนุษย์ แม้บิดาก็เป็นบิดามนุษย์อย่างนั้นแหละ. พระอรหันต์ก็เป็นจะพระอรหันต์มนุษย์นั่นแหละ. คำว่า ด้วยจิตอันประทุษร้าย ได้แก่ด้วยจิตคิดจะฆ่า.
               คำว่า สญฺญี ได้แก่ พรั่งพร้อมด้วยสัญญา. คำว่า อโรโค ได้แก่ เที่ยงแท้ไม่แปรผัน.
               คำว่า อิตฺเถเก อภิวทนฺติ ได้แก่ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมกล่าวอย่างนี้ คือย่อมกล่าวด้วยประการฉะนี้. สัญญีวาทะ ๑๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               คำว่า อสญฺญี ได้แก่ เว้นจากสัญญา. อสัญญีวาทะ ๑๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบทว่า อสญฺญี นี้. เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบทที่ ๓.
               คำว่า สโต วา ปน สตฺตสฺส ได้แก่ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสัตว์มีอยู่นั่นแหละ.
               คำว่า อุจฺเฉทํ ได้แก่ ความขาดสูญ. คำว่า วินาสํ ได้แก่ ความพินาศ. คำว่า วิภวํ ได้แก่ ความไม่มี. คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               ในข้อนั้น คน ๒ คน คือ ผู้ได้ฌานคนหนึ่ง ไม่ได้ฌานคนหนึ่ง ย่อมถือเอาอุจเฉททิฏฐิ.
               ในสองคนนั้น ฌานลาภีบุคคลเห็นสัตว์จุติอยู่ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ตามความเหมาะสม ไม่เห็นอยู่ซึ่งความเกิดขึ้น ก็หรือว่า บุคคลใดย่อมไม่อาจเพื่อเห็นซึ่งจุตินั่นแหละด้วย ไม่อาจเพื่ออันเห็นความเกิดขึ้นด้วย บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาซึ่งอุจเฉททิฏฐิ.
               ผู้ไม่ได้ฌานเพราะความมักมากในกามคุณย่อมคิดว่า ใครหนอจะรู้ซึ่งปรโลก ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนใบไม้หล่นไปจากต้นไม้แล้ว ย่อมไม่งอกงามขึ้น ฉันใด บุคคลผู้ไม่ได้ฌานถือเอาซึ่งอุจเฉททิฏฐิ เพราะวิตกเป็นต้นว่า สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น.
               อุจเฉทวาระ ๗ อันเกิดขึ้นแล้วเพราะการกำหนดเหมือนอย่างนั้นด้วย โดยประการอื่นด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งตัณหาทิฏฐิทั้งหลาย. จริงอยู่ ทิฏฐินี้เป็นคำสงเคราะห์ของตัณหาทิฏฐิเหล่านั้น.
               ปัจจักขธรรม (ธรรมที่ประจักษ์) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ทิฏฐธรรม ในคำว่า ทิฏฺฐธมฺนิพฺพานํ วา ปเนเก (แปลว่า ก็หรือว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมกล่าวยืนยันทิฏฐธัมมนิพพาน). คำที่กล่าวนี้เป็นชื่อของความที่บุคคลนั้นได้เฉพาะธรรมนั้นๆ. นิพพานในทิฏฐธรรม ชื่อว่าทิฏฐธัมนิพพาน. อธิบายว่า ความเข้าไปสงบแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้เท่านั้น. นี้เป็นคำสงเคราะห์วาทะว่า ทิฏฐธัมนิพพาน.
               คำว่า เวรา (เวร ๕) ได้แก่ เจตนาอันเป็นบาป.
               คำว่า พฺยสนา ได้แก่ ความพินาศทั้งหลาย.

               โทษแห่งความไม่อดทน ๕               
                         ๑. ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ
                         ๒. มีเวรมาก
                         ๓. มีโทษมาก
                         ๔. ตายโดยความหลงลืมสติ
                         ๕. ตายแล้วเข้าถึงอบายภูมิ ๔ ภูมิใดภูมิหนึ่ง
               คำว่า อกฺขนฺติยา ได้แก่ แห่งความไม่อดทน.
               คำว่า อปฺปิโย ได้แก่ ไม่พึงเป็นที่รัก เพราะเป็นสิ่งปฏิกูลในการเห็น ในการฟัง. ชื่อว่าไม่เป็นที่ชอบใจ เพราะแม้เมื่อคิดจิตย่อมไม่แนบแน่น.
               คำว่า เวรพหุโล ได้แก่ มีเวรมาก. คำว่า วชฺชพหุโล ได้แก่ มีโทษมาก.
               ภัยอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยอาชีพอันยังชีวิตให้เป็นไป ชื่อว่าอาชีวกภัย. อาชีวกภัยนั้น ย่อมมีแก่ผู้ครองเรือนบ้าง แก่ผู้ไม่ครองเรือนบ้าง, ในบุคคลเหล่านั้น ผู้ครองเรือนย่อมกระทำกรรมอันเป็นอกุศลเป็นอันมาก เพราะเหตุแห่งอาชีพก่อน และต่อจากนั้นภัยนั้นก็เกิดแก่เขาจนกระทั่งมรณสมัย หรือจนกระทั่งนรกปรากฏ. แม้ผู้ไม่ครองเรือนเล่า เมื่อทำอเนสนา คือการแสวงหาเลี้ยงชีพในทางอันไม่ควรเป็นอันมาก ภัยนั้นย่อมเกิดแก่เขาจนกระทั่งมรณสมัย หรือนรกปรากฏ นี้ชื่อว่าอาชีวกภัย.
               คำว่า อสิโลกภยํ ได้แก่ ภัย คือการติเตียน.
               คำว่า ปริสสารชฺชภยํ ได้แก่ ภัย กล่าวคือความกำหนัดย่อมเกิดแก่บุคคลผู้มีบาปอันทำไว้แล้ว และเข้าไปสู่ที่ประชุมแห่งบริษัท นี้ชื่อว่าภัยเกิดแก่ความขลาดกลัวเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม.
               ภัยทั้งสองนอกนี้ คือมรณภัย อบายภัย ปรากฏชัดแจ้งแล้วแล.
               ในทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ คำว่า ปญฺจหิ กามคุเณหิ ได้แก่ ด้วยความผูกพัน อันเป็นส่วนแห่งกามคุณ ๕ มีรูปอันเป็นที่ชอบใจเป็นต้น.
               คำว่า สมปฺปิโต ได้แก่ ติดแน่นแล้ว แนบแน่นแล้วด้วยดี. คำว่า สมงฺคีภูโต ได้แก่ ประกอบแล้ว.
               คำว่า ปริจาเรติ (แปลว่า ย่อมบำเรอ) ได้แก่ ยังอินทรีย์ทั้งหลายให้เป็นไป ให้เป็นไปพร้อม ย่อมน้อมเข้าไปข้างนี้ด้วย ตามความสุขในกามคุณทั้งหลายนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสมาคม ย่อมรื่นรมย์ ย่อมเล่นในกามเหล่านั้น.
               ก็กามคุณทั้งสองในที่นี้ ท่านประสงค์เอากามคุณอันเป็นของมนุษย์ และเป็นของทิพย์. กามคุณอันเป็นของมนุษย์ บัณฑิตพึงเห็นเช่นกับกามคุณของพระเจ้ามันธาตุราช กามคุณอันเป็นทิพย์ พึงเห็นเช่นกับกามคุณของเทวราชในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี. ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมกล่าวบุคคลผู้เข้าถึงกามเห็นปานนี้ว่า เป็นผู้บรรลุทิฏฐธัมมนิพพานอันยอดเยี่ยม ดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ปรมทิฏฺฐธมฺมนิพฺพานํ ได้แก่ ทิฏฐธัมมนิพพานอันยอดเยี่ยม คือสูงสุด.
               ในวาระที่ ๒ (ข้อที่ ๒) กามทั้งหลายที่ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้ว กลับไม่มี ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าบีบคั้น และพึงทราบว่า ชื่อว่ามีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะอรรถว่าละปกติภาวะ.
               คำว่า เตสํ วิปริณามญฺญถาภาวา (แปลว่า เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่น). อธิบายว่า เพราะความที่กามเหล่านั้นเป็นอย่างอื่น กล่าวคือมีความแปรปรวนไป. โสกะคือความเศร้าโศก ปริเทวะคือความร่ำไห้ ทุกขะคือความทุกข์ โทมนัสสะคือความโทมนัส อุปายาสะคือความคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้น โดยนัยที่กล่าวไว้ว่า ยมฺปิ เม อโหสิ ตมฺปิ เม นตฺถิ แม้เราได้มีสิ่งใดแล้ว แม้เราก็กลับไม่มีสิ่งนั้นดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น ความเศร้าโศกมีการเผาผลาญภายในเป็นลักษณะ. ความร่ำไห้มีการบ่นเพ้ออาศัยซึ่งความโกรธนั้นเป็นลักษณะ. ทุกข์มีการบีบคั้นกายเป็นลักษณะ. โทมนัสมีการพิฆาตใจเป็นลักษณะ. ความคับแค้นใจมีความเศร้าใจเป็นลักษณะ.
               คำว่า วิตกฺกิตํ ได้แก่ วิตกอันเป็นไปด้วยสามารถแห่งการยกขึ้น.
               คำว่า วิจาริตํ ได้แก่ วิจารอันเป็นไปด้วยสามารถแห่งการประคอง.
               คำว่า เอเตน เอตํ ได้แก่ ปฐมฌานนี้ย่อมปรากฏราวกะเป็นหนามอันใหญ่ ด้วยวิตกและด้วยวิจารนี้.
               คำว่า ปีติคตํ ได้แก่ ปีตินั่นแหละ.
               คำว่า เจตโส อุพฺพิลาวิตํ (แปลว่า ความลำพองใจ) ได้แก่ การทำจิตให้เบิกบาน.
               คำว่า เจตโส อาโภโค ได้แก่ ออกจากฌานแล้ว ก็มนสิการให้จิตหวนระลึกถึงความสุขบ่อยๆ.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวง มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.

               ปัญจกนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ปัญจกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 961อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 976อ่านอรรถกถา 35 / 991อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=12911&Z=13091
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=12819
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=12819
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :