ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 98อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 4 / 101อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
ติตถิยปริวาส

               อรรถกถาอัญญติตถิยวัตถุกถา               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัญญติตถิปุพพวัตถุต่อไป :-
               ปสุรปริพาชกนี้ก่อน ไม่ควรให้อุปสมบท เพราะกลับไปเข้ารีตเดียรถีย์แล้ว. ส่วนเดียรถีย์แม้อื่นคนใดไม่เคยบวชในศาสนานี้มา กิจใดควรทำสำหรับเดียรถีย์คนนั้น เพื่อแสดงกิจนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า โย ภิกฺขเว อญฺโญปิ เป็นต้น.
               ในคำนั้นมีวินิจฉัยดังนี้
               ข้อว่า ตสฺส จตฺตาโร มาเส ปริวาโส ทาตพฺโพ มีความว่า ขึ้นชื่อว่าติตถิยปริวาสนี้ ท่านเรียกว่า อัปปฏิจฉันนปริวาสบ้าง. ก็ติตถิยปริวาสนี้ ควรให้แก่อาชีวกหรืออเจลกผู้เป็นปริพาชกเปลือยเท่านั้น. ถ้าแม้เขานุ่งผ้าสาฎกหรือบรรดาผ้าวาฬกัมพลเป็นต้นผ้าอันเป็นธง๑- แห่งเดียรถีย์อย่างใดอย่างหนึ่งมา ไม่ควรให้ปริวาสแก่เขา.
               อนึ่ง นักบวชอื่นมีดาบสและปะขาวเป็นต้น ก็ไม่ควรให้เหมือนกัน.
____________________________
๑- คือเป็นสัญญลักษณ์.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสามเณรบรรพชาสำหรับเขาก่อนเทียว ด้วยคำเป็นต้นว่า ปฐมํ เกสมสฺสุํ. อันภิกษุทั้งหลายผู้จะให้บวชอย่างนั้น ไม่พึงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า ท่านจงให้บวช, ท่านจงเป็นอาจารย์, ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ ในเมื่อกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นั้นนั่งในท่ามกลางสงฆ์เสร็จสรรพแล้ว. เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ถูกสั่งอย่างนั้น ถ้าเกลียดชังด้วยการเป็นอาจารย์อุปัชฌาย์ของเขาจะไม่รับ ทีนั้นกุลบุตรนั้นจะโกรธว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่เชื่อเรา แล้วพึงไปเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายพึงนำเข้าไปไว้ส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงค่อยหาอาจารย์และอุปัชฌาย์สำหรับเขา.
               เพื่อแสดงปริวาสวัตรแห่งกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งมาติกานี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ย่อมเป็นผู้ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดีอย่างนี้แล, ย่อมเป็นผู้ไม่ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดีอย่างนี้.
               คำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว เป็นต้น เป็นวิภังค์แห่งมาติกานั้น.
               ติตถิยปริวาสในบาลีนั้น พึงให้แก่อัญญเดียรถีย์ชาตินิครนถ์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่เหล่าอื่น.
               ข้อว่า อติกาเล คามํ ปวิสติ มีความว่า เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตในเวลาที่พวกภิกษุทำวัตรกันทีเดียว.
               ข้อว่า อติทิวา ปฏิกฺกมติ มีความว่า กล่าวเรื่องเนื่องด้วยบ้านเรือนกับชนมีสตรี บุรุษ เด็กหญิงและเด็กชายเป็นต้น ในเรือนแห่งสกุลทั้งหลาย ฉันในที่นั้นเองแล้วจึงมา ในเมื่อภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรจีวรแล้วทำกิจมีอุทเทสและปริปุจฉาเป็นต้น หรือหลีกเร้นอยู่แล้ว ไม่ทำอุปัชฌายวัตรอาจริยวัตร เข้าสู่ที่อยู่แล้วหลับเท่านั้นเอง.
               ข้อว่า เอวมฺปิ ภิกฺขเว อญฺญติตฺถิยปุพฺโพ อนาราธโก โหติ มีความว่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เมื่อกระทำอยู่แม้อย่างนั้น เป็นผู้ไม่ชื่อว่า ยังปริวาสวัตรให้ถึงพร้อม คือให้เต็ม.
               ในคำว่า เวสิยโคจโร วา เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า
               สตรีทั้งหลายผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีวิต มีอัชฌาจารอันบุรุษได้ง่าย ด้วยเพิ่มให้สินจ้างเพียงเล็กน้อยเป็นต้น ชื่อหญิงแพศยา. สตรีทั้งหลายซึ่งผัวตายหรือผัวหย่าร้างไป ชื่อว่าหญิงหม้าย. หญิงหม้ายเหล่านั้นย่อมปรารถนาความสนิทสนมกับชายคนใดคนหนึ่ง. เหล่าเด็กหญิงที่เจริญวัยเป็นสาวแล้ว หรือผ่านวัยเป็นสาวไปแล้ว ชื่อว่าหญิงทึนทึก หญิงทึนทึกเหล่านั้นมักปองชายเที่ยวไป ย่อมปรารถนาความสนิทสนมกับชายคนใดคนหนึ่ง. มนุษยชาติที่มิใช่ชายหรือหญิงมีกิเลสหนามีความกำหนัดกลัดกลุ้มไม่รู้จักสร่าง ชื่อว่าบัณเฑาะก์. พวกบัณเฑาะก์นั้นถูกกำลังแห่งความกำหนัดกลัดกลุ้มครอบงำแล้ว ย่อมปรารถนาความสนิทสนมกับชายคนใดคนหนึ่ง.
               เหล่าสตรีผู้มีบรรพชาเสมอกันชื่อว่าภิกษุณี. ความคุ้นเคยกับนางภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมมีได้เร็วนักเพราะความคุ้นกันนั้น ศีลย่อมทำลาย. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นั้น เป็นผู้คุ้นในสกุลทั้งหลายแห่งพวกหญิงแพศยา อ้างเลศมีเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น เข้าไปยังสำนักหญิงแพศยาเหล่านั้น ด้วยความเป็นผู้อยากพบปะและเจรจากันเนืองๆ ด้วยน้ำใจที่มีความชื่นชมด้วยความรัก ท่านเรียกว่า เวสิยโคจร ในบรรดาโคจรเหล่านั้น. เขาย่อมถึงความเป็นผู้อันประชุมชนพึงพูดถึงว่า ยังมิทันไรเลย ไปกับหญิงแพศยาคนโน้นแล้ว.
               มีนัยดังนี้ทุกๆ โคจร.
               ก็ถ้าหญิงแพศยาเป็นต้นจะถวายภัตมีสลากภัตเป็นอาทิไซร้, ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลายแล้วฉันหรือรับด้วยกันทีเดียวแล้วกลับมา ควรอยู่. พวกภิกษุณีอาพาธจะไปพร้อมกับภิกษุณีผู้ไปเพื่อจะสอน หรือแสดงธรรมหรือให้อุทเทสและปริปุจฉาเป็นต้น ควรอยู่. ฝ่ายผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ใดมิได้ไปอย่างนั้น ไปด้วยอำนาจความชื่นชมด้วยความสนิทสนม ผู้นี้จัดว่าเป็นผู้ไม่ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดี.
               สองบทว่า อุจฺจาวจานิ กึกรณียานิ ได้แก่ การงานใหญ่น้อยทั้งหลาย.
               บรรดาการงานสองอย่างนั้น การงานมีปฏิสังขรณ์เจดีย์และมหาปราสาทเป็นต้นที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน พึงตีระฆังประชุมกันทำ จัดเป็นการงานใหญ่. การงานที่นับเนื่องในขันธกะมีสุและย้อมจีวรเป็นต้น และอภิสมาจาริกวัตรมีวัตรที่ภิกษุควรทำในโรงเพลิงเป็นต้น จัดเป็นการงานน้อย.
               ข้อว่า ตตฺถ น ทกฺโข โหติ มีความว่า ไม่เป็นผู้ฉลาด คือฝึกหัดเป็นอันดีในการงานใหญ่น้อยเหล่านั้น.
               บทว่า อลโส ได้แก่ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร คือความหมั่น คือได้ฟังว่า การงานของภิกษุสงฆ์มี จึงทำภัตกิจแต่เช้าตรู่แล้วเข้าอยู่ภายในห้อง หลับจนพอประสงค์แล้วออกมาในเวลาเย็น.
               ข้อว่า ตตฺรุปายาย มีความว่า ซึ่งเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น.
               ข้อว่า วีมํสาย มีความว่า เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยปัญญาสำหรับพิจารณาซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน คือปัญญาที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดว่า นี่แลควรทำ, นี่แลไม่ควรทำ.
               ข้อว่า น อลํกาตุํ น อลํสํวิธาตุํ มีความว่า ไม่เป็นผู้สามารถเพื่อจะทำแม้ด้วยมือตน ทั้งเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะจัดการ คือขอแรงกันและกันให้ทำด้วยปลูกความอุตสาหะให้เกิดอย่างนี้ว่า ลงมือกันเถอะครับ ลงมือเถอะพ่อหนุ่ม ลงมือเถอะสามเณร ถ้าพวกท่านจักไม่ทำ หรือพวกผมจักไม่ทำ ทีนี้ใครเล่าจักทำการนี้. เมื่อพวกภิกษุพูดกันว่า พวกเราจักทำการ เขาย่อมอ้างโรคบางอย่าง เมื่อพวกภิกษุกำลังทำการอยู่จึงเที่ยวไปใกล้ๆ โผล่แต่ศีรษะให้เห็น แม้ผู้นี้ก็จัดว่า เป็นผู้ไม่ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดี.
               ข้อว่า น ติพฺพจฺฉนฺโท มีความว่า ไม่เป็นผู้มีความพอใจรุนแรง.
               บทว่า อุทฺเทเส ได้แก่ ในการเรียนบาลี.
               บทว่า ปริปุจฺฉาย ได้แก่ ในการอธิบายความแห่งบาลี.
               บทว่า อธิสีเล ได้แก่ ศีล คือปาฏิโมกข์.
               บทว่า อธิจิตฺเต ได้แก่ ในการอบรมโลกิยสมาธิ.
               บทว่า อธิปญฺญาย ได้แก่ ในการเจริญโลกุตตรมรรค.
               สองบทว่า สงฺกนฺโต โหติ มีความว่า เป็นผู้มาเข้าศาสนานี้แล้ว.
               สองบทว่า ตสฺส สตฺถุโน ได้แก่ ครูผู้เป็นเจ้าของลัทธิดังท่าข้ามนั้น.
               สองบทว่า ตสฺส ทิฏฺฐิยา ได้แก่ ลัทธิซึ่งเป็นของครูนั้น.
               บัดนี้ ลัทธินั้นแล ท่านกล่าวว่า ความถูกใจ ความชอบใจ ความถือของครูผู้เจ้าของลัทธินั้น เพราะเหตุว่า เป็นที่ถูกใจ เป็นที่ชอบใจของติตถกรนั้นและอันติตถกรนั้น ถืออย่างมั่นว่า นี้เท่านั้นเป็นจริง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า แห่งความถูกใจของครูนั้น แห่งความชอบใจของครูนั้นแห่งความถือของครูนั้น.
               สองบทว่า อวณฺเณ ภญฺญมาเน มีความว่า เมื่อคำติเตียนอันผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวอยู่.
               บทว่า อนภิรทฺโธ ได้แก่ เป็นผู้มีความดำริบกพร่อง คือมีจิตมิได้ประคองไว้.
               บทว่า อุทคฺโค ได้แก่ เป็นผู้มีกายและจิตฟูยิ่งนัก.
               ข้อว่า อิทํ ภิกฺขเว สงฺฆาตนิกํ อญฺญติตฺถิยปุพฺพสฺส อนาราธนียสฺมึ มีความว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้มีใจไม่แช่มชื่น ซึ่งเกิดแต่กายวิการและวจีวิการว่า ทำไมชนเหล่านี้จึงติเตียนผู้อื่น? ดังนี้ ในเมื่อเขากล่าวโทษแห่งครูนั้นและลัทธิแห่งครูนั้นนั่นเอง และความเป็นผู้มีใจแช่มชื่น ในเมื่อเขากล่าวโทษแห่งรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. และความเป็นผู้มีใจแช่มชื่นทั้งไม่แช่มชื่น ในเมื่อเขาสรรเสริญคุณแห่งครูนั้นเองด้วยแห่งรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นด้วย.
               ๓ ประการนี้ เป็นเครื่องสอบสวนในกรรมที่ไม่ชวนให้ภิกษุทั้งหลายยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์.
               มีคำอธิบายว่า อันนี้เป็นเครื่องหมาย อันนี้เป็นลักษณะ อันนี้เป็นความแน่นอน อันนี้เป็นกำลัง อันนี้เป็นประมาณในกรรมซึ่งไม่ทำปริวาสวัตรให้เต็ม ไม่ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดี.
               ข้อว่า เอวํ อนาราธโก โข ภิกฺขเว อญฺญติตฺถิยปุพฺโพ อาคโต น อุปสมฺปาเทตพฺโพ มีความว่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ซึ่งประกอบด้วยองค์เหล่านี้ แม้องค์เดียว ภิกษุไม่ควรให้อุปสมบท.
               คำทั้งปวงในฝ่ายขาว พึงทราบโดยความเพี้ยนจากที่กล่าวแล้ว.
               ข้อว่า เอวํ อาราธโก โข ภิกฺขเว เป็นต้นมีความว่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ยังภิกษุทั้งหลายให้ยินดีให้พอใจด้วยการบำเพ็ญติตถิยวัตร ๘ ประการเหล่านี้ คือเข้าบ้านไม่ผิดเวลากลับไม่สายนัก, ความเป็นผู้ใหญ่ไม่มีหญิงแพศยาเป็นต้น เป็นโคจร, ความเป็นผู้ขยันในกิจทั้งหลายของเพื่อนสพรหมจารี, ความเป็นผู้มีฉันทะแรงกล้าในอุทเทสเป็นต้น, ความเป็นผู้มีใจแช่มชื่น ในเพราะติโทษพวกเดียรถีย์, ความเป็นผู้มีใจไม่แช่มชื่น ในเพราะติโทษรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น, ความเป็นผู้มีใจไม่แช่มชื่น ในเพราะสรรเสริญคุณเดียรถีย์, ความเป็นผู้มีใจแช่มชื่น ในเพราะสรรเสริญคุณรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อย่างนี้มาแล้ว ควรให้อุปสมบท แต่ถ้าวัตรอันหนึ่งทำลายเสีย แม้ในโรงอุปสมบท พึงอยู่ปริวาสครบ ๔ เดือนอีก.
               เหมือนอย่างว่า สิกขาบทและสิกขาสมมติอันภิกษุณีสงฆ์ย่อมให้อีกแก่นางสิกขมานาผู้เสียสิกขา ฉันใด, วัตรน้อยหนึ่งซึ่งจะพึงให้อีกแก่กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นี้ ย่อมมีฉันนั้นหามิได้. ที่แท้ ปริวาสที่เคยให้แล้วนั่นแล เป็นปริวาสของเขา. เพราะเหตุนั้น เขาพึงอยู่ปริวาสครบ ๔ เดือนอีก.
               ถ้ากำลังอยู่ปริวาสยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดได้ในระหว่างไซร้. ธรรมดาผู้ได้โลกิยธรรมยังกำเริบได้เป็นแน่ จึงยังไม่ควรให้อุปสมบทแท้. แต่บำเพ็ญวัตรครบ ๔ เดือนแล้ว จึงควรให้อุปสมบท. และถ้ากำลังอยู่ปริวาสกำหนดมหาภูตรูป ๔ ได้. กำหนดอุปาทายรูปได้, กำหนดนามรูปได้, เริ่มวิปัสสนายกขึ้นสู่ไตรลักษณ์. ธรรมดาผู้ได้โลกิยธรรมยังกำเริบได้เป็นปกติ จึงยังไม่ควรให้อุปสมบทอยู่นั่นเอง.
               แต่ถ้าเจริญวิปัสสนาแล้ว ได้โสดาปัตติมรรค วัตรเป็นอันบริบูรณ์แท้, ทิฏฐิทั้งปวงเป็นอันเธอรื้อแล้ว, ลูกศรคือวิจิกิจฉาเป็นอันเธอถอนขึ้นแล้ว ควรให้อุปสมบทในวันนั้นทีเดียว. ถ้าแม้เธอคงอยู่ในเพศเดียรถีย์ แต่เป็นโสดาบัน กิจที่จะต้องให้ปริวาสย่อมไม่มี ควรให้บรรพชาอุปสมบทในวันนั้นแท้.
               ข้อว่า อุปชฺฌายมูลกํ จีวรํ ปริเยสิตพฺพํ มีความว่า จีวรสำหรับเขา สงฆ์ควรมอบให้อุปัชฌาย์เป็นใหญ่แสวงหามา ถึงบาตรก็เหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น ถ้าบาตรจีวรของอุปัชฌาย์มี พึงบอกอุปัชฌาย์ว่า จงให้แก่ผู้นี้. ถ้าไม่มี ภิกษุเหล่าอื่นเป็นผู้อยากจะให้ แม้ภิกษุเหล่าอื่นนั้น พึงถวายอุปัชฌาย์นั้นแลด้วยคำว่า จงทำบาตรจีวรนี้ให้เป็นของท่านแล้วให้แก่ผู้นี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะขึ้นชื่อว่าพวกเดียรถีย์ย่อมเป็นข้าศึก จะพึงพูดได้ว่า บาตรจีวร สงฆ์ได้ให้ผมๆ มีอะไรเกี่ยวเนื่องในพวกท่าน ดังนี้แล้ว ไม่ทำตามคำตักเตือนพร่ำสอน. แต่ว่า เพราะเขามีความเป็นอยู่เนื่องในอุปัชฌาย์ จึงจักเป็นผู้ทำตามคำของท่าน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า จีวรของเขา พึงให้อุปัชฌาย์เป็นใหญ่แสวงหามา.
               บทว่า ภณฺฑุกมฺมาย คือ เพื่อปลงผม. ภัณฑุกรรมกถาจักมาข้างหน้า.
               บทว่า อคฺคิกา ได้แก่ ผู้บำเรอไฟ.
               บทว่า ชฏิลกา ได้แก่ ดาบส.
               หลายบทว่า เอเต ภิกฺขเว กิริยวาทิโน มีความว่า ชฎิลเหล่านั้นไม่ค้านความกระทำ คือเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า กรรมมี วิบากของกรรมมี. อันพระพุทธเจ้าทั้งปวงเมื่อจะทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ได้ทรงอาศัยบรรพชานั้นนั่นแล แล้วจึงทรงบำเพ็ญพระบารมี. เนกขัมมบารมีนั้น ถึงเราก็ได้บำเพ็ญแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน. การที่ชฏิลเหล่านี้บวชในศาสนาไม่เป็นข้าศึก เพราะเหตุนั้น จึงควรให้อุปสมบทได้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่พวกเขา.
               ข้อว่า อิมาหํ ภิกฺขเว ญาตีนํ อาเวณิกํ ปริหารํ ทมฺมิ มีความว่า เราให้บริหารเป็นส่วนเฉพาะ คือเป็นส่วนเจาะจงนี้แก่ญาติเหล่านั้น.
               เหตุไรจึงตรัสอย่างนี้? อันพระญาติเหล่านั้น แม้บวชแล้วในสำนักแห่งเดียรถีย์ แต่ไม่เป็นผู้ใฝ่โทษแก่พระศาสนา. ยังคงเป็นผู้สรรเสริญคุณว่า ศาสนาแห่งพระญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา เพราะเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนั้น ฉะนี้แล.

               อรรถกถาอัญญติตถิยวัตถุกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ติตถิยปริวาส จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 98อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 4 / 101อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=2764&Z=2875
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1107
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1107
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :