ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270185อรรถกถาชาดก 270187
เล่มที่ 27 ข้อ 187อ่านชาดก 270189อ่านชาดก 272519
อรรถกถา อรกชาดก
ว่าด้วย การแผ่เมตตา
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเมตตสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย เว เมตฺเตน จิตฺเตน ดังนี้.
               สมัยหนึ่ง พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อได้ซ่องเสพเจริญเมตตาเจโตวิมุติทำให้มาก ทำให้เป็นดังยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน สั่งสมเริ่มไว้ด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือหลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่ฝันร้าย ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ ศัสตราไม่ล่วงเกิน ๑ จิตได้สมาธิเร็ว ๑ สีหน้าผ่องใส ๑ ไม่หลงทำกาลกิริยา ๑ เมื่อยังไม่บรรลุ ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นสูง ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อได้ซ่องเสพอบรมเมตตาเจโตวิมุติ ฯเปฯ สั่งสมไว้ด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการเหล่านี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดา ภิกษุพึงอบรมเมตตาภาวนาซึ่งยึดอานิสงส์ ๑๑ ประการเหล่านี้ เจริญเมตตาไปในสัตว์ทุกชนิด โดยเจาะจง และไม่เจาะจง
                         พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่มีจิตเกื้อกูล
                         พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่ไม่มีจิตเกื้อกูล
                         พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่มีอารมณ์เป็นกลาง
               พึงเจริญเมตตาในสรรพสัตว์ โดยเจาะจงและไม่เจาะจงอย่างนี้ พึงเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา พึงปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ เพราะเมื่อทำอย่างนี้ แม้ไม่ได้มรรคหรือผล ก็ยังมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เจริญเมตตาตลอด ๗ ปี แล้วสถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นเอง ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า.
               ในอดีตกาล ในกัปหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัย จึงละกามสุขบวชเป็นฤๅษี เป็นครูชื่ออรกะ ได้พรหมวิหาร ๔ พำนักอยู่ในหิมวันตประเทศ. ครูอรกะมีบริวารมาก เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงประกาศอานิสงส์เมตตาว่า ธรรมดาบรรพชิตควรเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะเหตุชื่อว่าจิตเมตตานี้ เมื่อถึงความเป็นจิตแน่วแน่แล้ว ย่อมให้สำเร็จทางไปพรหมโลก ดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               ผู้ใดแลย่อมอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ด้วยจิตเมตตาหาประมาณมิได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำและเบื้องขวาง โดยประการทั้งปวง
               จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว กรรมใดที่เขาทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า โย เว เมตฺเตน จิตฺเตน สพฺพโลกานุกมฺปติ ความว่า บรรดากษัตริย์เป็นต้น หรือสมณพราหมณ์ ผู้ใดผู้หนึ่ง มีจิตเมตตาอย่างแนบแน่น ย่อมอนุเคราะห์สัตว์โลกทั่วไป.
               บทว่า อุทฺธํ คือ ตั้งแต่เบื้องล่างของพื้นปฐพี จนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
               บทว่า อโธ คือ เบื้องล่างของปฐพี จนถึงอุสสทมหานรก.
               บทว่า ติริยํ คือ ในมนุษยโลกได้แก่ ในจักรวาลทั้งหมด. อธิบายว่า เจริญเมตตาจิตอย่างนี้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดในที่ประมาณเท่านี้ จงอย่ามีเวร อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความคับแค้น จงมีความสุขรักษาตนเถิด.
               บทว่า อปฺปมาเณน คือ ชื่อว่าไม่มีประมาณ เพราะยึดสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์.
               บทว่า สพฺพโส คือ โดยอาการทั้งปวง. อธิบายว่า โดยอำนาจแห่งสุคติและทุคติทั้งปวงอย่างนี้ คือเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง.
               บทว่า อปฺปมาณํ หิตํ จิตฺตํ ได้แก่ จิตเกื้อกูลในสรรพสัตว์ที่อบรมทำให้ไม่มีประมาณ.
               บทว่า ปริปุณฺณํ คือ ไม่บกพร่อง.
               บทว่า สุภาวิตํ คือ เจริญดีแล้ว. บทนี้เป็นชื่อของจิตที่ไม่มีประมาณ.
               บทว่า ยํ ปมาณํ กตํ กมฺมํ ความว่า กรรมเล็กน้อย คือกรรมเป็นกามาวจรที่อบรมแล้ว ด้วยอำนาจเมตตาภาวนามีอารมณ์เป็นที่สุด และด้วยอำนาจการถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างนี้ว่า กรรมใดไม่มีประมาณมีอารมณ์ไม่มีประมาณ.
               บทว่า น ตํ ตตฺราวสิสฺสติ ความว่า กรรมเล็กน้อยนั้น คือกรรมเป็นรูปาวจรซึ่งนับว่าจิตอันเกื้อกูลไม่มีประมาณนั้น ไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น. อธิบายว่า เหมือนน้ำน้อยที่ถูกห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่าเข้ามา จะถูกห้วงน้ำนั้นพัดพาไปมิได้ ย่อมไม่เหลืออยู่ คือตั้งอยู่มิได้ภายในห้วงน้ำ ที่แท้ห้วงน้ำใหญ่หุ้มห่อน้ำนั้นไว้ฉันใด กรรมอันเล็กน้อยก็ฉันนั้น ไม่มีโอกาสแห่งผลที่กรรมเป็นของใหญ่จะกำหนดยึดไว้ได้ ย่อมไม่เหลืออยู่ คือไม่ดำรงอยู่ ไม่สามารถให้ผลของตนภายในกรรมอันเป็นของใหญ่นั้นได้ ที่แท้กรรมอันเป็นของใหญ่เท่านั้น ย่อมหุ้มห่อกรรมนั้น คือให้ผล.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวถึงอานิสงส์เมตตาภาวนาแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย อย่างนี้แล้ว เป็นผู้ไม่เสื่อมจากฌาน จึงบังเกิดในพรหมโลก มิได้กลับมายังโลกนี้อีกตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประมวลชาดก
               หมู่ฤๅษีในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท ในครั้งนี้
               ส่วนครูอรกะ คือ เราตถาคต นี้แล.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อรกชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270185อรรถกถาชาดก 270187
เล่มที่ 27 ข้อ 187อ่านชาดก 270189อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1195&Z=1201
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]