ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271357อรรถกถาชาดก 271367
เล่มที่ 27 ข้อ 1367อ่านชาดก 271380อ่านชาดก 272519
อรรถกถา จุลลโพธิชาดก
ว่าด้วย ความโกรธ
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมักโกรธรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย เต อิมํ วิสาลกฺขึ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นแม้บวชในพระพุทธศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ ก็ไม่สามารถเพื่อจะข่มความโกรธได้ เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความเคียดแค้นเสมอ เมื่อถูกกล่าวว่าเพียงเล็กน้อย ก็ขุ่นแค้นโกรธมุ่งร้ายหมายขวัญ ดังนี้แหละ.
               พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุรูปนั้นมักโกรธ จึงรับสั่งให้เรียกเธอมาแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นคนมักโกรธจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ดังนี้.
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าความโกรธ เธอควรจะห้ามเสีย อันความโกรธเห็นปานนี้ ที่จะทำประโยชน์ให้ในโลกนี้และโลกหน้าเป็นไม่มี เธอบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าที่ไม่โกรธแล้ว เหตุไรจึงยังโกรธเล่า?
               จริงอยู่ โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้บวชแล้วในลัทธินอกพุทธศาสนา ก็ยังไม่ทำความโกรธ ดังนี้แล้ว
               ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ณ นิคมของชาวกาสีแห่งหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคทรัพย์มากแต่ไม่มีบุตร. นางพราหณีภรรยาของเขาอยากได้บุตร คราวนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก มาบังเกิดในท้องนางพราหมณี. ในวันตั้งชื่อกุมารนั้น ญาติทั้งหลายตั้งชื่อว่า โพธิกุมาร.
               ครั้นเจริญวัยแล้ว ไปเมืองตักกสิลาเรียนศิลปะทุกอย่างสำเร็จแล้วกลับมา.
               มารดาบิดาได้นำกุมาริกาผู้มีตระกูลเสมอกันมาให้เขาผู้ซึ่งยังไม่ปรารถนาเลย แม้กุมาริกานั้นก็จุติจากพรหมโลกเหมือนกัน มีรูปร่างงามเลิศเปรียบด้วยเทพอัปสร. โพธิกุมารกับนางกุมาริกาต่างไม่ปรารถนาเป็นสามีภรรยากัน ญาติทั้งหลายก็จัดการอาวาหวิวาหมงคลให้.
               ก็ชนแม้ทั้งสองนั้นไม่เคยมีความฟุ้งซ่านด้วยกิเลส เพียงแต่จะแลดูกันด้วยอำนาจแห่งราคะก็มิได้มี ขึ้นชื่อว่าเมถุนธรรม ไม่เคยประสบแม้ในฝัน ทั้งสองได้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ด้วยประการฉะนี้.
               ต่อมาภายหลัง เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้ว พระมหาสัตว์ได้จัดการปลงศพของท่านทั้งสองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกนางกุมาริกามาสั่งว่า ที่รัก เธอจงรับทรัพย์ ๘๐ โกฏินี้ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด.
               นางกุมาริกาถามว่า ข้าแต่ลูกเจ้าก็ตัวท่านเล่า?
               พระมหาสัตว์ตอบว่า ฉันไม่มีกิจด้วยทรัพย์ ฉันจักเข้าไปถิ่นหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษีทำที่พึ่งแก่ตน
               นางกุมาริกาถามว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ก็การบรรพชานั้นควรแก่พวกบุรุษเท่านั้นหรือ?
               พระมหาสัตว์ตอบว่า แม้พวกสตรีก็ควร ที่รัก.
               นางกุมาริกาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันจักไม่รับเขฬะที่ท่านถ่มทิ้งไว้ แม้ฉันก็ไม่มีกิจด้วยทรัพย์ ถึงฉันก็จักบวช.
               พระมหาสัตว์ก็รับรองว่า ดีแล้ว ที่รัก.
               เขาทั้งสองได้ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วออกไปสร้างอาศรม ในภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ บวชแล้วเที่ยวแสวงหาผลาผลเลี้ยงชีพ อยู่ในที่นั้นประมาณ ๑๐ ปี ฌานสมาบัติก็มิได้เกิดขึ้นแก่เขาทั้งสองนั้นเลย.
               ฤๅษีทั้งสองอยู่ในที่นั้น ๑๐ ปีด้วยความสุขเกิดแต่บรรพชาเท่านั้น เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว จึงเที่ยวจาริกไปตามชนบท ถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นบุรุษเฝ้าสวนถือเครื่องบรรณาการมาเฝ้า จึงตรัสว่า เราจักไปชมสวน เจ้าจงชำระสวนให้สะอาด ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยานที่นายอุทยานบาลนั้นชำระสะอาดเรียบร้อยแล้ว พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก. ขณะนั้นชนทั้งสองแม้เหล่านั้นนั่งให้กาลล่วงไป ด้วยความสุขอันเกิดแต่บรรพชา อยู่ ณ ด้านหนึ่งของพระราชอุทยาน.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นชนแม้ทั้งสองนั้นผู้นั่งอยู่แล้ว เมื่อทรงแลดูนางปริพพาชิกาผู้มีรูปร่างงามเลิศน่าเลื่อมใสยิ่ง ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ พระองค์ทรงสะท้านอยู่ด้วยอำนาจแห่งกิเลส ทรงพระดำริว่า เราจักถามดูก่อน นางปริพพาชิกานี้จะเป็นอะไรกันกับดาบสนี้ แล้วเข้าไปหาพระโพธิสัตว์
               ตรัสถามว่า ข้าแต่บรรพชิต นางปริพพาชิกานี้เป็นอะไรกันกับท่าน.
               พระดาบสตอบว่า มหาบพิตรไม่ได้เป็นอะไรกัน เป็นแต่บวชด้วยกันอย่างเดียว ก็แต่ว่า เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ นางนี้ได้เป็นบาทบริจาริกาของอาตมภาพ.
               พระราชาได้ทรงสดับดังนี้แล้ว ทรงพระดำริว่า นางนี้มิได้เป็นอะไรกันกับพระดาบสนั้น แต่เป็นบาทบริจาริกาเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ ก็ถ้าเราจักพาเอานางนี้ไปด้วยกำลังความเป็นใหญ่ไซร้ พระดาบสนี้จักทำอย่างไรหนอ แลเราจักสอบถามดาบสนั้นดูก่อน ดังนี้แล้ว
               จึงเข้าไปใกล้ กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าจะมีบุคคลมาพาเอานางปริพพาชิกาผู้มีนัยน์ตากว้างงามน่ารัก มีใบหน้าอมยิ้มของท่านไปด้วยกำลัง ท่านจะทำอย่างไรเล่า?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํสิลหาสินึ ได้แก่ผู้มีใบหน้ายิ้มเล็กน้อย.
               บทว่า พลา คจฺเฉยฺย ได้แก่พาเอาไปด้วยพลการ.
               บทว่า กึ นุ กยิราสิ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะทำอย่างไรแก่บุคคลนั้น.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ฟังพระดำรัสของพระราชานั้นแล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ถ้าความโกรธเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป เมื่ออาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่หาย อาตมภาพจะห้ามกันเสียโดยพลันทีเดียว ดังฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลีฉะนั้น.


               พึงทราบเนื้อความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นดังนี้ :-
               ข้าแต่มหาบพิตร ถ้าเมื่อใครๆ พานางนี้ไป ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่อาตมภาพในภายใน ความโกรธนั้นครั้นเกิดขึ้นแก่อาตมภาพในภายในแล้ว ไม่พึงเสื่อมคลายไป จะไม่พึงเสื่อมคลายไป ตราบเท่าที่อาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ อาตมภาพก็จักไม่ให้ความโกรธนั้นตั้งอยู่ข้างใน โดยการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้โดยที่แท้แล อาตมภาพจะข่มห้ามกันเสียด้วยเมตตาภาวนาโดยพลัน เหมือนเมล็ดฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลีที่เกิดขึ้นแล้วโดยพลัน ฉะนั้น.

               พระมหาสัตว์ได้บันลือสีหนาทอย่างนี้.
               ฝ่ายพระราชา แม้ได้ทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้ว ก็ไม่อาจจะห้ามพระทัยของพระองค์ที่ทรงปฏิพัทธ์ได้ เพราะเป็นอันธพาล ทรงบังคับอำมาตย์คนหนึ่งว่า เธอจงนำนางปริพาชิกานี้ไปยังพระราชนิเวศน์.
               อำมาตย์นั้นรับพระราชบัญชาแล้ว ได้พานางปริพาชิกาผู้คร่ำครวญอยู่ว่า อธรรมกำลังเป็นไปในโลกไม่สมควรเลย ดังนี้เป็นต้นไปแล้ว.
               พระโพธิสัตว์สดับเสียงคร่ำคราญของนาง แลดูครั้งเดียวแล้วไม่ได้แลดูอีก.
               พวกราชบุรุษก็นำนางผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ไปสู่พระราชนิเวศน์แล้ว พระราชาพาลแม้นั้นก็มิได้เนิ่นช้าอยู่ในพระราชอุทยาน รีบเสด็จไปพระราชวังรับสั่งให้หานางปริพาชิกานั้นมา แล้วเชื้อเชิญด้วยยศอันยิ่งใหญ่ แต่นางได้พรรณนาโทษของยศและคุณของบรรพชาอยู่เรื่อย พระราชาทรงใช้วิธีการต่างๆ ก็ไม่สามารถจะผูกใจนางไว้ได้ จึงรับสั่งให้ขังนางไว้ในห้องหนึ่ง.
               แล้วทรงดำริว่า นางปริพาชิกานี้มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่ปรารถนายศเห็นปานนี้ แม้พระดาบสนั้น เมื่อคนเขาพานางที่ดีเห็นปานนี้ไป ก็มิได้แลดูด้วยความโกรธ แต่ธรรมดาบรรพชิตย่อมมีมายามาก ประกอบอะไรๆ ขึ้นแล้วจะพึงทำความพินาศให้แก่เรา เราจะไปดูให้รู้ก่อนว่าแกนั่งทำอะไรอยู่ ดำริดังนี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้จึงเสด็จไปพระราชอุทยาน.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้นั่งเย็บจีวรอยู่ พระราชาพร้อมด้วยบริวารเล็กน้อย ค่อยๆ เสด็จเข้าไปไม่ให้มีเสียงพระบาท พระโพธิสัตว์ไม่ได้แลดูพระราชา เย็บจีวรเรื่อยไป.
               พระราชาเข้าพระทัยว่า พระดาบสนี้โกรธจึงไม่ปราศรัยกับเรา แลด้วยทรงสำคัญว่า ดาบสโกงนี้ ทีแรกอวดอ้างว่า จักไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น แม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็จักข่มเสียโดยเร็ว บัดนี้เป็นผู้กระด้างด้วยความโกรธ ไม่ปราศรัยกับเรา ดังนี้.
               จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ท่านกล่าวอวดอ้างไว้ในวันก่อนอย่างไรหนอ วันนี้เป็นเหมือนว่ามีกำลัง ทำเป็นไม่เห็น นั่งนิ่งเย็บสังฆาฏิอยู่ในบัดนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลมฺหิว อปสฺสิโต คือเป็นเหมือนว่าอาศัยกำลัง.
               บทว่า ตุณฺหีกโต ได้แก่ ไม่พูดคำอะไรๆ.
               บทว่า สิพฺพมจฺฉสิ เท่ากับ สิพฺพนฺโต อจฺฉสิ แปลว่า เย็บอยู่.

               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า พระราชานี้เข้าพระทัยว่าที่เราไม่ปราศรัย ก็ด้วยอำนาจความโกรธ เราจักทูลความที่เราไม่ลุอำนาจความโกรธที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบในบัดนี้.
               แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ความโกรธเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป เมื่ออาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่หาย แต่อาตมภาพได้ห้ามกันแล้วโดยพลัน เหมือนฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลี ฉะนั้น.


               พึงทราบเนื้อความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า :-
               ข้าแต่มหาบพิตร ความโกรธเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมภาพ ความโกรธนั้นครั้นเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไปจากอาตมภาพอีก อาตมภาพไม่ได้ให้ความโกรธนั้น เข้าไปตั้งอยู่ในหทัยได้ เมื่ออาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ ความโกรธนั้นก็ยังไม่หายด้วยประการฉะนี้ แต่อาตมภาพได้ห้ามกันแล้วโดยฉับพลัน เหมือนเมล็ดฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลีฉะนั้น.

               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วทรงดำริว่า ดาบสนี้พูดหมายถึงความโกรธเท่านั้น หรือหมายถึงศิลปะอะไรๆ อย่างอื่นด้วย เราจักถามท่านดูก่อน
               เมื่อจะตรัสถาม ได้ตรัสคาถาที่ ๕ ว่า :-
               ความโกรธเกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไปเป็นอย่างไร
               เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ความโกรธก็ยังไม่หายเป็นอย่างไร
               ท่านได้ห้ามกันความโกรธ เหมือนฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลีฉะนั้น เป็นไฉน?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺเต อุปฺปชฺชิโน มุญฺจิ ความว่า ความโกรธเกิดขึ้นแก่ท่านด้วย ยังไม่เสื่อมคลายไปแล้วด้วยเป็นอย่างไร?

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า มหาบพิตร ความโกรธมีโทษมากมายอย่างนี้ เพราะประกอบด้วยความพินาศใหญ่ ความโกรธชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมภาพ แต่ว่าอาตมภาพได้ห้ามกันความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยเมตตาภาวนา ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะประกาศโทษในความโกรธ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น เมื่อความโกรธไม่เกิดขึ้น บุคคลย่อมเห็นได้ดี ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา.
               ชนทั้งหลายย่อมยินดีด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเป็นศัตรูแก่ตัวเอง หาความทุกข์ใส่ตัว ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา.
               อนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น บุคคลย่อมไม่รู้จักประโยชน์ตน ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา.
               ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมละทิ้งกุศลเสีย แลจะซัดส่ายประโยชน์แม้มากมายได้ เขาประกอบด้วยเสนาคือกิเลสหมู่ใหญ่ที่น่ากลัว มีกำลังสามารถปราบผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ ความโกรธนั้นยังไม่เสื่อมคลายไปจากอาตมภาพ ขอถวายพระพร.
               ธรรมดา ไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟอันบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ย่อมเผาไม้นั้นเองให้ไหม้.
               ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนพาล ผู้โฉดเขลาไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน.
               ความโกรธย่อมเจริญขึ้นแก่ผู้ใด ดุจไฟเจริญขึ้นในกองหญ้าแลไม้ฉะนั้น ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น.
               ความโกรธของผู้ใดสงบลงได้ประดุจไฟที่ไม่มีเชื้อฉะนั้น ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยมเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ปสฺสติ คือ ย่อมไม่เห็นแม้กระทั่งประโยชน์ตน จะป่วยกล่าวไปใยถึงประโยชน์ผู้อื่น.
               บทว่า สาธุ ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็นประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นได้ดี.
               บทว่า ทุมฺเมธโคจโร คือ เป็นสถานที่รองรับของบุคคลผู้ไร้ปัญญาทั้งหลาย.
               บทว่า ทุกฺขเมสิโน คือ อยากได้ทุกข์ใส่ตัว.
               บทว่า สทตฺถํ ได้แก่ สิ่งที่เป็นประโยชน์ของตน คือความเจริญทั้งโดยอรรถและโดยธรรม.
               บทว่า ปรกฺกเร ได้แก่ ทำประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไพบูลย์ให้เป็นของคนอื่น ท่านทั้งหลายจงนำออกไป อาตมภาพไม่ต้องการสิ่งนี้.
               บทว่า ส ภีมเสโน ความว่า เขาประกอบด้วยเสนาคือกิเลสหมู่ใหญ่ที่จะให้ภัยเกิดขึ้นนี้.
               บทว่า ปมทฺที คือ เพราะค่าที่ตนเป็นผู้มีเสนาคือกิเลสหนา จึงเป็นผู้สามารถที่จะจับสัตว์ทั้งหลายแม้เป็นอันมากมา ปราบปรามด้วยการกระทำให้อยู่ในอำนาจของตนได้.
               บทว่า น เม อมุญฺจิตฺถ ความว่า ไม่ได้หลุดพ้นไปจากสำนักของอาตมภาพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ไม่ตั้งอยู่ในหทัยของอาตมภาพ ดุจน้ำนมไม่ตั้งอยู่โดยความเป็นนมส้ม เพียงชั่วครู่ฉะนั้น ดังนี้ก็มี.
               บทว่า กฏฺฐสฺมึ มตฺถมานสฺมึ ได้แก่ อันบุคคลสีอยู่ด้วยไม้สีไฟ
               บาลีว่า มตฺถมานสฺมึ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ยสฺมา ความว่า ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ก็เผาไม้อันนั้นเอง. ไฟชื่อว่า คินิ.
               บทว่า พาลสฺส อวิชานโต เท่ากับ พาลสฺส อวิชานนฺตสฺส แปลว่า ผู้โง่เขลา ไม่รู้จริง.
               บทว่า สารมฺภา ชายเต ความว่า ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนผู้ทำการฉุดมาฉุดไปว่า ฉันว่าท่านเพราะความแข่งดี อันมีเพราะทำให้เกินกว่าเหตุเป็นลักษณะ ดุจไฟป่าเกิดขึ้นเพราะการเสียดสีแห่งไม้สีไฟ ฉะนั้น.
               บทว่า โสปิ เตเนว ความว่า แม้เขาคือคนพาล ก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน ดุจไม้ถูกไฟเผาอยู่ฉะนั้น.
               บาทคาถาว่า อนินฺโท ธูมเกตุว แปลว่า ดุจไฟที่ไม่มีเชื้อฉะนั้น.
               บทว่า ตสฺส เป็นต้น ความว่า ยศที่บุคคลผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันตินั้นได้แล้ว ย่อมเต็มเปี่ยมเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น.

               พระราชาทรงฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ทรงยินดีรับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งนำนางปริพาชิกามา แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โดยที่ไม่มีความโกรธ ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่ด้วยความสุขเกิดแต่บรรพชาอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพิทักษ์รักษาโดยชอบธรรมแก่ท่านทั้งสอง. ครั้นแล้วได้ขอขมาโทษนมัสการแล้วเสด็จหลีกไป.
               บรรพชิตทั้งสองนั้นได้อยู่ ณ พระราชอุทยานนั้นเอง ต่อมานางปริพพาชิกาถึงมรณภาพ.
               พระโพธิสัตว์ เมื่อนางปริพาชิกาถึงมรณภาพ แล้วก็เข้าถิ่นหิมพานต์ไป ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วไปสู่พรหมโลก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุมักโกรธได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
               พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
                         นางปริพาชิกาในครั้งนั้น ได้มาเป็น มารดาพระราหุล ในบัดนี้
                         พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
                         ส่วนปริพาชก ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาจุลลโพธิชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลลโพธิชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271357อรรถกถาชาดก 271367
เล่มที่ 27 ข้อ 1367อ่านชาดก 271380อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5611&Z=5648
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]