ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271854อรรถกถาชาดก 271872
เล่มที่ 27 ข้อ 1872อ่านชาดก 271883อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สาลิเกทารชาดก
ว่าด้วย นกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงโยมหญิง ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า สมฺปนฺนํ สาลิเกทารํ ดังนี้.
               ท้องเรื่องจักมีแจ้งใน สามชาดก*
*ดูพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ชาดกแปลเล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒ หน้า ๑๕๕

               ก็พระศาสดาตรัสให้หาภิกษุนั้น ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ข่าวว่าเธอเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ เมื่อเธอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นความจริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า คฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นอะไรของเธอ ครั้นเธอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นโยมหญิงโยมชายของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดีจริง ภิกษุ ถึงเหล่าบัณฑิตแต่ก่อน เป็นสัตว์ดิรัจฉานบังเกิดในกำเนิดสกุณ ก็ยังให้พ่อแม่ผู้แก่แล้วนอนในรัง หาอาหารมาด้วยจะงอยปาก เลี้ยงดูได้
               ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้ามคธราชครองราชสมบัติในพระนครราชคฤห์.
               ครั้งนั้น ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากพระนคร มีบ้านพวกพราหมณ์ ชื่อว่าสาลินทิยะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านนั้นเป็นไร่ของชาวมคธ. ในที่นั้น พราหมณ์ โกสิยโคตรชาวสาลินทิยะ จับจองไร่ไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ กรีส หว่านข้าวสาลีไว้. ครั้นข้าวกล้างอกขึ้นแล้ว ให้คนทำรั้วอย่างแข็งแรง แบ่งให้บริษัทของตนนั้นแล ดูแลรักษา บางคนประมาณ ๕๐ กรีส บางคน ๖๐ กรีสจนครบพื้นที่ไร่ประมาณ ๕๐๐ กรีส ที่เหลือ ๕๐๐ กรีส กั้นรั้วให้ลูกจ้างคนหนึ่ง.
               ลูกจ้างปลูกกระท่อมลงตรงนั้น อยู่ประจำทั้งกลางคืนและกลางวัน. ก็ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไร่ มีป่างิ้วใหญ่อยู่ที่ภูเขาอันมียอดเป็นที่ราบลูกหนึ่ง ฝูงนกแขกเต้าหลายร้อยพากันอาศัยอยู่ในป่างิ้วนั้น.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นลูกของพญานกแขกเต้า ในฝูงนกแขกเต้านั้น เมื่อเติบโตแล้ว มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยกำลัง ร่างกายใหญ่ขนาดดุมเกวียน. ครั้นถึงเวลาบิดาแก่ บิดาของท่านได้มอบความเป็นพญาให้ด้วยคำว่า บัดนี้ฉันไม่สามารถจะบินไปไกลๆ ได้ เจ้าจงปกครองฝูงนกนี้เถิด.
               ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่ยอมให้บิดามารดาไปหากิน เมื่อได้ปกครองฝูงนกแขกเต้าก็ไปสู่ป่าหิมพานต์ จิกกินข้าวสาลีในป่า ข้าวสาลีที่เกิดเองจนอิ่ม เวลากลับก็คาบอาหารที่เพียงพอแก่มารดาบิดามาเลี้ยงมารดาบิดา.
               อยู่มาวันหนึ่ง นกแขกเต้าพากันบอกว่า ครั้งก่อนในระยะกาลนี้ คนเคยหว่านข้าวสาลีในไร่แคว้นมคธ บัดนี้จะยังกระทำอยู่หรืออย่างไรไม่ทราบ. พญาแขกเต้าใช้นกแขกเต้าสองตัวไปว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงสืบดู. นกแขกเต้าทั้งสองบินไป เมื่อจะร่อนลงในมคธเขต ไปร่อนลงในไร่ที่ลูกจ้างนั้นเฝ้า จิกกินข้าวสาลี แล้วคาบรวงข้าวสาลีรวงหนึ่ง บินกลับมาสู่ป่างิ้ว วางรวงข้าวสาลีไว้แทบเท้าของมหาสัตว์ กล่าวว่า ในที่นั้นมีข้าวสาลีเช่นนี้.
               วันรุ่งขึ้น พญาแขกเต้าแวดล้อมด้วยฝูงนกแขกเต้า บินไปในที่นั้นร่อนลงในไร่ของลูกจ้างนั้น. ฝ่ายบุรุษนั้นเห็นนกแขกเต้าทั้งหลายพากันจิกกินข้าวสาลี แม้จะวิ่งกลับไปกลับมาห้ามอยู่ ก็สุดที่จะห้ามได้. นกแขกเต้าที่เหลือพากันจิกกินข้าวสาลีพออิ่ม ต่างก็บินไปปากเปล่ากันทั้งนั้น. แต่พญาแขกเต้ารวบรวมข้าวสาลีเป็นอันเดียวกัน คาบด้วยจะงอยปาก บินออกหน้ามาให้แก่มารดาบิดา.
               ฝูงนกแขกเต้าตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ก็พากันจิกกินข้าวสาลีในที่นั้นแห่งเดียว ครั้นบุรุษนั้นเห็นฝูงนกแขกเต้ากำลังลงจิกกินข้าวสาลี ก็วิ่งกลับไปกลับมาห้ามปราม แต่ก็มิอาจที่จะห้ามได้ จึงคิดว่า ถ้านกแขกเต้าเหล่านี้พากันลงกินอย่างนี้ สักสองสามวันเท่านั้น จักต้องไม่มีข้าวสาลีเหลือสักน้อย พราหมณ์ต้องตีราคากระทำให้เราต้องชดใช้ก็ได้ เราต้องไปบอกแกเสีย. เขาถือเอาบรรณาการตามมีตามได้ กับฟ่อนข้าวสาลีไปสู่สาลินทิยคาม พบพราหมณ์แล้วให้บรรณาการ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถูกถามว่า เป็นอย่างไร พ่อเอ๋ย ไร่ข้าวสาลีสมบูรณ์ดีหรือ
               ตอบว่า ครับ ท่านพราหมณ์ สมบูรณ์ แล้วได้กล่าวคาถา ๒ ว่า
               ข้าแต่ท่านโกสิยะ นาข้าวสาลีบริบูรณ์ดี แต่นกแขกเต้าทั้งหลายพากันมากินเสีย ข้าพเจ้าขอคืนนานั้นให้แก่ท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะห้ามนกแขกเต้าเหล่านั้นได้
               ก็ในนกแขกเต้าเหล่านั้น มีนกแขกเต้าตัวหนึ่งงามกว่าทุกๆ ตัว กินข้าวสาลีตามต้องการแล้ว ยังคาบเอาไปด้วยจะงอยปากอีก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนํ ความว่า สมบูรณ์ คือไม่บกพร่องเลย.
               บทว่า สาลิเกทารํ ได้แก่ นาแห่งข้าวสาลี.
               บทว่า สพฺพสุนฺทโร ความว่า นกแขกเต้าตัวนั้นงามด้วยส่วนทุกส่วน จะงอยปากแดง นัยน์ตามีประกายเหมือนผลกระพังโหม มีเท้าแดง มีสร้อยคอสีแดงคาดรอบคอสามชั้น โตเท่านกยูงขนาดใหญ่ กินข้าวสาลีจนอิ่มแล้ว ยังคาบเอาสิ่งอื่นเอาไปด้วยจะงอยปากอีกเล่า.

               พราหมณ์ฟังถ้อยความของคนเฝ้าไร่นั้น เกิดความรักในพญานกแขกเต้าขึ้น ถามคนเฝ้าไร่ว่า พ่อเอ๋ย แกรู้จักดักแร้วไหม. ตอบว่า รู้ครับ.
               พราหมณ์จึงกล่าวกับเขาด้วยคาถาว่า

               เจ้าจงดักบ่วงพอที่จะให้นกนั้นติดได้ แล้วจงจับนกนั้นทั้งยังเป็นมาให้เราเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุชฺฌนฺตุ แปลว่า จงดัก.
               บทว่า พาลปาสานิ ได้แก่ บ่วงอันสำเร็จแล้วด้วยเชือก มีขนหางม้าเป็นต้น.
               บทว่า ชีวญฺจนํ ความว่า จงนำนกแขกเต้านั้นทั้งเป็นมาให้เรา.

               คนเฝ้าไร่ฟังคำนั้นแล้ว ยินดีด้วยท่านพราหมณ์ไม่ตีราคาให้ตนต้องชดใช้ รีบไปขวั้นบ่วงด้วยขนหางม้า กำหนดดูที่ร่อนลงของพญานกแขกเต้าว่า วันนี้ต้องร่อนลงตรงนี้ วันรุ่งขึ้นไม่ทำกังหัน ทอดบ่วงไว้แต่เช้าทีเดียว คอยดูการมาของฝูงแขกเต้า นั่งเฝ้าอยู่ในกระท่อม.
               ฝ่ายพญานกแขกเต้าแวดล้อมด้วยฝูงนกแขกเต้าบินมา ร่อนลงในที่ที่หากินเมื่อวาน เพราะมีอุปจารไม่โลเล เท้าพอดีสอดเข้าไปในบ่วงที่วางดักไว้. พญานกแขกเต้านั้นทราบความที่ตนติดบ่วงแล้ว คิดว่า ถ้าเราร้องเอะอะในเวลานี้ พวกญาติของเราต้องพากันกลัวตาย ไม่เป็นอันหากินบินหนีไปเลย เราต้องอดกลั้นไว้จนกว่าพวกนั้นจะหากินกันอิ่มหนำ.
               ครั้นทราบว่า พวกนั้นอิ่มหนำสำราญแล้ว ความกลัวตายคุกคามเข้า จึงเอะอะสามครั้ง.
               ครั้งนั้นนกแขกเต้าทั้งปวงได้ยินแล้วพากันหนีไปหมดเลย.
               พญานกแขกเต้า เมื่อจะรำพันว่า บรรดาญาติของเรา แม้เพียงตัวเดียวที่จะเหลียวมาดู ก็ไม่มีเลย เราทำบาปอะไรไว้เล่าหนอ กล่าวคาถาว่า
               ฝูงนกเหล่านั้นกินและดื่มแล้ว ย่อมพากันบินไป เราผู้เดียวติดบ่วง เราทำบาปอะไรไว้.


               คนเฝ้าไร่ได้ยินเสียงร้องเอะอะของพญานกแขกเต้าและเสียงฝูงนกแขกเต้าบินไปในอากาศ ดำริว่า อะไรกันเล่าหนอ จึงลงจากกระท่อมไปที่วางบ่วง เห็นพญานกแขกเต้าดีใจว่า เราวางบ่วงดักนกตัวใด จำเพาะติดตัวนั้นพอดีเลย ครั้นปลดพญานกแขกเต้าจากบ่วงแล้ว ผูกเท้าทั้งสองติดกันจับไว้แน่นไปสู่สาลินทิยคาม ให้พญานกแขกเต้าแก่ท่านพราหมณ์
               ท่านพราหมณ์จับพระมหาสัตว์ด้วยมือทั้งสองข้างอย่างแน่นแฟ้นด้วยความรักอันมีกำลัง ให้นั่งบนตัก เมื่อจะทักทายกับพญานกแขกเต้านั้น ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
               ดูก่อนนกแขกเต้า ท้องของเจ้าเห็นจะใหญ่กว่าท้องของนกเหล่าอื่นเป็นแน่ เจ้ากินข้าวสาลีตามต้องการแล้ว ยังคาบเอาไปด้วยจะงอยปากอีก
               ดูก่อนนกแขกเต้า เจ้าจะบรรจุฉางในป่าไม้งิ้วนั้นให้เต็มหรือ หรือว่าเจ้ากับเรามีเวรกันมา สหายเอ๋ย เราถามเจ้าแล้ว เจ้าจงบอกแก่เราเถิด เจ้าฝังข้าวสาลีไว้ที่ไหน?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทรํ นูน ความว่า พ่อนกแขกเต้า ท้องของเจ้าเห็นจะใหญ่ยิ่งกว่าท้องของนกเหล่าอื่นกระมังหนา.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในป่าไม้งิ้วนั้น.
               บทว่า ปูเรติ ความว่า เจ้าบรรจุยุ้งฉางในที่อยู่นั้นให้เต็ม (ในฤดูฝน) หรือ.
               บทว่า นิธียติ ความว่า เจ้าเก็บคือฝังข้าวสาลีไว้ที่ไหน?

               พญานกแขกเต้าได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๗ ด้วยภาษามนุษย์อันไพเราะว่า
               ข้าพเจ้ากับท่านมิได้มีเวรกัน ฉางของข้าพเจ้าก็ไม่มี ข้าพเจ้านำเอาข้าวสาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้วก็เปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่ และฝังขุมทรัพย์ไว้ที่ป่างิ้วนั้น ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิณํ มุญฺจามิณํ ทมฺมิ ความว่า ข้าพเจ้านำข้าวสาลีของท่านไป เปลื้องหนี้เก่าบ้าง ให้หนี้ใหม่บ้าง.
               บทว่า นิธึปิ ความว่า ข้าพเจ้าฝังขุมทรัพย์ไว้อย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องติดตามไปในป่าไม้งิ้วนั้น.

               ลำดับนั้น พราหมณ์จึงถามพญานกแขกเต้านั้นว่า
               การให้กู้หนี้ของท่านเป็นอย่างไร และการเปลื้องหนี้ของท่านเป็นอย่างไร ท่านจงบอกวิธีฝังขุมทรัพย์ แล้วท่านจะหลุดพ้นจากบ่วงได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิณทานํ แปลว่า การให้กู้หนี้.
               บทว่า นิธินิธานํ แปลว่า การฝังขุมทรัพย์.

               พญานกแขกเต้าถูกพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว
               เมื่อจะพยากรณ์ปัญหาได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า
               ข้าแต่ท่านโกสิยะ บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้ายังอ่อน ขนปีกยังไม่ขึ้น บุตรเหล่านั้นข้าพเจ้าเลี้ยงมาแล้ว เขาจักเลี้ยงข้าพเจ้าบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงชื่อว่าให้บุตรเหล่านั้นกู้หนี้
               มารดาและบิดาของข้าพเจ้าแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว ข้าพเจ้าคาบข้าวสาลีไปด้วยจะงอยปาก เพื่อท่านเหล่านั้นชื่อว่าเปลื้องหนี้ที่ท่านทำไว้ก่อน
               อนึ่ง นกเหล่าอื่นที่ป่าไม้งิ้วนั้น มีขนปีกอันหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพลภาพ ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงได้ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์
               การให้กู้หนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ การเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมสมบัติไว้เช่นนี้ ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หาตูน แปลว่า คาบไปแล้ว.
               บทว่า ตํ นิธึ ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวชื่อขุมทรัพย์อันติดตามตน.
               บทว่า นิธินิธานํ แปลว่า ฝังขุมทรัพย์ไว้ บาลีว่า นิทหํ ดังนี้ก็มี อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็เหมือนกัน.

               พราหมณ์ฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์ มีจิตเลื่อมใส ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               นกตัวนี้ดีจริงหนอ เป็นนกมีธรรมชั้นเยี่ยม ในมนุษย์บางพวกยังไม่มีธรรมเช่นนี้เลย เจ้าพร้อมด้วยญาติทั้งมวล จงกินข้าวสาลีตามต้องการเถิด ดูก่อนนกแขกเต้า เราขอเห็นเจ้าแม้อีกต่อไป การที่ได้เห็นเจ้าเป็นที่พอใจของเรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุญฺช สาลึ ความว่า พราหมณ์เมื่อมอบให้ทรัพย์พันกรีส แก่พระมหาสัตว์นั่นแล จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงไม่มีภัยบริโภคเถิด.
               บทว่า ปสฺเสมุ ความว่า พวกเราพึงเห็นท่านแม้ในวันอื่นผู้มาตามชอบใจของตน.

               พราหมณ์อ้อนวอนพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว มองดูด้วยจิตอันอ่อนโยน ประหนึ่งมองดูลูกรัก พลางแก้เชือกที่มัดออกจากเท้า ทาเท้าทั้งคู่ด้วยน้ำมันที่หุงแล้วร้อยครั้ง ให้เกาะที่ตั่งอันงดงาม ให้บริโภคข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งด้วยจานทอง ให้ดื่มน้ำเจือน้ำตาลกรวด.
               ครั้งนั้น พญานกแขกเต้ากล่าวว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
               เมื่อจะให้โอวาทแก่ท่าน กล่าวว่า
               ข้าแต่ท่านโกสิยะ ข้าพเจ้าได้กินและดื่มแล้วในที่อยู่ของท่าน ท่านเป็นที่พึ่งพำนักของพวกเราทุกวันคืน ขอท่านจงให้ทาน ในท่านที่มีอาชญาอันวางแล้ว และจงเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าแล้วด้วย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวสฺสมมฺหิ ได้แก่ ในนิเวศน์ของท่าน.

               พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว ดีใจเมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวคาถาว่า
               วันนี้ สง่าราศีเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ที่เราได้เห็นท่านผู้เป็นยอดแห่งฝูงนก เพราะได้ฟังคำสุภาษิตของนกแขกเต้า เราจักทำบุญให้มาก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขี ได้แก่ สิริก็มี บุญก็มี ปัญญาก็มี.

               พระมหาสัตว์ได้คืนไร่ประมาณ ๑,๐๐๐ กรีสที่พราหมณ์ให้แก่ตนเสีย ขอรับไว้เพียง ๘ กรีสเท่านั้น. พราหมณ์จึงจารึกหลักมอบไร่แก่พระมหาสัตว์ แล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ขอขมาเสร็จส่งไปด้วยคำว่า เชิญไปเถิด นายเอ๋ย โปรดปลอบบิดามารดาผู้กำลังร้องไห้ฟูมฟายอยู่เถิด.
               พญานกแขกเต้านั้นดีใจคาบรวงข้าวสาลีไปวางไว้ข้างหน้ามารดาบิดา พลางกล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่ขอรับ เชิญลุกขึ้นเถิด.
               มารดาบิดาทั้งสองของพญานกแขกเต้านั้นพากันลุกขึ้นหัวเราะได้ทั้งน้ำตา.
               ทันใดนั้นฝูงนกแขกเต้าประชุมกัน ถามว่า ท่านผู้ประเสริฐ ท่านรอดได้อย่างไรขอรับ.
               ท่านเล่าเรื่องทั้งหมดแก่พวกนั้นโดยพิสดาร.
               แม้ท่านโกสิยะฟังโอวาทของพญานกแขกเต้าแล้ว ตั้งแต่บัดนั้น ก็เริ่มตั้งมหาทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
               โกสิยพราหมณ์นั้น มีใจเบิกบานร่าเริงผ่องใส จัดแจงข้าวและน้ำไว้แล้ว เลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตปฺปยิ ความว่า บรรจุภาชนะที่รับไปแล้วๆ เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันการเลี้ยงมารดาบิดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
               ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย (เวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงในโสดาปัตติผล)
               แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         ฝูงนกแขกเต้าในครั้งนั้น ได้มาเป็น พุทธบริษัท
                         มารดาบิดาได้มาเป็น มหาราชสกุล
                         คนเฝ้าไร่ ได้มาเป็น พระฉันนะ
                         พราหมณ์ได้มาเป็น พระอานนท์
                         ส่วนพญานกแขกเต้าได้มาเป็น เราตถาคต แล.
               จบอรรถกถาสาลิเกทารชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สาลิเกทารชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271854อรรถกถาชาดก 271872
เล่มที่ 27 ข้อ 1872อ่านชาดก 271883อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=7222&Z=7267
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]