ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๗ / ๑๒.

               พระมหาสัตว์เป็นผู้เสนางคนิกรแวดล้อม กลับเข้าสู่กรุงมิถิลา.
               ฝ่ายกองทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตหนีไปได้ ๓ โยชน์ ฝ่ายเกวัฏก็ขึ้นม้าแล้วเช็ดโลหิตที่หน้าผากไปถึงกองทัพ นั่งอยู่บนหลังม้ากล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าหนีไปเลย เราไม่ได้ไหว้บุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ามโหสถ ดอก. ท่านทั้งหลายหยุดเถิด. เสนาไม่เชื่อไม่หยุดคงเดินไป พากันด่าขู่เกวัฏ. กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ชั่ว ผู้มีธรรมเป็นบาป ท่านกล่าวว่า เราจักทำธรรมยุทธ์ แล้วมาไหว้มโหสถผู้คราวหลาน ผู้ไม่เพียงพอจะไหว้ กิจที่พวกข้าพเจ้าจะพึงทำแก่ท่านไม่มี. กล่าวฉะนี้ แล้วก็ไม่ฟังถ้อยคำของเกวัฏ คงเดินไปนั่นเทียว เกวัฏไปโดยเร็วถึงกองทัพจึงกล่าวว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่ได้ไหว้มโหสถ มโหสถลวงเราด้วยแก้วมณี ยังพระราชาทั้งปวงเหล่านั้นให้รู้ โดยอาการต่างๆ ให้เชื่อถ้อยคำของตน ยังกองทัพอันแตกกระจัดกระจายแล้วนั้น ให้กลับควบคุมกันเป็นปกติ ก็เสนาใหญ่ถึงเพียงนั้น หากจะถือกำฝุ่นหรือก้อนดินก้อนหนึ่งซัดไปไซร้ กองฝุ่นและดินราวเท่ากำแพงเมือง พึงยังคูให้เต็ม ก็แต่ความประสงค์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น แม้บุคคลผู้หนึ่งหันหน้าเฉพาะเมืองซัดกำฝุ่น หรือก้อนดินจึงไม่มีเลย. กองทัพแม้ทั้งปวงกลับถึงสถานที่ตั้งค่ายของตน พระราชาจุลนีตรัสถามเกวัฏว่า เราจักทำอย่างไร อาจารย์.
               เกวัฏทูลตอบว่า เราทั้งหลายไม่ให้ใครๆ ออกจากประตูน้อย ตัดการเข้าออกเสีย ชาวเมืองออกไม่ได้ก็จักเดือดร้อนเปิดประตู ทีนั้น พวกเราจักจับเหล่าปัจจามิตรได้. พระราชาตรัสรับรองว่า อุบายนี้งาม. ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลัง จึงคิดว่า เมื่อกองทัพปัญจาลนครล้อมอยู่ในที่นี้นาน พวกเราจักไม่มีความผาสุก ควรที่จะให้กองทัพนั้นหนีไปด้วยอุบาย จักให้หนีไปเสียด้วยความคิด. มโหสถพิจารณาหาคนฉลาดคิดคนหนึ่ง ก็เห็นพราหมณ์หนึ่ง ชื่ออนุเกวัฏ. จึงให้เรียกตัวมาแจ้งว่า แน่ะอาจารย์ ควรที่ท่านจะช่วยงานอันหนึ่งของพวกเรา. อนุเกวัฏถามว่า ข้าพเจ้าจะทำอะไร ขอให้ท่านบอก. มโหสถบัณฑิตจึงชี้แจงให้อนุเกวัฏทราบว่า ท่านอาจารย์จงขึ้นไปอยู่ตามกำแพงเมือง. เมื่อเห็นกองรักษาฝ่ายเราประมาท จงโยนขนมและปลาเนื้อเป็นต้น เพื่อพวกกองทัพของพระเจ้าจุลนี ในระหว่างๆ แล้วร้องบอกว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงเคี้ยวกินสิ่งนี้ๆ อย่ากระสันเดือดร้อนเลย. จงพยายามอยู่สักสองสามวันเถิด ชาวเมืองมิถิลาก็เดือดร้อน ดุจไก่เดือดร้อนตายอยู่ในกรง ฉะนั้น ไม่ช้านาน ก็จะเปิดประตูเมืองเพื่อพวกท่าน ต่อแต่นั้น พวกท่านจงจับพระเจ้ากรุงมิถิลาและมโหสถผู้ดุร้าย. กองรักษาของพวกเราได้ฟังถ้อยคำของท่านก็จักด่าคุกคามท่าน จะเป็นเหมือนจับมือและเท้าท่าน ประหารด้วยซีกไม้ไผ่ให้กองทัพพระเจ้าจุลนีเห็น แล้วให้ท่านลงจากกำแพงเมือง มุ่นผมท่านให้เป็นจุก ๕ หย่อม แล้วโรยผงอิฐลงบนศีรษะท่าน แล้วให้ท่านทัดดอกยี่โถ แล้วตีท่านเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นรอยที่หลังท่าน แล้วให้ท่านขึ้นบนกำแพงเมือง ให้ท่านนั่งในสาแหรก เอาเชือกผูกโรยหย่อนลงไปนอกกำแพงเมือง แล้วแสดงให้กองทัพของพระเจ้าจุลนีได้ยินว่า แน่ะอ้ายโจรทำลายความคิด เองจงไป.
               พวกกองทัพของพระเจ้าจุลนีจักพาท่านไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นจักตรัสถามท่านว่า ท่านมีความผิดอย่างไร. ทีนั้น ท่านควรทูลอย่างนี้แด่พระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แต่ก่อนข้าพระเจ้ามียศใหญ่ มโหสถโกรธข้าพระเจ้าว่าเป็นผู้ทำลายความคิด จึงทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วชิงเอายศของข้าพระเจ้าเสียทั้งหมด ข้าพระเจ้าคิดว่า จักขอให้พวกพลของพระองค์ตัดศีรษะของบุตรคฤหบดีผู้ชิงยศของข้าพระเจ้าไป คิดฉะนี้ แล้วได้เห็นโยธาของพระองค์เดือดร้อน จึงให้ของควรเคี้ยว ควรกินแก่โยธาเหล่านั้น มโหสถใส่ใจข้าพระเจ้าผู้มีเวรเก่าไว้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จึงให้ข้าพระเจ้าถึงความพินาศนี้ ชนทั้งปวงของพระองค์รู้เหตุทั้งหมด. ท่านจงยังพระเจ้าจุลนีพรหมทัตให้เชื่อโดยประการต่างๆ เมื่อเกิดความคุ้นเคยกันแล้ว จึงทูลต่อไปว่า ข้าแต่มหาราช จำเดิมแต่กาลที่พระองค์ได้ข้าพระบาทมาแล้ว พระองค์อย่าได้ทรงวิตกเลย บัดนี้ พระชนมชีพของพระเจ้าวิเทหราชและชีวิตของมโหสถจะไม่มี เพราะข้าพระเจ้ารู้สถานที่มั่นคง สถานที่ไม่มีกำลัง และสถานที่มีหรือไม่มีสัตว์ร้ายมีจระเข้เป็นต้น ในคูแห่งกำแพงในเมืองนี้ ข้าพระบาทจักยึดเอาเมืองถวายพระองค์ โดยกาลไม่นานเลย. ครั้นทูลอย่างนี้ พระราชาจุลนีจักทรงเชื่อประทานรางวัลแก่ท่าน แต่นั้น จะให้ท่านปกครองกองทัพและพาหนะของพระองค์ ทีนั้น ท่านจงคุมกองทัพของพระเจ้าจุลนีให้ลงในคูที่มีจระเข้ร้าย กองทัพของพระเจ้าจุลนีก็จักไม่ลงด้วยกลัวจระเข้ กาลนั้น ท่านจงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถยุยงให้กองทัพแตกร้าวเป็นกบฏต่อพระองค์แล้ว ใครๆ ตั้งแต่พระราชาร้อยเอ็ดและพราหมณ์เกวัฏ ที่จะไม่รับสินบนมโหสถไม่มี ชนเหล่านี้ที่แวดล้อมโดยเสด็จทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นพวกของมโหสถ อันเสวกามาตย์ของพระองค์ มีแต่ข้าพระบาทคนเดียวเท่านั้น.
               ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงเชื่อ จงมีพระราชโองการแก่พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดว่า เธอทั้งหลายจงแต่งองค์มาหาเรา ดังนี้ ทีนั้น พระองค์ก็จะพึงทอดพระเนตร เห็นอักษรในราชาภรณ์ มีภูษาทรงเครื่องประดับและพระขรรค์เป็นต้น อันมโหสถจารึกนามของตน ถวายไว้แก่พระราชาเหล่านั้น ก็จะพึงทรงเชื่อ ท่านทูลฉะนี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จักทรงทำตามอย่างนั้น จักทอดพระเนตรเห็นอักษรที่จารึก ชื่อมโหสถในราชาภรณ์เหล่านั้น ก็จักทรงเชื่อและกลัวสะดุ้งพระหฤทัย ส่งพระราชาเหล่านั้นกลับไป แล้วจักตรัสหารือท่านว่า บัดนี้ เราจักทำอย่างไรดี ท่านบัณฑิต. ท่านควรกราบทูลพระองค์ดังนี้ว่า มโหสถเป็นคนเจ้ามายามาก ถ้าพระองค์จักประทับอยู่สิ้นวันเล็กน้อย มโหสถก็จักทรงทำปวงเสนาของพระองค์ให้อยู่ในเงื้อมมือตน แล้วจับพระองค์ เราทั้งหลายอย่าเนินช้า รีบขึ้นม้าหนีไปเสีย ในระหว่างมัชฌิมยามวันนี้ ขอมรณภัยของพวกเรา จงอย่ามีในคนอื่นเลย. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟังคำของท่านดังนั้น ก็จักทรงทำตาม ท่านจงกลับในเวลาที่พระเจ้าจุลนีหนีไป แล้วยังพวกโยธาของเราให้รู้. พราหมณ์อนุเกวัฏได้ฟังคำชี้แจงนั้น ก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบัณทิต ดีแล้ว ข้าพเจ้าจักทำตามคำของท่าน. มโหสถจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านควรทนต่อการประหารเล็กน้อย. อนุเกวัฏกล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ยกเสียแต่ชีวิตและมือเท้าของข้าพเจ้า เหลือจากนั้น ท่านจงทำตามชอบใจของท่าน. มโหสถจึงให้สิ่งของแก่เหล่าชนในเรือนของอนุเกวัฏ แล้วทำพราหมณ์ให้ถึงประการอันแปลกโดยนัยที่กล่าวแล้ว แล้วให้นั่งในสาแหรก เอาเชือกผูกโรยลงไปให้แก่พวกเสวกของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต.
               ลำดับนั้น พวกเสนาก็จับอนุเกวัฏนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต. พระราชาทรงทดลองแล้ว ก็ทรงเชื่อพราหมณ์อนุเกวัฏ จึงพระราชทานรางวัลแก่อนุเกวัฏแล้วให้ปกครองเสนา. ฝ่ายอนุเกวัฏก็ยังเสนาให้ลงในสถานที่มีจระเข้ร้าย พลนิกายถูกจระเข้ทั้งหลายขบกัด ถูกกองรักษาที่อยู่บนหอรบยิงพุ่งเอาด้วยศร หอกและโตมร ก็ถึงความพินาศใหญ่ จำเดิมแต่นั้นๆ ก็ไม่อาจเข้าไปใกล้ ด้วยความกลัวอันตรายเห็นปานนั้น. ลำดับนั้น อนุเกวัฏเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกคนรบเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ไม่มี มีแต่พวกรับสินบนทั้งนั้น. ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ จงให้พวกเหล่านั้นมา จักทอดพระเนตรเห็นอักษรจารึก ชื่อมโหสถในเครื่องอุปโภคมีผ้านุ่งที่นุ่งอยู่เป็นต้น. พระเจ้ากรุงอุตตรปัญจาละให้ทำอย่างนั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นอักษรในผ้าเป็นต้นแห่งพวกนั้นทั้งหมด ก็เข้าพระทัยแน่ว่าพวกนี้รับสินบน. จึงตรัสถามอนุเกวัฏว่า บัดนี้ เราควรจะทำอย่างไร ท่านอาจารย์. ครั้นอนุเกวัฏทูลตอบว่า กิจอื่นที่ควรทำไม่มี พระเจ้าข้า. ถ้าพระองค์ทรงรีรออยู่ มโหสถจักจับพระองค์. ส่วนอาจารย์เกวัฏก็สาละวนอยู่แต่แผลที่หน้าผากเท่านั้น แต่รับสินบนเหมือนกัน. เพราะแกรับมณีรัตนะแล้ว ยังพระองค์ให้หนีไปสิ้น ๓ โยชน์ ให้ทรงเชื่อถือแล้วให้กลับ. แกนี้แหละยุยงให้กองทัพแตก. ข้าพระองค์ไม่สมัครจะอยู่แม้สักคืนเดียว ควรจะหนีเสียในระหว่างเที่ยงคืนวันนี้. ยกข้าพระองค์เสีย บุคคลอื่นจะเป็นผู้ร่วมพระหฤทัยไม่มี. ครั้นอนุเกวัฏทูลฉะนี้ ก็ตรัสสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านอาจารย์จงผูกม้าที่นั่งแล้วตระเตรียมยาน. อนุเกวัฏรู้ความที่พระเจ้าจุลนีจะหนีโดยทรงวินิจฉัยแน่ จึงทูลให้อุ่นพระหฤทัยว่า อย่ากลัวเลย พระเจ้าข้า. แล้วออกไปข้างนอก สั่งพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ว่า วันนี้พระเจ้าอุตตรปัญญาจาละจะหนี ท่านทั้งหลายอย่าหลับเสีย. สั่งฉะนี้ แล้วผูกม้าที่นั่งมั่นคง อย่างที่รั้งไว้จะให้หยุดมันยิ่งสำคัญว่า วิ่งหนีตะบันไป. แล้วนำมันมาไว้ในระหว่างมัชฌิมยาม แล้วกราบทูลว่า ม้าที่นั่งเตรียมผูกไว้แล้ว พระเจ้าข้า ขอทรงทราบเวลาเสด็จ. พระราชาก็ขึ้นม้าหนีไป. ฝ่ายอนุเกวัฏก็ขึ้นม้าทำเหมือนโดยเสด็จด้วยหน่อยหนึ่งก็กลับ ม้าที่นั่งที่ผูกมั่นคงแม้พระราชารั้งให้หยุด ก็พาพระราชาหนีไปอย่างเดียว.
               ฝ่ายอนุเกวัฏเข้าในหมู่เสนาก็ร้องอึงขึ้นว่า พระราชาจุลนีพรหมทัตเสด็จหนีไปแล้ว พวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ร้องบอกกันกับพวกของตน. ฝ่ายพระราชาร้อยเอ็ดได้สดับเสียงนั้น ก็สำคัญว่า มโหสถเปิดประตูเมืองออกมา. บัดนี้เขาจักไม่ไว้ชีวิตพวกเรา ก็กลัวสะดุ้งตกใจ. ไม่เหลียวแลเครื่องอุปโภคบริโภค พากันหนีไปแต่ที่นั้นๆ. ชนทั้งหลายก็ร้องเอ็ดกันขึ้นว่า แม้พระราชาร้อยเอ็ดก็เสด็จหนีไปแล้ว. กองรักษาอยู่ที่บนประตูหอรบได้ยินเสียงนั้น ก็โห่ร้องตบมือกันขึ้น. ขณะนั้น พระนครมิถิลาทั้งสิ้น ทั้งภายในภายนอกก็บันลือเสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นอันเดียวกัน. เพียงดังแผ่นดินแยกออก เพียงดังท้องทะเลปั่นป่วน ฉะนั้น. พลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีกลัวแต่มรณภัย ด้วยเข้าใจว่า พระเจ้าจุลนีและพระราชาร้อยเอ็ดถูกมโหสถจับไว้ได้แล้ว. ก็ทิ้งแม้ผ้าสาฎกที่พันท้องของตนๆเสียหนีไป สถานที่ตั้งกองทัพว่างเปล่า. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดไปสู่นครของตน. วันรุ่งขึ้น พลนิกายชาวกรุงมิถิลาเปิดประตูเมืองออก มาแต่เช้า เห็นสิ่งของกองอยู่เป็นอันมาก. จึงแจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต พวกเราจักทำอย่างไร. มโหสถกล่าวว่า ทรัพย์ที่พวกข้าศึกทิ้งไว้ ตกเป็นของพวกท่าน. พวกท่านจงถวายสิ่งที่เป็นของพระราชาทั้งปวงแด่พระราชาของเราทั้งหลาย. จงนำสิ่งเป็นของเศรษฐีและเกวัฏมาให้แก่เรา ชาวเมืองจงถือเอาสิ่งที่เหลือจากนี้. เมื่อชนทั้งหลายนำรัตนภัณฑ์มีค่ามากไปอยู่ กินเวลาล่วงไปถึงกึ่งเดือน. ก็แต่ชนทั้งหลายนำของอันเหลือจากนั้นไป กินเวลาถึง ๔ เดือน. พระโพธิสัตว์ให้รางวัลเป็นอันมากแก่พราหมณ์อนุเกวัฏ. ได้ยินว่า จำเดิมแต่นั้นมา ชาวกรุงมิถิลาก็บังเกิดมั่งคั่งมั่งมีเงินแลทอง รัตนะมีค่ามากก็เกิดมีมากหลาย.
               พระเจ้าจุลนีพรหมทัตประทับอยู่ ณ เมืองอุตตรปัญจาละกับพระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ล่วงไปปีหนึ่ง. อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์เกวัฏแลดูหน้าด้วยกระจก ก็เห็นแผลที่หน้าผาก. จึงคิดว่า นี้มโหสถทำไว้ มโหสถทำเราให้อายแก่พระราชาทั้งหลาย มีประมาณเท่านี้. คิดฉะนี้ ก็เกิดโกรธขึ้น. คิดว่า เมื่อไรหนอ เราจักเป็นผู้สามารถเห็นหลังแห่งมโหสถ. ก็นึกได้ว่า อุบายมีอยู่ ลงสันนิษฐานแน่ว่า พระราชธิดาของพระราชาแห่งเรามีพระนามว่า ปัญจาลจันที มีพระรูปโฉมอุดมเปรียบด้วยเทพอัปสร. เราจักให้พระนางนั้นแก่พระเจ้าวิเทหราช โลมเธอด้วยกาม. แล้วนำเธอผู้เป็น ดังปลากลืนเบ็ดกับมโหสถมา ฆ่าเสียทั้งสองคน แล้วดื่มชัยบาน. ตระหนักแน่ฉะนี้แล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบทูลแด่พระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ยังมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ จึงตรัสว่า แน่ะท่านอาจารย์ พวกเราไม่เป็นเจ้าของแม้แห่งผ้าสาฎกที่พันท้อง เพราะอาศัยความคิดของท่าน. บัดนี้ ท่านจักทำอะไรอีก นิ่งเสียทีเถิด. เกวัฏจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า อุบายอื่นเช่นอุบายนี้ไม่มี. พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกล่าวให้ฟัง. พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ถ้าจะทูล ควรอยู่แต่สอง พระเจ้าข้า. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย พราหมณ์จึงเชิญเสด็จพระราชาขึ้นบนปราสาท ให้เสด็จเข้าไปในห้องบรรทม แล้วทูลว่า เราทั้งหลายจักโลมพระเจ้าวิเทหราชด้วยกิเลส แล้วเอาตัวมาฆ่าเสียพร้อมกับมโหสถ. พระราชาตรัสว่า อุบายนี้งาม แต่เราจักเล้าโลมนำเขามาอย่างไร. เกวัฏทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชธิดาของพระองค์ผู้มีพระนามว่า ปัญจาลจันที ทรงรูปโฉมงดงาม. พวกเราจักให้จินตกวีประพันธ์รูปสมบัติอันทรงสิริ และความงามแห่งอิริยาบถสี่ของพระราชธิดานั้น ด้วยประพันธ์เป็นเพลงขับ. แล้วให้ผู้ชำนาญขับร้องกาพย์กลอนเหล่านั้นในกรุงมิถิลา. ให้มีใจความว่า เมื่อจอมนรินทร์ปิ่นวิเทหรัฐไม่ได้ นารีรัตน์เห็นปานนี้ ราชสมบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้. รู้ว่า พระเจ้าวิเทหราชปฏิพัทธ์เกี่ยวเนื่องด้วยการฟัง นั่นแล. ข้าพระองค์จักไปในกรุงมิถิลา กำหนดวันมารับพระราชธิดาอภิเษก. เมื่อข้าพระองค์กำหนดวันกลับมาแล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็จักเป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด พามโหสถมา. ภายหลังเราทั้งหลาย ก็จักฆ่าพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถเสีย. พระเจ้าจุลนีได้สดับคำของเกวัฏ แล้วทรงยินดีรับรองว่า อุบายของท่านงาม เราทั้งหลายจักทำอย่างนั้น.
               ก็นางนกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ในที่บรรทมแห่งพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้ฟังความคิดนั้นแล้วได้ทำให้ประจักษ์ พระเจ้าจุลนีให้เรียกพวกจินตกวีเก่ามา พระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก. แล้วแสดงพระราชธิดาแก่พวกนั้น ตรัสว่า เจ้าทั้งหลายจงประพันธ์กาพย์กลอน อาศัยรูปสมบัติของธิดานี้. พวกจินตกวีเหล่านั้นก็ประพันธ์เพลงขับอย่างจับใจยิ่ง แล้วขับถวายพระราชา. พระราชาก็พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้นอีก. นางฟ้อนรำทั้งหลายเรียนกาพย์กลอน แต่สำนักจินตกวีทั้งหลายแล้ว ไปขับร้องในมณฑลมหรสพ. เพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไป ด้วยประการฉะนี้. เมื่อเพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไปในหมู่ประชาชน พระเจ้าจุลนีตรัสให้เรียกพวกขับร้องทั้งหลายมาตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงจับนกใหญ่ให้มาก ขึ้นสู่ต้นไม้ในราตรี นั่งขับร้องอยู่บนต้นไม้นั้น. ครั้นเวลาใกล้รุ่ง จงผูกกังสดาลที่คอนกเหล่านั้น ปล่อยขึ้นไปแล้ว จึงลงจากต้นไม้. พระเจ้าจุลนีให้ทำดังนั้น เพื่อเหตุให้เป็นของปรากฏว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้อง พรรณนาพระรูปโฉมแห่งพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงปัญจาละ. พระเจ้าจุลนีตรัสเรียกเหล่าจินตกวีนั้นมาอีกตรัสว่า บัดนี้ เจ้าทั้งหลายจงพรรณนาสรรเสริญว่า นางกุมาริกาเห็นปานนี้ หาสมควรแก่พระราชาอื่นในพื้นชมพูทวีปไม่ นางสมควรแก่พระเจ้าวิเทหราชกรุงมิถิลา และอิสริยยศของนางนี้ผู้เดียวควรแก่พระเจ้าวิเทหราช. ดังนี้ ผูกให้เป็นเพลงขับ. จินตกวีเหล่านั้นทำตามรับสั่ง แล้วขับถวายให้ทรงสดับ. พระเจ้าจุลนีก็พระราชทานทรัพย์แก่พวกนั้น แล้วตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปสู่กรุงมิถิลา แล้วขับโดยอุบายนี้แหละในกรุงมิถิลานั้นอีก. จินตกวีเหล่านั้นเมื่อขับเพลงขับเหล่านั้น ไปถึงกรุงมิถิลา โดยลำดับ ก็ขับ ณ โรงมหรสพ.
               มหาชนได้ฟังเพลงขับเหล่านั้น ก็ยังเสียงโห่ร้องเกรียวกราวให้เป็นไป ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้น. พวกนั้นขับบนต้นไม้ในเวลาราตรี ครั้นใกล้รุ่งก็ผูกกังสดาลที่คอนกทั้งหลาย แล้วลงจากต้นไม้. เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้อง พรรณนาพระรูปโฉมของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงปัญจาละ ดังนี้. ได้มีในพระนครทั้งสิ้น เพราะได้ยินเสียงกังสดาลในอากาศ. พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเสียงนั้น จึงให้เรียกพวกนักประพันธ์กาพย์กลอนมา ให้เล่นมหรสพในพระราชนิเวศน์. แล้วทรงดำริว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะประทานพระราชธิดาผู้ทรงรูปโฉมอันอุดมเห็นปานนี้แก่เรา. ทรงดำริฉะนี้ ก็ทรงยินดี ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นักประพันธ์เหล่านั้น. พวกนั้นก็กลับนำความมากราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัต. ลำดับนั้น อาจารย์เกวัฏจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า บัดนี้ ข้าพระบาทจักไปเพื่อกำหนดวัน. พระราชาตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ ท่านควรจะเอาอะไรไปบ้าง. เกวัฏกราบทูลว่า ควรเอาบรรณาการบ้างเล็กน้อยไป พระเจ้าข้า. ก็ทรงอนุญาต. เกวัฏก็ถือเอาเครื่องบรรณาการไปด้วยบริวารใหญ่ ถึงวิเทหรัฐ.
               เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันได้บังเกิดในกรุงมิถิลา เพราะได้ฟังการมาของเกวัฏว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราช จักกระทำสัมพันธไมตรีต่อกัน. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีจักประทานพระธิดาของพระองค์ แด่พระราชาของพวกเรา. ได้ยินว่า พราหมณ์เกวัฏมาเฝ้า เพื่อกำหนดวันเสด็จไปอภิเษก. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น แม้พระมหาสัตว์ก็ได้ฟังเหมือนกัน. ความปริวิตกได้มีแก่พระมหาสัตว์ว่า การที่เกวัฏมาย่อมไม่ชอบใจเรา เราจักรู้เหตุนั้นโดยความเป็นจริง ดังนี้ เพราะได้ยินคำลือนั้น. มโหสถจึงส่งข่าวไปยัง บุรุษที่วางไว้ในสำนักของพระเจ้าจุลนีว่า เจ้าจงรู้ข้อความนี้ตามความเป็นจริงส่งข่าวมาให้รู้. ลำดับนั้น พวกบุรุษที่วางไว้จึงส่งข่าวตอบมาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้ข้อความนี้ โดยความเป็นจริง. พระเจ้าจุลนีกับเกวัฏนั่งปรึกษากันอยู่ในห้องบรรทม. ก็แต่นกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนี รู้ความคิดอันนี้. พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว คิดว่า เราจักไม่ให้เกวัฏเห็นบ้านเมืองที่จัดดีแล้ว จำแนกดีแล้ว อย่างที่ปัจจามิตรไม่มีโอกาส. มโหสถจึงให้ล้อมทางที่มาทั้งสองข้าง และเบื้องบนด้วยเสื่อลำแพน ตั้งแต่ประตูพระนครจนถึงพระราชนิเวศน์ และตั้งแต่พระราชนิเวศน์จนถึงเรือนตน. ให้เขียนภาพโปรยดอกไม้ที่พื้น ให้ตั้งหม้อน้ำมีน้ำเต็ม และให้ปักต้นกล้วยผูกธงไว้. เกวัฏเข้าสู่พระนคร เมื่อไม่เห็นเมืองที่จำแนกดี. แล้วก็คิดว่า พระราชาให้ตกแต่งมรรคาไว้รับเรา. ไม่รู้ว่า เขาทำเพื่อไม่ให้เห็นบ้านเมือง. เกวัฏไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช ถวายเครื่องบรรณาการ ทูลปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทรงทำสักการะ สัมมานะแล้ว. เมื่อจะกราบทูลถึงเหตุการณ์ที่ตนมา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงทำสันถวไมตรี จะประทานรัตนะทั้งหลายแด่พระองค์ แต่นี้ไป ทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก จงมา จงกล่าววาจาอันอ่อนหวาน เป็นวาจาที่น่ายินดี ปัญจาลรัฐและวิเทหรัฐทั้งสองนั้น จงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺถวกาโม เต ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระราชประสงค์จะทรงทำสันถวไมตรีกับด้วยพระองค์. บทว่า รตนานิ ความว่า จะประทานรัตนะทั้งหลาย ตั้งต้นแต่พระราชธิดาซึ่งเป็นอิตถีรัตนะแด่พระองค์. บทว่า อาคจฺฉนฺตุ ความว่า ได้ยินว่า ตั้งแต่นี้ไป ทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก คุมเครื่องบรรณาการแต่อุตตรปัญจาลนคร มาในมิถิลานครนี้ และแต่มิถิลานครนี้ ไปในอุตตรปัญจาลนครนั้น. บทว่า เอกา ภวนฺตุ ความว่า ขอรัฐทั้งสองนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว ดุจน้ำในคงคาไหลร่วมกับน้ำในยมุนา ฉะนั้น.
               ก็แลครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว เกวัฏได้กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระเจ้าใคร่จะส่งมหาอมาตย์อื่นมา ก็ไม่สามารถจะแจ้งข่าว ให้เป็นที่ชอบพระราชหฤทัย. เพราะฉะนั้น จึงส่งข้าพระเจ้ามา โดยพระราชโองการว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงยังพระเจ้าวิเทหราช ให้ทรงทราบดีแล้วพาเสด็จมา ดังนี้. ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ขอพระองค์เสด็จราชดำเนินไป จักได้พระราชธิดามีรูปงามนัก และสันถวไมตรีกับพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย จักดำรงมั่นแด่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเกวัฏ แล้วทรงโสมนัส. ข้องอยู่ด้วยอันได้ทรงฟังว่า จักได้พระราชธิดารูปงามที่สุด. จึงตรัสว่า แน่ะอาจารย์ ได้ยินว่า ความวิวาทในเพราะธรรมยุทธ์ได้มีแก่ท่านและมโหสถ. ท่านจงไปหามโหสถบุตรเรา. ท่านทั้งสองเป็นบัณฑิต จงยังกันและกันให้ขมาโทษ ปรึกษาหารือกัน แล้วจงกลับมา. เกวัฏได้ฟังพระราชดำรัส ก็ไปด้วยคิดว่า เราจักพบมโหสถ. ฝ่ายพระมหาสัตว์รู้ว่า เกวัฏ จะมายังสำนักตนวันนั้น. จึงคิดว่า การที่เราจะเจรจากับเกวัฏผู้มีกรรมอันลามกเป็นธรรมดา จงอย่าได้มีเลย. คิดดังนี้ แล้วจึงดื่มเนยใสหน่อยหนึ่งแต่เช้า. ผู้รักษาเรือนเอาโคมัยสดเป็นอันมาก ละเลงเรือนมโหสถ และเอาน้ำมันทาเสาทั้งหลาย แต่ตั้งเตียงผ้าไว้หนึ่งเตียงสำหรับเป็นที่นอนแห่งมโหสถ นอกจากนี้ให้เก็บเสียสิ้น ไม่ว่าเตียงหรือตั่ง. มโหสถได้ให้สัญญาแก่ชนบริวารว่า เมื่อพราหมณ์ปรารถนาจะพูดกับพวกเจ้า. พวกเจ้าพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะพราหมณ์ ท่านอย่าพึงพูดกับท่านบัณฑิต. เพราะวันนี้ ท่านบัณฑิตดื่มเนยใส. ในเมื่อเราทำอาการจะพูดกับเกวัฏ. พวกเจ้าพึงห้ามเสียว่า ท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านอย่าพูด. มโหสถจัดอย่างนี้แล้วนุ่งผ้าแดง วางคนรักษาไว้ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ชั้น แล้วนอนบนเตียงผ้า. ฝ่ายเกวัฏยืนที่ซุ้มประตูที่ ๑ ของเรือนมโหสถ ถามว่า บัณฑิตอยู่ไหน.
               ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็ห้ามพราหมณ์เกวัฏว่า แน่ะพราหมณ์ ท่านอย่าส่งเสียง ถ้าท่านอยากจะมา จงมานิ่งๆ เพราะวันนี้ ท่านบัณฑิตดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านจักต้องไม่ทำเสียงอื้ออึง. ชนทั้งหลายที่ซุ้มประตูนอกจากนี้ ก็กล่าวห้ามพราหมณ์อย่างนั้น. เกวัฏล่วงซุ้มประตูที่ ๗ ก็ถึงสำนักมโหสถ. มโหสถแสดงอาการจะพูด ลำดับนั้น ชนทั้งหลายกล่าวห้ามว่า ท่านอย่าได้พูด เพราะท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ประโยชน์อะไรด้วยการพูดกับพราหมณ์ร้ายนี้. เกวัฏไปสำนักมโหสถบัณฑิต ไม่ได้นั่ง ไม่ได้แม้ที่ยืนอาศัยอาสนะ ต้องยืนเหยียบโคมัยสดอยู่. ลำดับนั้น คนใช้ของมโหสถคนหนึ่ง แลดูเกวัฏแล้วเลิกตาขึ้น. คนหนึ่งแลดูแล้วยักคิ้ว. คนหนึ่งแลดูแล้วงอศอกเงื้อ. คนบางพวกแสดงวิการ มีวิการมือและเท้าเป็นต้น. เกวัฏเห็นกิริยาของพวกมโหสถ ก็เก้อเขิน กล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าลาไปละ. เมื่อคนอื่นๆ กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ร้ายถ่อย แกอย่าส่งเสียง ถ้าว่าแกขืนส่งเสียง พวกเราจักทำลายกระดูกแกเสีย. ก็เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกใจ กลับไปไม่เหลียวหลัง. ลำดับนั้น คนหนึ่งลุกขึ้นตีหลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ คนหนึ่งประหารหลังด้วยฝ่ามือ คนหนึ่งไสคอผลักไปในระหว่าง. เกวัฏทั้งกลัวทั้งตกใจออกไปสู่พระราชวัง ดุจมฤคพ้นจากปากราชสีห์. พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า วันนี้บุตรของเราได้ฟังประพฤติเหตุนี้ แล้วจักเป็นผู้ยินดี. ธรรมสากัจฉาใหญ่จะพึงมีแก่บัณฑิตทั้งสอง. วันนี้ บัณฑิตทั้งสองจักยังกันและกันให้ขมาโทษ เป็นลาภของเราหนอ. พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเกวัฏ เมื่อจะตรัสถาม อาการสังสนทนากับมโหสถบัณฑิต. จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ดูก่อนอาจารย์เกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสถ เป็นอย่างไรหนอ เชิญกล่าวข้อความนั้นเถิด มโหสถกับท่านต่างงดโทษกันแล้วกระมัง มโหสถยินดีแล้วกระมัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏินิชฺฌตฺโต ความว่า เพื่อระงับการทะเลาะกันที่เป็นไปในสนามธรรมยุทธ์ มโหสถได้งดโทษให้ท่าน และท่านก็ได้งดโทษให้มโหสถแล้วหรือ. บทว่า กจฺจิ ตุฏฺโฐ ความว่า มโหสถได้ฟังประพฤติเหตุที่พระราชาของพวกท่านส่งมา ยินดีแล้วกระมัง.
               ลำดับนั้น เกวัฏทูลว่า พระองค์อย่าทรงถือ มโหสถว่าเป็นบัณฑิตเลย พระเจ้าข้า คนที่ชื่อว่าเป็นอสัตบุรุษยิ่งกว่ามโหสถไม่มี. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระจอมประชากร บุรุษที่ชื่อมโหสถเป็นคนเลว ไม่น่าชื่นชม กระด้าง มิใช่สัตบุรุษ ไม่พูดอะไรสักคำ เหมือนคนใบ้คล้ายคนหนวก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูโป ได้แก่ มิใช่ชาติบัณฑิต. บทว่า น กิญฺจิตฺถํ ความว่า มโหสถไม่กล่าวข้อความอะไรๆ กับเราด้วย. เหตุนั้นแล เราจึงเข้าใจเขาว่าไม่ใช่บัณฑิต. เกวัฏกล่าวโทษของพระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.
               พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเกวัฏแล้ว ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน โปรดให้พระราชทานเสบียงและเรือนพักอยู่แก่เกวัฏและเหล่าบริวารที่มาด้วย ทรงส่งเกวัฏไปด้วยรับสั่งว่า เชิญท่านอาจารย์ไปพักผ่อน ดังนี้แล้ว ทรงดำริว่า มโหสถบุตรของเราเป็นผู้ฉลาดในปฏิสันถาร ได้ยินว่า เขาไม่ได้ทำปฏิสันถารกับเกวัฏเลย ไม่แสดงความยินดี เขาจักเห็นภัยอะไรๆ ในอนาคต ดำริฉะนี้ แล้วก็เริ่มกถาขึ้นเอง ตรัสคาถานี้ว่า
               บทมนต์นี้เห็นได้แสนยากโดยแท้ ข้อความที่ดีอันนระผู้มีความเพียรเห็นแล้ว ความจริง กายของเราก็หวั่นไหว ใครจักละแคว้นของตน ไปสู่เงื้อมมือของคนอื่นเล่า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ความว่า บทมนต์นี้ที่บุตรของเราเห็นแล้ว คนอื่นนอกนี้เห็นได้แสนยากโดยแท้. บทว่า นรวิริเยน ความว่า ข้อความที่ดีอันนระผู้มีความเพียรจักเห็นแล้ว. บทว่า สยํ ความว่า ใครจักละแว่นแคว้นของตน ไปสู่เงื้อมมือของคนอื่นเล่า.
               เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทรงนึกถึงข้อความนั้นว่า บุตรของเราจักเห็น โทษในการมาของพราหมณ์เกวัฏ. ด้วยว่าเกวัฏนี้ เมื่อมาจักมิได้มาเพื่อต้องการสันถวไมตรี แต่แกคงมาเพื่อเล้าโลมเราด้วยกามคุณ แล้วพาไปเมืองของตนเอาตัวไว้. บุตรของเราจักเห็นภัยในอนาคตนั้นแล้ว ทรงนึกอยู่อย่างนี้ ก็ทั้งกลัว ทั้งสะดุ้งประทับนั่งอยู่. บัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า. พระราชาตรัสถามเสนกะว่า การที่เราจะไปอุตตรปัญจาลนครนำพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมา ท่านชอบใจอยู่หรือ. เสนกะกราบทูลว่า พระองค์รับสั่งอะไร พระเจ้าข้า. เพราะว่า ควรที่พระองค์จะนำสิริซึ่งมาถึงอย่าให้หนีไปเสีย. หากพระองค์เสด็จไปกรุงปัญจาละ ก็จักได้รับพระราชธิดามา. กษัตริย์องค์อื่นยกเสียแต่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จัก เป็นผู้เสมอด้วยพระองค์ย่อมไม่มีในพื้นสกลชมพูทวีป. เพราะอะไร เพราะพระองค์ได้พระราชธิดาของพระราชาผู้เป็นใหญ่มาเป็นมเหสี จริงอยู่. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นพระราชาเลิศในพื้นสกลชมพูทวีป ใคร่จะยกพระราชธิดา ผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดมถวายแด่พระองค์ ก็ด้วยทรงเห็นว่า พระราชานอกนี้เป็นคนของเรา พระเจ้าวิเทหราชพระองค์เดียวเสมอเรา. ขอพระองค์ทรงทำตามคำของพระเจ้าจุลนีเถิด แม้พวกข้าพระองค์ก็จักได้ผ้าและเครื่องประดับทั้งหลาย เพราะอาศัยพระองค์. พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คนที่เหลือ อาจารย์เหล่านั้นก็กราบทูลเช่นเดียวกัน. เมื่อพระราชากำลังรับสั่งอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔. พราหมณ์เกวัฏออกจากเรือนพักรับรอง มาถวายบังคมพระราชาด้วยคิดว่า เราจักทูลลาพระราชากลับ. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่อาจรอช้า จักทูลลากลับ. พระราชาทรงทำสักการะแก่เกวัฏแล้ว ทรงส่งเขากลับไป. พระมหาสัตว์รู้ว่าเกวัฏกลับแล้ว จึงอาบน้ำแต่งกายไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระราชาแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงดำริว่า มโหสถบัณฑิตบุตรเราเป็นผู้มีความคิดมาก ถึงฝั่งแห่งมนต์ ย่อมรู้ข้อความทั้งหลายทั้งในอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นนักปราชญ์ จักรู้ว่า ควรหรือไม่ควรที่เราจะไปในกรุงปัญจาละ. พระองค์มิได้ตรัสเรื่องของพระองค์ที่ทรงคิดไว้ก่อน เป็นผู้กำหนัดยินดีเพราะราคะ หลงเพราะโมหะ.
               เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสคาถานี้ว่า
               พวกเราทั้ง ๖ คน เป็นบัณฑิตมีปัญญาสูงสุด ดุจแผ่นดิน มีมติเสมอกันเป็นเอกฉันท์ทีเดียว พ่อมโหสถ แม้เจ้าก็จงทำมติว่า ไปหรือไม่ไป หรืออยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺนํ ความว่า พ่อบัณฑิต พวกเรา ๖ คน คือ พราหมณ์เกวัฏ ๑ เรา ๑ และอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้. บทว่า เอกาว มติ ความว่า มีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกัน ร่วมกันเหมือนน้ำแม่น้ำคงคาไหลร่วมกับน้ำแม่น้ำยมุนา ฉะนั้น. บทว่า เย ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า พวกเราทั้ง ๖ คนเป็นบัณฑิตสูงสุด มีปัญญาสูงสุดดุจแผ่นดินเหล่านั้น ย่อมชอบใจการที่พระเจ้าจุลนีนำพระราชธิดามา. บทว่า ฐานํ ได้แก่ อยู่ในที่นี้เท่านั้น. บทว่า มตึ กโรหิ ความว่า ชื่อว่าความชอบใจของพวกเรา ยังเอาเป็นประมาณไม่ได้. แม้เจ้าก็จงแสดงความคิดว่า การที่พวกเราไปปัญจาลนครเพื่อประโยชน์อาวาหมงคล หรือไม่ไป หรืออยู่ในที่นี้เท่านั้น. เจ้าชอบอย่างไร.

               พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงคิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นผู้ละโมบในกามารมณ์ ถือเอาคำของอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้ด้วยความเป็นอันธพาล ย่อมไม่ทรงทราบโทษที่จะเสด็จไป. เราจักชี้โทษในการเสด็จไป แล้วจักให้กลับพระหฤทัยเสีย คิดฉะนี้ แล้วจึงกล่าว ๔ คาถาว่า
               ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทรงทราบพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลมาก ก็พระราชานั้นปรารถนาเพื่อปลงพระชนมชีพของพระองค์ ดุจนายพรานฆ่ามฤคด้วยมฤคี ฉะนั้น.
               ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่คด ซึ่งปกปิดไว้ด้วยเนื้ออันเป็นเหยื่อ มันย่อมไม่รู้จักความตายของมัน ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากามย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี เหมือนปลาไม่รู้จักความตายของตน ฉะนั้น.
               ถ้าพระองค์เสด็จไปยังปัญจาลนคร จักต้องสละพระองค์ทันที ภัยใหญ่จักถึงพระองค์ ดุจภัยมาถึงมฤค ตัวตามไปถึงทางประตูบ้าน ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราช พระมหาสัตว์เรียกพระเจ้าวิเทหราช. บทว่า มหานุภาโว ได้แก่ มียศใหญ่. บทว่า มหพฺพโล ได้แก่ ประกอบด้วยพลนับได้ ๑๘ อักโขภิณี. บทว่า มารณตฺถํ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความตาย.
               บทว่า โอกจเรน ได้แก่ แม่เนื้อตัวล่อเหยื่อ ก็นายพรานฝึกแม่เนื้อตัวหนึ่ง แล้วเอาเชือกผูกนำไปป่า พักไว้ในที่พวกเนื้อหากิน. แม่เนื้อนั้นต้องการนำเนื้อโง่มาสำนักตน จึงร้องดังยั่วราคะด้วยสัญญาของตน. เนื้อโง่แวดล้อมด้วยฝูงเนื้อนอนที่พุ่มไม้ในป่า ไม่ให้สัญญาในแม่เนื้อที่เหลือ. ได้ฟังเสียงของแม่เนื้อนั้น มีใจผูกพันเพราะเกี่ยวข้อง ด้วยฟังเสียงของแม่เนื้อนั้น ลุกออกไป ชูคอเข้าไปหาแม่เนื้อตัวนั้น. ยืนให้ความสะดวกอย่างมากแก่นายพราน นายพรานใช้หอกคมกริบแทงเนื้อนั้นให้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง. ในเรื่องนั้น พระเจ้าจุลนีเหมือนนายพราน พระราชธิดาของพระองค์เหมือนแม่เนื้อล่าเหยื่อ พราหมณ์เกวัฏเหมือนอาวุธในมือของนายพราน. อธิบายว่า นายพรานต้องการฆ่าเนื้อด้วยเนื้อล่อเหยื่อ ฉันใด. พระเจ้าจุลนีต้องการฆ่าพระเจ้าวิเทหราชด้วยพระราชธิดา ฉันนั้น.
               บทว่า อามคิทฺโธ ความว่า ปลาแม้อยู่ในน้ำลึกร้อยวาต้องการเหยื่อ คือของสดที่เขาปิดที่คดของเบ็ดไว้นั้น. กลืนเบ็ดเข้าไปย่อมไม่รู้ความตายของตน.
               บทว่า ธีตรํ ความว่า พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีนั้น เป็นเช่นกับเหยื่อที่พรานเบ็ด คือพระเจ้าจุลนีทรงวางปิดเบ็ด คือคำพูดของพราหมณ์เกวัฏไว้ เหมือนปลาไม่รู้เหยื่อ คือความตายของมัน.
               บทว่า ปญฺจาลํ ได้แก่ อุตตรปัญจาลนคร. บทว่า อตฺตํ ได้แก่ ตน.
               บทว่า ปนฺถานุปฺปนฺนํ ความว่า ภัยใหญ่จักมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทางที่ประตูบ้าน. เมื่อพวกมนุษย์ถืออาวุธออกจากบ้านเพื่อต้องการเนื้อ พวกที่เห็นนั้นๆ ย่อมฆ่าเนื้อนั้นเสีย ฉันใด. มรณภัยใหญ่จักมาถึง คือจักเข้าถึงพระองค์ แม้เมื่อเสด็จอุตตรปัญจาลนคร ฉันนั้น. พระมหาสัตว์ทูลข่มพระราชาด้วย ๔ คาถา ด้วยประการฉะนี้.
               พระเจ้าวิเทหราชถูกพระมหาสัตว์ข่มอย่างเหลือเกินทีเดียว ก็ทรงพิโรธว่า มโหสถนี้หมิ่นเราดุจทาสของตน ไม่สำคัญว่าเราเป็นพระราชา รู้ราชสาสน์ที่พระอัครราชส่งมาสำนักเราว่า จักประทานพระราชธิดาดังนี้แล้ว. ไม่กล่าวคำประกอบ ด้วยมงคลแม้คำหนึ่งมากล่าวกะเราว่า เป็นเหมือนเนื้อโง่ เป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด และเป็นเหมือนเนื้อเดินตามทางถึงประตูบ้าน จักถึงความตาย.
               ครั้นกริ้วแล้ว ได้ตรัสคาถาเป็นลำดับว่า
               พวกเรานี่แหละเป็นคนเขลา บ้าน้ำลายที่กล่าวถึง เหตุแห่งการได้รัตนะอันสูงสุดในสำนักเจ้า เจ้าเจริญด้วยหางไถ จะรู้จักความเจริญเหมือนคนอื่นเขา ได้อย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลามฺหเส ความว่า เป็นคนเขลา. บทว่า เอลมูคา ได้แก่ พวกเรานี่แหละมีปากเต็มไปด้วยน้ำลาย. บทว่า อุตฺตมตฺถานิ ได้แก่ เหตุให้ได้นางแก้วอันอุดม. บทว่า ตยี ลปิมฺหา ความว่า กล่าวในสำนักของท่าน. บทว่า กิเมว ความว่า เมื่อจะติเตียนเขา จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า นงฺคลโกฏิวฑฺโฒ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงหมายเนื้อความว่า บุตรคฤหบดีย่อมเจริญด้วยถือหางไถนา ตั้งแต่เป็นหนุ่มเท่านั้น. จึงตรัสด้วยพระราชประสงค์นี้เองว่า เจ้าย่อมรู้งานของบุตรคฤหบดีเท่านั้น ย่อมไม่รู้งานที่เป็นมงคลของกษัตริย์ทั้งหลาย.
               บทว่า อญฺเญ ความว่า คนอื่นๆ คืออาจารย์เกวัฏหรืออาจารย์เสนกะเป็นต้น รู้จักความเจริญ คือมงคลของกษัตริย์เหล่านี้ ฉันใด เจ้ารู้จักความเจริญเหล่านั้นฉันนั้นละหรือ การรู้จักกิจการของบุตรคฤหบดี นั่นแหละสมควรแก่เจ้า.

               พระเจ้าวิเทหราชด่าบริภาษมโหสถ แล้วตรัสว่า บุตรคฤหบดีทำอันตรายแห่งมงคลแก่เรา ท่านทั้งหลายจงนำเขาออกไปเสีย แล้วตรัสคาถา เพื่อให้นำมโหสถออกไปว่า
               ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสถนี้ให้หายไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา เพราะเขาพูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา.

               มโหสถรู้ว่าพระราชากริ้ว จึงคิดว่า หากว่าใครอื่นทำตามพระราชดำรัสจับมือหรือคอเรา นั่นไม่ควรแก่เรา เราจะละอายตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น เราจักออกไปเสียเอง คิดฉะนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระราชา ลุกจากที่นั่ง กลับไปสู่เคหสถานแห่งตน. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชรับสั่งดังนั้น ด้วยอำนาจพระพิโรธเท่านั้น หาได้ตรัสสั่งใครๆ ให้ทำดังนั้นไม่ เพราะพระองค์มีพระมนัสเคารพในพระโพธิสัตว์. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นอันธพาลเกินเปรียบ ย่อมไม่ทรงทราบประโยชน์ หรือมิใช่ประโยชน์แด่พระองค์ เป็นผู้ปรารถนาในกาม ทรงทราบแต่ว่า จักได้พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี หาทรงทราบภัยในอนาคตไม่. เมื่อเสด็จไปกรุงปัญจาละก็จักถึงความพินาศใหญ่ หาควรที่เราจะทำพระราชดำรัสไว้ในใจไม่ เพราะพระองค์ทรงมีพระอุปการะแก่เรามาก พระราชทานยศใหญ่แก่เรา ควรที่เราจะเป็นปัจจัยแห่งพระองค์. แล้วดำริต่อไปว่า เราจักส่งสุวโปดกไปก่อน รู้ความจริงแล้วไปเองภายหลัง ดำริฉะนี้ แล้วจึงเรียกสุวโปดกมา แล้วส่งไป ณ กรุงปัญจาละนั้น.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               แต่นั้น มโหสถบัณฑิตได้หลีกไปจาก ราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ที่นั้นได้เรียกนกสุวบัณฑิตชื่อ มาธูระ*(อรรถกถาเป็น มาถูระ) ผู้เป็นทูตมาสั่งว่า แน่ะสหายตัวมีปีกเขียว เจ้าจงมาทำการขวนขวายเพื่อเรา นางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ ณ ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาลราชมีอยู่ ก็นางนกนั้นเป็นนกฉลาดในสิ่งทั้งปวง.
               เจ้าจงถามนางนกนั้นโดยพิสดาร. นางนกนั้นรู้ความลับทุกอย่างของพระเจ้าปัญจาลราช และของพราหมณ์เกวัฏผู้โกสิยโคตรทั้งสองนั้น. นกสุวบัณฑิตชื่อมาธูระ ตัวมีปีกเขียวรับคำมโหสถว่า เออ แล้วได้ไปสู่สำนักนางนกสาลิกา.
               แต่นั้น นกสุวบัณฑิตชื่อมาธูระนั้นครั้นไปถึงแล้ว ได้เรียกนางนกสาลิกาตัวมีกรงงาม พูดเพราะมาถามว่า เธอพออดทนอยู่ในกรงงามดอกหรือ เธอมีความผาสุกในเพศดอกหรือ ข้าวตอกกับน้ำผึ้งเธอได้ในกรงงามของเธอดอกหรือ.
               ดูก่อนสหายสุวบัณฑิต ความสุขมีแก่ฉันและความสบายก็มี อนึ่ง ข้าวตอกกับน้ำผึ้งฉันก็ได้เพียงพอ. ดูก่อนสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือว่าใครใช้ท่านมา ก่อนแต่นี้ ฉันไม่เคยเห็นท่าน หรือได้ยินเลย.

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]