ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร๑-
ว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก
[๔๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้นอย่างนี้ว่า “ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ๒- ของราหุล แก่กล้าแล้ว ทางที่ดี เราพึงแนะนำราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จ เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ทรงเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว เสด็จกลับ จากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระราหุลมา ตรัสว่า “ราหุล เธอจงถือผ้านิสีทนะ(ผ้าสำหรับปูนั่งของสมณะ) เราจักเข้าไปยัง ป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวัน” ท่านพระราหุลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มี พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ สมัยนั้น เทวดาหลายพันองค์ก็ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยคิดว่า “วันนี้ พระผู้มีพระภาค จักทรงแนะนำท่านพระราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป” @เชิงอรรถ : @ ทั้งสูตรดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๒๑/๑๔๓-๑๔๗ @ ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ หมายถึงธรรม ๑๕ ประการ คือ เว้นบุคคล ๕ จำพวก ได้แก่ ผู้ไม่มีศรัทธา @ผู้เกียจคร้าน ผู้หลงลืมสติ ผู้มีจิตไม่มั่นคง และผู้มีปัญญาทราม คบบุคคล ๕ จำพวก ได้แก่ ผู้มีศรัทธา @ผู้ขยัน ผู้มีสติมั่นคง ผู้มีจิตตั้งมั่น และผู้มีปัญญา พิจารณาธรรม ๕ ประการ คือ พระสูตรที่น่าเลื่อมใส @สัมมัปปธานสูตร สติปัฏฐานสูตร ฌานและวิโมกข์ และญาณจริยา @อีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรม ๑๕ ประการ คือ อินทรีย์ ๕ ประการ สัญญาอันเป็นส่วนแห่ง @ธรรมเครื่องตรัสรู้ ๕ ประการ และธรรม ๕ ประการ มีกัลยาณมิตตตาเป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๔๑๖/๒๔๙, @สํ.สฬา.อ. ๓/๑๒๑/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร

ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ป่าอันธวัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปู ลาดไว้แล้วที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ฝ่ายท่านพระราหุลถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราหุลดังนี้ว่า [๔๑๗] “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ท่านพระราหุลกราบทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร

“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ จักขุสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” [๔๑๘] “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ โสตะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร

“ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๕. จูฬราหุโลวาทสูตร

“ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ มโนสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” [๔๑๙] “ราหุล อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม จรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของท่าน พระราหุลก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น และธรรมจักษุ๑- อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่เทวดาหลายพันองค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา” ดังนี้แล
จูฬราหุโลวาทสูตรที่ ๕ จบ
๖. ฉฉักกสูตร
ว่าด้วยธรรม ๖ ประการ ๖ หมวด
[๔๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ และผล ๔ (ม.อุ.อ. ๓/๔๑๙/๒๕๐, สํ.สฬา.อ. ๓/๑๒๑/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๗๐-๔๗๕. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=14&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=10191&Z=10323                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=795              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=795&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6333              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=795&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6333                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i795-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.147.than.html https://suttacentral.net/mn147/en/sujato https://suttacentral.net/mn147/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :