ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
๒. อธิกรณวรรค
หมวดว่าด้วยอธิกรณ์
[๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พละ๑- ๒ ประการนี้ พละ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ปฏิสังขานพละ (กำลังคือการพิจารณา) ๒. ภาวนาพละ (กำลังคือการเจริญ) @เชิงอรรถ : @ พละ ในที่นี้หมายถึงกำลัง เพราะอรรถว่าอันธรรมอื่นให้หวั่นไหวไม่ได้ กล่าวคืออันธรรมอื่นจะครอบงำ @และย่ำยีได้โดยยาก (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๑/๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

ปฏิสังขานพละ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตเป็นผลที่เลว ทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า ผลของวจีทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพ หน้า ผลของมโนทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า” บุคคลนั้นครั้นเห็น ประจักษ์ดังนี้แล้วย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า ปฏิสังขานพละ ภาวนาพละ เป็นอย่างไร คือ ในพละ ๒ ประการนั้น ภาวนาพละเป็นของพระเสขะ บุคคลนั้นอาศัยพละ ของพระเสขะย่อมละราคะ โทสะ และโมหะได้ ครั้นละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เขาย่อมไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ประพฤติกรรมที่เป็นบาป นี้เรียกว่า ภาวนาพละ ภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ ประการนี้แล (๑) [๑๒] พละ ๒ ประการนี้ พละ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ปฏิสังขานพละ ๒. ภาวนาพละ ปฏิสังขานพละ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตเป็นผลที่เลว ทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า ผลของวจีทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพ หน้า ผลของมโนทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า” บุคคลนั้นครั้นเห็น ประจักษ์ดังนี้แล้วย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า ปฏิสังขานพละ ภาวนาพละ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ บำเพ็ญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... บำเพ็ญวีริยสัมโพชฌงค์ ... บำเพ็ญปีติสัมโพชฌงค์ ... บำเพ็ญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... บำเพ็ญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... บำเพ็ญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปใน การสละ นี้เรียกว่า ภาวนาพละ ภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ ประการนี้แล (๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

[๑๓] พละ ๒ ประการนี้ พละ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ปฏิสังขานพละ ๒. ภาวนาพละ ปฏิสังขานพละ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตเป็นผลที่เลว ทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า ผลของวจีทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า ผลของมโนทุจริตเป็นผลที่เลวทรามทั้งในภพนี้และภพหน้า” บุคคลนั้นครั้นเห็น ประจักษ์ดังนี้แล้ว ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า ปฏิสังขานพละ ภาวนาพละ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก๑- อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ อนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมี อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ ทั้งหลายสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า ภาวนาพละ ภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ ประการนี้แล (๓)
พระธรรมเทศนาของพระตถาคต ๒ แบบ
[๑๔] ธรรมเทศนาของตถาคต๒- ๒ แบบนี้ ธรรมเทศนาของตถาคต ๒ แบบ อะไรบ้าง คือ @เชิงอรรถ : @ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๕ อย่าง คือ (๑) ตทังควิเวก (๒) วิกขัมภนวิเวก (๓) สมุจเฉทวิเวก @(๔) ปัสสัทธิวิเวก (๕) นิสสรณวิเวก (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๒/๑๐) @ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์เองแทนคำว่า “เรา” (อุตตมบุรุษ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

๑. ธรรมเทศนาแบบย่อ๑- ๒. ธรรมเทศนาแบบพิสดาร๒- ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคต ๒ แบบนี้แล (๔)
เหตุให้อธิกรณ์ยืดเยื้อและไม่ยืดเยื้อ
[๑๕] ในอธิกรณ์ใด๓- ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ยังมิได้พิจารณา ตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความ รุนแรง๔- เพื่อความร้ายแรง๕- และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก” ส่วนในอธิกรณ์ใด ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ ดังนี้ว่า “จักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายแรง และ ภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก” ภิกษุผู้ต้องอาบัติพิจารณาตนเองให้ดี เป็นอย่างไร คือ ภิกษุผู้ต้องอาบัติในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “เราแลต้องอาบัติที่ เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงได้เห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็น อกุศลทางกายบางอย่าง ถ้าเราไม่พึงต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ภิกษุ @เชิงอรรถ : @ ธรรมเทศนาแบบย่อ หมายถึงการยกหัวข้อขึ้นตั้งแล้วกล่าว ใช้สำหรับบุคคลผู้มีปัญญามาก ผู้เป็น @อุคฆฏิตัญญู ผู้ที่พอยกหัวข้อก็รู้ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๔/๑๒) @ ธรรมเทศนาแบบพิสดาร หมายถึงการยกหัวข้อขึ้นตั้งหรือไม่ยกหัวข้อขึ้นตั้งแล้วกล่าวชี้แจงโดยพิสดาร @ใช้สำหรับบุคคลผู้มีปัญญาน้อย ๓ จำพวก คือ (๑) วิปจิตัญญู ผู้รู้ต่อเมื่อขยายความ (๒) เนยยะ ผู้ที่พอ @แนะนำได้ (๓) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ผู้อับปัญญาสอนให้รู้ได้แค่เพียงตัวบทคือพยัญชนะหรือถ้อย @คำ ไม่อาจเข้าใจอรรถคือความหมาย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๔/๑๒) @ อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยว @กับพระธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การ @ต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวเองให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์ @จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒) @ เพื่อความรุนแรง ในที่นี้หมายถึงเป็นไปเพื่อความมีวาจาหยาบคาย เช่น ด่ากันด้วยคำหยาบว่า ท่าน @เป็นทาส เป็นคนชั่ว เป็นจัณฑาลและเป็นช่างสาน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๓) @ เพื่อความร้ายแรง ในที่นี้หมายถึงเป็นไปเพื่อการทำร้ายกันด้วยก้อนหิน ก้อนดิน และท่อนไม้เป็นต้น @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

นั้นก็ไม่พึงเห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ก็เพราะเราต้องอาบัติ ที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงได้เห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็นอกุศล ทางกายบางอย่าง ครั้นเห็นแล้วจึงไม่พอใจ ภิกษุนั้นเมื่อไม่พอใจ จึงว่ากล่าวเราผู้มี วาจาไม่น่าพอใจ เราผู้มีวาจาไม่น่าพอใจถูกภิกษุนั้นว่ากล่าว จึงไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจ จึงบอกแก่ผู้อื่นว่า “ด้วยเหตุนี้ โทษในอธิกรณ์นั้นจึงครอบงำแต่เฉพาะเราเท่านั้น เหมือนในเรื่องสินค้า โทษย่อมครอบงำเฉพาะบุคคลผู้จำต้องเสียภาษี” ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ต้องอาบัติพิจารณาตนเองให้ดีเป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี เป็นอย่างไร คือ ภิกษุผู้เป็นโจทก์ในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ภิกษุนี้แลต้องอาบัติ ที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง เพราะเหตุนั้น เราจึงได้เห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็น อกุศลทางกายบางอย่าง ถ้าภิกษุนี้ไม่พึงต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง เราก็ไม่พึงเห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ก็เพราะภิกษุนี้ต้อง อาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ฉะนั้น เราจึงได้เห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็น อกุศลทางกายบางอย่าง ครั้นเห็นแล้วจึงไม่พอใจ เราเมื่อไม่พอใจ ได้ว่ากล่าวภิกษุนี้ ผู้มีวาจาไม่น่าพอใจ ภิกษุนี้ผู้มีวาจาไม่น่าพอใจนี้ถูกเราว่ากล่าว จึงไม่พอใจ เมื่อไม่ พอใจจึงบอกแก่ผู้อื่นว่า “ด้วยเหตุนี้ โทษในอธิกรณ์นั้นจึงครอบงำแต่เฉพาะเรา เท่านั้นเหมือนในเรื่องสินค้า โทษย่อมครอบงำเฉพาะบุคคลผู้จำต้องเสียภาษี” ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดีเป็นอย่างนี้แล ในอธิกรณ์ใด ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ยังไม่พิจารณาตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายแรง และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก” ส่วนในอธิกรณ์ใด ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายแรง และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก” (๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

เหตุให้เกิดในทุคติและสุคติ
[๑๖] ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๑- ได้ทูล ถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่สม่ำ เสมอ คือประพฤติไม่ชอบธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก” พราหมณ์ทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติสม่ำ เสมอ คือประพฤติชอบธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน สุคติโลกสวรรค์” พราหมณ์นั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่ง นัก ท่านพระโคดมประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด๒- โดย ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระ ธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” (๖) [๑๗] ครั้งนั้น พราหมณ์ชานุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูล @เชิงอรรถ : @ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสม คือ เว้นโทษ ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้ @เกินไป (๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕) @ ในที่มืด ในที่นี้หมายถึงความมืดมีองค์ ๔ อย่าง คือ (๑) ความมืดในวันแรม ๑๔ ค่ำ (๒) ความมืดใน @เวลาเที่ยงคืน (๓) ความมืดในป่าทึบ (๔) ความมืดในเวลาเมฆปกคลุม (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

ถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะทำและเพราะไม่ทำ” พราหมณ์ชานุสโสณิทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เพราะทำและไม่ทำอย่างนี้” พราหมณ์นั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ย่อมไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตที่ ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อโดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม โปรดแสดงธรรมโดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตที่ท่านพระโคดม ตรัสไว้โดยย่อได้โดยพิสดารเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” พราหมณ์ชานุสโสณิทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส เรื่องนี้ว่า “พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำแต่กายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต ทำแต่ วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต ทำแต่มโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะทำและเพราะไม่ทำ อย่างนี้แล ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำแต่กายสุจริต ไม่ทำกายทุจริต ทำแต่วจีสุจริต ไม่ทำวจีทุจริต ทำแต่มโนสุจริต ไม่ทำมโนทุจริต สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตาย แล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เพราะทำและเพราะไม่ทำอย่างนี้แล” พราหมณ์ชานุสโสณิกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระ โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น อุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” (๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

โทษแห่งทุจริต ๕ อย่าง
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “อานนท์ กายทุจริต วจีทุจริตและมโนทุจริต เรากล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยส่วนเดียว” ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับโทษอะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตที่เรา กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับโทษดังต่อไปนี้ คือ (๑) แม้ตนก็ติเตียนตนเองได้ (๒) ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียนได้ (๓) กิตติศัพท์อันชั่ว ย่อมกระฉ่อนไป (๔) หลงลืมสติตาย (๕) หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตที่เรากล่าวว่าไม่ควร ทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับโทษนี้”
อานิสงส์แห่งสุจริต ๕ อย่าง
อานนท์ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต เรากล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรทำโดย ส่วนเดียว ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าควรทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะ ได้รับอานิสงส์อะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) แม้ ตนก็ติเตียนตนเองไม่ได้ (๒) ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ (๓) กิตติศัพท์อันงาม ย่อมขจรไป (๔) ไม่หลงลืมสติตาย (๕) หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริตที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียว บุคคลนั้นจะได้รับอานิสงส์นี้” (๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๗๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

การละอกุศลและการบำเพ็ญกุศล
[๑๙] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละอกุศล บุคคลสามารถละอกุศลได้ ถ้าบุคคลไม่สามารถละอกุศลนี้ได้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงละอกุศล” ก็เพราะบุคคลสามารถละอกุศลได้ ฉะนั้นเราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงละ อกุศล” ถ้าอกุศลนี้ที่บุคคลละได้แล้วพึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เราไม่พึง กล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงละอกุศล” ก็เพราะอกุศลที่บุคคลละได้แล้วย่อมเป็น ไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ฉะนั้นเราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงละอกุศล” เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศล บุคคลสามารถบำเพ็ญกุศลได้ ถ้าบุคคลไม่สามารถ บำเพ็ญกุศลนี้ได้ เราไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศล” ก็เพราะ บุคคลสามารถบำเพ็ญกุศลได้ ฉะนั้นเราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศล” ถ้ากุศลนี้ที่บุคคลบำเพ็ญแล้วพึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เราไม่พึงกล่าวอย่าง นี้ว่า “เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศล” ก็เพราะกุศลที่บุคคลบำเพ็ญแล้วย่อมเป็นไปเพื่อ เกื้อกูล เพื่อสุข ฉะนั้นเราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศล” (๙)
ธรรมที่ทำให้ศาสนาเสื่อมและเจริญ
[๒๐] ธรรม ๒ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี๑- ๒. อรรถที่สืบทอดขยายความไม่ดี๒- แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดีก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความไม่ดี ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป แห่งสัทธรรม (๑๐) @เชิงอรรถ : @ หมายถึงบทบาลีที่สืบทอดกันผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘) @ หมายถึงอรรถกถาที่สวดสืบทอดกันมาผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๗๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. พาลวรรค

[๒๑] ธรรม ๒ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี ๒. อรรถที่สืบทอดขยายความดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดีก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความดี ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่ เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม (๑๑)
อธิกรณวรรคที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๖๔-๗๓. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=20&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1374&Z=1563                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=257              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=257&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=209              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=257&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=209                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i257-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.018.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.019.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/02/an02-018.html https://suttacentral.net/an2.11-20/en/sujato https://suttacentral.net/an2.11-20/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :