ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๒. สัตตสุริยสูตร
ว่าด้วยดวงอาทิตย์ ๗ ดวง
[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง ภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ ยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พีชคาม ภูตคาม และติณชาติที่ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นข้อ กำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำน้อย หนองน้ำทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๓๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๒. สัตตสุริยสูตร

สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แหล่งน้ำใหญ่ๆ ที่เป็นแดนไหลมารวมกันของแม่ น้ำใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ สระอโนดาด สระสีหปปาตะ สระรถการะ สระกัณณมุณฑะ สระกุณาลา สระฉัททันต์ สระมันทากินี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์ ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐ โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี งวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่ว ต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี เหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ชั่วครึ่ง คนเพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่ เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเม็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ ฉะนั้นเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำใน มหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควัน พวยพุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย นายช่างหม้อเผาหม้อที่เขาปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควัน พวยพุ่งขึ้น ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๓๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๒. สัตตสุริยสูตร

สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ เกิดไฟลุกโชน มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ เปลวไฟถูกลมพัดขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาไหม้ กำลังพินาศ ถูกกองเพลิงใหญ่เผาทั่วตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขา สิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเนยใสหรือ น้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่า ก็ย่อมไม่ปรากฏ ฉันนั้น สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง ในข้อนั้น ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อว่า ‘แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญ พินาศ ไม่เหลืออยู่’ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอัน เห็นแล้ว๑- ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูชื่อสุเนตตะ๒- เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจาก ความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้เกิดร่วมกับเทวดาชั้นพรหมโลก และเมื่อครูสุเนตตะแสดงธรรมเพื่อ ความเป็นผู้เกิดร่วมกับเทวดาชั้นพรหมโลก เหล่าสาวกผู้รู้ชัดคำสอนอย่างดียิ่ง หลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้ชัดคำสอน อย่างดียิ่ง หลังจากตายแล้ว บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นดุสิต บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นจาตุมหาราช บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับขัตติย @เชิงอรรถ :- @ ผู้มีบทอันเห็นแล้ว ในที่นี้หมายถึงพระอริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๖/๑๙๙) @ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๔/๕๒๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๒. สัตตสุริยสูตร

มหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับพราหมณมหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับ คหบดีมหาศาล๑- ครั้งนั้นแล ครูสุเนตตะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การที่เรามีคติในสัมปรายภพ เสมอเหมือนกับเหล่าสาวก ไม่สมควรเลย ทางที่ดี เราควรเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น’ ต่อจากนั้น ครูสุเนตตะได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม ครูสุเนตตะเข้าถึงพรหม โลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญครูสุเนตตะเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น ครูสุเนตตะเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้ครอบงำ ไม่ใช่ถูกใครๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน มีอำนาจ ครูสุเนตตะได้ เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพถึง ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึง ความมั่นคง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง ครูสุเนตตะเคยมี บุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ ครูสุเนตตะนั้น ปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตตะนั้นเป็นผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นาน อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ ธรรม ๔ ประการ๒- อะไรบ้าง คือ ๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล ๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ @เชิงอรรถ : @ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาล @มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๐/๑๙๓) @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒, อภิ.ก. ๓๗/๒๘๑/๑๗๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๓. นคโรปมสูตร

๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา ๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา ได้แล้ว ภวเนตติ๑- สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก” พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า พระโคดมผู้มียศตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง พระศาสดาผู้มีพระจักษุ๒- ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ ปรินิพพาน๓- แล้ว
สัตตสุริยสูตรที่ ๒ จบ
๓. นคโรปมสูตร
ว่าด้วยธรรมเปรียบด้วยเครื่องป้องกันนคร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนคร(เมืองชายแดน)ของพระราชา เป็นนครที่ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกันนคร ๗ ประการ และได้อาหาร ๔ อย่าง ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในกาลนั้น เราจึงเรียกปัจจันต- นครของพระราชานี้ว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอะไรไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ (ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙) @ จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) จักษุ (ตาเนื้อ) (๒) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์) (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) @(๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๖/๑๙๙) @ ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๖๙, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๓๒-๑๓๖. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=63&bgc=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=2162&Z=2259&bgc=1                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=63&bgc=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=63&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4421              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=63&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4421                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i062-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an7.66/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :