ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
ว่าด้วยพญานาคจัมเปยยะ
(พระราชาทรงเห็นนางนาคสุมนาอยู่ในอากาศ จึงตรัสว่า) [๒๔๐] เธอเป็นใครกันหนอ รัศมีช่างงามผ่องใสดุจสายฟ้า อุปมาเหมือนดาวประกายพรึก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเธอว่า เป็นเทพธิดา หญิงคนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์หนอ (นางนาคสุมนาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงตรัสตอบว่า) [๒๔๑] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันมิใช่เทพธิดา มิใช่หญิงคนธรรพ์ มิใช่หญิงมนุษย์ หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญา มาที่นี้เพราะเหตุอย่างหนึ่ง (พระราชาตรัสถามว่า) [๒๔๒] เธอมีจิตกระวนกระวาย อินทรีย์เศร้าหมอง มีหยาดน้ำตาไหลนองหน้า แม่นาง เชิญบอกมาเถิด อะไรของเธอหาย หรือเธอปรารถนาสิ่งใด จึงมาที่นี้ (นางนาคสุมนาตอบว่า) [๒๔๓] ก็ชาวโลกร้องเรียกสัตว์ใดว่า อุรคชาติ ผู้มีเดชยิ่งใหญ่ ขอเดชะ พระองค์ผู้จอมชน ชนทั้งหลายเรียกสัตว์นั้นว่า นาค ชายผู้ต้องการเลี้ยงชีพได้จับนาคนั้นมา นาคนั้นเป็นสามีหม่อมฉัน ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยนาคนั้นจากเครื่องผูกเถิดเพคะ (พระราชาตรัสถามว่า) [๒๔๔] นาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังและความเพียร กลับมาตกอยู่ในเงื้อมมือของคนวณิพกได้อย่างไร แม่นางนาคกัญญา ขอแม่นางจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา เราจะรู้ว่า นาคราชถูกจับมาได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

(นางนาคสุมนาตอบว่า) [๒๔๕] แท้จริง นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังและความเพียร พึงกระทำแม้พระนครให้เป็นเถ้าธุลีได้ แต่เพราะนาคราชเป็นผู้นบนอบพระธรรม ฉะนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ [๒๔๖] ขอเดชะพระมหาราช นาคราชอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถ และปัณณรสีอุโบสถ นอนรักษาอุโบสถอยู่ใกล้หนทางสี่แพร่ง ชายผู้ต้องการเลี้ยงชีพได้จับนาคราชนั้นมา นาคราชนั้นเป็นสามีหม่อมฉัน ขอพระองค์โปรดปล่อยนาคราชนั้น จากเครื่องพันธนาการเถิด เพคะ (และนางอ้อนวอนพระราชานั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า) [๒๔๗] นางนาค ๑๖,๐๐๐ นางสวมใส่กุณฑลแก้วมณี นอนอยู่ในห้องใต้น้ำ นางนาคแม้เหล่านั้นยึดเอานาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง [๒๔๘] ขอพระองค์โปรดปล่อยนาคราชไปโดยธรรม ด้วยความไม่ผลุนผลัน ด้วยบ้านส่วย ๑๐๐ หลัง ทองคำ ๑๐๐ แท่ง และโค ๑๐๐ ตัว ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก (พระราชาตรัสว่า) [๒๔๙] เราจะปล่อยนาคราชไปโดยธรรม ด้วยความไม่ผลุนผลัน ด้วยบ้านส่วย ๑๐๐ หลัง ทองคำ ๑๐๐ แท่ง และโค ๑๐๐ ตัว ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

[๒๕๐] พ่อพราน เราจะให้ทองคำแก่ท่าน ๑๐๐ แท่ง ต่างหูแก้วมณีมีค่ามาก และบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม มีสีอันเป็นสิริคล้ายดอกสามหาว [๒๕๑] ภรรยาที่เหมาะสมกัน ๒ คน และโคอุสภะอีก ๑๐๐ ตัว ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก (นายพรานกราบทูลพระราชาว่า) [๒๕๒] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน แม้จะทรงเว้นการพระราชทาน เพียงพระดำรัสของพระองค์เท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะปล่อยอุรคชาตินั้นจากเครื่องผูก ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก (พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า) [๒๕๓] พญานาคจัมเปยยะหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการแล้ว ได้กราบทูลพระราชานั้นว่า ขอเดชะพระเจ้ากาสี ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอเดชะ พระองค์ผู้ผดุงแคว้นกาสีให้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอประคองอัญชลีต่อพระองค์ ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ของข้าพระองค์ (พระราชาตรัสว่า) [๒๕๔] นาคราช แน่นอนทีเดียวที่เขาพูดกันว่า มนุษย์กับอมนุษย์จะพึงคุ้นเคยกัน เป็นเรื่องคุ้นเคยกันได้ยาก แต่ถ้าท่านขอร้องเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น เราก็จะไปเยี่ยมที่อยู่ของท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

(ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิญญาให้พระราชาทรงเชื่อ จึงกราบทูลว่า) [๒๕๕] ขอเดชะพระมหาราช ถึงลมจะพัดพาเอาภูเขาไปได้ก็ดี ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึงแผดเผาแผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสก็ดี ถึงอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่พึงพูดเท็จแน่นอน [๒๕๖] ขอเดชะพระมหาราช ถึงท้องฟ้าจะพึงถล่มทะลาย น้ำทะเลจะพึงเหือดแห้ง แผ่นดินซึ่งมีนามว่าภูตธาราและวสุนธราจะพึงม้วนเข้า และภูเขาสิเนรุศิลาล้วนจะพึงถอนขึ้นทั้งรากก็ดี ถึงอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่พึงพูดเท็จ (พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัสซ้ำอีกว่า) [๒๕๗] นาคราช แน่นอนทีเดียวที่เขาพูดกันว่า มนุษย์กับอมนุษย์จะพึงคุ้นเคยกัน เป็นเรื่องคุ้นเคยกันได้ยาก แต่ถ้าท่านขอร้องเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น เราก็จะไปเยี่ยมที่อยู่ของท่าน (และตรัสคาถาต่อไปว่า) [๒๕๘] พวกท่านเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่งนัก มีเดชมาก และก็โกรธง่าย ท่านหลุดพ้นจากเครื่องผูกเพราะเรา ควรจะรู้คุณที่เรากระทำแล้ว (พระโพธิสัตว์เมื่อจะทำปฏิญญาอีก จึงกราบทูลว่า) [๒๕๙] ผู้ใดถูกขังติดอยู่ในกระชังใกล้จะตาย ยังไม่รู้จักบุญคุณที่พระองค์ทรงทำแล้วเช่นนั้น ขอผู้นั้นจงหมกไหม้อยู่ในนรกที่โหดร้าย อย่าได้ความสำราญทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์นั้นว่า) [๒๖๐] ขอปฏิญญาของท่านจงเป็นสัตย์จริงเถิด ขอท่านอย่าเป็นผู้มีนิสัยมักโกรธและผูกโกรธ ขอครุฑทั้งหลายจงงดเว้นตระกูลนาคของท่านทั้งมวล เหมือนบุคคลงดเว้นไฟในคิมหันตฤดู (ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ได้ชมเชยพระราชาว่า) [๒๖๑] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พระองค์ทรงอนุเคราะห์ตระกูลนาค เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรสุดที่รักคนเดียว ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับตระกูลนาค จะทำการขวนขวายตอบแทนพระองค์อย่างโอฬาร (พระราชาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปยังภพนาค จึงรับสั่งว่า) [๒๖๒] เจ้าพนักงานทั้งหลายจงเทียมราชรถที่งามวิจิตร จงเทียมม้าอัสดรที่ฝึกดีแล้ว ซึ่งเกิดในแคว้นกัมโพชะ อนึ่ง จงผูกช้างตัวประเสริฐ ซึ่งประดับด้วยสุวรรณวัตถาภรณ์ เราจะไปเยี่ยมนิเวศน์ของนาคราช (พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า) [๒๖๓] เจ้าพนักงานตีกลอง ตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ต่อพระเจ้าอุคคเสน พระราชามีหมู่นารีแวดล้อม เสด็จไปท่ามกลางหมู่นารีงดงามยิ่งนัก (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเรื่องนั้น จึงตรัสว่า) [๒๖๔] พระราชาผู้ผดุงแคว้นกาสีให้เจริญ ได้ทอดพระเนตรภูมิภาคที่วิจิตรด้วยทรายทอง และปราสาททอง ซึ่งปูด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

[๒๖๕] พระราชาพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ ซึ่งประดับตบแต่งไว้แล้ว อันมีรัศมีโอภาสเปล่งปลั่ง ดุจดังแสงอาทิตย์แรกอุทัย และประดุจดังสายฟ้าในกลุ่มเมฆ [๒๖๖] พระเจ้ากาสีพระองค์นั้น เสด็จทอดพระเนตรจนทั่วพระนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ ที่ดารดาษด้วยพฤกษชาตินานาพันธุ์ ซึ่งอบอวลด้วยกลิ่นหอมนานาประการ [๒๖๗] เมื่อพระเจ้ากาสีเสด็จไปยังนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ เหล่าทิพย์ดนตรีก็บรรเลง ทั้งเหล่านางนาคกัญญาก็ฟ้อนรำ [๒๖๘] พระเจ้ากาสีเสด็จขึ้นสู่นาคนิเวศน์ ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัย ประทับนั่งบนภัทรบิฐทองคำ มีพนักอิงฉาบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์หอมซึ่งเป็นทิพย์ [๒๖๙] พระองค์เสวยและทรงรื่นรมย์อยู่ในนาคพิภพนั้นแล้ว ได้ตรัสกับพญานาคจัมเปยยะว่า ท่านมีวิมานอันประเสริฐเหล่านี้ ซึ่งรัศมีเปล่งปลั่งดังรัศมีดวงอาทิตย์ วิมานเช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไรอีก ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ [๒๗๐] นางนาคกัญญาเหล่านั้นสวมสังวาลทองคำ ใส่เสื้อผ้าสวยงาม มีองคุลีกลมกลึง มีฝ่ามือฝ่าเท้าแดง ผิวพรรณไม่ทรามเลย คอยประคองให้ท่านดื่มน้ำทิพย์ ความงามเช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ [๒๗๑] อนึ่ง ในพิภพของท่าน แม่น้ำเหล่านี้ ดาษดื่นด้วยฝูงปลามีเกล็ดหนานานาชนิด มีนกเงือกเปล่งสำเนียงเสียงร้องอยู่ระงมไพร มีท่าน้ำที่สวยงาม นทีทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไรอีก ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

[๒๗๒] ฝูงนกกระเรียน นกยูง หงส์ และนกดุเหว่าทิพย์ ต่างพากันเปล่งสำเนียงประสานเสียงอย่างไพเราะ โผผินไปมา ปักษีทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ [๒๗๓] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ผลิดอกออกผลบานสะพรั่ง รุกขชาติอันเป็นทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ [๒๗๔] อนึ่ง รอบๆ สระโบกขรณีของท่าน ทิพยสุคนธ์เหล่านี้หอมฟุ้งตลบอบอวล ไม่ขาดสาย ทิพยสุคนธ์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่ (นาคราชกราบทูลว่า) [๒๗๕] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะ เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่ แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้าปรารถนากำเนิดแห่งมนุษย์ เพราะเหตุนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะอยู่ (พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ว่า) [๒๗๖] ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีเปล่งปลั่ง ประดับตบแต่งอย่างสวยงาม ตัดผมโกนหนวดเรียบร้อย ชโลมลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง เปล่งรัศมีไปทั่วทิศ ดุจราชาแห่งคนธรรพ์ [๒๗๗] ท่านถึงพร้อมด้วยเทพฤทธิ์ มีอานุภาพยิ่งใหญ่ เพียบพร้อมด้วยกามทั้งสิ้น นาคราช เราขอถามเนื้อความนั้นกับท่าน มนุษยโลกมีอะไรประเสริฐกว่านาคพิภพนี้หรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)

เพียบพร้อมด้วยกามทั้งสิ้น นาคราช เราขอถามเนื้อความนั้นกับท่าน มนุษยโลกมีอะไรประเสริฐกว่านาคพิภพนี้หรือ (นาคราชกราบทูลว่า) [๒๗๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน นอกจากมนุษยโลกแล้ว ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมย่อมไม่มี ข้าพระพุทธเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว จะทำที่สุดแห่งการเกิดและการตาย (พระราชาตรัสว่า) [๒๗๙] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้ ข้าพเจ้าเห็นนางนาคกัญญาและตัวท่านแล้ว จะทำบุญให้มาก นะนาคราช (นาคราชกราบทูลว่า) [๒๘๐] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้ ขอเดชะพระมหาราช พระองค์เห็นนางนาคกัญญา และข้าพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดทรงทำบุญให้มากเถิด (พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงทรัพย์จึงกราบทูลว่า) [๒๘๑] ก็เงินทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มีอยู่เพียงพอ กองทองคำสูงประมาณชั่วลำตาล พระองค์โปรดให้ขนไปจากที่นี่แล้วจงให้สร้างพระตำหนักทองคำ และสร้างกำแพงเงินเถิด [๒๘๒] อนึ่ง แก้วมุกดาประมาณ ๕,๐๐๐ เล่มเกวียน ที่ปนกับแก้วไพฑูรย์ พระองค์โปรดให้ขนไปจากที่นี่แล้วจงลาดลงบนภาคพื้นภายในบุรี เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาคพื้นจักไม่เป็นโคลนตม และจะไม่มีฝุ่นละออง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)

[๒๘๓] ขอเดชะพระมหาราชผู้ประเสริฐ ทรงมีพระปรีชาอันล้ำเลิศ ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ ครอบครองกรุงพาราณสีซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศดุจทิพยวิมานเห็นปานนี้เถิด
จัมเปยยชาดกที่ ๑๐ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๑๒-๕๒๐. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=27&siri=506              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=8706&Z=8841                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2180              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2180&items=28              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=2270              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2180&items=28              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=2270                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja506/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :