ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปริวาร
๒. อคติอคันตัพพะ
ว่าด้วยภิกษุไม่พึงลำเอียง
ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
[๓๗๙] คำว่า ไม่พึงลำเอียงเพราะชอบ นั้น คือ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชอบ อย่างไรจึงชื่อว่าลำเอียงเพราะชอบ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ คิดว่า ท่านผู้นี้เป็น อุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ เป็นผู้ร่วมอาจารย์ เป็นผู้เคยเห็นกันมา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมา หรือเป็นญาติ สาโลหิตของเรา ดังนี้แล้ว เพื่ออนุเคราะห์ผู้นั้น เพื่อตามอารักขาท่านผู้นั้นจึง ๑. แสดงอธรรมว่า เป็นธรรม ๒. แสดงธรรมว่า เป็นอธรรม ๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า เป็นวินัย ๔. แสดงวินัยว่า เป็นสิ่งที่มิใช่วินัย ๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ว่า พระตถาคตได้ ภาษิตไว้ ได้ตรัสไว้ ๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้ตรัสไว้ว่า พระตถาคตมิได้ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ๗. แสดงจริยาวัตรที่พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมาว่า พระตถาคตได้ ทรงประพฤติมา ๘. แสดงจริยาวัตรที่พระตถาคตได้ทรงประพฤติมาว่า พระตถาคตไม่ได้ ทรงประพฤติมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๕๗}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [มหาสงคราม]

๒. อคติอคันตัพพะ

๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า พระตถาคตได้ทรงบัญญัติ ๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตได้ทรงบัญญัติไว้ว่า พระตถาคตไม่ได้ทรง บัญญัติไว้ ๑๑. แสดงอนาบัติว่า เป็นอาบัติ ๑๒. แสดงอาบัติว่า เป็นอนาบัติ ๑๓. แสดงอาบัติเบาว่า เป็นอาบัติหนัก ๑๔. แสดงอาบัติหนักว่า เป็นอาบัติเบา ๑๕. แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ ๑๖. แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติที่มีส่วนเหลือ ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติชั่วหยาบ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชอบด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชนหมู่มาก เพื่อ ความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะ ชอบด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้เป็นผู้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบ ด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงตำหนิ และย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ภิกษุผู้ ลำเอียงเพราะชอบ ย่อมลำเอียงเพราะชอบอย่างนี้
ว่าด้วยไม่ลำเอียงเพราะชัง๑-
[๓๘๐] คำว่า ไม่พึงลำเอียงเพราะชัง นั้น คือ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชัง อย่างไรจึงชื่อว่าลำเอียงเพราะชัง ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ผูกอาฆาตว่า ๑. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๒. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๓. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา @เชิงอรรถ : @ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๔๐/๓๕๒, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๙/๔๙๑, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๙/๑๗๗-๑๗๘, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๖๗/๖๑๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๕๘}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [มหาสงคราม]

๒. อคติอคันตัพพะ

๔. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ๕. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ๖. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ๗. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ๘. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ๙. ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ภิกษุอาฆาต ปองร้าย ขุ่นเคือง ถูกความโกรธครอบงำด้วยวัตถุอาฆาต ๙ อย่างนี้ ย่อมแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าต้องอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าต้องอาบัติชั่วหยาบ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชังด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชน หมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชนหมู่มาก เพื่อความ ไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชังด้วย วัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้เป็นผู้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงตำหนิ และย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะชัง ย่อมลำเอียงเพราะชังอย่างนี้
ไม่ลำเอียงเพราะหลง
[๓๘๑] คำว่า ไม่พึงลำเอียงเพราะหลง นั้น คือ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะหลง อย่างไรจึงชื่อว่าลำเอียงเพราะหลง ภิกษุเป็นผู้กำหนัดย่อมลำเอียงด้วยอำนาจความ กำหนัด เป็นผู้ขุ่นเคืองย่อมลำเอียงด้วยอำนาจความขุ่นเคือง เป็นผู้หลงย่อมลำเอียง ด้วยอำนาจความหลง เป็นผู้ถูกทิฏฐิลูบคลำย่อมลำเอียงด้วยอำนาจทิฏฐิ ภิกษุเป็นผู้ หลงงมงาย อันความหลงครอบงำ ย่อมแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็น อธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ภิกษุผู้ลำเอียง เพราะหลงด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๕๙}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [มหาสงคราม]

๒. อคติอคันตัพพะ

เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชน หมู่มาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะหลงด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้เป็นผู้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงตำหนิ และย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญ เป็นอันมาก ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะหลง ย่อมลำเอียงเพราะหลงอย่างนี้
ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
[๓๘๒] คำว่า ไม่พึงลำเอียงเพราะกลัว นั้น คือ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะกลัว อย่างไรจึงชื่อว่าลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ คิดว่า ผู้นี้อาศัยความ ประพฤติไม่เรียบร้อย อาศัยความยึดถือ อาศัยพรรคพวกมีกำลัง เป็นผู้ร้ายกาจ หยาบคาย จักทำอันตรายแก่ชีวิต หรืออันตรายแก่พรหมจรรย์ ดังนี้ จึงกลัวภัยจาก ผู้นั้น ย่อมแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ฯลฯ แสดงอาบัติชั่ว หยาบว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะกลัวด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชน หมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชนหมู่มาก เพื่อความ ไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะกลัวด้วย วัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้เป็นผู้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงตำหนิและย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ภิกษุผู้ลำเอียงเพราะกลัว ย่อมลำเอียงเพราะกลัวอย่างนี้
นิคมคาถา
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างแรม ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๖๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๕๕๗-๕๖๐. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=8&siri=100              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=9836&Z=9894                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1098              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=8&item=1098&items=5              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=8&item=1098&items=5                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr15/en/brahmali#pli-tv-pvr15:12.0 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr15/en/horner-brahmali#Prv.15.1.4



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :