ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท
เรื่องพระสุทินน์
[๑๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ณ สถานที่ไม่ห่างจากพระนครเวสาลี มีบ้านตำบลหนึ่ง ชื่อ กลันทะ ในบ้านนั้นมีบุตรชาวบ้านกลันทะผู้หนึ่ง ชื่อ สุทินน์ เป็นเศรษฐีบุตร ครั้งนั้น สุทินน์ กลันทบุตรได้เดินธุระบางอย่างในพระนครเวสาลีกับสหายหลายคน ขณะนั้นแล พระผู้มีพระภาค อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้วประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุทินน์ กลันทบุตรได้แลเห็นพระผู้มี พระภาค อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เพราะได้เห็น ความตรึกนี้ ได้มี แก่เขาว่า ไฉนหนอเราจะพึงได้ฟังธรรมบ้าง แล้วเขาก็เดินผ่านเข้าไปทางบริษัทนั้น ครั้นถึงแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ความรำพึงนี้ได้มีแก่เขาผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งฉะนี้ว่า ด้วยวิธี อย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะ ประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำ ไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ครั้นบริษัทนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วย ธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากบริษัท ลุกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้เดินเข้าไปใกล้ที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. สุทินน์กลันทบุตรนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไรๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยัง ครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสุทินน์ ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตแล้วหรือ? สุทินน์กลันทบุตรกราบทูลว่า ยังไม่ได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรสุทินน์ พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต. สุ. ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำโดยวิธีที่มารดาบิดาจักอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า.
ขออนุญาตออกบวช
[๑๑] หลังจากนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรเสร็จการเดินธุระที่ในพระนครเวสาลีนั้นแล้ว กลับสู่กลันทคามเข้าหามารดาบิดา แล้วได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วยวิธี อย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะ ประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำ ไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด. เมื่อสุทินน์กลันทบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาบิดาของเขาได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยง นางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนเราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า. แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วย วิธีอย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด. แม้ครั้งที่สอง มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร คนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงม มาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า. แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วย วิธีอย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด. แม้ครั้งที่สาม มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร คนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบ ประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า. ทันใดนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรแน่ใจว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต จึงนอนลงบนพื้นอันปราศจากเครื่องลาด ณ สถานที่นั้นเอง ด้วยตัดสินใจว่า การ ตายหรือการบวชจักมีแก่เราในสถานที่นี้แหละ และแล้วเขาไม่บริโภคอาหารแม้หนึ่งมื้อ ไม่บริโภค อาหารแม้สองมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้สามมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้สี่มื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้ห้ามื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้หกมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้เจ็ดมื้อ.
มารดาบิดาไม่อนุญาต
[๑๒] จะอย่างไรก็ตาม มารดาบิดาของเขาได้กล่าวคำนี้ว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็น บุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนม ประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะ จาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้น เถิด ลูกสุทินน์ จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญ อยู่เถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้แล้ว สุทินน์กลันทบุตรได้นิ่ง. แม้ครั้งที่สอง มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร คนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงม มาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้นเถิดลูกสุทินน์ จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด เราไม่อนุญาต ให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง. แม้ครั้งที่สาม มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร คนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบ ประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้นเถิด ลูกสุทินน์ จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่มรื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง.
พวกสหายช่วยเจรจา
[๑๓] ยิ่งกว่านั้น พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร ก็ได้เข้าไปหาสุทินน์กลันทบุตร ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า สุทินน์เพื่อนรัก เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่ พอใจของมารดาบิดา บิดาเป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วย ความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตายมารดาบิดาก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน ท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์ เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. เมื่อขอกล่าวอย่างนี้แล้ว สุทินน์กลันทบุตรได้นิ่ง. แม้ครั้งที่สอง พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า สุทินน์เพื่อนรัก เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของมารดาบิดา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตาย มารดาบิดา ก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต. แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง. แม้ครั้งที่สาม พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร ก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า สุทินน์เพื่อนรัก เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของมารดาบิดา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตาย มารดาบิดาก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จง สมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต. แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง. เมื่อไม่สำเร็จ พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร จึงเข้าไปหามารดาบิดาของสุทินน์ กลันทบุตร ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่มารดาบิดา สุทินน์นั่นนอนลงบนพื้นอันปราศจาก เครื่องลาด ด้วยตัดสินใจว่าการตายหรือการบวชจักมีแก่เรา ณ ที่นี้แหละ ถ้ามารดาบิดาไม่ อนุญาตให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ความตายจักมาถึง ณ ที่นั้นเอง ถ้าอนุญาต ให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตก็จักได้เห็นเขาแม้ผู้บวชแล้ว ถ้าสุทินน์จักไม่ยินดีใน การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาจักมีทางดำเนินอื่นอะไรเล่า เขาจักกลับมา ณ ที่นี้แหละ ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด. อนุญาตจ้ะ ให้ลูกสุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มารดาบิดากล่าวยินยอม.
สุทินน์กลันทบุตรออกบวช
[๑๔] ทันใดนั้น พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร เข้าไปหาสุทินน์กลันทบุตร แล้ว ได้บอกเขาว่า ลุกขึ้นเถิด สุทินน์เพื่อนรัก มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตแล้ว พอสุทินน์กลันทบุตรได้ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตให้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตแล้ว ก็ร่าเริงดีใจ ลุกขึ้นลูบเนื้อลูบตัวด้วยฝ่ามือ ครั้นเยียวยากำลังอยู่สองสามวันแล้ว จึงเข้าไปสู่พุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เขานั่งเฝ้าอยู่ อย่างนั้นแล ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าอันมารดาบิดาอนุญาตให้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิดพระ- *พุทธเจ้าข้า. สุทินน์กลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนักดังนี้ ก็แลเห็นท่านพระสุทินน์ อุปสมบทแล้วไม่นาน ประพฤติสมาทานธุดงคคุณเห็นปานนี้ คือ เป็นผู้ถืออรัญญิกธุดงค์ ปิณฑปาติกธุดงค์ ปังสุกูลิกธุดงค์ สปทานจาริกธุดงค์ พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง.
พระสุทินน์เยี่ยมสกุล
[๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มี กระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือ บาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น ท่านพระสุทินน์ได้มีความคิดเห็นว่า เวลานี้วัชชีชนบทอัตคัด อาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุ- *สงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ก็แลญาติของเราในพระนคร เวสาลีมีมาก ล้วนเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ ทั้งเราก็จักไม่ลำบากด้วย บิณฑบาต ดังนั้น ท่านพระสุทินน์จึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีแล้ว ทราบว่า เธอพำนักอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น. บรรดาญาติของท่านพระสุทินน์ ได้ทราบข่าวว่า พระสุทินน์กลันทบุตรกลับมาสู่พระนคร เวสาลีแล้ว จึงนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อไปถวายท่านพระสุทินน์ๆ สละภัตตาหารประมาณ ๖๐ หม้อนั้นถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วเช้าวันนั้นครองอันตรวาสกถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังกลันทคาม เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในกลันทคาม ใกล้จะถึงเรือนบิดาของตน ก็พอดีทาสีของญาติท่านพระสุทินน์ กำลังมีความมุ่งหมายจะเทขนมสดที่ค้างคืน จึงท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะนางว่า น้องหญิง ถ้าของนั้นมีอันจะต้องทิ้งเป็นธรรมดา ขอท่านจงเกลี่ยลงใน บาตรของเรานี้เถิด ขณะที่นางกำลังเกลี่ยขนมสดที่ค้างคืนนั้นลงในบาตร นางจำเค้ามือ เท้าและ เสียงของพระสุทินน์ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านพระสุทินน์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะ มารดาของท่านว่า คุณนายเจ้าขา โปรดทราบ พระสุทินน์บุตรคุณนายกลับมาแล้วเจ้าค่ะ. แม่ทาสี ถ้าเจ้าพูดจริง เราจะปลดเจ้ามิให้เป็นทาสี มารดาท่านพระสุทินน์กล่าว. ขณะที่ท่านพระสุทินน์กำลังอาศัยพะไลเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมสดที่ค้างคืนนั้น พอดีบิดา ของท่านพระสุทินน์เดินกลับมาจากที่ทำงาน ได้แลเห็นท่านพระสุทินน์กำลังอาศัยพะไลเรือน แห่งหนึ่งฉันขนมสดที่ค้างคืนนั้นอยู่ จึงเดินเข้าไปหาท่านพระสุทินน์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านว่า มีอยู่หรือ พ่อสุทินน์ นี่พ่อจักฉันขนมสดที่ค้างคืน พ่อสุทินน์ พ่อควรไปเรือน ของตนมิใช่หรือ. คุณโยม รูปได้ไปสู่เรือนของคุณโยมแล้ว ขนมสดที่ค้างคืนนี้ รูปได้มาแต่เรือนของ คุณโยม พระสุทินน์ตอบ. ทันใดนั้น บิดาของท่านพระสุทินน์จับแขนท่าน แล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านว่า มาเถิด พ่อสุทินน์ เราจักไปเรือนกัน. ลำดับนั้น ท่านพระสุทินน์ได้เดินตามเข้าไปสู่เรือนบิดาของตน ครั้นถึงแล้วนั่งบน อาสนะที่เขาจัดถวาย จึงบิดาของท่านได้กล่าวคำนี้กะท่านว่า จงฉันเถิดพ่อสุทินน์. อย่าเลยคุณโยม ภัตกิจในวันนี้ รูปทำเสร็จแล้ว พระสุทินน์กล่าวตอบ. บิดาอาราธนาว่า พ่อสุทินน์ ขอพ่อจงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด. ท่านพระสุทินน์รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ และแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
บิดาวิงวอนให้สึก
[๑๖] ครั้งนั้นแล มารดาของท่านพระสุทินน์สั่งให้ไล้ทาพื้นแผ่นดินด้วยโคมัยสด ให้ จัดทำกองทรัพย์ไว้สองกอง คือเงินกอง ๑ ทองกอง ๑ เป็นกองใหญ่ กระทั่งบุรุษยืนอยู่ข้างนี้ ไม่แลเห็นบุรุษยืนอยู่ข้างโน้น บุรุษยืนอยู่ข้างโน้นก็ไม่แลเห็นบุรุษยืนอยู่ข้างนี้ ให้ปิดกองทรัพย์ เหล่านั้นด้วยลำแพน ให้จัดอาสนะไว้ในท่ามกลาง ให้แวดวงด้วยม่าน เสร็จโดยล่วงราตรีนั้น แล้วเรียกปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์มาสั่งว่า ลูกหญิง เพราะลูกสุทินน์จะมา เจ้าจง แต่งกายด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ. อย่างนั้นเจ้าข้า นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์. ณ เวลาเช้าวันนั้นแล ท่านพระสุทินน์ครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่เรือน บิดาของตน แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย. ลำดับนั้นแล บิดาของท่านพระสุทินน์เข้าไปหาท่านพระสุทินน์ ครั้นแล้วให้คนเปิด กองทรัพย์เหล่านั้นออก ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วนของปู่ต่างหาก พ่อ สุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สอง บิดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วน ของปู่ต่างหาก พ่อสุทินน์ พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สาม บิดาของพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้ ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วน ของปู่ต่างหาก พ่อสุทินน์ พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติ และบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. ท่านพระสุทินน์ตอบว่า คุณโยม รูปขอพูดกะคุณโยมบ้าง ถ้าคุณโยมไม่ตัดรอน. บ. พูดเถิด พ่อสุทินน์. สุ. คุณโยม ถ้าเช่นนั้น คุณโยมจงสั่งให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทอง ให้เต็มบรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมี ทรัพย์นั้นเป็นเหตุ ที่จักเกิดแก่คุณโยมนั้น จักไม่มีแก่คุณโยมเลย. เมื่อท่านพระสุทินน์กล่าวอย่างนี้แล้ว บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจว่า ไฉนลูกสุทินน์ จึงได้พูดอย่างนี้ และแล้วได้เรียกปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์มาบอกว่า ลูกหญิง เพราะเจ้า เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง. ทันใดนั้น นางได้จับเท้าท่านพระสุทินน์ถามว่า ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสร ผู้เป็นเหตุให้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้น ชื่อเช่นไร? น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย พระสุทินน์ ตอบ. บัดดล นางน้อยใจว่า สุทินน์ลูกนาย เรียกเราด้วยถ้อยคำว่า น้องหญิง ในวันนี้ เป็นครั้งแรก แล้วสลบล้มลงในที่นั้นเอง. ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะบิดาว่า คุณโยม ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มีอยู่ ก็จงให้เถิด อย่ารบกวนรูปเลย. ฉันเถิด พ่อสุทินน์ มารดาบิดาของท่านพระสุทินน์กล่าวดังนี้แล้ว ได้อังคาสท่าน พระสุทินน์ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตร และแล้วมารดาของ ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ผู้ฉันเสร็จ ลดมือจากบาตรแล้วว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและมีเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดังนั้น พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสีย. สุ. คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้. ม. พ่อสุทินน์ ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน? ที่ป่ามหาวันจ้ะ ท่านพระสุทินน์ตอบ และแล้วได้ลุกจากอาสนะหลีกไป.
เสพเมถุนธรรม
[๑๗] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินน์สั่งกำชับปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์ ว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้นเมื่อใดเจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่แม่. นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้ เกิดขึ้นแก่นาง นางจึงได้แจ้งแก่มารดาของท่านพระสุทินน์ว่า ดิฉันมีระดู เจ้าค่ะ ต่อมโลหิตเกิดขึ้น แก่ดิฉันแล้ว. มารดาของท่านพระสุทินน์กล่าวว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้น เจ้าจงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ. จ้ะ คุณแม่ นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว จึงมารดาพานางเข้าไปหาท่าน พระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน แล้วรำพันว่าพ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทอง และเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมา เป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็น คฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น ทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด. คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ. แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น ทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดั่งนั้นพ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติ ของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสียเลย. คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้ ท่านพระสุทินน์ตอบแล้วจูงแขนปุราณทุติยิกาพาเข้าป่า มหาวัน เป็นผู้มีความเห็นว่าไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ จึงเสพเมถุนธรรมกับ ปุราณทุติยิกา ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะอัฌาจารนั้น.
เทพเจ้ากระจายเสียง
[๑๘] เหล่าภุมเทพกระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียดไม่มีโทษ พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เทพชั้นจาตุมหาราช ได้สดับเสียง เหล่าภุมเทพแล้วกระจายเสียงต่อไป เทพชั้นดาวดึงส์ เทพชั้นยามา เทพชั้นดุสิต เทพชั้น นิมมานรดี เทพชั้นปรนิมมิตวสวดี เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกัน ต่อๆ ไปว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินน์กลันทบุตรก่อ เสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว โดยทันใดนั้น ครู่หนึ่งนั้น เสียงได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วยอาการอย่างนี้แล. สมัยต่อมา ปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์ อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น คลอดบุตร แล้ว จึงพวกสหายของท่านพระสุทินน์ได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่อปุราณทุติยิกาของท่าน พระสุทินน์ว่า พีชกมาตา ตั้งชื่อท่านพระสุทินน์ว่า พีชกปิตา ภายหลังเขาทั้งสองได้ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว.
พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร
[๑๙] ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภ ของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชใน พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้ บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้นแหละ เพราะความเดือดร้อนนั้นแหละ ท่านได้ ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาแล้ว. จึงบรรดาภิกษุที่เป็นสหายของท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า อาวุโส สุทินน์ เมื่อก่อนคุณเป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์สมบูรณ์ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง มีน้ำมีนวล บัดนี้ ดูคุณซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่ง ด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาอยู่ คุณจะไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์กระมังหนอ? อาวุโสทั้งหลาย ความจริง มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระสุทินน์ค้าน แล้วแถลงความจริงว่า เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกา ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่ว แล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ดังนี้. อาวุโส สุทินน์ จริง การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะรำคาญ พอที่คุณจะเดือดร้อน. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่ เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลาย ความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อ ความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่ง อาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อ ความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ? อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การ เพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ? อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อ ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใส แล้ว. ภิกษุสหายเหล่านั้น ติเตียนท่านพระสุทินน์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ได้กราบทูลเนื้อ ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
[๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า ดูกรสุทินน์ ข่าวว่าเธอ เสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ? ท่านพระสุทินน์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า. ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่ เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี ความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิด เพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ ไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น. ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อ เป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับ แห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดย อเนกปริยาย มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ องค์กำเนิด อันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่า อันองค์ กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่า ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอ สอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย. ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือ ความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้า แต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิด เข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ. ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้น มีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็น เรื่องของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของ คนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็น อันมาก การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อ ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระสุทินน์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
พระปฐมบัญญัติ
๑. ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
สุทินนภาณวาร จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๓๑๖-๖๗๐ หน้าที่ ๑๔-๒๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=316&Z=670&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=1&siri=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [10-20] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=1&item=10&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=4913              The Pali Tipitaka in Roman :- [10-20] https://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=1&item=10&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=4913              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pj1/en/brahmali#pli-tv-bu-vb-pj1:5.0.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :