บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๘. สัลเลขสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส [๑๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่พักผ่อน แล้วเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะนั่งเรียบร้อย แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิฏฐิเหล่านี้มีประการต่างๆ ประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก เมื่อภิกษุมนสิการธรรมเบื้องต้นเท่านั้นหรือ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมจะ มีได้ด้วยอุบายอย่างนี้หรือ พระเจ้าข้า [๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ทิฏฐิเหล่านี้มีหลายประการ ประกอบด้วย การกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก ก็ทิฏฐิ เหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ใด และท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์ใด เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นอารมณ์นั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ของเรา เรามิใช่นั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมี ได้ด้วยอุบายอย่างนี้.รูปฌาน ๔ [๑๐๒] ดูกรจุนทะ ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวกอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรม เครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือทุติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีอุเบกขา มีสติ- *สัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ ว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อม อยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือตติยฌานนี้เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรม เครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ใน วินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็น เหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือจตุตถฌานนี้เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ [๑๐๓] ดูกรจุนทะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุดเพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับ ปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคืออากาสานัญจายตนฌานนี้ เรา ไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบ ระงับ ในวินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงล่วงอากาสานัญจาย- *ตนฌานเสียโดยประการทั้งปวง แล้วมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด พึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน อยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่- *ธรรมคือวิญญาณัญจายตนฌานนี้เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบระงับ ในวินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงล่วงวิญญาณัญจาย- *ตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้วมนสิการว่า ไม่มีอะไรเหลือสักน้อยหนึ่ง พึงบรรลุอากิญจัญญายตน ฌานอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคืออากิญจัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่สงบระงับ ในวินัยของพระอริยะ อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แลที่ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงล่วงอากิญจัญญาย- *ตนฌานเสียโดยประการทั้งปวง แล้วพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุนั้นพึงมีความคิด อย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกรจุนทะ แต่ธรรมคือเนวสัญญานาสัญญาย- *ตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรม เครื่องอยู่สงบระงับ ในวินัยของพระอริยะว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลา [๑๐๔] ดูกรจุนทะ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้แล คือ เธอ ทั้งหลาย พึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็น ผู้ไม่เบียดเบียนกัน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักงดเว้นจากการฆ่าสัตว์. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลักทรัพย์ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักงดเว้นจากการลักทรัพย์. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเสพเมถุนธรรม ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักประพฤติพรหมจรรย์. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวเท็จ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงด เว้นจากการกล่าวเท็จ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวส่อเสียด ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักงดเว้นจากการกล่าวส่อเสียด. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำหยาบ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักงดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำเพ้อเจ้อ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักงดเว้นจากการกล่าวเพ้อเจ้อ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมักเพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่เพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในข้อนี้ เราทั้งหลายจัก ไม่มีจิตพยาบาท. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักมีความเห็นชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักมีความดำริชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีวาจาผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี วาจาชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีการงานผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักมีการงานชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีอาชีพผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี อาชีพชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความเพียรผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักมีความเพียรชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีสติผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี สติชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีสมาธิผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี สมาธิชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีญาณผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี ญาณชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีวิมุติผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี วิมุติชอบ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ในข้อนี้ เราทั้ง- *หลายจักปราศจากถีนมิทธะ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีวิจิกิจฉา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักข้าม พ้นจากวิจิกิจฉา. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักไม่มีความโกรธ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธไว้ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจัก ไม่ผูกโกรธไว้. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักไม่ลบหลู่คุณท่าน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักยกตนเทียมท่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักไม่ยกตนเทียมท่าน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักไม่มีความริษยา. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักไม่มีความตระหนี่. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ โอ้อวด. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ มีมารยา. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักดื้อด้าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ ดื้อด้าน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักดูหมิ่นท่าน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่ ดูหมิ่นท่าน. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ว่ายาก ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ว่าง่าย. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมี กัลยาณมิตร. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนประมาท ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นคนไม่ประมาท. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนไม่มีศรัทธา ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นคนมีศรัทธา. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักไม่มีหิริ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็น ผู้มีหิริในใจ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักไม่มีโอตตัปปะ ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้มีโอตตัปปะ. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสุตะน้อย ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้มีสุตะมาก. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนเกียจคร้าน ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ปรารภความเพียร. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสติหลงลืม ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้มีสติดำรงมั่น. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนมีปัญญาทราม ในข้อนี้ เราทั้ง- *หลายจักเป็นคนถึงพร้อมด้วยปัญญา. เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่าง- *มั่นคง และสละคืนได้โดยยาก ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถือ อย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย. [๑๐๕] ดูกรจุนทะ เราย่อมกล่าวแม้จิตตุปบาทว่า มีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะต้องกล่าวไปไยในการจัดทำให้สำเร็จ ด้วยกาย ด้วยวาจาเล่า เพราะเหตุนั้นแหละ จุนทะ ในข้อนี้ เธอทั้งหลายพึงให้จิตเกิดขึ้นว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้ เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน. ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่ายว่าด้วยทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว [๑๐๖] ดูกรจุนทะ เปรียบเหมือนทางที่ไม่เรียบ ก็พึงมีทางเส้นอื่นที่เรียบ สำหรับ หลีกทางที่ไม่ราบเรียบนั้น อนึ่ง เปรียบเหมือนท่าที่ไม่ราบเรียบ ก็พึงมีท่าอื่นที่ราบเรียบ สำหรับ หลีกท่าที่ไม่ราบเรียบนั้น ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้- *เบียดเบียน การงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ฆ่าสัตว์. การงดเว้นจากอทินนาทาน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ลักทรัพย์. การประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เสพเมถุน. การงดเว้นจากมุสาวาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเท็จ. การงดเว้นจากปิสุณาวาจา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวส่อเสียด. การงดเว้นจากผรุสวาจา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้กล่าวคำหยาบ. การงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ. ความเป็นผู้ไม่เพ่งเล็ง เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักเพ่งเล็ง. ความไม่พยาบาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีจิตพยาบาท. ความเห็นชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความเห็นผิด. ความดำริชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความดำริผิด. การกล่าววาจาชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีวาจาผิด. การงานชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีการงานผิด. การเลี้ยงชีพชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีอาชีพผิด. ความเพียรชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความเพียรผิด. ความระลึกชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความระลึกผิด. ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ตั้งใจมั่นผิด. ความรู้ชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความรู้ผิด. วิมุตติชอบ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีวิมุตติผิด. ความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลถูกถีนมิทธะครอบงำ. ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน. ความเป็นผู้ข้ามพ้นจากความสงสัย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความสงสัย. ความไม่โกรธ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักโกรธ. ความไม่เข้าไปผูกโกรธ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เข้าไปผูกโกรธ. ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักลบหลู่คุณท่าน. ความไม่ยกตนเทียมท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มักยกตนเทียมท่าน. ความไม่ริษยา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ริษยา. ความไม่ตระหนี่ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ตระหนี่. ความไม่โอ้อวด เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้โอ้อวด. ความไม่มีมารยา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีมารยา. ความเป็นคนไม่ดื้อด้าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ดื้อด้าน. ความไม่ดูหมิ่นท่าน เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ดูหมิ่นท่าน. ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ว่ายาก. ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีมิตรชั่ว. ความไม่ประมาท เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ประมาท. ความเชื่อ เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา. ความละอายต่อบาป เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ไม่มีความละอายต่อบาป. ความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป. ความเป็นพหูสูต เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีการสดับน้อย. การปรารภความเพียร เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เกียจคร้าน. ความเป็นผู้มีสติดำรงมั่น เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีสติหลงลืม. ความถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีปัญญาทราม. ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถือมั่นคง และบุคคลอื่นให้สละคืนได้โดยง่าย เป็น ทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถือมั่นคง และบุคคลอื่นให้สละคืนได้โดยยาก. [๑๐๗] ดูกรจุนทะ เปรียบเหมือนอกุศลธรรมทั้งมวล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องล่าง กุศลธรรมทั้งมวล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องบน ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อม เป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้เบียดเบียน. การงดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมเป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้ฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากอทินนาทาน ย่อมเป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้ ลักทรัพย์ ฯลฯ ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถือมั่นคง และสละคืนได้โดยง่ายเป็นทางสำหรับ ความเบื้องบนของบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถือมั่นคง และสละคืนได้โดยยากว่าด้วยอุบายบรรลุนิพพาน [๑๐๘] ดูกรจุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จม อยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้. ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปลือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้. ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้. ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่น ดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด. ดูกรจุนทะ ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้- *เบียดเบียน. การงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ฆ่าสัตว์. การงดเว้นจากอทินนาทาน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ลักทรัพย์. การประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้เสพเมถุนธรรม. การงดเว้นจากมุสาวาท เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้พูดเท็จ. การงดเว้นจากปิสุณาวาจา เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้กล่าวส่อเสียด. การงดเว้นจากผรุสวาจา เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้กล่าวคำหยาบ. การงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ. ความเป็นผู้ไม่เพ่งเล็ง เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มักเพ่งเล็ง. ความไม่พยาบาท เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีจิตพยาบาท. ความเห็นชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความเห็นผิด. ความดำริชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความดำริผิด. การกล่าววาจาชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีวาจาผิด. การงานชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีการงานผิด. การเลี้ยงชีวิตชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีอาชีพผิด. ความเพียรชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความเพียรผิด. ความระลึกชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความระลึกผิด. ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความตั้งใจมั่นผิด. ความรู้ชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความรู้ผิด. ความพ้นชอบ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความพ้นผิด. ความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ถูกถีนมิทธะครอบงำ. ความเป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน. ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีความสงสัย. ความไม่โกรธ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มักโกรธ. ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ผูกโกรธ. ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ลบหลู่คุณท่าน. ความไม่ยกตนเทียมท่าน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ยกตนเทียมท่าน. ความไม่ริษยา เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ริษยา. ความไม่ตระหนี่ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ตระหนี่. ความไม่โอ้อวด เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้โอ้อวด. ความไม่มีมารยา เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีมารยา. ความเป็นคนไม่ดื้อด้าน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ดื้อด้าน. ความไม่ดูหมิ่นท่าน เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ดูหมิ่นท่าน. ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ว่ายาก. ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีมิตรชั่ว. ความไม่ประมาท เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ประมาท. ความเชื่อ เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ไม่ศรัทธา. ความละอายต่อบาป เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ไม่มีความละอายต่อบาป. ความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป. ความเป็นพหูสูต เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีการสดับน้อย. การปรารภความเพียร เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้เกียจคร้าน. ความเป็นผู้มีสติดำรงมั่น เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีสติหลงลืม. ความถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้มีปัญญาทราม. ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถือมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย เป็นทาง สำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถือมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก. [๑๐๙] ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาท เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้ แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ดูกรจุนทะ กิจอัน ใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดูอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอ ทั้งหลายแล้ว ดูกรจุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ฉะนี้แล. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะชื่นชมยินดีภาษิตของ- *พระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ ทรงแสดงสนธิ ๕ พระสูตรนี้ ชื่อสัลเลขสูตร ลุ่มลึก เปรียบด้วยสาคร ฉะนี้. จบ สัลเลขสูตร ที่ ๘ ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๑๒๓๗-๑๕๑๗ หน้าที่ ๕๒-๖๒. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1237&Z=1517&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=12&siri=8 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=100 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [100-109] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=100&items=10 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=4960 The Pali Tipitaka in Roman :- [100-109] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=100&items=10 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=4960 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i100-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i100-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.008.nypo.html https://suttacentral.net/mn8/en/sujato https://suttacentral.net/mn8/en/horner https://suttacentral.net/mn8/en/bodhi
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]