ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๐. เทวทูตสูตร (๑๓๐)
[๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๕๐๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลัง นั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบ ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อ มั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้ กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วย อำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้ กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ฯ [๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด ฯ [๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูต ที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้ เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนัง ย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ ฯ (๑) โบยด้วยแส้บ้าง (๒) โบยด้วยหวายบ้าง (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง (๔) ตัดมือบ้าง (๕) ตัดเท้าบ้าง (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง (๗) ตัดหูบ้าง (๘) ตัดจมูกบ้าง (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรม ลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าว ไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ [๕๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อ การจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่ง ถาก...จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะ เอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุก โพลง โชติช่วง ... จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไป ในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็น ฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่ง บ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา นรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วน แล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝา ด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบน จดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลาย ก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และใน ขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่ สิ้นสุด ฯ [๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้ หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์ นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตู นั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูก ทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่ สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้ว เฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง ๑- ใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่า บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่ รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ จมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบ เป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ใน @๑. เถ้ารึง คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์ นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตาย ตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์ นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วน เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และ ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำ ทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พา เอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยัง ไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา นรกอีก ฯ [๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริ อย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความ เป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก ขอเราพึงได้ นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดง ธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น ฯ [๕๒๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคต ผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือน แล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อัน เทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะ ในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและ มรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ ได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทใน ปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
จบ เทวสูตสูตร ที่ ๑๐
จบ สุญญตวรรค ที่ ๓
-----------------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของสุญญตวรรคนั้น ดังนี้
เรื่องสุญญตธรรมอย่างไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ๒ เรื่อง เรื่องธรรม ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ๑ เรื่องพระพักกุละ ๑ เรื่องสมณุทเทส อจิรวตะผู้เป็นพระวีระผู้ประเสริฐ ๑ เรื่องพระภูมิชะผู้มีชื่อว่า แผ่นดิน ๑ เรื่องพระอนุรุทธ ๑ เรื่องท่านผู้ละกิเลส ๑ เรื่องภูมิบัณฑิต ๑ เรื่องเทวทูต ๑ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬสุญญตสูตร ๒. มหาสุญญตสูตร ๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร ๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร ๕. ทันตภูมิสูตร ๖. ภูมิชสูตร ๗. อนุรุทธสูตร ๘. อุปักกิเลสสูตร ๙. พาลบัณฑิตสูตร ๑๐. เทวทูตสูตร
-----------------------------------------------------
วิภังควรรค
๑. ภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๑)
[๕๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่ มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ [๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มี สังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าง นี้แลชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง [๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดใน ธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็น อัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูป บ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสัญญา โดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็น อัตตาว่ามีสังขารบ้าง เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็น วิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็น อัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่า มีเวทนาบ้าง ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อม ไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง ไม่เล็ง เห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง ไม่เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตา ในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไป แล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคล ใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยน กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความ เพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของ บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๒)
[๕๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์สนทนากะภิกษุ ทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรม และกล่าวอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ [๕๓๖] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ครั้นแล้วจึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใคร หนอแลสนทนากะพวกภิกษุในอุปัฏฐานศาลา ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถา ประกอบด้วยธรรม และกล่าวอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ท่านพระอานนท์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอสนทนากะภิกษุทั้งหลาย ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรม ได้กล่าวอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญอย่างไรเล่า ฯ [๕๓๗] ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ สนทนากะภิกษุทั้งหลาย ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรม ได้กล่าวอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญอย่างนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้ง ธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตาย ในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวัน และกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ [๕๓๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ใน กาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วง แล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๓๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ใน กาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วง แล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๔๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็น อัตตาในรูปบ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็น สัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็น วิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบันอย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็ง เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาใน วิญญาณบ้าง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน ฯ [๕๔๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไป แล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคล ใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใคร เล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับ มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระ มุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความ เพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สนทนากะภิกษุทั้งหลาย ชักชวนให้ อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรม ได้กล่าวอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มี ราตรีหนึ่งเจริญอย่างนี้แล ฯ [๕๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ดีแล้วๆ เธอสนทนา กะภิกษุทั้งหลาย ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรม ได้กล่าว อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ถูกแล้ว ฯ [๕๔๖] ดูกรอานนท์ ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร ฯลฯ ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร ฯลฯ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร ฯลฯ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร ฯลฯ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร ฯลฯ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ ดูกรอานนท์ ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร ฯลฯ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๔๗] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อานันทภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------
๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๓)
[๕๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารตโปทาราม เขตพระ- *นครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นในราตรีตอนใกล้รุ่ง เข้าไปยัง สระตโปทะเพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับขึ้นมานุ่งสบง ผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มี รัศมีงาม ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๔๙] เทวดานั้น พอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสมิทธิ ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ ไหม ฯ ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำ ได้หรือ ฯ เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดง ราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ ส. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๕๕๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว จึงเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ตอนใกล้รุ่ง ข้าพระองค์ลุกขึ้นเข้าไปยังสระตโปทะ เพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมานุ่งแต่สบงผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วยืน ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวดานั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดานั้นกล่าวว่า ดูกร ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดา นั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เทวดา นั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคได้โปรดแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่ข้าพระองค์ เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านพระสมิทธิทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธ- *เจ้าข้า ฯ [๕๕๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตจึงทรงลุก จากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ฯ [๕๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึง ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกออกจากอาสนะเสด็จเข้า ไปยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน พระมหากัจจานะเถิด ฯ [๕๕๓] ต่อนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่ อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า ดูกรท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกกระผมว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร ดูกรท่านกัจจานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวก กระผมนั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคล ... นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ดูกรท่านกัจจานะ พวกกระผมนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน พระมหากัจจานะเถิด ขอท่านพระมหากัจจานะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ [๕๕๔] ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญ แก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่า ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้น เสีย ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มี อายุทั้งหลาย พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่า พึงสอบถามเราได้ ล่วงเลย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่ ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์แก่เราอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านกัจจานะ แท้จริง พระผู้มีพระภาคย่อม ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ ประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น เจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่พวก กระผมจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่พวกกระผมอย่างใด พวกกระผมพึงทรงจำได้อย่างนั้น แต่ว่าท่านพระมหา- *กัจจานะ อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ยกย่อง สรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความ หนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ ก. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ [๕๕๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ฯ [๕๕๖] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้ เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็น ดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็น ดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็น ดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้ เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้ เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วย ฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึง ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ ล่วงแล้ว ฯ [๕๕๗] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้ เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วง แล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้ เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้ เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้ เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเรา ได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเรา ได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่อง ด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึง ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๕๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิดเพลิน จักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ เสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ โผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ ธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิด เพลินมโนและธรรมารมณ์ เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๕๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็น ดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่ เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอเสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอโผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต ... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่ เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่ มาถึง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฯ [๕๖๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่างที่เป็น ปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุ และรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่างที่เป็น ปัจจุบันด้วยกันแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและ ธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๖๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบันอย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่าง ที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่ เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง ... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ อย่างที่ เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่ เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นใน ธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน ฯ [๕๖๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศ โดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลาย หวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มี- *พระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ อย่างนั้น ฯ [๕๖๓] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหา- *กัจจานะแล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร พอพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้น ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั้นได้มีความ คิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุร่วมประพฤติ พรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะนี้พอจะ จำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้า กระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อ ความนี้กะท่านพระมหากัจจานะเถิด ต่อนั้นแล พวกข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่าน พระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนั้นกะท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้ โดยบทดังนี้ โดยพยัญชนะดังนี้ ฯ [๕๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็น บัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะ พยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน ก็แหละ เนื้อความของอุเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่าง นั้นเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๔)
[๕๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ อยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ครั้งนั้นแล ล่วงปฐมยามไปแล้ว จันทนเทวบุตร มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้ สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระโลมสกังคิยะยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ [๕๖๖] จันทนเทวบุตรพอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระโลม- *สกังคิยะดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญได้ไหม ฯ ท่านพระโลมสังกังคิยะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่าน ทรงจำได้หรือ ฯ จ. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดง ราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ จ. ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ ฯ โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า ฯ [๕๖๗] จ. ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่ เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เรา ทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ [๕๖๘] ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล ขอท่านจงร่ำเรียน และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุรุษผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็น เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๕๖๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว จึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรมุ่งจาริกไปยังพระนครสาวัตถี เมื่อจาริกไปโดย ลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ณ พระวิหาร เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์อยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ขณะนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว เทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้สว่างทั่ว เข้าไปหา ข้าพระองค์ยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มี ราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวบุตรนั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มี อายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ ข้าพระองค์ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุ- *กัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้น ดาวดึงส์ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีเจริญได้อย่างนี้แล ท่านจงร่ำ เรียน และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและ วิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่ง พรหมจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวบุตรนั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงอุเทศ และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ [๕๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้จักเทวดานั้นหรือไม่ ฯ ท่านพระโลมสกังคิยะกราบทูลว่า ไม่รู้จักเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ เทวบุตรนั้นชื่อว่าจันทนะ จันทนเทวบุตรย่อมมุ่งประโยชน์ ใส่ใจ เอาใจฝักใฝ่สิ่งทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอ จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๕๗๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เรา ทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ [๕๗๒] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มี สังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๗๓] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขาร อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ อย่างนี้ แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๗๔] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่า มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๗๕] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่า ไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๗๖] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อม เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็น อัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็น วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็นวิญญาณ ในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่น ในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๗๗] ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่ เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๗๘] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะจึงชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๔
-----------------------------------------------------
๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๓๕)
[๕๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพ โตเทยยบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๘๐] สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดใน สกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความ ประณีต ฯ [๕๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็น ของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ ส. ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้- *เจริญตรัสโดยย่อ มิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความ แห่งอุเทศนี้โดยพิสดารได้เถิด ฯ พ. ดูกรมาณพ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระเจ้าข้า ฯ [๕๘๒] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนใน โลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคน เหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์ มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขา ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคน เหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์ มีชีวิต ฯ [๕๘๓] ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษ ก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ มีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลใน สรรพสัตว์และภูตอยู่ ฯ [๕๘๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือ ก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ [๕๘๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไป เพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ [๕๘๖] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตาย ไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็น มนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ [๕๘๗] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่ โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความ ขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขา ให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามา เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความ แค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำ ความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ [๕๘๘] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความ นับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดาน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจ ริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ [๕๘๙] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความ เคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ- *โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็น คนมีศักดามาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ [๕๙๐] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ ฯ [๕๙๑] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมี โภคะมาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ ฯ [๕๙๒] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควร ลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ กรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคน เกิดในสกุลต่ำ ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคน กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่ สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่ บูชาคนที่ควรบูชา ฯ [๕๙๓] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควร ลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคน ที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิด เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควร แก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคน ที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา ฯ [๕๙๔] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไร เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไร เมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้ อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ มีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร ไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ [๕๙๕] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น อกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็น คนมีปัญญามาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหา สมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ [๕๙๖] ดูกรมาณพ ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไป สู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคน มีโรคมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย ปฏิปทา เป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาเป็นไป เพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมี โภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดใน สกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดใน สกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญา ทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็น ของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต ฯ [๕๙๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือน หงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ
จบ จูฬกัมมวิภังคสูตรที่ ๕
-----------------------------------------------------
๖. มหากัมมวิภังคสูตร (๑๓๖)
[๕๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่าน- *พระสมิทธิอยู่ในกระท่อมในป่า ครั้งนั้น ปริพาชกโปตลิบุตรเดินเล่นไปโดยลำดับ เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่อยู่แล้ว ได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระสมิทธิ ครั้นผ่าน คำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๙๙] ปริพาชกโปตลิบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่าน พระสมิทธิดังนี้ว่า ดูกรท่านสมิทธิ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระ- *สมณโคดมดังนี้ว่า กายกรรมเป็นโมฆะ วจีกรรมเป็นโมฆะ มโนกรรมเท่านั้น จริง และว่าสมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ นั้น มีอยู่ ฯ ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มี- *พระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้ว่า กายกรรมเป็นโมฆะ วจีกรรมเป็นโมฆะ มโนกรรม เท่านั้น จริง และว่าสมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไรๆ นั้น มีอยู่ ฯ ป. ดูกรท่านสมิทธิ ท่านบวชมานานเท่าไรแล้ว ฯ ส. ดูกรท่านผู้มีอายุ ไม่นาน เพียง ๓ พรรษา ฯ ป. ในเมื่อภิกษุใหม่เข้าใจการระแวดระวังศาสดาถึงอย่างนี้แล้ว คราวนี้ พวกเราจักพูดอะไรกะภิกษุผู้เถระได้ ดูกรท่านสมิทธิ บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบ ด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เขาจะเสวยอะไร ฯ ส. ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ เขาจะเสวยทุกข์ ฯ ลำดับนั้น ปริพาชกโปตลิบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของท่านพระ สมิทธิ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ [๖๐๐] ครั้นปริพาชกโปตลิบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระสมิทธิ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังที่อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้น ผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอ นั่งเรียบร้อยแล้ว จึงบอกเรื่องเท่าที่ได้สนทนา กับปริพาชกโปตลิบุตรทั้งหมด แก่ ท่านพระอานนท์ เมื่อท่านพระสมิทธิบอกแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าว กะท่านพระสมิทธิดังนี้ว่า ดูกรท่านสมิทธิ เรื่องนี้มีเค้าพอจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ มาเถิด เราทั้งสองพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วกราบทูล เรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่เราอย่างไร เราพึงทรง จำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น ท่านพระสมิทธิรับคำท่านพระอานนท์ว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ ต่อนั้น ท่านพระสมิทธิและท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่ง เรียบร้อยแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องเท่าที่ท่านพระสมิทธิ ได้สนทนา กับปริพาชกโปตลิบุตรทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค ฯ [๖๐๑] เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ แม้ความเห็นของปริพาชกโปตลิบุตร เรา ก็ไม่ทราบชัด ไฉนเล่า จะทราบชัดการสนทนากันเห็นปานนี้ได้ โมฆบุรุษสมิทธิ นี้แล ได้พยากรณ์ปัญหาที่ควรแยกแยะพยากรณ์ของปริพาชกโปตลิบุตรแต่แง่ เดียว ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอุทายีได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าท่านพระสมิทธิกล่าวหมายทุกข์ดังนี้ แล้ว ไม่ว่าการเสวยอารมณ์ใดๆ ต้องจัดเข้าในทุกข์ทั้งนั้น ฯ [๖๐๒] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงเห็นความนอกลู่นอกทางของโมฆบุรุษ อุทายีนี้เถิด เรารู้แล้วละ เดี๋ยวนี้แหละ โมฆบุรุษอุทายีนี้โพล่งขึ้นโดยไม่แยบคาย ดูกรอานนท์ เบื้องต้นทีเดียว ปริพาชกโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓ ถ้าโมฆบุรุษ สมิทธิผู้ถูกถามนี้ จะพึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรโปตลิบุตรผู้มีอายุ บุคคลทำกรรม ชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็น สุข เขาย่อมเสวยสุข บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์ บุคคลทำกรรมชนิดที่ ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลไม่ทุกข์ไม่สุข เขาย่อมเสวยอทุกขมสุข ดูกรอานนท์ โมฆบุรุษสมิทธิเมื่อพยากรณ์อย่างนี้แล ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบแก่ปริพาชกโปตลิบุตร ก็แต่ว่าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น นั้น เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ใครเล่าจักรู้มหากัมมวิภังค์ของตถาคต ถ้าพวกเธอฟัง ตถาคตจำแนกมหากัมมวิภังค์อยู่ ฯ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคต เป็นกาล สมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกมหากัมมวิภังค์ ภิกษุทั้งหลายสดับต่อ พระผู้มีพระภาคแล้วจักได้ทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ต่อไป ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๖๐๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ บุคคล ๔ จำพวก นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเหล่าไหน คือ (๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอา สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด อยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี ฯ (๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอา สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็น ผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี ฯ (๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจาก อทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูด ส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วย อภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี ฯ (๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจาก อทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูด ส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วย อภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้า ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี ฯ [๖๐๔] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความ เพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อม เล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจา เพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดในโลกนี้ และเล็งเห็น ผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้- *เจริญ เป็นอันว่ากรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มัก ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็น อันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้น จะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ใน ที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ [๖๐๕] ดูกรอานนท์ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัย ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อม เล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และ เล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน ผู้เจริญ เป็นอันว่ากรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใด รู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไป ถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตาม กำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ [๖๐๖] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความ เพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อม เล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาด จากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจาก พูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์ นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีมี วิบากของสุจริตมี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลก นี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไป อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็น ชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดย ประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ [๖๐๗] ดูกรอานนท์ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัย ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนืองๆ ความไม่ประมาท ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อม เล็งเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และ เล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียง ดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็น บุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้น ตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้น ทุกคนตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชน เหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดย ประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ฯ [๖๐๘] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราอนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้ มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้า ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราก็อนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มี ความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เรา ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่ อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้น แหละในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยัง ไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์ เป็นอย่างอื่น ฯ [๖๐๙] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่อนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมชั่ว ไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคล โน้น ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป แล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราอนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มี ความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เรายังไม่ อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า รู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่ อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเองนั้น แหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยัง ไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์ เป็นอย่างอื่น ฯ [๖๑๐] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราอนุมัติ วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดีมี วิบากของสุจริตมี แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้น ขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราก็อนุมัติ ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้น ทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขา ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดย ประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูด ปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละในที่นั้นๆ ตามกำลังและ ความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกร- *อานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น ฯ [๖๑๑] ดูกรอานนท์ ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่ อนุมัติวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า กรรมดี ไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคล โน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไป แล้วเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราอนุมัติ ส่วนวาทะ ของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เรายังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่า นั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ ยังไม่อนุมัติ แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่านี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ ยังไม่อนุมัติ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์ เป็นอย่างอื่น ฯ [๖๑๒] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิต สัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือ ในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะ ฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้ มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบาก ของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ [๖๑๓] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิต สัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตาย ไปจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติ หน้า หรือในชาติต่อไป ฯ [๖๑๔] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เว้นขาดจาก ปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตาย ไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มี ความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติ หน้า หรือในชาติต่อไป ฯ [๖๑๕] ดูกรอานนท์ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่เว้นขาดจาก ปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อนๆ หรือ ในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะ ฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เว้นขาด จากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบาก ของกรรม นั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ [๖๑๖] ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แล กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่า ไม่ควรก็มี ให้เห็นว่าควรก็มี และกรรมที่ควรแท้ๆ ส่องให้เห็นว่าควรก็มี ให้เห็น ว่าไม่ควรก็มี ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ มหากัมมวิภังคสูตร ที่ ๖
-----------------------------------------------------
๗. สฬายตนวิภังคสูตร (๑๓๗)
[๖๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอ ทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๖๑๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า พวกเธอพึงทราบอายตนะ ภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึก หน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทาง ดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่า สารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุเทศแห่ง สฬายตนวิภังค์ ฯ [๖๑๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ได้แก่อายตนะคือจักษุ อายตนะคือโสต อายตนะคือฆานะ อายตนะคือชิวหา อายตนะคือกาย อายตนะคือมโน ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบ อายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๒๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เรา อาศัยอะไรกล่าวแล้ว ได้แก่อายตนะคือรูป อายตนะคือเสียง อายตนะคือกลิ่น อายตนะคือรส อายตนะคือโผฏฐัพพะ อายตนะคือธรรมารมณ์ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๒๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ได้แก่จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัยวิญญาณดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๒๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดผัสสะ ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ได้แก่จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดผัสสะ ๖ นั่น เราอาศัยสัมผัสดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๒๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ใจย่อมนึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้ง แห่งโสมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา เพราะฟังเสียงด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ใจย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส นึกหน่วงธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงธรรมารมณ์เป็นที่ตั้ง แห่งอุเบกขา ฉะนี้ เป็นความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่าย อุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัย ความนึกหน่วงดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๒๔] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ โสมนัสอาศัยเรือน ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขา อาศัยเนกขัมมะ ๖ ฯ [๖๒๕] ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ บุคคล เมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือ หวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในก่อน อันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไป แล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธรรมารมณ์ที่เคยได้เฉพาะในก่อน อันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัส เช่นนี้นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้โสมนัสอาศัยเรือน ๖ ฯ [๖๒๖] ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อน และในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิด โสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ฯ บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของเสียงทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของกลิ่นทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของรสทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของโผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของธรรมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธรรมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัย เนกขัมมะ เหล่านี้โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ฯ [๖๒๗] ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้ เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อน อันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัย เรือน บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งเสียง ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งกลิ่น ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรส ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งโผฏฐัพพะ ... บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดย เป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธรรมารมณ์ที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อน อันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้นี่ เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้โทมนัสอาศัยเรือน ๖ ฯ [๖๒๘] ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อน และในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ เมื่อเข้าไปตั้งความปรารถนาใน อนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไร ตัวเราจึงจักบรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลาย ได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัส เช่นนี้นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของเสียงทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของกลิ่นทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของรสทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของโผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของธรรมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธรรมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาแล้ว ย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ เมื่อเข้าไปตั้งความ ปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไร ตัวเราจึงจักบรรลุอายตนะที่พระอริยะ ทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้โทมนัสอาศัย เนกขัมมะ ๖ ฯ [๖๒๙] ใน ๓๖ ประการนั้น อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ เพราะ เห็นรูปด้วยจักษุ ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ไม่ ล่วงเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน เพราะฟังเสียงด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ไม่ล่วงเลยธรรมารมณ์ไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน เหล่านี้ อุเบกขาอาศัยเรือน ฯ [๖๓๐] ใน ๓๖ ประการนั้น อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อน และในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ล่วงเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึง เรียกว่าอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของเสียงทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของกลิ่นทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของรสทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของโผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นแล ... บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับ ของธรรมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธรรมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ล่วงเลยธรรมารมณ์ไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั่น เราอาศัยทาง ดำเนินดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๓๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอ จงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คืออิงโสมนัสอาศัย เนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คืออิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละ โทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คืออิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานั้นๆ ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอ จงอาศัย คืออิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งโทมนัส อาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วง โทมนัสนั้นๆ ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คืออิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัย เนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วง โสมนัสนั้นๆ ได้ ฯ [๖๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ ก็มี อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งก็มี ก็อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ เป็นไฉน คือ อุเบกขา ที่มีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็น ต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ ก็อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นไฉน คือ อุเบกขา ที่อาศัยอากาสานัญจายตนะ อาศัยวิญญาณัญจายตนะ อาศัยอากิญจัญญายตนะ อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอุเบกขา ๒ อย่าง พวกเธอจงอาศัย คืออิงอุเบกขา ที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาที่มี ความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอาศัย คืออิงความเป็นผู้ ไม่มีตัณหา แล้วละ คือล่วงเสียซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็น หนึ่งนั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้ ข้อที่เรา กล่าวดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของ สัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยการละ การล่วง ดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๓๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่ พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ฯ [๖๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์ เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมไม่ฟัง ด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม และ ไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ เราเรียกว่าการ ตั้งสติประการที่ ๑ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอน หมู่ ฯ [๖๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยง คำสอนของศาสดา บางพวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติ หลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม ทั้งไม่เป็นผู้ไม่ชื่นชม ไม่เสวยความไม่ชื่นชม เว้นทั้งความ ชื่นชมและความไม่ชื่นชมทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้วางเฉย ย่อมมีสติสัมปชัญญะ อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ เราเรียกว่าการตั้งสติประการที่ ๒ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ ฯ [๖๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตเป็นผู้ชื่นชม เสวยความชื่นชม และไม่ ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ เราเรียกว่าการตั้ง สติประการที่ ๓ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อ เสพชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัยเหตุนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๓๗] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่า สารถี ฝึกบุรุษที่ ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกช้างไสให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียว เท่านั้น คือ ทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ ม้าที่ ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกม้าขับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเหมือนกัน คือ ทิศ ตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ โคที่ควรฝึก อันอาจารย์ ฝึกโคขับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเหมือนกัน คือ ทิศตะวันออก หรือทิศ ตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ แต่บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศ คือ ผู้ที่มีรูป ย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้ นี้ทิศที่ ๑ ผู้ที่มีสัญญาในอรูปภายใน ย่อมเห็นรูปทั้งหลายภายนอกได้ นี้ทิศที่ ๒ ย่อมเป็นผู้น้อมใจว่างามทั้งนั้น นี้ทิศที่ ๓ ย่อมเข้าอากาสานัญจายตนะอยู่ด้วย ใส่ใจว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจ นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๔ ย่อมเข้าวิญญาณัญจายตนะอยู่ด้วย ใส่ใจว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๕ ย่อมเข้าอากิญจัญญายตนะอยู่ด้วยใส่ใจว่า ไม่มีสักน้อยหนึ่ง เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๖ ย่อมเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ อยู่ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๗ ย่อมเข้าสัญญา เวทยิตนิโรธอยู่ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศดังนี้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่าสารถีฝึก บุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นั่นเราอาศัยเหตุดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ สฬายตนวิภังคสูตร ที่ ๗
-----------------------------------------------------
๘. อุทเทสวิภังคสูตร (๑๓๘)
[๖๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทสวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทสวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูล รับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๖๓๙] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึง พิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายในและไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความ เกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระ- *ภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระองค์ผู้สุคตจึงเสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร ฯ [๖๔๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มี ข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศ โดยย่อแก่พวกเราว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภาย ใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็เสด็จเข้าไป ยังพระวิหารแล้ว ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้ เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะท่าน พระมหากัจจานะเถิด ฯ [๖๔๑] ต่อนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยัง ที่อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอ ให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า ดูกรท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงอุเทศ โดยย่อแก่พวกกระผมว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อ พิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และ ไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้ง สงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดารก็ เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ดูกรท่านกัจจานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จ หลีกไปแล้วไม่นาน พวกกระผมนั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภาย นอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้ง ไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อม ไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้แล มิได้ทรง จำแนกเนื้อความโดยพิสดารก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอแล จะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ดูกรท่านกัจจานะ พวกกระผมนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้ แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะพอจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระ- *มหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะท่านพระมหากัจจานะเถิด ขอท่านพระมหากัจจานะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ [๖๔๒] ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญ แก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่า ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้น เสียฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่าพึงสอบถามเราได้ ล่วงเลยพระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้นเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ ประเสริฐ ตรัส บอก ทรงนำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น เจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่ท่าน ทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่เราอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านกัจจานะ แท้จริง พระผู้มีพระภาคย่อม ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ ประเสริฐ ตรัส บอก ทรงนำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น เจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่พวก กระผมจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่พวกกระผมอย่างใด พวกกระผมพึงทรงจำไว้อย่างนั้น แต่ว่าท่านพระมหา กัจจานะ อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ยกย่อง สรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความ หนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ ก. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะว่า ชอบแล้ว ท่าน ผู้มีอายุ ฯ [๖๔๓] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบ อยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดย พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความ โดยพิสดารอย่างนี้ ฯ [๖๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่าความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ แล่นไปตามนิมิตคือรูป กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือรูป ผูกพัน ด้วยยินดีนิมิตคือรูป ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือรูป พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน แล่น ไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือธรรมารมณ์ ผูกพันด้วยยินดี นิมิตคือธรรมารมณ์ ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือธรรมารมณ์ พระ ผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่าความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก ฯ [๖๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ไม่แล่นไปตามนิมิตคือรูป ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือรูป ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือรูป ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือรูป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ไม่ แล่นไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือธรรมารมณ์ ไม่ผูก พันด้วยยินดีนิมิตคือธรรมารมณ์ ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไป ภายนอก ฯ [๖๔๖] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุ นั้น แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวก ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดวิเวก ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความ ยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าทุติยฌาน มีความ ผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มี วิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่น ไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ผูกพัน ด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะ หน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าตติยฌาน ที่ พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุ นั้น แล่นไปตามอุเบกขา กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ผูกพันด้วยยินดีสุข เกิดแต่อุเบกขา ประกอบด้วยสัญโญชน์คือ ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าจตุตถฌาน อันไม่ มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มี สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามอทุกขมสุข- *เวทนา กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า จิตตั้ง สงบอยู่ภายใน ฯ [๖๔๗] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ ภายใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามปีติและ สุขเกิดแต่วิเวก ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวก ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่ วิเวก พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่กำหนัดด้วย ยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดสมาธิ ไม่ประกอบ ด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะ หน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ฯลฯ อยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามอุเบกขา ไม่กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่ อุเบกขา ไม่ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือ ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ ภายใน ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา ไม่กำหนัดด้วยยินดี อทุกขมสุขเวทนา ไม่ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภาย ใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน ฯ [๖๔๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรย่อมเป็นอันสะดุ้งเพราะ ตามถือมั่น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษย่อมเล็ง เห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง รูปนั้นของเขาย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นของรูป เขาย่อมมีความรู้สึกปรวนแปรไปตามความแปรปรวน ของรูป ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดแต่ความปรวนแปรไป ตามความแปรปรวนของรูป ย่อมตั้งครอบงำจิตของเขาได้ เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้หวาดเสียว คับแค้น ห่วงใย และสะดุ้งเพราะตามถือมั่น ย่อมเล็งเห็น เวทนา ... ย่อมเล็งเห็นสัญญา ... ย่อมเล็งเห็นสังขาร ... ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดย ความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของวิญญาณ เขาย่อมมีความรู้สึกปรวนแปรไป ตามความแปรปรวนของวิญญาณ ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อัน เกิดแต่ความปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของวิญญาณ ย่อมตั้งครอบงำจิตของ เขาได้ เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้หวาดเสียว คับแค้น ห่วงใย และสะดุ้ง เพราะตามถือมั่น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เป็นอันสะดุ้งเพราะตาม ถือมั่น ฯ [๖๔๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรย่อมเป็นอันไม่สะดุ้งเพราะ ไม่ถือมั่น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้ เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อม ไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูป ในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง รูปนั้นของท่านย่อมแปรปรวนเป็นอย่าง อื่นได้ เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของรูป ท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวน- *แปรไปตามความแปรปรวนของรูป ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดความปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของ ท่านได้ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ ท่านจึงเป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ ห่วงใยและไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนา ... ย่อมไม่เล็งเห็น สัญญา ... ย่อมไม่เล็งเห็นสังขาร ... ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาใน วิญญาณบ้าง วิญญาณของท่านย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวน เป็นอย่างอื่นของวิญญาณ ท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวนแปรไปตามความแปรปรวน ของวิญญาณ ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดแต่ความแปร ปรวนไปตามความปรวนแปรของวิญญาณ ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของท่านได้ เพราะ จิตไม่ถูกครอบงำท่านจึงเป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใย ไม่สะดุ้งเพราะ ไม่ถือมั่น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เป็นอันไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ฯ [๖๕๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศ โดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อ พิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และ ไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้ง สงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่ง ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วเสด็จ ลุกจากอาสนะเข้ายังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความได้โดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลายหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความ นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรง จำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ [๖๕๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหา- *กัจจานะแล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดย อาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่นเมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภาย นอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายในและไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่ง ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความ โดยพิสดารแล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้นได้มีข้อปรึกษากัน อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อแก่ พวกเราว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความ รู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะ ไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบภายใน และ ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่ง ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และ สมุทัยต่อไป ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความ โดยพิสดาร ก็เสด็จลุกจาก อาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนก เนื้อความแห่งอุเทศที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า พระองค์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แลอันพระศาสดาและ พวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว ก็ท่าน พระมหากัจจานะนี้ พอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่าน พระมหากัจจานะ ยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนั้นกะท่านพระมหากัจจานะเถิด ต่อนั้นแล พวก ข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถาม เนื้อความ กะท่านแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่ พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้ โดยบทดังนี้ และโดยพยัญชนะดังนี้ ฯ [๖๕๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็น บัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะพึง พยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน ก็แหละ เนื้อความอุเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนี้เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อุทเทสวิภังคสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------
๙. อรณวิภังคสูตร (๑๓๙)
[๖๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอรณวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอรณวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๖๕๔] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่ง สุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่อง ประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคต รู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไป เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พึงรู้จัก การยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ ธรรมเท่านั้น พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความ สุขภายใน ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า พึงเป็นผู้ ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูด สามัญเสีย นี้อุเทศแห่งอรณวิภังค์ ฯ [๖๕๕] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นั่น เรา อาศัยอะไรกล่าวแล้ว ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุข โดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด การไม่ตามประกอบ ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็น ของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มี ทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติ ชอบ ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่อง ประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความ เร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งสุขอาศัยกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่อง ประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๕๖] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อ นิพพาน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แล คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความปฏิบัติปานกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้นั้น อันตถาคตรู้พร้อมด้วย ปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไป สงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั่น เราอาศัยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๕๗] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้น- *รู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่ เป็นการแสดงธรรม คือ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบ เนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้น ทั้งหมดมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความ ประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความ เร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อัน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความเพียรเครื่อง ประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า ตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความ เร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม ฯ [๖๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการ ตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดตามประกอบ ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความ ประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มี ความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็น ธรรม ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มี ความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า อันความ ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใด ไม่ตามประกอบ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความ คับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า อัน ความไม่ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่ กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้น ทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า เมื่อยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า ก็เมื่อละ สัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรม เท่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็น การแสดงธรรมแท้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๕๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึง ประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน นั่น เราอาศัยอะไร กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล ๕ อย่าง เป็นไฉน คือ รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอัน น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด นี้แลกามคุณ ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัสใดแล อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น สุขโสมนัสนี้ เรียกว่าสุขอาศัย กาม สุขของปุถุชน สุขในที่ลับ ไม่ใช่สุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า ไม่พึง เสพ ไม่พึงให้เจริญ ไม่พึงทำให้มาก พึงกลัวสุขนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน ... อยู่ เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะ อยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ... อยู่ เข้าจตุตถฌาน ... อยู่ นี้เรียกว่า สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ เรากล่าวว่า พึงเสพให้มาก พึงให้เจริญ พึงทำให้มาก ไม่พึงกลัวสุขนี้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประ- *กอบเนืองๆ ซึ่งความสุขภายใน นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๖๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำ ล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการ แรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด แม้รู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ แต่ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้ วาทะลับหลังใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วง เกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำ ล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และ รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็น ผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะ ลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๖๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น เมื่อรีบด่วน พูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น เมื่อไม่ รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำ พูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็น ผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๖๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วง เลยคำพูดสามัญเสีย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร เล่า เป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปาตี ในบาง ชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิฏฐะ ในบาง ชนบท เขาหมายรู้ว่า สราวะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ ในบาง ชนบท เขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะ นั้นกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า เป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ ล่วงเลยคำพูดสามัญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาชนะนั่นแลในโลกนี้ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปาตี ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขา หมายรู้ว่า ปิฏฐะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สราวะ ในบางชนบท เขาหมาย รู้ว่า หโลสะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลาย หมายรู้เรื่องภาชนะกันดังนี้ ในชนบทนั้นๆ อย่างไม่ใช่ความแน่ใจว่า เป็นอัน ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ แล ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญ นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ความประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขเพราะสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็น ของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ ซึ่ง โสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของ ปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ความเพียรเครื่องประกอบ ตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติ ผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ตามประกอบความ เพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มี ความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ความปฏิบัติปานกลาง อันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นี้เป็น ธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น การยกยอ การตำหนิ และไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น กามสุขนี้ใด เป็น
สุขอากูล สุขของปุถุชน สุขไม่ประเสริฐ ธรรมนั้นมีทุกข์ มีความคับใจ มี
ความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึง
มีกิเลสต้องรณรงค์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น สุขอาศัยเนกขัมมะ สุข เกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ นี้เป็นธรรมไม่มี ทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น วาทะลับหลังซึ่งไม่เป็น จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มี ความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมี กิเลสต้องรณรงค์ แม้วาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ก็ยังมีกิเลสต้องรณรงค์ ส่วนวาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความ แค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มี กิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้า ซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความ คับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรม นี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แม้คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่คำกล่าว ล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มี ความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะ ฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น คำที่ผู้รีบด่วนพูด นี้เป็น ธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่คำที่ผู้ไม่รีบด่วนพูด นี้เป็น ธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความ ปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น การปรักปรำภาษาชนบท และการล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมไม่มี ทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติ ชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ฯ [๖๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แลว่า เราทั้งหลายจักรู้ธรรมยังมีกิเลสต้องรณรงค์ และรู้ธรรมไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ครั้น รู้แล้ว จักปฏิบัติปฏิปทา ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละ กุลบุตรสุภูติ ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลสต้องรณรงค์แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อรณวิภังคสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------
๑๐. ธาตุวิภังคสูตร (๑๔๐)
[๖๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยัง พระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า ดูกรนายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่ง เถิด นายภัคควะทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ใน โรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตาม สบายเถิด ฯ [๖๗๔] ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตอุทิศพระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา ปุกกุสาติกุลบุตรนั้นเข้าไปพักอยู่ในโรง ของนายช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่าน ปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ถ้าไม่เป็นความ หนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด ฯ [๖๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้ว ทรง ลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรง พระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก แม้ท่าน ปุกกุสาติก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรง พระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถามดูบ้าง ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านบวช อุทิศใครเล่า หรือว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ฯ [๖๗๖] ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้ ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดมผู้มีพระภาค พระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์ฟุ้งไป งามอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ จรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้า บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดา ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ พ. ดูกรภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ฯ ปุ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถีอยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นั่น ฯ พ. ดูกรภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่าน เห็นแล้วจะรู้จักไหม ฯ ปุ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก ฯ [๖๗๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวช อุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า ดูกรภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวต่อไป ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ [๖๗๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียก เขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก ฯ [๖๗๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มี ธาตุ ๖ นั่น เราอาศัยธาตุดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๘๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดน สัมผัส ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัย อายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๘๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึก รูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้ง แห่งอุเบกขา ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหา แล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึก ธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วง นึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึก โทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีความ หน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยความหน่วงนึกดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๘๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มี สัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะเป็นธรรม ควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๘๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ อย่างไรเล่า ชื่อว่าไม่ประมาทปัญญา ดูกรภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ฯ [๖๘๔] ดูกรภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอก ก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้ สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ และจะให้จิต คลายกำหนัดปฐวีธาตุได้ ฯ [๖๘๕] ดูกรภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คืออาโปธาตุภายในก็มี ภายนอก ก็มี ก็อาโปธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ก็อาโป ธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วย ปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา ของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุ ได้ ฯ [๖๘๖] ดูกรภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายในก็มี ภาย นอกก็มี ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้ว ถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้ สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ก็เตโชธาตุทั้งภายใน และภายนอก นี้แล เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตาม ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็น แล้ว จะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้ ฯ [๖๘๗] ดูกรภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอก ก็มี ก็วาโยธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไป ตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่าวาโยธาตุภายใน ก็วาโยธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญา ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้ ฯ [๖๘๘] ดูกรภิกษุ ก็อากาสธาตุเป็นไฉน คือ อากาสธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อากาสธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปากซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบาย ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิด ไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ ภายใน ก็อากาสธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น พึงเห็น อากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราไม่ ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้ จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุได้ ฯ [๖๘๙] ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคล ย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุข บ้าง ดูกรภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะ นั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ฯ [๖๙๐] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้ สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไป สงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเองแยกกันไปเสียคนละทาง แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะ นั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ ผัสสะนั้น คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ต่อนั้น สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว ฯ [๖๙๑] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง ผู้ฉลาด ติดเตาสุมเบ้าแล้ว เอาคีมคีบทองใส่เบ้า หลอมไป ซัดน้ำไป สังเกตดู ไปเป็นระยะๆ ทองนั้นจะเป็นของถูกไล่ขี้แล้ว หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย และผ่องแผ้ว เขาประสงค์ชนิดเครื่องประดับใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู เครื่อง ประดับ มาลัยทองก็ตาม ย่อมสำเร็จความประสงค์อันนั้นแต่ทองนั้นได้ ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อม อุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน และ เจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา อาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้น ยึดอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาล ยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญ- *จายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ยึดวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขา ของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยอากิญจัญญายตนฌานนั้น ยึดอากิญจัญญายตนฌาน นั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อ เป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น ยึดเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน บุคคลนั้น ย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่ อากาสานัญจายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรม ควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ บุคคลนั้นจะไม่คำนึง จะไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่ หวาดเสียว เมื่อไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ถ้าเขาเสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า สุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า ทุกขเวทนา นั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย เขาเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็น ของสงบ ฯ [๖๙๒] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็น ประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อ เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และ รู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึก อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความ หลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ ดูกรภิกษุ เพราะสิ่ง ที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดา นั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพาน นั้นจริง ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย สัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือนิพพาน มีความ ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอัน เขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีก ไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละ อย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็จาคะนี้ คือความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคล นั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรม นั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วย ความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ อย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็น อุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตาม รักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว ฯ [๖๙๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะ เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ความสำคัญ ตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็น- *สัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็น สัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ดูกรภิกษุ ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และมุนีผู้สงบแล้วแล ย่อม ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้อง เกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร ข้อที่เรากล่าว ดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและ กิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านจงทรงจำธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้ ของเราไว้เถิด ฯ [๖๙๔] ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดา พระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้า แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มี- *พระภาคด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด ฯ [๖๙๕] พ. ดูกรภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอ รับอดโทษนั้นแก่เธอ ดูกรภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาคเถิด ฯ พ. ดูกรภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ ฯ ปุ. ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ อุปสมบทไม่ได้เลย ฯ [๖๙๖] ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติ ยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้- *มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว หลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหา บาตรจีวรอยู่ ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มี- *พระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้น ทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติ อย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ [๖๙๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุ ธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วน เบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็น ธรรมดา ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ธาตุวิภังคสูตร ที่ ๑๐
-----------------------------------------------------
๑๑. สัจจวิภังคสูตร (๑๔๑)
[๖๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เขตเมือง พาราณสี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๖๙๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต- *อรหันตสัมมาสัมพุทธ ได้ประกาศธรรมจักรอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ป่า อิสิปตนมิคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก ยังไม่เคยประกาศ ได้แก่ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เหล่าไหน คือ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ ง่ายซึ่งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา- *อริยสัจ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ได้ประกาศธรรมจักรอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันสมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก ยังไม่เคยประกาศ ได้แก่ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ นี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ทั้งสองรูปนี้เป็น บัณฑิตภิกษุ ผู้อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อม แนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง สารีบุตรพอที่ จะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ได้โดยพิสดาร พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคต ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจาก อาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ฯ [๗๐๐] ขณะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระ- *สารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำ ท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ได้ประกาศธรรมจักรอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก ยังไม่เคยประกาศ ได้แก่ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เหล่าไหน คือ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ ง่ายซึ่งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินี- *ปฏิปทาอริยสัจ ฯ [๗๐๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน คือ ชาติก็ เป็นทุกข์ ชราก็เป็นทุกข์ มรณะก็เป็นทุกข์ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยประมวลแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ได้แก่ ความเกิด ความเกิด พร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้นๆ นี้เรียกว่า ชาติ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชราเป็นไฉน ได้แก่ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความเป็นผู้มีฟันหัก มีผมหงอก มีหนังย่น ความเสื่อมอายุ ความหง่อมแห่ง อินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้นๆ นี้เรียกว่าชรา ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มรณะเป็นไฉน ได้แก่ ความจุติ ความ เคลื่อนไป ความแตก ความอันตรธาน ความตาย ความมรณะ การทำกาละ ความสลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่าง ความขาดชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์ นั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้นๆ นี้เรียกว่ามรณะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็โสกะเป็นไฉน ได้แก่ ความโศก ความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจ ความเหี่ยวแห้งภายใน ความเหี่ยวแห้งรอบในภายใน ของ บุคคลผู้ประจวบกับความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องแล้ว นี้เรียกว่าโสกะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริเทวะเป็นไฉน ได้แก่ ความรำพัน ความร่ำไร กิริยารำพัน กิริยาร่ำไร ลักษณะที่รำพัน ลักษณะที่ร่ำไร ของบุคคล ที่ประจวบกับความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งถูก ต้องแล้ว นี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขะเป็นไฉน ได้แก่ ความลำบากกาย ความไม่สบายกาย ความเสวยอารมณ์ที่ลำบาก ที่ไม่สบาย อันเกิดแต่สัมผัส ทางกาย นี้เรียกว่าทุกขะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็โทมนัสเป็นไฉน ได้แก่ ความลำบากใจ ความไม่สบายใจ ความเสวยอารมณ์ที่ลำบาก ที่ไม่สบาย อันเกิดแต่สัมผัส ทางใจ นี้เรียกว่าโทมนัส ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปายาสเป็นไฉน ได้แก่ ความคับใจ ความ แค้นใจ ลักษณะที่คับใจ ลักษณะที่แค้นใจ ของบุคคลผู้ประจวบกับความพิบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว นี้เรียกว่า อุปายาส ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์เป็นไฉน ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราอย่าต้องเกิดเป็นธรรมดา และความเกิดอย่าพึงมาถึงเราเลย อัน ข้อนี้ ใครๆ จะสำเร็จตามความปรารถนาไม่ได้เลย แม้นี้ก็ชื่อว่า ความไม่ได้ สมปรารถนาเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนา ขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราอย่าต้องแก่เป็นธรรมดา และความแก่อย่าพึงมาถึง เราเลย อันข้อนี้ ใครๆ จะสำเร็จตามความปรารถนาไม่ได้เลย แม้นี้ก็ชื่อว่า ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เกิด ความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราอย่าต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา และ ความเจ็บไข้อย่าพึงมาถึงเราเลย อันข้อนี้ ใครๆ จะสำเร็จตามความปรารถนา ไม่ได้เลย แม้นี้ก็ชื่อว่า ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้มี ความตายเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราอย่าต้อง ตายเป็นธรรมดา และความตายอย่าพึงมาถึงเราเลย อันข้อนี้ ใครๆ จะสำเร็จ ตามความปรารถนาไม่ได้เลย แม้นี้ก็ชื่อว่า ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราอย่าต้องมีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา และโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสอย่าพึงมาถึงเราเลย อันข้อนี้ ใครๆ จะสำเร็จตามความปรารถนา ไม่ได้เลย แม้นี้ก็ชื่อว่า ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็โดยประมวลแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน คืออย่างนี้ อุปาทานขันธ์คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่า โดยประมวลแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ ฯ [๗๐๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน ได้แก่ ตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความยินดี อันมี ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯ [๗๐๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ได้แก่ ความดับด้วยอำนาจคลายกำหนัดไม่มีส่วนเหลือ ความสละ ความสลัดคืน ความ ปล่อย ความไม่มีอาลัย ซึ่งตัณหานั้นนั่นแล นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ [๗๐๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แล ซึ่งมีดังนี้ (๑) สัมมาทิฐิ (๒) สัมมาสังกัปปะ (๓) สัมมาวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ (๕) สัมมาอาชีวะ (๖) สัมมาวายามะ (๗) สัมมาสติ (๘) สัมมาสมาธิ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ได้แก่ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฐิ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ได้แก่ ความดำริ ในเนกขัมมะ ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน ได้แก่ เจตนา เป็น เครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ จากพูดส่อเสียด จากพูดคำหยาบ จากเจรจาเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ได้แก่ เจตนาเป็น เครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน คือ อริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาชีพแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาวายามะเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัย นี้ ย่อมให้เกิดฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อ ไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่ เกิดขึ้นแล้วเสีย ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฝือ เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ และบริบูรณ์ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... เป็นผู้พิจารณา เห็นจิตในจิต ... เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ นี้เรียกว่าสัมมาสติ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน ... อยู่ เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสัม- *ปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ... อยู่ เข้าจตุตถฌาน ... อยู่ นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ ฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯ [๗๐๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ได้ทรงประกาศธรรมจักรอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เขตเมือง พาราณสี อันสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือ ใครๆ ในโลก ยังไม่เคยประกาศ ได้แก่ ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ นี้ ฯ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิต ของท่านพระสารีบุตรแล ฯ
จบ สัจจวิภังคสูตร ที่ ๑๑
-----------------------------------------------------
๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔๒)
[๗๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระ- *นครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือ ผ้าห่มคู่หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มี- *พระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉัน กรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความ อนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด ฯ [๗๐๗] เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนาง ได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจ อุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้า ใหม่ทั้งคู่นี้ของหม่อมฉันเถิด แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ แล พระผู้มี- *พระภาคก็ตรัสกะพระนาง แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ ดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตม- *ภาพและสงฆ์ ฯ [๗๐๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดรับ ผ้าใหม่ทั้งคู่ ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมี มี อุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคทรงดื่มเต้าพระถัน แม้ พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางทรง อาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จาก กาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่ม น้ำเมาคือสุราและเมรัยได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงประกอบด้วยความ เลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีล ที่พระอริยะมุ่งหมายได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงเป็นผู้หมดความสงสัย ในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนางมหาปชา- *บดีโคตมี ฯ [๗๐๙] พ. ถูกแล้วๆ อานนท์ จริงอยู่บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็น ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลใด อาศัยบุคคลใดแล้ว งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉา- *จาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- *ปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ มุ่งหมายได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ เราไม่กล่าวการที่ บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามี จิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ฯ [๗๑๐] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ ให้ ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑ ให้ทาน ในพระปัจเจกสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๒ ให้ทานในสาวก ของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓ ให้ทาน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔ ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๕ ให้ทานในท่าน ผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖ ให้ทาน แก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๗ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘ ให้ทาน ในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๙ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐ ให้ทาน ในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๑ ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๒ ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๓ ให้ทานในสัตว์- *เดียรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๔ ฯ [๗๑๑] ดูกรอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดีย- *รัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณา ได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคล ภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำ สกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็น พระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ฯ [๗๑๒] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ ให้ ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณา ที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๔ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๕ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้ โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณา- *ที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗ ฯ [๗๑๓] ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มี ผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะ สงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย ฯ [๗๑๔] ดูกรอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่าง เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่ บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ฯ [๗๑๕] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่าย ปฏิคาหกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก ฯ [๗๑๖] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายทายกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ [๗๑๗] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก ก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร ดูกรอานนท์ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่ บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ ฯ [๗๑๘] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่าย ปฏิคาหกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคา- *หกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก ฯ ดูกรอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง ฯ [๗๑๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า (๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทาน ของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจาก ราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ
จบ ทักขิณาวิภังคสูตร ที่ ๑๒
จบ วิภังควรรค ที่ ๔
-----------------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของวิภังควรรคนั้น ดังนี้
เรื่องผู้มีชีวิตเจริญเป็นประโยชน์ ๒ เรื่อง เรื่องท่านพระสมิทธิ เรื่องจันทนเทพบุตร เรื่องมาณพพวกอัคคิเวสสนะ เรื่อง ผู้มีความรู้ธรรมอันประเสริฐ เรื่องสารถีกับเรื่องอุทเทสวิภังค์ และอรณวิภังค์ เรื่องท่านปุกกุสาติ เรื่องสัจจะอันประเสริฐ และเรื่องทาน ฯ
รวมพระสูตรในวรรคนี้ ดังนี้
๑. ภัทเทกรัตตสูตร ๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร ๖. มหากัมมวิภังคสูตร ๗. สฬายตนวิภังคสูตร ๘. อุทเทสวิภังคสูตร ๙. อรณวิภังคสูตร ๑๐. ธาตุวิภังคสูตร ๑๑. สัจจวิภังคสูตร ๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
-----------------------------------------------------
สฬายตนวรรค
๑. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร (๑๔๓)
[๗๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มาเถิดพ่อมหาจำเริญ พ่อ จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วจงถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้วจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาท พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่ แล้ว จงกราบเท้าท่านพระสารีบุตรตามคำของเรา และเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระ- *สารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และเรียนอย่างนี้อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเหมาะ แล้ว ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถ- *บิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๗๒๑] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ต่อนั้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่ อยู่ กราบท่านพระสารีบุตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทน ทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้าและสั่งมา อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความ อนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนุ่งสบงทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์ เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่ เขาแต่งตั้งไว้ ฯ [๗๒๒] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ ปรากฏ ความทุเลาเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความกำเริบละหรือ ฯ อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๒๓] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อม ของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อมฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๒๔] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะกระ ผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะด้วยชะเนาะมั่นฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมี ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๒๕] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้องของ กระผมอยู่ เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาดเอามีดแล่โคอันคมคว้าน ท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๒๖] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือ ประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่อวัยวะป้องกันตัว ต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้นกระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไป ไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่ สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๒๗] สา. ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่าง นี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสต จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะ จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหา จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกาย จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโน จักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๒๘] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเสียง และวิญญาณที่อาศัยเสียงจัก ไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกลิ่น และวิญญาณที่อาศัยกลิ่น จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรส และวิญญาณที่อาศัยรสจัก ไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโผฏฐัพพะ และวิญญาณที่อาศัย โผฏฐัพพะจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์ และวิญญาณที่อาศัย ธรรมารมณ์จักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๒๙] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตวิญญาณ และวิญญาณที่ อาศัยโสตวิญญาณจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานวิญญาณ และวิญญาณที่ อาศัยฆานวิญญาณจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาวิญญาณ และวิญญาณที่ อาศัยชิวหาวิญญาณจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัย กายวิญญาณจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัย มโนวิญญาณจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๐] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา จักไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตสัมผัส และวิญญาณที่อาศัย โสตสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานสัมผัส และวิญญาณที่อาศัย ฆานสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาสัมผัส และวิญญาณที่อาศัย ชิวหาสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายสัมผัส และวิญญาณที่อาศัย กายสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนสัมผัส และวิญญาณที่อาศัย มโนสัมผัสจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๑] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา จักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสและวิญญาณ ที่อาศัยเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส และ วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส และ วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส และ วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่กายสัมผัสจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส และ วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัสจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๒] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอาโปธาตุ และวิญญาณที่อาศัย อาโปธาตุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเตโชธาตุ และวิญญาณที่อาศัย เตโชธาตุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวาโยธาตุ และวิญญาณที่อาศัย วาโยธาตุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสธาตุ และวิญญาณที่อาศัย อากาสธาตุจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๓] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา จักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา และวิญญาณที่อาศัย เวทนาจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา และวิญญาณที่อาศัย สัญญาจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร และวิญญาณที่อาศัย สังขารจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัย วิญญาณจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๔] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา จักไม่ยึดมั่นอากาสานัญจายตนฌาน และวิญญาณที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณัญจายตนฌาน และวิญญาณ ที่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌานจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากิญจัญญายตนฌาน และวิญญาณ ที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และ วิญญาณที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๕] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา จักไม่ยึดมั่นโลกนี้ และวิญญาณที่อาศัยโลกนี้จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกหน้า และวิญญาณที่อาศัย โลกหน้าจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๖] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วย ใจแล้ว เราจักไม่ยึดมั่นอารมณ์แม้นั้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่ เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ [๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดี ร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้นท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัยใจจดใจจ่ออยู่หรือ ฯ อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจดใจจ่อ แต่ ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระศาสดาและหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับ ธรรมีกถาเห็นปานนี้ ฯ อา. ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต ฯ อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาเห็นปานนี้ จง แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตา น้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ ฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์กล่าวสอนอนาถบิณฑิก คฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเมื่อท่านพระสารีบุตรและท่าน พระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล ครั้งนั้น ล่วง ปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรมีรัศมีงามส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย คาถาเหล่านี้ว่า พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อัน พระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็ง เห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะ บริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อม บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง ภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้ ฯ อนาถบิณฑิกเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ต่อนั้น อนาถบิณฑิกเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยจึงถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๗๓๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวบุตรตน หนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้ามาหาเรายังที่อยู่ อภิวาท เราแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะเราด้วย คาถานี้ว่า พระวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น ประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง ภิกษุผู้ ถึงฝั่งแล้วจะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว รู้ว่าพระศาสดาทรงพอ พระทัย จึงอภิวาทเรา แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นแล ฯ [๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบ ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้น คงจักเป็น อนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในท่าน พระสารีบุตร ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถูกแล้วๆ เท่าที่คาดคะเนนั้นแล เธอลำดับเรื่องถูก แล้ว เทวบุตรนั้นคืออนาถบิณฑิกเทวบุตร มิใช่อื่น ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
๒. ฉันโนวาทสูตร (๑๔๔)
[๗๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระ สารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ เฉพาะ ท่านพระฉันนะอาพาธ ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ฯ [๗๔๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะยังที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า ดูกรท่านจุนทะ มาเถิด เราจะเข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ ไต่ถามถึงความไข้ ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ต่อนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่าน พระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ แล้วทักทายปราศรัยกับท่าน พระฉันนะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระฉันนะ ดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่ กำเริบ ปรากฏความทุเลาเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความกำเริบหรือ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกข- *เวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏ ความทุเลาเลย ฯ [๗๔๓] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของ กระผม เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม ฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๔] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผม อยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะด้วยชะเนาะอย่างมั่น ฉะนั้น กระผมจึง ทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๕] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้องของ กระผม เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด เอามีดแล่โคอันคมคว้าน ท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๖] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ความร้อนในกายของกระผมเหลือ ประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ ปรากฏความทุเลาเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักหาศาตรามาฆ่าตัว ไม่ อยากจะได้เป็นอยู่เลย ฯ [๗๔๗] สา. ท่านฉันนะอย่าได้หาศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่สมควร ผมจักคอยบำรุงท่านเอง ท่านฉันนะอย่าได้หา ศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ฯ [๗๔๘] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่กระผมไม่มีโภชนะเป็นที่ สบาย ไม่ใช่ไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ไม่ใช่ไม่มีคนบำรุงที่สมควร ก็แหละกระผม ได้ปรนนิบัติพระศาสดามาตลอดกาลนาน ด้วยความพอพระทัย มิใช่ด้วยความไม่ พอพระทัย ความจริงการที่ภิกษุปรนนิบัติพระศาสดาด้วยความพอพระทัย มิใช่ ด้วยความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวก ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ฉันนภิกษุจักหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างมิให้ถูกตำหนิได้ ฯ สา. พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะเปิด โอกาสพยากรณ์ปัญญาได้ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้ ฯ [๗๔๙] ดูกรท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่ รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ ท่านพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ กระผมพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ [๗๕๐] สา. ดูกรท่านฉันนะ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุ วิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ อัตตาของเรา ฯ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในโสต ในโสตวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในกาย ในกายวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในมโน มโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในจักษุ ใน จักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในโสต ในโสตวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ [๗๕๑] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าว กะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ตลอดกาลเนืองนิตย์แม้ดังนี้ว่า บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิ อาศัยอยู่แล้ว ย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มี ความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มี ตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ก็ไม่มี โลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละที่สุดแห่งทุกข์ ครั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาท นี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ หลีกไป ฯ [๗๕๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระฉันนะ เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระ มหาจุนทะหลีกไปแล้วไม่นาน ได้หาศาตรามาฆ่าตัวเสียทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตร จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะหาศาตรามาฆ่าตัวเสียแล้ว ท่านจะมีคติ อย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ ความเป็นผู้ไม่ ควรตำหนิต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ ฯ สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบ้านในแคว้นวัชชีนามว่าปุพพชิระ ที่หมู่ บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และสกุลคนที่คอยตำหนิอยู่ ฯ [๗๕๓] พ. ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และ สกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียง เท่านี้ไม่ ดูกรสารีบุตร บุคคลใดแล ทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเรา เรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างไม่ควรถูกตำหนิ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ฉันโนวาทสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------
๓. ปุณโณวาทสูตร (๑๔๕)
[๗๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะออกจากที่หลีก- *เร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มี- *พระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระ องค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านปุณณะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๗๕๕] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วย จักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่า พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุ เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิย่อมเกิดแก่เธอผู้ เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุคือนันทิ เกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ [๗๕๖] ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่า พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่ เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิด เพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่า พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุ ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอ ผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ ดูกรปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ใน ชนบทไหน ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วย โอวาทย่อๆ นี้แล้ว มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่ ฯ [๗๕๗] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้า นัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิด อย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จัก บริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาว สุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มี- *พระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ [๗๕๘] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การ ประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวก มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ [๗๕๙] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ [๗๖๐] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวก มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้ ฯ [๗๖๑] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวก มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ [๗๖๒] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพ เธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพ ข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่า- *สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหา ศาตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ [๗๖๓] พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควร ในบัดนี้เถิด ฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไปโดยลำดับ ได้ลุถึงสุนาปรันตชนบทแล้ว ฯ [๗๖๔] เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้น แล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกา ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะที่ พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติ เป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร ฯ [๗๖๕] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรม สมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ปุณโณวาทสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------
๔. นันทโกวาทสูตร (๑๔๖)
[๗๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวาย- *อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจง ทรงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี จงรับสั่งแสดงธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด ฯ [๗๖๗] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ย่อมโอวาทพวกภิกษุณี โดยเป็นเวรกัน แต่ท่านพระนันทกะ ไม่ปรารถนาจะโอวาทพวกภิกษุณีโดยเป็น เวรกัน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ วันนี้ เวรโอวาทภิกษุณีโดยเป็นเวรกัน ของใครหนอแล ฯ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งปวงทำเวร โอวาทภิกษุณีโดยเป็นเวรกันหมดแล้ว แต่ท่านพระนันทกะรูปนี้ ไม่ปรารถนาจะ โอวาทพวกภิกษุณีโดยเป็นเวรกัน ต่อนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะท่านพระนันทกะ ว่า ดูกรนันทกะ เธอจงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี ดูกรพราหมณ์ เธอจงกล่าว แสดงธรรมกถาแก่พวกภิกษุณีเถิด ท่านพระนันทกะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วนุ่งสบงทรงบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร- *สาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว เข้าไปยัง วิหารราชการามแต่รูปเดียว ภิกษุณีเหล่านั้นได้เห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล พากันแต่งตั้งอาสนะและตั้งน้ำสำหรับล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะ ที่แต่งตั้งไว้แล้ว จึงล้างเท้า แม้ภิกษุณีเหล่านั้น ก็ถวายอภิวาทท่านพระนันทกะ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๗๖๘] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระนันทกะได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย จักต้องมีข้อสอบถามกันแล ในข้อสอบถามนั้น น้องหญิง ทั้งหลายรู้อยู่ พึงตอบว่ารู้ ไม่รู้อยู่ ก็พึงตอบว่าไม่รู้ หรือน้องหญิงรูปใด มีความ เคลือบแคลงสงสัย น้องหญิงรูปนั้น พึงทวนถามข้าพเจ้าในเรื่องนั้นว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีเนื้อความอย่างไร ฯ ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกดิฉันย่อมพอใจ ยินดี ต่อพระผู้เป็นเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระผู้เป็นเจ้านันทกะ ปวารณาแก่พวกดิฉัน เช่นนี้ ฯ [๗๖๙] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสตเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๗๐] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เสียง เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กลิ่นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. รสเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. โผฏฐัพพะเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายนอก ๖ ของเราไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๗๑] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน จักษุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสตวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ฆานวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ชิวหาวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กายวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า หมวดวิญญาณ ๖ ของเราไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๗๒] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันกำลัง ติดไฟอยู่ มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ไม่เที่ยง แปรปรวน ไปเป็นธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แสงสว่างก็ไม่ เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็น ธรรมดา แต่ว่าแสงสว่างของประทีปนั้นแล เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มี ความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็น ธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แสงสว่างของประทีปนั้น ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เช่นกัน ฯ [๗๗๓] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะ ภายในเสวยเวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้กล่าวอย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่เกิดแต่ อายตนะภายในนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ จึงดับไป ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๗๔] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้ง อยู่ มีรากก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไป เป็นธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เงาก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ต้นไม้ ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่โน้น มีรากก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่ เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้นั้นแล เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวอยู่นั้นชื่อว่าพึงกล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่โน้น มีราก ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เงาของต้นไม้ ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เช่นกัน ฯ [๗๗๕] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลใดพึง กล่าวอย่างนี้ว่า อายตนะภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภาย นอกเสวยเวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้กล่าวนั้นชื่อว่า กล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่ เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ จึง ดับไป ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๗๖] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือ ลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วน เนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำใน ระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่ คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าว อย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ดูกรน้องหญิง ทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้กล่าวนั้นชื่อว่า กล่าวชอบหรือ หนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโค ผู้ฉลาดโน้น ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นใน ระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่ คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า โค ตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ก็จริง ถึงกระนั้นแล โค นั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น ฯ [๗๗๗] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เราเปรียบอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อ ความชัด เนื้อความในอุปมานั้น มีดังต่อไปนี้ ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ข้อว่าส่วน เนื้อข้างในนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ส่วนหนังข้างนอกนั้น เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖ เนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ มีดแล่โคอันคมนั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ ซึ่ง ใช้เถือ แล่ คว้านกิเลสในระหว่าง สัญโญชน์ในระหว่าง เครื่องผูกใน ระหว่างได้ ฯ [๗๗๘] ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย โพชฌงค์ที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มาก แล้ว เป็นเหตุ ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ เหล่านี้ มี ๗ อย่างแล ๗ อย่างเป็นไฉน ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย คือ ภิกษุในพระธรรม วินัยนี้ (๑) ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย (๒) ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... (๓) ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... (๔) ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... (๕) ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... (๖) ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... (๗) ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เหล่านี้แล โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุ ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ ฯ [๗๗๙] ครั้นท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงไปเถิด สมควรแก่เวลา แล้ว ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย พวก เธอจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ [๗๘๐] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้ว ไม่นาน ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ นั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลง หรือสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือ เต็มหนอ แต่แท้ที่จริง ดวงจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ทีเดียว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความ ดำริบริบูรณ์เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้เธอก็พึงกล่าวสอน ภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นเหมือนกัน ท่านพระนันทกะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๗๘๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทกะ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว ถึงเวลา เช้า จึงนุ่งสบงทรงบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นกลับจาก บิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว เข้าไปยังวิหารราชการามแต่รูปเดียว ภิกษุณี เหล่านั้นได้เห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล จึงพากันแต่งตั้งอาสนะและตั้งน้ำ ล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้แล้ว จึงล้างเท้า แม้ภิกษุณี เหล่านั้นก็อภิวาทท่านพระนันทกะแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๗๘๒] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระนันทกะได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย จักต้องมีข้อสอบถามกันแล ในข้อสอบถามนั้น น้องหญิง ทั้งหลายรู้อยู่ พึงตอบว่ารู้ ไม่รู้อยู่ ก็พึงตอบว่าไม่รู้ หรือน้องหญิงรูปใด มีความ เคลือบแคลงสงสัยน้องหญิงรูปนั้น พึงทวนถามข้าพเจ้าในเรื่องนั้นว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีเนื้อความอย่างไรเถิด ฯ ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกดิฉันย่อมพอใจ ยินดี ต่อพระผู้เป็นเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระผู้เป็นเจ้านันทกะปวารณาแก่พวกดิฉัน เช่นนี้ ฯ [๗๘๓] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสต เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๘๔] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เสียง เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กลิ่นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. รสเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. โผฏฐัพพะเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๘๕] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน จักษุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสต วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ฆานวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. ชิวหาวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. กายวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯลฯ น. มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุณี. ไม่เที่ยง เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ภิกษุณี. เป็นทุกข์ เจ้าข้า ฯ น. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิกษุณี. ไม่ควรเลย เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. เพราะเมื่อก่อน พวกดิฉันมิได้เห็นข้อนั้นดีด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงว่า หมวดวิญญาณ ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แม้เพราะเหตุนี้ เจ้าข้า ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๘๖] ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันกำลังติดไฟ อยู่ มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไป เป็นธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แสงสว่างก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ประทีป น้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าแสงสว่างของประทีปนั้นแล เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปร- *ปรวนไปเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่า พึงกล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะอะไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่โน้น มีน้ำมันก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไส้ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็น ธรรมดา เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แสงสว่างของประทีปนั้น ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เช่นกัน ฯ [๗๘๗] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อายตนะภายใน ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะ ภายในเสวยเวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่เกิด แต่อายตนะภายในนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายในนั้นๆ จึงดับไป ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๘๘] ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ มีรากก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็น ธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เงาก็ไม่เที่ยง แปรปรวน ไปเป็นธรรมดา ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ต้นไม้ใหญ่มีแก่น ตั้งอยู่โน้น มีรากก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวน ไปเป็นธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของ ต้นไม้นั้นแล เที่ยง ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวนั้น ชื่อว่าพึงกล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่โน้น มีราก ก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา กิ่งและใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เงาของต้นไม้นั้น ก็ต้องไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดาเช่นกัน ฯ [๗๘๙] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อายตนะภายนอก ๖ ของเรา ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะ ภายนอกเสวยเวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง ยั่งยืนเป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ อาศัยปัจจัยที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยที่ เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ ดับ เวทนาที่เกิดแต่อายตนะภายนอกนั้นๆ จึงดับไป ฯ น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ถูกละๆ พระอริยสาวกผู้เห็นเรื่องนี้ด้วย ปัญญาชอบ ตามความเป็นจริง ย่อมมีความเห็นอย่างนี้แล ฯ [๗๙๐] ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของ คนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นใน ระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่ คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั้นเอง ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล ฯ ภิกษุณี. หามิได้ เจ้าข้า ฯ น. นั่นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุณี. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ ฉลาดโน้น ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นใน ระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่ คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัว นี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ก็จริง ถึงกระนั้นแล โคนั้นก็ แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น ฯ [๗๙๑] น. ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เราเปรียบอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อ ความชัด เนื้อความในอุปมานั้น มีดังต่อไปนี้ ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ข้อว่าส่วน เนื้อข้างในนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ส่วนหนังข้างนอกนั้น เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖ เนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ มีดแล่โคอันคมนั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ ซึ่ง ใช้เถือ แล่ คว้านกิเลสในระหว่าง สัญโญชน์ในระหว่าง เครื่องผูกใน ระหว่างได้ ฯ [๗๙๒] ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย โพชฌงค์ที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มาก แล้ว เป็นเหตุ ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ เหล่านี้ มี ๗ อย่างแล ๗ อย่างเป็นไฉน ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย คือ ภิกษุในพระธรรม วินัยนี้ (๑) ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย (๒) ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... (๓) ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... (๔) ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... (๕) ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... (๖) ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... (๗) ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย เหล่านี้แล โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วเป็นเหตุ ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ ฯ [๗๙๓] ครั้นท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะแล้ว ลุกจาก อาสนะ อภิวาทท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอ ยืนเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย พวกเธอ จงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มี- *พระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ [๗๙๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้ว ไม่นาน ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ นั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลง หรือสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือ เต็มหนอ แต่แท้ที่จริง ดวงจันทร์ก็เต็มแล้วทีเดียว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งๆ ที่มีความดำริ บริบูรณ์แล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป นั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่ จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ นันทโกวาทสูตร ที่ ๔
-----------------------------------------------------
๕. จูฬราหุโลวาทสูตร (๑๔๗)
[๗๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง หลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้นอย่างนี้ว่า ราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้น อาสวะยิ่งขึ้นเถิด ฯ [๗๙๖] ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้า ไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภาย หลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอจง ถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน ท่านพระราหุล ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตาม พระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยทราบว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่าน พระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่า อันธวันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่ท่านพระราหุลแต่งตั้ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง แม้ท่านพระราหุลก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๗๙๗] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๗๙๘] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๗๙๙] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๐] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ ตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๑] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือ ไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๒] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสตะเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฆานะเที่ยงหรือ ไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชิวหาเที่ยงหรือ ไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กายเที่ยงหรือไม่ เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ [๘๐๓] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มโนเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๔] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมารมณ์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๕] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มโนวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๖] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มโนสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๗] พ. ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ร. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ ร. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่ จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ร. ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๐๘] พ. ดูกรราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อ หน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ ย่อม เบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ ย่อมเบื่อ หน่ายแม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อ หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ [๘๐๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลจึงชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้อยู่ จิตของท่านพระ- *ราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น และเทวดาหลายพันตนนั้น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
จบ จูฬราหุโลวาทสูตร ที่ ๕
-----------------------------------------------------
๖. ฉฉักกสูตร (๑๔๘)
[๘๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ- *อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย อัน ไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ พรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คือ ธรรมหมวดหก ๖ หมวด พวกเธอจงฟัง ธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๑๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า พวกเธอพึงทราบอายตนะภาย ใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ หมวดเวทนา ๖ หมวดตัณหา ๖ ฯ [๘๑๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว ได้แก่ อายตนะคือจักษุ อายตนะคือโสตะ อายตนะคือฆานะ อายตนะคือชิวหา อายตนะคือกาย อายตนะคือมโน ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึง ทราบอายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ธรรมหมวดหก หมวดที่ ๑ ฯ [๘๑๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เรา อาศัยอะไรกล่าวแล้ว ได้แก่ อายตนะคือรูป อายตนะคือเสียง อายตนะคือกลิ่น อายตนะคือรส อายตนะคือโผฏฐัพพะ อายตนะคือธรรมารมณ์ ข้อที่เรากล่าว ดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ ธรรมหมวดหก หมวดที่ ๒ ฯ [๘๑๔] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักษุวิญญาณ อาศัยโสตะ และเสียง จึงเกิดโสตวิญญาณ อาศัยฆานะและกลิ่น จึงเกิดฆานวิญญาณ อาศัย ชิวหาและรส จึงเกิดชิวหาวิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะ จึงเกิดกายวิญญาณ อาศัยมโนและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบ หมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัยวิญญาณดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ธรรมหมวดหก หมวด ที่ ๓ ฯ [๘๑๕] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดผัสสะ ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ อาศัยฆานะและกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ อาศัยชิวหาและรสเกิดชิวหาวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ ความประจวบ ของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ ความ ประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดผัสสะ ๖ นั่น เราอาศัยผัสสะดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ธรรมหมวดหก หมวดที่ ๔ ฯ [๘๑๖] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดเวทนา ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ ... อาศัยฆานะและกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ ... อาศัยชิวหาและรสเกิดชิวหาวิญญาณ ... อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ ... อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวด เวทนา ๖ นั่น เราอาศัยเวทนาดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ธรรมหมวดหก หมวดที่ ๕ ฯ [๘๑๗] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดตัณหา ๖ นั่น เราอาศัย อะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของ ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็น ปัจจัย จึงมีตัณหา อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ ... อาศัยฆานะและกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ ... อาศัยชิวหาและรสเกิดชิวหาวิญญาณ ... อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ ... อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดตัณหา ๖ นั่น เราอาศัยตัณหาดังนี้ กล่าวแล้ว นี้ธรรมหมวดหก หมวดที่ ๖ ฯ [๘๑๘] ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า จักษุเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร จักษุ ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึง เป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า รูปเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร รูปย่อมปรากฏแม้ความ เกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้น ต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่ กล่าวว่า รูปเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็นอนัตตา รูปจึง เป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า จักษุวิญญาณเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร จักษุวิญญาณ ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแลปรากฏแม้ความเกิด แม้ความ เสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุวิญญาณเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึง เป็นอนัตตา รูปจึงเป็นอนัตตา จักษุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า จักษุสัมผัสเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร จักษุสัมผัสย่อม ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความ เสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นแลเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุสัมผัสเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึง เป็นอนัตตา รูปจึงเป็นอนัตตา จักษุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา จักษุสัมผัสจึงเป็น อนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า เวทนาเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร เวทนาย่อมปรากฏ แม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำ ของผู้ที่กล่าวว่าเวทนาเป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็น อนัตตา รูปจึงเป็นอนัตตา จักษุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา จักษุสัมผัสจึงเป็นอนัตตา เวทนาจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า ตัณหาเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร ตัณหาย่อมปรากฏแม้ ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่ง นั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของ ผู้ที่กล่าวว่า ตัณหาเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็นอนัตตา รูปจึงเป็นอนัตตา จักษุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา จักษุสัมผัสจึงเป็นอนัตตา เวทนาจึง เป็นอนัตตา ตัณหาจึงเป็นอนัตตา ฯ [๘๑๙] ผู้ใดกล่าวว่า โสตะเป็นอัตตา ... ผู้ใดกล่าวว่า ฆานะเป็นอัตตา ... ผู้ใดกล่าวว่า ชิวหาเป็นอัตตา ... ผู้ใดกล่าวว่า กายเป็นอัตตา ... ผู้ใดกล่าวว่า มโนเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร มโนย่อมปรากฏแม้ ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่ง นั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของ ผู้ที่กล่าวว่า มโนเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า ธรรมารมณ์เป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร ธรรมารมณ์ย่อม ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแลปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำ ของผู้ที่กล่าวว่าธรรมารมณ์เป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึง เป็นอนัตตา ธรรมารมณ์จึงเป็นอนัตตา ฯ ผู้ใดกล่าวว่า มโนวิญญาณเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร มโนวิญญาณ ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแลปรากฏแม้ความเกิด แม้ความ เสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า มโนวิญญาณเป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึงเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์จึงเป็นอนัตตา มโนวิญญาณจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า มโนสัมผัสเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร มโนสัมผัสย่อม ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความ เสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า มโนสัมผัสเป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึงเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์จึงเป็นอนัตตา มโนวิญญาณจึงเป็นอนัตตา มโน- *สัมผัสจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า เวทนาเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร เวทนาย่อมปรากฏ แม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำ ของผู้ที่กล่าวว่า เวทนาเป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึงเป็น อนัตตา ธรรมารมณ์จึงเป็นอนัตตา มโนวิญญาณจึงเป็นอนัตตา มโนสัมผัสจึงเป็น อนัตตา เวทนาจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า ตัณหาเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร ตัณหาย่อมปรากฏ แม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้น คำ ของผู้ที่กล่าวว่า ตัณหาเป็นอัตตา นั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ มโนจึงเป็น อนัตตา ธรรมารมณ์จึงเป็นอนัตตา มโนวิญญาณจึงเป็นอนัตตา มโนสัมผัสจึงเป็น อนัตตา เวทนาจึงเป็นอนัตตา ตัณหาจึงเป็นอนัตตา ฯ [๘๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความตั้งขึ้นแห่งสักกายะ ดังต่อไปนี้แล บุคคลเล็งเห็นจักษุว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็น รูปว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นจักษุสัมผัสว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตา ของเรา เล็งเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นตัณหาว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นโสตะว่า นั่นของเรา ... เล็งเห็น ฆานะว่า นั่นของเรา ... เล็งเห็นชิวหาว่า นั่นของเรา ... เล็งเห็นกายว่า นั่นของ เรา ... เล็งเห็นมโนว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นธรรมารมณ์ ว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นมโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นมโนสัมผัสว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตา ของเรา เล็งเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา เล็งเห็นตัณหา ว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ [๘๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันให้ถึงความดับสักกายะ ดังต่อ ไปนี้แล บุคคลเล็งเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นรูปว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นจักษุวิญญาณ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นจักษุสัมผัสว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นตัณหาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นโสตะว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ... เล็งเห็นฆานะว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา ... เล็งเห็นชิวหาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ... เล็งเห็นกายว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ... เล็งเห็นมโนว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็น ธรรมารมณ์ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นมโน- *วิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นมโนสัมผัส ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เล็งเห็นตัณหาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ [๘๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เขาอันสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอน เนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญ ทุ่มอก ถึงความหลงพร้อม จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัด ออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นยังไม่ละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ยังไม่บรรเทาปฏิฆานุ- *สัยเพราะทุกขเวทนา ยังไม่ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ทำวิช- *ชาให้เกิดเพราะไม่ละอวิชชาเสีย และจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยโสตะและเสียง เกิดโสตวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยฆานะและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยชิวหาและรส เกิดชิวหาวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยมโนและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เขาอันสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัย นอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญ ทุ่มอก ถึงความหลงพร้อม จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออก แห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นยังไม่ละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ยังไม่บรรเทาปฏิฆา- *นุสัยเพราะทุกขเวทนา ยังไม่ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ทำ วิชชาให้เกิดเพราะไม่ละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบัน ได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ฯ [๘๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เขาอันสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงไม่มี ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไห้ ไม่คร่ำครวญทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่อง อยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัย นอนเนื่องอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยัง วิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ใน ปัจจุบันได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยโสตะและเสียง เกิดโสตวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยฆานะและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยชิวหาและรส เกิดชิวหาวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยมโนและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เขาอันสุขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงไม่มี ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไห้ ไม่คร่ำครวญทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่อง อยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัย นอนเนื่องอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยัง วิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุ- *บันได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ [๘๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม เบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ตัณหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล ฯ
จบ ฉฉักกสูตร ที่ ๖
-----------------------------------------------------
๗. สฬายตนวิภังคสูตร (๑๔๙)
[๘๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันเนื่องด้วยอายตนะ ๖ มากมายแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๒๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อ ไม่รู้ไม่เห็นจักษุ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นรูป ตามความเป็นจริง เมื่อ ไม่รู้ไม่เห็นจักษุวิญญาณ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุสัมผัส ตามความ เป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อม กำหนัดในจักษุ กำหนัดในรูป กำหนัดในจักษุวิญญาณ กำหนัดในจักษุสัมผัส กำหนัดในความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุข ก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้ว ประ- *กอบพร้อมแล้ว ลุ่มหลง เล็งเห็นคุณอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความพอกพูน ต่อไป และเขาจะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจ ความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว จะมีความกระวน- *กระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจ เจริญทั่ว จะมีความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว เขาย่อมเสวยทุกข์ทาง กายบ้าง ทุกข์ทางใจบ้าง ฯ [๘๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นโสตะ ตามความ เป็นจริง... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นฆานะ ตามความเป็นจริง... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นชิวหา ตามความเป็นจริง... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นกาย ตามความเป็นจริง... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโน ตามความเป็นจริง เมื่อ ไม่รู้ไม่เห็นธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโนวิญญาณ ตามความ เป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโนสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมกำหนัดในมโน กำหนัดใน ธรรมารมณ์ กำหนัดในมโนวิญญาณ กำหนัดในมโนสัมผัส กำหนัดในความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว ลุ่มหลง เล็งเห็นคุณอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความพอกพูนต่อไป และเขา จะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมี ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว จะมีความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความ เร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว เขาย่อมเสวยทุกข์ทางกายบ้าง ทุกข์ ทางใจบ้าง ฯ [๘๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุ ตามความ เป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นรูป ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุวิญญาณ ตาม ความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมไม่กำหนัดในจักษุ ไม่กำหนัด ในรูป ไม่กำหนัดในจักษุวิญญาณ ไม่กำหนัดในจักษุสัมผัส ไม่กำหนัดในความ เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนักแล้ว ไม่ประกอบพร้อม แล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความไม่พอกพูน ต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจ ความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้ จะละความกระวนกระวาย แม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละ ความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวยสุขทางกายบ้าง สุขทางใจ บ้าง บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็น สัมมาทิฐิ มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ มีความ พยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อม เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีใน เบื้องต้นเทียว ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐถึงความ เจริญบริบูรณ์ ฯ [๘๒๙] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐนี้อยู่อย่างนี้ ชื่อว่า มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือสมถะและวิปัสสนา คู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรม ที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรม ที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่ เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คืออวิชชา และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือสมถะ และวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือ วิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ [๘๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นโสตะ ตามความเป็น จริง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นฆานะ ตามความเป็นจริง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นชิวหา ตามความเป็นจริง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นกาย ตามความเป็นจริง ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นมโน ตามความเป็นจริง เมื่อรู้ เมื่อเห็นธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนวิญญาณ ตามความ เป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นความเสวย อารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมไม่กำหนัดในมโน ไม่กำหนัดใน ธรรมารมณ์ ไม่กำหนัดในมโนวิญญาณ ไม่กำหนัดในมโนสัมผัส ไม่กำหนัดใน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่ เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนัก แล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความไม่พอกพูนต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้ จะละความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทาง กาย แม้ทางใจได้ จะละความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวย สุขทางกายบ้าง สุขทางใจบ้าง บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฐิ มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็น สัมมาสังกัปปะ มีความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ในเบื้องต้นเทียว ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอัน ประเสริฐถึงความเจริญบริบูรณ์ ฯ [๘๓๑] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือ สมถะและวิปัสสนา คู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรม ที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรม ที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่ เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คืออวิชชา และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือสมถะ และวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือ วิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ สฬายตนวิภังคสูตร ที่ ๗
-----------------------------------------------------
๘. นครวินเทยยสูตร (๑๕๐)
[๘๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงแวะยังบ้านพราหมณ์แห่งโกศลชนบทชื่อว่านครวินทะ พวกพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะได้ทราบข่าวว่า พระสมณะผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงบ้านนครวินทะโดยลำดับ พระโคดมผู้มีพระภาค พระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่าง หาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้ แจกธรรม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอน โลกนี้ทั้งเทวดา มาร พรหม ทุกหมู่สัตว์ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและ มนุษย์ ให้รู้ทั่ว ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อม ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้ เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล ครั้งนั้นแล พราหมณ์ คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้ว บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวก ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกมีอาการเฉยๆ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๘๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่าน ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัด เคือง ความลุ่มหลงในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่ เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติ ลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมี จิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็ เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชก เจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๔] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณ- *พราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ ได้ด้วยจักษุแล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์ พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสตแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหาแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกายแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน แล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็น แม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่าน สมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้น อย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๕] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ก็อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเช่นไร จึงเป็นเหตุให้ พวกท่านกล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะ แล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติ เพื่อนำปราศโมหะแน่ ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความจริง ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดง เป็นที่ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ ซึ่งคนทั้งหลายเห็นแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีเสียงอันรู้ได้ด้วยโสต ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ซึ่งคนทั้งหลายดมแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีรสอันรู้ได้ด้วยชิวหา ซึ่งคนทั้งหลายลิ้มแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดี เช่นนั้นเลย นี้แลอาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่ เป็นผู้ปราศ- *จากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือ ปฏิบัติเพื่อนำปราศโมหะแน่ ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้าน นครวินทะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้ง แล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบ เหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น พวกข้าพระองค์ นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดม ผู้เจริญ จงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ฯ
จบ นครวินเทยยสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------
๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร (๑๕๑)
[๘๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระ สารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร เธอมีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณ บริสุทธิ์ผุดผ่อง เธออยู่ด้วยวิหารธรรมอะไรเป็นส่วนมากในบัดนี้ ฯ ท่านพระสารีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่ด้วยวิหาร ธรรมคือสุญญตสมาบัติแลเป็นส่วนมากในบัดนี้ ฯ [๘๓๘] พ. ดูกรสารีบุตร ดีละๆ เป็นอันว่าเธออยู่ด้วยวิหารธรรม ของมหาบุรุษเป็นส่วนมากในบัดนี้ เพราะวิหารธรรมของมหาบุรุษนี้ก็คือสุญญต- *สมาบัติ เพราะฉะนั้นแล สารีบุตร ภิกษุถ้าหวังว่าจะอยู่ด้วยวิหารธรรมคือสุญญต- *สมาบัติเป็นส่วนมาก ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทาง และประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือ ความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุบ้างไหม ดูกร สารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยว บิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและ ประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือ ความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอยู่ ภิกษุ นั้นพึงพยายามละอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นเสีย ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุ พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปใน ประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เราไม่มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษา เนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๓๙] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจาก บิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความ กำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนบ้างไหม ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาต ไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือ แม้ความกระทบกระทั่งทางใจในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนอยู่ ภิกษุนั้นพึงพยายาม ละอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นเสีย ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับ จากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เราไม่มีความพอใจ หรือ ความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่ง ทางใจในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๐] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา ละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรา ยังละกามคุณ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละกามคุณ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้า ภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้น นั่นแล ฯ [๘๔๑] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา ละนีวรณ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังละนีวรณ์ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละนีวรณ์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราละนีวรณ์ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๒] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามกำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรากำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๓] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสติปัฏฐาน ๔ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๔] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ ว่า เรายังไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสัมมัปปธาน ๔ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๕] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญอิทธิบาท ๔ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๖] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอินทรีย์ ๕ แล้วหรือหนอแล ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญอินทรีย์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอินทรีย์ ๕ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษา เนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๗] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญพละ ๕ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรา ยังไม่ได้เจริญพละ ๕ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญพละ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้า ภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญพละ ๕ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๘] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญโพชฌงค์ ๗ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๙] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐแล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุ พิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐเลย ภิกษุนั้น พึงพยายามเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้น นั่นแล ฯ [๘๕๐] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสมถะ และวิปัสสนา ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสมถะ และวิปัสสนาแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ใน กุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๕๑] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งแล้วหรือหนอแล ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้ทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งเลย ภิกษุนั้นพึงพยายามทำวิชชา และวิมุตติให้แจ้ง ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราทำวิชชา และวิมุตติให้แจ้งแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๕๒] ดูกรสารีบุตร ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์แล้วในอดีตกาล ทั้งหมดนั้น พิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้จักทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์ในอนาคตกาล ทั้งหมดนั้น ต้องพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงจักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กำลังทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์อยู่ในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ย่อมพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกว่า จักพิจารณา แล้วๆ ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ ดูกรสารีบุตร พวกเธอพึงสำเหนียกไว้ อย่างนี้แล ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------
๑๐. อินทริยภาวนาสูตร (๑๕๒)
[๘๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าไผ่ ในนิคมชื่อกัชชังคลา ครั้ง นั้นแล อุตตรมาณพ ศิษย์พราหมณ์ปาราสิริยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ ประทับ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทักทายปราศรัยพอให้ ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๘๕๔] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามดังนี้ว่า ดูกร อุตตระ ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือเปล่า ฯ อุ. แสดง พระโคดมผู้เจริญ ฯ พ. ดูกรอุตตระ แสดงอย่างใด ด้วยประการใด ฯ อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการ เจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียง ด้วยโสต ฯ พ. ดูกรอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้วตามคำของ ปาราสิริยพราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอด ไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส แล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพ ศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์ นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ ฯ [๘๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุตตรมาณพศิษย์ ปาราสิริยพราหมณ์ นิ่ง คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงรับสั่งกะ ท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ปาราสิริยพราหมณ์ ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์ แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของ พระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต เป็นการสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระ อริยะ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ต่อไป ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๕๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ ก็การเจริญ อินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบ ใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบ ใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดย ไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๕๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต เธอรู้ ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยการเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่าง บุรุษมีกำลัง ดีดนิ้วมือโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การ เจริญอินทรีย์ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๕๘] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบ ใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างหยาดน้ำกลิ้ง ไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ที่กลิ้งไปสักน้อยหนึ่ง ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เรา เรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๕๙] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เธอรู้ชัดอย่าง นี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น แล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบ ใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๖๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยัง มีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้โดยเร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือน อย่างบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อย่างไม่มีวิธี อื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๖๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ เกิดทั้งความชอบใจและไม่ ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมี สิ่งละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบากอย่างนี้ เหมือนบุรุษมี กำลัง หยดหยาดน้ำสองหรือสามหยาดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน ความ หยดลงแห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้น หยาดน้ำนั้นจะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็ว ทีเดียว ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ ด้วยมโนอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเป็นการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๖๒] ดูกรอานนท์ ก็พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ ชอบใจ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบ ใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น เกิด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียง ด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ... เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิด ขึ้นแล้วนั้น ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ ฯ [๘๖๓] ดูกรอานนท์ ก็พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของ ไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความ สำคัญในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความ สำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้ง ไม่ปฏิกูลและปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสอง นั้น อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติ สัมปชัญญะได้ ฯ [๘๖๔] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะ ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นของ ไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความ สำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้ง ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น อยู่อย่างมีสติ สัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ฯ [๘๖๕] ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์ แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลาย จงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำ พร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล ฯ
จบ อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐
จบ สฬายตนวรรค ที่ ๕
-----------------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของสฬายตนวรรคนั้น ดังนี้
วรรคที่ ๕ มีเรื่องเด่น คือ ๑. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๒. เรื่องพระฉันนะ ๓. เรื่องพระปุณณะ ๔. เรื่องพระนันทกะ ๕. เรื่องพระราหุล ๖. เรื่องธรรมหมวดหก ๖ หมวด ๗. เรื่องธรรมเนื่องด้วยอายตนะ ๖ ๘. เรื่องพราหมณ์ชาวบ้านนครวินทะ ๙. เรื่องบิณฑบาตบริสุทธิ์ และ ๑๐. เรื่องการเจริญอินทรีย์ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ๒. ฉันโนวาทสูตร ๓. ปุณโณวาทสูตร ๔. นันทโกวาทสูตร ๕. จูฬราหุโลวาทสูตร ๖. ฉฉักกสูตร ๗. สฬายตนวิภังคสูตร ๘. นครวินเทยยสูตร ๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ๑๐. อินทริยภาวนาสูตร
จบ อุปริปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๖๗๕๐-๑๑๐๗๓ หน้าที่ ๒๘๕-๔๗๐. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=6750&Z=11073&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=14&siri=30              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=504              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [504-865] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=504&items=362              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4252              The Pali Tipitaka in Roman :- [504-865] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=504&items=362              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4252              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i504-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.130.than.html https://suttacentral.net/mn130/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :