ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ปริยายสูตร
ปริยายนิวรณ์ ๕
[๕๔๗] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตใน พระนครสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เถิด ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญ- *เดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณ- *โคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเหล่านี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเรา ก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อัน เป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความ ต่างกัน ระหว่างธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของ พวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม. [๕๔๘] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พวกนั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค. [๕๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้า วันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์ ทั้งหลายได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้า กระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้ พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย อย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลัง ปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย อย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอน กำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรา นี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณ- *โคดมหรือของพวกเรา คือว่าธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรือ อนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม. [๕๕๐] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความ ของคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค. [๕๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มี วาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลาย พึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ? พวกอัญญ- *เดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็น บุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของ ตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น. [๕๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง เป็นไฉน? [๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะใน ภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันท- *นิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้พยาบาทในภายนอก ก็เป็นนิวรณ์ คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ถีนมิทธ- *นิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้ วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่างนี้. [๕๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน? [๕๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมา สู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๑] แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณา ด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แม้ความ เพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มี วิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้ความ สงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดย ปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ แม้สมาธิ ที่ไม่มีวิตกวิจาร ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้ โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายใน ก็เป็นอุเบกขา สัมโพชฌงค์ แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง. [๕๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง.
จบ สูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๓๑๙๐-๓๒๗๖ หน้าที่ ๑๓๕-๑๓๘. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=3190&Z=3276&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=124              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=547              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [547-567] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=547&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5164              The Pali Tipitaka in Roman :- [547-567] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=547&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5164              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn46.52/en/sujato https://suttacentral.net/sn46.52/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :