ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
โมคคัลลานสูตร
สรรเสริญพระโมคคัลลานว่ามีฤทธิ์มาก
[๑๒๔๑] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูล ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ [๑๒๔๒] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน? ภิกษุโมค- *คัลลานะย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารดังนี้ว่า ฉันทะของเราจัก ไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และ เธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลัง ฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไร หุ้มห่อ อบรมจิตใจให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสาสมาธิและปธานสังขารดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกิน ไป ฯลฯ เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ โมคคัลลานะมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล. [๑๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุโมคคัลลานะแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คน เดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้. [๑๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุโมคคัลลานะ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้.
จบ สูตรที่ ๑๐
ตถาคตสูตร
พระตถาคตมีฤทธิ์มาก
[๑๒๔๕] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ตถาคตมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพ มากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ [๑๒๔๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน? ตถาคตย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านในภายนอก และตถาคตมีความสำคัญใน เบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น ตถาคตมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิ ... จิตตสมาธิ ... วิมังสา สมาธิและปธานสังขารดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ฯลฯ ตถาคตมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ตถาคตมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพ มากอย่างนี้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล. [๑๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงอิทธิฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คน เดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้. [๑๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคตย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เพราะ ได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้.
(พึงให้อภิญญาทั้ง ๖ พิสดาร)
จบ สูตรที่ ๑๑
จบ อโยคุฬวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มรรคสูตร ๒. อโยคุฬสูตร ๓. ภิกขุสุทธกสูตร ๔. ผลสูตรที่ ๑ ๕. ผลสูตรที่ ๒ ๖. อานันทสูตรที่ ๑ ๗. อานันทสูตรที่ ๒ ๘. ภิกขุสูตรที่ ๑ ๙. ภิกขุสูตรที่ ๒ ๑๐. โมคคัลลานสูตร ๑๑. ตถาคตสูตร.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๗๑๖๕-๗๒๒๒ หน้าที่ ๒๙๘-๓๐๐. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=7165&Z=7222&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=284              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1241              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1241-1248] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1241&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7427              The Pali Tipitaka in Roman :- [1241-1248] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=1241&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7427              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn51.31/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :