ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อานันทสูตรที่ ๑
ว่าด้วยปัญหาของพระอานนท์
[๑๓๘๐] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อ ให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์ มีอยู่หรือ หนอ? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่ อานนท์. [๑๓๘๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อ ... ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์เป็นไฉน? พ. ดูกรอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติอันภิกษุ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์. [๑๓๘๒] ดูกรอานนท์ ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่าง ไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ใน ป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมี สติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจ เข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ในสมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ฯลฯ ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกาย สังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่ง ได้แก่ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๑๓๘๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้สุขหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อม สำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับ จิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความ เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวเวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่การกระทำไว้ในใจให้ดีซึ่งลมหายใจ ออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๑๓๘๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อม สำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่นหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ... หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๑๓๘๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความ เป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความคลาย กำหนัดหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ... หายใจเข้า ในสมัย นั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉย เสียได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมใน ธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๑๓๘๖] ดูกรอานนท์ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์. [๑๓๘๗] ดูกรอานนท์ ก็สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มาก แล้วอย่างไร ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์? ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยใด สติของภิกษุตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ใน สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ในสมัยนั้น เธอมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา. [๑๓๘๘] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอด ส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน [๑๓๘๙] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด เมื่อภิกษุค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วย ปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็น อันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ แก่ภิกษุ ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร. [๑๓๙๐] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียร ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปีติ สัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่ม ด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ. [๑๓๙๑] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ จิตของภิกษุผู้มี กายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น. [๑๓๙๒] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี. [๑๓๙๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ใน สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ. [๑๓๙๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... เห็นจิต ในจิต ... เห็นธรรมในธรรม ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม. [๑๓๙๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด สติของภิกษุย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารเหมือนสติปัฏฐานข้อต้น) เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี. [๑๓๙๖] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ใน สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ. [๑๓๙๗] ดูกรอานนท์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์. [๑๓๙๘] ดูกรอานนท์ ก็โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้ว อย่างไร ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรอานนท์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
จบ สูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๘๐๑๐-๘๑๑๐ หน้าที่ ๓๓๕-๓๓๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=8010&Z=8110&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=311              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1380              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1380-1398] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1380&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7732              The Pali Tipitaka in Roman :- [1380-1398] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=1380&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7732              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn54/sn54.013.than.html https://suttacentral.net/sn54.13/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :